สุภาษิต “น้ำขึ้น ให้รีบตัก” เคยถูกนำมาใช้ในอาชีพสวนยางอย่างกว้างขวางในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา…??? เพราะช่วงนั้นเป็นช่วงรุ่งเรืองของการปลูกสร้างสวนยาง อีกทั้งราคายางพุ่งสูงติดต่อกันหลายปี ชาวสวนยางได้เงินเป็นกอบเป็นกำ และมีการคาดการณ์ว่าราคายางจะสูงอย่างนี้ไปอีกหลายปี
ชาวสวนยาง จำนวนมากจึงนำกำไรส่วนนี้ ไปขยายสวนยางแห่งใหม่เพิ่ม หวังโกยกำไรในช่วงยางราคาแพง ยิ่งปลูกมาก ยิ่งมีโอกาสได้กำไรมาก ตามสุภาษิตที่ว่า “น้ำขึ้น ให้รีบตัก” แต่ไม่ใช่ ชาวสวนยาง ทุกรายที่มีแนวความคิดอย่างนั้น แต่มีความคิดตรงข้ามว่าการปลูกยางไม่จำเป็นต้องปลูกจำนวนมาก เพียงแต่เลือกปลูกตามกำลัง และความสามารถ ดูแลจัดการ
ขณะเดียวกันการปลูกพืชหลายตัว นอกเหนือจากยางเท่ากับประกันความเสี่ยง ไม่ฝากอนาคตไว้กับพืชตัวใดตัวหนึ่งอย่างเดียว ตามทฤษฎี “ไข่หลายตะกร้า” ย่อมปลอดภัย และเสี่ยงน้อยกว่าการนำไปเก็บไว้ตะกร้าเดียว ถ้าตะกร้าใดเกิดอุบัติเหตุ ก็ยังมีไข่อีกตะกร้าเหลืออยู่ ด้วยสถานการณ์ราคายางปัจจุบันพิสูจน์และยืนยันได้แล้วว่าอาชีพสวนยางมีความเสี่ยงเหมือนๆ กับพืชชนิดอื่นๆ ทางที่ดีควรปลูกพืชหลายตัว หรือมีอาชีพอื่นเสริม นั่นคือ ความยั่งยืนกว่า
เป็นโอกาสดีที่ สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) นำคณะสื่อมวลชนไปดูสวนยางในพื้นที่ 2 จังหวัดอีสานใต้ ที่มีแนวการทำสวนยางแบบผสมผสาน และสร้างรายได้เสริมจากสวนยางในท้องที่ราคายางตกต่ำ รวมถึงการรวมกลุ่มเกษตรกรเพื่อสร้างอำนาจการต่อรองการซื้อขายยางไม่ให้ถูกพ่อค้าเอารัดเอาเปรียบ เนื้อหามีดังนี้
สกย.ศรีสะเกษ ขับเคลื่อนนโยบายช่วยเหลือ ชาวสวนยาง
คุณปิยะ วงศ์วิวรรธน์ ผู้อำนวยกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางพารา จ.ศรีสะเกษ
เริ่มกันที่ จ.ศรีสะเกษ จังหวัดนี้เป็นพื้นที่ปลูกยางสำคัญของอีสานใต้ มีพื้นที่ปลูกยางไม่ต่ำกว่า 60,000 ไร่ และยังมีโรงงานยางแท่ง STR 20 ขององค์การสวนยางอยู่ใน อ.ขุนหาญ แต่ก่อนจะลงพื้นที่ไปดูสวนยางของเกษตรกร เรามีสอบถามข้อมูลโดยภาพรวมของจังหวัดก่อนว่าเป็นอย่างไร
คุณปิยะ วงศ์วิวรรธน์ โทรศัพท์ 08-1477-6606 ผู้อำนวยกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางพารา จ.ศรีสะเกษ ให้ข้อมูลว่า เกษตรกรส่วนใหญ่มีอาชีพทำไร่ เช่น นาข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ข้าวโพด ปลูกหอม และกระเทียม เป็นต้น โดยเฉพาะข้าว เป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญทำรายได้มากเป็นอันดับ 1 ส่วนข้อมูลด้านอาชีพสวนยาง
