สถานการณ์ข่าวประจำสัปดาห์ของนิตยสารพลังเกษตร
มะม่วงน้ำดอกไม้ ส้มโอ พืชทางเลือกทดแทนนาข้าวไม่เหมาะสม จ.เพชรบูรณ์
นางอัญชนา ตราโช รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากการศึกษาข้อมูลการปลูกข้าวนาปี ตามแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก (Agri-Map) พบว่า เกษตรกรจะได้รับผลตอบแทนสุทธิ (กำไร) จากการปลูกข้าวนาปีในพื้นที่เหมาะสมมาก และเหมาะสมปานกลาง (S1/S2) เฉลี่ย 828 บาท/ไร่ ในขณะที่เกษตรกรที่ปลูกข้าวนาปีในพื้นที่เหมาะสมน้อย และไม่เหมาะสม (S3/N) จะได้รับผลตอบแทนสุทธิเพียง 347 บาท/ไร่ โดยพื้นที่ปลูกข้าวของจังหวัดเพชรบูรณ์ที่มีความเหมาะสมน้อย และไม่เหมาะสม มีจำนวน 3.4 แสนไร่ คิดเป็นร้อยละ 25 ของพื้นที่ปลูกข้าวทั้งจังหวัด
ไม้ผล ที่น่าสนใจนำมาปรับเปลี่ยนในพื้นที่นาที่มีความเหมาะสมน้อย และไม่เหมาะสม คือ มะม่วงน้ำดอกไม้ โดยมีต้นทุนการผลิต 14,934 บาท/ไร่ ให้ผลตอบแทนจากการผลิตในปีที่ 4-5 ผลผลิต 1,123 กก./ไร่ เกษตรกรขายได้ในราคา 47.96 บาท/กก. คิดเป็นผลตอบแทนสุทธิ (กำไร) 38,922 บาท/ไร่/ปี โดยผลผลิตในจังหวัดส่วนใหญ่ร้อยละ 60 ขายให้แก่ผู้รวบรวมจากต่างจังหวัด (กรุงเทพฯ อยุธยา และนครปฐม) เพื่อส่งออกไปต่างประเทศ และผลผลิตร้อยละ 35 ขายให้แก่ผู้รวบรวมขายในต่างจังหวัด (เชียงราย และสุราษฎร์ธานี) ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 5 ขายให้ผู้บริโภคภายในจังหวัด ซึ่งนอกจากจะขายให้กับตลาดผู้บริโภคทั่วไปแล้ว ยังสามารถนำมาแปรรูปทำข้าวเกรียบมะม่วง ซึ่งมีกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปผลผลิตจากมะม่วงในพื้นที่
และอีกชนิดหนึ่งที่ให้ผลตอบแทนสูงเช่นกัน คือ ส้มโอ ต้นทุนการผลิต 12,580 บาท/ไร่ ให้ผลตอบแทนจากการผลิตในปีที่ 4-5 ผลผลิต 1,487 กก./ไร่ เกษตรกรขายได้ในราคา 25.65 บาท/กก. คิดเป็นผลตอบแทนสุทธิ 25,562 บาท/ไร่/ปี โดยผลผลิตในจังหวัดส่วนใหญ่ร้อยละ 90 ขายให้แก่ผู้รวบรวมขายในต่างจังหวัด (นครปฐม และพิจิตร) และที่เหลืออีกร้อยละ 10 ขายให้ผู้บริโภคภายในจังหวัด
เจาะแผนฟื้นฟู เยียวยาเกษตรกร 5 โครงการ สศก. เผย เกิดเงินหมุนเวียนเศรษฐกิจกว่า 4 หมื่นล้าน
นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ รักษาราชการแทนเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการฟื้นฟู เยียวยา เกษตรกรผู้ประสบภัยฝนทิ้งช่วงและอุทกภัยช่วงปี 2562 งบประมาณจำนวน 3,120 ล้านบาท เพื่อสร้างรายได้และลดรายจ่ายในครัวเรือนให้แก่เกษตรกรผู้ประสบภัยฝนทิ้งช่วง และอุทกภัย ปี 2562 จากพายุ “โพดุล” และ “คาจิกิ”
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน) ได้มอบหมายให้ สศก. วิเคราะห์ถึงสถานการณ์เศรษฐกิจการเกษตร จากการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการดังกล่าว ซึ่ง สศก. พบว่า การดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการทั้ง 5 โครงการ จะสามารถเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร จำนวน 1.08 ล้านครัวเรือน ทำให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น 36,881 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 1,282 % ของงบประมาณที่ใช้ไป ส่งผลให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ 40,002 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าการดำเนินงานของแต่ละโครงการจะส่งผลสำเร็จทางเศรษฐกิจ ดังนี้
