การเลี้ยงปูนิ่ม 40 วันได้ผลผลิต ตลาดรองรับดี โดย เก้าดาวฟาร์มเซียน “ปูนิ่ม” ครบวงจรขยายลงทุนบังคลาเทศ
ขอบคุณ นิตยสารสัตว์น้ำ สำหรับบทความ
จังหวัดระนอง มีพื้นที่ที่มี ” การเลี้ยงปูนิ่ม “ มากที่สุดในประเทศไทย ซึ่งถือว่าเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจอีกหนึ่งตัวที่สามารถสร้างให้กับเกษตรกรและประเทศอย่างมหาศาล เพราะปูนิ่มในธรรมชาติมีแนวโน้มที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด และปูนิ่มนี้เองสามารถชี้วัดดัชนีเศรษฐกิจของประเทศได้อีกด้วยเนื่องจากเป็นสัตว์น้ำที่มีมูลค่าสูงพอตัว จากปูทะเลหรือปูดำที่มีกระดองที่แข็ง ยากแก่การรับประทานแล้ว แต่เมื่อผ่านการเพาะเลี้ยง กลายเป็นปูนิ่มที่สามารถรับประทานได้ทั้งตัวโดยไม่ต้องแกะเปลือก ทำให้ เป็นที่นิยมของผู้บริโภคสามารถรังสรรค์เมนูได้หลากหลาย อาทิ ปูนิ่มทอดกระเทียม ปูนิ่มผัดผงกระหรี่ หรือ ปูนิ่มผัดพริกไทยดำ ฯลฯ ซึ่งสามารถรับประทานได้ง่ายกว่าปูชนิดอื่น
บริษัท เก้าดาวฟาร์ม (2005) จำกัด เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายปลีก-ส่งปูนิ่มแช่แข็งจากฟาร์มในจังหวัดระนอง ซึ่งเป็นแหล่งผลิตที่ใหญ่ ดี และได้มาตรฐาน ณ วันนี้นอกจากเก้าดาวฟาร์มจะจำหน่ายปูนิ่มแช่แข็งแล้ว ยังมีบริการขนส่งบรรทุกของสด ของแช่แข็ง และขายแฟรนไชส์ปูนิ่มเก้าดาวด้วย
การเลี้ยงปูนิ่ม 30-45 วันได้ผลผลิต
ปูนิ่มเป็นปูทะเลสายพันธุ์ปูดำที่อาศัยอยู่ในน้ำเค็ม เมื่อลอกคราบเสร็จหากปล่อยไว้ก็จะกลายเป็นปูแข็งภายในระยะเวลา 4 ชั่วโมง แต่ถ้าเป็นช่วงฤดูร้อนน้ำมีความเค็มสูงขึ้น 3 ชั่วโมงกระดองก็แข็งแล้ว การเลี้ยงปูนิ่มในบ่อจะมีระยะเวลาการลอกคราบคือ 30-45 วัน เมื่อแข็งแล้วไม่สามารถรู้ได้ว่าอีก 30 วันข้างหน้าจะตายหรือไม่หากเจอต้องนำขึ้นเลย ผลผลิตในระยะหลังอยู่ที่เดือนละประมาณ 500 กิโลกรัม
และการผลิตปูนิ่มจะผลิตได้สูงสุดในช่วงฤดูร้อนซึ่งอัตราการสูญเสียระหว่างการผลิตจะต่ำเพียงแค่ 5-10% เมื่อเข้าฤดูฝนที่น้ำจืดลงทำให้ปูตายสูงถึง 30% และฤดูหนาวอุณหภูมิของน้ำเย็นลงทำให้การเคลื่อนไหวของปูลดลงอัตราการกินลดลงส่งผลให้ปูตายถึง 50%
ซึ่งปูนิ่มที่นำมาแช่แข็งมีหลายขนาด ได้แก่ ไซส์ XL หรือจัมโบ้ขนาด 200 กรัมขึ้นไป
ไซส์ L ขนาด 150 – 200 กรัม ไซส์ M ขนาด 100-150 กรัม และไซส์ S ขนาดไม่เกิน 100 กรัม
เลือกพันธุ์ปูที่มีอวัยวะครบสมบูรณ์
การเลี้ยงปูนิ่ม เหมือนการขุนปูเพราะที่อยู่จำกัดมีการให้อาหาร ขั้นตอนการเลี้ยงปูนิ่ม ของเก้าดาวฟาร์ม ซึ่งการเลี้ยงปูทะเลหรือปูดำให้กลายเป็นปูนิ่ม
