เมื่อพูดถึงโปรตีนทางเลือก ท่านอาจจะคิดถึงแมลงต่างๆ หนอนรถด่วน หนอนไหม ด้วงสาคู และโดยเฉพาะ จิ้งหรีด ที่มีบทวิเคราะห์ออกมาว่า น่าจะเป็นโปรตีนทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับคน แต่ในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ โปรตีนทางเลือกอีกหนึ่งชนิดที่กำลังเป็นกระแสในตอนนี้ และเป็นวัตถุดิบที่เกษตรกรต้องการมากที่สุด โดยเฉพาะเกษตรกรต่างประเทศ นั่นคือ “ โปรตีนจากตัวอ่อนแมลง BSF ” หรือ Black Soldier Fly มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Hermetia illucens พบได้ทั่วไป และจะพบได้มากที่สุดในสภาพภูมิอากาศเขตร้อนและเขตอบอุ่น
เป็นแมลงที่ไม่เป็นพาหะนำโรค ไม่เป็นศัตรูพืช และไม่ก่อให้เกิดความรำคาญต่อชุมชน ตัวเต็มวัยมีสีดำขนาดความยาวมากถึง 20 มิลลิเมตร จากการศึกษาที่ผ่านมาพบว่าตัวอ่อนของแมลง BSF มีโปรตีนสูง ไขมันสูง และ พลังงาน 2,900 กิโลแคลอรี่ต่อกิโลกรัม อีกทั้งหนอนแมลงวันลายมีประสิทธิภาพในการกำจัดขยะอินทรีย์อีกด้วย
ปัจจุบันในประเทศไทย มีหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนหลายที่ หันมาสนใจเจ้าโปรตีนจากตัวอ่อนแมลงตัวนี้ โดยมีงานวิจัยหลายชิ้น พิสูจน์ออกมาว่า ตัวอ่อนแมลง BSF นี้ มีโปรตีนสูงมากกว่า 60% ซึ่งปริมาณโปรตีนที่มากขนาดนี้ สามารถนำมาทดแทนวัตถุดิบการผลิตอาหารสัตว์อย่างปลาป่นได้เป็นอย่างดี
การเลี้ยงแมลง BSF
คุณชาญชัย ใจเที่ยง หรือ คุณโจ ตำแหน่ง CTO และ คุณชนัญญา เรือนรักเรา หรือ คุณแนน ตำแหน่ง COO บริษัท สยาม ไบโอ อินเซ็คท จำกัด เริ่มต้นจากการเป็นเกษตรกรที่สนใจโปรตีนจากแมลง BSF จึงได้ทำการศึกษา และ วิจัยถึงประโยชน์จากตัวอ่อนของแมลงตัวนี้ พร้อมทั้งทดลองเลี้ยง และ แปรรูป เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม
“ย้อนไปเมื่อ 6 ปีที่แล้ว ผมมารู้จักแมลง BSF ตัวนี้ อย่างบังเอิญ แต่ก่อนผมทำฟาร์มไส้เดือน ซึ่งในกองอาหารที่ให้ไส้เดือนกินนั้น มักจะพบหนอน BSF ตัวนี้เป็นประจำ ซึ่งตอนนั้นคิดว่าหนอนมาแย่งอาหารไส้เดือน จึงพยายามทำลายทิ้ง แต่ก็ไม่สิ้นซากสักที เนื่องจากตนเองเป็นลูกศิษย์จากการอบรมการเลี้ยงไส้เดือนจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ จึงนำหนอน BSF ไปให้อาจารย์ที่มหาวิทยาลัยดูว่ามันคืออะไร
ประจวบกับขณะนั้น ท่านอาจารย์อาณัฐ ตันโช ได้ทำการวิจัยหนอนตัวนี้อยู่ ทำให้ทราบว่าหนอนตัวนี้มีประโยชน์อย่างมาก โดยเฉพาะในต่างประเทศที่เลี้ยงหนอนตัวนี้เพื่อเป็นอาหารสัตว์ทางเลือก เพราะมีโปรตีนที่สูงมาก จากนั้นผมจึงทำการศึกษาอย่างจริงจัง และเข้าร่วมการอบรมเลี้ยง BSF กับทางมหาวิทยาลัยแม่โจ้ รวมทั้งทดลองศึกษาวงจรชีวิตของแมลง BSF ซึ่งขณะนั้นในประเทศไทยยังไม่มีใครเลี้ยง ก็ต้องอาศัยหาข้อมูลจากอินเตอร์เน็ต จะเจอแต่บทความของต่างประเทศ ก็ลองผิดลองถูก
