การเลี้ยงกุ้งนั้นมีความละเอียดอ่อน และต้องมีการเอาใจใส่ดูแลอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้ได้ ผลผลิตกุ้งที่ได้คุณภาพ ตรงตามมาตรฐาน เพื่อให้ได้กุ้งเนื้อที่ออกมาเป็นที่ต้องการของตลาดมากที่สุด ดังนั้นนอกจากเรื่องของเทคนิคการเลี้ยง ปัจจัยเสริม และอาหาร แล้วนั้น สิ่งสำคัญอีกสิ่ง คือ สายพันธุ์กุ้ง หรือ ลูกพันธุ์กุ้ง ซึ่งถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการเลี้ยงกุ้ง และยังเป็นปัจจัยหลักของอาชีพนี้ด้วย หากเกษตรกรได้คุณภาพลูกกุ้งที่ดี แข็งแรง สมบูรณ์ บวกกับการจัดการดูแลระบบฟาร์มที่ดี เมื่อถึงเวลาจับกุ้ง เกษตรกรก็จะมีผลกำไรที่ดีนั่นเอง
จุดเริ่มต้นการเลี้ยงกุ้ง
นิตยสารสัตว์น้ำได้เล็งเห็นความสำคัญของ “ลูกกุ้ง” จึงได้เข้าพูดคุยกับ คุณอนุพงษ์ วีระกุล หรือคุณหนุ่ม ซึ่งเป็นผู้จัดการฟาร์ม และคุณกิตติพงศ์ วงศ์โกศลจิต หรือคุณพงศ์ เจ้าของฟาร์ม “ลูกกุ้งรัชต์กัลย์” ฟาร์มอนุบาลลูกกุ้งคุณภาพ ที่มีการจัดการฟาร์มแบบทันสมัย มีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามาดูแลฟาร์ม เพื่อการอนุบาลลูกกุ้งที่ได้ประสิทธิภาพมากที่สุด
จุดเริ่มต้นของ “ลูกกุ้งรัชต์กัลย์” มาจากที่ตัวของคุณพงศ์เองเป็นเกษตรกรชาวบ่อกุ้ง ที่รับซื้อลูกกุ้งจากฟาร์มต่างๆ มาเลี้ยงในบ่อดิน แต่ก็มักพบเจอปัญหาลูกกุ้งที่เลี้ยงไม่โต หรือโตช้าบ้าง ส่งผลให้ต้นทุนทางด้านอาหารค่อนข้างสูง ซึ่งเมื่อจับกุ้งขึ้นมาหักต้นทุนแล้ว ผลประกอบการไม่เป็นอย่างที่ตั้งไว้ และในบางครั้งก็ประสบกับภาวะขาดทุนอีกด้วย
ซึ่งนี่คือปัญหาหลักของเกษตรกรชาวบ่อกุ้ง แต่คุณพงศ์ไม่ใช่เกษตรกรที่จะย่ำอยู่กับที่ ได้ศึกษาค้นคว้าถึงสาเหตุของปัญหาลูกกุ้งที่อาจมีคุณภาพไม่ดีเท่าที่ควร จนพบว่าส่วนหนึ่งเกิดจาก สายพันธุ์กุ้งที่ไม่โต และการดูแลอนุบาลกุ้งที่ไม่ได้คุณภาพ ด้วยเหตุนี้คุณพงศ์จึงริเริ่มคิดสร้างฟาร์มอนุบาลกุ้งเอง เป้าหมายเพื่อผลิตลูกกุ้งคุณภาพออกสู่ตลาด ซึ่งกว่าที่เขาจะตั้งฟาร์มได้นั้นต้องใช้เวลาศึกษาวงจรชีวิตของกุ้งนานพอสมควร โดยมีคุณครูที่ดีคือ คุณสุชาติ เจ้าของสุชาติฟาร์ม ที่คอยเป็นที่ปรึกษาให้กับคุณพงศ์ จนสามารถสร้างฟาร์มอนุบาลกุ้งได้สำเร็จอย่างทุกวันนี้
“การจะอนุบาลกุ้งได้นั้นจะต้องมีผู้ที่มีประสบการณ์ที่เชี่ยวชาญมาอย่างยาวนานมาให้ความรู้ และอธิบายให้จนเข้าใจไปถึงรากลึกของการเลี้ยงกุ้ง หรือการอนุบาลลูกกุ้ง เพื่อให้ได้มาตรฐานสากล และเป็นที่ยอมรับของเกษตรกร” คุณพงศ์กล่าว
สภาพพื้นที่เลี้ยงกุ้ง
