เลี้ยง สายพันธุ์กบ “กบลูกผสม” 40 วัน กำไร กว่า 40% มีตลาดรองรับซื้อกลับ

โฆษณา
AP Chemical Thailand

ทีมงานนิตยสารสัตว์น้ำได้มีโอกาสเข้าไปพูดคุยกับ คุณวาสนา ดอนเมือง เกษตรกรในจังหวัดกาฬสินธุ์ ผู้มีแนวคิดริเริ่มในการประกอบอาชีพเลี้ยงกบแบบครบวงจร ส่งเสริมลูกบ่อและรับซื้อกลับตามราคาตลาด ภายใต้ชื่อ “วาสนาฟาร์มกบ” ซึ่งเป็นฟาร์มที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากกรมประมง และได้รับการตรวจสอบคุณภาพอย่างต่อเนื่อง

ทำให้ได้รับความเชื่อถือ และมีลูกค้าให้ความสนใจจากทั่วภูมิภาคของประเทศ แต่กว่าจะสามารถประสบความสำเร็จถึงทุกวันนี้ได้ คุณวาสนาต้องผ่านบททดสอบและอุปสรรคต่างๆ มากมาย เหมือนกับผู้ประกอบการหลายๆ ราย

1.คุณวาสนา-ดอนเมือง-เกษตรกรเลี้ยงกบ
1.คุณวาสนา-ดอนเมือง-เกษตรกรเลี้ยงกบ
2.บ่อเลี้ยงกบ
2.บ่อเลี้ยงกบ

สภาพพื้นที่เลี้ยงกบ

โดยต้องกล่าวย้อนกลับไปเมื่อ 9 ปีที่แล้ว คุณวาสนาได้เริ่มต้นประกอบอาชีพการเลี้ยงปลาดุก แต่ต้องพบกับปัญหาในเรื่องของระบบโครงการที่มีการเอาเปรียบเกษตรกรจากผู้ประกอบการรายใหญ่ จึงทำให้ต้องขาดทุนไปไม่ต่ำกว่า 1 ล้านบาท หลังจากล้มได้ไม่นานคุณวาสนาก็สามารถลุกขึ้นมาได้ใหม่ ด้วยการประกอบธุรกิจฟาร์มกบ เพราะในระหว่างที่เคยเลี้ยงปลาดุก คุณวาสนาได้เคยเลี้ยงกบควบคู่กันไปด้วย จึงเป็นสาเหตุให้ประกอบอาชีพเลี้ยงกบมาจนถึงปัจจุบัน

ด้วยความที่มีตลาดซื้อขายสัตว์น้ำเองอยู่แล้วตั้งแต่เธอเลี้ยงปลาดุก ทำให้เกษตรกรในบริเวณนี้จึงมีความเชื่อมั่น และเข้ามาเป็นลูกบ่อกับวาสนาฟาร์มกบเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนมีผลผลิตเข้าสู่ตลาดวันละ 2 ตัน อีกทั้งยังมีพ่อค้าและแม่ค้าจากกรุงเทพฯหลายๆ รายเข้ามารับซื้อกบที่ฟาร์มอย่างต่อเนื่อง ซึ่งถือได้ว่าฟาร์มแห่งนี้เป็นผู้ค้ารายใหญ่ในเขตภาคอีสานเลยทีเดียว

3.สายพันธุ์กบ
3.สายพันธุ์กบ

สายพันธุ์กบ

พ่อแม่พันธุ์ของทางฟาร์มจะนำมาจาก บริษัท ป.เจริญพาณิช จำกัด จังหวัดชลบุรี โดยจะเป็นสายพันธุ์บลูฟล๊อค เพราะกบสายพันธุ์นี้มีลักษณะตัวที่ใหญ่ เนื้อเยอะ แต่ไม่ทนต่อโรคและสภาพแวดล้อม จึงทำให้ต้องนำกบนาของบ้านเรามาผสม เพราะจะทำให้สามารถทนต่อสภาพแวดล้อมได้ดีกว่าเดิม ซึ่งกบตัวผู้นั้นจะรับมาจากฟาร์มลูกค้าที่ จ.อุบลราชธานี

4.บ่อพ่อแม่พันธุ์กบ
4.บ่อพ่อแม่พันธุ์กบ

การเพาะพันธุ์กบ

การเพาะพันธุ์จะเริ่มเพาะพันธุ์ในช่วงเดือนมีนาคม-เดือนตุลาคม เพราะหากเพาะพันธุ์หลังจากนั้นจะได้ไข่ไม่มาก และไม่สมบูรณ์ เมื่อถึงช่วงฤดูหนาวทางฟาร์มก็จะหยุดเพาะพันธุ์ แล้วขายพ่อแม่พันธุ์ออกไป แต่ในขณะเดียวกันก็จะเลี้ยงกบเนื้อเพื่อรองรับกับความต้องการของตลาดอยู่

