เวลานี้ตลาดข้าวอินทรีย์ของไทยกำลังเปิดกว้าง และค่อนข้างคึกคัก มีกลุ่มตลาดใหม่ๆ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผู้บริโภคทั่วโลก ทั้งโซนยุโรป อเมริกา โซนเอเชีย โดยเฉพาะจีน และญี่ปุ่น ถือเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง และคำนึงถึงความสำคัญเกี่ยวกับการรักษาสุขภาพอนามัยในระดับสูง และหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องอาหารปลอดภัย (Food Safety) และมีคุณภาพมาตรฐานเพิ่มมากยิ่งขึ้น ภาครัฐเองได้มีการส่งเสริมและให้ความรู้แก่เกษตรกร กลุ่มข้าวอินทรีย์ ในการผลิตสินค้าอินทรีย์ เพื่อให้ได้ผลผลิตที่เป็นไปตามข้อกำหนดเรื่องมาตรฐานเกษตรอินทรีย์สากลที่ต่างประเทศให้การยอมรับแล้ว
แม้ว่าตลาดผู้บริโภคข้าวอินทรีย์ในปัจจุบันอาจจำกัดอยู่ตลาดเฉพาะ ราคาจำหน่ายอาจเท่ากับหรือสูงกว่าข้าวปกติประมาณ 1-2 เท่า ขึ้นอยู่กับต้นทุนการผลิตในแต่ละพื้นที่ แต่สัญญาณที่น่ายินดี คือ ขณะนี้ความต้องการของตลาดมีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง และขยายตัวตามความต้องการของผู้บริโภคทั้งภายในประเทศส่วนหนึ่ง และชาวต่างชาติที่หันมาใส่ใจในเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อม การป้องกันโลกร้อน และรักษาสุขภาพอนามัย จากการสำรวจของกรมการค้าต่างประเทศมีการคาดการณ์ว่าอัตราการขยายตัวตลาดข้าวอินทรีย์ของไทยจะมีประมาณ 10-15% ต่อปี
การผลิตและแปรรูปข้าวอินทรีย์
นิตยสารข้าวเศรษฐกิจ ได้ติดตามข้อมูลจากผู้ผลิตและส่งออกข้าวอินทรีย์อีกแห่งของภาคอีสาน นอกจากมาให้ความรู้เรื่องการผลิตข้าวที่ได้มาตรฐานแล้ว ยังบอกเทคนิคการสร้างกลุ่มให้มีความเข้มแข็ง พร้อมกับร่วมยืนยันอีกเสียงด้วยว่าตลาดข้าวอินทรีย์ของไทยยังโตได้อีกมาก
ดร.รนวริทธิ์ ปริยฉัตรตระกูล ประธานเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์อีสาน วิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ตำบลหนองพอก อ.ธวัชบุรี จ.ร้อยเอ็ด เบื้องต้นได้เผยว่าผลิตภัณฑ์ข้าวอินทรีย์ของกลุ่มได้รับมาตรฐานสากล ภาคพื้นยุโรป EU ภาคพื้นอเมริกา USDA (NOP) มาเป็นเวลา 7 ปีแล้ว ที่สำคัญไม่เพียงข้าวหอมมะลิเท่านั้น ยังมีกลุ่มข้าวพื้นเมืองอื่นๆ ที่อุดมไปด้วยคุณค่าและโภชนาการสูง ที่กำลังจะเพิ่มกำลังการผลิตและแปรรูปเพิ่มเติม เพื่อขยายตลาดทั้งในและต่างประเทศให้มากขึ้น
การจัดตั้ง กลุ่มข้าวอินทรีย์
