ปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบอย่างหนักต่อภาคเกษตร โดยเฉพาะชาวนาที่ประสบปัญหาตั้งแต่ราคาข้าว จนถึงปัญหาเรื่องการไม่มีน้ำทำการเกษตร เนื่องจากชลประทานจำเป็นจะต้องเก็บน้ำไว้ใช้ในการอุปโภคบริโภคของคนทั้งประเทศ ดังนั้นเกษตรกรต้องมีการปรับตัวให้เข้ากับทุกสถานการณ์ เพื่อผลกระทบให้น้อยที่สุด เป็นการอายุอาชีพชาวนาให้มีรายได้อย่างต่อเนื่อง การทำนาในบ่อซีเมนต์
การทำนาในบ่อซีเมนต์
นิตยสารข้าวเศรษฐกิจเคยนำเสนอเทคนิคการลดการใช้น้ำในการทำนา แถมได้ผลผลิตข้าวจำนวนมาก นั่นก็คือ การทำนาเปียกสลับแห้งแกล้งข้าว ที่เป็นโครงการที่ทางหน่วยงานรัฐผลักดันจนประสบผลสำเร็จ จึงอยากจะนำเสนอเทคนิคใหม่ๆ ให้กับเกษตรกร เพื่อเป็นทางเลือกอีกหนึ่งทางให้กับเกษตรกรอีกหลายพื้นที่ที่พื้นที่ไม่เหมาะสม หรือแม้กระทั่งคนที่ไม่มีพื้นที่นาก็สามารถทำได้เช่นกัน
เทคนิคที่ว่านี้ คือ การทำนาในบ่อซีเมนต์ โดยคุณปรีชา บุญท้วม เกษตรกร จ.ระยอง เป็นผู้ทดลองทำด้วยตนเอง และเห็นผลที่ดี
จุดประสงค์ของการทำนาในบ่อซีเมนต์ของคุณปรีชา เนื่องจากตนเคยเป็นหนี้สินอยู่จำนวนหลักล้าน จึงหันหน้าเข้าหาเกษตรอินทรีย์ และใช้ระยะเวลาในการปลดหนี้ของตนเอง 3 ปี และบ้านของตนไม่มีที่นา แต่ต้องการจะปลูกข้าวกินเอง โดยเน้นเป็นข้าวอินทรีย์ ทำให้คิดไอเดียแปลกใหม่นี้ขึ้นมา
ผลที่ได้จาก การทำนาในบ่อซีเมนต์ คือ สามารถดูแลจัดการได้ง่ายขึ้น ไม่จำเป็นต้องใช้สารเคมีในการควบคุมในบ่อ ควบคุมการจัดการระบบน้ำได้เป็นอย่างดี ใช้น้ำปริมาณน้อย ใน 1 บ่อ จะใส่น้ำเพียง 3 นิ้ว จากผิวดินเท่านั้น อีกทั้งเหมาะสำหรับทุกพื้นที่ และเหมาะกับเกษตรกรที่มีอายุมาก เพราะการดูแลรักษาไม่ยุ่งยากอย่างที่คิด
คุณปรีชาได้อธิบายขั้นตอนการปลูกข้าวในบ่อซีเมนต์ว่า ตนมีพื้นที่ว่างเพียง 16 ตารางเมตร จึงแบ่งออกเป็น 3 บ่อสี่เหลี่ยม แต่ละบ่อจะมีพื้นที่ 4 ตารางเมตร โดย 3 บ่อนี้จะมีการหมุนเวียนปลูก รอบแรกปลูกบ่อที่ 1 จากนั้นอีก 1 เดือน ก็เริ่มปลูกบ่อที่ 2 ผ่านไปอีก 1 เดือน ก็เริ่มปลูกบ่อที่ 3 เมื่อเริ่มปลูกบ่อที่ 3 ข้าวในบ่อที่ 1 ก็จะถึงระยะเวลาเก็บเกี่ยวพอดี ทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ ก็สามารถมีข้าวบริโภคตลอดทั้งปี โดยข้าวที่นำมาทดลองปลูก ได้แก่ พันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 พันธุ์หอมปทุม และพันธุ์หอมนิล
