ความจนบังคับจิตใจ ทำให้ชาวบ้านในหมู่บ้านนาเพียง ต.สำราญ อ.เมือง จ.ขอนแก่น ปลุกระดมความคิดรวมตัวกันเพื่อผลักดันความจนก้าวสู่ความมั่งมีศรีสุข เสริมสร้างคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น จากจุดเริ่มต้นของผู้คนภายในชุมชนที่ร่วมแรงร่วมใจกัน สมัครสมานสามัคคี ในการรวมกลุ่มปลูก กุยช่ายขาว จนนำไปสู่จุดเปลี่ยน ด้านคุณภาพชีวิต และด้านสังคม ยกระดับชุมชน
ตามเสียงแคนดอกคูณไปจังหวัดขอนแก่น มาพบกับกลุ่มเกษตรกรที่รวมตัวกันผลิตกุยช่ายขาวส่งตลาด ทั้งในและนอกประเทศ พร้อมกับเคล็ดลับของการรวมกลุ่มให้เป็นปึกแผ่น เมื่อลมแล้งแห่งเดือนมีนาคมหอมพัด ผู้เขียนมาพบกับชายร่างใหญ่ ผิวคล้ำ อายุสี่สิบต้นๆ
การปลูกกุยช่ายขาว
คุณคำตัน ส่วยนนท์ ประธานกลุ่มปลูกกุยช่ายขาวแห่งบ้านนาเพียง พร้อมกับสมาชิกภายในกลุ่มที่เฝ้ารอรับ ภายในแปลงกุยช่ายพื้นที่จัดสรรกว่า 97 ไร่ บนแปลงกุยช่ายเขียวสะพรั่ง สุดตา
อำนาจของการรวมกลุ่มปลูกกุยช่ายขาวบ้านนาเพียง ทั้งอำนาจในการต่อรองด้านราคา อำนาจทางตลาด เพราะฉะนั้นการรวมกลุ่มเป็นทางออกที่ดีของการทำเกษตรในยุคสมัยนี้ ดังที่เห็นได้อย่างชัดเจนจากกลุ่มผลิตกุยช่ายขาวที่รวมตัวกันอย่างเหนียวแน่น เสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
พี่คำตันเป็นผู้ถ่ายทอดเรื่องราวเล่าให้ฟังว่า หมู่บ้านนาเพียงเป็นหมู่บ้านเล็กๆ อาชีพหลักส่วนมากชาวบ้านจะปลูกข้าว ทำนา แต่ต่อมาชาวบ้านส่วนหนึ่งหันมารวมกลุ่มปลูกผักกุยช่ายขาว และเริ่มทำเงินเรื่อยๆ จึงทำตามกันมา เห็นคนหนึ่งทำแล้วได้เงินก็ทำตาม เริ่มต้นจากนายบุญชูคนแรกในหมู่บ้านที่เป็นคนเริ่มปลูกผักกุยช่ายก่อนใครแล้วประสบผลสำเร็จ
การจัดตั้งกลุ่มปลูกกุยช่ายขาว
ต่อมาจึงมีการรวมกลุ่มกัน จนในปัจจุบันนี้มีสมาชิกกว่า 78 คน และภายในกลุ่มยังได้รับการรับรองจากทางกรมวิชาการเกษตร ใบรับรองการผลิตพืช GAP นับเป็นการกระตุ้นให้คนภายในกลุ่มกระตือรือร้นผลิตผักกุยช่าย เนื่องจากทำแล้วสร้างอาชีพและเงินตราจุนเจือเพื่อเหลือแก่คนภายในครอบครัวได้อีกด้วย