แนวคิดการรวมกลุ่มฯ ปลูกข้าวอินทรีย์ของ ดร.รนวริทธิ์ได้บอกว่า“ผมไม่อยากตายก่อนวัยอันควร อยากกินข้าวที่มันเป็นยา และอาหารปลอดภัย เพราะไปอ่านเจอรายงานของทีดีอาร์ไอ พบว่าตัวเลขปริมาณการสั่งซื้อยาของกระทรวงสาธารณสุข เฉพาะกระทรวงเดียวปีเดียวมูลค่าหลักพันล้าน ถ้าเรากินของดี ไม่เจ็บป่วย รัฐก็ไม่ต้องจ่ายเงินเป็นพันล้าน และยังพบว่าปริมาณการบริโภคข้าวของคนไทยเฉลี่ย 120 กก.ต่อคนต่อปี
จึงเกิดไอเดียว่าถ้าเรากินข้าวที่ปลอดภัยเข้าสู่ร่างกายก็เหมือนเรากินยาไปในตัว ไม่ต้องไปหาหมอ เมื่อคิดได้อย่างนี้จึงมาทำเกษตรอินทรีย์ตั้งแต่นั้น กินข้าวอินทรีย์ ชวนพรรคพวกทำ ช่วงแรกทำแจกเสียส่วนใหญ่ ต่อมาผู้รับแจกก็เกรงใจ จึงขอซื้อ พอยอดสั่งซื้อมากขึ้นเรื่อยๆ ก็เลยทำขายเสียเลย”
ดร.รนวริทธิ์ บอกว่าแรกเริ่มสมาชิกรวมตัวกันเป็นสมาคมผู้ผลิตข้าวอินทรีย์ สมาชิกเริ่มต้นมี 3,000 กว่าคน พื้นที่ปลูก 3 หมื่นกว่าไร่ ปัจจุบันเหลือเพียง 904 คน ระยะแรกปรากฏว่ามีปัญหาในเรื่องของการตลาด เพราะเป็นองค์กรที่เป็นสาธารณะประโยชน์ จึงมาคิดว่าหากเป็นสหกรณ์ก็ไม่ได้ เพราะจำกัดในพื้นที่หรือตำบลเดียวกันเท่านั้น
เนื่องจากสมาชิกหลักๆ มีหลายจังหวัด ทั้งร้อยเอ็ด สกลนคร นครพนม มุกดาหาร ฯลฯ จึงมาดูว่ามีกฎหมายฉบับใดที่เอื้อต่อการรวมกลุ่มของพวกตนได้ และพบว่ามี พ.ร.บ.ส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน พ.ศ.2548 เปิดกว้างให้กลุ่มเกษตรกรที่มีอุดมการณ์หรือแนวคิดเดียวกันมารวมตัวกันทางการเกษตรและประกอบธุรกิจได้ กลุ่มผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์อีสานได้ผ่านการประเมินมาตรฐานเกษตรอินทรีย์สากลแล้ว ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เวลานี้ข้าวอินทรีย์ของไทยเป็นข้าวที่ตลาดต่างประเทศต้องการสูงมาก
ผลผลิตข้าวเปลือกแต่ละปี 7,100 ตัน (นาปี) เป็นข้าวอินทรีย์ทั้งหมด ข้าวหอมมะลิ 5,880 ตัน ที่เหลือเป็นข้าวพันธุ์อื่นๆ วันนี้มีจังหวัดใกล้เคียงอยากจะเข้าร่วม เช่น ศรีษะเกษ ชัยภูมิ สุรินทร์ บุรีรัมย์ มหาสารคาม และขอนแก่น ตอนนี้ยังไม่ได้มีมติจากคณะกรรมการรับคนใหม่เข้ามา
เนื่องจากผู้ที่จะเข้ามาเป็นสมาชิกจะต้องมีความเข้าใจในระบบการผลิตแบบเกษตรอินทรีย์ เข้าใจในอุดมการณ์การรวมกลุ่ม เราไม่ได้เน้นผลประโยชน์ที่ตัวเงินเป็นหลัก ประโยชน์ที่เน้นมากกว่า คือ องค์รวมของมวลสมาชิก หลักเกณฑ์การเข้าร่วมก็เหมือนองค์กรทั่วไป ต้องมีค่าสมาชิก ค่าบำรุงรายปี เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ของกลุ่ม แต่ระเบียบทางใจ คือ ทุกคนต้องเข้าใจในระบบเกษตรอินทรีย์อย่างแท้จริง
การผลิตข้าวอินทรีย์
