จากสภาพภูมิอากาศ หากเกิดความแปรปรวนซึ่งมักจะส่งผลกระทบต่อกับเสถียรภาพได้ ทั้งคน สัตว์ และพืช ทำให้เกิดการปรับตัวแทบไม่ทัน เป็นต้นว่าเกิดจากภาวะอากาศ อุณหภูมิที่ร้อนจัด หนาวจัด ฝนทิ้งช่วง หรือฝนตกไม่ถูกต้องตามฤดูกาล เกิดภัยแล้ง และภัยน้ำท่วม ที่เกิดจากพายุฝนตกหนักเป็นระยะเวลาติดต่อกัน รวมทั้งเกิดมหันตภัยพิบัติทางธรรมชาติ เป็นต้น
ทั้งนี้หากแต่ได้เกิดขึ้นอยู่ในพื้นที่ถิ่นใด หรือเกิดขึ้นกับพื้นที่ถิ่นที่อยู่อาศัย บ้านเรือนของประชาชน และพื้นที่ผู้ประกอบการอาชีพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาชีพทางการเกษตร และเกษตรกรผู้เพาะปลูก หรือผู้ผลิตพืชผลทางการเกษตร ก็จะได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงมิได้กับสภาวะดังกล่าว
การปลูกมะยงชิด มะปรางหวาน
คุณสิงห์ สุวรรณรอด เกษตรกรผู้ปลูกมะยงชิด มะปรางหวาน สายพันธุ์ทูลเกล้า ซึ่งผลิตจำหน่ายออกขาย ทั้งผล และขยายกิ่งพันธุ์ หรือเป็นเจ้าของสวนสุวรรณ เล่าว่า ได้ประกอบอาชีพการเกษตรมา 19 กว่าปี โดยเฉพาะการประกอบอาชีพทำเกษตรเพาะปลูก และเริ่มปลูกครั้งแรก คือ ลองกอง ลางสาด ทุเรียน และมะยงชิด
ซึ่งในขณะนั้นได้ปลูกอยู่บริเวณพื้นที่เทือกเขา หรือหุบเขา ของ อ.ลับแล ต่อมาเมื่อปี 2549 ได้เกิดมหันตภัยพิบัติ หรือเกิดพายุฝนตกลงมาอย่างหนัก จนเป็นเหตุทำให้หินและดินซึ่งอยู่บนภูเขาพังทลายไหลลงมาสู่พื้น และกลายเป็นพายุดินโคลนถล่มพัดเข้าใส่ทั้งบ้านเรือนของประชาชน และพื้นที่ทำการเกษตรได้รับผลกระทบเกิดความเสียหายถึงขั้นวิกฤต และหนึ่งในนั้นรวมทั้งตัวของเขาด้วยซึ่งได้รับความเสียหายไปถึงประมาณ 80% ทำให้ไม้ผลที่ปลูกในพื้นที่ดังกล่าวเหลือไว้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น
แต่ในขณะเดียวกันโชคดียังนับได้ว่าเข้าข้างเขาอยู่เช่นกัน ซึ่งก่อนที่จะเกิดเหตุดังกล่าวนั้นเขาได้เก็บกิ่งพันธุ์มะยงชิด มะปรางหวาน ที่ได้ขยายกิ่งพันธุ์มะยงชิด มะปรางหวาน ส่วนหนึ่งมาเก็บไว้นอกพื้นที่ที่เกิดเหตุเพื่อออกขาย จึงทำให้มีทุนพอจะดำเนินกิจการต่อไปได้
อย่างไรก็ตามเนื่องจากด้วยเหตุดังกล่าวหลังจากผ่านได้ 3 เดือน ทำให้เขาเกิดแนวคิดที่จะหาที่ทำกิน หรือหาพื้นที่อยู่ใหม่ จึงมาได้พื้นที่ติดกับถนนเส้นทางหลวงสายเอเชียหมายเลข 11 ซึ่งห่างจากตัวเมือง จ.อุตรดิตถ์ ไปสู่ทางภาคเหนือตอนบนประมาณ 6 กม. หรือถ้าหากมาทางภาคเหนือตอนบนก่อนเข้าตัวเมือง จ.อุตรดิตถ์ 6 กม.