ขั้นแรกจะอยู่ใน “ขั้นตอนการเลือกพันธุ์ปู” พันธุ์ปูที่ใช้เลี้ยงจะใช้เป็นพันธุ์ปูดำที่มีขนาดตัวขนาด เล็กสุดน้ำหนักอยู่ที่ 70 กรัม หรือขนาดที่ไม่สามารถลอดฝากล่องได้ และใหญ่สุดประมาณ 120 กรัม (ปูเล็ก ขนาด 10-12 ตัว/กิโลกรัม ปูจิ๋ว ขนาด 15-20 ตัว/กิโลกรัม )
จะต้องเป็นปูที่มีสภาพแข็งแรง มีอวัยวะครบสมบูรณ์ ปูจึงจะโตเร็ว เก็บผลผลิตขายได้เร็ว พันธุ์ปูที่เพาะเลี้ยงนั้นได้มาจาก พม่า และ ปูตามท้องถิ่น ส่วนสาเหตุที่ไม่นำปูตัวใหญ่มาเลี้ยงเพราะระยะเวลาการลอกคราบจะนานกว่าจากระยะเวลาการลอกคราบ 30-45 วัน กลายเป็นว่า 45-60 วัน ทำให้มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น การลอกคราบของปูในแต่ละครั้งน้ำหนักจะเพิ่มขึ้นราว 20-30%
แช่น้ำจืด หยุดการแข็งตัว
ขั้นที่สองคือ “ขั้นตอนการเพาะเลี้ยง ดูแลและการให้อาหาร” ในทุกวันจะมีการตรวจเช็คว่าปูที่เลี้ยงลอกคราบหรือยัง โดยจะเช็คทุกๆ 4 ชั่วโมง โดยลากแพให้ลอดใต้สะพานที่ได้สร้างไว้ หากพบว่ากล่องใด มีปู 2 ตัว แสดงว่าตัวหนึ่งจะเป็นคราบและอีกตัวหนึ่งจะเป็นปูนิ่มที่ลอกคราบนั้นเอง
หลังจากเก็บปูนิ่มออกจากกล่องแล้ว เราก็จะต้องนำปูนิ่มไป “แช่ในน้ำจืด” และให้ออกซิเจน เพื่อคายความเค็มและสิ่งสกปรก และที่สำคัญเพื่อ “หยุดการแข็งตัวของตัวปู” เพราะกระบวนการดึงแร่ธาตุไปใช้จะหยุดทันทีและจะมีชีวิตอยู่ได้ 3-4 วัน เนื่องจากจะไม่กินอาหาร
ให้อาหารวันเว้นวัน
อาหารที่ใช้เพาะเลี้ยงที่ฟาร์มเก้าดาวใช้จะให้เนื้อปลาสับเป็นชิ้นเล็กสลับกับลูกชิ้นแต่วิธีการนี้จะต้องมีกระบวนการสับให้ชิ้นเล็กทำให้เสียเวลาอย่างมาก และตัวเลือกอีกอย่างคืออาหารสำเร็จรูป ซึ่งเป็นอาหารสำหรับปูโดยเฉพาะ จะให้วันละ 1 เม็ดเท่านั้น
ส่วนการให้อาหารนั้นจะให้วันเว้นวัน หรือขึ้นอยู่กับการกินของปู ซึ่งจะให้อาหารจนกว่าเนื้อจะชนกับกระดอง หรือ เนื้อแน่นกระดอง จะเกิดการลอกคราบขึ้นเพื่อให้ตัวมีขนาดใหญ่ขึ้น แต่ในช่วงระหว่าง 7-13 ค่ำ หรือช่วงที่มีการลอกคราบมากที่สุดคือช่วง 12 ค่ำ จะไม่มีการให้อาหารเพราะปูจะไม่การกินอาหาร
“ปูสองกระดอง”
โดยปกติแล้ว ปูจะใช้เวลาลอกคราบประมาณ 2 น้ำ คือ หนึ่งเดือนจะมี 2 น้ำ น้ำละ 15 วัน 45 วัน
โดยเฉลี่ย แต่บางครั้งปูที่นำมาปล่อย มีความพร้อม หรือที่เรียกว่า “ปูสองกระดอง” เมื่อปล่อยลงไปประมาณ 2-3 วันก็สามารถลอกคราบได้เช่นกัน
“กล่องพลาสติกเจาะรู” ตัวช่วยสำคัญของการเลี้ยง
