ประเทศไทยมีความได้เปรียบด้านอุตสาหกรรมยาง เนื่องจากเป็นประเทศผู้ผลิตยางพาราอันดับหนึ่งของโลก จึงมีโอกาสและความเป็นไปได้ในการพัฒนาประเทศให้เป็นศูนย์กลางการผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์แปรรูปยางพาราเบื้องต้น ให้มีคุณภาพ ตรงตามความต้องการของผู้ใช้ได้ น้ำยางสด
รวมทั้งการพัฒนาการผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ยางในชั้นปลายทั้งนี้หน่วยงานภาครัฐได้สนับสนุนให้มีการใช้ยางธรรมชาติในประเทศเพิ่มมากขึ้น โดยให้มีการเพิ่มการผลิตยางที่มีศักยภาพ พัฒนาผลิตภัณฑ์ยาง สร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อเพิ่มปริมาณการใช้น้ำยางให้มากขึ้น โดยมีเป้าหมายเพิ่มการใช้ยางภายในประเทศนั่นเอง
ดังนั้นแนวทางที่จะทำให้ชาวสวนยางยืนหยัดได้ระยะยาวนอกจากการส่งออกแล้ว ก็ต้องทำให้เกิดการใช้ยางในประเทศมากขึ้นนั่นก็คือ “การแปรรูปน้ำยาง”
จุดเริ่มต้นของ สหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านหนองครก จำกัด
คุณมนัส หมวดเมือง ผู้จัดการสหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านหนองครก จำกัด หนึ่งในผู้ก่อตั้งและริเริ่มความคิดต่อยอดงานสู่อุตสาหกรรมยาง ได้พูดคุยอย่างเป็นกันเองกับทีมงานยางเศรษฐกิจ ที่หมู่ 8 ต.หนองปรือ อ.รัษฎา จ.ตรัง
สหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านหนองครก จำกัด ก่อตั้งขึ้นเนื่องจากเกิดวิกฤติทางเศรษฐกิจของประเทศ ส่งผลให้ราคายางพาราตกต่ำในช่วงปี พ.ศ.2536 ชาวบ้านที่ประกอบอาชีพการทำสวนยางพาราได้รับความเดือดร้อน รายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย ประกอบกับภาครัฐได้มีนโยบายให้ชาวสวนยางรวมตัวกันเพื่อจัดตั้งเป็นสหกรณ์ และได้จัดสรรงบประมาณเพื่อสร้างโรงงานแปรรูปยางแผ่นรมควัน โดยมีสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางในสมัยนั้นเป็นหน่วยงานหลัก และนี่จึงเป็นที่มาของสหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านหนองครก
คุณมนัส หมวดเมือง ผู้จัดการสหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านหนองครก จำกัด จ.ตรัง
สหกรณ์ฯ บ้านหนองครกได้จดทะเบียนสหกรณ์เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2537 โดยมีคณะกรรมการทั้งหมด 7 คน และมีสมาชิกทั้งหมด 17 คน มีทุนเรือนหุ้น 7,500 บาท โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่บรรดาสมาชิกและส่วนรวมให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดย คุณแดง สิทธิชัย เป็นประธานกรรมการสหกรณ์ฯ คนปัจจุบัน
