ผลิตโรงเรือนไฮโดรโปนิกส์ 250,000 บาท
ในยุคเศรษฐกิจปัจจุบันยังคงย่ำแย่ ข้าวยากหมากแพง เศรษฐกิจพอเพียงเป็นรากฐานของชีวิต ควรปลูกจิตสำนึกให้กับลูก หลาน ในคนรุ่นใหม่ให้รู้จักใช้ชีวิตอย่างมีเหตุ มีผล รู้จักแยกแยะ มีความพอประมาณ และมีภูมิคุ้มกันในตัว ประเทศชาติจึงเจริญรุ่งเรือง หาที่เปรียบมิได้ กาลเวลายิ่งนำพาอนาคตเดินทางพบเจอแต่เรื่องราวใหม่ๆ ที่ก่อเกิดกำเนิดขึ้นมา เป็นสิ่งจูงใจให้หลงใหลจนลืมตัว โงหัวไม่ขึ้น ฝังลึกจนเป็นสันดาน ตามกาลเวลา สถานการณ์บ้านเมืองแบบนี้ต้องพึ่งพาตนเองให้มากๆ ต้องยืนด้วยลำแข้งของตัวเราเอง และมีการศึกษาเรียนรู้อยู่ตลอดเวลาอย่างไม่หยุดหย่อนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตัวเอง ปลูกฝังเกษตรกรไทยให้ทราบซึ่งถึงพระราชดำริ“เศรษฐกิจพอเพียง”ของพ่อหลวงอันเป็นที่รักยิ่งของชาวไทย
ทางทีมงานผักเศรษฐกิจจึงนำตัวอย่างแนวคิดของ คุณเปี๊ยก พรมพุก มาฝากเกี่ยวกับการประยุกต์สิ่งเหลือใช้มาทำเป็นวัสดุในการสร้างโรงเรือนไฮโดรโปนิกส์ ต้นทุนต่ำ มาตรฐานการใช้งานไม่แพ้วัสดุสำเร็จรูปกันเลยทีเดียว
ประวัติความเป็นมาของไฮโดรโปนิกส์
เกิดจากความอยากรู้อยากลองของมนุษย์ ได้มีการศึกษาค้นคว้าอย่างไม่มีการหยุดหย่อน นักวิจัยชื่อ จอห์น วูดเวิด ชาวอังกฤษ เมื่อ พ.ศ.2242 ทดลองปลูกพืชในน้ำทำให้เขารู้ว่าการปลูกพืชไม่ใช่แต่พืชจะต้องการน้ำอย่างเดียวยังมีสารต่างๆในโลกของเราที่พืชยังมีความต้องการ จึงได้นำมาศึกษากันต่อโดยการนำพืชมาปลูกในสารละลายก็สามารถเจริญเติมโตได้อีกเช่นกัน เพราะฉะนั้นดินไม่ใช่ปัจจัยหลักในการปลูกพืช ปลูกในน้ำก็สามารถเจริญเติมโตได้เหมือนกัน จึงมีการศึกษาเรียนรู้โดยนำน้ำกับสารละลายผสมเข้าด้วยกันโดยไม่ต้องมีดินเป็นองค์ประกอบหลักอีกต่อไป นั่นก็คือ “ การปลูกพืชไร้ดิน” หรือเรีนกกันอีกคำว่า“ไฮโดรโปนิกส์”
ไฮโดรโปนิกส์เป็นการปลูกพืชน้ำโดยไม่ใช้ดินเป็นองค์ประกอบแต่มีสารละลายธาตุอาหาร+น้ำเป็นองค์ประกอบหลักในการทำให้พืชเกิดการเจริญเติบโตงอกงามขึ้นมา โดยมีโรงเรือนป้องกันศัตรูพืช แมลงต่างๆ นับเป็นวิธีการใหม่ในการปลูกพืช โดยเฉพาะการปลูกผักและพืชที่ใช้เป็นอาหาร เนื่องจากประหยัดพื้นที่ และไม่ปนเปื้อนกับสารเคมีต่างๆ ในดิน ทำให้ได้พืชผักที่สะอาดปลอดสารพิษเป็นอาหาร ปัจจุบันนี้ในเทคนิคการปลูกพืชแบบไร้ดินหลายแบบด้วยกัน ในสภาพตามธรรมชาตินั้น ดินจะทำหน้าที่เป็นแหล่งสารอาหาร แต่ดินไม่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืช เมื่อสารอาหาร
