ข้าวเหนียวดำ พันธุ์ ข้าวลืมผัว : ข้าวม้ง ที่มาแรง มีสรรพคุณทางยาและโอเมก้า6
เอกลักษณ์เฉพาะของข้าวใหม่ม้ง และข้าวลืมผัว
ด้วยเอกลักษณ์เฉพาะของข้าวใหม่ม้งและข้าวลืมผัว ทำให้ปี พ.ศ. 2557 “มูลนิธิเตียง จิราธิวัฒน์” เข้ามาต่อยอดช่วยเหลือชุมชน โดยการมอบ “โรงสีข้าวชุมชนจิราธิวัฒน์ ข้าวเหนียวลืมผัว” เพื่อเป็นการพัฒนาอาชีพที่ยั่งยืนให้แก่คนในชุมชน ไม่ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม พร้อมกับพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนให้ดีขึ้น
รวมถึง “ท็อป ซุปเปอร์มาร์เก๊ต” เข้ามาช่วยส่งเสริมรับซื้อข้าวเดือนละ 1 ตัน ในราคาตันละ 100,000 บาท และเป็น “ผลิตภัณฑ์ OTOP” ของจังหวัดตาก ที่มีผลการคัดสรรปี 2559 ระดับ 4 ดาวเป็นที่ต้องการของตลาดและผู้บริโภคที่รักสุขภาพ
ส่วนคำว่า “ข้าวลืมผัว” นั้น มาจากการที่ผู้เป็นภรรยาซึ่งมีหน้าที่หุงหาอาหารเพื่อเลี้ยงคนในครอบครัว วันที่นึ่งหรือหุงข้าวเหนียวเลือดจะส่งกลิ่นหอมชวนรับประทานจนอดใจไม่ไหว ผู้เป็นภรรยารับประทานก่อน และรับประทานจนหมด ไม่เหลือไว้ให้สามีได้รับประทาน พอรู้ตัวอีกทีข้าวก็หมดแล้ว ทำให้สามีกลับมาจากไร่นาไม่ได้รับประทานข้าว จึงเป็นที่มาของคำว่า “ข้าวลืมผัว”
ปรึกษา หรือ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมไดที่ คุณสุเนตร โทร. 081-972-6992
สายพันธุ์ข้าว
นอกจากนี้ที่อำเภอพบพระยังมี ข้าวเหนียวดำ -ข้าวไร่ของชาวเขาเผ่าม้ง หรือข้าวลืมผัว ซึ่งถือเป็นต้นกำเนิดของข้าวสายพันธุ์นี้อย่างแท้จริง ประวัติความเป็นมาของ ข้าวเหนียวดำ นั้นเป็นภาษาชาวเขาเผ่าม้ง เรียกตามศัพท์ภาษาม้งจนได้ชื่อว่า “ข้าวเหนียวสีเลือด” หรือ “ ข้าวเลือด ”
- ข้าวเหนียวพันธุ์นี้มี 2-3 สายพันธุ์ แต่จะไม่มีชื่อเรียก ชาวม้งจะจดจำลักษณะของต้นข้าวเป็นหลัก คือ สายพันธุ์แรก ต้นข้าวมีใบออกสีม่วง สายพันธุ์นี้เมล็ดข้าวจะเล็ก
- สายพันธุ์ที่สองต้นข้าวมีใบสีเขียวเหมือนข้าวทั่วไป สายพันธุ์นี้เมล็ดข้าวค่อนข้างใหญ่ชาวเขาเผ่าม้งตั้งแต่สมัยโบราณทุกครัวเรือนต้องปลูกข้าวเหนียวสีเลือด หรือ ข้าวเหนียวดำ
บ้านรวมไทยพัฒนาที่ 3 ตำบลรวมไทยพัฒนา อำเภอพบพระ จังหวัดตาก ปลูกในสภาพไร่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 600 ต่อมาปี 2533 นายพนัส สุวรรณธาดา ไปปฏิบัติการราชการโครงการ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ และคัดเลือกพันธุ์ให้บริสุทธิ์ระหว่างปี 2534-2538 เพื่อใช้ในโครงการตามพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ที่เสด็จมาเยี่ยมชมโครงการฯ
