ปรับปรุงดิน เพิ่มคุณภาพข้าว ไม่เผาตอซัง
สมชาย ฟักเขียว เผยวิถีชาวนาจากอดีตสู่ปัจจุบัน ใช้เทคนิคการปลูกข้าว เพิ่มคุณภาพปรับปรุงดิน “โดยไม่เผาตอซัง”
ในยุคเศรษฐกิจปัจจุบันถือว่ามีการแข่งขันกันสูง ไม่ว่าจะเป็นภาคเกษตรกรรมหรือแม้แต่ภาคอุตสาหกรรมเกษตรที่นักลงทุน เกษตรกรจำเป็นต้องมีเทคนิค องค์ความรู้ ประสบการณ์ ในด้านการเพาะปลูกข้าว พืชผล
และอุตสาหกรรมการผลิตให้ประสบความสำเร็จภายใต้การคิดค้น พัฒนา ปรับปรุงในกระบวนการผลิตให้ได้ทั้งปริมาณและคุณภาพ เพื่อให้ทัดเทียมกับนานาประเทศทั่วโลก ควบคู่ไปกับการดึงอำนาจซื้อของผู้บริโภคภายในประเทศให้หันมาบริโภคของไทยและใช้ของไทยที่มีคุณภาพและราคายุติธรรม
ดังเช่น คุณสมชาย ฟักเขียว ชาวนาในพื้นที่ ต.ขุนศรี อ.ไทรน้อย จ.นนทบุรี และกรรมการสมาคมชาวนาไทยเปิดเผยเส้นทางการทำนาจากอดีตจนถึงปัจจุบันร่วมหลายสิบปีว่าครอบครัวของคุณสมชายนั้นยึดอาชีพชาวนาตลอดมาและเริ่มทำนาตั้งแต่ พ.ศ.2507 ช่วงนั้นก็อายุประมาณ 12 ปี ทำนา 60 ไร่
ซึ่งการทำนาสมัยนั้นส่วนใหญ่จะเป็นนาดำเกือบทั้งหมด พันธุ์ข้าวที่ใช้เพาะปลูกส่วนใหญ่ก็จะเป็นข้าวพันธุ์ กข1 และพันธุ์พื้นเมือง เกษตรกรสมัยก่อนเขาจะเรียกว่า ข้าวเหลืองทราย ขาวสะอาด ขาวตาแห้ง ประกอบกับการไถนาดำจะใช้ควายในการไถนา ทำเทือกนาเพื่อตี ปรับปรุงดิน ให้นิ่มเพื่อพร้อมสำหรับนาดำ
ส่วนต้นกล้าที่พร้อมถอนมาดำนั้นต้องเป็นต้นกล้าที่มีอายุประมาณ 1 เดือนขึ้นไป ถ้าน้ำแห้งต้นกล้าที่ถอนมาดำจะถอนง่ายมากกว่า ถ้ามีน้ำแฉะการถอนกล้าจะถอนค่อนข้างจะยาก
การเพาะข้าวให้เป็นต้นกล้าเพื่อใช้ปลูกในพื้นที่นากว่า 60 กว่าไร่แต่ละครั้งส่วนใหญ่จะเน้นให้เหลือมากกว่าขาด อีกทั้งพื้นที่นา 60 ไร่นี้จะใช้ระยะเวลาในการดำนาจนแล้วเสร็จได้ประมาณ 1 เดือนเศษ เพราะลักษณะกล้าที่ถอนมาดำจะเป็นแปลงต่อแปลง อีกทั้งขั้นตอนการทำนาดำไม่ค่อยมีขั้นตอนที่ยุ่งยากเท่ากับการเก็บเกี่ยวผลผลิตหรือในช่วงเกี่ยวข้าวที่มีขั้นตอนที่ยากกว่า
เพราะการเก็บเกี่ยวข้าวจะต้องเกี่ยวข้าวแล้วตากให้แห้งก่อนที่จะนวดข้าวเข้าเก็บในยุ้งฉางที่มีอยู่ทุกครัวเรือนเพื่อเก็บข้าวไว้บริโภคหรือจำหน่ายบ้าง การทำนาแต่ก่อนจะทำอยู่ 2 หนต่อปี คือ ทำนาตามฤดูกาลหรือนาปี และนอกฤดูกาล
