ในที่สุดโลกก็แบ่งการปลูกพืชเป็น 2 ระบบ ปลูกในที่เปิด และ ปลูก ในโรงเรือน เหมือนการเลี้ยงสัตว์
ทั้ง 2 รูปแบบ มี “เป้าหมาย” เหมือนกัน แต่ “วิธีการ” ต่างกัน
ประเทศไทยก็เหมือนหลายๆ ประเทศ ที่ปลูกพืชทั้ง 2 ระบบ โดยเฉพาะปลูกในโรงเรือน เริ่มเป็นกระแสที่แรง เพราะ “กัญชง-กัญชา” ทำให้เกิดสีสัน ปลูกในโรงเรือนชัดเจน
นิตยสารพลังเกษตร ฉบับนี้ ได้นำเรื่องการปลูกมะเขือเทศในโรงเรือน ในประเทศอิสราเอล และจะถูกนำมาขยายผลในไทยในปีนี้
ประเทศอิสราเอล เป็นประเทศที่มีข้อจำกัดด้านทรัพยากรธรรมชาติอย่างมาก ดังนั้นการลงทุนปลูกพืชจึงต้องอาศัยความเชี่ยวชาญและองค์ความรู้ ให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ ดิน ฟ้า อากาศ ในประเทศ จึงต้องวิจัยและพัฒนาการปลูกพืชอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ได้ผลผลิตสูง และมีคุณภาพ
ภายใต้ข้อจำกัดด้านทรัพยากร แม้จะถูกจำกัดด้านทรัพยากร แต่กลับเป็นที่ยอมรับในด้านผู้นำเทคโนโลยีการปรับปรุงพันธุ์พืช โดยเฉพาะมะเขือเทศ และการปลูกพืชในโรงเรือนเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ครองส่วนแบ่งตลาดมะเขือเทศโลก โดยเฉพาะภูมิภาคอเมริกา และ ยุโรป
การปลูกมะเขือเทศ
ฉบับนี้ผู้เขียนมีโอกาสได้พูดคุยกับ คุณสุธี ชำนาญไพร หนึ่งในแรงงานไทยที่เป็นลูกจ้างในฟาร์มปลูกมะเขือเทศ ณ หมู่บ้าน Moshav Gan Yoshiya เขต Ahituv Israel ให้ข้อมูลการปลูกและดูแลมะเขือเทศเพื่อให้ได้ผลผลิตสูง และสามารถเก็บผลผลิตได้นานถึง 10 เดือน เพื่อเป็นแนวทางสำหรับการปลูกและพัฒนามะเขือเทศในประเทศไทย
โดยคุณสุธีให้ข้อมูลว่า ตนเป็นคนพื้นเพ ต.หลุ่งประดู่ อ.ห้วยแถลง จ.นครราชสีมา ประมาณปี 2559 ได้เดินทางมาเป็นแรงงานในภาคเกษตรในประเทศอิสราเอลผ่านกรมแรงงาน ได้รับค่าตอบแทนไม่ต่ำกว่า 50,000 บาท/เดือน เป็นเวลากว่า 6 ปีแล้ว ที่มาทำงานในฟาร์มแห่งนี้ ซึ่งนายจ้างปลูกมะเขือเทศในระบบโรงเรือนเป็นหลัก
สายพันธุ์มะเขือเทศ
สายพันธุ์มะเขือเทศที่นิยมปลูกเป็นการค้ามีอยู่ประมาณ 30 สายพันธุ์ แต่ที่ฟาร์มนายจ้างจะปลูกอยู่ประมาณ 10 สายพันธุ์ ได้แก่ Belinda, Tiger, Megi Montaroza, Raf, Chaob, Plum, Papaya tomato, Rina และ Vermelio เป็นต้น
แต่สายพันธุ์ที่ต้องปลูกอยู่ตลอด และตลาดต้องการ คือ มะเขือเทศ Belinda เพราะมีจุดเด่นด้านรสชาติที่จัดจ้าน หวานนำเปรี้ยว และไม่มีกลิ่นฉุน ซึ่งการปลูกมะเขือเทศของที่นี่จะปลูก 2 ระบบ คือ 1.ปลูกในระบบโรงเรือน 2.ปลูกนอกโรงเรือน ส่วนการปลูกในโรงเรือน แต่ละโรงเรือนจะมีขนาดไม่เท่ากัน บางโรงเรือนใช้พื้นที่ 1 ไร่ ไปจนถึง 8 ไร่