โดยมีคณะผู้ร่วมบริหารในองค์กรดังต่อไปนี้
1.คุณแดง สิทธิชัย ประธานกรรมการ
2.คุณโชค จันทร์สีดำ รองประธาน
3.คุณสัมฤทธิ์ สุขดำ เลขานุการ
4.คุณวิทวัส หลงละเลิง เหรัญญิก
5.คุณพยุง รักนาย กรรมการ
6.คุณจันทรา คงพล กรรมการ
7.คุณสมจิตร ปรีชา กรรมการ
8.คุณอรุณรัตน์ หวังดี นักวิชาการสหกรณ์ชำนาญการ
9.คุณมนัส หมวดเมือง ผู้จัดการ
10.คุณอำไพ มณีโชติ ผู้ช่วยผู้จัดการ
การเปิดโรงงานหมอนยางพาราของสหกรณ์ฯ หนองครก
ในขณะนั้นคุณมนัสพร้อมกับคณะกรรมการ มารับช่วงดำเนินธุรกิจของสหกรณ์ฯ และต้องสร้างความเชื่อมั่น และหาเงินทุนมาหมุนเวียนเพื่อรักษาสภาพคล่องของสหกรณ์ฯ อีกทั้งยังต้องเร่งหาเงินมาชำระหนี้ที่เกิดจากการบริหารงานผิดพลาดของคณะกรรมการชุดก่อน และต้องหาเงินมาหมุนเวียนในการใช้ดำเนินกิจการ ซึ่งถือว่าเป็นงานหนักมาก
คุณมนัสให้ข้อมูลว่าการมารวมตัวกันเป็นสหกรณ์ฯ นี้ใช้เวลา 20 กว่าปี เขาเป็นผู้จัดการสหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านหนองครก จำกัด เข้าสู่ปีที่ 12 แล้ว ตั้งแต่สหกรณ์ฯ เคยล้มละลายไปครั้งหนึ่ง เหลือเงินเพียง 7,000 บาท หมู่สมาชิกแตกกระเจิง มีหนี้สินเกือบล้านบาท
เนื่องจากโรงงานแผ่นยางรมควันที่เก่าล้มเหลวในการทำงาน แต่ในฐานะที่เขาเป็นคณะกรรมการในสมัยนั้นต้องรับผิดชอบ และเริ่มเข้ามาบริหารงานใหม่เรียกความเชื่อมั่น โดยใช้ทรัพย์โฉนดที่ดินเป็นหลักประกัน และดำเนินการมาเรื่อยจนสามารถปลดหนี้สินได้ทั้งหมด รวมถึงค่าน้ำยางของสมาชิกทุกคน เป็นระยะเวลากว่า 3 ปี
ด้วยความไม่ได้ย่อท้อต่อปัญหาที่เกิดขึ้น จนสามารถนำพาสหกรณ์ฯ บ้านหนองครก จนพ้นวิกฤติผ่านเข้าสู่ความสำเร็จอีกครั้งหนึ่ง ถึงวันนี้เปรียบเสมือนฟ้าหลังฝนของสหกรณ์ฯ บ้านหนองครก เพราะจากการร่วมมือ ร่วมใจ ของคณะกรรมการ และบรรดาสมาชิก จนทำให้ผลการดำเนินงานในแต่ละปีมีกำไรเพิ่มขึ้นตามลำดับ
โดยสหกรณ์ฯ บ้านหนองครกได้เพิ่มมูลค่าน้ำยางพารา โดยการขยายกิจการสร้างโรงงานแปรรูปน้ำยางพารา เป็นผลิตภัณฑ์ที่นอน และหมอน เพื่อสุขภาพออกจำหน่าย มีผู้ให้ความสนใจในตัวผลิตภัณฑ์จากยางพาราเป็นจำนวนมาก สามารถสร้างรายได้ให้แก่สมาชิก และคนในท้องถิ่น ให้มีความเป็นอยู่ และคุณภาพชีวิต ที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
การผลิตหมอนและที่นอนยางพารา จาก น้ำยางสด
สหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านหนองครก จำกัด เป็นสหกรณ์แห่งแรกของจังหวัด ที่เดินหน้าแปรรูปยางเป็นผลิตภัณฑ์ ซึ่งเป็นสินค้าขั้นปลายทางที่มีมูลค่าสูงที่สุด ตัวเลขที่เห็นความแตกต่างชัดเจน คือ จาก น้ำยางสด ราคากิโลกรัมละ 40-50 บาท แต่เมื่อนำไปแปรรูปเป็นหมอนยางพารา ราคาสูงถึงใบละ 600-700 บาท
สหกรณ์ฯ มีธุรกิจดั้งเดิมผลิตยางแผ่นรมควัน โดยรับซื้อ น้ำยางสด จากสมาชิก ก่อนจะขยายธุรกิจโรงงานผลิตหมอนยางพาราอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2559 โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2559 ของ จ.ตรัง จำนวนเงิน 12.35 ล้านบาท ในโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ยางพาราในสถาบันเกษตรกรผลิตหมอน และที่นอนยางพารา
สหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านหนองครก จำกัด ผู้ผลิตหมอน และที่นอน ยางพารา เพื่อสุขภาพ เพราะจากข้อมูลการวิจัยพบว่าหมอนยางพาราเหมาะสำหรับผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ เนื่องจากไม่เป็นที่สะสมของฝุ่นละออง ที่สำคัญปราศจากไรฝุ่น และแบคทีเรีย เพราะเป็นหมอนและที่นอนที่ผลิตจากยางธรรมชาติแท้ 100%
คุณสมบัติที่โดดเด่นของหมอนและที่นอน คือ
1.มีความนุ่ม และยืดหยุ่นสูง รองรับสรีระเวลานอนได้ดีเยี่ยม ช่วยกระจายแรงกดทับ ทำให้ระบบการไหลเวียนโลหิตในร่างกายทำงานได้ดี
2.โครงสร้างหมอนคล้ายรังผึ้ง ทำให้มีการระบายอากาศได้ดี ไม่อับชื้น
3.ปลอดภัยจากแบคทีเรีย และไรฝุ่น
4.สามารถซักล้างได้ ทำความสะอาดได้
5.ไม่มีอันตรายจากสารเคมีตกค้าง เพราะทำจากยางพาราแท้ 100%
6.ไม่เป็นแหล่งสะสมของไรฝุ่น และเชื้อโรคต่างๆ
7.มีความยืดหยุ่น และความหนาแน่น สูงกว่าหมอนทั่วไป และคืนสภาพได้อย่างรวดเร็ว
8.ระบายอากาศได้เป็นอย่างดี ไม่เกิดกลิ่นเหม็นอับ
9.สามารถย่อยสลายตามกระบวนการธรรมชาติ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม Recycleได้ 100%
10.อายุการใช้งานนานถึง 10 ปี
การแปรรูปยางแผ่นรมควัน
โดยช่วงแรกที่ตั้งสหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านหนองครก คุณมนัสไม่ได้สนใจเรื่องกำไร หรือวิสัยทัศน์ อันยิ่งใหญ่เลยแม้แต่น้อย แต่ว่าเขามีความรัก และอยากสร้างสิ่งที่เขารักให้เป็นจริงขึ้นมาให้ได้เท่านั้นเอง ไม่ว่าจะทำธุรกิจอะไรก็ตาม จงให้ความสำคัญกับความสุขก่อนเสมอ แล้วค่อยคิดเรื่องการตลาด อย่ามัวแต่กังวลแค่กำไร และผลประโยชน์ เพราะนั่นจะเป็นสิ่งที่ได้เรียนรู้ และปรับปรุงระหว่างทางเอง