-โครงการส่งเสริมการปลูกพืชใช้น้ำน้อยเพื่อสร้างรายได้แก่เกษตรกร
-โครงการรักษาระดับปริมาณและคุณภาพข้าว ปีการผลิต 2563/64
-โครงการพัฒนาเสริมทางเลือกอาชีพด้านประมง : การเลี้ยงปลานิลแปลงเพศในบ่อ
-โครงการสร้างรายได้จากอาชีพประมงในแหล่งน้ำชุมชน
-โครงการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ปีก
ชูผลสำเร็จแปลงใหญ่ข้าวภาคเหนือตอนล่าง ต้นทุนน้อยกว่า ผลผลิตงามกว่าการปลูกแบบทั่วไป
นางอัญชนา ตราโช รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงผลการศึกษาต้นทุนการผลิตประสิทธิภาพเชิงเทคนิคการผลิตข้าวแบบแปลงใหญ่ ปี 2561 ในพื้นที่ 4 จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง (พิษณุโลก ตาก สุโขทัย และอุตรดิตถ์) โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 2 จังหวัดพิษณุโลก (สศท.2) ได้ศึกษาและเปรียบเทียบต้นทุนการผลิตข้าว และประสิทธิภาพเชิงเทคนิคของการผลิตข้าวในพื้นที่แปลงใหญ่ และนอกพื้นที่แปลงใหญ่ ซึ่งพบว่าข้าวที่ผลิตในพื้นที่ส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ ทั้ง 4 จังหวัด มีต้นทุนรวมเฉลี่ย 4,217 บาท/ไร่ เกษตรกรได้ผลผลิตเฉลี่ย 782.25 กิโลกรัม/ไร่ ผลตอบแทนสุทธิ (กำไร) เฉลี่ย 1,196 บาท/ไร่ ในขณะที่ข้าวที่ผลิตนอกพื้นที่ส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ มีต้นทุนรวมเฉลี่ย 4,904 บาท/ไร่ ผลผลิตเฉลี่ย 776.68 กิโลกรัม/ไร่ ผลตอบแทนสุทธิ (กำไร) เฉลี่ย 253 บาท/ไร่ เนื่องจากเกษตรกรในพื้นที่โครงการฯ มีการใช้ปัจจัยการผลิตในปริมาณน้อยกว่าเกษตรกรนอกพื้นที่โครงการ รวมทั้งมีการบริหารจัดการการใช้เทคโนโลยีการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า
สถานการณ์ข่าวประจำสัปดาห์ของนิตยสารสัตว์น้ำ
ชาวประมง ยิ้มร่า ! หลัง..กรมประมง คืนสิทธิ์ทำการประมง
จากข่าวเหตุการณ์ที่ชาวประมง จังหวัดระนอง เดินเท้าเข้ากรุงเทพฯ เพื่อทวงคืนอาชีพประมงของตนเองที่ถูกภาครัฐสั่งระงับไว้นานกว่า 2 ปี ถูกเพิกถอนใบอนุญาต และเสียค่าปรับไปเป็นเงิน 2 แสนบาท ในข้อหาเดินเรือรุกล้ำลำน้ำประเทศเมียนมา ซึ่งศาลสั่งจำหน่ายคดี แต่ยังไม่ได้รับการคืนสิทธิ์ในการทำการประมงจากทางภาครัฐแต่อย่างใด จึงเป็นเหตุให้ออกมาเรียกร้องต่อนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และอธิบดีกรมประมง
โดยขณะนี้คณะกรรมการฯ ได้พิจารณาถึงข้อเท็จจริงที่เป็นสาระสำคัญ และข้อกฎหมายอย่างครบถ้วนแล้ว เห็นว่าชาวประมงเกิดสิทธิ์ที่เป็นประโยชน์ ที่ส่งผลต่อความเป็นธรรมในการเปลี่ยนแปลงคำสั่งทางปกครอง จึงมีมติเห็นควรคืนความยุติธรรมให้คืนสิทธิ์ในการทำการประมงพาณิชย์ตามที่เคยได้รับอนุญาตให้แก่ชาวประมงจำนวน 2 ราย ในพื้นที่จังหวัดระนอง และชุมพร ซึ่งกรมประมงได้มีการประสานแจ้งให้ชาวประมงทราบแล้ว ซึ่งชาวประมงดังกล่าวดีใจ และฝากขอบคุณท่านรัฐมนตรีฯ ที่ได้คืนสิทธิ์ในการทำการประมง ทำให้ได้กลับมาทำอาชีพที่รักและหาเลี้ยงครอบครัวอีกครั้งหนึ่ง
สำหรับชาวประมงรายอื่นๆ ที่เป็นกรณีในลักษณะเดียวกัน ซึ่งยังไม่ได้รับใบอนุญาตจากกรมประมง กรมประมงได้ให้คณะกรรมการพิจารณาในข้อเท็จจริง และข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ตามกรณีเป็นรายๆ ไป อย่างเคร่งครัด เร่งด่วน ซึ่งจะทยอยคืนสิทธิ์ต่อไป
กรมประมงปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ 4 ล้านตัว ฟื้นฟูทรัพยากรเขื่อนอุบลรัตน์ คาดผลผลิตสร้างรายได้ไม่ต่ำกว่า 3 ล้านบาท ภายใน 1 ปี !!
