การที่จะทำให้ได้ผลผลิตจากข้าวอย่างมีประสิทธิภาพ ก็จะขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายๆ อย่าง ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะส่งผลต่อการเจริญเติบโตของต้นข้าว และเมื่อต้นข้าวเจริญเติบโตดี ก็จะทำให้ผลผลิตที่ได้ออกมานั้นดี และมีคุณภาพ ปัจจัยหลักๆ ในการทำนา ที่ชาวนาไทยควรให้ความสำคัญ ได้แก่ ที่ดิน สภาพอากาศ น้ำ เมล็ดพันธุ์ การจัดการ ฯลฯ
ซึ่งปัจจัยที่ได้กล่าวข้างต้นมานี้มีอยู่ปัจจัยหนึ่งที่ชาวนาควรให้ความสำคัญ นั่นก็คือ เมล็ดพันธุ์ ซึ่งการที่จะปลูกข้าว แน่นอนว่าต้องมีการตรวจสอบเมล็ดพันธุ์ก่อนที่จะนำมาให้เกษตรกรปลูก เพื่อเพิ่มความมั่นใจให้กับเกษตรกร และช่วยให้ได้ผลผลิตที่ดี มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อที่จะได้นำเมล็ดพันธุ์ดีมาใช้ได้ในครั้งถัดไป
ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันก็มีบุคคลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นบุคคลทั่วไป หรือหน่วยงานราชการ เข้ามาส่งเสริมในเรื่องของเมล็ดพันธุ์ข้าว เพื่อให้ชาวนาไทยได้มีเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ดีไว้ใช้ ซึ่งในประเทศไทยนั้นก็จะมีหน่วยงานหนึ่งที่คอยสนับสนุนในเรื่องนี้ ก็คือ กรมการข้าว ที่เป็นศูนย์กลางในการเก็บรวบรวมพันธุ์ข้าว เพื่อแจกจ่ายออกไปให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าว โดยผ่านทางหน่วยงานราชการตามจังหวัดต่างๆ อย่างทั่วถึง
“กินข้าวเป็นหลัก กินผักเป็นยา กินปลาเป็นอาหาร” ต่อไปสโลแกนนี้คงจะเป็นที่คุ้นหู คุ้นตา คนไทยกันก็ได้ นี่คือสโลแกนของทางศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวจังหวัดพะเยา ที่คิดขึ้นมาเพื่อตอบรับนโยบายของท่านนายกรัฐมนตรี เพื่อต้องการให้คนหันมาใส่ใจในเรื่องของสุขภาพ และสนใจในเรื่องของการค้าขายทางด้านการเกษตรในอนาคต และเมื่อกล่าวมาถึงขนาดนี้แล้ว สิ่งแรกที่เรานึกถึงเห็นจะเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ นั่นก็คือ ข้าว ซึ่งเป็นสิ่งที่คนไทยทุกคนบริโภคกันอยู่ทุกวัน
การจัดตั้งศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวจังหวัดพะเยา
ทีมงาน ข้าวเศรษฐกิจได้มีโอกาสขึ้นไปทางภาคเหนือ เพื่อไปสัมภาษณ์ ท่าน ผอ.ทัศน์ เกยงค์ ผู้อำนวยการศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวจังหวัดพะเยา ซึ่งถือว่าเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้เข้าไปสัมภาษณ์ และพูดคุยกับท่าน ทั้งในเรื่องของวัตถุประสงค์ต่างๆ และการเข้ามาส่งเสริมเกษตรกรในหลายๆ ด้านอีกด้วย
ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวจังหวัดพะเยาได้เริ่มก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2529 ในสังกัดกรมส่งเสริมการเกษตร โดยใช้ชื่อว่า ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 8 จังหวัดพะเยา ที่ผลิตทั้งข้าว และพืชไร่ ต่อมาเมื่อปี 2549 ก็ได้มีการปรับโครงสร้างของทางกระทรวงฯ ได้มีการรวบรวมผู้ผลิตข้าวไว้ด้วยกันทั้งระบบ จึงได้จัดตั้งกรมการข้าวขึ้นมา โดยได้เปลี่ยนชื่อจากศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 8 จังหวัดพะเยา มาเป็น ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวจังหวัดพะเยา สังกัดกรมการข้าว
ในการก่อตั้งศูนย์ช่วงแรก ทางศูนย์ฯ ได้งบสนับสนุนจาก OECF เมื่อปี 2529 (เศรษฐกิจโพ้นทะเลประเทศญี่ปุ่น) และต่อมาก็ได้งบประมาณจากรัฐบาลไทย โดยงบสนับสนุนจาก OECF ในช่วงแรกทางศูนย์ฯ ได้มีการจัดสร้างโรงงานที่ประกอบไปด้วยเครื่องจักรที่ใช้ในการคัดเมล็ดพันธุ์ข้าวจำนวน 2 โรงงาน จากนั้นเมื่อปี 2544 ทางศูนย์ฯ ก็ต้องการที่จะเพิ่มกำลังการผลิต จึงได้งบประมาณของรัฐบาลไทยมาก่อตั้งเพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตอีกหนึ่งโรงงาน
การผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว
ปัจจุบันทางศูนย์ฯ มีภารกิจหลัก คือ การผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวไม่ต่ำกว่า 3,000 ตันต่อปี โดยในปี 2556 สามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวได้ถึง 3,100 ตัน และในปี 2557 ได้ 3,450 ตัน โดยข้าวที่ทางศูนย์ฯ ผลิตมี 4 พันธุ์ ได้แก่ พันธุ์พิษณุโลก 2 ซึ่งปลูกได้ทั้งฤดูฝนและแล้ง พันธุ์หอมมะลิ 2 พันธุ์ คือ กข.15, ขาวดอกมะลิ 105 และข้าวเหนียวพันธุ์ กข.6
ทางศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวจังหวัดพะเยา ปัจจุบันมีบุคลากรที่เป็นข้าราชการอยู่ทั้งหมด 16 คน และมีลูกจ้างประจำอยู่จำนวน 24 คน โดยมีการแบ่งหน้าที่ในการทำงานแต่ละฝ่ายแตกต่างกันไป ซึ่งจะแบ่งออกได้ดังนี้
1.ฝ่ายบริหารงานบุคคล เช่น ธุรการ พัสดุ การเงิน เป็นต้น
2.กลุ่มผลิตเมล็ดพันธุ์ จะทำการประสานงานกับเกษตรกร
3.กลุ่มควบคุมคุณภาพเมล็ดพันธุ์ จะมีการตรวจสอบคุณภาพเมล็ดพันธุ์
4.กลุ่มพัฒนาธุรกิจเมล็ดพันธุ์ จะทำหน้าที่ในการดูแลรักษา เก็บเมล็ดพันธุ์ และมีการจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ให้กับเกษตรกร
5.กลุ่มถ่ายทอดความรู้ในการผลิตเมล็ดพันธุ์ จะช่วยส่งเสริม และให้องค์ความรู้กับเกษตรกร
การคัดเมล็ดพันธุ์ข้าว
เครื่องจักรที่ใช้ในการคัดเมล็ดพันธุ์ข้าวทั้งหมดได้มาจากการประมูลจากทางราชการ โดยเครื่องจักรทั้งหมด 2 โรงงาน จะมีระบบการทำงานเหมือนกัน แต่อุปกรณ์ เครื่องมือ จะแตกต่างกัน เนื่องจากมีการแบ่งออกเป็นโรงงานผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวเหนียว และโรงงานผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวเจ้า เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการปนกันของเมล็ดพันธุ์ข้าว