ใน การเลี้ยงปูนิ่ม จำเป็นต้องมีกล่องพลาสติกเจาะรูและแพรองรับกล่องพลาสติกสำหรับเลี้ยงปู ในส่วนของบ่อเลี้ยงนั้นจะสร้างลักษณะคล้ายบ่อเลี้ยงกุ้ง มีความลึกประมาณ 2 เมตร มีประตูสำหรับระบายน้ำเข้า-ออก 2 ประตู หรือประตูเดียวก็ได้ บริเวณกลางบ่อทำทางเดินไม้พร้อมหลังคาคลุมกันแดดพาดระหว่างคันบ่อ สำหรับไว้เดินให้อาหารปู ตรวจสอบ และเก็บปู
การสร้างแพรองรับกล่องพลาสติก ใช้ท่อพีวีซีเส้นผ่าศูนย์กลางตั้งแต่ 1-2 นิ้ว มาต่อกันเป็นแพ ยาว 10-20 เมตร มีจำนวน 4 ช่อง ใช้ไม้ไผ่วางพาดขวางยึดท่อให้มีระยะห่างพอดีเพื่อรองรับกล่องพลาสติกที่ใช้บรรจุปู ส่วนใหญ่แล้วจะใช้ได้ระยะเวลาที่นาน และไม่ค่อยพบปัญหาชำรุด
ลักษณะของกล่องพลาสติก จะมีฝา มีการเจาะกล่องให้เป็นรู เพื่อง่ายต่อการดูว่าปูลอกคราบหรือยัง และเป็นช่องในการให้อาหารแก่ปูนิ่ม โดยใส่ปูทะเลเลี้ยงเพียงกล่องละ 1 ตัว กล่องพลาสติกที่ใช้เลี้ยง เมื่อปูลอกคราบแล้ว ก็จะนำขึ้นมาทำความสะอาดใช้แปรงขัดและนำไปตากแดดก่อนที่จะนำกลับไปใช้ใหม่อีกครั้ง
ผลผลิตปูนิ่มตัดแต่งและไม่ตัดแต่ง
ออร์เดอร์การสั่งซื้อปูนิ่มมี 2 แบบ คือปูตัดแต่งคือตัดอวัยวะภายในส่วนที่คิดว่าจะนำเชื้อโรคออกเช่น ตัดนม ตะปิ้ง และ อีกรูปแบบคือปูที่แช่แข็งทั้งตัวในการส่งออก โดยที่ตลาดที่ใหญ่ที่สุดของปูนิ่มอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นปูตัดแต่ง 100%
ทำตลาดเองป้องกันปัญหาในอนาคต
การทำตลาดในยุคแรกคนไม่รู้จักปูนิ่มจึงต้องทำให้รู้จักกันก่อน โดยเริ่มจากการทำตลาดในประเทศไทย 2 ปี และทาง บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) หรือ MAKRO ได้ติดต่อเข้ามาเนื่องจากอยากได้ปูนิ่มเข้าไปขายถึงได้ร่วมเป็นคู่ค้ากันมา 8 ปีและเนื่องจาก MAKRO มีศูนย์กระจายสินค้าทั่วประเทศส่งผลให้ขายดีเดือนละ 40 ตัน
จนกระทั่ง 2 ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจตกต่ำทำให้ปริมาณการขายถดถอยลง ทำให้ต้องสร้างตลาดขายปลีกเข้ามาเพิ่มจากการส่งเข้าร้านอาหารโดยตรงและจากตลาดต่างประเทศ แต่ตลาดต่างประเทศจะสั่งปริมาณไม่เท่ากันในแต่ละเดือนทำให้ไม่สามารถควบคุมปริมาณการสั่งและปริมาณของปูที่ผลิตได้
ในช่วงหลังที่ผ่านมาไม่สามารถส่งออกไปต่างประเทศแล้ว เนื่องจากปัจจัยสองข้อหลักคือหนึ่งเศรษฐกิจตลาดโลกไม่ได้ดีแบบเมื่อก่อน สองอดีตประเทศไทยถือว่าเป็นแหล่งผลิตและส่งออกปูนิ่มอันดับหนึ่งของโลก แต่เมื่อประเทศเพื่อบ้านเลี้ยงได้อย่างเช่น พม่า ทำให้เกิดความเสียเปรียบขึ้นด้วยสาเหตุจากพันธุ์ปูที่เพียงพอต่อคนเลี้ยง พื้นที่ในการเลี้ยงที่มีมากกว่า ทำให้ต้นทุนในการเลี้ยงต่ำกว่า
