ต้นผักหวานป่า กลายเป็นผักที่ได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างดีในหลายพื้นที่ และหลายจังหวัดแทบทุกภูมิภาคของประเทศ ด้วยราคา และรสชาติ ที่สามารถดึงดูดให้เกษตรกรหันมาปลูกกันอย่างคับคั่ง แต่ถึงกระนั้นก็ยังไม่เพียงพอต่อการบริโภค และการจำหน่าย เอาเสียทีเดียว อีกทั้งยังมีความต้องการเพิ่มมากขึ้น โดยไม่ต้องเกรงว่าจะเกิดปรากฎการณ์ “ล้นตลาด” ขึ้นมาในเร็ววันอย่างแน่นอน
การปลูกผักหวานป่า
ด้วยเหตุนี้ “ผักหวานป่า” จึงกลายเป็นประเด็นที่มองข้ามไปไม่ได้ ะยังคงนำเสนอเรื่องราวในหลากหลายความคิด หลากหลายแง่มุม และหลากวิธีการให้กระจ่างมากที่สุด
คุณสุจินต์ แสงแก้ว รองนายกเทศมนตรีตำบลป่าเมี่ยง อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ และอีกมุมหนึ่งในฐานะเกษตรกรตัวอย่าง ที่ไม่เพียงแต่จะมีสวนลำไย หรือผักหวานป่า เท่านั้น แต่เขายังมีบ่อเลี้ยงกบในวงบ่อ นกเป็ดน้ำ และไก่ฟ้า ที่สามารถจัดการใช้พื้นที่เพียงน้อยนิดในเขตบริเวณบ้านให้เกิดประโยชน์ และสมดุลมากที่สุด กลายเป็นอาชีพที่เขารักอีกอาชีพหนึ่ง
ประเด็นที่น่าสนใจ คือ เขาปลูกผักหวานป่ามามากกว่า 10 ปีแล้ว “เพาะเมล็ดผักหวานป่าพร้อมกับชาวบ้านในหมู่บ้านอีกหลายครัวเรือน แต่ตอนนี้เหลือเพียงที่สวนเดียวเท่านั้น” แม้ว่าก่อนเพาะเขาจะไม่มีประสบการณ์มาก่อน แต่ก็ใช้ความดูแล ความเอาใจใส่ ประคบประหงม เป็นอย่างมาก ไม่เหมือนกับคนอื่นๆ ที่เริ่มท้อ และบ่ายเบี่ยงไม่ยอมดูแลเอาใจใส่จนต้นตายหมด
สภาพพื้นที่ปลูกผักหวานป่า
ผักหวานป่าถูกจัดว่าเป็นผักพื้นบ้านมาช้านานแล้ว ปกติมักขึ้นอยู่ในป่าแห้งแล้งเป็นหลัก จะหาทานได้ช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคมเท่านั้น โดยทั่วไปมักพบในป่าเต็งรัง และป่าเบญจพรรณทุกภูมิภาคของประเทศ สภาพดินมักเป็นดินกรวด ดินปนทราย ที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตมากที่สุดตามธรรมชาติ
หลังจากมีหน่วยงานเข้ามาสนับสนุนให้ชาวบ้านป่าเมี่ยงทดลองปลูกกันเมื่อ 10 กว่าปีก่อน ปรากฏว่าต้นที่เขาปลูกไว้มีการเจริญเติบโตที่ดีเป็นอย่างมาก เขาจึงพยายามเพาะเม็ดขึ้นมาเอง เพื่อหวังที่จะปลูก
โดยเน้นใช้วิธีการเพาะเมล็ดเป็นหลัก ด้วยที่ว่าพื้นที่ของคุณสุจินต์เป็นลักษณะของดินกรวด ที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตอยู่แล้ว ปัจจุบันนี้เขาก็ยังคงปลูกผักหวานป่าแซมกับสวนลำไย ด้วยว่า ต้นผักหวานป่า ไม่ได้มีทรงพุ่มกว้างมากนัก เขาจึงสามารถปลูกร่วมกับต้นลำไยที่ทรงพุ่มกว้างมากกว่า
วิธีการเพาะเมล็ดผักหวานป่า
