องุ่นบ้านแพ้ว ยังไปไหว
องุ่น หนึ่งในผลไม้มากมายที่วางจำหน่ายภายในประเทศไทยที่แม้ว่าจะไม้ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นผลไม้ไทยก็ตาม แต่ในบางมุมบนพื้นที่ของประเทศไทยยังมีเกษตรกรจำนวนไม่น้อยที่นิยมปลูก และยึดถืออาชีพเกษตรกรผู้ปลูกองุ่นกันมานานหลายสิบปี ยังจำได้ว่าสมัยที่ผู้เขียนยังเด็กอยู่ องุ่นเป็นผลไม้ที่ค่อนข้างจะมีราคาสูงกว่าผลไม้ชนิดอื่นอยู่มาก ดังนั้นการเลือกซื้อผลไม้ชนิดอื่นจึงนับว่าเป็นทางเลือกที่ดีกว่าองุ่น ทั้งนี้อาจมาจากต้นทุนการผลิตองุ่นสูงตามที่ทุกคนเข้าใจนั่นเอง วันนี้ทีมงานเมืองไม้ผลจะพาทุกท่านกลับมาที่
อ.บ้านแพ้ว สมุทรสาคร มาพูดคุยกับคุณสุรศักดิ์ ตุนมรรยาท และสวนองุ่นเขียวพันธุ์ไวท์มะละกา จากจุดเริ่มต้นในพื้นที่เพียง 10 ไร่ ปัจจุบันนี้มีมากถึง 80 ไร่ทีเดียว สวนองุ่นที่ขยายมากขึ้นย่อมมีปัญหาตามมามากขึ้นเช่นกัน เขามีวิธีการแก้ไขปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นได้อย่างไรจึงสามารถทำสวนองุ่นที่นี่มานานกว่า 20 ปี
คุณสุรศักดิ์ อธิบายกับทีมงานฟังว่า องุ่นเป็นผลไม้ที่ค่อนข้างจะอ่อนแอทั้งผลและต้น ดังนั้นชาวสวนจึงต้องมีการดูแลต้นองุ่นเป็นพิเศษเกือบทุกระยะ ตั้งแต่กระบวนการตัดแต่งกิ่งจนถึงกระบวนการเก็บผลผลิต นับเป็นระยะเวลา 100-120 วัน/รุ่น ซึ่ง 1 ปีจะให้ผลผลิตประมาณ 2 รุ่น ในช่วงฤดูฝน และฤดูหนาว สภาพแวดล้อมมีผลต่อองุ่นเป็นอย่างมาก เช่น อากาศที่เปลี่ยนแปลงกะทันหันสามารถทำให้ผลผลิตมีอาการผิดเพี้ยนไปจากเดิมได้ หรือบางทีการเลือกใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืช ที่ไม่ถูกต้อง และเหมาะสมก็สามารถส่งผลต่อผลผลิตได้เช่นกัน
ช่วงระยะเวลาการให้ผลผลิตขององุ่น
การให้ผลผลิตขององุ่นเกษตรกรจะนับเป็นวัน โดยจะทำการนับตั้งแต่วันแรกที่เริ่มตัดแต่งกิ่ง 100-105 วันในช่วงฤดูฝน และในฤดูหนาวจะอยู่ที่ 115-120 วัน ทีนี้ต้องบอกก่อนว่า องุ่นจะมีช่วงระยะเวลาขององุ่นเองในช่วงระหว่างนี้คือผลผลิตในสวนจะเก็บส่งขายหมดแล้ว พูดง่ายๆคือผลผลิตมีอายุไม่มากไปกว่านี้ ซึ่งมีวิธีการนับวันจากวันที่ทำการตัดแต่งกิ่งประมาณ 5 วันกิ่งจะเริ่มแตกใบออกมา วันที่ 22 กิ่งจะเริ่มแตกตาดอกออกมา วันที่ 27 ดอกจะเริ่มติดผล ถัดจากนั้นอีกประมาณวันที่ 40 จึงจะเห็นผลผลิตได้อย่างชัดเจน คุณสุรศักดิ์ บอกว่าสาเหตุที่ฤดูหนาวมีอายุการเก็บผลผลิตนานกว่ามาจากสภาพภูมิอากาศที่เหมาะสมสำหรับยืดอายุขององุ่น และถึงแม้ว่าว่าในช่วงฤดูฝนต้นองุ่นจะยังคงให้ผลผลิตอยู่ แต่เกษตรกรต้องคอยสังเกตองุ่นอยู่เสมอ เพราะโรคที่มากับฝนมีมาก ที่สำคัญคือปริมาณที่ฝนตกมากอาจส่งผลกระทบให้ผลองุ่นได้รับน้ำมากเกินไปและผลแตกได้ เกษตรกรต้องคอยตัดผลที่แตกออกเสมอ ดังนั้นในช่วงฤดูฝนจึงเป็นช่วงสำคัญ ต้องนำผลผลิตออกจากสวนให้ได้เร็วที่สุดป้องกันผลกระทบ ลดความเสียหายของผลผลิตได้
ดิน และปุ๋ย