“ผมออกมาจากพื้นที่อำเภอลับแลกับครอบครัว ตอนแรกผมมีเงินเหลือติดตัว 300,000 บาท มาซื้อที่ดินอยู่ตรงนี้จำนวน 5 ไร่ และได้นำต้นกิ่งพันธุ์มะยงชิด มะปรางหวาน ที่เหลือ 2,000 กว่าต้น ออกขายต้นละ 300-400 บาท ก็ได้เงินมาหลายพัน พอมีทุนประคับประคองเลี้ยงครอบครัวให้อยู่รอดได้ ส่วนต้นกิ่งพันธุ์มะยงชิด มะปรางหวาน ที่เหลือจากขายก็ได้เอามาปลูกในพื้นที่ที่ซื้อใหม่ โดยได้ลงปลูกเมื่อปี 2550 นี้” คุณสิงห์เล่าถึงความหลังที่เคยผ่านวิกฤตมา
สภาพพื้นที่ปลูกมะยงชิด มะปรางหวาน
คุณสิงห์ยังเล่าอีกว่าจากที่เขาได้เคยปลูกไม้ผลจากที่กล่าวมาก่อนปี 2549 ก็ขายได้ราคาดี แต่พอมาระยะหลังในเมื่อได้ 6 ปี นี้ อาการเริ่มเปลี่ยนแปลงหรือแปรปรวน ทั้งนี้การปลูกไม้ผลโดยลงทุนเพื่อหวังเอาผลผลิตทำให้ไม่คุ้มกับทุนเท่าที่ควร เนื่องจากผลออกมาได้ไม่สวย หรือไม่สมบูรณ์ และทำให้ผลผลิตที่ได้ตกต่ำมาอย่างต่อเนื่อง หรือขายไม่ได้ราคา จึงได้ตัดสินใจขายพื้นที่ที่เคยปลูกลองกอง ลางสาด
โดยเหลือพื้นที่ที่ปลูกทุเรียนสายพันธุ์หลงลับแล และทุเรียนหมอนทอง ไว้ประมาณ 70 ไร่ และได้หันมาเอาจริงเอาจังปลูกมะยงชิด มะปรางหวาน เนื่องจากตามที่เขาเคยได้ปลูก พร้อมทั้งได้สังเกต หรือได้ศึกษา ได้ความรู้ มาจนแตกฉาน และได้รู้ว่า มะยงชิดมะปราง หวาน เป็นพืชที่ปลูกง่าย เข้ากับธรรมชาติสภาพภูมิอากาศในประเทศไทยที่เป็นอยู่อย่างปัจจุบัน ทั้
งนี้ยังเป็นพืชที่ชอบแสงแดดที่ร้อน และอยู่กับความแห้งแล้งได้ดี รวมทั้งโอกาสการที่จะเกิดโรค อย่างเช่น โรคเชื้อรา และโรคแมลง หรือแมลงรบกวน ซึ่งจะเกิดขึ้นได้น้อยมาก ทั้งนี้ยังนับได้ว่าเป็นไม้ผลที่เขาเห็นว่ามีคุณค่า ผลผลิตออกมาเห็นผลได้จริงสำหรับเขามาโดยตลอด ทั้งระบบต้น การบำรุงดูแลรักษา โดยเฉพาะการปรับพฤติกรรมการเปลี่ยนแปลงระบบต้นให้เข้ากับสภาพแวดล้อม อันเกิดจากความแปรปรวนภูมิอากาศอย่างที่กล่าวได้ดีอีกด้วย
การบำรุงดูแลมะยงชิด มะปรางหวาน
ทั้งนี้มะยงชิด มะปรางหวาน แม้ว่าจะเป็นพืชที่ชอบแสงแดดส่องอย่างที่กล่าว แต่ก็ต้องมีอากาศอุณหภูมิที่หนาวเย็นเข้ามาช่วยอยู่บ้างจึงจะให้ผลผลิต โดยเฉพาะอากาศทางพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง หากแต่ว่าไม่ได้กระทบหนาวเลยก็จะไม่สามารถให้แตกช่อดอก ออกดอก หรือติดผล ได้เช่นกัน อย่างเช่น