ในดินละลายไปกับน้ำ รากของพืชก็จะสามารถดูดซึมสารอาหารนั้นได้ เมื่อใส่สารอาหารที่จำเป็นสำหรับพืชไว้ในแหล่งน้ำที่สร้างขึ้น ก็ไม่จำเป็นต้องใช้ดินเพื่อเป็นแหล่งอาหารของพืชอีกต่อไป พืชส่วนใหญ่จะเจริญเติบโตด้วยวิธีไฮโดรโปนิกส์ได้
การปลูกพืชไร้ดินนี้ทำได้ง่าย สะดวก และประหยัดพื้นที่ แต่ต้องมีอุปกรณ์ที่จำเป็น คือสารอาหารสำหรับพืชที่ละลายอยู่ในน้ำแล้วไฮโดรโปนิกส์นั้นมีประโยชน์หลักๆ 2 ประการด้วยกัน ประการแรกคือช่วยให้มีสิ่งแวดล้อมที่ควบคุมได้มากขึ้นสำหรับการเติบโตของพืช แทนที่จะเป็นการใช้ดินอย่างเดิม ประการที่สองก็คือ พืชหลายชนิดจะให้ผลผลิตที่มากในเวลาที่น้อยกว่าเดิมเป็นการประหยัดในเรื่องของเวลา และบางครั้งก็มีคุณภาพที่ดีกว่าเดิม และด้วยการปลูกที่ไม่ใช้ดิน จึงทำให้พืชไม่มีโรคที่เกิดในดิน ไม่มีวัชพืช ไม่ค่อยมีศัตรูรบกวนใช้พื้นที่น้อย
นอกจากนี้ยังมีการใช้น้ำน้อยมาเพราะมีการใช้ระบบน้ำวนแบบปิด เพื่อหมุนเวียนน้ำ เมื่อเทียบกับการเกษตรแบบเดิมแล้ว นับว่าใช้น้ำเพียงส่วนน้อยนิดเท่านั้น และคุณสมบัติดังกล่าวนี้ทำให้ไฮโดรโปนิกส์เหมาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่ต้องการปลูกพืชโดยการควบคุมปัจจัยที่เกี่ยวข้องได้มากที่สุด
คุณเปี๊ยก พรมพุก เกษตรกรที่มีใจรักเกษตรพลิกผันชีวิตจากช่างก่อสร้างมาดำเนินชีวิตตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงของพ่อหลวง จึงได้ศึกษา ค้นคว้า แสวงหาความรู้เกี่ยวกับเกษตรมาโดยตลอดเวลา เขาเกิดจุดประกายที่ได้เห็นการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์จากสื่อทางโทรทัศน์และมีความสนใจที่จะทำ แต่ไม่มีความรู้ ประสบการณ์เกี่ยวกับทางด้านการทำไฮโดรโปนิกส์มาก่อน ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจศึกษา คลุกคลีบวกกับจิตใจที่รักในอาชีพนี้ มุ่งหน้าหาความรู้เพิ่มเติม คิดค้นวิธีการต่างๆ เพื่อหาแนวคิดมาทำไฮโดรโปนิกส์ให้มีการลงทุนที่ต่ำที่สุด มีระบบและประสิทธิภาพการทำงานเหมือนกับระบบไฮโดรโปนิกส์แบบสำเร็จรูปที่มีราคาค่อนข้างแพง เกษตรกรพึ่งเริ่มต้นไม่มีกำลังทางทุนทรัพย์ไปลงทุนซื้อตรงนั้นได้ด้วยเหตุผลเพียงเท่านี้ไม่เป็นอุปสรรคหรือสามารถไปลบล้างความพยายาม แนวคิดที่แน่วแน่ของเกษตรกรคนนี้ได้เลย
