“คุณทำนาเคมีเคยได้กำไรหมื่นกว่าบาทต่อไร่ใหม ? ”นี่คือคำพูดของ คุณพัศพงศ์ ธนาธัญวิวัฒน์ อดีตข้าราชการครู ที่ผันตัวมาเป็นเกษตรกรชาวนา ด้วยปฏิภาณอันแน่วแน่ที่จะผลิตข้าวอินทรีย์ปลอดสารพิษไว้บริโภค และจำหน่ายให้แก่คนในพื้นที่ อ.ศรีประจันต์ จ.สุพรรณบุรี เพื่อใช้บริโภค แทนยา พืชบํารุงดิน
คุณพัศพงศ์ ธนาธัญวิวัฒน์ ปลูกข้าวอินทรีย์ปลอดสารพิษ จ.สุพรรณบุรี
จากการลองผิดลองถูก และการศึกษาในเรื่องของเทคนิคและเคล็ดลับในการทำนา จนมีความชำนาญในการทำนาอินทรีย์ จึงถือกำเนิดข้าวอินทรีย์ “ธนาธัญ” ขึ้นมา โดยมีกลุ่มลูกค้าภายในพื้นที่และต่างจังหวัดให้การตอบรับสินค้าเป็นอย่างดี ส่งผลให้มีกำไรจากการทำนาแต่ละครั้งเฉลี่ย 1 หมื่นบาทต่อไร่
ซึ่งทำให้คุณพัศพงศ์มีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นมาก ซึ่งในเวลานี้แบรนด์ข้าวอินทรีย์ “ธนาธัญ” ที่กำลังได้รับความนิยมจนติดลมบนอย่างมาก ทั้งนี้คุณพัศพงศ์เปิดเผยข้อมูลกับทีมงานว่า หลังจากการเกษียณราชการครูทำให้มีเวลาว่างมากขึ้น และเนื่องด้วยมีพื้นที่ว่าง จึงคิดว่าจะนำพื้นที่ว่างเหล่านั้นมาใช้ให้เกิดประโยชน์ โดยหันมาปลูกข้าวเพื่อบริโภค และเสริมสร้างรายได้ให้แก่ครอบครัว
การทำนาอินทรีย์
จากการเริ่มทำนาในครั้งแรกนั้นคุณพัศพงศ์ได้นำพื้นที่กว่า 9 ไร่ ปลูกข้าวขาวทั่วไป โดยใช้รูปแบบนาดำ ทั้งนี้ในการทำนาจะเน้นการปลูกแบบนาเคมี โดยมีการนำปุ๋ยเคมีและยาเคมีเข้ามาช่วยในการปลูกข้าวเกือบ 100 % ทำให้มีต้นทุนการทำนาที่สูงมาก เฉลี่ยถึง 5,000-5,500 บาทต่อไร่ เมื่อนำข้าวขายส่งโรงสีแทบไม่มีกำไร
และเมื่อลองมองดูจากบันทึกข้อมูลรายรับ-รายจ่ายต่างๆ ในการทำนา ทำให้เขาเห็นได้ว่าค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่หมดไปกับค่าปุ๋ย-ยาเคมี จึงคิดว่าหากทำนาเคมีต่อไปมีหวังไม่รอดแน่ๆ เนื่องจากปุ๋ยเคมี และยาเคมี มีราคาสูง และ การขายข้าวให้กับโรงสีที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ จึงเป็นไปได้ยากที่จะได้กำไรจากการทำนาเคมี
ทั้งนี้ทำให้คุณพัศพงศ์มองหาทางออกในการทำนา โดยศึกษาความรู้ และเทคนิคต่างๆ ในการลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต ตลอดจนการแปรรูป และด้านการตลาด โดยไม่ต้องง้อโรงสี ซึ่งจากการศึกษาจากสื่อต่างๆ การอบรมสัมมนา และจากคำแนะนำจากเกษตรกรชาวนาที่ประสบความสำเร็จ ทำให้เขามองเห็นทางออกของปัญหานี้
โดยการนำหลักการ “การทำนาอินทรีย์” มาปรับใช้ในการทำนาของตน และได้ตั้งอุดมการณ์ว่าจะผลิตข้าวอินทรีย์ปลอดสารพิษไว้บริโภค และจำหน่ายให้แก่คนในพื้นที่ อ.ศรีประจันต์ จ.สุพรรณบุรี เพื่อใช้บริโภคแทนยาในอนาคตสืบไป
การป้องกันกำจัดโรคและแมลง
