ข้อมูลการเลี้ยงกุ้งก้ามแดง การเพาะพันธุ์ สู่การจำหน่าย จัดทำโดย “สมาพันธ์ผู้เพาะเลี้ยงกุ้งก้ามแดง” (จ่าน้อง ฟาร์ม) ข้อมูลของเอกสารชุดนี้จัดทำขึ้นเพื่อเป็นความรู้สำหรับผู้ที่สนใจ หรือกำลังเริ่มศึกษาข้อมูลการเพาะเลี้ยง โดยจะเขียนในเชิงพาณิช ตั้งแต่การเตรียมพื้นที่เลี้ยง ค่าของน้ำที่เหมาะสม การคัดเลือกพ่อ-แม่พันธุ์ การผสมพันธุ์ และระยะเวลาอุ้มไข่ การอนุบาลลูกกุ้ง จนถึงเรื่องการตลาด ลูกพันธุ์กุ้งก้ามแดง อาหารกุ้งก้ามแดง
“กุ้งก้ามแดง” หรือชื่อเป็นทางการว่า RedClaw Lobster หรือ Australian redclaw crayfish คนไทยอาจจะเรียกว่า Lobster น้ำจืด หรือกุ้งเรนโบว์ ก็ไม่ผิด กุ้งก้ามแดงเป็น 1 ในสายพันธุ์ Crayfish หรือ Crawfish กุ้งสายพันธุ์ Crayfish หรือ Crawfish อาศัยในน้ำจืดตามแหล่งธรรมชาติ
โดยจะแยกออกไปอีก 7 Species รวมทั้งหมดมีมากกว่า 500 สายพันธุ์ทั่วโลก (ผมขอพูดถึงแค่ก้ามแดงก่อนนะครับ) กุ้งก้ามแดงเป็นกุ้ง Crayfish จัดอยู่ในสาย Species Cherax (กุ้งก้ามเรียบ) หรือที่คนไทยเรียกสั้นๆ ว่าสาย C มีถิ่นกำเนิดและพบได้ในทวีปอเมริกาเหนือ, ยุโรป, ออสเตรเลีย และเอเชียตะวันออก เป็นต้น
สำหรับกุ้งก้ามแดงที่นำเข้ามาเพาะเลี้ยงในประเทศไทยเป็นกุ้งที่มีถิ่นกำเนิดจากประเทศออสเตรเลีย โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อ 12 ปีก่อน เพื่อเป็นอาหาร และสร้างอาชีพให้แก่เกษตรกรไทยเป็นครั้งแรก โดยโครงการหลวงได้ทดลองปล่อยกุ้งก้ามแดงลงในแปลงนาข้าวแบบอินทรีย์ หรือนาข้าวปลอดสารพิษ ซึ่งกุ้งก้ามแดงสามารถปรับตัวเข้ากับภูมิอากาศในบ้านเรา และยังเจริญเติบโตได้เป็นอย่างดี
ลักษณะทั่วไปของกุ้งก้ามแดง
ลักษณะทางกายภาพของกุ้งก้ามแดง กุ้งสายพันธุ์ Crayfish (กั้ง) หรือ Crawfish (กุ้งน้ำจืด) จะมีเปลือกหนากว่ากุ้งก้ามกราม และกุ้งอื่นๆ ในบ้านเรา เป็นเกราะกันตัว จะมี 3 ส่วน คือ ส่วนหัว-ลำตัว และหาง มีขาทั้งหมด 5 คู่ ซึ่งคู่หน้า ก็คือ ก้าม ใช้ต่อสู้ และขาเดิน 4 คู่ มีขาสำหรับว่ายน้ำอยู่ข้างใต้ลำตัว กุ้งก้ามแดงจะใช้ขาส่วนนี้ดีดตัวถอยหลังอย่างรวดเร็ว เพื่อใช้หนีศัตรู หรือขณะมีภัย ตอนเดินจะเดินไปข้างหน้าตามปกติ มีหนวดยาวใช้ตรวจจับความเคลื่อนไหวรอบๆ และหาอาหาร
กุ้งก้ามแดงไม่สามารถว่ายขึ้นมาบนผิวน้ำได้ จะหากินอยู่บริเวณพื้น กินอาหารได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นพืช สาหร่าย หนอน ไล้เดือน ไรแดง กุ้งฝอย ปลาเล็ก เนื้อสัตว์ต่างๆ และอาหารสำเร็จรูปทั่วไป กุ้งก้ามแดงเพศผู้บางตัว สามารถเติบโตได้ความยาวกว่า 1 ฟุต และมีอายุประมาณ 4 ปี ครับ กุ้งก้ามแดงจะมีสีของเปลือกแตกต่างกัน จากทวีป หรือแหล่งกำเนิด
สายพันธุ์ และ ลูกพันธุ์กุ้งก้ามแดง
สำหรับในประเทศไทยที่ผมทราบข้อมูลจะมีอยู่ 4 สายพันธุ์ ที่นำเข้ามาเพาะเลี้ยง คือ
- สายพันธุ์ ไทย คือ กุ้งที่มาจากประเทศออสเตรเลียเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้วนั่นเอง ปรับตัวให้เข้ากับสภาพอากาศ
และแหล่งน้ำ ให้ดำรงชีวิตอยู่ได้ในบ้านเรา จึงได้รับสัญชาติไทยนั่นเอง
สีของสายพันธุ์ไทยจะออกเป็นเขียวอมน้ำเงินอ่อนๆ หรือสีดำ บางตัวออกเป็นสีน้ำตาล เพราะถูกเพาะเลี้ยงกับดิน กับโคลน ในนาข้าว หรือบ่อดิน สีของเปลือกจะขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม ที่อยู่อาศัย และอาหาร เป็นต้น (ไม่ต้องใส่ใจเรื่องสีมากครับ ลงหม้อ ลงกระทะไป ก็ส้มทุกตัว)
- สายพันธุ์อินโดนิเซีย และ มาเลเซีย ผมจะรวมไว้ไนข้อเดียวกัน เพราะลักษณะโดยรวมคล้ายกันมากครับ ที่มา
ก็ไม่ต่างอะไรกับประเทศไทยนัก คือ นำเข้ามาเพาะเลี้ยงและพัฒนาสายพันธุ์ในประเทศเหมือนกัน
กุ้งทั้งสองสายพันธุนี้จะปราดเปรียว เร็ว เปลือกหนากว่าของบ้านเรา สีเข้มออกไปโทนน้ำเงินแก่ ข้อของก้ามจะมีปล้อง มีสีล้มหรือแดงชัดเจน จากประเทศอินโด และมาเลเซีย จะมีขนาดใหญ่และโตไวกว่าของบ้านเราเล็กน้อย เนื่องจากภูมิประเทศของเค้าเป็นภูเขาไฟโดยส่วนมาก แหล่งน้ำจึงอุดมไปด้วยแร่ธาตุต่างๆ มากมายที่กุ้งสามารถดึงมาใช้ในการเจริญเติบโตได้ดี
- สายพันธุ์ออสเตรเลีย Australian Red Claw Crayfish จะมีสีของเปลือกออกโทนฟ้าขาวหรือนํ้าเงิน ถุงนํ้าที่
ปลายก้ามจะออกสีส้มอ่อน หรือบางท่านอาจเรียก Blue lobs นั่นเอง
สายพันธุ์นี้เมื่อก่อนถูกนำมาเลี้ยงเป็นกุ้งสวยงาม กุ้งก้ามแดงสายพันธุ์ออสเตรเลียจะให้ไข่ช้ากว่าสายพันธุ์อื่นๆ บางตัวอาจจะเริ่มไข่ตั้งแต่ขนาด 4-5 นิ้วขึ้นไป แต่ปริมาณไข่ได้จะมากกว่าสายพันธุ์อื่นๆ เหตุผลก็คือ ลองเปรียบเทียบสรีระของคนเอเชีย และยุโรป ดูนั่นแหละครับ สายพันธุ์ออสเตรเลียจะโตไว แต่ฮอร์โมนยังเป็นเด็กอยู่ เมื่อเริ่มสู่วัยเจริญพันธุ์ และผสมพันธุ์ได้ จะให้ไข่ครั้งละมากๆ
เมื่อเปรียบเทียบกับขนาดและอายุจากสายพันธุ์อื่นดังกล่าว กุ้งสายพันธุ์ออสเตรเลียจึงเรียกได้ว่ามีความสมบูรณ์เพศมากที่สุด เราควรมีขนาดของพื้นที่เลี้ยงอย่างเหมาะสม ซึ่งกุ้งขนาด 3 นิ้วขึ้นไป จะจับกลุ่มกันอยู่ประมาณ 10 ตัวต่อ 1 ตารางเมตร ลองสังเกตดูนะ
การให้ อาหารกุ้งก้ามแดง
ขึ้นชื่อว่ากุ้งเป็นสัตว์หากินกลางคืน กุ้งก้ามแดงก็เช่นกัน การให้อาหารควรให้ตั้งแต่เวลา 18.00 น. เป็นต้นไป เวลากลางวันกุ้งก้ามแดงจะหลบซ่อนอยู่นิ่งๆ อาจพบออกมาหากินบ้าง แต่ไม่บ่อย หากต้องการเร่งการเจริญเติบโตสามารถให้อาหารได้ถึง 3 มื้อ
ผมมีเคล็ดแบบไม่ลับมาฝากครับ จากที่ผมเลี้ยงกุ้งก้ามแดง และเป็นคนช่างลังเกต ชอบลองอะไรไปเรื่อยๆ หากต้องการให้อาหารกุ้ง 3 มื้อ ให้ลองเลี้ยงในที่ทึบแสง ไม่ให้แสงเล็ดลอดเข้ามา กุ้งจะเข้าใจว่ามืดตลอด ทีนี้ก็หากินตลอด กินตลอดก็โตไว แต่อาจเปลืองต้นทุนบ้าง ลองนำไปใช้กันดูได้ครับ ไม่หวง