ลูกกุ้งรัชต์กัลย์ ตั้งอยู่ที่ จ.ฉะเชิงเทรา คุณพงศ์ยอมรับว่าพื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่เช่า ดังนั้นการวางรูปแบบและระบบของฟาร์มไม่เหมาะสมที่จะวางแบบถาวร ด้วยเหตุนี้ทางฟาร์มจึงไม่ใช้บ่อปูนในการอนุบาลลูกกุ้ง แต่เปลี่ยนเป็นถัง “ไฟเบอร์กลาส” ขนาดใหญ่แทน ที่สามารถบรรจุน้ำได้มากถึง 9 ตัน
นอกจากนี้ถังไฟเบอร์กลาสยังง่ายต่อการดูแลและเคลื่อนย้าย รวมไปถึงถังชนิดนี้จะไม่มีรูพรุนเหมือนบ่อปูน ซึ่งรูพรุนนี้เองจะเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรคที่อยู่ในบ่อเลี้ยง นอกจากนี้เมื่อนำท่อออกซิเจนใส่ในบ่อแล้วจะทำให้น้ำในบ่อกุ้งหมุนเวียนม้วนตัวขึ้นทั่วถึง จะทำให้ขี้กุ้งฟุ้งกระจายอยู่ในบ่อ ส่งผลให้ตะกอนไม่รวมตัวกันอยู่ก้นบ่อเลี้ยง เป็นการลดการสะสมเชื้อโรค
ปัจจุบันลูกกุ้งรัชต์กัลย์มีถังไฟเบอร์กลาสสำหรับอนุบาลเลี้ยงลูกกุ้งประมาณ 10 ถัง แต่ละถังสามารถลงกุ้งได้มากถึง 2 ล้านตัว ซึ่งลูกกุ้งสายพันธุ์หลักที่ทางลูกกุ้งรัชต์กัลย์อนุบาลอยู่นั้น คือ ลูกกุ้งสายพันธุ์ SIS แม่นอก ฮาวายแท้ 100% ซึ่งเป็นกุ้งสายพันธุ์ที่ตลาดต้องการมากที่สุด ด้วยจุดเด่นของสายพันธุ์ที่มีการเจริญเติบโตที่ดี มีความทนทานต่อโรคสูง เป็นสายพันธุ์ที่เหมาะสำหรับสภาพอากาศและลักษณะการเลี้ยงโดยภาพรวมของไทย ด้วยเหตุนี้ลูกกุ้งสายพันธุ์ SIS จึงเป็นกุ้งสายพันธุ์ที่ทางฟาร์มเลือกมาอนุบาล
การจำหน่ายลูกกุ้ง
ในส่วนของกำลังการผลิตลูกกุ้งของทางฟาร์ม จะมีปริมาณลูกกุ้งออกตลาดประมาณเดือนละ 15-20 ล้านตัว ในระยะกุ้ง P10-P12 ซึ่งคุณพงศ์จะพยายามผลิตกุ้งให้ออกได้ทุกเดือน เดือนละ 2 ช่วง คือ ต้นเดือน และกลางเดือน ทางฟาร์มจำหน่ายกุ้งในราคา 11 สตางค์/ตัว และหากเกษตรกรมียอดสั่งซื้อในปริมาณที่มาก ทางฟาร์มจะขนส่งกุ้งไปให้ถึงบ่อเลี้ยง พร้อมบริการปรับน้ำและลองน้ำฟรี
สำหรับเกษตรกรที่สนใจสั่งจองลูกกุ้งของทางฟาร์ม พร้อมแนะนำให้คำปรึกษาถึงวิธีการเลี้ยง การดูแล กุ้ง ตลอดระยะเวลาการเลี้ยงจนจับขาย คุณพงศ์ยังเล่าอีกว่าที่ผ่านมาเกษตรกรเคยใช้ลูกพันธุ์กุ้งของตนเลี้ยงในบ่อดินนาน 60 วัน ก็สามารถหลุด 100 ตัวขึ้นได้แล้ว นี่คือสิ่งที่การันตีถึงคุณภาพของลูกกุ้งสายพันธุ์ SIS นี่เอง
การดูแลอนุบาล ลูกพันธุ์กุ้ง
ในส่วนของเทคนิคการดูแลอนุบาลลูกกุ้งของทางฟาร์มนั้น จะเน้นการเลี้ยงแบบไม่ใช้สารเคมี หรือยาปฏิชีวนะ เพื่อไม่ให้เกิดสารตกค้างในตัวของลูกกุ้ง ซึ่งการอนุบาลลูกกุ้งของทางฟาร์มจะเริ่มต้นจากการเตรียมบ่อพักน้ำ โดยจะต้องทำความสะอาดบ่อให้สะอาดที่สุด จากนั้นตากบ่อให้แห้ง แล้วจึงซื้อน้ำจากนาเกลือมาใส่ลงบ่อพัก
