จุดแข็งของประเทศไทยก็คือ เรื่องของเกษตรกรรม เพราะประเทศไทยเป็นเหมือนเมืองอู่ข้าว อู่น้ำ มีผลผลิตทางการเกษตรมากมาย ยิ่งถ้าการเกษตรนั้นเป็นการทำเกษตรที่ปลอดสารพิษ หรือสารเคมี ด้วยแล้ว ทั้งในประเทศไทย และต่างประเทศ เอง ต่างก็ยอมรับในคุณภาพของสินค้าเกษตรนั้นๆ สวนผักอินทรีย์
ซึ่งในปัจจุบันผู้คนทั่วโลกไม่เว้นแต่ในประเทศไทยเองต่างก็ตื่นตัวในเรื่องของการใช้สารเคมีในพืชผัก หรืออาหารต่างๆ เพราะจะมีสารพิษตกค้างในอาหาร จนเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคภัยต่างๆ มากมาย และยังส่งผลเสียไปยังระบบนิเวศต่างๆ อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นดิน น้ำ อากาศ หรือแม้แต่แมลงที่คอยกำจัดศัตรูพืช
การปลูกผักปลอดสาร
เนื่องในโอกาสที่ทางทีมงานนิตยสารพลังเกษตร คอลัมน์ผักเศรษฐกิจ ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ คุณสมหมาย หนูแดง ที่ ไร่ทนเหนื่อย จังหวัดลพบุรี ผู้ที่ผันตัวเองจากอาชีพรับราชการครูมาทำการเกษตรผักอินทรีย์ไร้สารพิษ ในเนื้อที่ทั้งหมด 70 ไร่ โดยใช้ระบบนิเวศจัดการกันเอง เรื่องราวจะเป็นอย่างไร เชิญติดตามต่อได้เลย
คุณสมหมาย หนูแดง เดิมมีอาชีพเป็นข้าราชการครู แต่รู้สึกว่าอาชีพนี้ไม่ใช่สิ่งที่ตนเองชื่นชอบ เพราะระบบราชการมักทำตามกรอบ ตามระบบ ด้วยส่วนตัวก็คิดและอยากทำอาชีพอิสระ พออายุราชการครบ 25 ปี จึงตัดสินใจลาออกจากราชการ สาเหตุที่คุณสมหมายตัดสินใจมาทำเกษตรอินทรีย์แทนที่จะทำธุรกิจอย่างอื่น เพราะพื้นฐานเคยทำวิจัยเรื่องสารพิษตกค้างในอาหาร และมองเห็นว่าในสมัยนี้มีสารพิษตกค้างในอาหารมากมายแทบทุกอย่าง
และด้วยส่วนตัวชอบศึกษาเรื่องสารพิษตกค้างในอาหาร โดยอาหารที่เรารับประทานกันแทบทุกอย่าง ทั้งสด และแปรรูป ก็มีสารพิษตกค้างทั้งนั้น ตนจึงมุ่งมั่นที่จะผลิตผลผลิตที่ไม่เกี่ยวข้องกับสารเคมี เลยมองว่าอาชีพอิสระที่เหมาะกับตนเองมากที่สุดก็คือ อาชีพเกษตรแบบอินทรีย์ไร้สารพิษ
สวนผักอินทรีย์ ไร้สารพิษ บนเนื้อที่ 70 ไร่ จ.ลพบุรี
