นวัตกรรม เครื่องหยอดข้าว เอนกประสงค์ ประหยัดเมล็ดพันธุ์จาก 25 กก./ไร่ เหลือเพียง 4 กก./ไร่ ใช้ปลูกพืชได้หลายชนิด
จากการที่นิตยสารข้าวเศรษฐกิจ ได้ตีพิมพ์ประวัติผลงาน คุณอัสนี รัตนวิจารณ์ นายก อบต.ศรีวิชัย อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร ผู้ปลูกข้าวต้นเดียว ผลผลิตไร่ละ 1,120 กก. จนเกิดกระแสไปทั่วประเทศ
วันนี้คุณอัสนี หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “นายกเปี๊ยะ” กลายเป็นดาวค้างฟ้าในการปลูกข้าวต้นเดียว ด้วย “เครื่องหยอดข้าว” ที่มีความเป็นเลิศด้านประสิทธิภาพการปลูก ก่อให้เกิดการประหยัดต้นทุน จนฮือฮาระดับประเทศ ทำให้ชาวนาหลายจังหวัดมีกำไรจากการทำนาอย่างชัดเจน
แม้ไม่ได้นั่งเป็นนายก อบต. เพราะภารกิจการยกระดับชาวนาผู้ยากจนสู่การมีรายได้และชีวิตที่ดี ก่อให้เกิดชุมชนพลเมืองฐานรากที่เข้มแข็ง กลับส่งผลให้นายกเปี๊ยะกลายเป็นบุคคลผู้ทรงคุณค่าต่อขบวนการชาวนาและอุตสาหกรรมข้าวไทย เจ้าฟ้า เจ้าแผ่นดิน
จนสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าโสมสวลีฯ และพระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ ทรงเห็นผลงาน จึงทรงสนับสนุน โดยเฉพาะสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ได้พระราชทานรางวัลผู้ทำประโยชน์ให้สังคมแด่นายกเปี๊ยะ ในฐานะที่เป็นผู้ผลิตเครื่องปลูกข้าวประสิทธิภาพสูง ที่ช่วยลดต้นทุนการทำนาได้อย่างดี
นอกจากนี้นายกเปี๊ยะ ยังเป็นกรรมการในสมาพันธ์เมล็ดพันธุ์ข้าวแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และเป็นกรรมการในสมาพันธ์เกษตรอินทรีย์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์
ปัจจุบันปลูกข้าว และประดิษฐ์เครื่องปลูกข้าว ที่ ม.เกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติสกลนคร ร่วมกับกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ
ปรึกษาฟรี หรือ สนใจสอบถามราคา หรือ สอบถามรับจ้างทำนาทั่วประเทศได้ที่ นายกเปี๊ยะ
โทร. 08-2118-7671
คุณอัสนี รัตนวิจารณ์ ผู้ปลูกข้าวด้วยเครื่องหยอดข้าว
เครื่องหยอดเมล็ดข้าวสำหรับนาแห้ง
จนทีมงาน นิตยสารข้าวเศรษฐกิจ ได้กลับมาสัมภาษณ์ นายกเปี๊ยะ อีกครั้ง จนสรุปได้ว่า วันนี้นายกเปี๊ยะได้ปฏิรูปวิธีการปลูกข้าว เพื่อให้ชาวนามี “รายได้” ที่ดีขึ้น มีผลงานพิสูจน์ได้จริง