จากนั้นนำน้ำประปามาหรือน้ำจืดมาใส่ผสมเพื่อให้ได้ความเค็มที่ต้องการประมาณ 32 แต้ม จากนั้นจะทรีตน้ำโดยการใส่สารปรับสภาพน้ำ สร้างสีน้ำ วัดค่า pH และ ค่าอัลคาไลน์ของน้ำให้เหมาะสมกับลูกกุ้ง จากนั้นถ่ายน้ำใส่บ่อพักอีกบ่อ โดยจะต้องกรองน้ำด้วยผ้าทั้งหมด 3 รอบ หรือถ่ายน้ำ 3 รอบ เพื่อให้ได้น้ำที่สะอาดที่สุด โดยทางฟาร์มจะทรีตน้ำประมาณ 7 วัน จึงปล่อยน้ำใส่ถังอนุบาล ผ่านท่อกรองที่ต่อตรงจากบ่อพักน้ำ
การให้อาหารลูกกุ้ง
เมื่อลงนอเพลียสกุ้งขาวแล้ว ทางฟาร์มจะเน้นให้อาหารทุกๆ 4 ชั่วโมง โดยจะเน้นการใช้ อาร์ทีเมียสด และเสริมด้วยแร่ธาตุ วิตามิน คีโต เพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้กับลูกกุ้ง เมื่อลูกกุ้งเริ่มเข้าระยะ P ทางฟาร์มจะเริ่มให้ลูกค้านำน้ำมาลองลูกกุ้งก่อนจะส่งขาย ซึ่งเกษตรกรสามารถแจ้งทางฟาร์มได้ว่าต้องการน้ำในการเลี้ยงกุ้งกี่แต้ม
ซึ่งทางฟาร์มจะมีบริการปรับน้ำให้ฟรี เพื่อความสะดวกของเกษตรกร และจุดเด่นของทางฟาร์ม คือ การใช้อาร์ทีเมียสด อาหารคุณภาพ ไม่มีการใช้ไรน้ำจืด 100%
การทำมาตรฐาน BAP สำหรับฟาร์มกุ้ง
ลูกกุ้งรัชต์กัลย์นอกจากจะผลิตลูกกุ้งที่ได้คุณภาพออกสู่ตลาดแล้ว แน่นอนว่าทางฟาร์มยังให้ความสำคัญกับเรื่องของมาตรฐานฟาร์ม ทะเบียนฟาร์ม และมาตรฐาน GAP เพื่อความเชื่อมั่นของลูกค้า และในปี 2562 นี้ ทางฟาร์มอยู่ในกระบวนการขอรับมาตรฐาน BAP ซึ่งเป็นมาตรฐานฟาร์มที่ยอมรับกันในสากล โดยเฉพาะตลาดส่งออก ที่ให้ความสำคัญกับมาตรฐานนี้มาก
มาตรฐาน BAP คือ ตัววัดระดับคุณภาพมาตรฐานการรองรับจากฝั่งยุโรป เป็นเหมือนการคัดกรองการซื้อขายเพื่อการส่งออก อีกทั้งยังเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าด้วยว่าจะได้พันธุ์ที่มีคุณภาพ ไม่มีโรค และสามารถนำไปเลี้ยงต่อ ซึ่งหากมีการตรวจสอบย้อนกลับของผลผลิตกุ้งล๊อตนั้นๆ แล้ว พบว่ามีมาตรฐาน BAP ครบ 4 ดาว ผลผลิตที่ถูกส่งออกไปก็จะกลายเป็นผลผลิตเกรดพรีเมียม สามารถต่อรองราคากับผู้ซื้อที่ปลายทางได้มากขึ้นอีกด้วย
