ในช่วงที่ผ่านมาปลากัดเก่งห่างหายไปจากแผงหนังสือ 2 เดือนทีเดียวไล่ตั้งแต่ช่วงธันวาคมที่ผ่านมาต่อเนื่องมาถึงมกราคมนี้ ได้ฤกษ์ออกฉบับ 101 ที่อยู่ในมือท่านคือเดือนกุมภาพันธ์นี้ ตลอดเวลา 2 เดือนที่ผ่านมาข่าวคราวความเคลื่อนไหวในวงการปลากัดนักสู้ก็ยังพอมีผ่านเข้ามาถึงทีมงานเป็นระยะๆ หลายเรื่องก็ต้องยอมรับว่ายังไม่ถือว่าดีกว่าในปีที่ผ่านๆมาหลายเหตุผลที่เกี่ยวโยงกันแต่หลักๆ ก็คือเรื่อง “ราคายาง” ที่ปัจจุบันชาวสวนยางได้รับผลกระทบกันไปเต็มๆ และเผอิญว่าตลาดใหญ่ในการซื้อขายปลากัดนักสู้ก็อยู่ที่ภาคใต้งานนี้ก็เลยต้องรอดูกันยาวว่าเรื่องระดับชาติจะคลี่คลายลงได้อย่างไร ถ้าเหตุการณ์ราคายางผ่านไปได้ดีเราก็เชื่อว่าปลากัดนักสู้คงจะกลับมาดีกว่าที่เป็นอยู่แน่ๆ
ในช่วงที่ไม่มีปลากัดนักสู้วางแผงก็ใช่ว่าเราจะห่างหายจากวงการ 2เดือนที่ผ่านมาเราก็มีรายงานเรื่องการกัดปลาในพื้นที่ต่างๆผ่านเข้ามาเป็นระยะๆ รวมถึงข่าวในแวดวงของผู้ผลิตปลากัดในพื้นที่ต่างๆ ที่มีหลายคนต้องการเปิดตัวในนิตยสารปลากัดนักสู้แม้ตอนนี้การตลาดจะต้องแย่งชิงพื้นที่กับโซเชี่ยลเนตเวิร์คที่กำลังมาแรงหลายคนก็มุ่งมั่นที่จะทำตลาดในโลกอินเทอร์เนตด้วยมองว่าต้นทุนที่ต่ำกว่าและมีคนเห็นมากกว่าซึ่งถ้ามองในมิตินั้นก็น่าจะเป็นเช่นนั้นแต่โลกโซเชี่ยลอย่าลืมว่าใครเล่นคอมพิวเตอร์เป็น อัพรูปเป็น พิมพ์ภาษาไทยเป็นก็สามารถขายอะไรก็ได้ คนซื้อก็คงต้องใช้วิจารณญาณกันมากขึ้นว่าใครดีใครมีผลงานการกัดจริงแท้แน่นอนหรือเปล่า
เราไม่อาจบอกได้ว่าปลากัดที่โฆษณาหรือเป็นข่าวในนิตยสารจะดีกว่าหรือเก่งกว่าปลากัดที่จำหน่ายผ่านอินเทอร์เนตแต่อย่างน้อยการันตีจากสิ่งที่เราเห็นไม่ใช่การนั่งเทียนเขียนเอาเองก็พออนุมานได้ว่าคุณภาพที่ต้องการก็มีระดับหนึ่งที่เหลือก็คือเรื่องของจังหวะและความเก่งของปลาว่าใครจะมาถูกช่วงถูกเวลาได้มากกว่ากัน
ทั้งนี้ทั้งนั้นแม้หลายอย่างจะดูว่าธุรกิจเกี่ยวกับปลากัดเก่งเป็นช่วงที่ไม่เฟื่องฟูดังในอดีตแต่กลับคนที่ยึดอาชีพนี้จะด้วยอาชีพหลักหรือทำเป็นอาชีพเสริมก็ตามทียังให้คำตอบที่เหมือนกันว่าเป็นอาชีพสร้างรายได้ที่ดีเพียงแค่รู้จักวิธีบริหารจัดการให้เป็นระบบ “ปลากัดเก่ง” ก็สามารถอยู่ได้เลี้ยงครอบครัวและตัวเองได้ ไม่ว่าจะยุคสมัยไหน อาชีพนี้ก็ยังเป็นที่ต้องการของอยู่เสมอ