โดยขั้นตอนของการผลิตเมล็ดพันธุ์ก็จะมีดังนี้ อันดับแรกต้องมีการคัดทำความสะอาดเมล็ดพันธุ์เบื้องต้นก่อน จากนั้นก็จะเป็นการลดความชื้นของเมล็ดพันธุ์ เสร็จแล้วก็จะไปที่เครื่องการคัดขนาดเมล็ดพันธุ์ เพื่อแยกขนาดของเมล็ดพันธุ์ที่แตกต่างกันออกไป จากนั้นเมล็ดพันธุ์ก็จะถูกนำไปคลุกสารเคมี แล้วสุดท้ายก็นำไปแพ็คใส่กระสอบ และทุกครั้งที่ทำการคัดเมล็ดพันธุ์เสร็จแล้วก็ต้องมีการทำความสะอาดเครื่องจักรตลอด เพื่อไม่ให้มีการปนกันของเมล็ดข้าวแต่ละพันธุ์
การจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าว
ปัจจุบันทางศูนย์ฯ ได้ให้เกษตรกรเป็นทั้งผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ และขายเมล็ดพันธุ์ โดยในการผลิตเมล็ดข้าว ทางศูนย์ฯ จะเป็นผู้เข้าไปควบคุมทุกขั้นตอนในการผลิต โดยมีเงื่อนไขว่าทางศูนย์ฯ จะรับซื้อเมล็ดพันธุ์ที่ทางเกษตรกรขายให้ โดยที่มีราคาสูงกว่าท้องตลาด 10-20% ตามคุณภาพของเมล็ดพันธุ์ และเมล็ดพันธุ์ข้าวที่เกษตรกรนำมาขายให้กับทางศูนย์ฯ จะต้องมีการนำมาปรับปรุงสภาพ โดยเข้าโรงงานของทางศูนย์ฯ ทุกกระบวนการ จากนั้นถึงจะนำไปจำหน่ายให้กับเกษตรกรได้ทั่วไป
ส่วนราคาของเมล็ดพันธุ์ ปัจจุบันนี้ทางศูนย์ฯ มีโครงการคืนความสุขให้กับเกษตรกร ซึ่งจะมีการลดราคาเมล็ดพันธุ์ข้าวต่อกิโลกรัมให้กับเกษตรกรทั่วไป ซึ่งส่วนใหญ่เกษตรกรจะปลูกพันธุ์พิษณุโลก 2
พันธุ์ข้าว | ราคาก่อนหน้านี้ (บาทต่อกิโลกรัม) |
ราคาปัจจุบัน (บาทต่อกิโลกรัม) |
กข.15 และ ขาวดอกมะลิ 105 | 29 | 25 |
พิษณุโลก 2 | 23 | 16.50 |
กข.6 | 25 | 22 |
ในการผลิตเมล็ดข้าว จะมีคนของศูนย์ฯ เข้าไปตรวจสอบทุกขั้นตอน ตั้งแต่การเตรียมดินจนถึงการเก็บเกี่ยว ซึ่งเกษตรกรที่จะเข้าโครงการนี้จะต้องมีการรวมกลุ่มกันมาก่อน ไม่จำเป็นจะต้องเป็นวิสาหกิจชุมชน แต่อาจจะเป็นกลุ่มเกษตรกรของแต่ละหมู่บ้าน โดยมีเงื่อนไขว่าพื้นที่การเพาะปลูกจะต้องเหมาะสม เกษตรกรต้องเข้าใจและรับในหลักการของทางศูนย์ฯ ได้ เมื่อมีการเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จแล้วจะต้องมีการนำมาตรวจสอบคุณภาพของเมล็ดพันธุ์ข้าว
โดยจะมีเกณฑ์ในการตัดสิน เช่น ต้องมีเปอร์เซ็นต์การงอก 85% ขึ้นไป ถ้าต่ำกว่านี้ก็จะต้องให้ทางเกษตรกรนำไปขายตามตลาดทั่วไป ตามโรงสีข้าว ซึ่งราคาที่ให้ก็จะแตกต่างกันไปตามเปอร์เซ็นต์การงอก ถ้าของเกษตรกรคนไหนมีเปอร์เซ็นต์การงอกมาก ก็จะได้ราคาดีกว่าเกษตรกรที่มีเปอร์เซ็นต์การงอกน้อย แต่ต้องไม่ต่ำกว่า 85% เพราะที่ศูนย์ฯ รับซื้อแค่เมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพเท่านั้น
การส่งเสริมการ ทำนาขั้นบันได
โครงการและนโยบายของทางศูนย์ฯ ปัจจุบันก็จะมีการลดราคาพันธุ์ข้าวให้กับเกษตรกร และเข้าไปให้ความรู้กับเกษตรกร ทั้งที่อยู่บนเขาจนถึงพื้นที่ด้านล่าง ทั้งโครงการพระราชดำริ โครงการหลวง เนื่องจากเกษตรกรที่อาศัยอยู่บนเขา มีข้าวไม่พอกิน จึงต้องไปให้ความรู้ จน ณ ปัจจุบันนี้มีข้าวพอกินแล้ว และก็มีการส่งเสริมในเรื่อง ทำนาขั้นบันได ให้กับเกษตรกรที่อยู่บนเขาอีกด้วย
