“ไผ่บงหวานเพชรน้ำผึ้ง กินดิบได้ไม่ต้องต้ม ที่สวนเพชรเมืองแพร่” กลายเป็นสัญลักษณ์ประจำของสวน คุณวรรณบดี รักษา นัก ปลูกไผ่หวาน และ พัฒนาไผ่หวานชนิดต่างๆ ให้สามารถทานกันในรูปแบบของหน่อไม้สดได้ โดยไม่ต้องต้ม ณ ตอนนี้เขายังคงพัฒนาไผ่ชนิดต่างๆ ให้กลายเป็นไผ่หวานกินสดได้มากถึง 5 ชนิด จากที่รู้จักกันเพียงไผ่บงหวานเพชรน้ำผึ้ง
การ ปลูกไผ่หวาน
คุณวรรณบดีเล่าว่า เขาทำอาชีพปลูก และคิดค้นไผ่หวานมานานกว่า 13 ปีแล้ว ชนิดแรกที่ทำขึ้นมา คือ ไผ่บงหวาน แล้วประสบความสำเร็จจากการเพาะเมล็ด หลังจากนั้นได้รู้จักกับไผ่ชนิดต่างๆ ทางภาคเหนือตอนบนจากการบอกเล่าของชาวบ้าน และได้โอกาสนำพันธุ์ไผ่เหล่านั้นมาขยายเป็นไผ่หวาน เช่น ไผ่หวานเพชรล้านนา ไผ่หวานเพชรภูเรือ ไผ่หวานยักษ์ยอดทอง และไผ่รวกหวานเพชรเด่นชัย ที่สามารถกินดิบได้แล้ว ณ ตอนนี้
โดยทั่วไปแล้วหน่อไม้ที่เราทานกันมักจะมีรสชาติขม ซึ่งมีส่วนประกอบของสาร “ไซยาไนด์” และ “พิวลิน” (เข้าร่างกายแล้วกลายเป็นกรดยูริก) สาร 2 ชนิดนี้ล้วนเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค ทั้งนี้สารไซยาไนด์หากรับเข้าไปในร่างกายมากๆ เข้าอาจทำให้หายใจไม่ออก และเสียชีวิตได้ ส่วนกรดยูริกเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อผู้ป่วยโรคเกาต์ และผู้มีปัญหาเกี่ยวกับข้อได้ ซึ่งในหน่อไม้ที่มีรสขมทั่วๆ ไป มีสาร 2 ตัวอยู่ไม่น้อยทีเดียว
ตรงกันข้ามกับหน่อไม้หวานที่ได้รับการการันตีจากการตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์ในห้องปฏิบัติการ หรือห้องแลบ แล้วว่าไม่มีส่วนประกอบสารไซยาไนด์ในไผ่หวานทั้ง 5 สายพันธุ์แน่นอน และไม่ขมด้วย จึงทำให้หน่อไม้หวานของที่นี่ทานดิบๆ ได้ ซึ่งทีมงานทดลองทานกันมาแล้ว นอกจากรสชาติจะอร่อย หวาน กรอบ และความนุ่มของเนื้อหน่อไม้หวานแล้ว ยังไม่มีผลข้างเคียงอีกด้วย
ไม่เพียงแค่ไผ่หวานเท่านั้นที่ได้รับการตรวจสอบ แต่เขายังนำหน่อไม้สายพันธุ์เดียวกันแต่มีรสชาติขมไปตรวจสอบด้วย ปรากฏว่าในหน่อไม้ขมมีสารตัวนี้อยู่ เขาจึงสันนิษฐานง่ายๆ ให้ทีมงานฟังว่า “หน่อไม้ที่มีรสขมมีการสะสมของสารอยู่” ซึ่งสารตัวนี้หากโดนความร้อนแล้วจะหายไป ดังนั้นก่อนทานคงต้องผ่านกระบวนการความร้อน หรือทำให้สุกเสียก่อน แต่ต้องระวังว่าอย่าทานน้ำหน่อไม้เข้าไปเชียว
ที่สวนแห่งนี้มีกฎสำหรับผู้ที่เข้าเยี่ยมชมสวนว่าทุกคนต้องได้ลิ้มรสของไผ่หวานทั้งสิ้น นับพันคนที่ได้ทดสอบแล้วต่างไม่มีอาการกำเริบจากโรคเกาต์ ปวดข้อเข่า หายใจติดขัด หรือหายใจไม่คล่อง แม้แต่คนเดียว ทั้งคนที่เป็นโรคอยู่แล้ว และที่ไม่เป็นโรคเลย เขาไม่แค่จะทดสอบในห้องแลบเท่านั้น แต่ยังพิสูจน์กับผู้ที่เข้ามาชมสวนโดยตรง
