ยิ่งราคายางพาราตกต่ำมากเท่าไหร่ ยิ่งทำให้การผลิต “ยางคุณภาพ” ลดน้อยลงเห็นได้จากชาวสวนยางจำนวนมากหันมาผลิต “ยางก้อนถ้วย” แทนการผลิต “ยางแผ่นดิบ” และ “ยางแผ่นรมควัน” ซึ่งเป็นยางคุณภาพของประเทศไทย การผลิตยางแผ่นรมควัน
ขณะเดียวกันราคายางกลับไม่จูงใจให้เกิดการปรับปรุงการผลิตยางแผ่นดิบ หรือยางแผ่นรมควัน ให้มีคุณภาพสูงขึ้น ตรงกันข้ามกลับเอาใจใส่น้อยลง โดยเฉพาะเรื่องความสะอาด ซึ่งเป็นหัวใจของการผลิตยางประเภทนี้
การผลิตยางแผ่นรมควัน
จึงไม่แปลกเลยที่ บริษัท อีโนเว รับเบอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ผลิตยางรถจักรยานยนต์ IRC ซึ่งเน้นคุณภาพผลิตภัณฑ์ จำเป็นต้องใช้วัตถุดิบยางคุณภาพสูง จึงต้องลงมาเข้มงวดเรื่องการผลิตระดับต้นน้ำ เพื่อให้ได้วัตถุดิบคุณภาพตามต้องการ โดยการทำโครงการซื้อยางแผ่นรมควันกับกลุ่มเกษตรกรโดยตรง
แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ยางล้อรถจักรยานยนต์
นางพิมพ์ใจ ลี้อิสสระนุกูล ประธานกรรมการ เคยให้ข่าวผ่านสื่อหลายแขนงว่า บริษัทต้องการรับซื้อ “ยางแผ่นรมควันชั้น 1” เป็นจำนวนมาก เพื่อนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ยางล้อรถจักรยานยนต์ แต่ปัญหาเกี่ยวกับวัตถุดิบที่ผ่านมา คือ ยางแผ่นรมควันที่รับซื้อมักมีสิ่งสกปรกปนเปื้อน และคุณสมบัติทางกายภาพของยางไม่เป็นไปตามความต้องการ รวมถึงความไม่เสถียรของคุณสมบัติยางในแต่ละครั้งของการผลิต ทำให้เกิดปัญหาในกระบวนการผลิต และได้ผลิตภัณฑ์ไม่มีคุณภาพ
หากแต่ที่ผ่านมาบริษัทไม่สามารถเข้าถึงเกษตรกรได้โดยตรง ทำให้เกษตรกรไม่ทราบความต้องการที่แท้จริงของผู้ใช้งาน บริษัทเห็นว่าควรเข้าไปดูแลช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางที่มีความพร้อม มีความรู้ ในการปรับปรุงกระบวน การผลิตยางแผ่นรมควัน ให้มีคุณภาพมาตรฐานอย่างยั่งยืน และยินดีจะรับซื้อในราคาเป็นธรรม และสูงกว่าตลาดทั่วไป ปริมาณ 150,000 กก./เดือน
สหกรณ์กองทุนสวนยางคลองปาง จำกัด คือ สถาบันเกษตรกรที่ บริษัท อีโนเว รับเบอร์ฯ เข้ามาศึกษาดูกระบวนการผลิต ก่อนจะนำยางตัวอย่างไปตรวจสอบคุณสมบัติ และนำมาสู่การร่วมกันปรับปรุงกระบวนการผลิตให้เกิดคุณภาพ “เราใช้เวลาเกือบ 2 ปี กว่าจะมีการตกลงซื้อขายกันอย่างจริงจัง” คุณจักรกฤต แก้วทอง ประธานสหกรณ์ฯ คลองปาง ให้ข้อมูล