ประธานกลุ่มฯ กล่าวอีกว่าเนื่องจากเกษตรอินทรีย์ผู้คนส่วนใหญ่ยังเข้าใจเพียงว่าปลูกข้าวใส่ปุ๋ยอินทรีย์ก็จบเป็นเกษตรอินทรีย์ได้ แต่จริงๆ แล้วต้องปลอดสารเคมี และสารสังเคราะห์ ในกระบวนการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ ก่อนจะถึงมือผู้บริโภคได้นั้นจะต้องมีคำว่าห่วงโซ่อินทรีย์เข้ามาเกี่ยวข้องทุกส่วน แปลงปลูกต้องเป็นระบบอินทรีย์ หรือออแกนิกส์ฟาร์ม
ในกรณีข้าวจะต้องมีโรงสีอินทรีย์ โดยเฉพาะไม่ใช่จะนำข้าวไปสีที่ใดก็ได้ ต้องมีออแกนิกส์แฟคทอรี่ ทำหน้าที่แปรรูปและบรรจุภัณฑ์ จะต้องมีออแกนิกส์ดีเลอร์ ผู้ขายทั้งในและต่างประเทศจะต้องผ่านการประเมินเกษตรอินทรีย์เช่นเดียวกัน เพราะถ้าขาดข้อใดข้อหนึ่งก็ไม่เป็นอินทรีย์
ยกตัวอย่าง เช่น ผลิตข้าวอินทรีย์ขึ้นมา แต่นำไปสีโรงสีทั่วไปอาจมีการปนเปื้อน ความเป็นอินทรีย์ก็ยุติลงตรงนั้น ทุกคนแม้แต่ผู้บริโภครายย่อยต้องถามว่าผู้ปลูกเป็นอินทรีย์หรือไม่ บางรายมีใบรับรองจริง แต่ผู้บริโภคไม่ได้ถามว่าสีข้าวที่ไหน กระบวนการจัดจำหน่ายเป็นอินทรีย์หรือไม่ ดังนั้นคำว่าเกษตรอินทรีย์ นอกจากเกษตรกรเข้าใจแล้ว ผู้บริโภคต้องเข้าใจด้วยเหมือนกัน สมาชิกใหม่ที่จะเข้ามาจึงต้องเข้าใจจุดนี้ จะมาพิจารณาเพียงแค่ความหอม หวาน ของราคาข้าวที่จะได้รับไม่ได้ ตรงนี้จะเป็นจุดตายทั่วทั้งประเทศ ดังนั้นทุกคนต้องเข้าใจเป้าหมายและอุดมการณ์ร่วมกัน
ในส่วนการประเมินแปลงปลูก ประธานกลุ่มฯ เล่าว่าค่าใช้จ่ายที่ผ่านมาไม่ได้รับงบสนับสนุนจากรัฐแม้แต่น้อย สมาชิกออกค่าใช้จ่ายกันเองทั้งหมด เพราะจะรอภาครัฐไม่ได้เลย ไม่ใช่ว่ารัฐไม่ดี เนื่องจากกระบวนการยืดเยื้อและด้วยงบประมาณที่ค่อนข้างจำกัด เพราะการประเมินนั้นมีขั้นตอนและมีการประเมินซ้ำทุกปี จุดนี้คือความจริงว่าภาครัฐไม่มีงบมาให้จนชั่วฟ้าดินสลาย ทุกวันนี้จึงยืนหยัดอยู่ได้ด้วยตัวเองทั้งสิ้น ทุนที่ได้มาเป็นเงินจากผลการประกอบการของกลุ่มเอง เพราะทำในรูปแบบวิสาหกิจชุมชน โดยใช้รูปแบบสหกรณ์มาบริหาร มีการแบ่งงานกันอย่างชัดเจน ข้อสำคัญที่ทำให้กลุ่มฯ อยู่ได้และเดินไปได้ ทำให้มีเงินก้อนมาเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหาร ตรวจแปลง ตัวเลขค่าใช้จ่ายในการประเมินมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ประมาณ 7 แสนกว่าบาทต่อปี
การบริหารจัดการ กลุ่มข้าวอินทรีย์
