ปลาดุกถือว่าเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจอีกชนิดที่มีความสำคัญต่อตลาดการค้าปลา ถึงแม้ราคาจะขึ้นและลง จนบางครั้งเกษตรกรบางรายรับไม่ได้ และเลิกเลี้ยงไป แต่จะมีเกษตรกรสักกี่รายที่ยืนหยัดเลี้ยงปลาดุก ไม่ว่าราคาจะขึ้นหรือลง และเนื่องด้วยในปีนี้น้ำแล้งมากนัก ทำให้เกษตรกรไม่มีน้ำที่จะเลี้ยงปลาเหมือนทุกปี ร่วมกับช่วงที่ผ่านมาปลาราคาถูก ทำให้เกษตรกรหันไปเลี้ยงปลาชนิดอื่น
แต่วันนี้ทีมงานได้พบกับ คุณประภา เผือกจีน หรือเจ๊ภา ผู้เลี้ยงปลาดุก รายใหญ่ ย่านตำบลเกรียงไกร อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ เลี้ยงปลาดุกบิ๊กอุยมานานกว่า 30 ปี ที่สามารถเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาสได้ ด้วยพื้นที่ต่ำ ในช่วงฤดูน้ำหลากที่หลายฟาร์มสามารถเลี้ยงได้ แต่เจ๊ภากลับไม่สามารถเลี้ยงได้
หากเลี้ยงไปก็เสี่ยงที่จะเกิดความเสียหาย แต่หากในช่วงฤดูแล้งที่ทุกพื้นที่ไม่มีน้ำเลี้ยง ทำให้เจ๊ภาสามารถเลี้ยงได้อย่างไม่มีปัญหา และยังสามารถขายปลาดุกได้ในราคาที่สูงอีกด้วย
![2.บ่อเลี้ยงปลาดุก](https://www.palangkaset.com/wp-content/uploads/2018/11/2.บ่อเลี้ยงปลาดุก.jpg)
สภาพพื้นที่เลี้ยงปลาดุก
เดิมนั้นเจ๊ภาประกอบอาชีพเกษตรกรรมปลูกผักขาย แต่เมื่อรัฐบาลเริ่มมีการเพาะพันธุ์ปลาออกมาเพื่อเลี้ยง จึงได้สนใจและหันไปประกอบอาชีพเลี้ยงปลาแทนอาชีพเดิม ในช่วงแรกก็เลี้ยงตามภาษาชาวบ้าน ไม่มีการกู้เงินมาลงทุนแต่อย่างใด เพราะพื้นที่น้ำสามารถท่วมถึงได้ จึงไม่กล้าตัดสินใจลงทุนมาก
และได้เลี้ยงมาเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบัน แต่ก็มีปันใจไปเลี้ยงปลาแรดบ้าง แต่เมื่อน้ำท่วมพื้นที่ทำให้เกิดความเสียหาย และไม่เลี้ยงอีกเลย หลังจากนั้นไม่มีการปันใจไปเลี้ยงปลาเศรษฐกิจตัวอื่นเลย
พื้นที่เลี้ยงปลาดุกของเจ๊ภามี 20 กว่าไร่ ซึ่งมีขนาดบ่อที่ไม่เท่ากัน เนื่องด้วยอดีตเคยรับลูกปลามาชำขายให้เกษตรกรในบริเวณนั้น ทำให้มีขนาดบ่อที่แตกต่างกันออกไป น้ำที่ใช้สำหรับเลี้ยงจะเป็นน้ำจากหนองน้ำในบริเวณใกล้เคียงที่ใช้เลี้ยงปลา แล้วปล่อยทิ้งออกมา ซึ่งจะมีน้ำตลอดทั้งปี
เจ๊ภาเล่าต่อว่าน้ำหนองสามารถใช้เลี้ยงปลาดุกได้ เนื่องจากปลาดุกเลี้ยงได้ง่ายกว่าปลาชนิดอื่น ไม่จำเป็นต้องเพิ่มออกซิเจนในน้ำ และใช้ระยะเวลาในการเลี้ยงสั้น พื้นที่นี้ไม่สามารถเลี้ยงปลาที่ใช้ระยะเวลาถึง 8 เดือน ได้ สาเหตุเกิดจากสภาพทางภูมิศาสตร์ที่ไม่เหมาะสมต่อการเลี้ยงปลาในช่วงฤดูน้ำหลาก
