การปลูกมะกรูด ระยะชิด ได้ทั้งใบ ทั้งกิ่งพันธุ์ ตอนที่ 2

โฆษณา
AP Chemical Thailand

 

จากตอนที่แล้ว การปลูกมะกรูด ระยะชิด ได้ทั้งใบ ทั้งกิ่งพันธุ์ ตอนที่ 1 ทีมงาน ผักเศรษฐกิจ เดินทางไปที่ อ.ตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ ไปพบกับ คุณณรงค์ ร่างใหญ่ เจ้าของสวนมะกรูดตัดใบ ซึ่งมีแนวคิดและวิธีการผลิตใบมะกรูดเพื่อการค้า ตอนที่ 2 นี้ เลยจะเน้นเรื่อง การผลิตให้ได้ผลผลิตดีเป็นที่ต้องการของตลาด รวมไปถึงการทำกิ่งพันธุ์คุณภาพเพื่อส่งให้ลูกค้า เพราะในอนาคตพืชตัวนี้จะทำให้ประเทศของเรามีการส่งออกใบมะกรูดอบแห้งเพื่อนำรายได้เข้าประเทศอย่างเป็นกอบเป็นกำ ส่งออกใบมะกรูดอบแห้งเพื่อนำรายได้เข้าประเทศอย่างเป็นกอบเป็นกำ

ใบมะกรูดกำลังแตกยอด
ใบมะกรูดกำลังแตกยอด

คุณณรงค์เล่าว่าตัดใบมะกรูดทุก 45 วัน การปลูกมะกรูดระยะชิดเป็นการใช้พื้นที่ต่อไร่ให้ได้ประโยชน์สูงสุดและผลผลิตต่อพื้นที่ได้มากที่สุด การตัดใบมะกรูดขายจะเริ่มให้ผลผลิตตั้งแต่ 8 เดือน ขึ้นไป ใบมะกรูดที่มีคุณภาพดี คือ สีเริ่มเขียวเข้มกำลังดี ไม่แก่หรืออ่อนจนเกินไป ใบใหญ่สวย และไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องใบลายจากการรบกวนของโรคและแมลง ระยะการปลูกต้นชิดจะบังคับให้ได้กิ่งกระโดงมากกว่า รอบการตัดจะได้ผลผลิตจำนวนครั้งมากกว่าการปลูกแบบเดิม คือ 1 ปี สามารถตัดได้ 6-8 ครั้ง หรือเก็บเกี่ยวผลผลิตโดยเฉลี่ย 45 วัน ต่อครั้ง ทั้งนี้ยังสามารถควบคุมคุณภาพการดูแลง่ายกว่าแบบเดิมอีกด้วย

ถ้าเปรียบเทียบการปลูกมะกรูดระยะชิดกันแบบเดิม จะมีลักษณะแตกต่างกันหมด การปลูกระยะชิดจะสามารถปลูกมะกรูดได้ประมาณ 5,000-7,000 ต้น ต่อไร่ ซึ่งการปลูกมะกรูดแบบเดิมจะปลูกได้ 400 ต้น ต่อไร่ เท่านั้นเอง การเก็บผลผลิตระยะชิดก็สามารถเก็บเกี่ยวได้เยอะกว่า และมีความต่อเนื่อง ทำให้เกษตรกรผู้ปลูกมีเงินหมุนเวียนภายในสวนตลอดเวลา การเก็บใบมะกรูดขั้นต่ำคุณณรงค์สามารถเก็บได้ประมาณ 1,500 กก. ต่อครั้ง ต่อ 1 ไร่ เลยทีเดียว