ด้วยความที่มีทักษะความเป็นช่างมาก่อน มีมุมมองที่สร้างสรรค์เล็งเห็นกระเบื้องเก่าที่โละทิ้งเป็นวัสดุที่สามารถมาประกอบการทำโต๊ะปลูกผักไฮโดรโปนิกส์และใช้ไม้ที่มีอยู่เป็นโครงสร้างโรงเรือน ช่วยให้ลดต้นทุนในการสร้างโรงเรือนจากโรงเรือนระบบสำเร็จรูปไม่ต่ำกว่า 1,000,000บาท แต่ในแนวคิดจากการสร้างโรงเรือนในแบบเกษตรกรหัวใสคนนี้ใช้งบประมาณในการสร้างเพียงเพียง 250,000 บาท
เริ่มทำผักไฮโดรโปนิกส์แค่ 3 เดือน
เป็นระยะเวลาที่ถือว่าน้อยในการเริ่มต้น แต่คนเราใช้เวลาให้เกิดความคุ้มค่าไม่เหมือนกัน สำหรับเกษตรผู้มีใจ
มุ่งมั่นใช้เวลาอย่างมีคุณค่ามาก โดยที่พยายามศึกษามาโดยตลอดที่จะทำอย่างไรให้อาชีพเกษตรมีความยั่งยืนและสามารถเลี้ยงตัวเอง ครอบครัวได้อย่างมั่นคง มีความสุข จึงยึดหลักเดินทางสายกลางตามพ่อหลวงมาโดยตลอดเพื่อเป็นแรงยึดเหนี่ยวจิตใจในการประกอบอาชีพเกษตร หวังว่าในอนาคตวันข้างหน้าต้องได้รับความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นกับบั้นปลายชีวิตของเขา
ทุกสิ่งทุกอย่างเริ่มจากที่ไม่รู้อะไรมาก่อน ในระยะเวลา 3 เดือนเป็นการทำไป เรียนรู้ไปจากประสบการณ์จริงและ
ได้รับคำแนะนำจารผู้รู้เกี่ยวกับการดูแลผักไฮโดรโปนิกส์ ช่วงแรกๆ เกิดปัญหาในเรื่องการตลาดเพราะช่วงนั้นมีการปลูกผักสลัดไว้พอสมควรผลผลลิตออกมาสวย แต่เกิดปัญหาการ“ดื้อตลาด”ผักสลัดเป็นพืชที่ปลูกในระบบไร้ดิน มีราคาและต้นทุนที่สูงกว่าผักที่ปลูกในดินเป็นธรรมดา เนื่องจากการดูแลยาก มีต้นทุนสูง คนหันมาเลือกที่จะบริโภคผักดินเสียมากกว่าเพราะ ราคาถูก เป็นผักปลอดสารพิษเหมือนกัน ต้องยอม“ยกธงขาว”จากปลูกสลัด มาปลูกผักพื้นบ้านเสริมแทน เช่น ผักกะหล่ำปลี คะน้า คื่นฉ่าย เริ่มมีช่องทางตลาดภาพออกมาดี แต่กะหล่ำปลีที่เป็นปัญหาพืชชนิดนี้กินอาหารเก่งสารอาหารไม่เพียงพอต่อความต้อง เสริมด้วยปุ๋ยหมักขี้ค้างคาว ปลาป่นและแร่สังกะสี 1 ช้อนโต๊ะต่อน้ำหมัก 10 ลิตรช่วยให้มีผลผลิตที่ดีมากขึ้น สามารถสร้างรายได้ต่อเดือนไม่ต่ำกว่า 10,000บาท ระยะเวลา 3 เดือนที่ผ่านมามีรายได้ 3,700 บาท
เจาะตลาด “ไฮโดรโปนิกส์”
มีการวางแผนว่าตลาดต้องการผักชนิดไหน ช่วงแรกก็เป็นไปอย่างทุลักทุเล แต่อาศัยการปรับตัวและศึกษาอย่างใกล้ชิด จริงจังจนได้ผักที่ตลาดต้องการ เช่น ผักสลัด คื่นฉ่าย คะน้า ฮ่องเต้ ผักกาด เป็นต้น โดยจะเน้นให้ลูกค้าเชื่อมั่นว่าเป็นผักปลอดสารพิษจึงนำมาขายทั้งรากเลย “ผมก็เลยขอขึ้นราคาเพราะทำยาก เป็นระบบปลอดสารพิษก็ขอขึ้นราคาทีละ 5 