และด้วยสาเหตุนี้นี่เองที่ทำให้อยู่คู่วงการปลาดุกนานกว่า 30 ปี และก็สามารถพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสทองได้ หากแต่ช่วงเดือนสิงหาคมของทุกปีเป็นต้นไปจะหยุดลงปลา หรือลงปลาน้อยลง
การเลี้ยงปลาดุกไม่จำเป็นต้องใช้เนื้อที่มากเท่าปลาเศรษฐกิจชนิดอื่น ซึ่งอัตราการปล่อย ไม่ว่าจะหนาแน่น หรือบาง แต่มีน้ำเติมได้บ้าง ก็สามารถอาศัยอยู่รวมกันได้ แต่ที่นี่มักจะไม่ค่อยเปลี่ยนถ่ายน้ำ เนื่องด้วยระยะเวลาเลี้ยงสั้น ไม่เกิน 2 เดือน เท่านั้น น้ำยังไม่ทันเน่าก็ได้จับขายได้แล้ว และเมื่อจับขายไปแล้วสามารถนำปลาดุกชุดใหม่มาลงได้เลย แต่ปัญหาที่พบจะพบปัญหาในบ่อที่น้ำสามารถซึมออกไปได้ ซึ่งแก้ไขได้โดยเติมน้ำเข้าไปใหม่แทน
![3.การจับปลาดุก](https://www.palangkaset.com/wp-content/uploads/2018/11/3.การจับปลาดุก.jpg)
วิธีเลี้ยงปลาดุก และ การจับปลาดุก
โดยส่วนมากแล้วเกษตรกรรายอื่นๆ เลือกที่จะรับลูกปลาตุ้มมาอนุบาลแล้วถึงปล่อยลงเลี้ยงในบ่อ แต่วิธีการนี้จะใช้ระยะเวลาที่นาน และไม่สามารถทำรอบการเลี้ยงได้ เนื่องจากใช้ระยะเวลาการเลี้ยงกว่า 5 เดือน ถึงจะสามารถจับผลผลิตไปขายได้
เจ๊ภาจึงตัดสินใจรับ “ปลากิโล” มาเลี้ยงต่อให้โต เพราะใช้ระยะเวลาที่สั้นกว่า ใช้ระยะเวลาการเลี้ยงแค่ 2 เดือน ซึ่งทำรอบได้มากกว่า และได้ขนาด 3-4 ตัวต่อกิโลกรัม แต่ราคาขึ้นอยู่กับตลาดกลาง มีราคาที่ขึ้น-ลงเสมอ และผลผลิตที่ได้ยังได้ปลาขนาดใหญ่ตามที่ตลาดต้องการ เพียงแค่ต้นทุนการเลี้ยงสูงขึ้นเท่านั้น
แพที่รับจับปลาดุกมีอยู่มากทั่วไปตามพื้นที่ทำการประมงเชิงเพาะเลี้ยง แต่ในช่วงหลังนั้นเจอปัญหาที่ว่าแพมารับซื้ออย่างเดียว แต่ไม่มีคนจับ ทำให้เราต้องหาคนจับเพิ่มขึ้นมา ซึ่งเป็นต้นทุนแฝงขึ้นมาอีก
ซึ่งราคาที่ได้รับในปัจจุบันนั้นเป็นที่น่าพอใจสำหรับเกษตรกรอยู่ที่ประมาณ 50 กว่าบาท เพราะต้นทุนในการเลี้ยงอยู่ที่ประมาณ 45 บาท แล้ว ส่วนมากจะหนักไปทางค่าอาหาร ซึ่งมีราคาที่สูงขึ้นมากตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา และค่าจ้างจับปลา
การตากบ่อ หรือการดันบ่อ ถือว่ามีความสำคัญต่อการเลี้ยงอีกเช่นกัน เมื่อตากบ่อให้แห้งแตกระแหงก็จะไม่ต้องดันบ่ออีก เนื่องด้วยดินในบริเวณนี้เป็นดินเหนียว ในจุดนี้เองที่เป็นวิธีที่สามารถลดต้นทุนได้อีก
![4.อาหารของ-ป.เจริญพันธ์](https://www.palangkaset.com/wp-content/uploads/2018/11/4.อาหารของ-ป.เจริญพันธ์.jpg)