กุ้งก้ามแดงเป็นสัตว์กินเนื้อ โดยส่วนใหญ่จะกินกันเอง เมื่อตัวใดตัวหนึ่งลอกคราบ การสังเกตของผมพบว่ากุ้งจะลอกคราบเป็น ส่วนใหญ่ช่วงวันพระ-วันโกน (จริงๆ นะครับ ลองสังเกตกันดู) หรือตอนหลังเปลี่ยนน้ำใหม่ๆ ช่วงนี้ควรต้องใส่ใจเป็นพิเศษ หากมีเวลาพบตัวไหนลอกคราบก็ควรแยก หรือทำที่หลบให้เพียงพอ
ปัญหาและอุปสรรคของการเลี้ยงกุ้ง
ใช้ท่อ PVC ทั่วไป พบว่าภายนอกวัสดุจะมีเมือกจับท่อ PVC เมือกนี้เกิดจากเศษอาหารที่หลงเหลือในบ่อเลี้ยง เมื่อนำขึ้นมาสัมผัสจะลื่น และมีกลิ่นเหม็น นี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้น้ำเน่าเสียเร็ว และกุ้งที่ลอกคราบใหม่ก็ไม่ค่อยเข้ามาหลบ เพราะกุ้งจะเดินออกไปลอกคราบภายนอกท่อหลบ เมื่อลอกแล้วก็จะอ่อนแรงตกเป็นเป้า ไม่สามารถเดินไปไหนได้ช่วงขณะหนึ่ง หากหลบไม่ทันก็จะโดนตัวอื่นๆ จับกินในที่สุด
ใช้ผ้าแสลน หรือวัสดุกรองแสง ที่หาซื้อได้ทั่วไป พบว่ากุ้งบางตัวปีนขึ้นมาลอกคราบต้านบนของผ้าแสลน และไม่โดนตัวอื่นกิน แต่ทางที่จะให้กุ้งไต่ขึ้นมาลอกคราบต้านบนนั้นมีจำกัด เพราะผมปูเป็นผืนยาวประมาณ 3/4 ของบ่อเลี้ยง และพบว่ายังมีเมือกจากเศษอาหารมาจับอยู่ที่วัสดุ
ลักษณะของกุ้ง เพศผู้ เพศเมีย และเพศกระเทย
เพศผู้ ลักษณะภายนอกปลายก้ามจะมีถุงนํ้าสีแดงทั้ง 2 ข้าง เมื่อกุ้งเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ (ตั้งแต่กุ้งมีขนาด 3-3.5 นิ้วขึ้นไป) หากยิ่งเจริญเติบโตขึ้น ถุงน้ำสีแดงจะยิ่งเด่นชัดขึ้นเรื่อยๆ ก้ามจะโตและยาวกว่าเพศเมียอย่างเด่นชัด
อวัยวะสืบพันธุ์เพศผู้มีลักษณะเป็นแท่งยื่นออกมาจากขาเดินคู่ล่างสุด 2 แท่ง (แต่ต้องหงายมาดูเพศให้ดีนะครับ อาจจะเจอกุ้งกระเทย) อัตราการเจริญเติบโตของตัวผู้นั้นไวกว่าตัวเมียถึง 1 ต่อ 3 เท่า นิสัยค่อนข้างดุร้าย หวงถิ่นอาศัย กินเก่ง
เพศเมีย จะมีโครงสร้างของร่างกายเล็กกว่าตัวผู้อย่างเด่นชัด ปลายก้ามจะเล็กกว่า และไม่มีถุงน้ำสีแดงที่ปลายก้าม การเติบโตได้ช้ากว่าตัวผู้ 1 ต่อ 3 เท่า
อวัยวะสืบพันธุ์ของเพศเมียมีลักษณะเป็นปล้องรูอยู่ที่ขาเดินคู่ที่ 3 นับจากล่างสุด 2 รู กุ้งก้ามแดงเพศเมียจะเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์พร้อมผสมตั้งแต่ขนาด 3-3.5 นิ้วขึ้นไป สามารถให้ตลอดปี ระยะเวลาอุ้มไข่ประมาณ 35-40 วัน จะให้ลูกกุ้งลงเดินขนาด 1 cm. ต่างจากกุ้งก้ามกรามที่จะทิ้งไข่เป็นลักษณะของแพลงก์ตอนเล็กๆ จำนวนเป็นแสนๆ และจำนวนไข่ของแม่กุ้งจะมากขึ้นเรื่อยๆ ตามขนาดและความสมบูรณ์ของแม่กุ้ง
-แม่กุ้งขนาด 4-4.5 นิ้ว จะให้ไข่ได้ประมาณ 200-250 ฟอง
-แม่กุ้งขนาด 5-5.5 นิ้ว จะให้ไข่ได้ประมาณ 300-400 ฟอง
-แม่กุ้งขนาด 6 นิ้ว สามารถให้ไข่ได้ประมาณ 400-500 ฟอง
-แม่กุ้ง 7 นิ้วขึ้นไป สามารถให้ไข่ได้ประมาณ 800-1,000 ฟอง
ในระหว่างที่แม่กุ้งอุ้มไข่จะกินอาหารน้อยลง ควรให้อาหารประมาณ 4-5 เม็ดต่อตัว หากไม่ให้เลยกุ้งจะกินไข่หรือลูกที่ออกมา อย่าใส่แร่ธาตุในขณะกุ้งอุ้มท้อง เพราะกุ้งจะลอกคราบ และจะทิ้งไข่ไม่ให้ลอก ไข่ที่ติดอยู่ที่เปลือกเก่าจะเสียไปด้วย และพยายามอย่ารบกวนหรือจับขึ้นมาดูนะครับ ไม่เช่นนั้นเค้าจะสลัดหรือเขี่ยไข่ทิ้งหมดโดยสัญชาตญาณ