คุณปิยะบอกว่าสวนยางส่วนใหญ่เป็นเจ้าของสวนรายย่อย แต่หากยังทำสวนยางเป็นอาชีพหลักอย่างเดียวก็คงลำบาก จึงพยายามส่งเสริมให้ทำอาชีพเกษตรอย่างอื่นเสริม “ตอนนี้เราจึงเปรียบเสมือนว่าเรากำลังหาปลา อาจจะได้ปลาจำนวนน้อย เราต้องใช้วิธีทอดแห ถ้าเราทอดแหหาปลา เราก็มีโอกาสได้ปลามากขึ้น” ผอ.สกย. จ.ศรีสะเกษ ให้ข้อคิด
ขณะเดียวกันภาครัฐเองมีนโยบายส่งเสริม ชาวสวนยาง ในช่วงราคายางตกต่ำหลายๆ ด้าน ทาง สกย. ยังจัดงบประมาณสินเชื่อเงินหมุนเวียนสำหรับ ชาวสวนยาง สงเคราะห์รายละไม่เกิน 50,000 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2 บาท/ปี
ส่วน ชาวสวนยาง ที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการสงเคราะห์ฯ ทาง สกย. ได้รับมติจากรัฐบาลให้ช่วยเหลือเงินกู้ครัวเรือนละไม่เกิน 100,000 บาท พร้อมเข้าไปแนะนำหลักวิชาการ ทั้งการดูแล บำรุงรักษาต่างๆ และสามารถเข้ามาบริการ เป็นต้น “ส่วนมากจะขอกู้ไปใช้ปลูกพืชแซมในแถวปลูกยาง
ในเรื่องการลดต้นทุนการผลิต ทางสกย.ก็มีการสนับสนุนการฝึกอบรมปุ๋ยสั่งตัด ให้ใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน และสนับสนุนให้เกษตรกร ชาวสวนยาง ทำปุ๋ยอินทรีย์ใช้เอง” ขณะนี้มีสวนยางเข้าร่วมโครงการกว่า 20,000 ไร่ จากพื้นที่ปลูกยางทั้งหมด 50,000-60,000 ไร่ มีผลผลิตปีละ ประมาณ 600,000 ตัน /ปี
…………………………………………………………………………………………………………………………………………..………
ยางราคาตก เลี้ยงจิ้งหรีดเสริม เพิ่มรายได้ 6,000 บาท/เดือน
คุณดวงปี สุทธิวรรค เลี้ยงจิ้งหรีด จ.ศรีสะเกษ
เกษตรกรรายแรกใน อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ มีแนวทางการหารายได้เสริมจากสวนยางในช่วงยางราคาตก ด้วยการเลี้ยงจิ้งหรีดเป็นรายได้เสริม
คุณดวงปี สุทธิวรรค โทรศัพท์ 08-0898-3135 เล่าว่า มีพื้นที่ปลูกยางพาราพันธุ์ RRIM 600 ประมาณ 50 ไร่ เป็นอาชีพหลัก แต่ช่วงหลายปีที่ผ่านมาเห็นว่าราคายางเริ่มลดลงต่อเนื่อง จึงเลี้ยงจิ้งหรีดขายเป็นอาชีพเสริมตั้งแต่เมื่อ 5 ปีที่แล้ว “เลี้ยงง่าย ใช้พื้นที่ไม่มาก สามารถเลี้ยงในบริเวณบ้านได้ มีรายได้พอสำหรับใช้จ่ายในครัวเรือน และต้นทุนต่ำ”
ขั้นตอนการเลี้ยงจิ้งหรีด