คุณสุทัศน์ จาคีไพบูลยบ์ก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่ทางทีมงานต้องการนำเสนอเพื่อให้เห็นภาพของความสำเร็จในสายอาชีพการเพาะปลากัดรวมถึงรูปแบบการบริหารจัดการที่ไม่ได้จำเพาะว่าเพาะปลากัดเก่งแล้วต้องมีแค่ปลากัดเก่ง คุณสามารถเลี้ยงสิ่งอื่นควบคู่กันไปในพื้นที่เดียวกันได้ซึ่งนั่นเป็นผลดีที่จะทำให้คุณมีรายได้ที่หมุนเวียนตลอดทั้งปีเพราะสัตว์แต่ละชนิดก็มีความต้องการของตลาดแตกต่างกัน ต้นทุนที่ต่างกัน กำไรที่ต่างกันแต่จะทำอย่างไรให้ผสมผสานทุกอย่างมารวมกันได้อย่างมีคุณภาพ ฉบับนี้เรามีแนวทางที่ว่านี้มาฝากกันครับ
คุณสุทัศน์เกิดและเติบโตที่นครปฐม เริ่มต้นอาชีพด้วยการเลี้ยงหมูมาก่อนซึ่งก็คงจะเหมือนกับคนนครปฐมโดยทั่วไปที่มีธุรกิจการเลี้ยงหมูเป็นเศรษฐกิจสำคัญของจังหวัด ในช่วงประมาณ 20 กว่าปีก่อนที่เริ่มคิดว่าจะผสมผสานสิ่งที่ชอบเข้ามาในคำว่าอาชีพด้วยจากการเลี้ยงหมูอย่างเดียวก็เกิดไอเดียเรื่องการเพาะปลากัดขึ้นมาในยุคนั้นสมัยนั้นคำว่าปลากัดเก่งเริ่มเข้ามามีบทบาทในนครปฐมมากขึ้นกับคนที่เพาะปลากัดอยู่เก่าก่อนก็ประสบความสำเร็จไปล่วงหน้าก็มีบ้างแล้ว การตลาดของปลากัดเริ่มเติบโตในช่วงประมาณ 10 กว่าปีที่ผ่านมาเท่ากับว่าแนวคิดเรื่องการเพาะปลากัดก็เป็นแนวทางที่คาดว่าจะเติบโตได้ดีและสามารถทำเงินให้กับตัวเองได้ดีไม่แพ้อาชีพอื่นๆ
ประกอบกับว่า “ปลากัดเก่ง” เป็นสิ่งที่คุณสุทัศน์รักและชื่นชอบเป็นทุนเดิมงานนี้เมื่อผนวกเอามาทำเป็นธุรกิจก็เลยเท่ากับเป็นการทำในสิ่งที่รักและตอบสนองความต้องการของตัวเอง องค์ความรู้ในยุคนั้นเป็นการผสมผสานเอาจากคนรุ่นแรกที่ทำปลากัดเป็นต้นแบบและแนวทางที่ใช้และค่อยๆเอามาปรับใช้ตามวิถีทางของตัวเอง ในปี 2547 เป็นปีที่การลงมือเพาะปลากัดเริ่มเป็นรูปเป็นร่างชัดเจนเริ่มจากการลงตุ่ม 50 ใบ พร้อมศึกษาวิธีการเลี้ยงการเพาะไปเรื่อยๆ จากหลายครูหลายอาจารย์ ราคาตุ่มที่ลงในครั้งนั้นลูกละ 600 บาท เป็นเงินประมาณ 30,000 บาท เมื่อรวมกับต้นทุนด้านอื่นๆ เช่นหลังคา พ่อปลาจากมาเลย์ ก็มีต้นทุนจากการเริ่มต้นประมาณ 40,000 บาท
การซื้อพ่อปลาของพี่สุทัศน์ในยุคแรกที่ทำก็เริ่มจากพ่อมาเลย์ตัวละประมาณ 500 บาทเอามาผสมเข้ากับแม่ปลาที่ได้มาจากคนเพาะปลาเก่าๆ ที่นครปฐมและสนิทกันพอสมควรเจอกันตามสนามบ้าง ไปบ้านบ้าง ก็ได้แม่ปลาตัวดีๆ เอามารวมกับพ่อปลาที่เน้นเรื่องหนังจากมาเลย์ที่ซื้อเข้ามาทีละไม่มากประมาณ 5 -10 ตัว/ครั้ง ในแต่ละปีก็ซื้อพ่อปลาอยู่ประมาณ 2 ครั้งเท่ากับปริมาณการใช้พ่อปลาช่วงแรกก็ตกปีละประมาณ 10-20 ตัวเป็นอย่างน้อย
เรื่องการเลือกแหล่งปลาจากมาเลย์ก็ใช้ฐานเดียวกับคนในนครปฐมที่เป็นคนสั่งมาเลย์ลูกนอกและมีคนนำเข้าที่ไว้ใจได้ว่าเป็นของแท้เกรดA ไม่ใช่ปลาไทยที่เอามาย้อมเป็นปลานอก ในปีแรกก็ถือว่าได้รับพ่อปลาที่ค่อนข้างมีคุณภาพเป็นอย่างมาก และจากพื้นฐานพ่อปลาแม่ปลาที่ดีนี้เองทำให้คุณภาพของปลากัดพี่สุทัศน์ในปีแรกๆ ถือว่ามีคุณภาพที่ดีเยี่ยมทีเดียว เปิดขายปลากัดที่ได้อายุในปีแรกนั้นจำหน่ายได้ไม่ต่ำกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณปลาที่มีแต่เพียงเท่านั้นก็ถือว่าคุ้มทุนและได้กำไรเป็นอย่างดี เพราะต้นทุนตามที่เรากล่าวไปคือประมาณ 40,000-50,000 บาท แต่ขายปลาในปีแรกได้ยอดรวมกว่า 100,000 บาทเท่ากับว่าคุ้มทุนเป็นที่เรียบร้อย อายุปลาที่เปิดขายนั้นพี่สุทัศน์บอกว่า “ต้องเน้นเป็นลูกอายุประมาณ 10-12 เดือน ซึ่งปลาอายุขนาดนี้จะมีความนิ่งกว่าพวกปลาอายุ 6-8 เดือนที่เพิ่งจะเริ่มโตใช้ได้แต่ความแข็งแรง โครงสร้างกระดูกถือว่า 10-12 เดือนนิ่งกว่าและดีกว่า ข้อดีของปลาอายุเดือนมากก็คือจะเก่งนานและลดยาก รวมถึงมีโครงสร้างที่ดีมีความแข็งแรงมากกว่า ความอดทนในการต่อสู้ก็เยอะกว่า เรียกว่าเป็นปลาที่ครบเครื่องแต่ผู้เพาะก็อาจจะต้องรอนานอีกหน่อยแต่ได้สินค้าที่มีคุณภาพมากขึ้นส่งให้คนเล่นก็ไม่มีคำว่าผิดหวัง”
ส่วนแผลกัดและแนวทางการเพาะปลาในนิยามคำว่า “ปลากัดเก่งนั้น” คุณสุทัศน์ให้น้ำหนักเรื่อง “แผล” เป็นหลัก พ่อปลาที่นำเข้ามาผสมต้องสอดคล้องกับแม่ปลาที่มีนั้นหมายความว่าถ้าเป็นการเพาะปลาในฤดูร้อน ฤดูฝน หรือฤดูหนาวก็ต้องมีการเพาะปลาเพื่อกำหนดแผลแตกต่างกันไปตามสิ่งที่คนในวงการปลากัดก็รู้กันดีว่าหน้าร้อนต้องปลากัดแผลท้อง แผลซอก หน้าหนาวต้องปลาเน้นหางจัดๆ หรือหน้าฝนเองก็ต้องเน้นปลาที่เขี้ยวดี แต่ต้องคอยเช็คปลาตลอดว่ายังมีความพร้อมในการกัดอยู่มากน้อยแค่ไหน
ปลากัดของพี่สุทัศน์ถ้าเป็นสายแม่จะเน้นที่หาง และหู พ่อปลาก็ต้องมีแผลกัดที่ไม่ต่างกันที่สำคัญเนื้อหนังต้องดีตามแบบฉบับของมาเลย์นอกจากนี้การเลือกพ่อปลาที่ดีเข้ากับแม่ปลาที่ดี ยังสามารถเพิ่มขีดความสามารถในการกัดได้มากขึ้นไม่ว่าจะเรื่องการวางแผลที่แม่นยำขึ้น กัดได้รวดเร็วขึ้น รวมถึงเป็นปลาเชิงที่คู่ต่อสู้จับทางได้ยากขึ้น คุณสมบัติเหล่านี้เกิดจากการผสมผสานกัน คุณสุทัศน์เองก็เคยทดลองดูว่าระหว่างพ่อปลามาเลย์กับพ่อปลาอินโดที่มีการวางแผลใกล้เคียงกันกับแม่ปลาในชุดเดียวกัน ลูกปลาจะมีลักษณะที่แตกต่างกันหรือไม่ซึ่งจากการทดลองดูก็ทำให้พบว่า
ปลากัดที่มาจากสองสายนั้นได้ลักษณะของปลาเก่งที่แตกต่างกัน แม้ในสนามจะเดิมพันได้เป็นปลาคุณภาพแต่ปลาจากพ่อมาเลย์ได้ลูกออกมานอกจากเนื้อหนังดี มีการวางแผลดี ครบเครื่องเรื่องการกัดแล้ว สิ่งสำคัญคือความ “ไว” ที่เรียกว่าคล่องตัวที่มีมากกว่าในสายเลือดมาเลย์อาจจะเพราะว่าโครงสร้างที่ต่างกันทำให้สายนี้ค่อนข้างจู่โจมคู่ต่อสู้ได้เร็วและบ่อยครั้งกว่าแตกต่างจากสายอินโดที่เป็นลักษณะของปลากัดเก่งเช่นกันแพงแต่ว่าข้อดีของปลาอินโดคือเป็นปลาที่โครงสร้างดี กัดหนัก แต่ช้า ในสนามกัดปลาบางทีก็ทำให้เกิดปัญหาได้เช่นกันว่ากัดคู่ต่อสู้ไม่ทัน ทำให้คนเล่นทั่วไปก็เลือกที่จะเอาปลาที่กัดเร็วกัดไวดีกว่า
เทคนิคของการเพาะปลากัดในแบบฉบับของพี่สุทัศน์คือการเอาแม่ปลามาใส่กระป๋องใบใหญ่แล้วเอาตัวผู้ใส่ขวดวางตรงกลางไม่ต่ำกว่า 3 อาทิตย์ การวางเทียบนี้คุณสุทัศน์บอกว่ายิ่งนานก็ยิ่งดี มาตรฐานคือ 3 อาทิตย์แต่ถ้าเป็นเดือนๆ ได้ก็จะยิ่งดีกว่า ความสมบูรณ์เมื่อมีการรัดก็จะมากขึ้นเพราะแม่ปลามีความพร้อมมากกว่า เมื่อได้ลูกปลาออกมาก็ต้องมีการเตรียมบ่อและอาหารสำหรับลูกปลารอไว้ส่วนมากคือการเอาผักบุ้งใส่ไว้ในบ่อแต่ต้องไม่ใส่น้ำเยอะเพราะลูกปลาอาจน็อคน้ำตายได้ ที่สำคัญคือความสะอาดจะต้องดูแลเป็นอย่างดี เมื่อปลากัดออกสีดีๆ ก็ถึงมาคัดเอาตัวผู้ตัวเมียออกมาเลี้ยงในบ่อมาตรฐานเพื่อรอเวลาคัดปล้ำหาตัวเก่งๆ ไว้จำหน่ายต่อไป
การคัดปลากัดเก่งก็ทำเหมือนปกติในวงการคือการหาออกกัดตามสนามที่เปิดในนครปฐมหรือไม่ก็ส่งให้เพื่อนๆ เอาไปลองกัดเพื่อรอเช็คแผลกัดว่าเป็นอย่างไร ปลากัดของพี่สุทัศน์แม้ว่าจะมาจากสายพ่อแม่ปลาที่ดีมีการดูแลที่ดีแต่ก็ไม่ได้เอามาจำหน่ายในทันทีต้องเพิ่มความมั่นใจให้ชัดเจนว่าบ่อนั้นต้องเป็นของดีที่กัดเก่งจริงๆ ถึงจะจำหน่ายต่อไปให้ลูกค้าได้