กิ่งกระโดงที่ใช้ทำกิ่งพันธุ์
กิ่งกระโดงที่ใช้ทำกิ่งพันธุ์

การตัดใบจะตัดยาว โดยนับจากยอดลงมาจนถึงโคนกิ่งที่ยังดูเป็นตอเขียว จะไม่ตัดให้ถึงโคนกิ่งที่เป็นตอสีน้ำตาล ซึ่งจะทำให้ยอดใหม่แตกขึ้นมาได้เร็ว ชนกับยอดตัด 45 วัน ได้พอดี
เมื่อเริ่มเข้าสู่ฤดูฝน คือ ในช่วงเดือนพฤษภาคม ใบของมะกรูดจะแตกดีมาก ในช่วงนี้ราคาก็จะถูกลงด้วย เพราะผลผลิตมีเยอะ พอใกล้ช่วงเดือนกันยายน ตุลาคม คือ “ปลายฝน ต้นหนาว” ใบมะกรูดก็จะเริ่มแตกน้อยลง ช่วงนี้ใบจะสวยต้องรีบตัดพื่อทำการจำหน่ายจะได้ราคาดี แต่พอเข้าฤดูหนาวใบมะกรูดจะเริ่มมีขนาดเล็กลงเพราะไม่ได้รับน้ำจากฝนที่ตกลงมา ส่วนใหญ่ชาวบ้านที่ปลูกกันจะไม่มีระบบน้ำ อาศัย “เทวดา” คอยช่วยให้น้ำ และทำให้ใบมะกรูดเล็ก ฉะนั้นเกษตรกรที่วางระบบน้ำในสวนมะกรูดที่ตนทำก็จะช่วยให้ใบมะกรูดมีลักษณะใหญ่ขึ้นและทำให้สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ตลอดทั้งปี

ปัจจุบันราคาใบมะกรูดอยู่ที่ประมาณ 40-50 บาท ต่อกิโลกรัม ตลาดที่มีอยู่ก็ไม่สามารถส่งผลผลิตได้เพียงพอต่อความต้องการ ทำให้เป็นที่น่าเสียดายเพราะผลิตใบมะกรูดออกมาไม่ทันต่อความต้องการของตลาด

การขยายกิ่งพันธุ์มะกรูดเพื่อการค้า
การจำหน่ายกิ่งพันธุ์มะกรูดในปัจจุบันคุณณรงค์บอกว่า ดีมากๆ ลูกค้าส่วนใหญ่มาจากทางเฟสบุ๊คและจากบุคคลที่เข้าอบรมเรื่องมะกรูดที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ผลตอบรับจากการจำหน่ายกิ่งพันธุ์เป็นไปด้วยดีและแทบผลิตไม่ทันต่อความต้องการของลูกค้า ซึ่งมะกรูดเป็นพืชที่ต้องใช้ระยะเวลานานมากในการออกราก จึงทำให้ผลิตกิ่งพันธุ์ไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด

โฆษณา
AP Chemical Thailand

ที่สวนคุณณรงค์จ้างชุดตอนกิ่งพันธุ์มาจากอำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี เพราะการตอนกิ่งของมะกรูดต้องอาศัยผู้ชำนาญในการทำกิ่งพันธุ์ บวกกับรากของมะกรูดที่มีระยะเวลาในการออกนาน จึงยังต้องให้ผู้ที่มีฝีมือในการตอนกิ่งทำ ไม่เช่นนั้นอาจเกิดความเสียหายได้
เมื่อตอนกิ่งพันธุ์ของมะกรูดแล้วเปอร์เซ็นต์การเกิดรากจะอยู่ที่ 70-80 เปอร์เซ็นต์ จะใช้ระยะเวลาออกรากประมาณ 3 เดือน หรือ 90 วัน ในปีที่ผ่านมา คือ พ.ศ.2556 คุณณรงค์ตอนกิ่งขายได้ประมาณ 80,000 บาท ตกราคากิ่งละ 23-25 บาท นับเป็นรายได้ที่น่าสนใจมากทีเดียว เพราะขายได้ทั้งใบและกิ่งพันธุ์

เนื่องจากมีคนเริ่มหันมาสนใจการปลูกมะกรูดตัดใบระยะชิดกันมากขึ้น ถึงในช่วงแรกจะลงทุนค่อนข้างสูงตกประมาณ 100,000 กว่าบาท ต่อไร่ แต่ก็สามารถคืนทุนได้ภายใน 1 ปี การขยายกิ่งพันธุ์ก็ถือเป็นรายได้ที่น่าสนใจในช่วงเวลานี้เป็นอย่างมาก ถึงขนาดต้องสั่งจองกิ่งพันธุ์กันล่วงหน้ากันเลย