เมื่อเข้าสู่ฤดูหนาว ก็ควรมีความหนาวเย็นให้ได้ 20 องศา สัก 200 ชั่วโมง หรืออาจจะประมาณ 2-3 อาทิตย์ อย่างไรก็ตามหากแต่ความหนาวเย็นไม่ถึง หรือเกิดความหนาวเย็นนานมากเกินไปจากที่กล่าว อาจจะทำให้ไม่ออกดอก ติดผล ได้เช่นกัน หรือหากแต่ออกดอก ติดผลแล้ว ก็อาจจะทำให้หลุดร่วง หรืออาจจะทำให้ผลผลิตออกมาได้น้อยมาก
อย่างไรก็ดีเมื่อปีที่ผ่านมา หรือปี 2556 ระยะเริ่มเข้าสู่ฤดูหนาวในช่วงเดือนธันวาคม อย่าง อากาศ ความหนาวเย็นเข้ามา อุณหภูมิความหนาวไม่ถึงตามที่ต้องการ หรืออุณหภูมิให้ความร้อนมากกว่าหนาว เขาจึงเอาน้ำประปา หรือน้ำบาดาล ฉีดล้าง หรือเอาน้ำอัดพ่นเพื่อให้เกิดความเย็นทั่วทั้งต้น เพื่อให้เกิดความชื้น โดยจะไม่ปล่อยให้น้ำท่วมขัง หรือเปลือกแฉะเกินไป โดยเฉพาะในช่วงระหว่างโคนต้นกับบริเวณพื้น หากทำให้พื้นดินแห้งได้มากยิ่งดี
ส่วนการฉีดน้ำล้างดังกล่าวก็จะฉีดล้างทุก 3 วัน หรือ 7 วัน/ครั้ง และจะฉีดล้างเพื่อรักษาความเย็นไปเรื่อยๆ จนกระทั่งเริ่มแตกช่อดอกยืดออกมา ซึ่งในช่วงดังกล่าวนี้ก็จะช่วยทำให้มะยงชิด มะปรางหวาน ออกดอก ติดผล และให้ผลดกมาก
“ช่วงที่เอาน้ำมาล้างช่วยให้มันเกิดความหนาวเย็น เราก็ต้องมีองค์ประกอบเข้ามาช่วยด้วย อย่างเช่น ให้มีอุณหภูมิความหนาวเข้ามาบ้าง การบำรุงต้นนอกจากจะให้ปุ๋ยคอกที่เคยบำรุงตามปกติแล้ว ก็จะให้ปุ๋ยเคมีสูตรเสมอๆ หรือปุ๋ยสูตร 15-15-15 ผสมกับปุ๋ยคอก ก็จะติดผลได้ดี มีผู้ปลูกมะยงชิด มะปรางหวาน อยู่หลายราย ยังไม่รู้ ไม่เข้าใจ ปล่อยให้ออกดอก ออกลูก ไปตามธรรมชาติ ตามสภาพแวดล้อมภูมิอากาศ แต่เรามาทำอาชีพตรงนี้ เราต้องรับรู้และหาทางออกเอง แต่ถ้าหากถามว่าเราจะสู้ได้ไหมกับธรรมชาติ ถ้าเราไม่สู้เราจะอยู่ได้ยังไง อย่างที่เราเรียนกับอาจารย์ก็จะมีโจทย์ให้ถามว่าถ้าเจออากาศร้อนจัด หนาวจัด หรือเจอโรคเชื้อราและแมลงบ้าง ไม่ออกดอก ติดผล ให้ผลมากหรือน้อย ทุกพื้นที่มันมีปัญหาหมด การเรียนรู้ก็ไม่มีวันจบสิ้นเช่นกัน เพราะมันมักจะขึ้นอยู่กับธรรมชาติเป็นตัวกำหนด” คุณสิงห์ให้เหตุผล
วิธีการปลูกมะยงชิด มะปรางหวาน
สำหรับ มะยงชิด มะปรางหวาน เขายังเล่าว่าปัญหาอีกส่วนหนึ่งเริ่มจากเรื่องการปลูก โดยทั่วไปเกษตรกรส่วนมากจะใช้วิธีตามหลักวิชาการ อย่างเช่น การขุดหลุม ความกว้าง ความยาว ความลึก ก็จะไม่ต่ำกว่า 50 ซม. แต่ไม่เข้าใจสภาพลักษณะพื้นที่ที่จะปลูก จากการแนะนำตามที่เขาปลูก หากแต่เป็นสภาพพื้นที่ราบ หรือพื้นที่แบบไร่สวนทั่วไป
