การเลี้ยงกวางรูซ่า
ณ บ้านเขากระจิว หมู่ที่ 6 อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี ครูคำพันธ์ ปกครอง ครูใหญ่แห่งโรงเรียนสหกรณ์บำรุงวิทย์ ได้กู้เงินจากสหกรณ์ครูจำนวนสองแสนบาทเพื่อนำไป เลี้ยงกวางรูซ่า จำนวน 9 ตัว เมื่อปี 2538 โดยมั่นใจว่ากวางพันธุ์นี้น่าจะทำให้เขาและครอบครัวมีรายได้ที่ดีขึ้น
สาเหตุที่ทำให้เขาต้องมาเลี้ยงกวางเพราะมีใจชอบการเลี้ยงสัตว์ ซึ่งในอดีตของเขาก็คือ นักเลี้ยงวัวเนื้อ โดยเลี้ยงปล่อยทุ่ง ท่ายาง ยามที่ชาวนาเกี่ยวข้าวเสร็จแล้ว แต่ขณะที่ชาวนายังไม่เก็บเกี่ยวข้าวเขามักจะไล่ฝูงวัวเข้าไปหาหญ้ากินในป่าแก่งกระจาน การเลี้ยงวัวเนื้อแบบธรรมชาติของครูคำพันธุ์เป็นการลดต้นทุนการเลี้ยง ซึ่งน่าจะมีกำไร แต่ความเป็นจริงกำไรกลับไปตกอยู่ที่พ่อค้าวัว
ในที่สุดเขาก็เลิกเลี้ยง “ผมคิดว่าประเทศไทยมีหญ้าขนตลอด คนไทยต้องหันมาเลี้ยงสัตว์ที่กินหญ้า เพราะถ้าเลี้ยงสัตว์ที่กินอาหารบางครั้งไม่มีเงินซื้อจะมีปัญหาตามมา” ครูคำพันธุ์เผยถึงสาเหตุที่ตนต้อง เลี้ยงกวางรูซ่า เพราะเป็นสัตว์ที่กินหญ้าเช่นเดียวกับวัวเนื้อ แต่มีจุดเด่นกว่าตรงที่กวางรูซ่าตัวเล็ก กินน้อย ใช้พื้นที่การเลี้ยงน้อย ต้านทานโรค และตลาดไม่ว่าเนื้อหรือเขาต้องนำเข้าจากเมืองนอกเป็นหลัก
ด้านตลาดและช่องทางจำหน่ายกวางรูซ่า
“ผมมั่นใจเพราะผมศึกษามาตลอดว่ากวางเป็นสัตว์ที่ให้เนื้อ ยังไงๆ ก็ต้องขายได้ แม้ว่าเลี้ยงๆ ไปแล้วขายตัวละ 5,000 บาท ก็ยังอยู่ได้” นี่คือการฟันธงเรื่องราคาของครูคำพันธ์ เพื่อยืนยันว่าการเลี้ยงกวางรูซ่ามีอนาคต และได้ขยายความถึงต้นทุนการเลี้ยงกวาง 28 ตัว ของตนเวลานี้ว่า
ถ้าจ้างคนเกี่ยวหญ้าวันละ 50 บาท ทำให้ค่าอาหาร/ตัว/วันไม่เกิน 5 บาท และเมื่อมองไปที่ระยะเวลาการเลี้ยงกระทั่งขายจะเห็นว่าแค่ปีเศษๆ เท่านั้น หรือถ้าเลี้ยงตัวเมียเพื่อเอาลูกแค่ 16 เดือน ตัวเมียก็ออกลูกแล้ว หลังจากนั้นอีก 90 วัน กวางรูซ่าก็จะเป็นสัดเพื่อผสมพันธุ์ต่อไป จะเห็นได้ว่าการเริ่มต้นเลี้ยงกวางรูซ่าของครูคำพันธ์ จากตัวเมีย 7 ตัว ตัวผู้ 1 ตัว เมื่อปี 2538 วันนี้ได้ผลผลิตไม่ต่ำกว่า 24 ตัว และกำลังจะคลอดในเดือนมีนาคม 2542 นี้ (ท้องที่ 4) อีกหลายตัว
ซึ่งใน 3 ปีกว่า ครูคำพันธ์มีรายได้จากการขายกวาง ทั้งตัวเมีย และตัวผู้ กว่าสองแสนบาท นั่นแสดงว่าแค่เวลา 3 ปีเศษ ก็คืนทุนหมดแล้ว กวางที่เลี้ยงอยู่ทุกวันนี้ คือ กำไร ซึ่งเมื่อประเมินราคา ณ วันนี้ไม่ต่ำกว่าหกแสนบาท นี่เท่ากับกำไรไม่ต่ำกว่า 3 เท่าตัว
เพราะความที่รูซ่าเป็นกวางเนื้อที่กินหญ้าเป็นอาหารหลัก แค่ตัดหญ้าขนให้กิน เสริมด้วยแร่ธาตุที่แขวนไว้ให้มันเลีย และบางครั้งก็เสริมด้วยอาหารวัวสำเร็จรูป ก็เพียงพอแล้วสำหรับกวางพันธุ์นี้ เพราะถ้าให้อาหารสำเร็จรูปมากจะทำให้กวางอ้วน อันเป็นอุปสรรคต่อการผสมพันธุ์ ด้วยเหตุนี้ครูคำพันธ์จึงต้องปลูกหญ้าขนขนาดไร่ครึ่งไว้เป็นอาหารรูซ่า เพราะหญ้าขนเป็นหญ้าที่ขึ้นโดยทั่วไป แต่มีโปรตีนสูง
ฝากถึงผู้ที่สนใจ เลี้ยงกวางรูซ่า
สุดท้ายครูคำพันธ์ได้ฝากข้อคิดถึงเพื่อนๆ อาชีพครูด้วยกันว่าถ้าจะเลี้ยงรูซ่าต้องมีใจรักการเลี้ยงวัวมาก่อน เพราะเป็นสัตว์ที่ใกล้เคียงกัน และถ้าจะเริ่มต้นการเลี้ยงน่าจะเริ่มจากตัวเมีย 10 ตัว/ตัวผู้ 1 ตัว จึงจะคุ้มกับเวลาและการจัดการ
ส่วนที่บางคนสงสัยว่ากวางรูซ่าเป็นโรคหรือไม่ ครูคำพันธ์ยืนยันว่าตั้งแต่ตนเลี้ยงกวางมา 4 ปี แค่ตัวเดียวที่ตายเพราะปอดบวม หลังจากที่ลูกวัวคลอดออกมาช่วงน้ำท่วม และมีพายุ กวางรูซ่าจึงไม่เสี่ยงต่อการเป็นโรคเหมือนสัตว์ประเภทอื่น จึงไม่ต้องทำวัคซีนแต่อย่างใด
ขอขอบคุณ ครูคำพันธ์ ปกครอง บ้านเขากระจิว หมู่ที่ 6 อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี