เศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวปรัชญาที่ทุกๆ คนสามารถนำไปปฏิบัติในชีวิตประจำวันได้ ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกร ข้าราชการ และประชาชนทั่วไป ทุกภาคส่วน ทั้งนอกภาคการเกษตรและในภาคการเกษตร สามารถนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงดังกล่าวไปปฏิบัติเพื่อดำรงชีวิต และพัฒนาธุรกิจการค้าได้จริง ไร่นาสวนผสมเศรษฐกิจพอเพียง
ไร่นาสวนผสมเศรษฐกิจพอเพียง
จากกระแสพระราชดำรัสของในหลวง เมื่อปี 2538ได้กล่าวถึงแก่นหลักของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไว้ว่า “ทฤษฎีใหม่นี้มีไว้สำหรับป้องกัน หรือถ้าในโอกาสปกติทำให้ร่ำรวยขึ้น ถ้าในโอกาสที่มีอุทกภัยก็สามารถที่จะฟื้นตัวได้ โดยไม่ต้องให้ทางราชการไปช่วยมากเกินไป ทำให้ประชาชนพึ่งตนเองได้อย่างดีภายใต้
*ความพอประมาณ ซึ่งหมายถึง ความพอดี ที่ไม่น้อยเกินไป และไม่มากเกิน โดยไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น เช่น การผลิตและการบริโภคที่อยู่ในระดับพอประมาณ
*ความมีเหตุผล หมายถึง การตัดสินใจเกี่ยวกับระดับของความพอเพียงนั้นจะต้องเป็นไปอย่างมีเหตุผล โดยพิจารณาจากปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนคำนึงถึงผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการกระทำนั้นๆ อย่างรอบคอบ
*การมีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว หมายถึง การเตรียมตัวให้พร้อมรับผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต ทั้งใกล้และไกล”
การทำนาสวนผสม
เวลานี้มีผู้คนมากมายตีโจทย์ทฤษฎีใหม่ได้อย่างแตกฉาน ด้วยพากันน้อมนำไปปฏิบัติเป็นผลสำเร็จ ดังเช่น สามี-ภรรยา วัยเกษียณ คนต้นเรื่องฉบับนี้ก็ได้พิสูจน์ทราบด้วยตัวเอง คุณหาญพล สว่างน้อมจิตต์ (ลุงพล) และคุณสุพัตรา กันธิวงค์ (ป้าพัต) ทั้งสองเป็นเจ้าของไร่สว่างน้อมจิตต์ ทั้งสองพลิกผันอาชีพจากเจ้าของธุรกิจหอพักในจังหวัดชลบุรีมาเป็นชาวนา ทำสวน ทำไร่ เหตุใดพวกเขาใยไม่กลัวความยากลำบากหรือเหน็ดเหนื่อย
ขณะเดียวกันก็มีความมุ่งมั่นรักษาผืนแผ่นดินทำกินให้คงอยู่ไปยังลูกหลานของทั้งคู่ ภายใต้คอนเซ็ป “ปลูกทุกอย่างที่กิน กินทุกอย่างที่ปลูก” ผู้คนมากมายรอบตัวที่ยังต้องเปิดใจว่าแท้จริงแล้วการปฏิบัติตามหลักเข้าถึงแก่นแท้ทฤษฎีใหม่ของในหลวงนั้น เป็นการสร้างรากฐานความมั่นคงทางอาหารที่มีความปลอดภัยต่อตนเองและเพื่อนร่วมโลก
จุดเริ่มต้นการทำนาสวนผสม
เมื่อผู้เขียนเอ่ยถามความตั้งใจของลุงพลผู้เป็นสามี ได้เล่าว่า เมื่อตนและภรรยาตัดสินใจหันหลังให้ความเจริญ ความศิวิไล และความวุ่นวายของเมือง ทิ้งทุกสิ่งทุกอย่างด้วยเหตุผลที่มาก่อนอื่นใด คือ ทั้งคู่มีปัญหาเรื่องสุขภาพ เพราะใช้ชีวิตประจำวันต้องกินยาเป็นอาหาร ภรรยาของเขาหรือป้าพัตเองก็เปิดร้านสปา บริการนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างประเทศ ซึ่งลูกค้าประจำ สร้างรายได้มากมาย เธอเองจึงมีความเชี่ยวชาญเรื่องการทำสปา และเรื่องการทำอาหาร แต่ท่ามกลางความเจริญของสังคมเมืองมักคู่กับความวุ่นวาย และปัญหารายล้อม กระทั่งเกิดความเบื่อหน่ายในปัญหารอบตัว ทั้งสุขภาพ