การปรับปรุงโรงงานผลิตยางแผ่นรมควัน
แต่กว่าจะมาถึงจุดนั้นได้สหกรณ์ต้องปรับปรุงโรงงานผลิตยางแผ่นรมควันครั้งใหญ่ พร้อมกับทำมาตรฐาน ISO 9001 : 2015 ซึ่งเป็นโรงผลิตยางแผ่นรมควันของเกษตรกรแห่งแรกของประเทศ ผลลัพธ์จากการปรับปรุง การผลิตยางแผ่นรมควัน ให้มีคุณภาพตามที่บริษัทผู้ผลิตยางต้องการ
ทำให้สหกรณ์สามารถขายยางได้ราคาสูงขึ้นกว่าตลาดกลางยางพารา ซึ่งเป็นตลาดอ้างอิงของประเทศ 4-7 บาท/กก. ขณะที่บริษัทผู้ผลิตยางได้วัตถุดิบยางที่มีคุณภาพตามต้องการ จึงเป็นผลประโยชน์ที่ วิน-วิน ทั้งสองฝ่าย
กระบวนการผลิตยางแผ่นรมควัน
หากแต่สิ่งที่สหกรณ์ต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด คือ กระบวนการผลิตต้องมุ่งเน้นความสะอาด ประธานสหกรณ์เล่าให้ฟังว่าสหกรณ์ต้องทำการปรับปรุงโรงงานครั้งใหญ่ เพื่อให้การทำงานแต่ละขั้นตอนสะอาด สะดวก ตามมาตรฐาน โดยเริ่มตั้งแต่
สถานีที่ 1
สถานีที่ 1 จุดรับน้ำยางจากสมาชิกที่มีอยู่ 208 ราย มีปริมาณน้ำยางสดวันละ 15,000 กก.
น้ำยางจากสมาชิกแต่ละรายจะต้องผ่านการกรอง 2 ครั้ง คือ กรองเบอร์ 40 และเบอร์ 80 จากนั้นก่อนเทลงบ่อน้ำยางจะกรองอีก 1 ครั้ง รวมเป็น 3 ครั้ง น้ำยางจากสมาชิกจะนำไปสุ่มตรวจเพื่อวัดค่า DRC หาเปอร์เซ็นต์ยางที่แท้จริง ก่อนจะคำนวณเป็นน้ำหนัก แต่สหกรณ์จะมีข้อกำหนดว่าจะไม่รับซื้อน้ำยางที่มีค่า DRC ต่ำกว่า 28% เพราะจะมีผลต่อคุณภาพของยางแผ่นรมควัน
สถานีที่ 2
สถานีที่ 2 จะเริ่มต้นเข้าสู่กระบวนการผลิต คือ การผสมน้ำยางเพื่อทำให้แข็งตัว ขั้นตอนนี้มีความสำคัญ เนื่องจากน้ำยางสดมาจากสมาชิกหลายราย แต่ละพันธุ์ แต่ละสวน มีค่า DRC ต่างกัน เมื่อนำมารวมกันจำเป็นต้องตรวจวัดค่าเฉลี่ย DRC ที่แท้จริง เพื่อนำมาคำนวณว่าจะต้องเติมน้ำ และน้ำกรด ปริมาณเท่าไหร่
“เมื่อก่อนเราจะคำนวณจากประสบการณ์ แต่ระบบใหม่เราต้องตรวจวัดหาค่าที่แท้จริง เพื่อให้ยางออกมาตรงตามคุณภาพที่กำหนด ถ้าพลาด คุณภาพยางก็จะลดลงตามไปด้วย” คุณจักรกฤตบอกความสำคัญ
ส่วนน้ำที่ใช้ในกระบวนการผลิตจะต้องกรอง และเก็บในแทงค์แบบปิด เพื่อให้สะอาดมากที่สุด พอๆ กับน้ำกรดที่ใช้ ต้องเป็น “กรดฟอร์มิค 94%” (ตราม้าแดง) ซึ่งเป็นกรดอินทรีย์ ทำให้ยางมีคุณภาพ ตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร
สถานีที่ 3
สถานีที่ 3 กระบวนการรีดแผ่น หลังจากยางแข็งตัว ขั้นตอนต่อมา คือ การรีดแผ่น เพื่อนำน้ำออกจากแผ่นยาง และรีดแผ่นยางให้บางตามต้องการ จากนั้นแขวนบนราวไม้ ซึ่งความหนา-บางของแผ่นยางจะสัมพันธ์กับขั้นตอนการรมควัน
สถานีที่ 4
สถานีที่ 4 การรมควัน หลังจากรีดแผ่นยางจะถูกนำเข้าสู่ห้องรมควันที่ใช้เชื้อเพลิงจากไม้ฟืนยางพาราเผาเพื่อนำควันรมแผ่นยางให้แห้ง ซึ่งมีการควบคุมอุณหภูมิที่เหมาะสม
ทั้งนี้เตารมควันของสหกรณ์มี 2 ระบบ คือ ระบบปกติ เผาฟืนให้เกิดควันเข้าไปรมแผ่นยางในห้อง และเตาแบบประหยัดพลังงานขนาดใหญ่สามารถอบยางได้ครั้งละ 180 ตัน เตาระบบน้ำจะใช้ไม้ฟืนยางพาราเป็นเชื้อเพลิง แต่ต่างจากระบบปกติตรงที่จะมีพัดลมเป่าควันเข้าสู่เตาอบ พร้อมกับดูดกลับออกมา แล้วนำมาหมุนเวียนเข้าสู่เตาอีกรอบ ช่วยให้ใช้ไม้ฟืนน้อยลง และยังสามารถควบคุมอุณหภูมิ และคุณภาพยาง ได้ง่ายขึ้น
สถานีที่ 5
สถานีที่ 5 การคัดเลือกคุณภาพยาง หลังจากรมควันยางจนแห้ง ขั้นตอนต่อมา คือ การคัดเลือกคุณภาพยาง ซึ่งคุณภาพที่ต้องการ คือ ยางชั้น 1 คุณสมบัติมีดังนี้ ยางแผ่นแห้ง, เนื้อแข็ง, ไม่มีจุดฟอง, ไม่มีกรวดทราย และสิ่งปลอมปนอื่นๆ, ไม่มีรอยจุดด่าง, ไม่มีตำหนิ, สะอาด และไม่มีรา เป็นต้น
ทั้งนี้ยางแผ่นรมควันที่จะส่งให้กับอีโนเว รับเบอร์ ต้องส่งตัวอย่างให้กรมวิชาการเกษตรตรวจวัดคุณสมบัติเพื่อให้ผ่านเกณฑ์ด้านต่างๆ ตามที่กำหนด โดยเฉพาะค่ามูนนี่ หรือค่าความยืดหยุ่น เป็นต้น ก่อนจะส่งไปอัดก้อนยังโรงอัดก้อนของกลุ่มเกษตรกรทำสวนควนเมา
การจำหน่ายยางแผ่นรมควัน
ปัจจุบันสหกรณ์กองทุนสวนยางคลองปางตกลงซื้อขายยางแผ่นรมควันกับบริษัท อีโนเว รับเบอร์ฯ จำนวน 75,000 กก./เดือน หรือ 75 ตัน/เดือน ซึ่งเกินกำลังความสามารถที่สหกรณ์จะผลิตได้ จึงเตรียมกระจายออเดอร์ไปยังสหกรณ์ต่างๆ ที่อยู่ในเครือข่ายยางพารา อ.รัษฎา
ซึ่งประกอบด้วย 3 สหกรณ์ กับอีก 1 กลุ่มเกษตรกร ได้แก่ สหกรณ์กองทุนสวนยางหนองศรีจันทร์จำกัด สหกรณ์กองทุนสวนยางหนองครกจำกัด สหกรณ์กองทุนสวนยางหนองบัวจำกัด และกลุ่มเกษตรกรทำสวนควนเมา ซึ่งทั้ง 5 แห่ง มีสมาชิกรวมกัน 5,200 กว่าคน มีพื้นที่ปลูก 20,000 กว่าไร่
หากแต่ทั้ง 4 กลุ่ม จำเป็นต้องมีการปรับปรุงโรงงานเข้าสู่ ISO 9001 : 2015 ซึ่งจะมีสหกรณ์กองทุนสวนยางคลองปางเป็นต้นแบบ ซึ่งคาดว่าจะทำได้เร็วๆ นี้