จิ้งหรีดที่นำมาเลี้ยง คือ พันธุ์ทองดำ และทองแดง เป็นพันธุ์เลี้ยงง่าย ใช้พื้นที่ทำโรงเพาะเลี้ยงไม่มาก สามารถนำมาเลี้ยงบริเวณรอบบ้านได้ และยังได้ทำงานอยู่กับบ้านอีกด้วย
วิธีเลี้ยงเริ่มจากทำกล่องเลี้ยง ใช้ถาดไข่เป็นรังในการเลี้ยง กล่องหนึ่งใช้ประมาณ 30 ถาด โดยลงทุนไข่จิ้งหรีด ถาดละ 150 บาท มีตัวประมาณ 3-4 กิโลกรัม/ถาด และอาหารของจิ้งหรีด คือ หัวอาหารจิ้งหรีด กระสอบละ 530 บาท ใบมันสำปะหลัง และเศษอาหารอื่นๆ เช่น ฟักทอง เศษผัก เป็นต้น ส่วนระยะเวลาในการเลี้ยงจิ้งหรีด ถ้าในอากาศร้อนใช้เวลาเลี้ยงประมาณ 35-40 วัน และอากาศเย็นใช้เวลาเลี้ยงประมาณ 50-60 วัน จึงสามารถจับขาย
การจำหน่ายจิ้งหรีด
เจ้าของบอกว่าจิ้งหรีดขายเป็นแบบสดแล้วนำไปบริโภคส่งขายกิโลกรัมละ 150 บาท มีรายได้อยู่ที่ประมาณ 5,000-6,000 บาท/เดือน
อย่างไรก็ตามศัตรูของจิ้งหรีด คือ หนู เพราะฉะนั้นจึงต้องมีการปิดกล่องเลี้ยงให้ดีกันการเข้าทำลาย
……………………………………………………………………………………………………………………..……………………………
ลุย กันทรลักษ์ ชมยางต้นแรก อีสานใต้ อายุ 64 ปี
คุณโสภา ขุนจิตรงาม ปลูกยางพารา จ.ศรีสะเกษ
ไปดูการเลี้ยงจิ้งหรีดทำรายได้เสริมในสวนยางแล้ว เราเดินทางต่อไปยัง ต.น้ำอ้อม อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ ที่นี่มียางพาราต้นแรกของอีสานใต้ โดยมี คุณสำเริง ประสิทธิ์ศักดิ์ อดีตข้าราชการกรมที่ดิน โดยได้นำเมล็ดพันธุ์มาจากประเทศมาเลเซีย ซึ่งเป็นพันธุ์เจมิล่า หรือเจ 1 นำมาปลูกที่บ้านโนนสำเริง ตั้งแต่ปี พ.ศ.2490 ปัจจุบันอายุ 68 ปี
คุณโสภา ขุนจิตรงาม โทรศัพท์ 08-1224-1875 อดีตผู้ใหญ่บ้านโนนสำเริง ให้ข้อมูลว่า อดีตที่ดินบริเวณนี้เป็นป่ารกชัฏ พ่อสำเริง ประสิทธิ์ศักดิ์ ปัจจุบันท่านเสียชีวิตแล้ว ช่วงนั้นตนได้เห็นต้นไม้ที่ปลูกบริเวณสวนใกล้บ้านท่าน เมื่อดูลักษณะต้นแล้วไม่เหมือนกับต้นไม้ที่เคยเห็นในภาคอีสาน จึงถามท่านว่าเป็นต้นไม้อะไร และได้คำตอบว่าเป็นต้นยางพารา
การปลูกยางพารา
พ่อสำเริงตั้งใจจะทำสวนยางขึ้นในอีสาน หลังจากที่พืชตัวนี้ปลูกเฉพาะในภาคใต้เท่านั้น และคนส่วนใหญ่ก็เชื่อว่าปลูกพื้นที่อื่นไม่ได้ และเมื่อรู้ว่าต้นยางพาราเป็นพืชเศรษฐกิจของประเทศไทย ผลผลิตมีการส่งออกได้ทั้งในและนอกประเทศ ยิ่งทำให้ตนมีแนวคิดว่าศึกษาพื้นที่ปลูกโดยใช้ต้นยางต้นแรกเป็นต้นยางแม่แบบ “คาดว่าน่าจะนำมาปลูกในพื้นที่ภาคอีสานใต้ได้ ทำให้มีกำลังใจไปศึกษาวิธีการทำสวนยางจากหลายพื้นที่ปลูกยาง และนำมาวิเคราะห์พิจารณาระบบต้น การปลูก บำรุงรักษา รวมถึงการเลือกพันธุ์ ความเหมาะสมกับพื้นที่ และตัดสินใจลงปลูก ทำสวนยางเป็นคนแรกของภาคอีสานใต้ด้วย”