“สมัยก่อนใช้ควายไถนาทั้งหมด เป็นตัวผู้ทั้งหมด การไถนาสมัยนั้นตี 4 ตี 5 เขาก็ลงนากันแล้ว ไถเสร็จก็ประมาณ 10 โมงเช้าแล้วก็คราดนาให้ดินแตกให้หญ้าออกมาบ้าง แต่ตอนนั้นหญ้าไม่ค่อยเยอะเท่าไหร่ กล้าก็ถอนง่ายเพราะปล่อยน้ำแห้งก่อนค่อยถอน รากจะสั้น รากจะขาว ไม่หนัก ไม่เหมือนสมัยนี้ปล่อยน้ำเข้า ดินเปียก รากจะยาว ถอนยากกว่า”
การทำนาสมัยก่อนจะไม่ทำพร้อมกันในคราวเดียวเหมือนสมัยนี้
ส่วน “ ข้าวเปลือก ” ที่จะเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ในช่วงกลางเดือน 12 ปี ของทุกปี ผลผลิตเฉลี่ย 1 ไร่ ให้ผลผลิตตันกว่านั้นคุณสมชายจะนำข้าวเปลือกบางส่วนไปขายที่โรงสีภายในพื้นที่เพื่อนำรายได้มาจุนเจือครอบครัว แต่ชาวบ้านที่นี่ส่วนใหญ่จะนำข้าวเปลือกไปขายให้กับพ่อค้าหรือที่เรียกว่า “ เรือเจ๊ก ”
ถ้าขายให้กับพ่อค้าเขาจะกดราคาข้าวเปลือกเยอะมาก สมัยนั้นก็มีโรงสีใหญ่และรวยที่สุดในย่านนี้ ซึ่งมี “ เสี่ยอู๊ด ” เป็นเจ้าของโรงสีอยู่ขณะนั้น นอกจากเขาจะเป็นเจ้าของโรงสีแล้ว เขายังมีความรู้ ความสามารถ เกี่ยวกับเรื่องเกษตรข้าวค่อนข้างดีมาก
เขาสามารถอธิบายให้เกษตรกรที่มาสีข้าวกับเขาได้รู้วิธีการตั้งแต่การปลูกข้าว การใส่ปุ๋ย ให้อาหารพืช การบำรุงดูแล และทำเมล็ดข้าวให้ได้คุณภาพด้วยเทคนิคที่เข้าใจง่าย มีลักษณะเด่นที่สังเกตเห็นง่ายๆ
คือเมื่อข้าวตั้งท้องแล้ว เริ่มจะออกรวงห้ามใส่ปุ๋ยเพราะข้าวจะสร้างเนื้อไม่ทัน การดูแลข้าวที่ดี ถูกช่วง ถูกเวลาจะได้เมล็ดข้าวที่เต็ม เมล็ดเต่ง เมล็ดใส เมล็ดสวย จะทำให้ขายข้าวเปลือกได้ราคาดี มีน้ำหนักที่ดี เป็นที่ต้องการของโรงสี พ่อค้าและผู้บริโภค
คุณสมชายเล่าต่ออีกว่า ปัจจุบันมีที่นาอยู่ในพื้นที่ อ.ไทรน้อยประมาณ 50 ไร่ การทำนาจะเน้นทำนาหว่านซะส่วนใหญ่หรือเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้วก็เริ่มต้นทำคนเดียวตั้งแต่การจ้างดำนา ถอนกล้า ฉีดพ่นปุ๋ยยา เก็บเกี่ยวทั้งหมดเพราะตอนหลังลูกไม่ให้ทำให้จ้างอย่างเดียว
การทำนาหว่านที่นี่จะเริ่มตั้งแต่การทำน้ำหมักย่อยสลายตอซังฟางข้าวแล้วไถกลบให้เตาซังเป็นปุ๋ยอีกที ดังนั้นไม่จำเป็นต้องเผาฟางข้าวเพราะต้นข้าวมีประโยชน์มาก แต่บางครั้งถ้าหญ้าเยอะก็เผาบ้างเพราะถ้าไม่เผาเชื้อรามันจะลงจะทำให้ใบข้าวกรอแห้งเสียหายได้