คุณพัศพงศ์เปิดเผยว่าในฤดูกาลต่อมาเขาได้ตัดสินใจจัดสรรพื้นที่กว่า 20 ไร่ ทำการปลูกข้าวในรูปแบบนาอินทรีย์ ซึ่งจากการเก็บข้อมูลบันทึกรายรับ-รายจ่ายในการทำนาเคมีครั้งแรก ทำให้รู้ว่าอันไหนสามารถลดต้นทุนได้ ก็จะไม่ใช้ เช่น ปุ๋ยเคมี และยาเคมี ที่มีราคาแพง ก็ไม่นำมาใช้
แต่จะใช้เป็นปุ๋ยอินทรีย์ น้ำหมัก และฮอร์โมนต่างๆ ที่ผลิตขึ้นในกลุ่มของเกษตรกรในชุมชนมาใช้แทน ซึ่งทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายได้เป็นอย่างดี หากเทียบกับการใช้ปุ๋ย-ยาเคมี ทั้งนี้เขายังบอกต่อว่าในส่วนของการป้องกันโรคและแมลงศัตรูข้าว
ซึ่งเมื่อก่อนใช้บิวเวอร์เรียมากเกินความจำเป็น ด้วยความรู้ที่ไม่ถูกต้อง หากมองดูในองค์ประกอบเล็กๆ น้อยๆ ต่างๆ ในกระบวนการทำนา ทั้งการใช้ปุ๋ย และการป้องกันแมลงศัตรูพืช จึงทำให้มีค่าใช้จ่ายที่สูง แต่เมื่อเราเข้าใจหลักการใช้งานอย่างถูกวิธี ทำให้เราลดต้นทุนลงมาได้เยอะมาก มีต้นทุนการทำนาเฉลี่ย 3,500 บาทต่อไร่ ซึ่งลดลงจากการทำนาเคมีได้มากถึง 1,500-2,000 บาทต่อไร่
การจำหน่ายข้าวอินทรีย์
ปัจจุบันคุณพัศพงศ์ปลูกข้าวทั้งหมด 22 ไร่ โดยเน้นปลูกข้าวที่มีประโยชน์ทางโภชนาการสูงๆ ได้แก่ ข้าวไรซ์เบอรี่ ข้าวหอมปิ่นเกษตร ข้าวหอมมะลิแดง และข้าวหอมนิล ทั้งนี้ผลผลิตข้าวแต่ละชนิดนั้นจะมีการนำมาแพ็ค ผ่านเครื่องสุญญากาศ และจำหน่ายภายใต้แบรนด์ “ข้าวอินทรีย์ ธนาธัญ”
โดยการจำหน่ายในราคา
- ข้าวไรซ์เบอรี่ 80 บาท/กก.
- ข้าวหอมมะลิแดง 55 บาท/กก.
- ข้าวหอมนิล 50บาท/กก. และ
- ข้าวหอมปิ่นเกษตร 50 บาท/กก.
ซึ่งผลผลิตข้าวส่วนใหญ่นั้นจะมีการส่งขายตามร้านค้าทั่วไปในชุมชน และส่วนราชการต่างๆ ตลอดจนมีการจำหน่ายผ่านโซเซียลมีเดียต่างๆ ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ส่งผลให้มีลูกค้าแวะหมุนเวียนเข้ามาซื้อข้าวอินทรีย์ธนาธัญกันอย่างไม่ขาดสาย เพราะเชื่อมั่นในความปลอดภัยจากสารพิษนั่นเอง ส่งผลให้คุณพัศพงศ์และครอบครัวมีกำไรในการทำนาแต่ละครั้งเฉลี่ย 10,000 กว่าบาทต่อไร่
ปลูกถั่วเขียวบำรุงดิน พืชบํารุงดิน ใช้จุลินทรีย์ย่อยสลายตอซัง
การเตรียมดินถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญในการทำนาเพื่อให้ประสบความสำเร็จ จากพื้นดินที่เคยผ่านการทำนาเคมีมาก่อน ทำให้ต้องมีการเร่งปรับสภาพฟื้นฟูดินโดยด่วน ซึ่งทางคุณพัศพงศ์นั้นกล่าวต่อว่าหลังจากการเก็บเกี่ยวแล้วทุกครั้งจะมีการนำถั่วเขียวมาปลูกเพื่อบำรุงดินแบบปุ๋ยพืชสด
ในส่วนของกระบวนการปรับบำรุงดินโดยการใช้ถั่วเขียวนี้จะใช้ประมาณ 5 กิโลกรัมต่อไร่ ซึ่งใน 1ไร่ “การปลูกถั่วเขียวแต่ละรอบนั้นจะได้ผลผลิตประมาณ 200 กิโลกรัมขึ้นไปต่อไร่ ซึ่งทำให้มีรายได้จากการขายถั่วเขียวในช่วงพักนา ทั้งยังเป็นประโยชน์ต่อพื้นดินของเราด้วย