ทั้งนี้การที่สมาชิกสามารถขายยางได้ราคาสูงขึ้นกว่าตลาดกลางอย่างน้อย 4 บาท ทำให้เกษตรกรมีกำลังใจในการผลิตยางให้ได้คุณภาพ “เมื่อสหกรณ์ขายยางได้ราคาสูง ก็จะเฉลี่ยคืนสมาชิกสูง ช่วงที่น้ำยางราคา 25 บาท สหกรณ์ซื้อน้ำยางจากสมาชิก 31 บาท ขายได้ราคาสูงกว่าตลาด 6 บาท” ประธานสหกรณ์เผยว่าซึ่งนั่นเป็นแรงจูงใจให้สมาชิกเริ่มต้นให้ความสำคัญต่อการทำสวนยาง ทำอย่างไรให้ได้น้ำยางปริมาณมาก เปอร์เซ็นต์ยางสูงๆ กระบวนการผลิตยางคุณภาพจึงเริ่มต้นจากสวนของเกษตรกร
“เมื่อสมาชิกขายยางได้สูงขึ้น เขาจะทำยางให้สะอาดมากขึ้น และละเอียดลงไปถึงการผลิตยางอย่างไรให้ได้
คุณภาพ DRC สูง ผลผลิตสูง มีวิธีการบริหารจัดการอย่างไร ให้เปอร์เซ็นต์น้ำยาง เราจะต้องสร้างสวนตัวอย่าง โดยหาสมาชิกที่ผลิตยางได้คุณภาพ แล้วนำมาเป็นต้นแบบ”
การบริหารจัดการการผลิตยาง
ขณะเดียวกันการที่สหกรณ์ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการการผลิตยางในทุกขั้นตอน ไม่ใช่เป็นการเพิ่มต้นทุน หรือเพิ่มความยากในการทำงาน หากแต่ทำให้สามารถบริหารจัดการง่ายขึ้น ขณะที่ต้นทุนการผลิตลดลง
“เตารมควันระบบใหม่แบบประหยัดพลังงาน สามารถลดไม้ฟืน จาก 4 ส่วน เหลือ 1 ส่วน นี่คือต้นทุนที่ลดลง ต่อไปไม้ฟืนจะต้องคัด และมีสถานที่จัดเก็บ ไม่ตากแดด ตากฝน เพื่อให้ได้ไม้ที่เหมาะสำหรับรมควัน และคำนวณได้ว่าเตาหนึ่งใช้ไม้ฟืนเท่าไหร่ เพื่อประหยัด และลดต้นทุน แต่ต้นทุนด้านอื่นๆ ไม่ได้เพิ่มขึ้น การแบ่งกระบวนการทำงานเป็นสัดส่วน เน้นความสะอาด สิ่งที่ได้ คือ คนงานทำงานได้สะดวกขึ้น ต้นทุนไม่สูงเพิ่ม แต่สามารถขายยางได้ราคาสูง”
นี่คือแนวทางหนึ่งของการเพิ่มมูลค่ายาง โดยไม่จำเป็นต้องลงทุนเพิ่ม หรือขยายธุรกิจ หากแต่เพียงแค่เพิ่มความเข้มข้นด้านการผลิตให้ได้คุณภาพมากขึ้น มูลค่ายางก็จะสูงขึ้นเอง ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์ราคายางตกต่ำ ยิ่งยางราคาต่ำมากเท่าไหร่จะส่งผลต่อคุณภาพยางมากเท่านั้น แต่ยางคุณภาพยังคงเป็นที่ต้องการของโรงงานผลิตยางที่ผลิตสินค้าคุณภาพ และพร้อมที่จะซื้อยางในราคาสูง
ขอขอบคุณ
คุณจักรกฤต แก้วทอง,คุณศุภวรรณ ขวัญดี
สหกรณ์กองทุนสวนยางคลองปาง จำกัด 190/1 หมู่ 6 ต.คลองปาง อ.รัษฎา จ.ตรัง โทรศัพท์ 08-1787-5409