ทำไมต้องเป็นกุยช่ายขาว เชื่อว่าหลายคนต้องสงสัย แล้วทำอย่างไร ขายที่ไหน ผู้เขียนสงสัยจึงซักถามพี่คำตัน จึงได้คำตอบมาว่าแต่เดิมปลูกกุยช่ายเขียวกันก่อน ราคาตอนนั้นถูกมาก ราคาอยู่ที่ 10 บาท ปลูกกันตามหัวไร่ปลายนา แต่ต่อมามีครู ก.ศ.น.คนหนึ่งได้มาเยือนหมู่บ้านนาเพียง
แล้วแนะนำคนภายในหมู่บ้านทดลองทำกุยช่ายขาวดู ซึ่งก็เห็นผลขึ้นมาชัดเจนเลย เมื่อมีตลาดต้องการ ทั้งห้าง ภัตตาคารอาหารต่างๆ เริ่มให้ความสนใจ จึงริเริ่มกันทำกุยช่ายขาวกันขึ้นมานับแต่นั้นมา งบประมาณที่ได้มาของกลุ่มทางกลุ่มมีการจัดสรรปันส่วนใช้ประโยชน์
โดยมีระบบน้ำที่อุดมสมบูรณ์มาจากเขื่อนอุบลรัตน์ คราวนี้ล่ะชื่อเสียงของกลุ่มจึงแพร่สะพัดออกไปสู่ผู้บริโภค และหู ตา ของแม่ค้าปากตลาดทั้งหลาย ผลผลิตเพิ่มมากขึ้น ความต้องการเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว ทำให้คนภายในกลุ่มมีรายได้ไม่เว้นแต่ละสัปดาห์กันเลย
สภาพพื้นที่ปลูกกุยช่ายขาว
เมื่อลงไปในพื้นที่กว่า 97 ไร่ พื้นที่จัดสรรจะเห็นว่าภายในแปลงบางส่วนจะมีกระถางดินคลุมอยู่ภายในแปลงนับร้อยใบ ช่วยให้เข้าใจเลยว่าการผลิตกุยช่ายขาวมีขั้นตอนที่ไม่ยุ่งยาก เกษตรกรทั่วไปสามารถทดลองทำ หรือต้องการทำเป็นอาชีพก็ได้ เพียงแต่รู้เทคนิคกลเม็ดเคล็ดลับบางขั้นตอนก็เพียงพอต่อการนำไปทำเป็นอาชีพสร้างเงินได้ดีทีเดียว
กุยช่ายขาวสร้างมูลค่า 3 เท่าตัว พี่คำตันเล่าให้ฟังถึงการผลิตกุยช่ายที่จะมีผลตอบแทน พูดง่ายๆ คือ ถ้า 1 ไร่ ก็ 1 แสน แล้วขึ้นอยู่กับพื้นที่การผลิตด้วยว่ามากหรือน้อย หรือถ้าคิดรอบได้ต่อเดือน 30,000 บาท/เดือน กุยช่ายขาวราคาปัจจุบันตอนนี้กิโลกรัมละ 100 บาท ส่วนราคาส่งทางกลุ่มส่งในราคา 90 บาท ซึ่งที่ผ่านมาทางกลุ่มเคยขายในราคาสูงสุดอยู่ที่กิโลกรัมละ 120 บาท ต่ำสุดก็เพียงกิโลกรัมละ 90 บาท เท่านั้น ก็ถือว่าราคาก็อยู่ได้สำหรับการปลูกกุยช่ายขาว
ส่วนตลาดหลักทางกลุ่มจะส่งตลาดประจำเมืองจังหวัดขอนแก่น คือ ตลาดศรีเมือง และตลาดบางลำภู ซึ่งแต่ก่อนเคยมีกลุ่มปลูกผักกุยช่ายขาวส่งต่างประเทศ “สวิตเซอร์แลนด์” แต่เนื่องด้วยผู้นำกลุ่มไม่ได้ทำการส่งต่อ การส่งต่างประเทศจึงหยุดชะงักไป รูปแบบการทำงานภายในกลุ่ม คือ จะร่วมมือกัน ร่วมด้วยช่วยกันทำ เมื่อมีผลผลิตก็นำมารวมกันส่งขายในเชิงกลุ่ม
