การเพาะเลี้ยงปลาสลิด
“วังปลาสลิด” โดยคุณศุภรัตน์ แป้นไทย ได้พัฒนาการเพาะเลี้ยงขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง ด้วยการ การเพาะพันธุ์ปลาสลิด ออกจำหน่ายแก่ผู้ที่สนใจเพื่อลดปัญหา อาชีพแรกที่คุณศุภรัตน์เปิดตัวเองในแวดวงการเกษตร คือ อาชีพการเพาะเลี้ยงกบ แต่ก็เจอกับปัญหาความแปรปรวนของตลาด
ทำให้ต้องวางมือจากเจ้าสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำตัวนี้ แล้วหันมาจริงจังกับปลาสลิดและปลาหมอที่เคยศึกษามา พร้อมๆ กับกบอย่างเต็มตัวอีกครั้ง เมื่อตัดสินใจแล้วสิ่งแรกที่ทำก็คือ การหาข้อมูลเกี่ยวกับการเพาะพันธุ์ปลาต่างๆ จากหนังสือ ก่อนทำการทดลองจริง สะสมประสบการณ์ว่าทำอย่างไรถึงจะได้ผลดีที่สุด
การเพาะพันธุ์ปลาสลิด ในกะละมัง
การรวบรวมพ่อแม่ปลาสลิดจากหลายๆ แหล่ง เอามาสต็อคไว้ จนเมื่อทุกอย่างลงตัว และพร้อมที่จะเดินหน้า คุณศุภรัตน์ก็ให้ลูกน้องลงตีอวนแยกพ่อและแม่ปลาที่สะสมไว้ทันที สำหรับพ่อพันธุ์ใส่ไว้ในกระชังเดียวกันได้ และถึงเวลาก็มาคัดตัวที่สมบูรณ์เอาไป แต่ตัวแม่ต้องพิถีพิถันและอาศัยความชำนาญในการตรวจระยะของไข่ในตัวแม่ปลากันสักหน่อยในขั้นแรก จะแยกตัวที่ดูว่ามีระยะของไข่ใกล้เคียงกันไว้ในกระชังเดียวกันก่อน
จากนั้นก็จะนำแม่ปลาในกระชังไปใส่ในกะละมังดำประมาณ 3-5 ตัวต่อหนึ่งใบ ใช้มุ้งเขียวปิดเพื่อป้องกันอันตราย และกันปลากระโดด แล้วก็จะมาเปิดเช็คไข่ปลาทุกวัน ลักษณะไข่ที่ดี คือ ต้องเป็นเม็ดกลม สีเหลือง ถึงจะเป็นไข่แก่ที่พร้อมจะผสมได้ ซึ่งถ้าตัวไหนมีไข่ลักษณะนี้ก็จะแยกแม่ตัวนั้นออกมารวบรวม แม่ปลาไข่แก่ในแต่ละวันปล่อยในบ่อเดียวกัน พร้อมพ่อปลาในอัตราส่วน 1:1
หลังจากปล่อยปลาไปแล้วประมาณ 2 วัน จะเริ่มมีหวอด หรือแพไข่ลอยอยู่ตามบริเวณพงหญ้าข้างบ่อ ถ้าเราเดินไปเห็นหวอดแล้วล่ะก็ต้องรีบนำกะละมังใบเดิมที่เคยใส่แม่ปลามาช้อนหวอดไข่ใบละหวอดด้วยความระมัดระวัง อย่าให้สัมผัสกับขอบกะละมัง นำขึ้นมาให้ไข่ฟักตัวในนั้น ประมาณ 7 วัน ก็จะได้ปลาลูกไรว่ายไปว่ายมา ถึงตอนนี้ก็สามารถจำหน่ายปลาลูกไรให้แก่ลูกค้าที่ต้องการได้แล้ว
การบริหารจัดการบ่อปลาสลิด
คุณศุภรัตน์อธิบายว่าที่ต้องเอาแม่ปลามาใส่ในกะละมังก็เพื่อความสะดวกในการเช็คไข่ที่ต้องทำทุกวัน ถ้าจะลงไปตรวจในบ่อหรือในกระชังทุกวัน นอกจากจะเสียเวลาแล้วอาจทำให้ปลาบอบช้ำและเครียดได้ ส่วนหวอดไข่นั้นที่ใส่ก็เพื่อความสะดวกเช่นกัน