ด้านการบริหารจัดการ ประธานกลุ่มฯ อธิบายโดยคร่าวๆ ว่าสมาชิกทุกคนต้องมีความอดทน เก็บข้าวเปลือกไว้ที่ตัวเองส่วนหนึ่ง เมื่อมีออเดอร์จากต่างประเทศเข้ามา ข้าวที่อยู่กับทุกคนจะหลั่งไหลมาที่โรงสีของกลุ่มฯ ทุกคนที่สั่งซื้อข้าว ไม่ว่าบริษัททั้งในหรือต่างประเทศ ระเบียบ คือ จะต้องวางออเดอร์ และวางค่าใช้จ่ายก่อน 50% เพื่อจะนำไปรวบรวมข้าวที่เก็บในยุ้งฉางสมาชิกมาแปรรูปส่งให้กับลูกค้า เมื่อลูกค้าได้รับสินค้าแล้วจึงโอนส่วนที่เหลือมาให้อีก 50% เพื่อนำมาจ่ายให้เกษตรกรจนครบ และส่วนกำไรที่เหลือจะเก็บไว้ส่วนกลาง
ข้าวเปลือกหอมมะลิที่รับซื้อจากสมาชิกเข้ามานั้น กลุ่มฯ จะอ้างอิงราคารับจำนำข้าวหรือราคาตลาดเป็นตัวตั้งไว้ก่อน คือ กิโลกรัมละ 20 บาท แล้วจะบวกราคาพรีเมียมให้อีกตันละ 500 บาท เมื่อมีผลกำไรเกิดขึ้นจะคืนกลับให้เกษตรกรอีกกิโลกรัมละ 1 บาท โดยดูจากยอดขายประกอบ เช่น ขายข้าวไตรมาสนี้ไป 500 ตันข้าวสาร ได้เงิน 5 แสนบาท จะเอาจำนวนเกษตรกรทั้งหมดที่ส่งข้าวมาเป็นตัวตั้ง และเอา 5 แสนบาทหารด้วยปริมาณข้าวที่มี กลุ่มฯ จะคืนกำไรให้อีกกิโลกรัมละ 1 บาท ส่วนอีก 1 บาท จะนำไปเป็นค่าการตลาด
สำหรับผู้ที่ไปติดต่อหาลูกค้ามา เพื่อทุกคนจะได้มีกำลังใจ และช่วยกันหาลูกค้ามากขึ้น ส่วนผลกำไรที่เหลือเก็บเข้าเป็นเงินสะสมใช้ในการบริหารงาน ค่าใช้จ่ายจิปาถะ เป็นรายจ่ายของกลุ่ม ด้วยวิธีการอย่างนี้จึงทำให้กลุ่มและสมาชิกสามารถอยู่ได้ตลอดมา
ปัจจุบันกลุ่มฯ มีเงินทุนหมุนเวียนอยู่ที่หลักล้าน แต่ไม่ถึง 10 ล้านบาท มีการบริหารจัดการในรูปแบบกรรมการ มี 2 ชั้น ชั้นแรกเป็นกรรมการอาวุโส จังหวัดละ 1 คน และคณะกรรมการที่คัดมาจากตัวแทนจังหวัดละ 3 คน เป็น 9 คน โดยมีตนเป็นประธาน ส่วนคณะกรรมการชั้นที่ 2 จะมีหน้าที่ดำเนินงานจะมาจากจังหวัดละ 3 คน ซึ่ง 9 คนแรก จะอยู่ในกรรมการชุดนี้ด้วย และมีการประชุมกันเดือนละครั้งสม่ำเสมอ
แนวโน้มขยายตลาดข้าวอินทรีย์
ดร.รนวริทธิ์ เผยว่าในระดับพื้นที่ปีนี้ หน่วยงานและกระทรวงต่างๆ เริ่มจะรู้จักกลุ่มฯ มากขึ้น ตอนแรกยังไม่เปิดตัว จึงทำกันแบบเงียบๆ เพราะมองว่าภาครัฐทำให้ล่าช้า ทั้งการส่งเสริม แต่ตอนนี้เข้ามาสนับสนุนเป็นรูปธรรมชัดเจน สิ่งที่กลุ่มฯ ขอจากภาครัฐ คือ ขอโอกาสไปเปิดตัวประชาสัมพันธ์ในงานต่างๆ เพื่อให้เจอลูกค้า ส่วนที่เป็นงบประมาณถ้าไม่จำเป็นจะไม่รบกวน
ซึ่งก็ได้รับโอกาสอย่างดีจากกระทรวงพาณิชย์ และกลุ่มอุตสาหกรรมข้าวครบวงจร ได้เข้ามาส่งเสริม โดยจะขอเปิดวงเงินจาก ธ.ก.ส. จำนวน 200 ล้านบาท เพื่อรับซื้อข้าวเปลือกจากสมาชิกทุกเม็ด จึงถือเป็นโอกาสดีเพราะไม่ต้องการให้ข้าวอินทรีย์ไหลเข้าสู่ตลาดข้าวทั่วไป เป็นการสร้างโอกาส กำลังใจ แก่ชาวนาที่ตั้งใจผลิตข้าวอินทรีย์มากขึ้น