จากการสนทนาประสาชาวบ้านแบบบ้านๆ แต่ได้สาระหลากหลาย ทั้งวิถีชีวิตอันลุ่มลึก เรียบง่าย พูดกันเป็น เข้าใจง่าย พี่คำตันที่มีแนวคิดเหนียวแน่นขับไล่ความจนนำคุณภาพชีวิตดีๆ มาสู่ครอบครัว และคนภายในกลุ่ม ทุกคนมีชีวิตที่ดีขึ้น มีรายได้เสริม
ซึ่งมักมีคำพูดติดตลกจากพี่คำตันเสมอว่าทุกวันนี้จะปลูกกุยช่ายขาวเป็นอาชีพหลักแทนการทำนาไปแล้ว เพราะรายได้ดี มีเงินสร้างบ้าน ซื้อรถ ส่งลูกเรียน ชาวบ้านในกลุ่มก็อัธยาศัยดี ให้ความร่วมมือ ช่วยกันผลิต ช่วยกันทำ ชาวบ้านแถวอีสานจะเรียกกุยช่ายว่า (ผักแป้น) ซึ่งจัดเป็นพืชล้มลุกตระกูลเดียวกับหอม กระเทียม ซึ่งตัดครั้งหนึ่งก็สามารถเก็บได้หลายครั้ง นานถึงประมาณ 3 ปีขึ้นไป ตัดแล้วก็แตกกอใหม่
ขั้นตอนการปลูกกุยช่ายขาว
กลุ่มผลิตกุยช่ายขาวของบ้านนาเพียงจะเน้นหลักพึ่งพาธรรมชาติ ไม่ใช้สารเคมีถ้าไม่จำเป็น กว่า 20 ปีล่วงผ่านมา สำหรับระยะเวลาในการผลิตกุยช่ายขาวส่งตลาดสร้างรายได้กันมา ทำให้เกิดมุมมองประสบการณ์อันเพิ่มพูน เรียกว่ามืออาชีพกันเลยทีเดียว ภายใต้กระท่อมที่ล้อมรอบไปด้วยแปลงกุยช่าย กว้างสุดลูกตา พี่คำตันเล่าถึงขั้นตอนการผลิตกุยช่ายขาว
เริ่มต้นจากการเตรียมดิน ยกแปลงกว้าง ยาว ตามความเหมาะสมของพื้นที่ ปลูกโดยแยกกอ ถ้าดีหากไถยกแปลงแล้วก็ควรมีการตากดินเอาไว้สัก 1 อาทิตย์ เพื่อเป็นการฆ่าเชื้อโรคในดิน พี่คำตันเน้นย้ำว่ากุยช่ายขาวควรปลูกในพื้นที่น้ำไม่ท่วม เพราะถ้าหากน้ำท่วมจะทำให้กุยช่ายเน่าเสียหาย ผลผลิตต่ำ การปลูกกุยช่ายมี 2 แบบ ด้วยการหว่านเมล็ดและแยกกอ แต่ทางกลุ่มจะทำโดยการแยกกอปลูก สำหรับการปลูกจะปลูกเป็นสี่แถว เมื่อปลูกเสร็จแล้วจากที่ผู้เขียนสังเกตเห็นก็คือ จะนิยมนำฟางข้าวมาคลุมแปลงเป็นการรักษาความชื้น
ขั้นตอนในการทำกุยช่ายขาวเริ่มต้นจากการคัดต้นที่สมบูรณ์ แตกกอดี แล้วใช้มีดคมตัดกอกุยช่าย (ผักกุยช่ายเขียว) ที่ระดับสูงเหนือผืนดินเล็กน้อย ตัดให้ขาดครั้งเดียว
พี่คำตันพาเดินเข้ามาภายในแปลงพร้อมกับสมาชิกภายในกลุ่มเพื่อสาธิตการทำกุยช่ายขาว ขั้นตอนและเทคนิคที่สำคัญก็คือ “กระถางดินเผา” ซึ่งทางกลุ่มสั่งมาจากบ้านถั่ว จังหวัดขอนแก่น เนื่องจากหมู่บ้านนี้เป็นหมู่บ้านที่ทำเครื่องปั้นเดินเผากันมาก นำมาครอบกอกุยช่าย ครอบไว้ 10-14 วัน จึงทำการตัดออกจำหน่ายได้