การ ทำนาขั้นบันได คือ การทำนาบนพื้นที่สูง โดยการขุดปรับพื้นที่ที่เคยใช้ปลูกพืชไร่ เพื่อเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการลดปัญหาการทำไร่เลื่อนลอย การขาดแคลนพื้นที่ราบ ช่วยเพิ่มผลผลิตข้าว และสร้างความมั่นคงทางอาหาร บนพื้นที่สูงจากพื้นที่ทำการเกษตรธรรมดาในวันนี้ นาขั้นบันไดถือเป็นสิ่งมหัศจรรย์ที่ดึงดูดใจนักท่องเที่ยวให้มาค้นหาเสน่ห์ของนาขั้นบันไดที่ลัดเลาะตามไหล่เขาหรือเนินเขาสูง ทั้งนี้ทำได้โดยการสร้างคันดินทำให้เกิดร่องน้ำ ปรับพื้นที่ให้มีลักษณะเช่นเดียวกับขั้นบันได เพื่อใช้ปลูกพืช เพื่อที่จะลดความลาดชันของพื้นที่ และช่วยลดอัตราการไหลบ่าของน้ำบนผิวดิน ช่วยให้พืชนำแร่ธาตุที่มีอยู่ในดินไปใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น และเป็นการใช้พื้นที่ได้อย่างคุ้มค่า
ประโยชน์ของการทำนาขั้นบันได
1.เพื่อลดความยาวและระดับของความลาดเท ช่วยลดการไหลบ่าของน้ำ และควบคุมการชะล้างพังทลายของดิน
2.เพื่อสะดวกในการไถพรวน
3.เพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ในการเกษตร
เมล็ดพันธุ์ที่เกษตรกรเป็นผู้ผลิตส่งให้กับทางศูนย์ฯ จะต้องปลอดจากการใช้สารเคมี ทางศูนย์ฯ มีการส่งเสริมในเรื่องของคุณภาพชีวิตของเกษตรกรเอง และคุณภาพของเมล็ดพันธุ์ข้าว ซึ่งต้องคิดถึงสภาพแวดล้อม และถ้าไม่ผ่านตามกติกาของทางศูนย์ฯ เกษตรกรก็จะต้องเอาไปขายให้กับโรงสีข้าว เพราะปัจจุบันนี้ศูนย์ฯ เองก็ได้ทำงานวิจัยเรื่องไตรโคเดอร์มา ร่วมกับมหาวิทยาลัยพะเยา
โดยให้อาจารย์ทางมหาวิทยาลัยพะเยาเป็นผู้ดูแลในเรื่องของการทำแลป ส่วนในเรื่องของการลองนำมาทดลอง ทางศูนย์ฯ ก็จะนำมาให้เกษตรกรในเครือข่ายได้ทดลอง ซึ่งการใช้ไตรโคเดอร์มาในนาข้าวจะช่วยทำให้ข้าวแข็งแรง และจะไม่มีโรคเข้ามาแทรก
การให้ความรู้เรื่องการทำปุ๋ยชีวภาพ ปุ๋ยอินทรีย์
ทางศูนย์ฯ จะมีการเข้าไปให้ความรู้ อบรม กับเกษตรกร ในเรื่องการทำปุ๋ยชีวภาพ ปุ๋ยอินทรีย์ เพราะถ้าใช้ปุ๋ยอินทรีย์ก็จะทำให้ดินร่วนซุย ซึ่งเกษตรกรส่วนใหญ่มักจะใช้ปุ๋ยเคมี ทำให้ดินแข็ง เป็นกรด
ปัจจุบันทางศูนย์ฯ ก็ได้มีการรณรงค์ให้เกษตรกรหันมาพึ่งธรรมชาติมากขึ้น แต่ก็ยังมีเกษตรกรบางรายที่อาจจะใส่ปุ๋ยเคมีอยู่บ้าง เพราะเกษตรกรเขาก็ต้องการผลผลิตที่มากขึ้น แต่ทางศูนย์ฯ ก็ได้พยายามชี้แจงข้อดี-ข้อเสีย ของการใช้ปุ๋ยแต่ละแบบ และอธิบายในเรื่องของคุณภาพเมล็ดพันธุ์ข้าว ซึ่งจะต้องมาเป็นอันดับ 1 เพราะไม่อย่างนั้นจะไม่สามารถขายได้
ปัญหาและอุปสรรค ในปี 2557 ยังไม่พบปัญหามากนัก แต่เมื่อปี 2556 เจอปัญหาเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล โรคไหม้ และโรคเมล็ดด่าง บ้างบางส่วน เพราะในสภาพพื้นที่ของทางภาคเหนือมีภูเขาล้อมรอบ ทำให้ความชื้นสูง ส่งผลให้เกิดโรคเมล็ดด่าง
แนวโน้มในอนาคต
