การทำเกษตรแบบผสมผสานเป็นการทำการเกษตรหลายอย่าง ทั้งปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ ไปพร้อมๆ กัน ในพื้นที่เดียวกัน และช่วยลดความเสี่ยงเมื่อได้รับผลกระทบจากอย่างใดอย่างหนึ่ง นิตยสารสัตว์บกฉบับนี้พามารู้จักกับ คุณอาคม ขวัญแก้ว หรือ “ อาคมฟาร์ม ” ที่มีการจัดสรรพื้นที่ทำการเกษตรแบบผสมผสาน และดัดแปลงสิ่งที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์ต่อไป
การทำเกษตรผสมผสาน
อาคมฟาร์มเริ่มต้นทำธุรกิจด้านปศุสัตว์ จากการเลี้ยงโคขุนเริ่มเลี้ยงมาตั้งแต่รุ่น คุณพ่อ คุณแม่ และต่อมาได้เปลี่ยนมาเป็นเลี้ยงโคต้นน้ำหรือเลี้ยงโคแม่พันธุ์เพื่อผลิตลูกขาย จากโคเนื้อสายพันธุ์พื้นเมือง ได้มีการปรับปรุงสายพันธุ์เองมาเรื่อยๆ จนได้เป็นโคสายลูกผสมเลือดไม่สูงประมาณ 60% เพื่อให้เหมาะกับสภาพภูมิอากาศประเทศไทย
หลังจากเลี้ยงโคเนื้อไปได้ 2 ปี คุณอาคมได้เริ่มลงทุนเลี้ยงสุกรแม่พันธุ์กับทาง บริษัท เบทาโกร จำกัด เมื่อเลี้ยงไปได้ประมาณ 2 ปีกว่า มีปัญหาเรื่องสุขภาพ และไม่มีใครช่วยดูแลจัดการฟาร์มจึงต้องหยุดพักไป เมื่อสุขภาพดีขึ้นคุณอาคมจึงได้หันมาเลี้ยงไก่เนื้อแบบคอนแทรคฟาร์มมิ่งในโรงเรือนอีแวป
ได้ดัดแปลงโรงเรือนเลี้ยงไก่เนื้อมาจากโรงเรือนสุกรที่มีอยู่ขนาดกว้าง 15 x ยาว 76 เมตร และเลี้ยงกับ บริษัท ลูกปลาฟาร์ม จำกัด เป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการจัดจำหน่าย ไก่เนื้อ ไก่สด ชิ้นส่วนไก่แช่แข็ง และอื่นๆ บริษัทได้จัดตั้งมาอย่างยาวนาน เป็นบริษัทที่ได้รับมาตรฐานการส่งออก ตั้งอยู่ที่ 438 หมู่ 1 ตำบลกำแพงเพชร อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา
บริษัทอื่นๆ ในเครือลูกปลาฟาร์ม ได้แก่ บริษัท LPF CONTRACFARM บริษัท LPF MEAT FROZEN ดำเนินธุรกิจด้านการชำแหละและแปรรูปผลิตภัณฑ์จากเนื้อไก่ และจัดจำหน่ายไก่สด ไก่เนื้อ ชิ้นส่วนไก่สด-แช่แข็ง และ บริษัท FROZEN MEATBARN เป็นบริษัทจัดจำหน่าย ทั้งไก่เป็น ไก่สด ไก่แช่แข็ง ชิ้นส่วนไก่แช่แข็ง และอื่นๆ เป็นศูนย์กระจายสินค้าไก่ และเปิดขายเป็นหน้าร้าน
สภาพพื้นที่เลี้ยงไก่เนื้อ
จากโรงเรือนสุกรแม่พันธุ์ ดัดแปลงเลี้ยงไก่เนื้อได้ 1 หมื่นตัว ปัจจุบันเลี้ยงมาได้ 5 รุ่น ในแต่ละรุ่นจะใช้ระยะเวลาเลี้ยงประมาณ 33-35วัน โดยใช้วิธีทยอยจับ เพื่อให้ได้น้ำหนักตามเกณฑ์ คือ 2-2.5 กิโลกรัม ถ้าตัวไหนน้ำหนักยังไม่ถึงจะเลี้ยงต่อไปอีกประมาณ 2-3 วัน
เมื่อจับครบหมดทั้งโรงเรือนจะทำการพักเล้า 20 วัน เพื่อตัดวงจรเชื้อโรคไม่ให้สะสมในโรงเรือนโดยเริ่มจากการนำวัสดุรองพื้นเก่า (มูลไก่ผสมแกลบ) ออกจากโรงเรือน ทำความสะอาดฆ่าเชื้อโรคภายในและภายนอกโรงเรือน อุปกรณ์ต่างๆ หลังจากนั้นจะจัดเตรียมวัสดุรองพื้นใหม่ เตรียมอุปกรณ์ให้พร้อมสำหรับการลงใหม่ไก่เนื้อชุดต่อไป
ลูกไก่ที่ทางบริษัทส่งมาให้เลี้ยงจะมีอายุ 1 วัน เมื่อมาถึงทางฟาร์มจะทำการกกประมาณ 7 วัน หรือมากกว่านั้นขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ และจะแบ่งพื้นที่ในโรงเรือนโดยใช้แผงกั้น เมื่อลูกไก่อายุมากกว่า 7 วัน จะขยายแผงกั้นออก เมื่อไก่อายุ 14 วัน จะปล่อยเต็มพื้นที่โรงเรือน