เมื่อสร้างบ่อเสร็จแล้ว ก็เป็นขั้นตอนการเตรียมดิน โดยจะใส่ดินลงไปในบ่อสูงประมาณ 5 นิ้วจากก้นบ่อ และปรับดินให้มีความเสมอกัน ที่สำคัญ คือ แต่ละบ่อควรจะเจาะท่อไว้เพื่อระบายเข้า-ออกด้วย
ขั้นตอนการเตรียมดิน
การเตรียมดินปลูกเป็นหัวใจสำคัญของการทำนาในบ่อซีเมนต์ เพราะเมื่อดินดีแล้ว การจัดการดูแลเรื่องอื่นถือเป็นเรื่องเล็กมาก ดินที่นำมาใช้จะต้องมีการผสมกับจุลินทรีย์ท้องถิ่น และฮอร์โมน ที่คุณปรีชาทำขึ้นมาเอง
ขั้นตอนการเตรียมดินปลูก มีดังนี้
1.หุงข้าวให้สุก แล้วนำมาวางให้เย็น จากนั้นนำข้าวใส่ภาชนะ หรือกล่อง
2.เมื่อนำข้าวใส่ภาชนะแล้ว ให้นำผ้าขาวบางปิดภาชนะ แล้วใช้เชือกฟางผูกปิดให้แน่น
3.นำไปวางไว้ที่โคนต้นไผ่ หรือโคนต้นไม้ ที่ห่างไกลจากการใช้สารเคมี ทิ้งไว้ 3 วัน จากนั้นก็ไปเปิดดูจะเห็นเป็นลักษณะก้อนปุยสีขาว นั่นคือ จุลินทรีย์ท้องถิ่น
4.เมื่อได้จุลินทรีย์ท้องถิ่นมาแล้ว ก็นำมาเลี้ยงด้วยน้ำตาลแดงเป็นเวลา 6 วัน เมื่อครบระยะเวลาที่กำหนดก็นำมาเลี้ยงด้วยรำอ่อนอีก 20 วัน ก็สามารถนำไปผสมกับดินได้
5.เตรียมฮอร์โมนเพื่อจะนำไปคลุกกับดินปลูก โดยฮอร์โมนที่ใช้จะมีอยู่ 4 ชนิด ได้แก่ ฮอร์โมนมะพร้าว ฮอร์โมนมะละกอสุก ฮอร์โมนหน่อกล้วย และซีรั่มน้ำนม ซึ่งฮอร์โมนเหล่านี้เปรียบเสมือนธาตุอาหาร N-P-K ถ้ารู้จักการผสมให้ถูกวิธี
6.ฮอร์โมนมะพร้าว ทำได้โดยการใส่น้ำมะพร้าว 1 ลิตร ผสมเนื้อมะพร้าว 1 กิโลกรัม จากนั้นใส่น้ำเปล่า 5 ลิตร เก็บเอาไว้ 20 วัน
7.ฮอร์โมนมะละกอสุก ใช้มะละกอสุก 1 กิโลกรัม กับน้ำตาลแดงครึ่งกิโลกรัม ทิ้งไว้ 15 วัน
8.ฮอร์โมนหน่อกล้วย นำหน่อกล้วยมาหั่น 1 กิโลกรัม คลุกกับน้ำตาลแดงครึ่งกิโลกรัม ทิ้งไว้ 15 วัน
9.ซีรั่มน้ำนม ใช้นมจืด 10 ส่วน น้ำซาวข้าวที่เก็บไว้ 3 คืน 1 ส่วน เทรวมกัน ทิ้งไว้ 6 วัน น้ำนมจะแยกตัวออกจากกัน ให้เก็บส่วนที่เป็นน้ำใสเอาไว้