การตอนกิ่งจะทำโดยวิธีใช้ดินล่อราก โดยการนำน้ำยารูสโกรกับนิวทรีรูสมาผสมเทลงไปในดินเหนียวแล้วนำมานวดให้เป็นเนื้อเดียวกัน จากนั้นนำไปหุ้มกิ่งที่ตอนแล้วเพื่อรอรากออกอีกที วิธีนี้จะทำให้รากของมะกรูดที่ออกมาสามารถดูดซึมน้ำยาในดินเหนียวและทำให้รากได้อาหารจากตรงนี้ด้วย ต้นตอนกิ่งก็จะมีความสมบูรณ์หลังจากนำไปปลูกต่อไป

การปักชำต้นมะกรูดก็เป็นอีกวิธีที่ 1 ที่ใช้ในการขยายพันธุ์ แต่เพราะเป็นวิธีที่ทำให้รากของมะกรูดออกยากจึงไม่ค่อยนิยมทำกัน วิธีทำก็คือ ตัดกิ่งมะกรูดปาดเป็นปากฉลามมาแช่น้ำยาฆ่าเชื้อสเตปโตไมซิน แล้วใช้สาร NA 1 ส่วน ต่อน้ำ 1 ส่วน นำกิ่งพันธุ์ที่เตรียมไว้ไปแช่ไม่เกิน 30 นาที หลังจากนำกิ่งพันธุ์ที่แช่น้ำยาแล้วมาเสียบลงถุงที่มีแกลบดำ ล้างน้ำเพื่อลดความเค็มแล้วใช้มือกดให้แน่นเพื่อไม่ให้กิ่งคอนหรือล้ม

กิ่งพันธุ์มะกรูดพร้อมส่งลูกค้า
กิ่งพันธุ์มะกรูดพร้อมส่งลูกค้า

อัตราการเกิดรากของมะกรูดที่ปักชำจะอยู่ที่ประมาณ 50-70% ซึ่งมีอัตราการงอกของรากน้อยมาก แต่มะกรูดเป็นไม้ที่แปลก เพราะเวลาปักชำไปแล้วหลายเดือนใบที่ติดในกิ่งยังคงมีความสดหรือเขียวอยู่ พอดึงต้นขึ้นมาดูปรากฎว่ารากยังไม่ออก นับว่าเป็นไม้ที่มหัศจรรย์มากที่สามารถหาอาหารได้เองขณะที่รากยังไม่มีเครือข่ายผู้ปลูกมะกรูดตัดใบ

เมื่อมีการอบรมในเรื่องของการปลูกมะกรูดจึงมีการจัดตั้ง “ชมรมมะกรูดทางใบเพื่อการค้า” ขึ้น เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน ปัจจุบันชมรมมีสมาชิกประมาณ 100 กว่าคน แต่ที่สวนปลูกมะกรูดจริงๆ จะมีอยู่ประมาณ 20 กว่าราย นอกนั้นจะเป็นบุคคลที่เข้ามาศึกษาข้อมูลเพื่อที่จะทำการปลูกมะกรูดในอนาคตต่อไป สมาชิกเครือข่ายจะมีที่ลพบุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี กาญจนบุรี และสระบุรี เป็นต้น ถ้ารวมนับต้นมะกรูดทุกต้นจากสมาชิกในเครือข่ายจะอยู่ที่ปริมาณ 120,000 ต้น ที่ทำมะกรูดในระยะชิด
“มีอะไรเราจะแช่กันอยู่ตลอดเวลา ปลูกเยอะพื้นที่เยอะ เขาก็จะขายใบ ส่นผมขายกิ่งพันธุ์แต่จะเริ่มมาขายไปแล้ว ตอนกิ่ง คือ ผลพลอยได้ หลักๆ ผมทำเพื่อที่มะกรูดที่เราทำกันอยู่มันมั่นคงและก็เดินไปพร้อมๆ กัน เพราะยังเป็นพืชตัวใหม่ ทุกคนก็ยังไม่ใช่มืออาชีพ ส่วนใหญ่ก็มีงานประจำทำกันทั้งนั้น แต่ที่ทำ คือ มันสามารถที่จะเป็นอาชีพเสริมที่น่าสนใจ คุณณรงค์กล่าว

