ผำ หรือไข่แหน จัดเป็นชื่อของพืชชนิดหนึ่งที่ลอยอยู่บนผิวน้ำ อาจลอยอยู่เป็นกลุ่มล้วนๆ หรือลอยปนกับพืชชนิดอื่นๆ เช่น แหน, แหนแดง ไข่แหนเป็นพืชมีดอกขนาดเล็กที่สุด กระจายอยู่ในประเทศต่างๆ ในทวีปยุโรป ในทวีปแอฟริกากลางและใต้ ในเกาะมาดากัสการ์ และในทวีปเอเชีย โดยเฉพาะบริเวณเขตศูนย์สูตรใต้ และตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากนี้ยังพบในประเทศบราซิล ประเทศอินโดนีเซีย และประเทศออสเตรเลีย
การขยายพันธุ์ผำ
ผำมีการขยายพันธุ์ มี 2 แบบ คือ
1.การสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศ เนื่องจากไข่แหนเป็นพืชมีดอกขนาดเล็กที่สุด ดอกของไข่แหนจะเจริญเติบโตออกทางช่องข้างบนของต้น ดอกไม่มีกลีบดอก และไม่มีกลีบเลี้ยง ดอกตัวผู้จะมีเกสรตัวผู้ 1 อัน ประกอบด้วยอับละอองเรณู 2 อับ ดอกตัวเมียมีรังไข่ที่มี 1 ช่อง และมีไข่อยู่ 1 ใบ ก้านเกสรตัวเมียสั้น ยอดเกสรตัวเมียมีลักษณะแบน เมล็ดมีขนาดเล็ก กลมเกลี้ยง ยังไม่ปรากฏว่าไข่แหนมีดอกในประเทศไทย มีแต่รายงานการพบเห็นในประเทศอื่น ไข่แหนจะมีดอกและเมล็ดในราวๆ เดือนมิถุนายนถึงตุลาคม
2.การสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ โดยการแตกหน่อ ซึ่งมีผู้ทำการศึกษาการเจริญเติบโตแล้ว พบว่า โดยเฉลี่ยไข่แหนแต่ละต้นจะแตกหน่อให้ต้นใหม่ทุกๆ 5 วัน
ประโยชน์ของผำ
สามารถนำมาปลูกเลี้ยงไว้ในพื้นที่ขนาดเล็ก เหมาะแก่การนำมาใช้ทำเป็นอุปกรณ์ในการศึกษา เช่น การศึกษาอิทธิพลของสารควบคุมการขยายพันธุ์ของพืช เป็นอาหารของสัตว์น้ำ และสัตว์ปีก หลายชนิด นอกจากนี้ ไข่แหนยังมีแคลเซียม และเบต้าแคโรทีนสูง
การเพาะเลี้ยงไข่น้ำ (ผำ)
ขุดบ่อดินขนาดความลึกประมาณ 1 เมตร กว้าง 1 เมตร และยาวประมาณ 4 เมตร นำพลาสติกสีดำรองพื้นในบ่อ เพื่อป้องกันมิให้น้ำซึมออก ใส่ปุ๋ยชีวภาพหรือปุ๋ยคอก 20 กิโลกรัม ตามขนาดของบ่อ เติมจุลินทรีย์ประมาณ 0.5 ลิตร ปล่อยน้ำเข้าบ่อให้เต็ม แล้วนำพันธุ์ไข่น้ำใส่ลงไป ประมาณ 7 วัน จะขยายพันธุ์อย่างรวดเร็ว สามารถเก็บไปจำหน่ายหรือรับประทานได้
ผำเป็นวัชพืชของสาหร่าย เลี้ยงไว้เพื่อใช้บริโภคในประเทศไทย ผำ คือ พืชผักชนิดหนึ่งที่มีคุณค่าทางอาหาร ชาวชนบทนิยมใช้เป็นอาหาร ส่วนแนวโน้มที่จะพัฒนาผำเป็นพืชเศรษฐกิจอีกชนิดหนึ่งนั้น ย่อมขึ้นอยู่กับความต้องการของตลาด และความนิยมของผู้บริโภค เป็นตัวชี้วัดที่สำคัญ
ขอขอบคุณข้อมูล ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง เขต 6 (สงขลา)