สายพันธุ์ไผ่หวาน
ดังที่กล่าวไว้ข้างต้นว่าไผ่หวาน สวนเพชรเมืองแพร่ มีทั้งสิ้น 5 สายพันธุ์ ที่มีทั้งรสชาติ และคุณสมบัติประจำต้น แตกต่างกันออกไป คือ
1.ไผ่บงหวานเพชรน้ำผึ้ง เป็นไผ่หวานพันธุ์แรกที่เขาเริ่มเพาะได้จากการคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ใหม่ และเลือกเฉพาะต้นที่มีหน่อหวาน และให้หน่อใหญ่ ผลผลิตสูง เป็นไผ่ขนาดกลางสูงประมาณ 7-10 เมตร รสชาติหวาน กรอบ ไม่มีเส้นใย ไม่มีขน เมื่อปรุงสุกแล้วจะมีกลิ่นคล้ายข้าวโพดหวาน ประมาณ 2-3 หน่อ/กก. ออกหน่อดก และสามารถให้ผลผลิตได้ตลอดทั้งปี
2.ไผ่หวานเพชรล้านนา มาจากการบอกเล่าของชาวบ้านที่ปลูกว่ามีไผ่หวานหน่อใหญ่ ไผ่พันธุ์นี้พบในเขตภาคเหนือตอนบนเป็นจำนวนมาก เช่น น่าน พะเยา เชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง และแพร่ เป็นต้น จริงๆ แล้วชาวบ้านก็ปลูกกันอยู่แล้วคนละ 1-2 กอ ตามบ้านเรือนไว้กินเอง พอไปเจอแล้วเห็นว่าหน่อทานอร่อย จึงพยายามนำเมล็ดพันธุ์ไผ่มาขยายต่อแล้วคัดเฉพาะต้นที่ไม่ขม เมื่อปี 2552 เรียกว่าไผ่หวานเพชรล้านนาชนิดนี้ทรงพุ่มจะใหญ่ จัดการค่อนข้างยาก ไม่เหมาะสมหากปลูกเพื่อการค้า
3.ไผ่หวานเพชรภูเรือ เป็นไผ่อีกชนิดหนึ่งที่ได้มาจากชาวบ้านเหมือนกัน นึกว่าเป็นไผ่หวานเพชรล้านนา แต่พอไปเห็นเข้าจริงๆ แล้วกลับเป็นไผ่คนละชนิดกัน เพราะไผ่หวานเพชรล้านนามีขนสีดำ แต่ไผ่หวานเพชรภูเรือมีขนสีน้ำตาลกำมะหยี่ ลูบแล้วไม่ติดมือ ขนาดของหน่อจะใหญ่กว่า ต้นมีลักษณะตรงสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ ที่จริงไผ่ตัวนี้ชาวบ้านเขาปลูกไว้กินเองในครัวเรือน เรียกกันว่าไผ่หกหวานหน่อแดง เขาก็ได้เมล็ดพันธุ์มาขยายต่อปี 2553 ที่ผ่านมา
4.ไผ่หวานยักษ์ยอดทอง เป็นไผ่อีกชนิดหนึ่งที่ได้มาจากแม่ฮ่องสอน ตัวนี้จะไม่ได้มาจากเมล็ดโดยตรง จะขยายโดยใช้วิธีการตอน หน่อของไผ่ชนิดนี้จะใหญ่สามารถตอนได้ ใช้เวลาขยายพันธุ์เร็ว ต้นตรง สวย ไม่รก จัดการง่าย และให้หน่อใหญ่ ซึ่งตอนนี้ที่สวนกำลังรอให้ไผ่ออกดอกและเก็บเมล็ดอยู่ เพื่อนำมาคัดเลือกเป็นไผ่หวานทานดิบต่อไป
5.ไผ่รวกหวานเพชรเด่นชัย ตัวนี้เป็นตัวใหม่ที่เพิ่งจะได้จากการคัดเลือกมาช่วงต้นปี 2556 นี้เอง คุณวรรณบดีเองกำลังส่งเสริมพันธุ์นี้ออกสู่เกษตรกรในอนาคต ด้วยความที่เป็นห่วงว่าไผ่บงหวานเพชรน้ำผึ้งมีกิ่งค่อนข้างรก และยุ่งยากในการสางต้นเสมอ เกษตรกรที่นำพันธุ์นี้ไปปลูกมีไม่น้อยเลยที่ล้มเหลว เพราะทำยาก จึงหันมาสนใจไผ่รวก ด้วยความมีกิ่งก้านน้อย ลำต้นตรง จึงลองนำมาขยายข้ามสายพันธุ์ดู และพบว่าสามารถให้ต้นหวานอยู่ด้วย ตอนนี้ที่สวนก็เริ่มปลูกแล้ว นับอายุต้นเป็นปีที่ 1