เนื่องจากนายกเปี๊ยะเกิดและเติบโตที่ดินแดนแห่งกสิกรรม คลุกคลีกับการเกษตรมาตลอด จนกระทั่งมาเป็นนายก อบต.ศรีวิชัย ก็ได้ใช้ความสามารถการบริหารตามหลักธรรมาภิบาล จนได้รับรางวัลการบริหารจัดการที่ดีตามหลักธรรมาภิบาล อันดับ 1 ได้เงินรางวัล 1.5 ล้านบาท จากกระทรวงมหาดไทย เมื่อปี 2546
ด้วยความรักและผูกพันกับการค้นคว้าวิจัยในเรื่องการปลูกข้าว เพื่อให้ชาวนาลืมตาอ้าปากได้ จึงได้จับมือกับสถาบันการศึกษาต่างๆ เช่น มหาลัยเกษตรศาสตร์, มหาลัยขอนแก่น, มหาลัยราชมงคล, มหาลัยราชภัฏ, และมหาลัยจุฬา
จนสามารถผลิต “เครื่องหยอดข้าว” หลายรุ่น จดอนุสิทธิบัตรจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา และได้ถวายรายงานการปลูกข้าวจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ได้รับรางวัลเมื่อ 20 ธ.ค. 55 จากพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าโสมสวลีฯ เมื่อปี 56 และ 57 และได้ถวายงานปลูกข้าว และรับพระราชทานจากพระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ ปี 57
ทำโครงการปลูกข้าวช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่ชัยภูมิและศรีสะเกษ เมื่อปี 56 จังหวัดละ 300 ไร่ และทำโครงการปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี่อินทรีย์ที่ชัยภูมิ 2,000 ไร่ ปี 57 ปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี่ 6,000 กระถาง แสดงในงานเพื่อนพึ่ง (ภา) เกษตรแฟร์ 20-27 มิ.ย. 57 ที่ ม.เกษตรศาสตร์ บางเขน กทม. และปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี่แสดงวันแม่ 8-12 ส.ค. 57 ที่สยามพารากอน วันที่ 23 ก.ย. 57
จัดแสดงเครื่องปลูกข้าวด้วยต้นกล้าที่หอประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ และ 19-28 ธ.ค. 57 ได้จัดแสดงที่วังสวนกุหลาบ พระราชวังดุสิต งานอิ่มสุข อิ่มใจ ไรซ์เบอร์รี่
การลดต้นทุนทำนาด้วย เครื่องหยอดข้าว นาแห้ง
โครงสร้างของ เครื่องหยอดข้าว
โครงสร้างของ เครื่องหยอดข้าว มีขนาด 150×120× 110 เซนติเมตร ใช้เหล็กเป็นโครงสร้างหลักประกอบเข้าด้วยกัน โดยจะมีกล่องสำหรับใส่เมล็ดข้าวเปลือกดด้านบนพร้อมฝาปิด 7 กล่องในแนวนอน บรรจุข้าวเปลือกได้กล่องละ 1 กิโลกรัม ซึ่งการหว่านมือแบบธรรมดาจะใช้เมล็ดพันธุ์อยู่ที่ประมาณ 25-30 กิโลกรัมต่อไร่ เป็นการลดต้นทุนที่เห็นได้อย่างชัดเจน
อาชีพรับจ้างทำนา นายกเปี๊ยะตั้งใจจะให้กระจายทั่วประเทศ เพราะผลดีจะเกิดทุกฝ่าย เพราะต้นทุนต่ำ ค่าไถไร่ละ 250 บาท ค่าปั่นดินไร่ละ 300 บาท ค่าหยอดเมล็ดข้าวไร่ละ 200 บาท ค่าหยอดปุ๋ยอินทรีย์ไร่ละ 100 บาท รวมไร่ละ 950 บาท แต่ราคานี้ไม่ตายตัว ขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่ ราคาเมล็ดพันธ์ และราคาปุ๋ยอินทรีย์