อย่างที่คุณมนัสเคยกล่าว “สหกรณ์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมของหมู่สมาชิก ด้วยวิธีช่วยตนเอง และช่วยเหลือซึ่งกันและกัน” บรรดาผู้ประสบความสำเร็จมักเริ่มต้นด้วยวิสัยทัศน์อันแสนจะเรียบง่ายเช่นนี้นี่แหละ
คุณมนัสทำให้เราได้เห็นว่าเขาคือคนที่ทุ่มเทเพื่อสิ่งที่รัก แม้จะมีข้อจำกัดมากมาย ในขณะที่คนส่วนใหญ่มักคิดว่าคนที่จะเป็นผู้ประกอบการได้จะต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญ เป็นผู้นำทางความคิด แทนที่จะเป็นคนที่ทุ่มเท เวลาศึกษาพัฒนาตัวเนื้องานธุรกิจแล้วปล่อยให้ชื่อเสียงเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ
คุณมนัสเล่าที่มาของความริเริ่มผลิตภัณฑ์ให้ทีมงานฟังว่า เขามีความคิดต้องการต่อยอดด้วยการสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อรองรับผลิตภัณฑ์หลักมาตั้งแต่ปี 2553 แต่ยังขาดองค์ความรู้การแปรรูป จึงศึกษาเพิ่มที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ที่นครศรีธรรมราช อาจารย์ที่นั่นแนะนำที่นอนและหมอนยางพาราด้วยยางแผ่นรมควัน
ปรากฏว่าทดลองผลิตออกมาแล้วใช้งานได้จริง แต่มีข้อเสียเรื่องกลิ่นขี้ยางเหม็นมาก ต่อมาปี 2554 เขาหาหนทางใหม่จนพบหนังสือเล่มนี้ของอาจารย์ท่านหนึ่ง เป็นอาจารย์สอนนักเรียนทำหมอนฟองน้ำในห้องแล็บ จึงปรึกษาอาจารย์หลายท่านว่าจะทำอย่างไร..หากทำเป็นเครื่องจักรขนาดใหญ่ต้องมีอุปกรณ์อะไรบ้าง
ขั้นตอนการผลิตหมอนและที่นอนยางพารา
ประจวบเหมาะช่วงนั้นกรมส่งเสริมสหกรณ์พาไปศึกษาดูงาน มีโอกาสไปที่ อ.แกลง จ.ระยอง ศึกษาพร้อมเก็บภาพกรรมวิธีต่างๆ ในการผลิตหมอนยางพารา เพื่อนำมาเขียนโครงการของบประมาณปี 2556 อุตสาหกรรมเกษตรจังหวัดตรัง แต่ถูกปฏิเสธ ด้วยความเพียรพยายาม อดทน เพื่อให้งานสำเร็จตามเป้าหมาย ในที่สุดสำเร็จในปี 2559 ในการของบประมาณในการต่อยอดผลิตภัณฑ์จากน้ำยางพาราของสหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านหนองครก จำกัด
โดยลงทุนเฉพาะเครื่องจักรที่เป็นส่วนสำคัญหลักก่อน เพราะเครื่องจักรเป็น “หัวใจ” ของการผลิตหมอนยางพารา ส่วนอื่นๆ ค่อยๆ ตามมาภายหลัง เมื่อเริ่มมีกำไรหมุนเวียน เช่น แบบพิมพ์หมอน ปัจจุบันนี้สหกรณ์คิดออกแบบและทำขึ้นมาใช้เอง มี 35 แม่พิมพ์ แต่ความต้องการของตลาดต้องให้ได้ 400 ใบ ซึ่งทำแล้วไม่คุ้มทุน จึงต้องระดมทุนเพิ่มเครื่องจักรให้เพียงพอ
โรงงานผลิตหมอน ผลิตภัณฑ์ยางพารา ของสหกรณ์ฯ บ้านหนองครก มีกำลังการผลิตประมาณ 1,000 ใบ/วัน โดยใช้น้ำยางข้น 60% เป็นวัตถุดิบหลัก มียอดขายวันละประมาณ 500 ใบ ราคาขายส่งใบละ 450 บาท และขายปลีกใบละ 600-750 บาท โดยใช้แบรนด์ หรือยี่ห้อ “NONG KHOK” (หนองครก)