นอกจากจะไม่รกแล้ว ไผ่ตัวนี้ยังสามารถออกหน่อได้ตลอดทั้งปีเหมือนไผ่บงหวานเพชรน้ำผึ้ง หน่อจะหวาน และนิ่มกว่า ไม่ต้องดูแลมากนัก มีอายุมากประมาณ 80 ปีกว่าต้น จะออกดอกอีกครั้งแล้วตายไป พันธุ์นี้จะขยายพันธุ์โดยวิธีการตอนกับชำไม่ได้ ต้องแยกหน่อเท่านั้น และจะเป็นไปค่อนข้างช้า
สภาพพื้นที่ ปลูกไผ่หวาน
โดยทั่วไปแล้ววิธีการปลูกและดูแลต้นไผ่มักจะมีวิธีการที่คล้ายกัน โดยเฉพาะไผ่บงหวานเพชรน้ำผึ้ง และไผ่รวกหวานเพชรเด่นชัย คือ
เตรียมพื้นที่ไถพรวนดินกำจัดวัชพืชก่อนประมาณ 2 รอบ และวัดระยะปลูกตามชนิดของไผ่ ไผ่รวกหวานเพชรเด่นชัยใช้ระยะห่าง 4×4 เมตร และไผ่บงหวานเพชรน้ำผึ้ง 2×4 เมตร ส่วนขนาดหลุมปลูกไผ่ที่ใช้กว้าง 25 เซนติเมตร และลึก 30 เซนติเมตร สามารถปลูกต้นไผ่ลงหลุมได้ทันที่ ช่วงฤดูฝนอาจปลูกให้เสมอกับดินเดิม หรือช่วงฤดูแล้งควรปลูกให้ลึกกว่าดินเดิมประมาณ 2 นิ้ว เพื่อกักเก็บน้ำให้ต้นไผ่ได้ หลังจากปลูกเรียบร้อยแล้วต้องรดน้ำให้ทันที
จากนั้นจึงจะหาฟางหรือหญ้าแห้งคลุมกอไว้ให้หนาในหน้าแล้งก่อน และอาจจะไม่ต้องคลุมก็ได้ในหน้าฝน และหลังจากปลูกแล้วประมาณ 1 เดือน ต้นก็จะเริ่มติดแล้ว ให้สังเกตที่ต้นว่าจะเริ่มแตกยอดอ่อน ให้ใส่ปุ๋ยคอก มูลไก่ หรือมูลวัว ประมาณ 1 กก. ห่างจากกอ 15 เซนติเมตร
การบำรุงดูแลต้นไผ่
การให้ปุ๋ยต้นกอไผ่ โดยส่วนใหญ่แล้วเขาจะเน้นมูลไก่ หรือมูลวัว มากกว่า ในระยะ 3-4 เดือนแรก จะให้ปุ๋ย 1 ครั้ง ในปริมาณ 2-3 กก./ต้น พอเข้าเดือนที่ 8 แล้วจึงจะเพิ่มปริมาณเป็น 10 กก./ต้น และหลังจากที่ไผ่ให้หน่อจะใส่ 2-3 ครั้ง/ปี ทั้งนี้ต้องดูด้วยว่าเป็นมูลไก่ใช้ครึ่งกระสอบต่อต้น (กรณีที่แยกแกลบแล้ว) หรือมูลวัวจะใช้ 1 กระสอบ/ต้น ได้ทันที ด้วยที่ว่ามูลสัตว์ 2 ชนิดนี้มีความเข้มข้นแตกต่างกันนั่นเอง
คุณวรรณบดีบอกว่าการคลุมกอไผ่เป็นเรื่องที่จำเป็นมาก เพราะหากหน่อไม้โผล่ออกมาแล้วเจออากาศภายนอกจะมีผลต่อรสชาติ ขนาด และเนื้อแข็ง วัสดุที่ใช้คลุมอาจเป็นแกลบดิบเก่า แกลบดำจะสามารถอุ้มน้ำได้ดี ให้ใส่ประมาณ 1-2 กระสอบ/กอ หรืออาจเป็นวัสดุทางธรรมชาติชนิดอื่นๆ ก็ได้ไม่ว่ากัน
การสางต้น และการทิ้งลำไผ่ ในปริมาณที่เหมาะสม จะช่วยส่งผลต่อคุณภาพ ขนาด จำนวนของหน่อแต่ละกอได้ เริ่มจากการให้หน่อรุ่นแรกประมาณ 8 เดือน จะทำการสางกิ่งออกให้หมด และลำไผ่เล็กๆ ออกให้หมด เหลือไว้ประมาณ 5-8 ลำก็พอ ทั้งนี้ควรเลือกต้นที่มีลักษณะลำใหญ่เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 นิ้วขึ้นไป ในไผ่ลงหวานกิ่งแขนงจะค่อนข้างเยอะมาก แต่ไผ่รวกหวานมีน้อย หรือแทบจะไม่มีเลย ประเด็นสำคัญ คือ กอที่มีลำมาก หน่อจะออกน้อย ส่วนกอที่มีลำน้อย หน่อจะอ้วนใหญ่ และให้ผลผลิตได้มาก