เหตุที่ผมสนใจหนอนตัวนี้ เพราะว่าผมทำเกษตรอินทรีย์อยู่แล้ว และเห็นว่าในวงการอาหารสัตว์ยังไม่มีอาหารสัตว์ แบบออร์แกนิค ถ้าเราผลิตอาหารสัตว์ที่เป็นออร์แกนิคได้น่าจะดี จึงไปหาข้อมูลศึกษาดูว่าในอาหารออร์แกนิค ส่วนประกอบตัวอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นคาร์โบไฮเดรตก็มี หรือพืชอื่นๆ สามารถทำเป็นออร์แกนิคได้ แต่ส่วนที่ยังไม่มีเลย คือ โปรตีนออร์แกนิค เลยเป็นที่มาให้สนใจมาศึกษาต่อในตัวนี้”
การวิจัยแมลง BSF
คุณโจ และ คุณแนน ใช้เวลาในการศึกษาและวิจัยโปรตีนจากตัวอ่อน BSF นานหลายปี จนวันนี้ได้ข้อมูลและนวัตกรรมเฉพาะตัว จึงเริ่มจดทะเบียนเปิดบริษัท เพื่อนำงานวิจัยมาทำธุรกิจ “เมื่อเรียนรู้พัฒนาและได้มีการทดลองกับทั้ง ภาครัฐ และ เอกชน จนมั่นใจ จึงจดทะเบียนบริษัท มีการนำเครื่องจักรเข้ามาช่วยทุ่นแรง นำตัวหนอนไปเลี้ยง นำไปอบแห้ง เมื่อเสร็จสกัดน้ำมันออก ส่วนที่เป็นโปรตีนที่ได้จากการสกัดน้ำมันนำไปตีป่น จะมีโปรตีนสูงถึง 63%
ส่วนตัวน้ำมันแบ่งออกเป็นสองประเภท ส่วนหนึ่งนำไปเป็นน้ำมันในอาหารสัตว์ ที่คล้ายน้ำมันตับปลา มีโอเมก้า 3 6 9 โดยเฉพาะโอเมก้า 6 จะสูงโดดเด่นเป็นพิเศษ เหมาะสำหรับการนำไปเป็นส่วนประกอบของอาหารสัตว์เลี้ยง (Pet food) ซึ่งจะมีคุณสมบัติบำรุงขนและผิวหนังของ น้องหมา น้องแมว อีกเกรดหนึ่งสามารถนำไปเป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอาง จะเป็นส่วนผสมหลักในเซรั่มบำรุงผิว
กระบวนการผลิตแมลง BSF
ซึ่งกระบวนการผลิตแมลง BSF ตัวนี้ ถือว่าเป็น zero west ไม่มีส่วนไหนที่ไม่นำมาใช้ประโยชน์ เริ่มตั้งแต่ตัวหนอนนำไปทำโปรตีน ปลอกแมลงที่ตัวหนอนจะทิ้งปลอก แล้วกลายเป็นแมลงตัวปลอกนี้สามารถนำไปสกัดไคติน หรือ ไคโตซาน คล้ายกับที่อยู่ในเปลือกกุ้งที่นำไปสกัดเป็นสารเคลือบเม็ดอาหารกุ้ง รวมถึงเศษอาหารที่หนอนกินแล้วเหลือ หนอนจะถ่ายมูลออกมาก็นำไปทำเป็นปุ๋ยต่อ” ถือว่าเป็นแผนธุรกิจที่สอดคล้องกับการดำเนินงานของรัฐบาล ที่ได้ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG เพื่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