ด้านตลาดหมอนยางพารา
ปัจจุบันสหกรณ์มีตัวแทนจำหน่ายจากบริษัทต่างๆ มากถึง 13 บริษัท ที่เป็นตัวแทนจำหน่ายในต่างประเทศ โดยผลิตและจำหน่ายในแบรนด์ของบริษัทนั้นๆ ตัวอย่างเช่น แบรนด์ของ Sabai โดย บริษัท เอ็มดีที โกลโบเน็ทเวิร์ก จำกัด
คุณมนัสเล่าว่า “เขามีความตั้งใจอย่างมากที่จะขยายตลาดไปทั่วโลก โดยตั้งเป้าให้มียอดขาย 1 ล้านใบ/ปี จึงมอบหมายให้ บริษัท เอ็มดีที โกลโบเน็ทเวิร์ก จำกัด เป็นฝ่ายการตลาด เพราะตรังคือต้นกำเนิดยางพารา เป็นที่มาของโรงงานหมอนหนองครก ตรัง”
สหกรณ์ฯ มองว่าปัจจุบันตลาดจีนเป็นตลาดหลัก และใหญ่ที่สุด แต่ก็มีคู่แข่งจำนวนมาก จึงทำให้ราคาหมอนยางพาราไม่สามารถขยับราคาสูงขึ้นได้ และมีแนวโน้มว่าจะต่ำลงตามการแข่งขันที่สูงขึ้น จึงจำเป็นต้องหาตลาดใหม่ๆ ทั้งในและนอกประเทศเพิ่มขึ้น
โดยมั่นใจว่าจะได้รับความนิยมจากลูกค้าได้ไม่ยาก ตัวอย่าง ดูไบ ญี่ปุ่น เกาหลี เอเชีย ยุโรป และอเมริกา ในปัจจุบันยอดขายมีจำหน่ายภายในประเทศ และส่งออกต่างประเทศ ในประเทศคิดเป็นร้อยละ 60% และส่งออกต่างประเทศคิดเป็นร้อยละ 40% โดยมีตลาดจีน ฮ่องกง และมาเลย์
“ต้องยืนด้วยลำแข้งของเราเอง” นี่เป็นคำพูดที่ดูจะแสนเรียบง่าย แต่ชัดเจน ของคุณมนัส จะเห็นได้ว่าทุกวันนี้มีคนมากมายที่สร้างสินค้าไปตามเทรนด์ แต่ไม่ได้สร้างขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาที่ตัวเองมองเห็นและประสบอยู่เลย เพราะทั้งสหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านหนองครก จำกัด และ บริษัท เอ็มดีที โกลโบเน็ทเวิร์ก จำกัด มีจุดประสงค์เดียวกันต้องการให้สมาชิกมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สร้างศูนย์สาธิตการเรียนรู้ผลิตภัณฑ์ยางพาราแบบครบวงจร เพื่อเชิดชูพระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี้ ณ ระนอง) บิดาแห่งยางพาราไทย ด้วยสำนึกและตอบแทนคุณที่ท่านได้นำยางพาราต้นแรกมาปลูกจังหวัดตรัง และได้ขยายเป็นพืชเศรษฐกิจมายาวนาน
คุณมนัสชี้ว่าคุณต้องสร้างสิ่งที่คุณและทุกคนในทีมของคุณศรัทธาร่วมกัน และนำมาใช้จริง จงสร้างสิ่งที่ตอบสนองความต้องการ และสามารถแก้ปัญหาที่คุณมีก่อน เพราะถ้าแม้แต่ผู้สร้างเองยังต้องการผลิตภัณฑ์นั้น แล้วคนอื่นๆ ก็ย่อมต้องอยากใช้เหมือนกันนั่นเอง “ของที่เราคิดขึ้นมาเอง เราอยากทำ อยากขาย จะรอให้คนอื่นมาช่วยก็ไม่ถูก เราต้องดิ้นรนทำในสิ่งที่ทำได้ก่อน เราก็ต้องยืนด้วยลำแข้งของเราไปตลอดนั่นแหละ รอให้ภาครัฐมาช่วยตลอดเวลาก็ไม่ใช่ แต่อะไรที่เราทำเองไม่ได้ก็ต้องขอเค้า”