การให้ความรู้การ ปลูกไผ่หวาน
ไม่ว่าจะที่ไหน หรือที่ใดก็ตาม การรวมกลุ่มกันเป็นเรื่องที่ดี ส่งผลต่อทั้งการตลาด การผลิต และกระจายของตัวสินค้าเป็นไปในทางที่ดีขึ้น การรวมกลุ่มในประเทศไทยมีหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นชมรม สหกรณ์ กลุ่ม หรือเครือข่าย ก็ตาม แสดงให้เห็นว่าการก่อตั้งให้เกิดขึ้นมาไม่ใช่เรื่องยาก แต่ความสำคัญอยู่ที่ว่าจะทำอย่างไรให้เครือข่าย “คงอยู่” และ “มั่นคง” ได้
“ณ ตอนนี้ไผ่หวานมีสมาชิกนำไปปลูก บางคนประสบกับความสำเร็จ และบางคนล้มเหลว ส่วนใหญ่มาจากการไม่มีเวลาดูแลสวน จึงทำให้ดูเหมือนทุกอย่างยุ่งยากมากขึ้นเรื่อยๆ” แม้กลุ่มเครือข่ายนี้จะไม่ใช่กลุ่มที่เรียกว่าใหญ่มากนัก ด้วยสมาชิกกว่า 10 คน ที่ยังคง “รุก” ไปข้างหน้าพร้อมกัน
แต่ด้วยความที่มองเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่าง “ทะลุปรุโปร่ง” เขาจึงคิดค้นหาวิธีที่จะช่วยแบ่งเบาปัญหาของสมาชิกอย่างเต็มที่ จนกระทั่งได้ไผ่หวานชนิดล่าสุดออกมาตอบโจทย์ปัญหาจนสำเร็จ เรียกว่า “ไผ่รวกหวานเพชรเด่นชัย” ที่จะเข้ามาตีตลาดหน่อไม้หวานในอนาคต
แม้ว่ากลุ่มเครือข่ายจะกระจัดกระจายออกไป แต่เขาก็ไม่เคยทิ้งสมาชิกกลุ่มแต่อย่างใดเลย เขายังคงให้คำปรึกษา แนะนำ และหาตลาดให้สมาชิกเท่าที่จะทำได้ หรือบางทีก็จะเข้าไปในสวนของสมาชิกด้วยตัวเอง เพื่อติดตามผลหลังการนำกิ่งพันธุ์ไปปลูกแล้วเสมอ
นี่เป็นจำนวนตัวเลขที่เขาบอกว่า “ไม่ต่ำกว่า” ประมาณจากไผ่บงหวานเพชรน้ำผึ้งที่มีหน่อตลอดทั้งปี โดยรายได้ของสวนแล้วน่าจะอยู่ราวๆ 30,000 บาท/ไร่ เป็นกำไรที่ถูกหักในส่วนของต้นทุนเรียบร้อยแล้ว ซึ่งที่สวนได้จัดแจงพื้นที่ 6 ไร่ สำหรับไผ่บงหวานเพชรน้ำผึ้งตัวทำเงินทั้งปีของเขา ณ ปัจจุบัน และไผ่หวานชนิดอื่นๆ อีก 5 ไร่ แค่นี้ก็ไม่จนแล้ว
ด้านตลาดและช่องทางจำหน่ายไผ่หวาน
ปลูกแล้ว ขายที่ไหน ขายให้ใคร ใครจะซื้อ มีการรองรับหรือเปล่า?? เป็นปัญหาที่เกษตรกรก่อนลงมือทำต้องเอะใจขึ้นมาบ้าง ปลูกได้ ขายไม่ได้ ขายไม่เป็น เป็นเรื่องที่น่าปวดหัวสิ้นดี ยิ่งคนที่ทำตลาดไม่เป็นด้วย แล้วทีนี้ล่ะรอพ่อค้าคนกลางอย่างเดียวรับรองตายหยังเขียด และคงหนีไม่พ้นเรื่องการตัดราคา
แต่น่าแปลกที่สวนของเขาเน้นขายหน้าสวน กลับกลายเป็นว่าขายดีซะด้วย ทั้งคนในชุมชนเอง เกษตรกรที่เข้ามาเยี่ยมชมสวน ทั้งภายในและต่างจังหวัดเข้ามาหาซื้อกัน เพื่อเป็นของฝากก็มีไม่น้อย ล้วนแต่ขายได้ทั้งสิ้น ทั้งยังราคาดีกว่าหน่อไม้ขมอีก!