การให้อาหารปลาดุก
เกษตรกรทุกรายคงรู้กันดีอยู่แล้วว่าอาหารปลาถือเป็นต้นทุนหลักที่สำคัญในยามเศรษฐกิจแบบนี้ หากอาหารที่เลือกใช้มีคุณภาพมากพอ ก็สามารถเพิ่มกำไรให้กับการเลี้ยงได้ แต่หากไม่มีคุณภาพมากพอ ก็จะทำให้เป็นปัญหาในเรื่องของต้นทุนและกำไร รวมถึงความแข็งแรงของปลา
และสาเหตุที่เลือก ป.เจริญพันธ์ เพราะว่าอาหารมีคุณภาพที่นิ่ง ทำให้ตัวปลาออกสีเหลืองตามที่ตลาดต้องการ อัตราแลกเนื้ออย่างต่ำอยู่ที่ 14 กิโลกรัมต่ออาหาร 1 กระสอบ ไม่ใช่อาหารบางบริษัทที่เคยใช้มาเหลือ 12 กิโลกรัมต่ออาหาร 1 กระสอบ ทำให้ทุนจม กำไรหาย และอีกสาเหตุที่เลือก ป.เจริญพันธ์ เพราะมีการบริการที่ดี คุยกันง่าย ไม่ว่าจะมีปัญหาอะไรจะคอยช่วยเหลือตลอด
![5.ผลิตภัณฑ์ไดมีโดน](https://www.palangkaset.com/wp-content/uploads/2018/11/5.ผลิตภัณฑ์ไดมีโดน.jpg)
ปัญหาและอุปสรรคในการเลี้ยงปลาดุก
โรคของปลาดุกไม่ค่อยพบ พบแต่ปัญหาปลาช้ำ หากรับปลากิโลที่ผ่านการร่อนไซส์มาเลี้ยงต่อ และเมื่อกินอาหารเข้าไปก็จะไม่ย่อย และปัญหาอีกอย่างที่พบ คือ ตับช้ำ เป็นสาเหตุให้ปลามีอาการท้องอืดตาย วิธีแก้ไขปัญหา คือ จะใช้ไดมีโดนผสมกับอาหารให้ปลากิน และทำให้ปลาท้องอืดหายจากอาการป่วย
![6.ผลผลิตปลาดุกพร้อมส่งลูกค้า](https://www.palangkaset.com/wp-content/uploads/2018/11/6.ผลผลิตปลาดุกพร้อมส่งลูกค้า.jpg)
ด้านตลาดผลผลิตปลาดุก
หากมองถึงสภาพพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ของเจ๊ภาที่ใช้เลี้ยงปลาดุกแล้วถือว่าได้เปรียบอย่างมาก ถึงแม้จะเป็นพื้นที่ต่ำ เพราะว่าในการทำฟาร์มปลา หรือฟาร์มของสัตว์น้ำทุกชนิด หากสามารถเพาะเลี้ยงได้ในช่วงที่ไม่ใช่ฤดูกาลสามารถทำกำไรให้ผู้ประกอบการได้อย่างมาก
จากมูลค่าที่สูงขึ้นของสัตว์น้ำชนิดนั้นๆ บางครั้งเมื่อคิดเป็นรอบปีแล้วอาจจะให้กำไรได้มากกว่าช่วงฤดูกาลที่คนเลี้ยงมาก และผลผลิตออกมาชนกัน เกิดสภาวะปลาล้นตลาด ทำให้ปลาราคาถูก ถือเป็นแง่คิดดีๆ อีกอย่างสำหรับเกษตรกรที่ท้อถอย หรือหมดกำลังใจ แต่ทั้งหมดนี้ก็ต้องดูถึงสภาพแวดล้อมที่เป็นอยู่อีกครั้ง
แต่ในครั้งนี้ทีมงานนิตยสารสัตว์น้ำขอขอบคุณ เจ๊ภา ที่สละเวลาให้ทีมงานได้เยี่ยมชมและนำข้อมูลมาเผยแพร่ วิธีเลี้ยงปลาดุก หากเกษตรกรรายใดสนใจ หรืออยากสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ เจ๊ภา 66/2 หมู่ 10 ตำบลเกรียงไกร อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ 60000 เลี้ยงปลาดุก