ด้วยต้นทุนเดิมมีพื้นที่ของ พ่อ แม่ อยู่แล้วประมาณ 24 ไร่ โดยพื้นที่ส่วนมากจะเป็นหิน และป่า ทำให้มีพื้นที่ในการทำการเกษตรน้อย และเมื่อไปตรวจโครงสร้างของดินก็พบว่าพื้นที่นี้เหมาะกับการปลูกข้าวโพด เพราะขาดธาตุอาหารหลายๆ อย่าง โดยเฉพาะธาตุไนโตรเจน ไม่เหมาะกับการปลูกผัก
แต่คุณสมหมายก็ไม่เปลี่ยนความคิด เนื่องจากตนได้ตั้งใจไว้แล้ว ทางกระทรวงเกษตรจึงแนะนำให้บำรุงดินก่อน เพราะสภาพดินมีความเป็นด่างเยอะ ด้วยเริ่มแรกใช้วิธีการบำรุงดินที่ง่ายที่สุดก็คือ การทำปุ๋ยหมักด้วยมูลวัว, มูลไก่ แต่เมื่อผลผลิตออกมาพืชผักกลับทรุดโทรม แทบหมดเนื้อหมดตัว เพราะลงทุนเยอะ ทั้งซื้อของ จ้างคนงาน
จนกระทั่งไร่ทนเหนื่อยถึงขั้นวิกฤต ปล่อยให้หญ้าขึ้นมาเต็มพื้นที่ คุณสมหมายจึงปรึกษากับลูกชายว่าให้ดายวัชพืชลงให้สั้น แล้วใช้เครื่องพรวนเล็กพรวนดินให้วัชพืชย่อยสลายไปเอง และทดลองปลูกในแปลงนั้น ผลปรากฏว่าผลผลิตที่ออกมาดีมาก
คุณสมหมายกล่าวว่า “ก็เลยได้สติว่าเราโง่อยู่ตั้งนานว่า วัว, ควาย มากินธาตุอาหารดีๆ จากบ้านเราไปหมด จากพืชสดไปเลี้ยงตัว พักเดียวอ้วนท้วนสมบูรณ์ พอถ่ายออกมาคนก็เอามาเป็นปุ๋ย ซึ่งเหลือแต่กากธาตุอาหารมีน้อยมาก แล้วเอามาทำเกษตร ถึงได้เจ๊งตรงนี้”
การปลูกผักหลากหลายชนิด
การปลูกพืชของคุณสมหมายจะไม่เน้นการปลูกพืชชนิดเดียว หรือสองชนิด เพราะตลาดจะแคบ และเมื่อผลผลิตเยอะ ราคาก็จะตก ไร่ทนเหนื่อยจะปลูกพืชหลายตัวตามฤดูกาล เพื่อให้ลูกค้าสามารถได้รับประทานผักที่หลากหลาย โดยทางไร่ทนเหนื่อยจะปลูกผักไม่ต่ำกว่า 20 ชนิด โดยหลักๆ จะเป็นผักพื้นฐานที่คนกินทั่วไป และผักชนิดใหม่ๆ เพื่อให้มีความหลากหลาย เช่น กวางตุ้ง หัวไชเท้า กะหล่ำปลี ผักคะน้า ถั่ว แตง มะเขือเทศ โหระพา หอม เป็นต้น
การเริ่มปลูกจะไม่มีอะไรมาก เริ่มจากไถพรวนดิน ถ้ามีวัชพืชสดก็ไถกลบไปได้เลย และจะโรยเมล็ดพันธุ์ลงไป ไม่มีการขุดหลุม เพราะจะเป็นการสร้างงานให้มากขึ้น และการขุดหลุมเป็นการเสียเวลา ซึ่งใน 1 แปลง จะมีพืชมากกว่า 2 ชนิด เพื่อเป็นการประหยัดทรัพยากรน้ำ และพื้นที่การปลูกไปในตัว โดยพันธุ์ที่จะนำมาปลูก คุณสมหมายได้ศึกษาดีแล้วว่าเป็นพันธุ์ที่มีคุณภาพ ทั้งจากการสอบถาม หรือจะศึกษาด้วยตัวเอง ทำให้ผลผลิตออกมามีคุณภาพ