บาท 10 บาท เช่น สมมติว่า กะหล่ำปลีตอนแรกชั่งกิโลคงจะไม่ไหว ถ้าชั่งกิโลก็เหมือนผักดินสิ เช่น ว่ากิโลละ 3 ต้น แค่ 10 บาท ถ้าขายเป็นหัวจะได้ราคากว่า ผมก็เลยบอกเอาอย่างนี้ให้ขายเป็นต้นไปเลย แล้วถ้าขายได้ก็ขาย ขายไม่ได้ก็เอาคืน” จะเห็นได้ว่าการเจาะตลาดของคุณเปี๊ยกเริ่มจากการสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้า ว่าต้องการอะไร อย่างไร ก็ตอบสนองความต้องการไป และมีการวางแผนระบบการปลูกให้เพียงพอต่อความต้องการของตลาดอยู่ตลอดเวลา เพื่อเป็นการสร้างความมั่นคง คุณภาพและมูลค่าของตลาดไฮโดรโปนิกส์ให้มีความเหลื่อมล้ำกับผักดิน เป็นกลยุทธ์ในการหาช่องทางการตลาดได้ง่ายมากขึ้น
พันธุ์ที่ปลูก/และลักษณะพันธุ์ที่ดี
พันธุ์ที่ปลูกมี 4 สายพันธุ์ คือ พันธุ์กรีนโอ๊ค พันธุ์เรดโอ๊ค พันธุ์กรีนคอสและพันธุ์เรดคอรอล
กรีนโอ๊ค (Green Oak)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ลักษณะเป็นทรงพุ่ม ใบสีเขียวอ่อน ลักษณะปลายใบหยัก โค้ง มน ซ้อนกันเป็นชั้นๆ อย่างแน่นหนา
สรรพคุณทางยา : ช่วยสร้างเม็ดเลือด บำรุงประสาท เส้นผม สายตา และกล้ามเนื้อ
เรดโอ๊ค (Red Oak)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ลักษณะเป็นทรงพุ่ม ใบมีสีเขียวคล้ำออกแดง ลักษณะปลายใบหยัก โค้งมน ซ้อนกันเป็นชั้นๆ
สรรพคุณทางยา : ช่วยสร้างเม็ดเลือด บำรุงประสาท บำรุงผิวพรรณ บำรุงสายตา และกล้ามเนื้อ มีธาตุเหล็ก และเลทสูง วิตามินซีสูงกว่าสีเขียวแน่นอน
กรีนคอส (Green Cos)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ลักษณะทรงสูง ใบมีสีเขียวเข้ม ทรงห่อตั้งขึ้นซ้อนกันหลวมๆ หลายชั้น ลำต้นโตก้านไปใหญ่
เรดคอรอล (Red Coral)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ลักษณะเป็นทรงพุ่ม ไม่ห่อหัว ใบมีสีแดงอมม่วง ปลายใบหยัก
ลักษณะทางยา : ช่วยสร้างเม็ดเลือด ให้วิตามินสูง ช่วยป้องกันโรคโลหิตจาง ป้องกันโรคปากนกกระจอก
วิธีการปลูกและดูแลผักไฮโดรโปนิกส์
- การเตรียมอุปกรณ์
การปลูกระบบไฮโดรโปนิกส์ต้องใช้อุปกรณ์ช่วยในการเพราะปลูกต้องมีการเตรียมอุปกรณ์ให้เพียงพอ พร้อมกับการปฏิบัติงาน เพื่อให้มีการทำงานเป็นไปอย่างมีคุณภาพ ไม่สิ้นเปลืองเวลา
- ระยะการปลูก
ขึ้นอยู่กับชนิดของผัก มีการเจริญเติบที่ไม่เหมือนกัน ขนาดลักษณะการเจริญเติบที่แตกต่างกันออกไป อย่างกะหล่ำปลีพอเจริญเติบโตจะมีลักษณะที่ใหญ่ กินพื้นที่การปลูกมากอาจปลูกช่วงระยะที่ห่าง