วิธีปลูกของเขาโดยจะไม่ขุดหลุม หรือปลูกแบบง่ายๆ คือ นำเอาต้นกิ่งพันธุ์หรือส่วนของโคนต้นที่หุ้มราก หรือที่เรียกว่า “ตุ้ม” มาตั้งวางไว้ แล้วก็เอาดินมากลบให้เหมาะสมกับส่วนโคนต้น จากนั้นนำเอาไม้ลวกมาปักค้ำไว้ให้ได้มุม 45 องศา และการปักไม้ควรปักไว้ให้แน่นเพื่อป้องกันแรงลมหรือภัยอันเกิดจากธรรมชาติ หลังจากปลูกเสร็จภายในระยะช่วง 1-2 ปี ก็จะป้องกันไม่ให้น้ำท่วมและขังจนเกิดน้ำแฉะ เนื่องจากยังช่วยสามารถป้องกันการเกิดโรคเชื้อรา โดยเฉพาะส่วนที่โคนต้นและรากได้ดีด้วย หากแต่เป็นช่วงระยะการออกดอก ติดผล เขาก็จะเอาน้ำล้างเดือนละ 1-2 ครั้ง เพื่อป้องกันการเกิดโรคเชื้อราน้ำค้าง เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม มะยงชิดมะปราง หวาน หากแต่ปลูกในพื้นที่ลุ่ม โดยจะปลูกแบบง่ายเช่นกัน และให้ผลดี โตเร็ว อย่างเช่น ควรหาดินมากองให้สูงประมาณ 50 ซม. และขุดหลุมปลูกบนกองดินให้พอเหมาะกับต้นพันธุ์ คลุมด้วยปุ๋ยคอกหรือฟางข้าว และเอาไม้รวกค้ำหรือปักหลักยึดต้นพันธุ์ไว้ให้แน่น
ส่วนการปลูกในพื้นที่เชิงภูเขา โดยจะขุดหลุมปลูก 50×50 ซม. หรือความกว้าง 50 ซม. ยาว 50 ซม. ลึก 50 ซม. ทั้งนี้ควรนำเอาปุ๋ยคอกรองก้นหลุม (ถ้ามี) หลังจากปลูกเสร็จแล้วควรเอาไม้รวกค้ำหรือปักหลักยึดต้นพันธุ์ไว้ให้แน่น เป็นต้น
การให้ปุ๋ยและน้ำมะยงชิด มะปรางหวาน
ทั้งนี้หลังจากที่ปลูกเสร็จใหม่ ถ้าหากฝนไม่ตกก็ควรรดน้ำต้นละอย่างต่ำประมาณ 10 ลิตร/ต้น หรืออาจจะให้มากกว่า 10 ลิตร ก็ได้ ส่วนการให้ควรจะให้ 2-3 วัน/ครั้ง สำหรับการให้ปุ๋ยหากแต่เป็นต้นที่มีอายุได้ 2 ปีขึ้นไป หรือเป็นต้นที่ยังไม่ให้ผลผลิต หรือออกดอก ติดผล ก็จะบำรุงให้ปุ๋ยคอกตามปกติ
แต่หากเป็นต้นที่ให้ผลผลิตหรือติดผลแล้ว ก็จะบำรุงด้วยการให้เคมีสูตรเสมอ หรือปุ๋ยสูตร 15-15-15, 16-16-16 ผสมกับปุ๋ยคอกต้นละ 1/2 กก./ครั้ง/เดือน หากแต่อยู่ในช่วงเดือนสิงหาคมซึ่งเป็นช่วงที่บำรุงตามปกติ การให้ปุ๋ยเคมีบำรุงก็จะให้เฉพาะต้นที่เคยติดผลมาก่อน โดยจะบำรุงด้วยปุ๋ยคอกผสมกับปุ๋ยเคมีสูตร 8-24 -24 ใน 1 ต้น/1/2 กก./ครั้ง