ฟาร์มบังกลาเทศผลผลิตออกสู่ตลาด 3 ปีแล้ว
เมื่อแหล่งผลิตในประเทศไทยมีต้นทุนที่สูงขึ้นทำให้สามารถแข่งขันในตลาดส่งออกได้ในความโชคร้ายก็ยังมีความโชคดีอยู่ที่มีพาร์ทเนอร์จากประเทศบังกลาเทศมาชักชวนไปร่วมทุน เนื่องจากมีความสนใจในการเลี้ยงและในประเทศของเขาเองไม่มีการบริโภคปูดำ ทิ้งไร้ค่า จึงคิดที่จะสร้างมูลค่าของปูดำขึ้นมา ซึ่งตอนนี้มีผลผลิตส่งออกสู่ตลาดเป็นปีที่ 3 แล้ว มีกำลังการผลิตอยู่ที่ 600,000 กล่อง เนื่องจากมีต้นทุนที่สามารถแข่งขันกับพม่าได้ ปัจจุบันกำลังวางแผนที่จะขยายในส่วนของห้องเย็นเพิ่มเติมและยังมีผลิตภัณฑ์ตัวอื่นเข้ามาเสริมด้วย และยังมีแผนที่จะทำตลาดในประเทศบังกลาเทศให้ประชาชนรู้จักเหมือนประเทศไทยอีกด้วย ซึ่งตลาดของปูนิ่มจะล้นหรือใหม่ขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัยหลัก คือสภาพภูมิอากาศและคู่ค้า
แต่ก่อนที่จะเป็น “ เก้าดาวฟาร์ม ” อดีตที่ผ่าน ประกอบอาชีพเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งกุลาดำ เมื่อเจอเรื่องของโรคระบาดเช่น ตัวแดงดวงขาว หรือแม้กระทั่งเรื่องสายพันธุ์ จึงได้เปลี่ยนมาเลี้ยงกุ้งขาวแต่ก็ยังไม่วายที่ต้องมาเผชิญกับเรื่องกุ้งขาวราคาตกต่ำส่งผลให้ประสบปัญหาการขาดทุน ในเวลาเดียวกันนั้นเองปูนิ่มเป็นที่ต้องการของตลาดอย่างมาก คนเลี้ยงยังน้อยและผลผลิตที่จับได้จากธรรมชาติก็มีแนวโน้มลดลง แต่เนื่องจากสภาพพื้นที่ที่เป็นบ่อกุ้งเก่าสามารถดัดแปลงมาเลี้ยงปูนิ่มได้โดยไม่ต้องลงทุนมากจึงได้ทดลองเลี้ยง เมื่อได้ผลผลิตออกมาก็ส่งเข้าบริษัทรับซื้อและสามารถเลี้ยงได้จนมีปริมาณที่เพียงพอจึงเริ่มหาตลาดเอง ผลผลิตที่ได้จะผ่านกระบวนการแช่แข็งเบื้องต้นโดยเริ่มจากการใช้ตู้ไอศกรีมจนกระทั่งผันตัวเองมาเป็นผู้รับซื้อ มีการหาตลาดเองมากขึ้นโดยการทำตลาดในประเทศเป็นหลัก ระยะเวลาผ่านมากว่า 12 ปี หลังจากจัดตั้งเป็นบริษัทปัจจุบันเริ่มกระจายตลาดไปสู่การส่งออกมากขึ้นและเริ่มกระจายพื้นที่ของการเลี้ยงจากเดิมที่เลี้ยงอยู่ในประเทศไทยได้ขยายออกไปยังประเทศบังกลาเทศด้วย
เลี้ยงปูนิ่ม, การเลี้ยงปูนิ่ม, ฟาร์มปูนิ่ม, วิธีเลี้ยงปูนิ่ม, ปูนิ่ม, วิธีการเลี้ยงปูนิ่ม, ช่องทางทําเงิน, เลี้ยงอะไรรายได้ดี, เลี้ยงปูนิ่ม, การเลี้ยงปูนิ่ม, ฟาร์มปูนิ่ม, วิธีเลี้ยงปูนิ่ม, ปูนิ่ม, วิธีการเลี้ยงปูนิ่ม, ช่องทางทําเงิน, เลี้ยงอะไรรายได้ดี