ทำไมต้องทำกุยช่ายขาว ในกลุ่มตอบเป็นเสียงเดียวกันว่ารสชาติกรอบ และหวาน มากกว่ากุยช่ายเขียว โรงแรม ภัตตาคาร นิยมนำไปประกอบอาหาร ซึ่งประโยชน์ของกุยช่ายขาวประกอบไปด้วยธาตุอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย มีกากใยอาหาร เหตุที่กุยช่ายเปลี่ยนสีก็เนื่องจากกุยช่ายไม่โดนแสงแดด จึงทำให้กุยช่ายเปลี่ยนเป็นสีขาว จำหน่าย กก.ละ 120 บาท ช่วงฤดูหนาวจะมีผลผลิตเยอะที่สุด
สำหรับบ้านนาเพียงหากเฉลี่ยแล้วปลูกกุยช่ายขาวครอบครัวละ 1-3 งาน รวมพื้นที่ประมาณ 50 ไร่ ถ้าหากราคากุยช่ายเขียว กก.ละ 10-15 บาท เท่านั้น แต่ถ้าเป็นกุยช่ายขาว กก.ละ 80-120 บาท มีรายได้เหลือเดือนละประมาณ 10,000-30,000 บาท/ครัวเรือน
สำหรับสภาพแวดล้อมในพื้นที่ขอนแก่นจะมีอากาศร้อนในฤดูร้อน และช่วงแสงสั้นอุณหภูมิต่ำ กุยช่ายจะฟักตัว หยุดชะงักการเจริญเติบโต ดินที่เหมาะสมในการผลิตกุยช่ายขาวให้ได้คุณภาพดีนั้นต้องเป็นดินร่วนซุย ระบายน้ำได้ดี
การเก็บเกี่ยวกุยช่ายขาว
การผลิตกุยช่ายขาวระยะที่เหมาะสมให้ได้ผลผลิตสูงจะปลูกตั้งแต่เดือนกรกฎาคม เริ่มเก็บเกี่ยวในช่วงเดือนตุลาคม-มีนาคม หลังจากที่มีการครอบกระถางเรียบร้อยแล้ว ก็มีการรดน้ำ ใช้ปุ๋ยตามปกติ เพียง 10-14 วัน เท่านั้น ก็สามารถเก็บได้ ถือว่าเร็วมากในการได้เงิน ซึ่งทางกลุ่มมีออเดอร์ทุกสัปดาห์ บางทีเช้าอีก 40 กก. เย็น 60 กก. ก็ถือว่าสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำให้แก่ครอบครัว
เมื่อชุมชนรวมกันเข้มแข็ง ลดปัญหาการว่างงาน การหนีเข้าไปทำงานในกรุงเทพของคนยุคใหม่ เพียงแต่เรามีความขยันก็มีรายได้แทบทุกวัน และการผลิตกุยช่ายขาวนั้นก็ไม่มีอะไรที่สลับซับซ้อนอะไรเลย พี่คำตันถ่ายทอดให้ฟัง หลังจากที่ผู้เขียนมีโอกาสเปิดบทสนทนาเรื่องของคุณภาพชีวิตก่อนและหลัง ซึ่งเห็นได้ชัดเลยว่าภายหลังที่มีการรวมกลุ่มผลิตกุยช่ายขาวทำให้คุณภาพชีวิตการเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