ผู้นำกลุ่มฯได้เล่าเพิ่มเติมอีกว่าล่าสุดได้ร่วมมือกับศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว ม.เกษตรกำแพงแสน นครปฐม และมูลนิธิเพื่อนพึ่งพาฯ โดยจะปลูกข้าวพันธุ์ไรซ์เบอรี่ ซึ่งทางมหาวิทยาลัยจะสนับสนุนด้านเมล็ดพันธุ์และงานด้านวิชาการให้ ส่วนการตลาดและเงินทุนได้ประสานกับมูลนิธิฯ โดยมี ธ.ก.ส.ออกทุนไว้ให้กับทางมูลนิธิ เพื่อให้กลุ่มฯ ปลูกข้าวไรซ์เบอรี่ส่งขายให้กับมูลนิธิฯ ซึ่งโครงการนี้เป็นพระดำริของพระองค์ภาฯ เพื่อแก้ปัญหาเรื่องราคาข้าวให้กับเกษตรกรไทย
เพราะมาตรฐานเกษตรอินทรีย์นั้นถือเป็นเรื่องสำคัญมาเป็นอันดับหนึ่ง ที่ทำให้ข้าวไทยสามารถสู้ได้ในเวทีโลก กลุ่มฯ ให้ความสำคัญและมีเป้าหมายร่วมกันตลอดมา หากอนาคตสมาชิกคนใหม่ๆ ที่ประสงค์จะเข้ามานั้น ทางกลุ่มฯ จะพิจารณาเป็นรายจังหวัดไป เพราะต้องเข้าใจในกระบวนการผลิตในระบบเกษตรอินทรีย์จริง และพร้อมรักษามาตรฐาน งานหลักๆ ของคณะกรรมการกลุ่มที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง คือ ต้องมีการสุ่มตรวจแปลงของสมาชิกเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง เพราะในแต่ละปีต้องเสียค่าใช้จ่ายประเมิน
หากคุณภาพไม่ผ่านหรือตกไป จะสร้างความเสียหายเกิดขึ้นตามมาได้ เพราะมาตรฐานที่ได้รับมา กลุ่มฯ ได้ผ่านการประเมินมาตั้งแต่เป็นสมาคมเป็นเวลา 6-7 ปีมาแล้ว หากคุณภาพไม่ได้ การตลาดขาดความต่อเนื่อง ลูกค้าขาดความเชื่อถือ ส่งผลให้ทางกลุ่มฯ จะไม่มีเงินมาต่อใบอนุญาตเลย เป็นเรื่องสำคัญที่สมาชิกทุกคนต้องตระหนักช่วยกันรักษาเอาไว้ให้ได้ตลอดไป เพราะมาตรฐานคือความอยู่รอด
ด้านตลาดและช่องทางจำหน่ายข้าวอินทรีย์ ทั้งในและต่างประเทศ
ตลาดผู้บริโภคข้าวอินทรีย์ มีทั้งในประเทศและต่างประเทศ ผู้บริโภคภายในกลุ่มคนรักสุขภาพ ชนชั้นกลางทั่วไป พ่อค้า ข้าราชการ ฯลฯ ส่วนตลาดต่างประเทศ ได้แก่ ลูกค้าโซนยุโรป อเมริกา ฯลฯ โซนยุโรปจะซื้อเป็นข้าวกล้อง ต่างจากอเมริกาที่ซื้อเป็นข้าวขาวเพื่อบริโภค กลุ่มเยอรมันซื้อเป็นข้าวกล้องเพื่อนำไปสีเป็นข้าวขาว เขาจึงได้ทั้งรำและปลายข้าวไปใช้ประโยชน์เพิ่มมูลค่าอย่างอื่นได้ ราคาส่งขายเท่ากัน คือ กิโลกรัมละ 45 บาท ถือว่าเป็นราคาถูกที่สุดในกลุ่มข้าวอินทรีย์ทั่วๆ ไป หากขายไปต่างประเทศราคากิโลกรัมละ 48-52 บาท ทางกลุ่มฯ ถือว่าขายของดี ขายได้มาก และกลุ่มคนจะเข้าถึงได้ง่ายกว่า เพราะขายราคาเท่านี้ถึงไม่รวย แต่สมาชิกทุกคนก็สามารถอยู่ได้สบายแล้ว
เมื่อทีมงานฯได้ถามถึงคู่แข่งในตลาด ประธานกลุ่มฯ เผยว่าข้าวอินทรีย์วันนี้บอกได้เลยไม่มีคู่แข่ง เพราะผู้ผลิตของไทยทุกเจ้าจะมีลูกค้าและตลาดของตนเองทั้งสิ้น ข้าวอินทรีย์จึงไม่มีทางตัน วันนี้ทุกคนที่ผลิตออกมาไม่พอขายสักเจ้าเลยผู้ที่ได้มาตรฐาน