การบริหารจัดการฟาร์มไก่เนื้อ
ในระหว่างการเลี้ยงหากมีปัญหาทางลูกปลาฟาร์มจะมีสัตวแพทย์ หรือสัตวบาล มาคอยให้คำปรึกษาแนะนำอยู่ตลอด อาหารที่ทางลูกปลาฟาร์มใช้จะเป็นอาหารไก่เนื้อของเบทาโกรฯ จะมีสูตรที่แตกต่างที่เหมาะสำหรับไก่เนื้อในแต่ละระยะ
ทางอาคมฟาร์มจะให้อาหารวันละ 2 เวลา เช้า-เย็น และเนื่องจากคุณอาคมเป็นคนจัดการฟาร์มเอง จึงใส่ใจในการดูแล จะเดินดูสุขภาพไก่วันละ 4-5 รอบ
เมื่อถามถึงปัญหาด้านสภาพอากาศ คุณอาคมได้เผยว่า “แม้จะเลี้ยงในโรงเรือนอีแวป แต่ช่วงนี้อากาศค่อนข้างร้อน ก็ต้องดูแลอุณหภูมิในโรงเรือนเป็นพิเศษ เพราะอุณหภูมิข้างในบางทีก็ร้อนเกินไป ทำให้ไก่หอบ ไม่ค่อยกินอาหาร และจะส่งผลให้เจริญเติบโตได้ไม่ดี ต้องคอยตรวจดูสุขภาพไก่ และปรับแรงลมให้เหมาะสม”
เนื่องจากคุณอาคมเคยเลี้ยงสุกรแม่พันธุ์ และเลี้ยงไก่เนื้อ เมื่อถามถึงความแตกต่างระหว่าง 2 อย่างนี้ คุณอาคมได้ให้ความเห็นว่า หากมาเปรียบเทียบกันแล้วตอนนั้นเลี้ยงเป็นสุกรแม่พันธุ์ผลตอบแทนถือว่าดี แต่ในการจัดการมีความละเอียด ต้องดูแลจัดการแม่พันธุ์ เรื่องการผสม การดูแลลูกสุกรหลังคลอด ซึ่งการจัดการจะเยอะกว่าไก่เนื้อ
“แต่สำหรับการเริ่มมาเลี้ยงไก่เนื้อในครั้งแรกก็ไม่ได้ง่าย เพราะยังไม่มีประสบการณ์ ต้องคอยสอบถามหมอประจำฟาร์ม และเพื่อนบ้านที่เคยเลี้ยง เลี้ยงไปศึกษาไปนำมาปรับปรุงในรุ่นต่อๆไป การเริ่มเลี้ยงครั้งแรกก็ถือว่ายากอยู่เหมือนกัน” คุณอาคมให้ความเห็นเพิ่มเติม
จุดเริ่มต้นการทำเกษตรผสมผสาน
นอกจากธุรกิจด้านปศุสัตว์แล้ว คุณอาคมยังทำด้านการเกษตรโดยการปลูกมะพร้าว กล้วย และพืชสวนอื่นๆ อีกมากมาย เป็นการจัดสรรพื้นที่ๆ มีให้เกิดประโยชน์ด้วยการทำเกษตรแบบผสมผสาน เพื่อให้มีรายได้จากหลายช่องทาง และช่วยลดความเสี่ยงเมื่อได้รับผลกระทบจากอย่างใดอย่างหนึ่ง
และนอกจากบทบาทอาชีพเกษตรกรแล้ว คุณอาคมยังเป็นประธานกลุ่มโคเนื้อ โคขุน ของหมู่บ้านควรแสวง จังหวัดพัทลุง บทบาทของคุณอาคมในกลุ่มโคเนื้อนั้นจะเป็นการเข้าประชุมเพื่อพัฒนาและหาทางแก้ไขช่วยเหลือเกษตรกรในกลุ่ม ช่วยดูแลสมาชิกในกลุ่ม ติดต่อประสานงานกับปศุสัตว์ ช่วยเหลือในเรื่องการผสมเทียมโค ติดต่อหมอมาดูแลรักษาเมื่อโคเจ็บป่วยไม่สบาย และอาจมีช่วยทำคลอดแม่โคให้กับสมาชิก
แนวโน้มในอนาคต
เมื่อถามถึงแผนที่วางไว้ในอนาคต คุณอาคมได้ให้ความเห็นว่า ได้วางแผนว่าถ้าเกิดการเลี้ยงไก่เนื้อเริ่มอยู่ตัว และพอมีต้นทุน ก็ตั้งใจจะหันกลับมาเลี้ยงโคขุนอีกรอบเพื่อต่อยอดที่เคยทำไว้ในอดีต และได้ให้ความเห็นทิ้งท้ายถึงการทำเกษตรแบบผสมผสานว่า “เป็นการลดความเสี่ยงจากปัญหาที่เจอ ไม่ว่าจะจากอาชีพใดอาชีพหนึ่ง ลดความเสี่ยงจากความแปรปรวนของสภาพลม ฟ้า อากาศ ลดความเสี่ยงจากความผันแปรของราคาผลผลิต หากพืชผลทางการเกษตรที่เราปลูกเกิดปัญหาภัยแล้ง เราก็ยังมีสัตว์ที่เลี้ยงไว้ หรือหากราคาของเนื้อไก่ตก เราก็ยังมีรายได้จากพืชผลทางการเกษตรอีกช่องทาง”
ขอขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก คุณอาคม ขวัญแก้ว อาคมฟาร์ม