อาชีพรับจ้างทำนา นายกเปี๊ยะยืนยันว่า แต่ละคนจะมีรายได้วันละ 5,000-20,000 บาท
ส่วนคนที่เข้าร่วมกับวิสาหกิจระดับผู้จัดการรับจ้างทำนา สามารถจัดคิวการทำนาแต่ละพื้นที่ได้ จะมีรายได้วันละไม่ต่ำกว่า 1,500 บาท “เราจะแก้ปัญหาความยากจน จะเพิ่มผลผลิตให้ชาวนา ผู้เข้าร่วมโครงการ หรืออาชีพอื่น หรือเป็นนักศึกษา หรือเป็นข้าราชการ เป็นต้น ได้รู้วิธีการปลูกข้าวที่ดี ไม่ใช่ใช้เมล็ดพันธุ์ไร่ละ 30-40 กก.” นายกเปี๊ยะให้ความเห็นถึงการสร้างอาชีพให้ผู้สนใจ
การปลูกข้าวด้วย เครื่องหยอดข้าว และประสิทธิภาพของเครื่อง
นอกจากนี้ได้รับใช้งานปลูกข้าวของมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภา) ยามยากสภากาชาดไทย
ความสำเร็จดังกล่าวเกิดขึ้นจากความมุ่งมั่นและความพากเพียรของนายกเปี๊ยะต่อการวิจัยและพัฒนาเครื่องปลูกข้าว ที่ใช้เทคโนโลยีและวัสดุต่าง ๆ ที่มีคุณภาพของไทยที่หาได้ง่ายตามท้องถิ่น
เช่น เครื่องหยอดเมล็ดข้าวสำหรับนาแห้งมี 7 รุ่น ได้แก่
รุ่น M1 ใช้ตัวพ่วงกับรถไถชนิดเดินตาม (อีโก้ง) มีชุดหยอดข้าว 8 แถว คนยืนขับอยู่บนชุดหยอดข้าว ทำงานวันละประมาณ 30 ไร่
รุ่น M3 เหมือนรุ่น M1 แต่มีชุดหยอดปุ๋ยอินทรีย์ ทำงานวันละ 30 ไร่
รุ่น M5 ใช้กับรถแทรกเตอร์ไถนา 4 ล้อ ต่อพ่วงกับจอบหมุน สามารถปั่นดิน ปลูกข้าว ใส่ปุ๋ย พ่นยา คลุมหญ้า และจุลินทรีย์ 4 อย่าง พร้อมกัน ทำงานวันละ 40 ไร่
รุ่น M7 ใช้กับรถแทรกเตอร์ 4 ล้อ ต่อพ่วงกับจอบหมุน สามารถปั่นดิน หยอดเมล็ดข้าว ใส่ปุ๋ย ได้ทั้ง 3 อย่าง พร้อมกัน ทำงานวันละ 40 ไร่
รุ่น M9 ใช้กับรถแทรกเตอร์ไถนา 4 ล้อ ต่อพ่วงกับจอบหมุน สามารถปั่นดิน ปลูกข้าว ใส่ปุ๋ย พ่นยา คลุมหญ้า จุลินทรีย์ ทั้ง 4 อย่าง พร้อมกัน ทำงานวันละ 40 ไร่
รุ่น M11 ใช้กับรถพรวนดินขนาดเล็ก แรงม้าฉุดลากมี 5 แถว ทำงานวันละ 15 ไร่
รุ่น M13 เครื่องหยอดข้าว ชนิดคนลาก ทำนาได้ 5 ไร่/วัน เหมาะกับนาแปลงเล็ก รวมทั้งนาขั้นบันได และเหมาะกับประเทศกัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม อินเดีย บังคลาเทศ อินโดนีเซีย และทวีปแอฟริกา เป็นต้น
การไถพรวนดิน