นอกจากเรื่องของการทำมาตรฐาน BAP ที่คุณพงศ์ตั้งเป้าจะต้องแล้วเสร็จในปี 2562 นี้แล้วนั้น อีกหนึ่งหน้าที่ที่คุณพงศ์ได้รับมอบหมาย คือ ตำแหน่งรองประธาน “ชมรมผู้ผลิตลูกพันธุ์สัตว์น้ำ” หรือ S.A.C. (Seeding Aquaculture Club) เป็นชมรมที่เกิดจากการรวมตัวของผู้ผลิตลูกพันธุ์กุ้งหลายหลากสถานที่ เพื่อร่วมพัฒนาและควบคุมการผลิตลูกพันธุ์สัตว์น้ำให้ได้คุณภาพ และยังเป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงข่าวสารระหว่างกรมประมงไปยังเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง หรือปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างสมาชิก เพื่อที่กลุ่มสมาชิกในชมรมจะได้ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
คุณพงศ์บอกว่าชมรมนี้ก่อตั้งได้มาประมาณ 6 เดือนแล้ว ส่วนใหญ่สมาชิกจะเป็นเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงลูกกุ้ง หรือโรงเพาะฟัก ซึ่งปัจจุบันทางชมรมก็ได้มีการเปิดรับสมาชิกเพิ่มเติม เพียงแต่โรงเพาะฟักหรือผู้ที่เลี้ยงลูกกุ้งที่ต้องการเข้าชมรม จะต้องมีทะเบียนฟาร์ม และมาตรฐานของฟาร์ม ให้ชัดเจน
ฝากถึงเกษตรกรที่สนใจเลี้ยงกุ้ง
คุณพงศ์ได้กล่าวว่า เกษตรกรที่เลี้ยงกุ้งปัจจุบัน สภาพแวดล้อมการเลี้ยงที่เปลี่ยนไป หรือแม้แต่วัตถุดิบอาหารกุ้ง คุณภาพน้ำเสื่อมโทรม เกษตรกรต้องรู้จักที่จะปรับตัวและเรียนรู้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้ตนเองตลอดเวลา เพราะอดีตกับปัจจุบันนั้นมันไม่ได้เหมือนกัน สภาพอากาศ สิ่งแวดล้อม มันเปลี่ยนไปตามยุคตามสมัย ความกระตือรือร้นอยู่เสมอคือสิ่งที่ดีที่สุด และที่สำคัญการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงสัตว์น้ำ เกษตรกรควรเลือกสินค้าที่มีคุณภาพ มีความน่าเชื่อถือ ให้มากที่สุด
สำคัญเลยคือต้องมีทะเบียนรับรองผลิตภัณฑ์นั้นๆ เพราะผลิตภัณฑ์หลังการจำหน่ายไปแล้ว ปลายทางที่เราส่งออกต้องสามารถตรวจสอบย้อนกลับไปถึงฟาร์มเลี้ยง ลูกพันธุ์ และทุกกระบวนการต้องปราศจากสารตกค้าง ดังนั้นเกษตรกรต้องปรับตัว เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ และเรียนรู้วิธีใช้อย่างถูกต้องเคร่งครัด เพื่อผลประโยชน์ต่อผู้บริโภค และภาพลักษณ์ของอุตสาหกรรมกุ้งไทย
ส่วนการเลี้ยงช่วงนี้ อยากให้เกษตรกรใช้โปรไบโอติกที่มีคุณภาพ ทดแทนการใช้ยาปฏิชีวนะในการคลุกอาหาร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้อาหาร และส่งผลดีต่อการเจริญเติบโตของกุ้ง เพื่อเป็นการรักษาระบบนิเวศในฟาร์มของท่านเอง และสุดท้ายเพื่อผลผลิตที่ดีที่จะถูกส่งต่อสู่ผู้บริโภค
ขอบคุณข้อมูลจาก ลูกกุ้งรัชต์กัลย์ สนใจสั่งซื้อลูกพันธุ์กุ้งขาวคุณภาพ ได้มาตรฐาน
หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณกิตติพงศ์ วงศ์โกศลจิต เจ้าของฟาร์มเพาะลูกกุ้ง เบอร์โทรศัพท์ในการติดต่อ 098-782-3966