เมื่อเห็นว่าไม่ปลอดภัย หรือตกใจ เค้าจะทำแบบนี้ ให้ปล่อยทิ้งไว้ประมาณ 3 สัปดาห์ แล้วค่อยจับแยก โดยการใช้แก้วน้ำ หรือวัสดุทรงกระบอก ค่อยๆ ช้อนจากส่วนหางอย่างเบามือ แล้วนำมาปล่อยลงบ่อแยก หรือบ่ออนุบาล จนลูกกุ้งลงเดินเรียบร้อย จึงจับแม่กุ้งกลับลงบ่อผสมต่อไปครับ
กุ้งขนาดลงเดินไปจนถึงขนาด 1 นิ้ว จะเริ่มมีการลอกคราบบ่อยมาก เพราะมีการเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ตามสัญชาตญาณกุ้งจะกินกันเอง เมื่อตัวใดตัวหนึ่งลอกคราบ พื้นที่เลี้ยงควรมีขนาดกว้างอย่างเหมาะสม เพื่อมีพื้นที่ให้หนี หรือทำที่หลบภัยให้เพียงพอครับ กุ้งเพศผู้และเมียไม่มีนิสัยกินลูกตัวเอง แต่ตัวอื่นที่ไม่ใช่พ่อ-แม่อาจจะกินครับ ไม่ควรเสี่ยง กุ้งต่างขนาดกันไม่ควรอยู่รวมกันให้ดีที่สุด แยกเป็นบ่ออนุบาลไว้ต่างหากครับ
กุ้งกระเทย จะพบในกุ้งที่มีลักษณะภายนอกเหมือนตัวผู้ทุกอย่าง อัตราการเจริญเติบโตใกล้เคียงกัน แต่เมื่อพลิกดูที่อวัยวะเพศจะเห็นเป็น 2 เพศ บางตัวภายนอกเป็นตัวผู้ แต่มีอวัยวะลืบพันธุ์เป็นของตัวเมีย หรือบางตัวก็มี 2 อวัยวะเพศในตัวเดียวกัน
กุ้งกระเทยเกิดจากความผิดพลาดของฮอร์โมน มีโอกาสเพียงไม่กี่ % ที่จะเกิดขึ้นได้ ที่ผมเคยเจอด้วยตัวเอง กุ้งกระเทยบางตัวก็เป็นกระเทยกลับใจ ปล่อยให้อยู่กับตัวเมีย 1 ต่อ 1 ก็สามารถทำให้ตัวเมียท้องได้ หรืออีกกรณีหนึ่งลักษณะภายนอกเป็นตัวผู้ แต่สามารถให้ไข่ได้ด้วย
อีกกรณีที่แปลกที่สุดกุ้งกระเทยที่ตั้งไข่และให้ลูกลงเดิน แล้วอวัยวะของเพศผู้ก็งอกออกมา แล้วก็สามารถไปทำตัวเมียท้องได้อีกครับ (ตลกดีสำหรับกุ้งเพศกระเทย) เหมือนกับกำลังสับสนทางเพศประมาณนั้น ลูกกุ้งที่ได้มาก็มีเป็นเพศกระเทยติดมาบางส่วน ทางฟาร์มเลยจำเป็นต้องกำจัดโดยการนำมาปรุงเป็นอาหารให้หมดครับ ความจริงมันก็ไม่ได้เสียหายอะไรมากครับ กุ้งกระเทยสามารถแยกไปเป็นกุ้งเนื้อขายส่งร้านอาหารได้
การบริหารจัดการบ่อกุ้ง
กุ้งก้ามแดงถูกนำมาเพาะเลี้ยงและพัฒนาสายพันธุ์ให้อยู่ในนาข้าวได้ เมื่ออยู่ในนาข้าวได้ จะเลี้ยงที่ไหนก็สบาย ควรเลือกวิธีการเลี้ยงให้เหมาะสมกับพื้นที่ที่เรามี หรือใช้วัสดุต่างๆ ที่หาได้ในพื้นที่มาทำอุปกรณ์เลี้ยงก็ได้ครับ นิยามของการเลี้ยงกุ้งก้ามแดง คือ น้ำต้องสะอาด สภาพบ่อเลี้ยงต้องไม่สกปรก หากมีที่หลบซ่อนอย่างเพียงพอ เมื่อตัวใดตัวหนึ่งลอกคราบจะไม่ถูกตัวอื่นๆ จับกิน อัตราการตายก็ลดลง อัตรารอดก็สูงขึ้น
กุ้งก้ามแดงค่อนข้างไวต่อสารเคมีที่เป็นพิษมาก เช่น ยาฆ่าหญ้า ยาฆ่าแมลง สารเคมีที่ใช้ในการเกษตร ยากันยุงทุกรูปแบบ สารเคมีตกค้างต่างๆ รวมถึงควรระวังสารเคมีที่ปะปนอยู่ในอุปกรณ์ที่ใช้เลี้ยง หากเป็นแหล่งที่ใช้รวมกัน อย่าง แหล่งการเกษตร ยิ่งต้องระวังเป็นพิเศษ ควรตรวจสอบค่าต่างๆ ของน้ำให้ดีก่อนนำมาใช้ด้วยอุปกรณ์เทสค่าน้ำ มีขายทั่วไป ราคาไม่แพง