วันที่ 30 ตุลาคม 2562 เวลา 10.30 น. ณ หน่วยป้องกันและปราบปรามประมงน้ำจืดเขื่อนอุบลรัตน์ อำเภออุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น กรมประมงจัดพิธีปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำจำนวน 4 ล้านตัว ลงสู่บริเวณอ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ ภายใต้โครงการฟื้นฟูทรัพยากรประมงในอ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำจืดในแหล่งน้ำธรรมชาติ ตลอดจนสร้างความรู้ ความเข้าใจ ในแนวทางการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรอย่างถูกต้องให้กับประชาชน
สำหรับพิธีดังกล่าวได้รับเกียรติจากนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในพิธี โดยมีนายสมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น นายวิชาญ อิงศรีสว่าง รองอธิบดีกรมประมง หัวหน้าส่วนราชการ และประชาชนในพื้นที่ ให้การต้อนรับ พร้อมร่วมปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำรวมกว่า 1,000 คนซึ่งจากผลการสำรวจของกรมประมงในปี 2508 ก่อนการสร้างเขื่อนพบว่ามีสัตว์น้ำจืดกว่า 76 ชนิด และลดจำนวนลงเรื่อยมา จนกระทั่งในปี 2528 พบความหลากหลายของชนิดสัตว์น้ำน้อยที่สุด นั่นคือ 27 ชนิด และในระหว่างปี 2508-2559 มีการประเมินผลผลิตสัตว์น้ำ พบว่ามีค่าเฉลี่ยเมื่อปี 2508 เท่ากับ 19.58 กก./ไร่ ในปี 2526 เพิ่มขึ้นเป็น 33.4 กก./ไร่ และในปี 2554 ลดลงเหลือ 6.28 กก./ไร่ โดยสาเหตุหลักที่ทำให้ผลผลิตสัตว์น้ำลดลง การเพิ่มขึ้นของประชาชนที่อาศัยบริเวณพื้นที่รอบเขื่อนมีจำนวน 101 หมู่บ้าน 12,000 ครัวเรือน มีชาวบ้านประกอบอาชีพประมงเป็นหลักถึง 4,870 ครัวเรือน โดยเครื่องมือประมงที่ใช้กันมาก ความเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ โดยเฉพาะปริมาณน้ำฝนที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ บางปีมีปริมาณน้อย ทำให้อุณหภูมิน้ำสูง เกิดผลกระทบกับการแพร่ขยายพันธุ์วางไข่ หรือปริมาณน้ำลดน้อยลง กระทบกับแหล่งผสมพันธุ์วางไข่สัตว์น้ำโดยตรง
รองอธิบดีฯ กล่าวในตอนท้ายว่า สุดท้ายนี้ฝากถึงพี่น้องประชาชนโดยรอบเขื่อนอุบลรัตน์ว่า พวกเราทุกคนล้วนแต่เป็นเจ้าของทรัพยากรสัตว์น้ำเหล่านี้ ดังนั้นขอความร่วมมือให้ช่วยกันฟื้นฟูและอนุรักษ์หวงแหนทรัพยากรสัตว์น้ำในพื้นที่ของตนให้ดีที่สุด เพื่อที่เราจะสามารถใช้ประโยชน์จากสัตว์น้ำในพื้นที่ของเราได้อย่างยั่งยืน พร้อมส่งต่อให้ลูกหลานของเราต่อไป
สถานการณ์ข่าวประจำสัปดาห์ของนิตยสารสัตว์บก
สำนักงานปศุสัตว์เขต 6 ตรวจต่ออายุใบรับรองการปฏิบัติที่ดี (GMP) สำหรับศูนย์รวบรวมไข่ อ.เมืองกำแพงเพชร จ.กำแพงเพชร