ก่อนใช้เครื่องหยอดเมล็ดข้าวจะต้องไถพรวนดิน กลบตอซัง เมล็ดหญ้า และต้นหญ้า ปั่นดินให้ร่วนซุยด้วยจอบหมุน ทำร่องดินให้ลึก 3-7 ซม. แช่เมล็ดข้าวด้วยไตโคเดอร์มา หรือจุลินทรีย์ เพื่อป้องกันโรค หยอดเมล็ดพันธุ์ข้าว ระยะห่างระหว่างแถว 25-30 ซม. และระยะห่างระหว่างต้น 5-20 ซม. ใส่ปุ๋ยอินทรีย์ ฝังกลบเมล็ดข้าว และปุ๋ยอินทรีย์ ให้สม่ำเสมอ พ่นยา คลุมหญ้า ชนิดอินทรีย์ และจุลินทรีย์จากมูลไส้เดือน และรอให้ฝนตก ดินชื้น ต้นข้าวก็เติบโตดี
เครื่องหยอดข้าว ของนายกเปี๊ยะ มีคุณสมบัติพิเศษ เช่น ประหยัดเมล็ดพันธุ์ เพราะใช้เพียง 3-5 กก./ไร่ มีความสม่ำเสมอ และแม่นยำ ฝังกลบ เมล็ดข้าว และปุ๋ย ได้สม่ำเสมอ เมล็ดข้าวไม่แตกเสียหายแม้แต่เม็ดเดียว ปั่นดิน หยอดข้าว ใส่ปุ๋ย และพ่นยา ได้พร้อมกัน ต้นข้าวเรียงกันเป็นแถว มีระเบียบ ง่ายต่อการกำจัดวัชพืช รากข้าวยาวเร็ว ต้นข้าวสมบูรณ์ แข็งแรง แตกกอมาก ทนทานต่อโรค ใช้งานได้สะดวก รวดเร็ว และสามารถใช้ปลูกถั่วและข้าวโพดได้
ดังนั้น เครื่องหยอดข้าว จึงปลูกได้ทั้งฤดูแล้ง และฤดูฝน ลดขั้นตอน และลดต้นทุนการทำนา ประหยัดเมล็ดพันธุ์ น้ำ และเวลา กำจัดหญ้า และวัชพืช ได้ง่าย ต้นข้าวได้รับแสงแดด อากาศ และธาตุอาหาร อย่างเพียงพอ เพิ่มปริมาณจุลินทรีย์ในดินได้เร็ว ต้นข้าวไม่หนาแน่น แออัด อากาศถ่ายเทได้ดี ไม่เกิดโรคและแมลง แตกกอสมบูรณ์ แข็งแรง เติบโตดี ได้รับธาตุอาหารเต็มที่
“รถไถมันมีออฟชั่นในการปลูกข้าว มันวิ่งแค่รอบเดียว คือ มันจะปั่นดิน หยอดเมล็ดข้าว กลบหลุม ใส่ปุ๋ย ใส่ยา คลุมหญ้า 4-5 ขั้นตอน มันจบภายในรถไถคันเดียว” นายกเปี๊ยะยืนถึงการประหยัดต้นทุน ประหยัดเวลา ในการทำนา
การทำนาแบบหว่านเมล็ดพันธุ์
จึงไม่ต้องแปลกใจ ถ้าชาวนาทำตามแนวทางของนายกเปี๊ยะ นอกจากจะลดต้นทุนแล้วยังเพิ่มผลผลิตถึง 100% แต่เน้นว่าในกระบวนการปลูกข้าวต้องใช้ “อินทรีย์” เป็นหลัก
แม้นายกเปี๊ยะจะมีนาเพียง 10 กว่าไร่ แต่ก็ได้ส่งเสริมชาวนาให้รวมกลุ่มกัน ในนาม “วิสาหกิจชุมชนกลุ่มโรงเรียนผู้จัดการทำนาแบบประณีตเพื่อนพึ่ง (ภา)” เลขที่ 86 หมู่ที่ 13 ต.ศรีวิชัย อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร 47120 โทร.08-2118-7671
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปลูกข้าวอินทรีย์ด้วยเครื่องปลูกข้าวแบบประณีต ผลิตเครื่องหยอดเมล็ดพันธุ์ข้าว และรับจ้างทำนาทั่วประเทศ
“เราประดิษฐ์เครื่องเพื่อให้ชาวนาได้ประโยชน์มากกว่าการขายเครื่อง และทุกหมู่บ้านเรามีเป้าหมายว่าต้องมี เครื่องหยอดข้าว ของเรา ไม่ว่านาแห้ง หรือนาตม” นายกเปี๊ยะย้ำถึงเป้าหมายในการผลิต เครื่องหยอดข้าว