แต่จะอยู่ในขั้นตอนการรวบรวมปลาลูกไรที่จะหน่าย “จะง่ายกว่าอยู่ในบ่อปูน ถ้าไปเพาะอนุบาลในบ่อปูน เวลาร้อนลูกปลาจะเสียหายมาก และการเก็บผลผลิตในบ่อดินหรือบ่อปูนต้องตีอวน ทำให้ลูกปลาช้ำ แต่ถ้าอยู่ในกะละมังจะเอาลูกปลาก็ค่อยๆ เทออกมาใส่สวิง แพ็คลูกปลาจะไม่ช้ำ และนี่คือเหตุผลที่ว่าทำไมเราขายปลาลูกไรได้โดยลูกปลาไม่ช้ำ”
เมื่อเก็บหวอดในบ่อหมดแล้วก็จะสูบน้ำ จับพ่อแม่พันธุ์ปลาสลิดออกไปใส่ในบ่อพัก หรือบ่อเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ ดูว่าแม่ไหนยังไม่ออกไข่ให้แยกใส่กระชังไว้ต่างหากเพื่อนำไปคัดใหม่ ตัวที่ไข่แล้วหลังจากปล่อยลงบ่อดินประมาณ 2-3 เดือน จะสร้างไข่ขึ้นมาใหม่ พร้อมที่จะให้ลูกให้หลานต่อไป ส่วนบ่อดินที่สูบน้ำออกแล้วก็จะจัดการบ่อเตรียมลงพ่อและแม่พันธุ์ไข่แก่ในรุ่นต่อไป
การจำหน่ายปลาสลิด
ปลาลูกไรที่เหลือจากการจำหน่ายจะนำไปปล่อยในบ่อดินที่เตรียมไรน้ำจืดและน้ำเขียวเอาไว้เป็นอาหารธรรมชาติแล้ว โดยการฟันหญ้าที่มีอยู่ในบ่อให้เน่า จากนั้นน้ำในบ่อจะเปลี่ยนเป็นสีเขียว และมีไรน้ำเกิดขึ้น ประมาณ 20 วัน ปลาลูกไรจะกลายเป็นปลาใบมะขามจำหน่ายได้อีกครั้งหนึ่ง
ซึ่งถ้าจะพูดถึงความนิยมในการนำไปเลี้ยง คนที่เป็นเซียนเคยเลี้ยงปลาสลิดมาแล้วมักจะถามหาปลาลูกไร ถ้ามือใหม่หน่อยก็จะเรียกหาปลาใบมะขาม เพราะกลัวว่าถ้าปล่อยปลาที่มีขนาดเล็กไปแล้วจะเสียหาย แต่คุณศุภรัตน์บอกว่าไม่มีปัญหา ถ้ามีการเตรียมบ่อเลี้ยงให้ดี
เทคนิคอีกนิดที่คุณศุภรัตน์ได้จากประสบการณ์ คือ ในขั้นของการตีอวนจับปลาใบมะขามในบ่ออนุบาลเพื่อจะนำขึ้นมาจำหน่ายนั้น คุณศุภรัตน์จะสั่งลูกน้องให้ค่อยๆ ตีอวนมาช้าๆ และเมื่อตีปลามาได้ครึ่งบ่อจะทยอยนำลูกปลาขึ้นมาเสียครั้งหนึ่ง เพื่อลดการบอบช้ำ เพราะการตีอวนระยะทางไกลเป็นเวลานาน ลูกปลาที่ติดอวนอยู่แล้วจะช้ำและเสียหายมาก จากนั้นจะนำลูกปลาไปปล่อยในกระชังไว้ก่อนประมาณ 25 ชม. เพื่อกันตัวที่อ่อนแอ หรือบาดเจ็บออก จะคัดตัวที่แข็งแรงสมบูรณ์จำหน่ายแก่ผู้เลี้ยงเท่านั้น
แนวโน้มในอนาคตของ การเพาะพันธุ์ปลาสลิด
ส่วนโครงการในอนาคตของวังปลาสลิด หลังจากมีบ่อเพาะ บ่ออนุบาล บ่อพ่อแม่พันธุ์ แล้ว ขณะนี้บ่อเลี้ยงกำลังอยู่ในระหว่างการก่อสร้างเรียกว่าจะทำให้ครบวงจร เพื่อประโยชน์ในการเป็นบ่อสาธิต และรองรับลูกปลาที่เหลือติดก้นบ่ออนุบาลที่ต่อไปจะถูกถ่ายลงบ่อเลี้ยงที่เตรียมไว้ในอนาคต เป็นข้อมูลความเคลื่อนไหวใหม่ๆ ที่น่าจะเป็นข่าวดีของชาวนาปลาสลิด
ที่ถ้าใครสนใจสามารถติดต่อสอบถาม คุณศุภรัตน์ แป้นไทย ได้โดยตรงที่เบอร์ 08-1402-2901