ดังนั้นตลาดจึงยังไปได้อีกไกล เพราะความต้องการในตลาดโลกไม่พอขาย ตลาดใหญ่ๆ เช่น อเมริกา อาหรับ ออสเตรเลีย สิ่งที่เขาโหยหา คือ ข้าวอินทรีย์ โดยเฉพาะตลาดใกล้บ้าน คือ จีน ทุกวันนี้ไม่ใช่สมัยก่อนกินอะไรก็ได้ขอให้ไม่ตาย แต่สมัยนี้ไม่ใช่แล้ว ชาวจีนเลือกกินมากขึ้น ทุกวันนี้คนจีนรวยๆ มากมาย เราพยายามเข้าไปเปิดตลาดใหม่ แต่ยังไม่หวือหวานัก แต่ยังแทรกเข้าไปได้
แม้ที่ผ่านมาอาจพบปัญหาบ้าง แต่ทุกอย่างก็ถือเป็นเรื่องธรรมดาในการทำธุรกิจ เป็นช่วงระบบเศรษฐกิจทางยุโรป อเมริกา มีปัญหาเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน บริษัทฯ ต่างๆ ชะลอการซื้อขาย เพราะรอให้อัตราแลกเปลี่ยนโอเค ตอนนี้เริ่มมีการซื้อส่งออกแล้ว การค้าขายกับต่างประเทศมักเจอผลกระทบบ้าง แต่ไม่ห่วงอะไร ตราบใดที่มนุษย์ยังกินข้าว
การให้ความรู้ในการปลูกข้าวอินทรีย์
ส่วนสมาชิกหลักที่มีอยู่ตอนนี้ทั้ง 6 จังหวัด กลุ่มฯ ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานด้านวิชาการ คอยให้ความรู้เรื่องการปลูกข้าวให้กับเกษตรกรอยู่ตลอดเวลาทุกครอป และทุกข่าวที่มีการเคลื่อนไหว ผ่านทางเฟสบุค และช่องทางโซเชียลมีเดียอื่นๆ หลักๆ มี 3 เรื่อง คือ
- เรื่องดิน
- เรื่องเมล็ดพันธุ์
- เรื่องการบริหารจัดการแปลงปลูกให้ได้มาตรฐาน
เรื่องดินจะเน้นการเลือกใช้จุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์มากที่สุด ก่อนจะนำมาใช้ เราเลือกตัวที่สามารถสังเคราะห์แสงได้ในตัวเอง เพื่อลัดขั้นตอนในการปรุงอาหารของต้นพืช แบคทีเรียจะทำหน้าที่ปรุงอาหารและให้รากพืชสามารถดึงขึ้นมาบำรุงลำต้นได้เลย พืชสามารถเติบโตได้เร็วต่อเนื่อง เสริมภูมิต้านทานโรคและแมลงได้ดีกว่า ผลผลิตสูงเฉลี่ย 800 กก.ต่อไร่ขึ้นไป
ต่อมา คือ เมล็ดพันธุ์ นวัตกรรมที่ใช้อยู่ คือ จะมีการเพาะกล้าก่อนที่จะนำลงไปปลูกในแปลง เพาะกล้าด้วยข้าวสารกล้อง โดยการนำข้าวเปลือกมาสีเป็นข้าวกล้องและคัดเมล็ดที่สมบูรณ์ เกษตรกรจะเข้ามาเรียนทุกเสาร์-อาทิตย์ ณ ศูนย์เรียนรู้ของกลุ่มเอง
นอกจากนี้ผู้นำเล่าว่ากลุ่มฯ จะไม่ใช้กากน้ำตาลเป็นส่วนผสมในการทำน้ำหมักอินทรีย์ เพราะกากน้ำตาลหากใช้ไปนานๆ จะทำให้เกิดเชื้อราไฟทอปธอร่า เป็นบ่อเกิดโรครากเน่า ต้นพืชจะยืนตาย มันเกิดจากก๊าซที่อยู่ในกากน้ำตาล จึงมาใช้น้ำตาลทรายแดงแทน ซึ่งประหยัดกว่า และหาง่ายกว่า ที่สำคัญน้ำตาลทรายแดงไม่มีสารฟอกขาว ทำให้จุลินทรีย์ไม่ตาย และเจริญเติบโตดี แหล่งความรู้อีกแห่ง คือ สวทช. โดยเฉพาะชาวนาอย่างพวกเราเรียนรู้ได้ตลอดไม่มีวันสิ้นสุด