ข้อดีและข้อเสียของการเลี้ยงกุ้ง
- การเลี้ยงกุ้งในนาข้าว
“เลี้ยงในนาข้าว” การเลี้ยงกุ้งก้ามแดงในนาข้าวนั้น มีข้อดี คือ เราไม่ต้องดูแลเปลี่ยนถ่ายน้ำเลย และกุ้งสามารถหาอาหารกินเองได้ตลอดตามธรรมชาติ ควรใช้ตาข่ายหรือทำรั้วล้อมรอบคันนา กันไม่ให้กุ้งปีนหนีออกไป และไม่ให้สัตว์อื่นๆ เข้ามากินกุ้ง แต่ควร ระวังเรื่องสารเคมีในการเกษตรเป็นอย่างมาก หากพื้นที่นาเราไม่ใช้สารเคมี แต่พื้นที่ข้างเคียงอาจจะใช้สารเคมี ก็มีผลกระทบได้เช่นกัน รวมถึงแหล่งน้ำที่ใช้ร่วมกันครับ
ข้อเสีย ผมมองว่าการเลี้ยงกุ้งก้ามแดงในนาข้าวนั้นจะจับกุ้งขึ้นมายาก หากเราเดินลงไปจับข้าวก็จะเสียหาย นอกเสียจากจะขุดขอบแปลงนารอบๆ ให้ต่างระดับกันลึกลงไป แล้วปล่อยกุ้งให้อยู่ตามขอบคันนาอย่างที่เค้าทำกันอยู่ กุ้งก็อาจปีนขึ้นมาได้อยู่ดี และไปกัดกินต้นข้าวให้เสียผลผลิตไปอีก พอถึงฤดูเก็บเกี่ยว ทุกวันนี้ก็ใช้เครื่องจักรกันหมดแล้ว อาจจะไปทับกุ้งที่หลงเหลืออยู่ในนาตายอีกด้วย
- การเลี้ยงกุ้งในบ่อดิน
“บ่อดิน” สำหรับผู้ที่พอมีพื้นที่ วิธีการเลี้ยงบ่อดินก็ค่อนข้างเวิร์คที่สุด การเตรียมบ่อก็ไม่ค่อยซับซ้อนอะไรมาก เติมปูนข้าว เติมเกลือ ปรับสภาพหน้าดิน ตากบ่อ 3-5 วัน สูบน้ำใส่ ปล่อยกุ้ง คอยดูเรื่องอาหาร และระวังสารเคมี ควรใช้ตาข่ายหรือทำรั้วล้อมรอบ กันไม่ให้กุ้งปีนหนี และกันศัตรูจากภายนอกเช่นกัน
ถึงเวลาจับกุ้งก็สูบน้ำออก บ่อดินมีพื้นที่กว้างและลึกอย่างเหมาะสม ไม่แออัด และอุณหภูมิของน้ำคงที่ไม่เปลี่ยนแปลงเร็วเกินไป ส่งผลให้กุ้งโตไวกว่าการเลี้ยงแบบอื่นๆ การเลี้ยงบ่อดิน ผู้เลี้ยงจะปล่อยกุ้งขนาดตั้งแต่ 1 นิ้วขึ้นไป ใช้เวลาเลี้ยง 4-6 เดือน ก็สามารถจับได้แล้วครับ
ข้อเสีย กุ้งก้ามแดงที่ขึ้นมาจากบ่อดิน บางครั้งจะมีอาการหางบวม หางพอง และเนื้อตัวไม่สะอาด เพราะอยู่กับดิน กับโคลน หากเพาะเลี้ยงส่งร้านอาหาร ภัตตาคารโรงแรม ต้องนำมาพักน้ำประปาไว้ 1-2 สัปดาห์ เพื่อให้กุ้งคลายดินก่อนจัดส่งนะครับ ไม่งั้นบางแห่งไม่รับ เพราะเค้ามองเรื่องความสะอาด และคุณภาพ เป็นหลัก
- การเลี้ยงกุ้งในบ่อปูน
“บ่อปูนหรือบ่อซีเมนต์” การเลี้ยงบ่อปูนหากเป็นบ่อที่ทำเสร็จใหม่ หรือบ่อวงปูน ปูนจะมีความเป็นกรดอยู่ ห้ามนำกุ้งลงบ่อในทันที ให้ปฏิบัติตามขั้นตอนดังนี้
-การแช่บ่อเพื่อกำจัดกรดและเคมีตกค้างของปูน เติมนํ้าให้เต็ม ล้างทำความสะอาดเบื้องด้น 1 ครั้ง แล้วปล่อยน้ำออก -เติมน้ำให้เต็มอีกครั้ง เติมเกลือแกง (ปริมาณตามขนาดของบ่อ) ใช้เปลือกต้นกล้วย หรือใบหูกวาง แช่ทิ้งไว้ 5-7 วัน ในต้นกล้วย และใบหูกวาง จะมีสารแทนนิน Tannin สารแทนนินมีฤทธิ์กำจัดความเป็นกรด ยับยั้งเชื้อโรค และแบคทีเรียต่างๆ การแช่บ่อด้วยต้นกล้วยและใบหูกวางเป็นการกำจัดความเป็นกรดและฆ่าเชื้อโรคนั่นเอง
-เมื่อครบ 5-7 วัน นำด้นกล้วยและใบหูกวางออก ล้างบ่อด้วยน้ำสะอาดอีก 1-3 ครั้ง