เขาใช้วิธีการเพาะเมล็ดที่มีลักษณะเหลืองสุกเต็มที่ แกะเปลือก และล้างเยื่อหุ้มเมล็ดออก นำเมล็ดด้านในมาคลุกเคล้ากับยากันเชื้อรา ซึ่งเขาเน้นว่าขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนที่สำคัญ เมล็ดต้องมีการคลุกยากันเชื้อราก่อนเสมอ จากนั้นจึงจะนำไปเพาะให้งอกในกระบะทราย ระหว่างนี้เขาจะคอยรดน้ำให้ความชุ่มชื้นอยู่เสมอ ทุกเช้าและเย็น ประมาณ 10 วัน
รากก็จะเริ่มงอกยาวประมาณ 1 เซนติเมตร จึงจะนำไปปลูกลงดิน เป็นขั้นตอนที่ไม่ค่อยจะยุ่งยากมากเท่าไหร่นัก อีกทั้งยังเป็นวิธีการที่เกษตรกรนิยมใช้กันอย่างล้นหลาม รวมถึงการแพร่กระจายทางโลกอินเตอร์เน็ตให้ได้เสิร์ชหากันได้
วิธีการปลูกเมล็ดลงดินก็ใช่ว่าจะเหมือนกับเมล็ดผัก หรือผลไม้ ทั่วไปสักทีเดียว คุณสุจินต์บอกว่า “ก่อนหยอดเมล็ดต้องเตรียมหลุมลึกประมาณ 30 เซนติเมตร เสียก่อน จากนั้นจะคลุกเคล้าปุ๋ยหมักผสมกับแกลบดิบในอัตราส่วน 1:1 ลงในหลุมให้พอดี แล้วจะใช้ไม้แหลมยาวขนาดพอดี ให้รากหย่อนลงได้แทงเข้าไปกลางหลุมลงในดินให้ลึกมากพอที่จะหย่อนรากเมล็ดลงไปในแนวดิ่งตรงได้ จากนั้นจึงจะกลบเมล็ดมิดประมาณครึ่งหนึ่งของเมล็ด อย่าได้กดแน่นไป เพราะอาจเป็นอุปสรรคต่อการแทงยอด”
การให้น้ำและปุ๋ย ต้นผักหวานป่า
ในช่วงระยะแรกเขาจะให้น้ำหลังจากที่เมล็ดแทงยอดออกมาให้เห็นกันแล้ว โดยมีรูปแบบการให้น้ำต้นละประมาณ 2 วัน/ครั้ง ให้ชุ่ม รดน้ำอยู่แบบนี้นานเกือบปีกว่าที่ต้นกล้าจะแข็งแรงมากพอ ระหว่างนี้เขาจะเน้นให้ปุ๋ยคอก มูลสัตว์ ตามท้องถิ่นไปเรื่อยๆ
“ปกติของผักชนิดนี้มักมีความอดทนต่อสภาพอากาศสูงอยู่แล้ว โดยอาศัยจากธรรมชาติ” ระยะนี้แหละที่เป็นจุดพิสูจน์ของสายป่านว่าจะสั้น ยาวแค่ไหน ถ้าละเลยล่ะก็รับรองว่ารอดยากเป็นแน่
ด้านตลาดและช่องทางจำหน่ายผักหวานป่า
โดยพื้นที่เขาปลูกเองเพื่อเป็นผักบริโภคภายในครอบครัว แต่เริ่มแรก ณ ตอนนี้ก็สามารถมีกำไร หรืออาจเรียกว่า ผลพลอยได้ ที่พ่วงมากับผักหวานป่าอย่างไม่ตั้งใจนึกคิด พื้นที่เพียงไร่เศษสร้างกำไรให้เขาได้เกือบทั้งปี โดยราคา 300 บาท/กก. แม้จะราคาสูงเป็นที่น่าพอใจอยู่ในระดับหนึ่ง แต่ความต้องการรับซื้อจากพ่อค้ายังคงเรียกได้ว่าไม่เพียงพอต่อความต้องการเอาเสียเลย
ทุกวันนี้ต้นของคุณสุจินต์บางต้นสูงเกือบ 2 เมตร แล้วยังจะมีต้นลูกที่เกิดจากต้นหลัก กลายเป็นต้นเล็ก ต้นน้อย เต็มโคนต้น อย่างเบียดเสียดกันทีเดียว เขาว่าเกิดจากต้นแม่ที่แตกรากออกไป และเกิดจากการขาด หรือบาดแผลของรากผักหวานป่า ก็จะเกิดต้นใหม่ขึ้นมาอีกเรื่อยๆ ทุกวันนี้ก็ไม่ค่อยได้เพาะแล้ว แต่รากก็ยังให้ต้นใหม่ขึ้นมา สร้างรายได้ไม่ขาดสาย เป็นที่น่าพอใจอย่างยิ่ง
ขอขอบคุณ คุณสุจินต์ แสงแก้ว 101/2 ม.6 ต.ป่าเมือง อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ 50220