พูดถึงเรื่อการตลาดนั้นถือว่ามีอัตราการขยายตัวในแต่ละปีที่น่าพอใจ เพราะข้อดีของการเพาะเลี้ยงปลากัดนั้นสามารถแยกออกมาเป็นข้อๆ ได้ 2 ประเด็นใหญ่ๆคือ
- ลงทุนครั้งเดียวในปริมาณที่ไม่มากแล้วแต่ความสามารถของผู้ผลิต
ในกรณีของคุณสุทัศน์ที่ลงทุนในปีแรกรวมทุกสิ่งทุกอย่างไม่เกิน 50,000 บาท แต่นั่นคือการลงทุนใหญ่ทีเดียว ต้นทุนที่ตามมาในครั้งต่อๆไปก็ไม่เท่าไหร่เน้นไปทางอาหาร และพ่อปลามากกว่า เรียกว่าแทบจะไม่มีรายจ่ายที่เป็นนามธรรมสักเท่าไหร่ เมื่อขายปลาในปีแรกผ่านไปที่คุณสุทัศน์ขายได้หลัก100,000 เท่ากับว่ามีกำไรตั้งแต่ปีแรก ในปีต่อมาการจำหน่ายก็ถือว่าเป็นกำไรเต็มๆ เพราะการลงทุนครั้งแรกสามารถอยู่ได้ยาวๆ การเพาะเลี้ยงปลากัดจึงเป็นธุรกิจที่ใครๆก็มองว่าดีด้วยการลงทุนเบื้องต้นที่ไม่มากมายนี่เอง
ได้เงินแทบทุกวันหรือมีรายได้เฉลี่ย/เดือนที่น่าพอใจ
2. การคาดหวังเรื่องกำไรของปลากัดเป็นสิ่งที่คาดหวังได้แต่รายได้ของการขายปลาไม่ได้มาในรูปแบบเงินก้อนแต่มาในรูปแบบของเงินที่มาเรื่อยๆ ถ้ามีฐานลูกค้าที่ดีสามารถส่งปลากัดได้แทบทุกวัน ในแต่ละอาทิตย์อาจจะมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 3-4 วัน เฉลี่ย/เดือนในส่วนของคุณสุทัศน์ก็มีรายได้ประมาณ 7,000-8,000 ก็ถือว่าน่าพอใจในระดับหนึ่งภาพรวมเป็นปีจึงมีรายได้เป็นตัวเลขที่ค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับการลงทุนที่ไม่เยอะ ด้วยเหตุนี้คุณสุทัศน์ก็มองว่าถ้าจะหาอาชีพอื่นที่ทำร่วมด้วยและได้เงินก้อนก็จะสนับสนุนเรื่องรายได้ที่ชัดเจนมากขึ้น
แต่ไม่ว่าจะเป็นการเลี้ยงอะไรก็ตามก็จะมีต้นทุนและรายได้ที่แตกต่างกันไปอย่างปลากัดเป็นการลงทุนครั้งแรกครั้งเดียวแต่มีรายได้ต่อเนื่องไปเรื่อยๆ แต่ในรูปแบบรายวันไม่ใช่เงินก้อนส่วนการเลี้ยงหมูก็จะมีราคาขึ้นลงตามกลไกตลาด แต่ก็มีต้นทุนในแต่ละครั้งค่อนข้างสูงแต่สามารถเก็บเป็นเงินก้อนได้ ส่วนการเลี้ยงไก่ ใช้เวลาในการเลี้ยง 4 เดือน 15 วันกว่าจะจำหน่ายได้ มีต้นทุนเฉลี่ย 180 บ./ตัว ทุกวันนี้คุณสุทัศน์เลี้ยงอยู่ 2,300 ตัวใช้ทุนกว่า 400,000 บาทแต่ถ้าขายตามเทศกาลได้กว่า 80-90 บ./กก. ก็มีรายได้กว่า 600,000 