การดูแลจัดการแปลงผัก
การให้น้ำ จะให้จนดินฉ่ำ แต่ไม่แฉะ ทางไร่ทนเหนื่อยจะใช้แหล่งน้ำจากบาดาลจ่ายน้ำโดยหัวสปริงเกลอร์ ให้ครั้งละ 15 นาที แต่เมื่อก่อนให้เช้า-เย็น จนเป็น 1 วัน/ครั้ง และ 2 วัน/ครั้ง ซึ่งคุณสมหมายกล่าวว่า “เรื่องของการเกษตรเป็นเรื่องที่หาข้อสรุปไม่ได้ ไม่มีข้อสรุปแน่นอนตายตัว ขึ้นอยู่กับประสบการณ์และสภาพพื้นที่นั้นๆ”
การดูแลผลผลิตจะมีแค่การถอนหญ้า โดยใช้แค่แรงงานคน และนำไปวางบนแปลงเพื่อให้เป็นปุ๋ยพืชสดต่อไป และจะไม่มีการฉีดพ่นหรือให้ปุ๋ยชีวภาพทั้งสิ้น เพราะไร่ทนเหนื่อยถือว่าสมุนไพร คือ ของเหม็น ของขม ของขื่น ของเมา ของที่คนไม่กิน แมลงก็ไม่กิน เพราะมันเป็นพิษ แต่เราเอามาสกัดแล้วเอาไปพ่นผัก เปลี่ยนสภาพผักที่เป็นรสชาติธรรมชาติให้มันเหม็น ขม ขื่น เมา แมลงเลยไม่กิน
และผักจะงามได้ดีในอุณหภูมิไม่เกิน 20º C พอฤดูร้อน อากาศร้อน 40º C ผักก็จะไม่งาม ก็ต้องปลูกผักที่ง่ายต่อการจัดการ เหมาะกับฤดูร้อน หรือใช้พืชช่วยพืช เช่น สร้างค้างปลูกแตง หรือบวบ เมื่อต้นแตงหรือบวบเต็มค้างก็สามารถพรางแสงให้กับพืชตัวอื่นได้ ซึ่งเป็นวิธีการจัดการพืชให้เข้ากับฤดูต่างๆ โดยอยู่ที่ตัวเรา ทุกอย่างเป็นกระบวนการที่กลั่นกรองจากความคิดและประสบการณ์
การใช้แมลงกำจัดแมลง
ภายหลังจากการที่ทางไร่ทนเหนื่อยประสบปัญหามามากมาย มีการปรับสภาพดินให้ดีขึ้นมาแล้วนั้น คุณสมหมายก็สนใจศึกษาเรื่องของระบบนิเวศห่วงโซ่อาหารว่า แมลงมีอยู่ 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ แมลงกินผัก กับแมลงกินแมลง
ในตอนนั้นก็ไม่รู้ว่าแมลงมีอะไรบ้าง จนได้เห็นรายการทีวี ชีววิธีที่ชัยนาท เรื่องตัวห้ำ ตัวเบียน และแมลงเต่าลาย ที่เพาะพันธุ์เพื่อให้เกษตรกรเอามาปล่อย ตนก็เลยสนใจ โดยมีเกษตรตำบลพาไปศึกษาอธิบายว่าแมลงจะอยู่ได้อย่างไร พร้อมกับเอาแมลงมาปล่อย คือ เมื่อนำแมลงมาปล่อยก็จะต้องมีแมลงให้กิน ต้องมีบ้านให้แมลงอยู่ ในพื้นที่จำเป็น ต้องมีส่วนรก พื้นที่จะโล่งไม่ได้ เพราะถ้าพื้นที่โล่งหมดแมลงก็จะหนี เพราะฉะนั้นจึงจำเป็นต้องดูแลแมลงอย่างเคร่งครัด พอต่อมาคุณสมหมายได้สังเกตเพิ่มเติมว่าแมลงกินพืชนั้นชอบกินอะไร เมื่อสังเกตดูก็รู้ว่าแมลงกินพืช ชอบกินพืชที่มีประโยชน์สูง จำพวกโปรตีนสูง เช่น ผักโขม ผักเสี้ยน ดอกแค ที่มีธาตุอาหารเยอะ