จากแปลงกุยช่ายพี่คำตันพาผู้เขียนแวะมาเยี่ยมเยือนสมาชิกอีกกลุ่ม ที่กำลังคัดเลือก กุยช่ายขาว เพื่อเตรียมส่งกันสดๆ ร้อนๆ ความมีน้ำใจของคนภายในกลุ่มนับเป็นสิ่งมีค่ามากกว่าสิ่งใด หากขาดความรัก ความสามัคคีไป การอยู่เป็นกลุ่มคงยาก เพราะคนในกลุ่มมีความสมัครสมานสามัคคีกัน การรวมกลุ่มจึงเหนียวแน่นจนถึงทุกวันนี้เอง เมื่อมีการตัดกุยช่ายขาวแล้วก็นำมาคัดล้างทำความสะอาดขจัดสิ่งสกปรก และเด็ดใบที่เหี่ยวเหลืองออกให้หมด ต่อจากนั้นก็นำไปผึ่งลมเพื่อไล่น้ำที่ล้างออก แล้วจึงนำมามัดเป็นกำแล้วแพ็คใส่ถุง ไล่อากาศออก เตรียมส่งตลาด
ด้านตลาดและช่องทางจำหน่าย กุยช่ายขาว
ต้นทุนในการผลิตต่อไร่ ในช่วงเริ่มต้นจะอยู่ประมาณ 10,000-30,000 บาท แต่พอหลังจากนั้นก็จะคืนกำไร เพราะ 10-14 วัน ก็สามารถตัด กุยช่ายขาว ตัดจำหน่ายได้ ถ้าหากคิดเป็นสัปดาห์ก็ตกสัปดาห์ละ 6,000 บาท รวมทั้งเดือนก็ตกประมาณ 30,000 บาท กันเลยทีเดียว แต่ถ้าหากมีพื้นที่ปลูกมากเป็นไร่ 1 ไร่ ก็ 1 แสน ก็ขึ้นอยู่กับการจัดการดูแลด้วย
กุยช่ายขาว มีความต้องการมาก นิยมนำไปประกอบอาหารและมีประโยชน์คุณค่าทางอาหารมาก ทางกลุ่มส่งขายที่ตลาดในเมือง จังหวัดขอนแก่น ตลาดศรีเมือง และตลาดบางลำภู ที่ส่งประจำ ออเดอร์ที่สั่งแล้วแต่ความต้องการของตลาด ราคาที่ทางกลุ่มส่งขายปลีก กก. 100 บาท ขายส่ง กก. 90 บาท สูงสุดที่เคยขายมา กก. 120 บาท ต่ำสุด กก. 90 บาท
พี่คำตันมีข้อเสนอเพิ่มเติมถึงเรื่องกระถางดินเผาที่ใช้ครอบกระถางละ 80 บาท แปลงหนึ่งจะใช้ครอบอยู่ประมาณ 120-200 กอ/กระถาง ต้นทุนส่วนใหญ่จะอยู่ที่กระถางดินเผา แต่ลงทุนเพียงครั้งเดียว พอครอบกระถางนี้เมื่อได้เวลาตัดก็ทำการย้ายกระถางไปครอบแปลงใหม่ต่อไป แต่ภายในกลุ่มจะนำผลผลิตมารวมกันเพื่อให้เพียงพอตามออเดอร์ตลาด
กุยช่ายขาว จึงเป็นแนวทางหนึ่งในการประกอบอาชีพสร้างรายได้อีกทาง และขั้นตอนการผลิตก็ไม่ยุ่งยากนัก ซึ่ง กุยช่ายขาว มักมีมูลค่าดีกว่ากุยช่ายเขียว
ขอขอบคุณข้อมูลอันน่าสนใจนี้ และหากใครสนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณคำตัน ส่วยนนท์ 45 ต.สำราญ อ.เมือง จ.ขอนแก่น 40000 โทร.08-6671-7017, 08-0357-1286 หรือฝ่ายการตลาดกลุ่มคุณบุญถม บุญศรี 08-5744-9019