อย่างไรก็ตามในระหว่างการดูแลรักษาช่วงที่ติดดอก ออกผล โดยเฉพาะช่วงเดือนธันวาคม มะยงชิดมะปราง หวาน จะเริ่มแตกช่อดอก ออกดอก ซึ่งเป็นไปตามฤดูกาล และควรให้ระวังเพลี้ยไฟ และโรคเชื้อรา การป้องกันควรใช้สารเคมีประเภทกำจัดแมลง หรือสารชีวภาพ ที่ทำขึ้นมาเอง เช่น สะเดา พริก ตะไคร้ เป็นต้น นำมาฉีดพ่นให้ทั่วทั้งใบและดอก หรือพ่นให้ทั่วทั้งต้น และควรใช้น้ำที่สะอาดฉีดล้างทั้งต้นด้วย
ด้านตลาดและช่องทางจำหน่ายมะยงชิด มะปรางหวาน
คุณสิงห์ยังเล่าถึงลักษณะเด่นของ มะยงชิดมะปราง หวาน ด้วยว่าเป็นผลไม้ที่ให้ราคาสูง และเป็นที่ต้องการของตลาด เป็นผลไม้ที่ชอบพื้นที่แห้งแล้ง ยิ่งร้อนยิ่งดี สามารถปลูกได้ทุกสภาพพื้นที่ และเป็นผลไม้ที่ชอบน้ำน้อย ส่วนผลผลิตก็จะออกติดผล โดยเริ่มจากเดือนกุมภาพันธ์ มีนาคม เมษายน ซึ่งเป็นช่วงที่ผลไม้ชนิดอื่นยังไม่ออกสู่ตลาด จึงทำให้เป็นโอกาสที่มะยงชิด มะปรางหวาน จะขายได้ราคาสูง
อย่างไรก็ตามจากการปลูก มะยงชิดมะปราง หวาน เขายังเล่าให้ฟังอีกว่าตามที่เขาเคยปลูกไม้ผลมามี มะยงชิดมะปราง หวาน เท่านั้น ที่ทำให้เขามีรายได้ และทำให้มีฐานะอยู่มาได้ถึงปัจจุบันนี้ จากที่เคยฝ่าวิกฤติที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น ทั้งนี้การปลูกก็ไม่ยุ่งยาก ทั้งการดูแลรักษาก็ง่ายมาก และการลงทุนชื้อปุ๋ยหรือสารเคมีก็ใช้ต้นทุนต่ำ
โดยเฉพาะเรื่องการตลาด แม่ค้า พ่อค้า ก็จะมารับจองหรือเข้ามาซื้อที่หน้าสวน และสวนของเขาพื้นที่ปลูกยังอยู่ติดกับเส้นทางหลวงอย่างที่กล่าว ผู้คนสัญจรผ่านไปมามองเห็นก็พากันแวะเข้ามาซื้อ เขาได้วางขายอยู่ริมทาง หรือหน้าสวน และจากปีที่ผ่านมาเขายังขายได้ กก.ละ 200 -300 บาท ขณะนั้นขายได้เงินเฉียด 200,000 บาท ทั้งที่ในปีที่เก็บผลผลิตได้ยังไม่เต็มที่ โดยที่เขาไม่ต้องไปเร่ขายเหมือนอย่างที่เคยปลูกลองกอง ลางสาด ออกขายอย่างเช่นแต่ก่อน ที่ต้องไปง้อแม่ค้าหรือพ่อค้า ทั้งยังมีปัญหาหลายอย่าง และการลงทุนก็ต้องใช้ต้นทุนสูง
การจำหน่ายกิ่งพันธุ์ มะยงชิดมะปราง หวาน
การปลูก มะยงชิดมะปราง หวาน ซึ่งในปัจจุบันเขายังได้ผลิตกิ่งพันธุ์ออกจำหน่ายขาย โดยได้สร้างเครือข่ายสาขาออกไปประจำอยู่ตามต่างจังหวัด เช่น ทาง จ.เชียงราย, จ.น่าน, จ.แพร่ และ จ.พะเยา สำหรับการสร้างเครือข่ายดังกล่าวเขายังเป็นผู้บริหารจัดการเอง ทั้งการขายผล และการขยายกิ่งพันธุ์ ประจำอยู่ตามแต่ละสาขา อย่างไรก็ดีในการขยายกิ่งพันธุ์ที่มีไว้ประจำสาขานั้น โดยเขาจะเน้นถึงการผลิตกิ่งพันธุ์ด้วยวิธีการเสียบยอด เพราะทำให้มีประสิทธิภาพหรือศักยภาพได้ดีกว่าวิธีการทาบกิ่ง ส่วนการทาบกิ่ง หรือกิ่งพันธุ์ทาบ เขาก็ได้ผลิตขยายกิ่งพันธุ์ออกจำหน่ายเช่นกัน