- การเพาะกล้า
- คัดเลือกเมล็ดพันธุ์ที่ดี มีความสมบรูณ์สูง ในส่วนตรงนี้เป็นสิ่งสำคัญต่อการเพาะกล้า กล้าจะขึ้นงอกงามหรือไม่ขึ้นขึ้นอยู่ที่เมล็ดพันธุ์
- เตรียมฟองน้ำที่ทำรอยบากเรียบร้อย นวดฟองน้ำให้อุ้มน้ำ หยดเมล็ดที่สมบรูณ์ลงรอยที่บากไว้ ลดน้ำให้ชุ่ม1 สัปดาห์ผักขึ้น นำออกมาให้โดนแดด
- การใช้ปุ๋ย
ผักไฮโดรมีปุ๋ยสูตรสำเร็จที่เป็นสูตรเฉพาะ ใส่ปุ๋ยครั้งเดียวสามารถอยู่ได้ถึงเก็บเกี่ยวผลผลิต โดยการใช้สารละลายธาตุอาหารชุด A และ B อัตราส่วน 5 กิโลกรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ผสมแยกชุด A 10 ลิตร ชุด B 10 ลิตร ใส่ชุด A ลงก่อน ทิ้งระยะประมาณ 10-20 นาที ตามด้วยชุด B
- การให้น้ำ
การปลูกผักไฮโดรโปนิกส์เป็นการปลูกพืชในภาชนะที่สามารถรองรับ กักเก็บน้ำได้ระบบน้ำจะวนอยู่ตลอดเวลา จึงทำให้มีการถ่ายเทอากาศที่ดี เป็นระบบที่สามรถควบคุมปัจจัยเกี่ยวข้องได้มาก
สูตรปุ๋ยหมักน้ำ เล่าสู่กันฟัง
สำหรับปุ๋ยน้ำจะมีส่วนผสมคือ เนื้อปลา หอยเชอรี่ และผักหรือเศษผักทุกอย่างเช่น กล้วยสุก ขนุนสุก กากน้ำตาล หัวเชื้อ พด.2 เป็นต้นสัดส่วนกากน้ำตาล 1 ส่วน เนื้อปลาและผักรวม 3 ส่วน ระยะเวลาหมักประมาณ 3 เดือน ขึ้นไป
“ยิ่งนานยิ่งดี”เพื่อลดความเป็นกรด เป็นด่าง อัตราการใช้ 10 cc./น้ำ 10 ลิตร หรือ 1 ช้อนแกง/น้ำ 10 ลิตร
วิธีการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวผลผลิต
มีการล้างโต๊ะ นำแผ่นโฟมมาตากแดดให้แห้ง ล้างโต๊ะให้แห้งเพื่อป้องกันเชื้อโรคก่อนที่จะมีการปลูกรุ่นใหม่ ทุกสิ่งทุกอย่างเมื่อมีการเริ่มก็ต้องมีการจบ แต่จะจบอย่างไรให้มีคุณภาพ มีความสวยงาม แล้วสามารถนำมาใช้ได้ใหม่อย่างมีคุณภาพ ไม่ว่าจะเรื่องใดก็ตาม เช่น คนเราเกิดมาก็ต้องเริ่มศึกษา มีการศึกษาเล่าเรียนเพื่อแสวงหาความรู้ เมื่อจบออกไปก็ต้องมีความรู้ไปใช้ในการต่อยอดให้ชีวิตมีคุณภาพและเกิดผลสำเร็จในครั้งต่อๆ ไป หรือในอนาคตวันข้างหน้าการจัดการดูแลหลังการเก็บเกี่ยวก็เช่นกันก็ต้องมีการจัดการที่ดีเป็นสิ่งสำคัญส่วนหนึ่งของการทำผักไฮโดรโปนิกส์ เมื่อมีการจัดการดูแลที่ดีก็สามารถทำครั้งต่อไปให้เกิดประสิทธิผลที่ดีอีกเช่นกัน
แนวคิดทำโต๊ะไฮโดรโปนิกส์ต้นทุนน้อยแต่คุณภาพสูง