ที่ต้องมุ่งมั่นโดยจับมือกับมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ได้แก่ ม.เกษตรฯ ม.ขอนแก่น ม.ราชภัฎ ม.ราชมงคล และม.จุฬาฯ เป็นต้น ผลิตเครื่องปลูกข้าว 13 รุ่น ก็เพราะจุดอ่อนของการทำนา โดยเฉพาะเครื่องจักรกลการเกษตรในการทำนา เช่น เครื่องดำนาจากต่างประเทศ เวลาดำมันจะสาวต้นกล้าลงมา ทำให้ต้นช้ำ รากขาด
ถ้าเป็นนาดินทราย ต้นกล้าลอยน้ำ ถ้าเป็นนาดินเหลว ต้นกล้าจะจมโคลน เหลืองอยู่ 2 สัปดาห์ เพราะต้นช้ำ รากขาด นายกเปี๊ยะจึงต้องเข้ามาทำเรื่องนี้ร่วมกับมหาวิทยาลัยต่างๆ จนประสบความสำเร็จ รับจ้างทำนาทั่วประเทศ
การปั่นตีดิน
ธกส.จึงสนับสนุนนายกเปี๊ยะและทีมงานรับจ้างทำนาอย่างเต็มที่
ผจก.ใหญ่ได้นำนายกเปี๊ยะและทีมงานเข้าเฝ้าถวายงานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เมื่อปี 56
เนื่องจากเครื่องปลูกข้าวถูกออกแบบและผลิตให้ออกมาใช้งานง่ายๆ สึกหรอยาก นอกจากจะขับไปชนต้นไม้เท่านั้น แต่ถ้ามีปัญหาจะเปลี่ยนอุปกรณ์ หรือเปลี่ยนเครื่องให้ เพราะตัวเครื่องกลไกไม่ซับซ้อน แต่เป็นกลไกที่มีประสิทธิภาพ ง่ายต่อการซ่อมบำรุงดูแลรักษา
คนอายุ 60 ปี ขับรถปลูกข้าวได้วันละ 100 ไร่ เป็นงานไม่ธรรมดาจริง ๆ เป็นเรื่องที่น่าทึ่งมาก ๆ
นายกเปี๊ยะยอมรับว่าแม้เครื่องปลูกข้าวจะดีเลิศขนาดไหน ถ้าชาวนาไม่ใส่ปุ๋ย ไม่ให้น้ำ ก็ไม่ได้ผลผลิต ดังนั้นทีมรับจ้างทำนาจึงต้องสอบผ่านการปลูก แบบลดต้นทุน-เพิ่มผลผลิตไร่ละตันกว่า
การใส่ปุ๋ย-ใส่น้ำ-ใส่ยาในนาข้าว
ดังนั้นถ้าจะรวยด้วยการทำนาต้องปลูกข้าวด้วยนวัตกรรมใช้เมล็ดพันธุ์น้อย ใช้ปุ๋ยที่เหมาะสม ใช้น้ำเหมาะสม หากปลูกด้วยเมล็ดพันธุ์เยอะ แสงแดดไม่ผ่าน จุลินทรีย์ในดินทำงานไม่ได้ รากข้าวกินอาหารไม่ได้ จะเอาผลผลิตมาจากไหน แม้แต่เรื่องปุ๋ยก็สำคัญ “ปุ๋ยที่ดี สมัยพ่อแม่เรา ก็คือ ขี้วัว ขี้ควาย ขี้ไก่ ขี้เป็ด เอามาคลุกเคล้ากับดิน ยิ่งละเอียดมากยิ่งดี ปลดปล่อยสารอาหารได้ง่าย รากพืชชอนไชได้ ดูดซึมธาตุอาหารได้ง่าย” นายกเปี๊ยะย้ำถึงข้อดีของปุ๋ยมูลสัตว์
คุณพลพสิษฐ์ กริทไชยพร หรือ น้องบอล วิสาหกิจชุมชนฯ ผู้ผ่านงานหลายอย่าง เช่น พนักงานขาย และเป็นวิศวกรชีวการแพทย์ เป็นต้น วันนี้เมื่อมาเรียนรู้เรื่องชาวนา เรื่องการปลูกข้าว จึงได้เห็นสาเหตุของการเป็นหนี้ ผลผลิตต่ำ