-เติมน้ำเพื่อใช้เลี้ยงในปริมาณที่เหมาะสม ประมาณ 20-40 cm. ทิ้งไว้อีก 1-2 คืน เพื่อให้คลอรีนเจือจางลง จึงนำกุ้งลงบ่อได้ครับ การเลี้ยงบ่อปูนควรจะมีเครื่องช่วยเพิ่มออกซิเจน ระบบกรองหรือระบบการหมุนเวียนน้ำ ด้วยครับ
ข้อเสีย หากมีการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิ น้ำที่ใช้เลี้ยงในบ่อปูนจะมีการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิค่อนข้างเร็ว อาจทำให้กุ้งปรับสภาพไม่ทัน และมีโอกาสน็อคได้ ต้องทำความสะอาดบ่อย เพราะเศษอาหารที่ตกค้างทำให้พื้นบ่อปูนมีเมือกและตะกอน หรือตะไคร่เกิดขึ้นตลอด และทำให้น้ำเน่าเสียเร็วในที่สุด
- การเลี้ยงกุ้งในบ่อผ้าใบ
“บ่อผ้าใบหรือบ่อพลาสติก” การเลี้ยงบ่อผ้าใบหรือบ่อพลาสติกก็จะคล้ายกับการเลี้ยงบ่อปูน ควรมีระบบกรองน้ำ และเพิ่มออกซิเจน แต่การเลี้ยงบ่อผ้าใบไม่ต้องเตรียมบ่อยุ่งยากเหมือนบ่อปูน ไม่พบปัญหาการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิน้ำ เคลื่อนย้ายได้ง่าย ทำความสะอาดง่าย วิธีทำความสะอาดให้ถ่ายน้ำออก ใช้ด่างทับทิมเพื่อฆ่าเชื่อ ล้างน้ำสะอาดอีก 1 ครั้ง ก็เรียบร้อยแล้วครับ
ข้อเสีย บ่อผ้าใบมีความแข็งแรง และอายุการใช้งานสั้นกว่าการเลี้ยงแบบอื่นๆ มีโอกาสเกิดการรั่วหรือชำรุดได้มาก
- การเลี้ยงกุ้งแบบคอนโด
“เลี้ยงแบบ Condo Box” การเลี้ยงแบบคอนโดเหมาะสำหรับผู้ที่มีพื้นที่เลี้ยงจำกัด กล่องเลี้ยงแบบคอนโดสามารถประดิษฐ์จากวัสดุเหลือใช้ที่หาได้ทั่วไป เช่น ขวดน้ำ ฟิวเจอร์บอร์ด กล่องเครื่องมือ ลิ้นชักใส่ของฯลฯ ควรมีการทำระบบน้ำวน ระบบกรอง สามารถศึกษาจากหลายๆ ตัวอย่าง หรือดัดแปลงได้เองตามความรู้ ความเหมาะสม
การเลี้ยงแบบคอนโดมีโอกาสรอดสูง หากแยกเลี้ยงเดี่ยว หรือเลี้ยงเป็นคู่ ลดโอกาสการกินกันเอง หลังการลอกคราบได้สูง สามารถกะปริมาณอาหารที่ให้ได้ต่อมื้ออย่างเหมาะสม น้ำเน่าเสียช้า หากมีระบบกรอง และน้ำไหลวนถูกต้อง
ข้อเสีย จำนวนช่องเลี้ยงมีจำกัด เมื่อเพาะเลี้ยงได้สักระยะ กุ้งมีจำนวนเพิ่มขึ้น ผู้เพาะเลี้ยงอาจต้องทำ Condo Box เพิ่มไม่จบไม่ลิ้น การใช้วัสดุทำระบบนํ้าค่อนข้างจุกจิก อาจมีค่าใช้จ่ายสูงกว่า เมื่อเทียบกับการเลี้ยงด้วยบ่อสำเร็จรูปแบบอื่นๆ
แร่ธาตุที่จำเป็นสำหรับกุ้งก้ามแดง
ค่าความเป็นกรด เป็นด่าง ของน้ำที่เหมาะสม ควรอยู่ที่ 7.5-8.5 pH ดีที่สุด หากค่า pH ต่างจากนี้ให้ใช้เกลือแกง หรือปูน MgO ปรับค่าได้ครับ อุณหภูมิที่เหมาะสมที่สุดอยู่ที่ 22-30 องศาเซลเซียส บวกลบไม่ควรเกิน 3 องศา หากร้อนหรือเย็นมากเกินไปอาจทำให้กุ้งน็อคกะทันหัน และตายยกบ่อได้
กุ้งก้ามแดงจะอยู่พื้นที่ 10 ตัวต่อ 1 ตารางเมตร ควรมีพื้นที่เลี้ยงที่เหมาะสม หากเลี้ยงน้ำประปาควรเพิ่มแร่ธาตุลงไปด้วย เพราะน้ำประปาไม่มีแร่ธาตุใดๆ ที่กุ้งจะสามารถดึงมาใช้เพื่อพัฒนาการเจริญเติบโต หรือลอกคราบได้ กุ้งจะโตช้า ไม่แข็งแรง เปลือกกรอบ ตัวหลวม