คุณสุรศักดิ์ บอกว่า ในเรื่องดินจะไม่เคยตรวจสอบทางวิชาการเลย แต่จะอาศัยการศึกษาสังเกตจากลักษณะของต้น ใบ และผลองุ่นมากกว่า หากลักษณะผิดเพี้ยนไปจะเหมือนกับเป็นการเตือน ดังนั้นเกษตรกรจะต้องบำรุงตามลักษณะของต้นมากกว่า ซึ่งปกติแล้วรุ่นหนึ่งจะใส่ปุ๋ยทั้งแบบหว่านลงดิน และทางใบอยู่ประมาณ 5-7 ครั้ง เว้นระยะห่างกันประมาณ 10-15 วัน/ครั้ง ในรอบของ 1 รุ่น นับตั้งแต่ช่วงตัดแต่งกิ่ง ถึงช่วงการเก็บเกี่ยวผลผลิต ส่วนมากแล้วจะเป็นการให้ปุ๋ยทางใบในช่วงการให้ปุ๋ย 3-5 ครั้งแรก จะเป็นสูตรเสมอ เช่น 15-15-15 และ 16-16-16 เป็นต้น อีก 2 ครั้งสุดท้ายก่อนทำการเก็บเกี่ยวผลผลิตจะใช้สูตร 13-13-21 เกี่ยวกับเรื่องสี และความหวานของผล องุ่นเองจะเป็นผลไม้ที่มีอายุค่อนข้างสั้นเกษตรกรจะต้องกำหนดระยะเวลาเลยว่าในแต่ละรุ่นจะต้องมีการจัดการกับองุ่นอะไรบ้าง ด้านไหนบ้าง ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับความพร้อมของต้น และช่วงเวลาที่เหมาะสมด้วย จากนั้นอีกประมาณ 16-17 วันจะทำการฉีดพ่นจิบเบอเรลลิน ให้ต้นแทงช่อดอกออกมาสมบูรณ์ที่สุด
โรค แมลงในองุ่น
โรคที่มักพบบ่อยในองุ่นจะเป็นประเภท แอนแทรคโนสหรือผลเน่า แสคป ราน้ำค้าง เป็นต้น เป็นที่ทราบกันดีว่า องุ่น เป็นพืชที่อ่อนแอต่อการเข้าทำลายของโรค และแมลง เกษตรกรผู้ปลูกองุ่นจึงต้องมีการฉีดพ่นสารป้องกันกำจัดโรค แมลงค่อนข้างบ่อยมาก เช่นหากเป็นช่วงฤดูหนาวที่สวนของคุณสุรศักดิ์ จะฉีดพ่นสารป้องกันกำจัดโรค แมลงประมาณ 50 ครั้ง/รุ่น ใน 120 วัน
จัดการอย่างไร? ให้ได้ผลผลิตดี
คุณสุรศักดิ์ แนะนำว่า องุ่นหากจะให้ผลผลิตดี ควรเก็บพวงองุ่นไว้ประมาณ 2 ช่อ/กิ่งได้จะเป็นดีที่สุด แต่ถ้าเกษตรกรต้องการเก็บผลผลิตมากกว่า 2 ช่อก็สามารถทำได้แต่ผลผลิตที่ได้จะไม่ค่อยดีมากนัก ทั้งนี้ต้องดูจากลักษณะของต้นว่าแข็งแรงมากพอหรือเปล่า และควรห้ามเก็บไว้เกิน 3 ช่อ/กิ่งเป็นอันขาด เพราะหากไว้มากกว่านี้อาจเป็นการถ่วงผลผลลิตทั้งด้านขนาดและคุณภาพให้น้อยลงได้ เว้นเสียแต่ว่าผลผลิตในช่วงนั้นจะมีน้อยมากจำเป็นต้องเก็บไว้ 3 ช่อเท่านั้น แต่หากองุ่นให้ผลผลิตสม่ำเสมอก็ควรจะเก็บไว้ 2 ช่อตลอด และในแต่ละต้นจะมีช่วงอายุประมาณ 5-7 ปี หรือประมาณ 10-14 รุ่น ต้องทำการตัดต้นทิ้งแล้วลงปลูกต้นองุ่นต้นใหม่ เพราะหากต้นองุ่นที่เก็บไว้นานกว่านี้จะมีผลต่อต้น ทำให้ต้นโทรมการให้ผลผลิตจะไม่คุ้มกับต้นทุนที่เกษตรกรลงทุนไป
กระบวนการซื้อ ขาย
ก่อนอื่นต้องขอบอกก่อนว่าชาวสวนองุ่นบ้านแพ้วไม่ได้ตั้งกลุ่มขึ้นมาเหมือนกลุ่มผู้ปลูกมะนาวบ้านแพ้ว แต่จะเป็นการปรึกษา หารือระหว่างผู้ปลูกองุ่นบริเวณบ้านแพ้วมากกว่า ส่วนเรื่องราคาองุ่นต้องขอยอมรับเลยว่า การซื้อ ขายผ่านพ่อค้าคนกลางการหลีกเลี่ยงเรื่องถูกกดราคาไม่ได้อยู่แล้ว แต่จะเป็นการพูดคุยกันเรื่องราคาว่าตลาดตอนนี้ราคาองุ่นอยู่ที่ประมาณไหน ราคาที่เราขายให้พ่อค้าเป็นราคาที่ชาวสวนพอใจหรือไม่ เพราะเท่าที่ผ่านมานับว่าองุ่นอยู่ในเกณฑ์และราคาที่นับว่าพอใจแต่ต้นทุนการผลผลิตก็นับว่าสูงมากจะมีอยู่ 