จากนั้นนายพนัส สุวรรณธาดา จึงได้ทำแปลงผลิตเมล็ดพันธุ์บริสุทธิ์ในปี 2539 แล้วนำเมล็ดพันธุ์ที่ได้ไปให้กลุ่มชาวม้ง ซึ่งเป็นแหล่งปลูกดั้งเดิม ปลูกขยายพันธุ์เพื่อใช้ประโยชน์ต่อไป
สรรพคุณทางยา ป้องกัน รักษาโรค
คุณค่าทางโภชนาการที่เด่นเป็นพิเศษมีสารต้านอนุมูลอิสระ (แอนติออกซิเดนท์) ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็ง มีกรดแอสคอร์บิกต้อ มีวิตามินอี (อัลฟา-โทโคฟีรอล) ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระและช่วยลดโคเลสเตอรอล มีแกมม่า-โอไรซานอล ที่ช่วยลดโคเลสเตอรอล ตลอดจนการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ
มีโอเมก้า 6 ที่บรรเทาอาการขาดภาวะเอสโตรเจนของวัยทอง และช่วยให้ผิวพรรณเปล่งปลั่ง มีธาตุเหล็กสูง แคลเซียม สังกะสี และแมงกานีส
สรรพคุณทางการป้องกันและรักษาโรค ช่วยป้องกันรักษาโรคหัวใจ อัมพาต ไขข้อเสื่อม รูมะตอย ปวดไมเกรน ปวดประจำเดือน เพิ่มภูมิคุ้มกันในร่างกาย และลดภูมิแพ้ บำรุงสายตา เพิ่มประสิทธิภาพในการมองเห็นในเวลากลางคืน เพิ่มธาตุเหล็กสำหรับสตรีที่มีธาตุเหล็กไม่เพียงพอ
สรรพคุณทางยาของ ข้าวเหนียวดำ
ข้าวเหนียวเลือดสามารถแก้โรคบิด หรือท้องเสีย ที่มีมูกปนเลือด สามารถนำไปทำเป็นข้าวหมาก โดยใช้ ข้าวเหนียวดำ หรือข้าวเลือดผสมกับแป้งข้าวหมาก หมักไว้ซัก 4-5 วัน แล้วนำมารับประทานจะมีรสชาติอร่อยมาก และสามารถรักษาอาการของโรคบิด หรือถ่ายเป็นมูกเลือดจนหายเป็นปลิดทิ้ง
วิธีการปลูก “ข้าวไร่”
“กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ข้าวเหนียวดำ พันธุ์ลืมผัว” ปลูก และแปรรูปจำหน่าย มีสมาชิกประมาณ 80 กว่าราย มีพื้นที่ปลูกประมาณ 200 ไร่ สภาพพื้นที่เป็นดินบนดอย สามารถปลูกข้าวได้ ทั้ง “ข้าวไร่” และ “ข้าวนา” วิธีการปลูกข้าวไร่จะเป็นแบบดั้งเดิมที่สืบต่อกันมา ที่เรียกว่า “ข้าวไร่” หรือ “ข้าวหลุม”
ข้าวลืมผัว เป็นข้าวนาปีพื้นเมืองเดิม ปลูกในพื้นที่สภาพไร่ บนภูเขา ที่อำเภอพบพระ จังหวัดตาก ผลผลิตสูงสุด เมื่อปลูกในสภาพไร่และฟ้าอากาศ ตลอดจนช่วงเวลาที่เหมาะสมได้ 490 กก./ไร่ เมื่อนำมาปลูกในพื้นที่ราบ ผลผลิตที่ได้อยู่ระหว่าง 300-400 กก./ไร่ ค่อนข้างอ่อนแอต่อโรค และแมลงศัตรูข้าว มีสีเปลือกหุ้มเมล็ดเปลี่ยนไปตามระยะการเจริญเติบโตของเมล็ด เยื่อหุ้มเมล็ดเป็นสีม่วง
โดยขั้นตอนแรกนั้นจะมีการเตรียมดิน ถ้าสมัยก่อนไม่ต้องไถดิน แต่สมัยนี้ต้องไถดินก่อน และจะชักยกร่องถึงจะสามารถปลูกข้าวได้ หลังจากนั้นจะใช้ไม้แทงดินให้เป็นรู แล้วนำเมล็ดพันธุ์ข้าวใส่ในรูที่แทงไว้ประมาณ 4-5 เมล็ด/หลุมโดยไม่ต้องปิดหลุม ที่ขุดระยะห่างประมาณ 6 นิ้ว ต่อ 1 หลุม การปลูก 1 ไร่ ใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวประมาณ 10 กิโลกรัม เมล็ดพันธุ์ ข้าวลืมผัว ที่คัดแล้วราคากิโลกรัมละ 40-50 บาท จากนั้นรอให้ข้าวขึ้นประมาณ 1 เดือน
จะกำจัดวัชพืชที่ไม่ต้องการออกด้วยการถอนวัชพืชทิ้งเท่านั้น คุณสุเนตรยืนยันจะปล่อยให้ข้าวขึ้นเองตามธรรมชาติ ตามสภาพแวดล้อม หรือดูการเจริญเติบโตของข้าว ถ้าไม่สมบูรณ์ก็ใส่ปุ๋ยปีละ1-2 ครั้ง มีหญ้าก็จะถอนเอาหญ้าออก ระยะที่ข้าวตั้งท้องอายุได้ประมาณ 3 เดือน ก็จะใส่ปุ๋ยเมื่อข้าวเจริญเติบโตเต็มที่เป็นครั้งสุดท้าย และรอเก็บเกี่ยวข้าวที่เป็นน้ำนมตอนอายุข้าวประมาณ 3 เดือนเศษ ได้ผลผลิตข้าวประมาณ 300-400 กิโลกรัม/ไร่
วิธีการปลูก “ข้าวนา”
ส่วนวิธีการปลูก “ข้าวนา” เป็นการปลูกข้าวนาปีเท่านั้น เพราะต้องอาศัยน้ำฝนจากธรรมชาติในการเพาะปลูกนั่นเอง การเตรียมดินจะนำรถไถมาปั่นตีดินเพื่อเตรียมแปลงในการหว่านกล้า โดยจะนำเมล็ดพันธุ์ข้าวมาแช่น้ำประมาณ 1 วัน จากนั้นจะนำขึ้นมาพักไว้อีก 1 วัน เพื่อให้ข้าวงอกเป็นตาตุ่มเล็กๆ
ก่อนนำไปหว่านในแปลงที่เตรียมดินไว้เป็นการ “ตกกล้า” ก่อนนำต้นกล้าไปปักดำ พอต้นกล้าอายุได้ประมาณ 25-30 วัน ก็สามารถถอนต้นกล้าจากแปลงมัดรวมกัน และตัดปลายใบทิ้งก่อนนำไปปักดำ ในการปักดำนั้นจะใช้ต้นกล้าประมาณ 3-4 ต้น/กอ การดูแลบำรุงรักษาต้นข้าวที่ปักดำแล้วนั้นจะเน้นให้เจริญเติบโตตามธรรมชาติของสายพันธุ์
ข้าวที่ปลูก จะใส่ปุ๋ยเพียง 1-2 ครั้ง และจะกำจัดวัชพืชโดยการถอนทิ้ง ถ้าเก็บเกี่ยวแล้วได้ข้าวประมาณ 800-1,000กิโลกรัม/ไร่ จะเริ่มปลูกประมาณเดือนมิถุนายนจนถึงประมาณเดือนตุลาคม ระยะเวลาในการเก็บเกี่ยวประมาณ 5 เดือนเศษๆ ลักษณะพิเศษข้าวสายพันธุ์นี้จะไม่ชอบน้ำ ไม่ชอบน้ำขัง ลักษณะของ ข้าวเหนียวดำ จะใบกว้าง ลายม่วง เป็นสีเลือด ใบใหญ่อ้วน เป็นกอสูง เป็นต้น
การเก็บเกี่ยวข้าวใหม่ม้ง
คุณสุเนตรได้เปิดเผยว่า “ข้าวใหม่ม้ง” คือ ข้าวที่ปลูกขึ้นมาเพื่อที่จะเซ่นถวายให้กับผีบรรพบุรุษ ปลูกตามเนินเขา จะเก็บเกี่ยวในระหว่างเดือนกันยายนถึงต้นเดือนตุลาคมทุกปี จะเริ่มเกี่ยวได้เมื่อรวงข้าวสุกประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ โดยรวงข้าวมีสีเขียวปนเหลือง เมื่อเกี่ยวเสร็จก็จะนำมานวดให้ข้าวเปลือกหลุดออก โดยไม่ต้องตากให้แห้ง