โฆษณา
AP Chemical Thailand

และในการเพาะนั้นจะต้องสังเกตดูว่ากบพร้อมที่จะผสมพันธุ์หรือไม่ โดยจะดูจากลักษณะภายนอก คือ ข้างลำตัวของตัวเมียจะมีลักษณะสาก ส่วนตัวผู้นั้นจะดูที่กล่องเสียงใต้คาง ถ้าจะมีลักษณะเป็นสีดำๆ แสดงว่ามีความพร้อมในการนำไปเพาะพันธุ์ได้แล้ว ซึ่งพ่อแม่พันธุ์ในแต่ละรอบที่รับมาประมาณ 3,000 ตัว เป็นเพศผู้ และเพศเมีย อย่างละครึ่ง

เริ่มต้นการเพาะพันธุ์จะใช้บ่อขนาดกว้าง 3 เมตร ยาว 4 เมตร ทั้งหมด 6 บ่อ โดยปล่อยตัวเมีย 30 ตัว ตัวผู้ 20 ตัว/บ่อ และใส่น้ำที่ระดับเพียง 5 เซนติเมตร เพราะจะทำให้อุณหภูมิของน้ำไม่ต่ำเกินไป และจะช่วยให้ไข่สามารถฟักได้ง่ายกว่า เมื่อนำพ่อแม่พันธุ์ใส่ในบ่อ และปล่อยให้กบจับคู่กันเองในช่วงตอนเย็น แล้วจะปล่อยไว้เพียง 1 คืน กบก็จะเริ่มฟักไข่ออกมาในตอนเช้า ซึ่งไข่ที่ได้จะอยู่ที่ประมาณ 50,000 ตัว/บ่อ รวมทั้งหมด 6 บ่อ จะได้ไข่อยู่ที่ 3 แสนฟอง

5.ลูกกบ
5.ลูกกบ

การฟักไข่

และเมื่อผ่านไปอีก 12 ชั่วโมง ไข่ก็จะเริ่มฟักออกมาเป็นตัว หลังจากผ่านไปได้ 3 วันแล้ว จะเริ่มให้อาหารฝุ่น โดยจะให้วันละ 2 เวลา เช้า-เย็น ทั้ง 6 บ่อ จะใช้อาหารอยู่ที่ประมาณครึ่งกิโลกรัม โดยจะให้เช่นนี้เป็นเวลา 10 วัน ระหว่างนั้นจะมีการเสริมไข่ตุ๋นเข้าไปด้วย เพื่อช่วยในเรื่องของความแข็งแรง ควบคู่กันไปกับอาหารเม็ด

เมื่อลูกอ๊อดอายุครบ 7 วัน จะนำลงบ่อดิน แล้วจึงจะเริ่มนำออกจำหน่ายให้กับเกษตรกร เป็นลูกอ๊อดที่ยังไม่มีแขน ขา มีแต่หาง ซึ่งขนาดจะอยู่ที่ 600 ตัว/กิโลกรัม ในราคากิโลกรัมละ 200 บาท

6.ใส่ผักบุ้งเพื่อเป็นร่มเงาให้กบ
6.ใส่ผักบุ้งเพื่อเป็นร่มเงาให้กบ

การอนุบาลลูกกบ

บ่อที่ใช้โดยปกติจะอยู่ที่ขนาด 1 งาน เพราะสามารถดูแลได้ง่ายกว่าบ่อใหญ่ๆ โดยจะปล่อยลูกกบลงไป 15 กิโลกรัม หรือประมาณ 72,000 ตัว ในบ่อจะใส่น้ำเพียงประมาณ 30 เซนติเมตร จะใส่ผักบุ้งลงไปเพื่อให้เป็นร่มเงา และเป็นที่ให้กบปีนขึ้นลง ซึ่งจะช่วยประหยัดต้นทุนแทนการใช้แผ่นยางรองเท้า