ก่อนจะทำการไถเตรียม ปรับปรุงดิน ไถแปรเพื่อเตรียมทำนาหว่านน้ำตมโดยใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวกับนาหว่านประมาณ 10 กก.ไร่ ลักษณะการทำนาแบบนี้จะเน้นหว่านข้าวและปุ๋ยให้มีความพอดีกับสัดส่วน โดยไม่หว่านข้าวและใส่ปุ๋ยเกินอัตราการผลิต เพราะมันจะทำให้การลงทุนต้องเสียเปล่า เช่น การใส่ปุ๋ยครั้งหนึ่งจำนวนมาก มันจะทำให้เสียปุ๋ยโดยเปล่าประโยชน์ ปุ๋ยจะระเหยหมดไป
ในขณะที่พืชกินปุ๋ยไม่ทัน เป็นการเพิ่มต้นทุนได้ ที่สำคัญการไม่เผาตอซังจะเป็นปุ๋ยให้กับดินได้ โดยครั้งต่อไปอาจจะใส่ปุ๋ยพวกโปแตสเซียม 0-0-60 และ 46-0-0 ก็ให้น้อยลงหรือแทบไม่ต้องใส่เลยก็ได้เพราะตอนนี้ยังทำน้ำหมักชีวภาพขึ้นมาใช้เองควบคู่ไปกับการรักษาหน้าดิน ปรับปรุงดิน ไปในตัว
เหมือนเป็นปุ๋ยอินทรีย์ให้กับดิน ที่บางครั้งอาจจำเป็นต้องใช้สารเคมี ยาฆ่าแมลง เข้ามาช่วยอีกแรงหนึ่ง แต่ก่อนที่ใช้สารเคมีเข้ามาใช้จำเป็นที่จะต้องศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับสารเคมีตัวนั้นก่อนว่ามีผลกระทบต่อดิน คน และพืช มากน้อยแค่ไหน จึงเป็นที่มาของการใช้สาร “ ไรโซเดียม ” ที่มีประสิทธิภาพมาก เมื่อนำไปราดตอซัง หญ้าและเชื้อรานั้นหายหมดเลย แล้วมันช่วยให้ดินอุ้มน้ำได้ดีด้วย
คุณสมชายเผยว่าการทำนาที่นี่ให้ผลผลิตที่เฉลี่ย 100 กว่าถัง/ไร่ ที่มีต้นทุนสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว ประกอบกับราคาขายข้าวที่ค่อนข้างถูกทำให้ชาวนาวันนี้มีรายได้ที่น้อยลงเมื่อเทียบกับต้นทุนที่สูงขึ้นและเน้นการจ้างเป็นหลักอย่างนี้
ดังนั้นเกษตรกรทุกคนควรตระหนักถึงความสำคัญของการทำเกษตรแบบยั่งยืนและมีคุณภาพ ควรให้ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม สามารถที่จะพลิกแพลงเกี่ยวกับนวัตกรรมใหม่ๆ ที่กำลังเติบโตทางการเกษตร โดยการลงทุนต่ำ แต่ให้ผลผลิตที่ค่อนข้างปริมาณมากและคุณภาพสูง โดยลดปริมาณสารพิษ แต่เน้นให้ธรรมชาติเข้ามาทดแทนจะช่วยลดต้นทุนได้อีกทาหนึ่งด้วย
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม นายสมชาย ฟักเขียว โทร. 099-083-1318
ไรโซเดียม ปลูกข้าว ปรับปรุงดิน เทคนิคเพิ่มคุณภาพข้าว