วันนี้ก็พิสูจน์เรียบร้อยแล้วว่าอีสานปลูกยางพาราได้อย่างดี และกลายเป็นพืชเศรษฐกิจมูลค่าสูงในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะใน จ.ศรีสะเกษ มีพื้นที่ปลูกยางหลายหมื่นไร่
การจำหน่ายน้ำยางพารา
คุณโสภายังกล่าวต่อว่า 20 กว่าปีก่อน ที่ปลูกยาง เปิดกรีดยาง อาทิตย์หนึ่งนำออกขายราคา กก.ละ 14-20 บาท ยังดีกว่าไปทำอาชีพอย่างอื่น และยังมีระบบการขายที่เป็นธรรม เพราะมีการรวบรวมผลผลิตกันจำนวนมากๆ แล้วขายผ่านระบบประมูล ใครให้ราคาสูงขายให้คนนั้น ทำให้ไม่เสียเปรียบพ่อค้า และแม้ว่ายางราคาปัจจุบันจะตกต่ำ แต่อย่างน้อย ชาวสวนยาง ก็ยังมีรายได้เข้ามาอย่างต่อเนื่องทั้งเดือน
แนวโน้มในอนาคตของ ชาวสวนยาง
คุณโสภายังมองถึงอนาคตตลาดยางด้วยว่าอนาคตต้องกลับมาราคาสูงอีกครั้ง เพราะทั่วโลกต้องการใช้ยางเพิ่มขึ้นแต่ละปีจำนวนมาก อย่างปัจจุบันนี้ ชาวสวนยาง ในพื้นที่ ครอบครัวหนึ่งกรีดยางสัปดาห์ละ 3 วัน ได้ยางประมาณ 250-300 กก./20 บาท/ไร่ มีรายได้ 5,000 -6,000 บาท/สัปดาห์ “มีรายได้ 10,000 กว่าบาท/ เดือน ก็สามารถดำรงชีพอยู่ได้ อย่างสบายแล้ว”
……………………………………………………………………………………………………………………..……………………………
ยางก้อนถ้วย ทำรายได้เสริม ให้ชาวนา อ.สว่างวีระวงศ์
คุณแสงจันทร์ บุญแก่น ชาวสวนยาง ทำเกษตรผสมผสาน
แนวทางการปลูกพืชตามหลัก “เศรษฐกิจพอเพียง” ด้วยการปลูกพืชหลายอย่างบนเนื้อที่ไม่มากนัก หากไม่ได้พืชชนิดหนึ่ง ต้องได้อีกพืชชนิดหนึ่ง โดยเน้นระบบอินทรีย์ ลดต้นทุน มุ่งผลผลิต เพิ่มมูลค่า เพื่อพัฒนาสู่ความมั่นคงและยั่งยืน คือ แนวทางของ คุณแสงจันทร์ บุญแก่น โทรศัพท์ 08-7246-9640 เกษตรกรดีเด่น สาขาการทำนา หรือเกษตรกรตัวอย่าง จ.อุบลราชธานี
การทำสวนยาง เลี้ยงปลา-ไก่ ปลูกข้าว ปลูกผักสวนครัว
เขาเล่าว่า พื้นที่ของเขารวมทั้งหมด 45 ไร่ แบ่งปลูกข้าว 20 ไร่ ทำสวนยาง 15 ไร่ ขุดบ่อเลี้ยงปลา 2 ไร่ แล้วอีก 8 ไร่ ปลูกผักสวนครัว และเลี้ยงไก่ดำ เป็นต้น นอกจากนั้นเขายังทำหน้าที่เป็นวิทยากรให้ความรู้การทำเกษตรอินทรีย์ให้กับเกษตรกรในพื้นที่ เขาบอกว่าเกษตรกรพื้นที่ อ.สว่างวีระวงศ์ ส่วนมากทำนาปรัง และนาปี เพราะพื้นที่เหมาะสม มากกว่าทำเกษตรชนิดอื่น ส่วนยางพารา มันสำปะหลัง แตงโม และพืชผักล้มลุกทั่วไป ปลูกเป็นอาชีพเสริม