ในเรื่องกลุ่มนั้นตนจะมีสมาชิกไม่เกิน 2,000 คน เพราะจะบริหารยาก หากกลุ่มไหนโตจะให้แยกไปเจริญเติบโตต่างหาก แต่ยังสนับสนุนช่วยเหลือกัน จึงต้องอาศัยการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อ และสิ่งที่อยากได้จากรัฐ คือ ขอโอกาสให้เราเท่านั้น เพราะทุกคนสามารถเดินมาหาได้ อย่างไรก็ตามการรักษามาตรฐานเกษตรอินทรีย์นั้นสำคัญมากกว่าทุกสิ่ง แม้ว่าจะมีตลาดในมือก็ตาม แต่ถ้ารักษาไม่ได้ ลูกค้าจะหายไป
“เกษตรกรจะขี้เกียจไม่ได้เลย เราไม่ยินดีเกษตรกรที่ขี้เกียจ เรื่องมาก ต่อรองมากมาย เรียกเอาผลผลประโยชน์เข้าตัวเองโดยไม่คำนึงถึงระบบกลุ่ม ซึ่งกลุ่มฯ ตัดทิ้งไปเลย และเคยตัดมาแล้ว เพราะจะทำให้กลุ่มเสีย เช่น ให้พรีเมียมตันละ 500 ไม่พอใจขอตันละ 1,500 และให้จ่ายให้ตอนนั้นเลย ถ้าเราซื้อข้าวเปลือกเข้ามาแพง ข้าวสารก็ต้องแพงตามด้วย จะหาตลาดลำบาก ข้าวที่ส่งมาต้องรักษาคุณภาพตั้งแต่หัวจรดท้าย ถ้าทำแบบนี้เกษตรกรจะมุ่งแต่ผลิตให้ได้ข้าวเยอะๆ เข้าไว้ เอามาขายเพื่อต้องการเงินพรีเมียม1,500 แล้วคุณภาพอยู่ตรงไหน? มันไม่ได้
ถ้าเป็นแบบนี้ เราก็ยืนหยัดระบบ ถ้าใครรับไม่ได้ก็ยินดีไปตั้งกลุ่มใหม่และทำอย่างที่ต้องการ ใครที่เห็นด้วยก็จะออกไปอยู่ด้วยกันเราไม่ว่าอะไร ปรากฏว่าไม่มีใครไปไหน เพราะคำตอบรู้อยู่แล้วคุณภาพต้องมาก่อน การบริหารบางครั้งจึงต้องแข็งบ้าง” ผู้นำกล่าว
ปัญหาและอุปสรรคในแปลงนาข้าว
ด้านอุปสรรคในการดำเนินกิจการ นั่นคือ เรื่องทัศนคติของสมาชิกที่ไม่เข้าใจและองค์กรที่เกี่ยวข้องด้วย กรณีเกษตรกรที่ไม่เข้าใจจะไปซื้อปุ๋ยอินทรีย์ตามท้องตลาดมาใช้ ปุ๋ยตามท้องตลาดเขาทำมาดีคุณภาพสูง แต่ราคาแพง เป็นการเพิ่มต้นทุน แต่ถ้าทำเองอาจเหนื่อยหน่อย แต่นั่นหมายถึงกำไรจะเหลือมากขึ้น ส่วนมากถ้าคนไม่เข้าใจจะทำนาด้วยโทรศัพท์จะควบคุมคุณภาพไม่ได้ เพราะข้าวเขาต้องการคุยกับเจ้าของเขา ต้องการคุยกับคนปลูก
เพราะฉะนั้นจึงไม่สนับสนุนให้ทุกคนซื้อปุ๋ยใช้เลย เวลานี้หลายวิสาหกิจมารวมกัน เช่น กลุ่มถนัดผลิตปุ๋ย แต่ขาดทุนดำเนินการ ก็จะจัดหาทุนให้ เมื่อผลิตออกมาแล้วให้สมาชิกจังหวัดอื่นสั่งซื้อ วิธีการนี้นอกจากจะได้ปุ๋ยตามสเป็คที่ต้องการแล้ว ยังได้ซื้อปุ๋ยราคาที่ถูกลง และได้มาตรฐาน รู้ที่มาที่ไป เพราะปุ๋ยที่ส่งไปตรวจและขอประเมินก็ผ่านมาตรฐานปุ๋ยอินทรีย์ ในการตรวจประเมินแปลงปลูกเจ้าหน้าที่จะถามหาแหล่งผลิตปุ๋ยด้วย