หากมองดูต้นทุนในการปลูกถั่วเขียวนั้นจะอยู่ที่ 400 บาทต่อไร่ แต่ให้ผลผลิตสูงถึง 200 กิโลกรัมขึ้นไปต่อไร่ ทำให้มีรายได้จากการขายถั่วเขียวสูงถึง 10,000 บาทต่อไร่ ซึ่งขายอยู่ในราคากิโลกรัมละ 55 บาท ส่งผลให้ไม่ต้องควักทุนเยอะในการทำนารอบต่อไป แถมยังได้ปุ๋ยซึ่งจะได้ประโยชน์ 2 เด้งเลย” คุณพัศพงศ์ให้ความเห็นถึงข้อดีของถั่วเขียว
นอกจากนี้ใช้จุลินทรีย์ผักตบชวาย่อยสลายตอซังแทนการเผา โดยการนำผักตบชวามาสับๆ รวมกัน จากนั้นนำมาหมักผสมกับสารพด. 2 และนำมาเทลงที่ปากทางน้ำ เพื่อให้จุลินทรีย์นั้นกระจายตัวไปรอบๆ แปลงนา ในการหมักตอซังนี้จะใช้ระยะเวลาประมาณ 2-3 อาทิตย์ ตอซังและฟางข้าวจะย่อยสลายไปในที่สุด และกลายเป็นปุ๋ยต่อไป ซึ่งจุดเด่นของจุลินทรีย์ตัวนี้สามารถย่อยสลายตอซังและฟางข้าวได้อย่างรวดเร็ว ทั้งยังเป็นการบำรุงดินได้ไปในตัว
การใส่ปุ๋ยอินทรีย์ในต้นข้าว
คุณพัศพงศ์เปิดเผยว่าปุ๋ยและฮอร์โมนเป็นปัจจัยที่สามารถช่วยกระตุ้นในเรื่องผลผลิตข้าวได้ โดยจะเข้าไปบำรุงทุกส่วนของต้นข้าว ในส่วนการใช้ปุ๋ยนั้นจะมีการใส่ปุ๋ยในช่วงข้าวอายุประมาณ 65-70 วัน (ช่วงรับท้อง) โดยจะใช้ปุ๋ยอินทรีย์สำเร็จรูปของ “เทพวานร” ในการบำรุงข้าว ทั้งนี้เขายังบอกต่อว่าหลังจากการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ของเทพวานรทำให้เขาเห็นความแตกต่างมากมาย เช่น ข้าวมีความสมบูรณ์มากขึ้น ต้นข้าวแข็งแรง ไม่ล้ม เมล็ดข้าวสวย มีน้ำหนัก และที่สำคัญมีแนวโน้มได้ผลผลิตมากยิ่งขึ้นอีกด้วย
นอกจากการใส่ปุ๋ยแล้วยังมีการนำฮอร์โมนไข่มาฉีดพ่นต้นข้าวในช่วงข้าวอายุ 65-70 วัน เช่นกัน เพื่อเป็นการบำรุงต้นข้าวให้มีความอุดมสมบูรณ์ที่สุด และจากการใช้ปุ๋ยและฮอร์โมนนี้ทำให้คุณพัศพงศ์มีผลผลิตข้าวอินทรีย์เฉลี่ยอยู่ที่ 600-700 กิโลกรัมต่อไร่ ส่งผลให้มีกำไรในการทำนาแต่ละครั้งเพิ่มมากขึ้น
ฝากถึง…เกษตรกรชาวนา
ตบท้ายด้วยข้อคิดของคุณพัศพงศ์ที่อยากฝากถึงเกษตรกรชาวนา “อยากให้ชาวนาคิดถึงความปลอดภัยในการผลิตข้าวเป็นอันดับแรก ผลิตข้าวให้มีคุณภาพกันมากขึ้น โดยหันมาทำนาอินทรีย์ปลอดสารพิษ เพราะมีประโยชน์แก่ตัวชาวนาเอง และผู้บริโภค
อีกทั้งการทำนาอินทรีย์ยังเป็นช่องทางในการที่จะช่วยแก้ปัญหาราคาข้าวตกต่ำได้ด้วย ซึ่งดีกว่าการปลูกข้าวทั่วไปส่งให้กับโรงสี ในการทำนาอินทรีย์จึงเป็นทางเลือกและทางรอดของพี่น้องเกษตรกรชาวนา ที่จะทำให้มีความมั่นคงในอาชีพการทำนามากขึ้นนั่นเอง ”
ขอขอบคุณ คุณพัศพงศ์ ธนาธัญวิวัฒน์ 100/3 ต.ท่าพี่เลี้ยง อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี 72000