แมกนีเซียม (Mg+2) เนื่องจากมีความสัมพันธ์กันโดยตรงกับค่าอัลคาไลนิตี้ จึงไม่น่าแปลกใจที่เราจะให้ความสำคัญเป็นอันดับหนึ่งกับธาตุแมกนีเซียม เพราะแมกนีเซียมทำหน้าที่ในการรักษาระดับอัลคาไลน์ให้คงที่ ทำให้กุ้งลอกคราบ และทำให้ค่าต่างๆ เปลี่ยนแปลงน้อยที่สุด และรักษาความสมดุลของน้ำ ซึ่งกุ้งจะดำรงชีวิตอยู่ในธรรมชาติได้นั้นต้องอาศัยความสมดุลหรือสภาวะที่สมดุลของธาตุต่างๆ
แคลเซียม (Ca+2) กุ้งจะใช้แคลเซียมควบคู่กับฟอสฟอรัส ในอัตราส่วน 1 : 1 จึงจะมีประสิทธิภาพสูงสุด แคลเซียมจะถูกดูดซึมเข้าสู่เนื้อเยื่อได้ดีกว่าฟอสฟอรัส การดูดซึมของแคลเซียมจะเกิดได้ดีและมากขึ้น เมื่อมีวิตามินดีอยู่ด้วย ตามปกติแคลเซียมจะสะสมที่ตับและตับอ่อน ในรูปของเกลือ แคลเซียม และฟอสเฟต เป็นองค์ประกอบของโครงสร้างภายนอกของกุ้ง เมื่อขาดแคลเซียมจะส่งผลให้กุ้งเปลือกบางนิ่ม เปลือก แข็งช้า หลังจากลอกคราบ
โซเดียม (Na+) และโปแตสซียม (K+) โซเดียมเป็นธาตุที่เป็นองค์ประกอบในร่างกายของกุ้ง โดยจะเป็นองค์ประกอบของกล้ามเนื้อ 90% และโซเดียมที่เป็นส่วนเกิน กุ้งจะขับออกมาพร้อมกับขี้กุ้ง
ความสำคัญของโซเดียมและโปแตสเซียม
-ควบคุมและรักษาสมดุลแร่ธาตุภายในร่างกายกับสิ่งแวดล้อมภายนอกให้สมดุลอยู่ตลอดเวลา
-รักษาสภาวะความเป็น กรด-ด่าง ของร่างกายให้สมดุลอยู่เสมอ
ผลของการขาดโซเดียมและโปแตสเซียม กุ้งเบื่ออาหาร โตช้า สูญเสียน้ำหนักตัว การใช้ประโยชน์จากโปรตีนน้อยลง เนื่องจากโซเดียมเป็นตัวกระตุ้นการทำงาน หรือโคเอนไซม์ ของเอนไซม์โปรติเอส (น้ำย่อยโปรตีน) หากขาดโซเดียมจะทำให้การย่อยโปรตีนต่ำลง เลือดเป็นกรด
คลอไรด์ (CI-) กรณีที่เลี้ยงในนํ้าจืดจะส่งผลโดยตรงต่อการย่อยอาหารของกุ้ง โดยเฉพาะการย่อยอาหารกลุ่มคาร์โบไฮเดรต ความสำคัญของคลอไรด์เมื่ออยู่ในเลือดจะรักษาระดับความเป็น กรด-ด่าง ของเอนไซม์ ควบคุมการเข้า-ออกของสารละลายระหว่างร่างกายกับสิ่งแวดล้อม และน้ำภายในเซลล์ กระตุ้นการทำงานของเอนไซม์อะไมเลสให้ทำงานอย่างเป็นปกติ
การเลี้ยงกุ้งในพื้นที่น้ำจืด การเลี้ยงแบบหนาแน่น จะส่งผลให้กุ้งขาดแร่ธาตุ และส่งผลให้กุ้งใช้สารอาหารกลุ่มคาร์โบไฮเดรตได้ไม่เต็มที่ และนี่ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ส่งผลให้กุ้งสูญเสียน้ำหนัก เปลือกนิ่ม ตัวหลวม
แนวทางการเลี้ยงกุ้งก้ามแดง
บ่อที่ 1 บ่อผสมพ่อ-แม่พันธุ์ บ่อผสมพ่อแม่พันธุ์ให้ปล่อยรวมกัน ในอัตรา 1 ต่อ 2 คือ ผู้ 1 เมีย 2 ครับ จะดีที่สุด
การสังเกตว่ากุ้งได้รับการผสมพันธุ์ดูได้ไม่ยาก เมื่อกุ้งมีการผสมพันธุ์กัน ตัวผู้จะฝากอสุจิไว้ที่หน้าอวัยวะสืบพันธุ์ตัวเมียจะเป็นน้ำสีขาว หลังจากนั้นตัวเมียจะเริ่มขับไข่ผ่านอสุจิจากทางอวัยวะสืบพันธุ์ ใช้เวลา 2-3 วัน ตัวเมียที่อุ้มไข่จะใช้หางห่อไข่ไว้เพื่อป้องกันอันตราย และเดินขาโก่งผิดปกติ ก็เพื่อไม่ให้ไข่ลากพื้น จะทำให้ไข่เสียหาย หรือหลุดออกไปนั่นเอง