ถ้าสมาชิกซื้อปุ๋ยจากท้องตลาดจะตอบไม่ได้เลย แบบนี้จะรู้มีที่มาที่ไป ตอบคำถามได้เต็มปากเต็มคำและมั่นใจ ฉะนั้นการทำเกษตรอินทรีย์ทุกคนควรมีอุดมการณ์ร่วมกัน เดินคนเดียวทำไม่ได้อย่างแน่นอน
ประโยชน์และคุณค่าทางโภชนาการของข้าวอินทรีย์
ประธานกลุ่มฯ บอกว่าในเรื่องเกษตรอินทรีย์ที่เราทำมาตลอดนั้น พบว่าทั้งภาครัฐและเอกชนรณรงค์คนปลูก แต่ไม่เคยรณรงค์ผู้บริโภค วันนี้ทำอย่างไรให้ผู้บริโภคต้องเข้าใจให้มากขึ้นว่าข้าวอินทรีย์และสินค้าเกษตรอินทรีย์คืออะไร เมื่อใดที่ผู้บริโภคเข้าใจแล้ว นั่นหมายถึงเรากำลังขยายตลาดอินทรีย์ภายในประเทศออกไปอย่างกว้างขวาง
ผู้ผลิต คือ เกษตรอินทรีย์ทุกราย ทั้งกลุ่มพืชและสัตว์จะอยู่ได้ทั้งหมด ตนไม่อยากขายข้าวไปต่างประเทศเลย เพราะดูจากสถิติการเจ็บป่วยของคนไทยทั้งประเทศแล้วน่าเป็นห่วง เพราะผู้คนยังเจ็บป่วยด้วยโรคที่เกิดจากการกินเป็นส่วนมาก อยากขายข้าวให้คนไทยด้วยกันได้กินมากกว่า การรณรงค์ทุกวันนี้ยังน้อยไป
ส่วนเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ ทุกกลุ่มฯ ก็ได้พยายามรณรงค์ให้ถึงที่สุด อยากให้รัฐและสื่อต่างๆ ช่วยกันประชาสัมพันธ์ว่าสินค้าอินทรีย์นั้นมีประโยชน์คุณค่าต่อร่างกายมากมายเพียงใด และอย่างไรบ้าง ถ้าทุกคนกินข้าวอินทรีย์สะอาด ปลอดภัยต่อชีวิต ไม่ป่วย ก็ไม่ต้องเสียค่ายา เสียเวลาไปหาหมอ ทุกท่านจะมีชีวิตที่ยืนยาวกว่า และมีความสุข
ฝากถึงผู้ที่สนใจปลูกข้าวอินทรีย์
ดร.รนวริทธิ์ พื้นเพเป็นชาวร้อยเอ็ดโดยกำเนิด จบปริญญาตรีด้านภาษาอังกฤษ โดยเป็นนักเรียนทุนภูมิพล จบปริญญาเอกด้านสังคมศาสตร์ จากประเทศอินเดีย เคยรับรับราชการกระทรวงศึกษาธิการ และเป็นครูที่ร้อยเอ็ดวิทยาลัย
ปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการศูนย์การศึกษานอกระบบ(กศน.) อ.วังเจ้า จ.ตาก ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ จะกลับมา จ.ร้อยเอ็ด เพื่อดำเนินกิจการกลุ่มกับสมาชิก อีกทั้งงานนี้ถือเป็นการนำพาผู้คนให้เรียนรู้สิ่งดีมีประโยชน์ร่วมกัน ร่วมมือกันให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง พึ่งพาตนเองได้ ที่สำคัญการสานต่อเกษตรอินทรีย์ คือ รากฐานสำคัญของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นงานของในหลวง ตนจึงอาสาที่จะทำ
ผู้ที่สนใจซื้อข้าวอินทรีย์ของทางกลุ่มฯ หรือประสงค์แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์เพิ่มเติมกับทางกลุ่มฯ ติดต่อไปได้ที่ 93-94 หมู่ 4 บ้านชาด ต.หนองพอก อ.ธวัชบุรี จ.ร้อยเอ็ด โทร.043-519-769, 084-731-3941, 086-226-3701
อ้างอิง : นิตยสารข้าวเศรษฐกิจ ฉบับที่ 36