เมื่อวันหนึ่งได้ปรึกษากัน ตนและภรรยามีความสนใจเรื่องการเกษตรอยู่แล้ว โดยเฉพาะภรรยาของตนจะเปิดดูรายการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเกษตรทั้งหมด จึงคิดว่าเมื่อออกจากเมืองจะเดินไปทางไหนก็ต้องเป็นเศรษฐกิจพอเพียงตามแบบในหลวงเท่านั้น จากการที่ได้มีความสนใจ ได้ศึกมาองค์ความรู้ต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง ทั้งเรื่องสายพันธุ์พืช และดิน รวมไปถึงเรื่องน้ำ ซึ่งสำคัญมาก ก่อนมาทำนา ทำสวน ทั้งคู่มีโรคประจำตัว ทั้งโรคเครียด ไมเกรน เมื่อน้องชายชวนมาอยู่เพราะอากาศชนบทมีความบริสุทธิ์กว่า มาอยู่ได้ 2 ปีโรคที่เคยเป็นกลับไม่มีอาการเลย จึงทำให้ยิ่งมั่นใจว่าเป็นเพราะอาหารที่พวกเขาผลิตเอง กินเอง มีความปลอดภัย รวมทั้งอากาศที่บริสุทธิ์ของชนบท
สภาพพื้นที่การทำนาสวนผสม
ลุงพลเล่ายิ้มๆ ว่า “ครั้งแรกที่มาอยู่นั้นยังไม่มีบ้าน ยังเป็นที่ดินเปล่าจำนวน 8 ไร่ การปฏิบัติยึดหลักทฤษฎีใหม่ของในหลวงเกษตรผสมผสาน คิดไว้เลยว่าต้องมีอาหารของตนเอง จึงขุดบ่อสำหรับเลี้ยงปลา พืชที่ปลูกครั้งแรกเลย คือ กระเพรา เพราะไปซื้อในตัวอำเภอไม่มีขายเลย” จากวันนั้นถึงปัจจุบันเป็นเวลา 2 ปีเต็ม ทุกสิ่งอย่างเริ่มผลิดอก ออกผล แบ่งทำนา 2 ไร่ เลี้ยงปลา เลี้ยงกบ ปลูกพืชสวนครัวโดยเฉพาะตะไคร้ที่สร้างรายได้ทุกวัน
การใส่ปุ๋ยต้นไม้ให้ได้ประสิทธิภาพที่สุดเป็นเวลาร่วม 2 ปีแล้ว ที่มาใช้ชีวิตลูกทุ่ง ลุงและป้าบอกว่าความรู้นั้นไม่จบสิ้น ต้องศึกษาเรียนรู้เพิ่มเติมอยู่เสมอ เพราะการปลูกสิ่งนี้ต้องปลอดภัย ดังนั้นการเลือกผลิตภัณฑ์มาใช้กับเรือกสวนไร่นาก็ต้องปลอดภัย ทั้งต่อตนเองและสิ่งแวดล้อมด้วย ป้าพัตเล่าด้วยความภูมิใจว่าต้นไม้ทุกต้นในสวนรู้จักหมด กิจวัตรทุกเช้าก่อนอื่นเปิดน้ำสปริงเกลอร์สำหรับการดูแลสวน และนาข้าว ส่วนหนึ่งเธอก็ทำน้ำหมักใช้เองด้วย
การป้องกันและกำจัดโรคและแมลง
นอกจากนี้ยังเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ของ บริษัท ทีพีไอ-โพลีน จำกัด เพราะผลิตภัณฑ์มีคุณภาพ และราคาไม่สูง เช่น สารปรับสภาพดิน เพื่อช่วยปรับสภาพดินให้มีความร่วนซุย เป็นการช่วยระเบิดดิน ปุ๋ยมูลค้างคาว รวมถึงน้ำส้มควันไม้ฯลฯ ในการใส่ปุ๋ยจะเน้นใส่น้อยแต่ใส่บ่อย
ส่วนปัญหาเรื่องโรคและแมลง ใช้สูตรพริกแกง คือ พริกแกง 1 กิโลกรัม ยาฉุน 1 กิโลกรัม น้ำส้มสายชู 1 ขวด เหล้าขาวขวดใหญ่ 1 ขวด วิธีทำ คือ นำส่วนผสมทั้งหมดมาต้มรวมกันให้เดือด ปล่อยให้เย็น จากนั้นกรองเอาแต่น้ำ อัตราการใช้ 2 ช้อนต่อน้ำ 20 ลิตร เป็นสูตรไล่แมลง ฉีดทุก 15 วัน สูตรนี้ปลอดภัยได้ผล
การแปรรูปข้าวไรซ์เบอรี่