วันที่ 29 ตุลาคม 2562 สำนักงานปศุสัตว์เขต 6 มอบหมายให้ส่วนมาตรฐานการปศุสัตว์ โดยนายชัยนาท แสนยศ ผู้อำนวยการส่วนมาตรฐานการปศุสัตว์ และคณะ ตรวจต่ออายุใบรับรองการปฏิบัติที่ดี (GMP) สำหรับศูนย์รวบรวมไข่ บริษัท เบทาโกรเกษตรอุตสาหกรรม จำกัด เลขที่ 652,658,660 ต.ในเมือง อ.เมืองกำแพงเพชร จ.กำแพงเพชร ในการนี้มีเจ้าหน้าที่กลุ่มพัฒนาคุณภาพสินค้าปศุสัตว์จังหวัดกำแพงเพชร นายกิตติ รักสิการ นายสัตวแพทย์ชำนาญการพิเศษ ร่วมตรวจประเมินในครั้งนี้
ตรวจประเมินตามหลักเกณฑ์การนำสัตว์ปีกเข้าเลี้ยงใหม่
29 ตุลาคม 2562 สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดนครนายก โดยกลุ่มพัฒนาคุณภาพสินค้าปศุสัตว์ ปฏิบัติงานตรวจประเมินตามหลักเกณฑ์การนำสัตว์ปีกเข้าเลี้ยงใหม่ และให้คำแนะนำการจัดการฟาร์ม เพื่อป้องกันการเกิดมลภาวะ เรื่องกลิ่น ฝุ่นละออง เสียง น้ำเสีย ไม่ให้เกิดผลกระทบต่อชุมชน สำหรับฟาร์มเลี้ยงสัตว์ปีก จำนวน 4 ฟาร์มดังนี้
-สมหมายฟาร์ม ต.ดงละคร อ.เมือง จ.นครนายก (เป็ดเนื้อ)
-ฉลวยฟาร์ม ต.ดงละคร อ.เมือง จ.นครนายก (เป็ดเนื้อ)
-วรนันท์ฟาร์ม ต.ดอนยอ อ.เมือง จ.นครนายก (ไก่เนื้อ)
-สมบัติฟาร์ม ต.โคกกรวด อ.ปากพลี จ.นครนายก (ไก่เนื้อ)
การมอบใบรับรองการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) สำหรับฟาร์มจิ้งหรีด
วันที่ 29 ตุลาคม 2562 นายสัตวแพทย์ศีลธรรม วราอัศวปติ ปศุสัตว์เขต 4 เป็นประธานมอบใบรับรองการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) สำหรับฟาร์มจิ้งหรีด แก่กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงจิ้งหรีดบ้านแสนตอ อำเภอ น้ำพอง จังหวัดขอนแก่น จำนวน 21 ฟาร์ม โดยมีรองศาสตราจารย์รังสรรค์ เนียมสนิท ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยยุทธศาสตร์ และประสานความร่วมมือ เพื่อพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นผู้กล่าวรายงาน โดยมีแขกผู้มีเกียรติเข้าร่วมงาน ประกอบด้วย ผศ.นายสัตวแพทย์เสรี แข็งแอ คณะสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผู้จัดการศูนย์ สสว.ขอนแก่น เกษตรอำเภอน้ำพอง ผอ.ส่วนมาตรฐานการปศุสัตว์ หัวหน้ากลุ่มพัฒนาคุณภาพสินค้าปศุสัตว์ และปศุสัตว์อำเภอน้ำพอง
การพัฒนาฟาร์มเลี้ยงจิ้งหรีดเข้าสู่มาตรฐานการปฏิบัติทางเกษตรที่ดี (GAP) ในพื้นที่ตำบลแสนตอ ในครั้งนี้ สำนักงานปศุสัตว์เขต 4 และสำนักงานปศุสัตว์ขอนแก่น ได้รับความร่วมมือจากสถาบันวิจัยยุทธศาสตร์ และประสานความร่วมมือ เพื่อพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในการเข้ามาร่วมส่งเสริม ประสาน และดำเนินการ จนสำเร็จตามวัตถุประสงค์