บ่ออนุบาล เมื่อเราได้แม่ไข่แล้ว ผ่านไป 3 สัปดาห์ ให้เราแยกแม่ไข่มาลงไว้ที่บ่ออนุบาลจนกว่ากุ้งจะลงเดิน แล้วเราจึงจับแม่กลับไปบ่อผสมเช่นเดิมครับ กุ้งลงเดินจะมีขนาดประมาณ 0.5-1 เซนติเมตร ให้เราอนุบาลให้อาหารสำหรับกุ้งลงเดินเป็นชนิดป่นตามปกติ จนลูกกุ้งมีขนาด 2 เซนติเมตร ถึง 1 นิ้ว เราจึงจับไปไว้บ่อเลี้ยงรวมหมายเลข 1
บ่อหมายเลข 1 คือ บ่อเลี้ยงกุ้งชุดแรก หากต้องการจำนวน 50 กก. ก็ตกประมาณ 1,000 ตัว ที่เราต้องส่งอีก 4-5 เดือนข้างหน้า เราควรปล่อยลูกกุ้งให้เกิน 1,000 ตัว เพื่อป้องกันการตาย และกินกันเอง แนะนำให้ใส่ไปสัก 1,300 ตัว เมื่อเราลงกุ้งบ่อหมายเลข 1 แล้วเราต้องมีบ่อหมายเลข 2-3-4-5 เพื่อทำการเพาะเลี้ยงให้ได้กุ้งในงวดเดือนถัดไป หลังจากเราจับกุ้งบ่อหมายเลข 1 ส่งขายแล้วนั่นเอง
บ่อหมายเลข 2-3-4 และ 5 ให้เราทำตามขั้นตอนเดิม วนเป็นวงจรแบบนี้ เราก็จะมีกุ้งส่งได้อย่างสม่ำเสมอ แนะนำให้ทำเผื่อไว้ถึงบ่อหมายเลข 6-7 เลยก็ดี ป้องกันขาดเหลือ ความจริงมีเท่าไหร่เค้าก็รับซื้อหมด นั่นคือกำไร หากเราประสานได้หลายๆ แห่ง ก็เพิ่มจำนวนบ่อเข้าไปบริหารจัดการให้ลงตัว อาจพบปัญหาหากเดือนไหนลูกพันธุ์ไม่พอถึง 1,300 ตัว ก็หาซื้อมาเติมให้ครบ ราคาสมาพันธ์ กุ้งลงเดินจะอยู่ที่ 4 บาทต่อตัว เพื่อให้สามารถนำไปขุนทำกุ้งเนื้อได้
ด้านตลาดและช่องทางจำหน่ายกุ้งก้ามแดง
ทางฟาร์มผลิตลูกพันธุ์ได้เดือนละ 3-5 พันตัว จากพ่อ-แม่พันธุ์ประมาณ 40 คู่ มีทั้งสายพันธุ์ไทย ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย สลับกันให้ไข่ตลอด และก็ทดลองเลี้ยงในระบบเวียนนี้ 6 บ่อ ก็ได้ผลเป็นที่ใกล้เคียง กับไอเดียที่คิดไว้
แต่เนื่องจากตลาดส่งลูกพันธุ์และพ่อแม่พันธุ์ยังไปได้อยู่ และกำไรก็มากกว่าตลาดส่งบริโภคเนื้อหลายเท่า จึงกระจายแบ่งไปขายให้ผู้ที่สนใจเพาะเลี้ยงไปก่อน คาดว่าในปีนี้จะเริ่มทดลองส่งตลาดบริโภคซักแห่งครับ ซึ่งสามารถทำได้ไม่ยาก กำไรอาจน้อยลง แต่รายได้เข้ามาแบบยั่งยืนและสม่ำเสมอกว่าเดิม และความต้องการของตลาดมีสูงมาก เราทำเพียงแห่งเดียวอาจไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาดในประเทศไทย
จึงอยากเชิญชวนผู้ที่สนใจเข้ามาศึกษาและเป็นคู่ค้ากัน ช่วยกันเลี้ยง ช่วยกันขาย กำลังซื้อมี 100% แต่ผลผลิตในบ้านเรามีเพียง 10% เท่านั้นเอง
กุ้งก้ามแดง หรือกุ้ง Lobster น้ำจืดนั้น เป็นกุ้งที่ชาวต่างชาตินิยมบริโภคมาช้านาน รวมถึงร้านอาหาร ภัตตาคาร โรงแรมต่างๆ ในประเทศไทยมีเมนูจากกุ้งก้ามแดง แต่จะเป็นการนำเข้าจากต่างประเทศทั้งสิ้น และมีราคาค่อนข้างแพง ชาวไทยน้อยคนมากที่จะรู้จักกับกุ้งชนิดนี้ และเคยได้ลิ้มลองรสชาติของกุ้งก้ามแดง ณ ปัจจุบันราคาส่งของกุ้งก้ามแดงเพื่อบริโภค
สนใจศึกษา ทดลองเลี้ยง หรือสมัครเป็นลูกบ่อได้ที่ “จ่าน้องฟาร์ม” จ่าเอกสุเมธ ฟูเฟื่อง โทร : 083-625-5115 51 หมู่ 16 ต.ห้วยขวาง อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม 73140