คุณแสงจันทร์เริ่มปลูกยางพันธุ์ RRIM 600 ตามโครงการรัฐบาล สนับสนุนปลูก 1 ล้านไร่ ปัจจุบันเปิดกรีดแล้ว 3 ปี โดยมี สกย. เข้ามาแนะนำ ให้ความรู้เกี่ยวกับการปลูกยางทางวิชาการ และพัฒนาด้านตลาดยาง รวมทั้งโครงการต่างๆ จากภาครัฐบาล
ด้านตลาดและช่องทางจำหน่ายยางก้อนถ้วย
สกย. สนับสนุนให้เกษตรกรมีตลาดยางพาราในท้องถิ่นขึ้นมา โดยการรวมกลุ่มเกษตรกรจำนวน 54 ราย ทั้งหมดเป็นเจ้าของสวนยางรายย่อย มีพื้นที่ปลูกยางรายละ 10-15 ไร่ ธุรกิจของกลุ่ม คือ รวบรวมยางก้อนถ้วยจากสมาชิกแล้วให้พ่อค้าเข้ามาประมูล เพราะยางก้อนถ้วยทำง่าย ขายได้เร็วกว่าผลิตยางแผ่น ประกอบกับราคายางลดลงเกษตรกรจึงไม่นิยมผลิตกัน พ่อค้าคนกลางจะเข้ามาดูคุณภาพยางเพื่อประมูลรับซื้อนั้น ราคาซื้อขายจะเป็นไปตามกลไกของตลาดกลาง และเป็นราคาไม่นิ่ง
“ทุกวันพุธประมาณเวลา 11.00-12.00 น. ราคายางตลาดกลางจะออกมาแล้วให้ประมูลกัน พ่อค้าก็จะเข้ามาประมูลรับซื้อยางที่นี่ แต่ราคายางจะเปลี่ยนแปลง มีขึ้น-มีลง หากราคากลางให้ยางแผ่นออกมากิโลละ 45 บาท เราก็จะขึ้นป้ายบอกกลุ่มสมาชิก และพ่อค้าที่เข้ามายื่นซองประมูลต้องเสนอราคาให้สูงกว่าราคากลาง เช่น ราคา 46 -47 บาท ขึ้นไป ส่วนพ่อค้าจะเป็นพ่อค้าท้องถิ่นมาจาก จ.อุบลราชธานี” คุณแสงจันทร์กล่าว
การจำหน่ายปุ๋ย
คุณแสงจันทร์กล่าวอีกว่าสมาชิกของกลุ่มจะทำนาข้าวเป็นหลัก การทำสวนยางเป็นเพียงอาชีพเสริม โดยกลุ่มจะส่งเสริมและให้ความรู้แนวทางการลดต้นทุน เช่น การทำปุ๋ยชีวภาพ และทำสวนระบบอินทรีย์ เช่น เรียนรู้การผลิตปุ๋ยที่หาได้ง่ายจากเศษผักอาหารของเหลือใช้ จากการบริโภคในครัวเรือน และสิ่งที่เกิดจากธรรมชาติ นำมาทำเป็นปุ๋ยใช้เอง และทำออกขาย อย่าง การเลี้ยงไส้เดือน จากตัวเป็นๆ ยังสามารถกำจัดขยะจากเศษพืช ผัก ผลไม้ ได้ดีด้วย
ทั้งนี้น้ำหมักจากไส้เดือนยังนำมาเป็นฮอร์โมนบำรุงพืช ทั้งทางใบ และดิน รวมทั้งนำเอาหอยเชอรี่มาหมักทำเป็นปุ๋ยน้ำหมัก บำรุงข้าว พืชผัก และต้นยางพารา นอกจากนี้เศษผัก เศษผลไม้ เศษอาหารที่เหลือจากการบริโภค มาผสมกับกากน้ำตาล น้ำ และสาร พด.2 ตามอัตราส่วนขนาดของถังที่ต้องการบรรจุ ทำเป็นปุ๋ยน้ำหมัก บำรุงพืช เป็นต้น
ขอขอบคุณ สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง
67/25 ถ.บางขุนนนท์ แขวงบางขุนนนท์ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ 10700 โทรศัพท์ 0-2433-6490