โฆษณา
AP Chemical Thailand

คุณภาพที่ตลาดต้องการ ผลผลิตของใบมะกรูดในปัจจุบันจะมีการส่งขายในตัวจังหวัดอ่างทอง ตลาดสี่มุมเมือง และมีบริษัททำเกี่ยวกับโรงงานน้ำพริก หรือจะเป็นบริษัททำเครื่องแกงสำเร็จรูปต่างๆ มาขอรับซื้อ ถ้าเป็นตามท้องตลาดบ้าน เรื่องขนาดใบเล็กจะไม่ค่อยเป็นปัญหามากเท่าใดนัก แต่ถ้าเป็นบริษัทใหญ่จะเลือกคุณภาพที่เป็นเกรด A คือ ใบใหญ่ สีเขียวเข้ม ไม่มีโรคและแมลง และที่สำคัญต้องปลอดสารเคมี ถ้าในสวนฉีดพ่นสารเคมีควรเว้นระยะการเก็บเกี่ยวให้ห่างประมาณ 30 วัน เพื่อไม่ให้มีสารเคมีตกค้าง แต่ต้องเป็นตัวยาที่กรมวิชาการเกษตรรับรองให้ใช้ได้

คุณณรงค์ ร่างใหญ่ เจ้าของสวนมะกรูดตัดใบ
คุณณรงค์ ร่างใหญ่ เจ้าของสวนมะกรูดตัดใบ

ตลาดใบมะกรูดค่อนข้างกว้าง ถ้าเปรียบเทียบจากสมัยก่อนเพราะถ้าใบมะกรูดสามารถตีตลาดส่งออกได้ กำลังการผลิตในประเทศต้องขยายขึ้นอีกเป็นจำนวนมาก เพราะในปัจจุบันก็ยังมีการผลิตใบมะกรูดไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด การที่มีการสนับสนุนให้เกษตรกรหันมาสนใจการปลูกมะกรูดตัดใบเพิ่มมากขึ้นจะทำให้เกษตรกรมีรายได้และมีแนวทางประคองชีวิตให้ดีขึ้น เพราะพืชเศรษฐกิจตัวนี้จะสร้างกระแสให้เกษตรกรมีรายได้หมุนเวียนตลอดเวลา และเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ที่กำลังมาแรง

“เมื่อก่อนผมมองว่ามะกรูดเป็นพืชนอกสายตา ไม่ค่อยมีคนสนใจเท่าไหร่นัก แต่พอได้มาลองทำแล้วรู้สึกว่ามันเป็นพืชที่ไม่ธรรมดา บวกกับรายได้ที่เข้ามาก็ไม่ธรรมดาเช่นกัน เรามองพืชตัวนี้เป็นพืชเศรษฐกิจ คือ มันสามารถต่อยอดกลับไปเป็นรายได้ให้อีกทางหนึ่ง ส่วนใครสนใจเข้ามาที่ชมรมเราก็ยินดีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของกันและกัน โดยที่นี่จะเปิดโอกาสให้ความรู้ ไม่ปิดบังอะไรทั้งนั้น ขอให้แค่มีใจเข้ามาก่อน ทุกคนที่เข้ามาส่วนใหญ่มืออาชีพของแต่ละคน แต่สุดท้ายมาจบที่เกษตรเหมือนกัน” คุณณรงค์กล่าว

 

tags: การปลูกมะกรูด ระยะชิด ได้ทั้งใบ ทั้งกิ่งพันธุ์ วิธีปลูกมะกรูด วิธีการปลูกมะกรูด การปลูกมะกรูดตัดใบ การปลูกต้นมะกรู การปลูกมะกรูดด วิธีปลูกมะกรูด ตอนที่ 2

[wpdevart_like_box profile_id=”1519009868335693″ connections=”show” width=”300″ height=”220″ header=”big” cover_photo=”show” locale=”th_TH”]