เริ่มต้นจากการหาลูกพันธุ์ ซึ่งหนอนชนิดนี้มีทั่วไปในป่า โดยจะใช้วิธีการล่อแมลง โดยใช้กลิ่นของผลไม้รสเปรี้ยว อย่าง สับปะรด มะม่วงสุก มาคลุกกับกากน้ำตาลและรำข้าว ทำการหมักจนกลิ่นออก ซึ่งกลิ่นนี้จะสามารถล่อแมลงได้ไกลถึง 1 กก. เลยทีเดียว ซึ่งขั้นตอนนี้จะต้องทำที่วางไข่ให้แมลงตัวเมียด้วย โดยใช้ไม้นำมาซ้อนๆ กัน ให้เกิดช่องเล็กน้อย เพื่อให้แมลงวางไข่ในช่อง เมื่อแมลงบินไป จึงจะนำไข่มาเข้ากระบวนการเพาะต่อไป จนเป็นพ่อแม่พันธุ์
วงจรชีวิตของแมลงตัวนี้อยู่ที่ 45 วัน เริ่มตั้งแต่ได้ไข่มาจนไข่อีกรอบหนึ่ง พอได้ไข่แมลงจากการดักล่อธรรมชาติ หรือในกรงมุ้ง ไข่จะใช้ระยะเวลา 3 วัน ในการฟัก โดยจะทำเป็นกระบะอนุบาลให้ไข่ฟักลงมาในกระบะ แล้วเลี้ยงในกระบะอนุบาลจนครบ 7 วัน เมื่ออนุบาลเสร็จตัวจะให้ประมาณเมล็ดข้าวสาร จึงนำไปเลี้ยงในบ่อเลี้ยงใหญ่ และเลี้ยงต่อในบ่อใหญ่อีก 5-7 วัน ก็จะสามารถนำไปทำเป็นโปรตีนอาหารสัตว์ได้ โดยระยะสีขาวจะดีที่สุด คุณค่าโภชนาการอาหารมากที่สุด
อายุโดยประมาณอยู่ที่ 14-15 วัน แต่จะแบ่งไว้ 10% ในการนำไปเป็นพ่อแม่พันธุ์เลี้ยงต่อจนครบระยะหนอนก่อนเข้าดักแด้จะเปลี่ยนสีเป็นสีดำ และจะมีขั้นตอนในการให้ตัวหนอนไต่หนีความชื้นออกมา แล้วจะเก็บหนอนสีดำนี้เข้าห้องพ่อแม่พันธุ์ แล้วจะฟักตัวอยู่ในห้องพ่อแม่พันธุ์ประมาณ 20 วัน โดยระยะฟักตัวหรือดักแด้นี้จะไม่กินอาหาร แล้วจะนำเข้าไปอยู่ในที่มืดและแห้ง ไม่ร้อนจนเกินไป เป็นเวลา 15-20 วัน เมื่อฟักออกมาเป็นแมลงแล้วก็จะมีอายุอยู่ประมาณ 6 วัน โดย 2-4 วันแรก จะจับคู่ผสมพันธุ์ วางไข่ และมีอายุต่ออีก 2 วัน จึงหมดอายุไขลงไป
ปัจจุบัน ห้องพ่อแม่พันธุ์ของบริษัท มีพื้นที่ 50 ตารางเมตร สามารถเก็บไข่ได้ประมาณ 300 กรัม/วัน ซึ่งถือว่าสามารถผลิตไข่หนอนแมลง BSF ได้เยอะที่สุดในประเทศไทย ณ ขณะนี้ แต่สเกลนี้คุณโจย้ำว่ายังอยู่ในช่วงของการทดลอง และในอนาคตจะปรับโครงสร้างโรงเลี้ยงเป็นระบบปิดทั้งหมด ทั้งโรงพ่อแม่พันธุ์ โรงอนุบาล และ โรงแปรรูป เพื่อควบคุมคุณภาพ และความสะอาด ตลอดจนการผลักดันมาตรฐานต่างๆ รวมไปถึงการผลักดัน พรบ. เรื่องกำหนดคุณภาพหรือมาตรฐานอาหารสัตว์ควบคุมเฉพาะประเภทวัตถุดิบ
การแปรรูปและพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ในอุตสาหกรรมสัตว์
เมื่อถามถึงภาคธุรกิจ คุณแนน กล่าวว่า ผลจากห้องปฏิบัติการที่ทางบริษัทได้นำตัวอย่างของผลิตภัณฑ์ ตัวอ่อน BSF ส่งตรวจนั้น มีโปรตีนอยู่ที่ 63.3% มีความใกล้เคียงกับปลาป่นเกรดพรีเมียม และตอนนี้อยู่ในขั้นตอนวิเคราะห์กรด อมิโนโปรไฟล์ว่ามีสารบางตัวที่ใกล้เคียง หรือบางตัวที่ดีกว่าปลาป่นหรือไม่ โดยได้วางจุดยืนของตัวผลิตภัณฑ์ไว้ว่าจะไม่นำไปแทนที่ปลาป่นเสียทีเดียว แต่นำมาเป็นทางเลือกที่ดีกว่าให้กับเกษตรกร