“เรามีเครื่องที่ช่วยลดต้นทุนจากข้าวนาหว่าน 25 กก./ไร่ เหลือเพียง 4 กก./ไร่ อนาคตอาจมีเครื่องที่ลดต้นทุนได้มากกว่านี้ ไม่อยากให้ชาวนายึดติดกับการปลูกข้าวแบบเดิมๆ แต่อยากให้ทำทุกอย่างด้วยเหตุและผล” น้องบอลให้แง่คิด และเปิดเผยถึงแผนงานที่จะให้ชาวนาเข้าใจข้อดีของเครื่องปลูกข้าว คือ ขับรถไถ ตัวที่เป็นโมเดล ไปตามหมู่บ้านจะสาธิตการปลูกให้ดูก็ได้ จากนั้นก็เข้าหาคนที่มีพาวเวอร์ในชุมชนแต่ละแห่ง เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในหมู่ชาวนา
โดยเฉพาะการรับจ้างปลูกข้าวในนาแปลงใหญ่นั้น น้องบอลบอกว่าทำได้ง่าย เพราะเจ้าของนามีต้นทุนเปรียบเทียบชัดเจน แต่ถ้าเป็นชาวนารายย่อยจะต้องรวมกลุ่ม 1 หมู่บ้าน 1 รถไถ แล้วทางวิสาหกิจจะให้เครื่องปลูกข้าวต่อรถไถ 1 คัน เพื่อให้เข้าไปรับจ้างปลูกข้าว โดยแบ่งหน้าที่แต่ละคนในทีมให้ชัดเจน ใครขับรถไถ ใครทำบัญชี และใครหาลูกค้า เป็นต้น
แต่ต้องวางเงินประกันเครื่อง 60,000 บาท ซึ่งตัวเลขดูผิวเผินว่าแพง แต่สามารถรับจ้างทำนาได้ไม่จำกัด นอกจากนี้ทางวิสาหกิจจะดูแลทุกขั้นตอนของการทำนาจนกว่าข้าวจะงอกงาม ถ้าเครื่องมีปัญหาจะมีอาจารย์ธฏษธรรมช์ ลาโสภา หรือ อาจารย์ทศ ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคดูแลอะไรเหล่านี้ เป็นต้น
การกำจัดวัชพืชในนาข้าว
การวิจัยและพัฒนา มีจุดประสงค์เพื่อออกแบบและสร้าง เครื่องหยอดข้าว นาแห้งแบบต่อพ่วงจอบหมุนตีดิน สามารถเบิกร่อง หยอดเมล็ด และกลบดิน เสร็จในขั้นตอนเดียว เพื่อลดต้นทุนการทำนาแบบปักดำหรือแบบหว่านด้วยมือ ลดขั้นตอนการหยอดแบบเดิมที่ทำสามรอบให้เหลือรอบเดียว
สิ่งที่นายกเปี๊ยะกังวล ก็คือ จากนี้ไปคนรวยจะหันมาทำนามากขึ้น คนจนจะหนีนา ซึ่งเป็นเรื่องอันตราย
คุณอัสนี รัตนวิจารณ์ หรือ นายกเปี๊ยะ นายก อบต. 2 สมัย วันนี้กลายเป็นปราชญ์ชาวนาที่รู้เรื่องข้าว การปลูกข้าว การเพิ่มผลผลิตข้าว และเทคโนโลยีเครื่องจักรกลเกษตรเชิงประยุกต์เพื่อการปลูกข้าว ให้มีกำไร/ไร่สูง และยังส่งเสริมให้เกิดการรับจ้างทำนา โดยมีเป้าหมายเพื่อปลดทุกข์ให้ชาวนา และทำให้อาชีพนี้ลืมตาอ้าปากได้ ปลดปล่อยชาวนาให้เป็นไท ดึงดูดคนรุ่นใหม่จากโรงงานสู่โรงนา
แม้จะหมดเงินไปกับการประดิษฐ์คิดค้นเครื่องปลูกข้าวมากกว่า 10 ล้านบาท ก็คุ้มค่า เพราะทำให้ชาวนาหายจนนั่นเอง
ติดต่อสอบถามรับจ้างทำนาทั่วประเทศได้ที่ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มโรงเรียนผู้จัดการทำนาแบบประณีตเพื่อนพึ่ง (ภา)
เลขที่ 86 หมู่ที่ 13 ต.ศรีวิชัย อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร 47120 โทร.08-2118-7671