แต่ตอนนี้ คือ กลุ่มยังมีน้อย หมายถึง สมาชิกที่สามารถขายหน่อได้แล้วยังมีอยู่น้อยมาก เพียงไม่กี่รายเท่านั้น ยังไม่สามารถเข้าทำตลาดกับร้านอาหารใหญ่ๆ ได้ แต่โดยทั่วไปแล้วไผ่หวานจะนำไปขายที่ไหนก็ยังขายได้อยู่เสมอ แม้จะนำไปขายตามตลาดนัดเหมือนสมาชิกบางคนในเครือของเขาก็ตาม ที่แน่ๆ คือ ส่งขายในร้านอาหารดังของเชียงใหม่ และร้านเกษตรปลอดสารพิษ ของคณะเกษตรศาสตร์ หาวิทยาลัยเชียงใหม่
ทั้งนี้เขายังได้รับเชิญให้ออกบูธตามงานเกษตรต่างๆ รวมถึงงาน ISRMAX Horti and Agri Asia ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี และยังได้รับเชิญเข้าร่วมแสดงสินค้าทุกวันเสาร์-อาทิตย์แรกของเดือน ณ พิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ต.คลองหนึ่ง อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี
ราคาขายของไผ่หวานจะแบ่งเป็น 2 ราคา คือ ขายปลีกราคาอยู่ที่ 100 บาท/กก. และราคาขายส่งอยู่ที่ 80 บาท/กก. หรือในหน้าฝนที่ไผ่ชนิดต่างๆ ทยอยกันออกหน่อ เขาก็ยังสามารถขายหน่อไม้ไผ่หวานได้ และอาจเรียกว่าขายได้ดีด้วย “จริงๆ แล้วหน่อไม้ไผ่หวานไม่ควรจะขายถูก น่าจะแพงกว่าเท่าตัวของหน่อไม้ขม” ดังนั้นไม่ต้องกลัวว่าจะขายไม่ได้
ฝากถึงเกษตรกรที่สนใจ ปลูกไผ่หวาน
“อยากให้เกษตรกรที่ปลูกพืชทั่วไปอยู่ หากสนใจ ปลูกไผ่หวาน เป็นอาชีพเสริม เป็นการทำเกษตรแบบผสมผสาน เพราะทุกวันนี้ป่าไม้เมืองไทยถูกรุกรานไปมากแล้ว อาชีพการปลูกไผ่ก็เหมือนกับการปลูกป่ากลับคืนอีกทางหนึ่ง แล้วยังสามารถมีรายได้จากไผ่ด้วย”
บางคนอาจเคยได้ยิน ที่ว่า “ปลูกไผ่แล้วรวย” สวนเพชรเมืองแพร่จะเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่รวยได้ด้วยไผ่ สามารถเข้ามาชมสวนได้ตลอดทั้งปี เข้ามาศึกษาเรื่องไผ่ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ที่นี่ยินดีที่จะถ่ายทอดความรู้ที่มีอยู่ให้กับผู้สนใจ และเกษตรกรทุกท่าน
สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่ คุณวรรณบดี รักษา (สวนเพชรเมืองแพร่) 91 ม.4 ต.แม่จั๊วะ อ.เด่นชัย จ.แพร่
อ้างอิง : นิตยสารพลังเกษตร