10.เมื่อได้ฮอร์โมนครบทั้ง 4 ชนิด ก็นำฮอร์โมนมะพร้าว 1 ลิตร ฮอร์โมนมะละกอสุก 1 ลิตร ฮอร์โมนหน่อกล้วย ½ ลิตร และ ซีรั่มน้ำนม ½ ลิตร นำไปรดดินที่คลุกกับจุลินทรีย์เรียบร้อยแล้ว ทิ้งไว้ 20 วัน จากนั้นนำดินที่ผสมแล้ว 1 กระสอบ ไปคลุกกับดินอื่นๆ 15-20 กระสอบ คลุกให้เข้ากันแล้วนำไปใส่บ่อซีเมนต์
การป้องกันและกำจัดแมลง และศัตรูพืช ในนาข้าว
นอกจากนี้คุณปรีชายังบอกเคล็ดลับการปราบแมลงศัตรูพืชด้วยการใช้สมุนไพรตามท้องถิ่น เช่น ใบน้อยหน่า ตะไคร้หอม กระทกรกป่า ลูกหมาก สาบเสือ บอระเพ็ด ฯลฯ ซึ่งการเก็บสมุนไพรทั้งหมดนี้จะต้องเก็บในช่วงเช้าก่อนพระอาทิตย์ขึ้น เพราะ เมื่อแสงแดดส่องจะทำให้พืชนำสารอาหารไปใช้ในการสังเคราะห์แสงหมด
- ใบน้อยหน่า สามารถกำจัดด้วงเต่าได้ โดยนำใบและกิ่งน้อยหน่า (กิ่งสีน้ำตาล) มาหั่นให้ได้ 6 ขีด ผสมกับหน่อกล้วยอ่อนหั่น 4 ขีด น้ำตาล 1 กิโลกรัม คลุกเคล้าให้เข้ากัน แล้วเก็บไว้ 15 วัน
- ตะไคร้หอม ช่วยในการป้องกันเพลี้ยอ่อน นำตะไคร้หอมมาหั่น 6 ขีด ผสมกับหน่อกล้วยอ่อนหั่น 4 ขีด น้ำตาล 1
กิโลกรัม คลุกเคล้าให้เข้ากัน แล้วเก็บไว้ 15 วัน
- บอระเพ็ด จะช่วยในการยับยั้งโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส โดยนำบอระเพ็ดมาหั่น 1 กิโลกรัม ผสมกับน้ำตาล 1 กิโลกรัม ทิ้งไว้ 15 วัน
การนำไปใช้ทำได้โดยนำสมุนไพรที่หมักแล้วมาผสมกันอย่างละ 2 ช้อนแกง กับน้ำ 20 ลิตร ใช้ฉีดพ่นทางใบแบบเจือจาง หรือสามารถรดกับดินก็ดีเช่นเดียวกัน
การทำนาในบ่อซีเมนต์ สามารถทำได้ทุกช่วง ไม่มีการกำหนดว่าจะต้องเป็นนาปี หรือนาปรัง ด้านผลผลิตต่อบ่อก็อยู่ในเกณฑ์ที่ดี 10-20 กิโลกรัมต่อบ่อ อีกทั้งเป็นการรับรองได้อีกว่าผู้ปลูกจะมีข้าวกินตลอดทั้งปีแน่นอน
“ใครที่ต้องการข้าวปลอดสารเคมี ข้าวที่ทำเอง โดยไม่เพิ่มต้นทุนการผลิต ก็อยากเชิญชวนให้หันมาทำข้าวในบ่อซีเมนต์ เพราะปัจจุบันเกษตรกรส่วนใหญ่เป็นคนสูงอายุ และเมื่ออายุมากขึ้นการทำนาก็ยิ่งลำบากขึ้น ดังนั้นการทำนาแบบนี้จะช่วยแบ่งเบาภาระได้เยอะ” คุณปรีชาฝากข้อคิดในการทำนาบ่อซีเมนต์ให้กับเกษตรกร
อ้างอิง : นิตยสารข้าวเศรษฐกิจ ฉบับที่ 64 การทำนาในบ่อซีเมนต์ การทำนาในบ่อซีเมนต์ การทำนาในบ่อซีเมนต์