จากการสังเกตนี้ทำให้รู้ว่าแมลงชอบกินเป็นบางอย่างเท่านั้น ที่ไร่ทนเหนื่อยจึงปล่อยให้พืชที่แมลงชอบกินขึ้นอยู่เต็มแปลงผัก เพื่อให้แมลงมีอาหารกินอย่างเหลือเฟือ โดยแค่อย่าให้พื้นที่โล่ง สะอาด จนหมด ปล่อยให้เป็นบ้านของแมลง ปล่อยให้พืชที่เป็นอาหารอยู่ แมลงก็จะไม่หันมากินพืชที่เราปลูก ทำให้เห็นความจริงที่ว่า ธรรมะคือความจริง ชาติคือเกิด ก็คือ พื้นที่เกษตรที่อยู่ในความเป็นจริง ที่ต้องอยู่ ต้องกิน และตาย ที่ต้องเข้าใจความเป็นจริงของมัน
อย่างเช่น พวกด้วงเต่าลาย ที่ชอบกินตัวเพลี้ยอ่อน ตอนที่ต้นพืชอ่อนแอจะเกิดเพลี้ยอ่อน บางคนทนไม่ไหวก็ไปฉีดพ่นฆ่า ซึ่งจะทำให้ตัวด้วงเต่าลายไม่มีอาหารกิน วงจรชีวิตก็จะหยุด ฉะนั้นจึงต้องปล่อยให้มีเพลี้ยอ่อนเพื่อให้ด้วงเต่าลายมีอาหาร และเกิดลูก หลาน อยู่ของมันได้ ซึ่งแมลงจำพวกหนอน แมงมุม หรือจะกบ เขียด ก็จำเป็นต้องปล่อยให้มี ซึ่งทุกชีวิตเป็นหลักของห่วงโซ่อาหาร เพราะฉะนั้นความสามารถจะไม่มี ถ้าเราไม่ขับไล่ ไม่มีการพ่นฆ่า มีแต่ดูแลมัน ให้ทุกชีวิตอยู่ร่วมกัน
ประเภทของแมลง
1.แมลงตัวห้ำ
แมลงตัวห้ำ เป็นแมลงที่กินเหยื่อที่เป็นแมลงด้วยกันเป็นอาหาร จะออกหากินเหยื่อด้วยการกัดกินตัวเหยื่อ หรือการดูดกินของเหลวในตัวเหยื่อ เกษตรกรจะใช้ประโยชน์จากแมลงตัวห้ำในการกำจัดแมลงศัตรูพืชทางการเกษตร สามารถแบ่งประเภทได้ 2 ลักษณะใหญ่ๆ คือ ลักษณะการออกหากินและประเภทของปาก
ลักษณะการออกหากิน
-ออกล่าเหยื่อที่เคลื่อนที่ เช่น ตั๊กแตน แมลงปอ เป็นต้น
-กินเหยื่ออยู่กับที่ เช่น ด้วงเต่าลาย เป็นต้น
ประเภทของปาก
-ที่มีปากแบบกัดกิน เช่น ด้วง แมลงปอ มด เป็นต้น
-ที่มีปากแบบแทงดูด เช่น มวนเพชฌฆาต มวนพิฆาต เป็นต้น
2.แมลงตัวเบียน