นับจากได้งบประมาณในการจัดซื้อเครื่องจักรในครั้งนั้น ทางสหกรณ์ยังได้รับงบประมาณสนับสนุนในทุกๆ ปีอย่างต่อเนื่อง เช่น โครงการพัฒนาชุมชน และกรมส่งเสริมสหกรณ์จังหวัดตรัง เป็นต้น
การบริหารจัดการในรูปแบบสหกรณ์
นอกจากนี้ทางสหกรณ์ยังมีการส่งเสริมเกษตรกรโดยเงินทุนพอเพียงเป็นเงินก้อน ไม่คิดดอกเบี้ย เพื่อให้สมาชิกกู้ยืมไปสร้างอาชีพเสริม เช่น กู้ซื้อแพะ หลังจากขายแพะจะมาผ่อนคืนแก่สหกรณ์ โดยไม่คิดดอกเบี้ย เว้นแต่จะเลยกำหนดสัญญากู้ และมีเงื่อนไขว่าสมาชิกที่กู้ยืมต้องทำบัญชีครัวเรือนว่ามีรายได้จากส่วนใดบ้าง หากไม่ปฏิบัติตามจะถูกปรับตามที่กำหนดไว้ เช่น เลี้ยงแพะ เลี้ยงหมู ขายผ้ามือสอง ปลูกผักสวนครัว ทำอาชีพเสริมในหลายๆ รูปแบบ ทำให้สามารถมีรายได้หมุนเวียนเลี้ยงชีพได้ตลอดปี
อาชีพเสริมทั้งในสวนยาง และในครัวเรือน เป็นแนวทางให้เกษตรกรที่ปลูกยางพาราเป็นอาชีพหลัก ได้เลือกอาชีพเสริมที่เหมาะกับพื้นที่และความถนัดของตนเอง โดยสหกรณ์เข้าช่วยเหลือ เพราะเมื่อฝนตก พ่อบ้านกรีดยางไม่ได้ มาทำงานที่โรงงาน แม่บ้านนำปลอกหมอนไปเย็บที่บ้าน ปลอกหมอนใบละ 15 บาท เพื่อให้มีรายได้หมุนเวียนใช้จ่ายกัน
มาถึงวันนี้นับว่าสหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านหนองครก จำกัด ได้ประสบผลสำเร็จเรื่องการบริหารจัดการ การดำเนินงานต่างๆ ในรูปแบบของสหกรณ์ได้ในอีกระดับหนึ่ง ทั้งนี้เกิดจากความสามัคคี การร่วมมือ ร่วมใจ ของคณะผู้บริหาร คณะกรรมการ และบรรดาสมาชิก ของสหกรณ์ ที่มีวัตถุประสงค์และจุดมุ่งหมายอันเดียวกัน ซึ่งจะส่งผลในการต่อยอดของการดำเนินกิจการต่างๆ ของสหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านหนองครกในอนาคต พร้อมกับการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับหมู่สมาชิกและชุมชนได้อย่างเข้มแข็ง และยั่งยืนต่อไป
“จากยางพาราต้นแรก ณ เมืองตรัง นำไปสู่ชีวิตและลมหายใจของคนปักษ์ใต้
จากหยาดเหงื่อแรงกาย ได้มาซึ่ง น้ำยางสด แปรรูป สร้างมูลค่า เป็นหมอนยางพาราเพื่อสุขภาพ
สร้างรอยยิ้มและอนาคตลูกหลานชาวสยามทั้งแผ่นดิน”
สนใจหมอนยางพาราและที่นอนยางพารา สหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านหนองครก จำกัด สามารถติดต่อได้ที่ คุณมนัส หมวดเมือง
ขอขอบคุณ คุณมนัส หมวดเมือง ผู้จัดการสหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านหนองครก จำกัด
169 หมู่ 8 ต.หนองปรือ อ.รัษฎา จ.ตรัง 92130 โทร.086-940-2165