เมื่อถามถึงทัศนคติของท่าน ผอ. ทัศน์ เรื่องข้าวในอนาคต ท่านบอกว่า “เข้า AEC แล้วข้าวไทยเราต้องปรับปรุงอีกมาก แนวความคิดของเกษตรกร ให้เขาตระหนักในเรื่องคุณภาพชีวิตของผู้ผลิต และผู้บริโภค และให้เขาเน้นตระหนักในเรื่องของคุณภาพผลผลิต ไม่ให้สารปนเปื้อน เราต้องทำตรงนี้ก่อน ต้องเปลี่ยนความคิด” ทางศูนย์ฯ ก็ได้รับนโยบายมาจากกรมการข้าว โดยมีมาตรการที่จะให้เกษตรกรลดต้นทุนการผลิต เพราะปัจจุบันนี้ข้าวมีราคาสูงมาก โดยมาตรการที่ว่านี้คือ “3 ต้องทำ 3 ต้องลด”
มาตรการ 3 ต้องทำ ได้แก่
1.ต้องใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพ
2.ต้องปลูกข้าวปีละไม่เกินปีละ 2 ครั้ง
3.ต้องทำบัญชีฟาร์ม
มาตรการ 3 ต้องลด ได้แก่
1.ลดอัตราการใช้เมล็ดพันธุ์
2.ลดอัตราการใช้ปุ๋ยเคมี
3.ลดการใช้สารเคมี
และยังมีวิธีการลดเป็นขั้นตอน ได้แก่ ลด ละ เลิก นั่นก็คือ ลดการใช้ปัจจัยการผลิตที่ฟุ่มเฟือยลง ละการใช้สารเคมีที่ไม่จำเป็น และเลิกการใช้สารเคมี ปุ๋ยเคมี ทั้งหมด
ถ้าทำครบทั้งหมดนี้ได้ก็ทำให้ช่วยในเรื่องการลดต้นทุน และเข้าสู่เกษตรอินทรีย์ได้ โดยใช้หลักการเศรษฐกิจพอเพียง สิ่งที่ตามมา คือ คุณภาพชีวิตของผู้ผลิต ผู้บริโภคก็จะดี แล้วก็คุณภาพผลผลิตก็จะดี เพราะไม่มีสารปนเปื้อน
ฝากถึงเกษตรกรผู้ปลูกข้าว
ฝากถึงเกษตรกร “ในอนาคตอยากจะให้เกษตรกรปลูกข้าวตามระบบของ GAP คือ ปฏิบัติทางการเกษตรที่เหมาะสม อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อที่จะได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ โดยการเข้ามาร่วมกับศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวก็ได้ ตอนนี้เรามีโครงการ GAP อยู่ คือ การเตรียมตัวเข้าสู่ GAP ก็จะให้เขารู้ว่าการที่จะเข้าสู่ GAP เขาจะได้อะไรบ้าง ตอนนี้ไม่ได้ แต่อนาคตได้อย่างแน่นอน
เพราะเข้าสู่ AEC ก็จะมีการค้าขายโดยเสรี การแข่งขันก็จะสูง ของคนไหนไม่ดีก็ไม่ซื้อ ของคนไหนดีเขาก็ซื้อ โดยที่ไม่มีภาษี เพราะฉะนั้นเราจะได้ในเรื่องของคุณภาพแค่นั้นเอง ถ้าเราเข้าสู่ข้าว GAP คือ ข้าวปฏิบัติทางการเกษตรอย่างเหมาะสม สารเคมีไม่จำเป็นอย่าไปใช้ ใช้ของอินทรีย์นี่แหละ เป็นการช่วยให้ผู้บริโภคอุ่นใจ มั่นใจว่าปลอดภัย ก็จะสามารถขายได้ ต่อสู้กับประเทศข้างเคียงของเราได้”
ฝากถึงคนทั่วไป “ท่านนายกรัฐมนตรีท่านมีแนวคิดอยากจะให้คนทั้งโลกบริโภคข้าว ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวของเราก็มาคิดว่าจะทำยังไงในการรณรงค์ จึงมาคิดสโลแกนว่า อยากให้คนทั้งโลกกินข้าว สโลแกนก็คือ กินข้าวเป็นหลัก กินผักเป็นยา กินปลาเป็นอาหาร”
ขอขอบคุณ ผอ.ทัศน์ เกยงค์
ผู้อำนวยการศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าว จังหวัดพะเยา
เลขที่ 280 หมู่ที่ 12 ตำบลท่าวังทอง อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา รหัสไปรษณีย์ 56000
โทร.0-5441-1004 แฟกซ์ 0-5441-0951
ทำนาขั้นบันได ทำนาขั้นบันได ทำนาขั้นบันได ทำนาขั้นบันได ทำนาขั้นบันได ทำนาขั้นบันได ทำนาขั้นบันได ทำนาขั้นบันได ทำนาขั้นบันได ทำนาขั้นบันได ทำนาขั้นบันได