7.อาหารสำหรับกบ
7.อาหารสำหรับกบ

การให้อาหารกบ

เมื่อเริ่มนำกบลงบ่อดินแล้วจะเริ่มต้นโดยให้อาหารเม็ดขนาดเล็กผสมกับอาหารผง ประมาณ 3 วัน หลังจากนั้นจึงจะให้อาหารเม็ดขนาดเล็กเพียงอย่างเดียว และจะเพิ่มเบอร์ของอาหารตามขนาดตัวของกบไปจนถึงเบอร์ 2 เพราะหากเป็นอาหารเบอร์ที่สูงขึ้นไปจากนี้ เปอร์เซ็นต์โปรตีนที่กบได้รับจะน้อยลง เมื่อทำการเลี้ยงไปได้ประมาณ 1 เดือน 10 วัน จะได้ขนาดอยู่ที่ 10-15 ตัว ต่อกิโลกรัม และเมื่อเลี้ยงไปได้ถึง 2 เดือนครึ่ง จะได้กบอยู่ที่ขนาด 3-7 ตัว ต่อกิโลกรัม โดยขณะนี้ทางฟาร์มมีบ่ออยู่ทั้งหมด 8 บ่อ สำหรับชำลูกกบ และเลี้ยงกบเนื้อ ซึ่งโดยรวมแล้วจะได้ผลผลิตอยู่ที่ 3-5 ตัน/บ่อ

โฆษณา
AP Chemical Thailand
8.กบพร้อมจำหน่าย
8.กบพร้อมจำหน่าย

การจำหน่ายกบ

ลูกกบที่ทางวาสนาฟาร์มกบขายอยู่ในปัจจุบันนั้น จะมีทั้งลูกกบที่เป็นลูกอ๊อด ที่ขายอยู่ตัวละ 25 สตางค์ หรือกิโลกรัมละ 200 บาท หรือจะเป็นในส่วนของลูกกบที่มีแขน ขา ครบสมบูรณ์แล้ว จะขายอยู่ที่ราคาตัวละ 2 บาท ซึ่งในส่วนของการรับซื้อนั้นจะรับลูกบ่ออยู่ที่ 70 บาท ต่อกิโลกรัม แต่หากไม่ใช่ลูกบ่อ จะรับอยู่ที่ 60 บาท/กิโลกรัม คุณวาสนาอธิบายต่อไปว่า

กบที่ตลาดต้องการในขณะนี้จะเป็นกบที่มีสีออกไปทางสีดำ เพราะหากเป็นกบที่มีตัวสีเหลืองเกินไป ราคาจะตกทันทีเหลือเพียง 40 บาท/กิโลกรัม ส่วนของขนาดที่เป็นที่นิยมของผู้บริโภคจะเป็นกบขนาดเล็กมากกว่า จึงทำให้มีราคาที่สูงกว่ากบใหญ่ ซึ่งในส่วนของการรับซื้อ ทางฟาร์มจะมีรถออกไปรับซื้อกลับมา และมีบริการส่งลูกกบให้กับลูกค้าอีกด้วย ถ้ามียอดสั่งตั้งแต่ 500 กิโลกรัมขึ้นไป โดยจะมีรถให้บริการอยู่ 2 คัน ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่แล้วจะมีอยู่ทั่วทุกภาคของประเทศ

ฝากถึงเกษตรกรที่สนใจเลี้ยงกบ

คุณวาสนาแนะนำต่อไปว่า สำหรับผู้ที่สนใจจะมาประกอบอาชีพเลี้ยงกบ ต้นทุนที่ใช้สำหรับเริ่มต้นจะอยู่ที่ประมาณ 150,000 บาท โดยจะต้องลงทุนเป็นลูกอ๊อด 100,000 ตัว และที่เหลือจะเป็นค่าอาหาร ซึ่งการเลี้ยงจะใช้ระยะเวลาเพียง 1 เดือน 10 วัน หรือประมาณ 40 วัน จะสามารถทำกำไรได้ถึง 72,000 บาท

ตรงนี้เองถือว่าการเลี้ยงกบยังคงน่าลงทุน สำหรับเกษตรกรที่พบกับปัญหาขาดแคลนน้ำ ซึ่งการเริ่มต้นเกษตรกรที่มีความสนใจควรจะเตรียมบ่อ และกำจัดสัตว์รบกวน จำพวกปลาต่างๆ และล้อมตาข่ายรอบบ่อให้เรียบร้อย หลังจากนั้นจึงจะลงลูกกบได้ทันที สายพันธุ์กบ สายพันธุ์กบ สายพันธุ์กบ สายพันธุ์กบ

หากเกษตรกรท่านใดมีความสนใจ หรือต้องการความรู้ในเรื่องของการเลี้ยง และเทคนิคต่างๆ จากคุณวาสนา สามารถติดต่อได้โดยตรงที่ วาสนาฟาร์มกบ บ้านโปโล ม.13 ต.กมลาไส อ.กมลไสย จ.กาฬสินธุ์ 46130 หรือเบอร์โทรศัพท์ 080-665-7669, 084-533-1347 สายพันธุ์กบ สายพันธุ์กบ สายพันธุ์กบ สายพันธุ์กบ สายพันธุ์กบ