กิ่งพันธุ์ทาบก็จะมีทั้งข้อดี และข้อเสีย เช่น ข้อดี หากได้นำเอาไปปลูกก็สามารถเลี้ยงเอาผลหรือผลผลิตได้เลย ส่วนข้อเสีย อย่างเช่น ต้นตอ ระบบของรากก็ต้องได้รับการดูแลบำรุงรักษาให้อย่างดีมีประสิทธิภาพ หรือให้ต้นตอได้มีศักยภาพเพิ่มมากขึ้น เพราะว่าในระบบรากอายุต้นตอที่จะนำมาทาบยังอ่อนแอ และการเลือกเอากิ่งพันธุ์เพื่อที่จะทาบนั้น โดยส่วนมากผู้ผลิตก็จะนำมาทาบกับไม้ที่เป็นกิ่งพันธุ์ไม้ใหญ่ หรือเป็นไม้ที่มีอายุต้นที่ห่างกัน และก็จะทำให้ระบบของต้นไม่เกิดความสมดุลกัน อาจจะทำให้ต้นโทรม อายุต้นอาจสั้นหรือตายได้ง่าย เนื่องจากระบบรากต้องมารับภาระนำเอาธาตุอาหารไปหล่อเลี้ยงทั้งระบบของต้นให้ได้เพียงพอตามความต้องการ
อย่างไรก็ตามการขยายกิ่งพันธุ์ออกจำหน่ายขายของสวนสุวรรณนั้น ราคาก็จะขายตามลักษณะของต้น หรือตามไซส์ในแต่ละต้น โดยเริ่มจากราคาต้นละ 50, 100, 200, 1,500, 2,000, 3,000 บาท ทั้งนี้ยังได้ทำต้นที่มีอายุ 2 ปีขึ้นไป เพื่อนำออกขาย และหากนำไปปลูกแล้วก็จะสามารถปลูกเลี้ยงเอาผลผลิตได้เลย ส่วนราคาขายจะมีอยู่ที่ต้นละ 5,000 บาทขึ้นไป
อย่างไรก็ดีจากประสบการณ์ของคุณสิงห์ซึ่งได้เคยผ่านการอบรมทั้งด้านการวิจัยเกี่ยวกับไม้ผลรวมกับชุมชนจาก ม.ราชภัฏอุตรดิตถ์ และได้รับความรู้ อย่าง เรื่องการปลูก และการบำรุงดูแลรักษา รวมถึงเรื่องการตลาด ทั้งนี้ในส่วนการบริหารจัดการในแต่ละสาขาหรือเครือข่ายที่เขาได้ขยายออกไปตามต่างจังหวัดอย่างที่กล่าวนั้น รวมทั้งในเรื่องการบริการลูกค้า ตัวเขาเองจะเน้นถึงการคืนกำไรให้กับลูกค้า โดยเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ให้กับลูกค้าทุกราย ที่ได้นำกิ่งพันธุ์ไม้ของเขาไปปลูก ก็จะรับให้บริการจนกระทั่งประสบผลสำเร็จ ได้ผลผลิตออกมาเห็นผลได้ชัดเจนจริง
หากผู้อ่านหรือเกษตรกรท่านใดที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สวนสุวรรณ คุณสิงห์ สุวรรณรอด 115 ม.1 ต.ด่านนาขาม อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์ 53000 โทร.08-1707-0928