กระบวนการแปรรูป ข้าวเหนียวดำ
“ข้าวเหนียวดำ” หรือ “ข้าวก่ำ” เป็นข้าวกล้อง ข้าวเหนียว ที่มีกลิ่นหอม รสชาติอร่อย เมื่อเคี้ยวจะรู้สึกมันและนุ่มแบบหนุบๆ การบริโภคทำได้ทั้งแบบข้าวเหนียวรับประทานกับอาหาร ผสมข้าวต้ม ทำให้มีสีม่วงอ่อนสวยงาม ทำเป็นขนมแบบข้าวเหนียวเปียก จะมีสีคล้ายทับทิมสวยงาม
นอกจากนี้ ข้าวลืมผัว ยังได้นำมาแปรรูปทำเป็น ชาลืมผัว สาโท ข้าวเหนียวมะม่วง ซูชิ กาแฟ และการนำมาทำเป็นไซเดอร์ เรียกว่า “ไรซ์ไซเดอร์ข้าวเหนียวลืมผัว” (LeumPua Glutinous Rice Cider) เป็นเครื่องดื่มที่ผลิตจากข้าว โดยผ่านกระบวนการหมักข้าว ทำให้เกิดกรดอะซิติก ทำให้มีรสเปรี้ยวเล็กน้อย ทำให้ระบบการขับถ่ายทำงานได้ดี สามารถลดปริมาณน้ำตาลในกระแสเลือด ลดความดันโลหิตสูง ลดคอเลสเตอรอล ลดความเสี่ยงในการเกิดเซลล์มะเร็งในลำไส้ใหญ่ได้ดี
“ข้าวหมาก” ชาวม้งเรียกว่า “ม๋อเจ๋อ” หรือ “ข้าวเหล้า” ซึ่งใช้แป้งคล้ายแป้งหมักเหล้า แต่แป้งข้าวหมากจะอ่อนกว่าแป้งหมักเหล้าครึ่งหนึ่ง และเมื่อหมักแล้วนำมารับประทานจะมีรสหวานอมเปรี้ยวเล็กน้อย ข้าวเหนียวเลือด หรือข้าวเหนียวดำนี้ ชาวม้งนิยมใช้ตำให้ละเอียดเพื่อทำเป็นขนมในวันขึ้นปีใหม่ เพราะข้าวชนิดนี้จะคงความนุ่ม แม้จะเก็บไว้นานหลายวันแล้วก็ตาม และหากต้องการจะรับประทานเมื่อใดก็นำขนมที่ตำเก็บไว้มาปิ้งก็จะพองนุ่ม คงรสชาติที่อร่อย
ความโดดเด่นของข้าวลืมผัวและอาหารพื้นบ้าน
ด้วยความโดดเด่นของ ข้าวลืมผัว และอาหารพื้นบ้านที่กินกับ ข้าวลืมผัว อันมีลักษณะเฉพาะประจำหมู่บ้าน คือ “ต้มหมื่นปี” เป็นผักกาดม้งคล้ายผักกวางตุ้ง แต่ชาวบ้านบอกว่าไม่ใช่ผักกวางตุ้ง นำมาต้มกับกระดูกหมู คล้ายการทำผักกาดจอ ส่วนอีกเมนูคือ “ต้มไก่บ้านสมุนไพร” ซึ่งถือเป็นเมนูพิเศษ เพราะชาวบ้านที่นี่บอกว่าเมนูนี้มีการใส่สมุนไพร
ที่เชื่อว่าช่วยเพิ่มพลังทางเพศลงไป แม้จะไม่เทียบเท่ากับไวอากร้า แต่ถ้ากินบ่อยๆ ก็จะดีต่อสมรรถภาพทางเพศ ดีต่อสุขภาพ ร่างกาย และไม่มีผลกระทบข้างเคียง
วิธีการนึ่งข้าวลืมผัว
สำหรับหม้อหุงข้าว Slow Cook ใส่ข้าว 1 ถ้วย เติมน้ำ 1/2 ถ้วย เมื่อข้าวสุกให้ทิ้งไว้ประมาณ 10 นาที เพื่อให้ข้าวอยู่ตัว สามารถทำเป็นข้าวปั้นญี่ปุ่นได้เป็นอย่างดี