แมลงตัวเบียน เมื่อตัวเมียโตเต็มวัย และพร้อมจะวางไข่ จะใช้อวัยวะแทงเข้าไปในไข่ตัวอ่อน หรือเหยื่อที่โตเต็มวัย ขึ้นอยู่กับชนิดของตัวเบียนนั้นๆ หลังจากที่ไข่ฟักเป็นตัวอ่อนจะอาศัยร่างกายของแมลงนั้นๆ เป็นที่อยู่อาศัย และเป็นอาหารไปพร้อมกัน แต่เมื่อโตเต็มวัยการกินจะเป็นพวกน้ำหวานดอกไม้
แมลงตัวเบียนมีความสำคัญในการควบคุมปริมาณของศัตรูพืชที่เกษตรกรนิยมนำมาช่วยกำจัดศัตรูพืชในไร่ทนเหนื่อยเกษตรอินทรีย์ ซึ่งจะสามารถแบ่งแมลงตัวเบียนโดยอาศัยระยะต่างๆ ของแมลงที่เป็นเหยื่อได้ดังนี้
-แมลงเบียนไข่ คือ แมลงเบียนที่อาศัยหากินภายในไข่ที่เป็นเหยื่อ
-แมลงเบียนหนอน คือ แมลงเบียนตัวเมียเต็มวัยวางไข่บนหรือในตัวหนอน
-แมลงเบียนดักแด้ คือ แมลงเบียนที่จะหากินเหยื่อในระยะเข้าดักแด้
-แมลงเบียนตัวเต็มวัย คือ แมลงเบียนที่ออกไข่ในเหยื่อที่ตัวเต็มวัย
-แมลงเบียนหนอนดักแด้ คือ แมลงเบียนที่อาศัยอยู่กินกับตัวอ่อนของเหยื่อ จนเหยื่อครบรอบวงจรเข้าดักแด้ เหยื่อก็จะตาย
ด้านการตลาดผักอินทรีย์ไร้สารพิษ
ผักเกษตรอินทรีย์ไร้สารพิษ ไร่ทนเหนื่อย ของคุณสมหมาย ตลาดมีความต้องการสูง เนื่องจากเป็นเกษตรอินทรีย์เหนืออินทรีย์ ใช้ระบบห่วงโซ่อาหาร แทนที่จะใช้น้ำหมักฉีดพ่นในการกำจัดแมลง ทำให้มีเสียงตอบรับจากผู้คนมากมาย
ซึ่งช่องทางการจำหน่ายจะจำหน่ายในท้องถิ่น และมีบริษัทต่างๆ มารับซื้อเพื่อส่งตามห้างสรรพสินค้า และส่งออกไปยังสิงคโปร์ และยุโรป และกำลังจะเปิดร้านสินค้าเพื่อสุขภาพในจังหวัดลพบุรี เพื่อจำหน่ายผักให้กับชุมชนได้รับประทานอีกด้วย
ฝากถึง…คนที่คิดจะปลูกผักเกษตรอินทรีย์
คุณสมหมายกล่าวว่า “ถ้าคนสนใจจะปลูกเกษตรอินทรีย์อย่าคิดว่ามันง่าย และอย่าคิดว่ามันยาก ทุกวันนี้พอบอกจะทำเกษตรอินทรีย์ แล้วจัดอบรมทำปุ๋ยหมัก ปุ๋ยน้ำ เสร็จ ไม่ใช่แค่นั้นมันจะต้องรู้รอบ และรอบรู้ผัก ให้รู้จักคิด ไม่ใช่ไปเลียนแบบแล้วมาทำ รู้จักบูรณาการวิชาการเกษตรอินทรีย์ หรือเกษตรธรรมชาติ คือ การเอาความรู้ทุกวิชามาใช้ ทั้งภูมิศาสตร์ ชีววิทยา สังคม ฯลฯ เพราะวิชาการเกษตรอินทรีย์เป็นวิชาบูรณาการ เอาความรู้มาใช้อย่างถ่องแท้มั่นคง”
ขอขอบคุณ
คุณสมหมาย หนูแดง ที่อยู่ 19 หมู่ 8 บ้านพุน้ำทิพย์ ต.หนองแขม อ.โคกสำโรง จ.ลพบุรี 15120 โทร.09-0435-8768