อย่างที่บอกด้วยความที่คุณเปี๊ยกเป็นช่าง ได้เห็นตัวอย่างจากสื่อทางทีวี แต่จะมีมุมมองที่ไม่เหมือนคนทั่วไป มองแล้วเกิดความคิดที่จะดัดแปลง ประยุกต์ใช้ แนวคิดนี้เกิดจากมีทุนไม่เพียงพอกับการลงทุนซื้อโต๊ะสำเร็จราคาแพงมาก เกษตรกรบ้านๆ ที่กำลังเริ่มต้นทำหรือต้นทุนน้อยไม่สามรถทำตรงนี้ได้ ด้วยเหตุนี้ จึงคิดหาวิธีที่ประหยัด ต้นทุนเท่าที่สามรถช่วยตัวเองให้มากที่สุด ด้วยความที่เป็นช่างใช้ประสบการณ์บวกกับความชอบสังเกตุเล็งเห็นกระเบื้องหลังคาบ้านเป็นวัสดุที่สามารถนำมาประยุกต์ ดัดแปลง เพราะกระเบื้องเป็นระบบรางคล้ายกับระบบของโต๊ะไฮโดรโปนิกส์ก็นำโฟมมาตัดหนุนเสริมทำเป็นขอบด้วยโฟมตามแนวสันของกระเบื้องเข้าไป ก็สามรถนำมาใช้ได้จริง ผลงานของผลผลิตผักออกมา
ระบบน้ำลึก น้ำตื้น ก็ไม่แพ้แบบสำเร็จรูปเลย หมายถึง ระบบต่างๆ ในการใช้งาน รวมทั้งผลผลิตที่ได้ไม่ได้แตกต่างจากแบบสำเร็จรูป ขนาดของโต๊ะกว้าง 1.20 เมตร ยาว 6 เมตร กระเบื้องความยาวแผ่นละ 1.20 เมตร โต๊ะหนึ่งใช้กระเบื้อง 15 แผ่น กระเบื้องเก่าตกแผ่นละ 10 บาท งบประมาณใช้น้อยแต่คุณภาพไม่แพ้แบบสำเร็จรูปเลยทีเดียว
ความมุ่งมั่นของเกษตรกรผู้มีใจรักเกษตร
เกษตรกรผู้มีใจรักเกษตร คุณลุงเปี๊ยกจะขยายและพัฒนาโรงเรือนเพิ่มอีก 60 ตารางวา และจะเสริมผักพื้นบ้านที่เป็นความต้องการของตลาด เช่น ผักคะน้า กวางตุ้ง และจะเน้นสร้างความเชื่อมั่นให้กับตลาดด้วยการใช้คุณธรรมในการประกอบอาชีพอย่างมีใจรักในอาชีพยึดหลักตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงของพ่อหลวง ให้ลูกค้ามีความเชื่อใจผลผลิตที่ได้คุณภาพ “ปลอดสารพิษ” จริงตามที่ตลาดและผู้บริโภคที่มีใจรักสุขภาพต้องการ และใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจในการประกอบอาชีพนี้
ฝากถึงชาว “ไฮโดร”
คุณเปี๊ยกฝากถึงชาวไฮโดรผู้ที่สนใจในแนวคิดของเขา“ ยินดีที่จะแนะนำวิธีการขั้นตอนต่างๆ ในการสร้างโรงเรือนในแบบของผม รวมไปถึงการจัดการดูแลระบบการปลูก การให้ปุ๋ย ให้น้ำ คนที่อยากทำตรงนี้คุณลุงเปี๊ยกบอกว่า ต้องมีใจรัก มีการศึกษาตลาดใกล้ๆ ตัวว่าจะมีไหม สามารถไปได้หรือเปล่า และสุดท้ายถ้าสนใจจะทำตามสูตรของผม เชิญมาดูที่สวน ผมจะอธิบายรายละเอียดให้ครับ”
ขอบคุณข้อมูลจาก คุณเปี๊ยก พรมพุก (สวนลุงเปี๊ยกทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง) บ้านหนองยาง 39/1 ม.6 ต.เกาะตาเลี้ยง อ.ศรีสำโรง จ.สุโขทัย 64120 โทร.08-6067-9022
[wpdevart_like_box profile_id=”108666299214543″ connections=”show” width=”300″ height=”220″ header=”big” cover_photo=”show” locale=”th_TH”]