ส่วนวิธีการนึ่ง ข้าวลืมผัว ของชาวม้งดั้งเดิม ให้อร่อยนั้นจะนำข้าวแช่น้ำประมาณ 1 คืน หรืออย่างน้อย 3-4 ชั่วโมง เทน้ำข้าวออก แล้วนำข้าวที่แช่ลงหมอนึ่งที่เตรียมไว้ นึ่งประมาณ 30 นาที ถึง 1 ชั่วโมง เมื่อข้าวเหนียวสุกลองชิมดู ถ้าข้าวแข็งไม่นิ่มให้เอาน้ำเย็นราดลงบนข้าวที่กำลังนึ่ง นึ่งต่อไปพอประมาณแล้วลองชิมดูอีกครั้ง ถ้าข้าวเหนียวนิ่มก็สามารถยกลงจากเตาพร้อมรับประทานได้ทันที
ในปี พ.ศ. 2547 คุณสุเนตรยังได้นำซังข้าวโพดมาทำ“ถ่านอัดแท่ง” ที่ทำจากวัตถุดิบในหมู่บ้าน ที่ไม่มีผู้ใดนำมาใช้ประโยชน์ เนื่องจากมีการปลูกข้าวโพดเป็นจำนวนมาก หลังจากฤดูเก็บเกี่ยวจะเหลือซังข้าวโพด และจะถูกเผาทิ้งหลังการเก็บเกี่ยว เพราะเกษตรกรต้องการใช้พื้นที่ในการเพาะปลูกต่อไป การทำถ่านอัดแท่งจากซังข้าวโพดเหลือทิ้งเป็นการใช้ประโยชน์จากเศษวัสดุจากการเกษตร ซึ่งสามารถนำมาเป็นทดแทนการใช้พลังงานเชื้อเพลิงได้ดี จึงได้คิดหาวิธีการนำมารีไซเคิล จึงได้จัดตั้งกลุ่มผู้ผลิตชุมชนขึ้นมา “กลุ่มวิสาหกิจชุมชนถ่านอัดแท่งบ้านดอนเจดีย์” ถ่านอัดแท่งนั้นมีคุณสมบัติที่แตกต่างจากถ่านไม้ทั่วไปอย่างเห็นได้ชัดเจนก็คือ ให้ความร้อนสูง ไม่มีเปลวไฟ และไม่มีควันรบกวนมาก เหมือนกับที่เราใช้ถ่านจากไม้ทั่วไป ขี้เถ้าก็น้อยกว่า การหุงต้มด้วยถ่านจากไม้สามารถดูดซับกลิ่นอับเหม็นได้เป็นอย่างดี คุณสุเนตรยังรับซื้อผงถ่านหน้าโรงงานในราคากิโลกรัมละ 3 บาท ส่วนราคาถ่านอัดแท่งจะจำหน่าย 7.50-8 บาท/กิโลกรัม นำมาซึ่งรายได้ที่ดีสู่ชุมชนและครอบครัว
วิถีชีวิตของชาวไทยเผ่าม้ง
…เรื่องราวของชาวไทยเผ่าม้ง การได้เรียนรู้วัฒนธรรม ประเพณีต่างๆ ของชาวเขาเผ่าม้ง กับข้าวชื่อแปลก เป็นที่สะดุดหู คือ เสน่ห์ที่น่าดึงดูดให้ค้นหาวิถีชีวิตของคนในสังคม เป็นเกษตรกรรมเพื่อการยังชีพความอยู่รอดของชาว “ลาหู่” หรือ “มูเซอ” ขึ้นอยู่กับธรรมชาติอย่างกลมกลืนไม่ว่าเป็นดิน ความพอดีของน้ำจากท้องฟ้า
วัฒนธรรมของชาวลาหู่ผูกพันอยู่เป็นน้ำหนึ่งอันเดียวกับธรรมชาติ ได้สะท้อนออกมาในรูปแบบวรรณกรรมปากเปล่า ซึ่งผู้นำศาสนามักจะสอนศาสนิกชนของตน “กระดูกของเราเป็นก้อนหิน เนื้อหนังของเราเป็นดิน สายเลือดเป็นสายน้ำ ลมหายใจเป็นอากาศ และความอบอุ่นภายในกายเป็นแสงแดด” ดินเป็นตัวแทนธรรมชาติที่มีความผูกพันที่ใกล้ชิดมนุษย์…
ขอขอบคุณ “กลุ่มวิสาหกิจชุมชนข้าวเหนียวดำพันธุ์ลืมผัว” คุณสุเนตร แสงท้าว เลขที่ 134/1 หมู่ที่ 7 ต.ช่องแคบ อ.พบพระ จ.ตาก 63160 โทร. 081-972-6992
ข้าวลืมผัว ข้าวเหนียวดำ ข้าวเหนียว พันธุ์ข้าวเหนียวดํา พันธุ์ข้าวเหนียว