แต่ก็ไม่สามารถได้ในราคานี้ทั้งปีส่วนมากจึงจะเลี้ยงเพื่อขายตามเทศกาลซะมากกว่าแต่อย่างน้อยก็เป็นเงินก้อนที่คุณสุทัศน์บอกว่าเอามาชดเชยกันได้เป็นอย่างดีผสมผสานระหว่างปลากัด หมู ไก่ ที่มีทั้งเงินก้อน และได้ต่อเนื่องทุกวันถือเป็นเกษตรผสมผสานในอีกรูปแบบที่น่าพอใจ เพราะนอกจากที่พูดมาก็ยังมีบ่อปลาดุกที่เข้ามาเป็นรายได้เสริมอีกทางหนึ่งด้วย
ถามถึงปลากัดที่สร้างผลงานในรอบปีที่ผ่านมาว่าเป็นอย่างไรบ้างก็ถือว่ามีความโดดเด่นอยู่ไม่น้อย คุณสุทัศน์เล่าให้ทีมงานฟังว่า “ในปี 2556 มีครอกที่เก่งมากกัดได้ราคาตั้งแต่ตัวแรกถึงตัวสุดท้าย บางทีกัดได้ถึงปาก 2 ปาก 3 เพราะชนะเร็วมาก ทั่วไปกัดปากเดียวก็แย่แล้ว เบอร์นี้คือเบอร์ 88 ตอนนี้ก็มีเก็บเป็นสายแม่ปลาด้วย ถือเป็นปลาเก่งที่หายากมากทีเดียว ราคากัดก็ได้ประมาณ 2,000-3,000 เล่านอกด้วยก็กว่า 40,000-50,000 บาท จากชุดนั้นก็มีเบอร์ 73 เป็นปลาในปี 2557 ที่ผ่านมาคนถามหาเบอร์นี้ไม่หยุดเหมือนกันความเก่งที่ว่าคือกัดหู ตา ปาก กัดตาก่อนเลยแผลจำเพาะมาก กัดเริ่มต้นได้กว่า 5,000 จับนอกก็หลัก 10,000 ขึ้น ส่งทีละประมาณ 25 ตัวก็ผ่านสนามได้เกือบทั้งหมด”
ปัจจุบันบ่อปลากัดของพี่สุทัศน์ได้ขยายจาก 50 ตุ่มเป็นกว่า 100 ใบและมีโครงการว่าจะขยายต่อไปให้ถึง 200 แต่ในช่วงปีที่ผ่านมาก็มีผลกระทบในเรื่องเศรษฐกิจอยู่บ้างเพียงแต่ตลาดหลักของพี่สุทัศน์นั้นไม่ใช่ทางใต้แต่มีลูกค้าเน้นไปทางภาคกลางมากกว่าทำให้ที่ผ่านมาเรื่องรายได้ถือว่ายังค่อนข้างดีอยู่แม้ปริมาณการขายจะน้อยลงไปบ้างแต่ก็ยังถือว่าน่าพอใจในระดับหนึ่ง
การวางเป้าหมายในอนาคตคือการเพาะปลาเพื่อให้ได้ปลาที่มีมาตรฐานยิ่งขึ้น พวกแผลกัดครบ หาง หู หน้า แม้จะทำได้ยากแต่ก็ต้องพยายามทำซึ่งคำว่าปลากัดไม่ควรหยุดพัฒนาเพราะคู่แข่งในตลาดมีต่อเนื่องและคนเล่นก็ต้องการหาปลาที่เก่งและดีที่สุด ในฐานะของผู้เพาะก็มีหน้าที่คือพัฒนาสายพันธุ์ให้ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้อย่างน้อยประสบการณ์ที่ผ่านมาก็การันตีได้ว่าปลากัดจากฟาร์มปลากัดเก่งแห่งนี้จะเป็นที่ยอมรับได้มากยิ่งขึ้น ถ้าได้ลองได้เห็น รับรองจะติดอกติดใจอย่างไม่รู้ลืมทีเดียว
สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมหรือต้องการปลากัดเก่ง ติดต่อ: คุณ สุทัศน์ จาคีไพบูลย์ โทร. 085-180-3928