เพราะทั้งคู่น้อมนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้นั้น ขั้นแรกที่ต้องยึด คือ “พึ่งตนเอง” พยายามพึ่งตนเองให้ได้ก่อน ในแต่ละครอบครัวมีการบริหารจัดการอย่างพอดี ประหยัด ไม่ฟุ่มเฟือย ป้าพัตอดีตเป็นลูกสะใภ้นายกเมืองพัทยา เพราะความรู้ที่ได้ไปอบรมในเรื่องการทำสปา เธอยังมีความสามารถทางด้านการทำอาหารหลากชนิด ทั้งคาว หวาน เมื่อล่าสุดได้แปรรูปน้ำข้าวกล้องไรซ์เบอรี่ผสมธัญพืช เป็นรสชาติที่หลากหลายไม่จำเจ อุดมไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการที่สูง เหมาะสำหรับทุกคน นอกจากนี้ยังมีสบู่ข้าวไรซ์เบอรี่ บำรุงผิวพรรณ สิ่งสำคัญที่ทำให้เห็น คือ เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับข้าว
ฝากถึงผู้อ่านที่สนใจทำนาสวนผสม
ป้าพัตย้อนอดีตให้ฟังว่าพื้นเพเธอเป็นคนจังหวัดเชียงราย ก่อนจะเลือกเส้นทางสายนี้ตนและสามีก็ล้มลุกคลุกคลานในธุรกิจมามากมาย เริ่มต้นชีวิตคู่จากที่ไม่มีอะไรเลย เริ่มจากมอเตอร์ไซค์เพียงคันเดียว และเธอเล่าอีกว่าในครอบครัวต้องรู้จักตนเอง รายรับ รายจ่าย ให้สามารถรักษาระดับการใช้จ่ายของตน ไม่ให้เป็นหนี้ และรู้จักดึงศักยภาพในตัวเองในเรื่องของปัจจัยสี่ให้ได้ในระดับหนึ่ง
การพัฒนาตนเองให้สามารถอยู่ได้อย่างพอเพียง คือ ดำเนินชีวิตโดยยึดหลักทางสายกลาง คือ ความสุขที่แท้จริง ไม่ให้รู้สึกขาดแคลนจนต้องเบียดเบียนตนเอง หรือดำเนินชีวิตอย่างเกินพอดี จนต้องเบียดเบียนผู้อื่น หรือเบียดเบียนสิ่งแวดล้อม ตนในฐานะเกษตรกรมือใหม่คิดว่าจะต้องปลูก คือ รู้จักทำมาหากินก่อนทำมาค้าขาย สามารถพึ่งพาตนเองให้ได้ โดยเฉพาะเรื่องอาหาร เป็นการลดค่าใช้จ่ายเป็นสิ่งที่ทุกคนควรทำ สามารถอุ้มชูตัวเองได้ให้มีความพอเพียงกับตัวเอง อยู่ได้โดยไม่สร้างความเดือดร้อนให้ตนเอง และผู้อื่น ซึ่งต้องสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจของตนเองให้ดีเสียก่อน มีความพอกิน พอใช้ สามารถพึ่งพาตนเองได้ ย่อมสามารถสร้างความเจริญก้าวหน้าและฐานะทางเศรษฐกิจของประเทศได้
ท้ายสุดทั้งคู่ได้ฝากแง่คิดไว้ว่า “ทุกสิ่งที่ค่อยเติบโตในวันนี้ล้วนมาจากแรงบันดาลใจของพ่อหลวงของปวงชนชาวไทย บางช่วงที่ผ่านมาเกิดความท้อใจบ้าง เพราะเพื่อนบ้านไม่เข้าใจวิถีตนเอง แต่วันนี้สองชีวิตช่วงบั้นปลายกับสิ่งที่ทั้งคู่เพียรทำสามารถอยู่ได้อย่างสบาย ทุกๆ วันแทบไม่ต้องใช้เงิน เพราะมีทุกอย่างที่กินได้ทั้งหมด เหมือนมีตู้เย็นในบ้าน” ป้าพัตเล่าด้วยเสียงแห่งความภูมิใจอีกครั้ง
วิถีที่งดงามภายใต้การตกตะกอนและแตกฉานกับคำว่า “พอดี พออยู่ พอเพียง” สมบูรณ์ งดงาม เป็นต้นแบบวิถีเกษตรยั่งยืนที่เกิดขึ้นกับครอบครัวนี้อย่างแท้จริง เพราะเหล่านี้ล้วนเกิดจากความปรารถนาดีต่อเพื่อนมนุษย์ และสิ่งมีชีวิต ข้าว ปลา อาหาร ต้นไม้ทุกต้นที่ปลูกจากความรัก การสร้างสรรค์พัฒนาเกิดจากสมองและสองมือของทั้งคู่ยิ่งใหญ่กว่าสิ่งที่คนภายนอกตัดสิน
คุณผู้อ่านที่ประสงค์มาเยี่ยมชมไร่สว่างน้อมจิตต์ หรือไร่ลุงพล เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์วิถีเกษตรชีวภาพ รวมถึงองค์ความรู้ ทั้งการแปรรูปอาหาร เทคนิคการลดต้นทุน เทคนิคการปรุงดิน จากทั้งสองได้เลย โทร.08-9707-3428
อ้างอิง : นิตยสารข้าวเศรษฐกิจ ฉบับที่ 59