2 เจ้าใหญ่ คือ นิกชาวสวน และครูธรรมวงค์ จะส่งไปทางตลาดไท นครปฐม และราชบุรี ราคาขายผลผลิตทางการเกษตรบอกได้เลยว่าไม่แน่นอนเสมอ อย่างองุ่นเองก็มีราคาขึ้นลงบ้างแล้วแต่จังหวะของตลาดในช่วงนั้นๆ ราคาต่ำสุดขององุ่นจะอยู่ที่ 18-20 บาท หรือถ้าเป็นจังหวะที่ตลาดคงตัวองุ่นจะมีราคาอยู่ที่ 30-35 บาท แต่ถ้าเป็นช่วงที่ราคาองุ่นดีจะอยู่ที่ 40-45 บาท และองุ่นที่ส่งขายจะเบ่งเป็นหลายแบบด้วยกัน คือ แบบผลสวยจะนำไปขายเป็นผลสดหน้าตลาด อีกแบบหนึ่งจะเป็นแบบผลนิ่ม หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า องุ่นโง่ผลจะมีลักษณะเหลว ฉ่ำน้ำมากมักจะนำไปทำเป็นไวน์ และองุ่นรุ่นสะเทือน หรือองุ่นเปรี้ยวหวาน มีลักษณะของผลแข็ง มักจะนิยมนำไปแปรรูป เพราะที่สวนจะมีหน้าที่ปลูก ดูแลและขายออกผลผลิตเท่านั้นจะไม่นิยมแปรรูปมากนัก
ทิศทางอนาคตขององุ่นในไทย
คุณสุรศักดิ์ บอกว่า ในมุมองของตนแล้วในระยะสั้นเหมือนจะมีแนวโน้มที่ดี เพราะพื้นที่การทำสวนองุ่นเริ่มมีน้อยมากขึ้น เกษตรกรเริ่มให้ความสนใจหันไปปลูกมะนาวมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้อาจมาจากราคามะนาว และต้นทุนการปลูกมะนาวที่น้อยกว่า มีสหกรณ์คอยรองรับผลผลิตมากขึ้นก็เป็นได้ แต่จากราคาองุ่นปีที่ผ่านมามีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเป็น 40 บาท สร้างความมั่นใจให้กับเกษตรกรสวนองุ่นอีกทางหนึ่งว่าราคาองุ่นที่ได้รับยังคงมั่นคง และอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอได้ แต่หากเป็นในระยะยาว หรือในยุค AEC ที่จะเข้ามาอาจมีผลกระทบต่อองุ่นไทยมากขึ้น การเข้ามาขององุ่นจากต่างประเทศเริ่มมีบทบาทมากขึ้น เช่นองุ่นจากประเทศจีน ที่มีลักษณะเด่นกว่าองุ่นไทยอยู่หลายด้านที่ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสี ลักษณะ และความสดของผล ซึ่งแตกต่างจากองุ่นอยู่หลายอย่างทีเดียว ถ้าเทียบกันแล้วองุ่นไทยจะมีอายุสั้นมาก หรืออาจเรียกได้ว่าไม่ทันข้ามวันเลยก็ได้ ดังนั้นความนิยมของไทยจึงหักเหไปทางองุ่นจันเสียมากกว่า และจะมีกระทบมากขึ้นถ้าองุ่นจีนเข้ามาทำตลาดในประเทศไทยมากขึ้น
ทุกวันนี้หลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนต่างให้ความสำคัญ ส่งเสริม สนับสนุนการท่องเที่ยวไทย กินของไทย ใช้ของไทยกันมากขึ้นเพื่อเป็นส่งเสริมเศรษฐกิจของไทยซึ่งรวมไปถึงเศรษฐกิจด้านการเกษตรของไทยด้วย
ขอขอบคุณ
คุณสุรศักดิ์ ตุนมรรยาท 141 ม.1 ต.หนองสองห้อง อ.บ้านแพ้ว
จ.สมุทรสาคร 74120 โทร.085-381-7725
tags: การปลูกองุ่น บ้านแพ้ว วิธีการปลูกองุ่น การใส่ปุ๋ยองุ่น ไร่องุ่น วิธีปลูกองุ่น วิธีการปลูกองุ่น การปลูกองุ่น บ้านแพ้ว วิธีการปลูกองุ่น การใส่ปุ๋ยองุ่น
[wpdevart_like_box profile_id=”108666299214543″ connections=”show” width=”300″ height=”220″ header=”big” cover_photo=”show” locale=”th_TH”]