ผลิตภัณฑ์ที่ได้มาเป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ของบริษัทจะมี 1.ตัวอ่อน BSF อบแห้ง 2.น้ำมันโอเมก้า 3.ตัวอ่อน BSF แช่แข็ง 4.ผงโปรตีน BSF 60% และ 5.ผงจากดักแด้ ซึ่งได้ผลวิเคราะห์ค่าโปรตีนอยู่ที่ไม่ต่ำกว่า 55% 6.สารผสมล่วงหน้า (พรีมิกซ์) ซึ่งได้ทำการทดลองในกุ้งขาวแวนนาไมแล้วพบว่าหลังใช้ 7 วัน ค่าไขมันในตับเพิ่มขึ้นจาก 20% เป็น 80%
และเร็วๆ นี้จะออกผลิตภัณฑ์ที่เป็นfinish product พร้อมนำไปใช้งาน คือ อาหารปลาสวยงาม อาหารปลาเศรษฐกิจ ซึ่งได้ร่วมพัฒนาสูตรกับ Assoc. Prof.Dr.Hien Van doan อาจารย์สาขาสัตว์น้ำ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งตอนนี้ทางบริษัทได้ร่วมงานทางด้านการตลาดและประชาสัมพันธ์ กับทาง บริษัท Exofood Thailand ซึ่งเป็นอินฟลูเอนเซอร์ หรือผู้มีอิทธิพลบนสื่อโซเชียลทางด้านปลาสวยงาม และ สัตว์เลี้ยง Exotic
และเนื่องจากปัจจุบันคุณโจเป็นนักศึกษาคณะเทคโนโลยีการประมงและทรัพยากรทางน้ำ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ในโครงการทุนปริญญาตรีเพื่อเกษตรกรรุ่นใหม่ (Smart Farmer) ของสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร(องค์การมหาชน) จึงได้จัดทำปัญหาพิเศษเกี่ยวกับการใช้โปรตีนจากตัวอ่อน BSF ในอาหารกุ้ง โดยมี ผศ.ดร.สุดาพร ตงศิริ เป็นที่ปรึกษางานศึกษาค้นคว้าชิ้นนี้
แนวโน้มในอนาคต
เป้าหมายหลักของบริษัทต้องการผลิตโปรตีน BSF เพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหารสัตว์ แต่ในปัจจุบันการใช้โปรตีนในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์มีความต้องการสูง แต่กำลังการผลิตโปรตีน BSF ณ ปัจจุบันของทางบริษัทยังมีไม่มากพอสำหรับอุตสาหกรรมปศุสัตว์ขนาดใหญ่ จึงผลักดันให้เกิดเป็นสินค้า โดยมองไปที่คุณค่าที่จะส่งมอบให้กับลูกค้าเป็นหลัก เช่น ผลิตภัณฑ์อาหารปลาสวยงาม หรือ อาหารสัตว์เลี้ยง เป็นต้น
ส่วนอุตสาหกรรมสัตว์น้ำ ตอนนี้มีหลายบริษัทที่สนใจนำโปรตีนจากตัวอ่อน BSF ไปผลิตเป็นอาหารสัตว์ เพื่อทดแทนปลาป่น ซึ่งบริษัทเองก็ยินดี แต่ยังอยู่ในช่วงของการเริ่มต้น และมีแผนโมเดลธุรกิจที่เริ่มเปิดรับลูกฟาร์มเกษตรกรที่สนใจเลี้ยงแมลง BSF เพื่อผลิตตัวหนอนป้อนให้บริษัท คุณโจได้คาดการณ์ว่าในอนาคตอันใกล้นี้ โปรตีนจากตัวอ่อนแมลง BSF จะเป็นที่ต้องการในวงการอาหารสัตว์สูง เพราะประโยชน์ของมันที่ไม่มีอะไรให้สูญเสีย
ขอขอบคุณข้อมูล คุณชาญชัย ใจเที่ยง บริษัท สยาม ไบโอ อินเซ็คท จำกัด ที่ตั้งสำนักงานใหญ่ 245 หมู่ที่ 3 ตำบลสันผีเสื้อ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ โทร.061-398-7770