อุณหภูมิที่เหมาะสม เจริญเติบโตได้ดี คือ อุณหภูมิ ราวๆ 25 -35 องศา กำลังดี ถ้าอากาศเย็นมากก็จะทำให้มะเขือเทศสุกช้า หรือถ้าร้อนมาก แดดแรงเกินไป ทำให้ลูกมะเขือเทศมีขนาดเล็ก และสุกเร็ว
สภาพพื้นที่ปลูกมะเขือเทศ
เริ่มจากการคัดเลือกสายพันธุ์มะเขือเทศที่จะปลูก จากนั้นนำไปปลูกลงในดินที่มีส่วนผสมของกากมะพร้าวที่ผ่านการอบฆ่าเชื้อ เพื่อฆ่าเชื้อโรคที่อาจติดมากับกากมะพร้าว ดิน รวมทั้งกำจัดวัชพืช แล้วนำไปเข้าเครื่องเพื่อหยอดเมล็ดบนถาดปลูกขนาด 120 หลุม และรดน้ำลงบนถาดปลูก จากนั้นนำเข้าห้องอนุบาลต้นกล้าเป็นเวลาประมาณ 2 อาทิตย์ เมื่อต้นกล้างอกออกมาจนสูงประมาณ 5-10 เซนติเมตร และเมื่อต้นสูงประมาณ 20 เซนติเมตร จะนำออกจากถาดเก่าแล้วนำใส่ถาดปลูกใบใหม่ที่ใหญ่กว่า
ขั้นตอนการเพาะ คุณสุธีให้ข้อมูลว่า ที่ฟาร์มจะจ้างให้บริษัทข้างนอกเพาะต้นกล้า ซึ่งเป็นต้นกล้ามะเขือเทศแบบเสียบยอด จะทำให้ต้นแข็งแรง รากเยอะ ตอบสนองปุ๋ยดี ทนต่อโรค อายุเก็บเกี่ยวนานกว่าต้นที่ไม่ได้เสียบยอด เมื่อต้นกล้าได้อายุที่เหมาะสม จึงนำมาส่งที่ฟาร์มเพื่อนำไปปลูกต่อในโรงเรือน
การเตรียมดินก่อนปลูกจะตีดินให้ละเอียด และวางสายยางน้ำหยดแบบคู่ คือ 1 ร่อง วางสายยางคู่ 2 เส้น มีระยะห่างระหว่างสาย 60 ซม. ปูพลาสติกแต่ละร่องเพื่อคลุมดิน เจาะรูให้ได้ระยะ และนำมะเขือเทศมาปลูกในระยะห่าง 50 ซม. เมื่อปลูกมะเขือเทศลงดินอายุประมาณ 1 เดือน จะใช้แรงงานคัดต้นมะเขือเทศที่สมบูรณ์ไว้ 1 ต้น และเลือกแขนงที่สมบูรณ์ที่สุดไว้ 2 แขนง ให้ได้ต้นมะเขือเทศและกิ่งแขนงที่อยู่ในรูปตัว Y เพื่อให้ง่ายต่อการจัดการ ส่วนแขนงที่เกินมาจะตัดทิ้งหมด
การให้ปุ๋ยในระบบน้ำ Fertigation
ภายในโรงเรือนสำหรับปลูกต้นมะเขือเทศนั้น จะติดตั้งระบบน้ำหยดแบบสายคู่ไว้ทุกโรงเรือน และให้ปุ๋ยผ่านระบบน้ำ ทางฟาร์มจะมีสูตรปุ๋ย แต่ไม่รู้ว่ามีอะไรบ้าง เป็นความลับของบริษัท นายจ้างซื้อปุ๋ยน้ำผสมสำเร็จมาเป็นรถใหญ่ และเปิดใส่ถังไว้แล้วปล่อยไปตามท่อน้ำหยด ระบบ fertigation จะให้น้ำและปุ๋ยไปพร้อมกัน ตามเวลาที่นายจ้างสั่งผ่านมือถือ เป็นระบบการให้ปุ๋ยที่มีประสิทธิภาพมาก ช่วยลดการชะล้างปุ๋ยลงนอกเหนือรากพืช ใช้เวลาในการดูแลประมาณ 3 เดือน ถึงจะให้ผลผลิต
“ผมยอมรับเลยว่า ระบบให้ปุ๋ยผ่านระบบน้ำดีมากๆ ลองนำเมล็ดผักที่เมืองไทยมาปลูกไว้ทานเอง ปลูกแซมในในร่องมะเขือเทศ เช่น คะน้า ผักชี จะเจริญเติบโตเร็ว ต้นใหญ่ ใบเขียว สมบูรณ์” คุณสุธีกล่าว
เทคนิคการโหลดต้นมะเขือเทศ
ฟาร์มที่นี่จะใช้เทคนิคการโหลดต้นมะเขือเทศ เพื่อที่จะให้เก็บได้นานถึง 10 เดือน คือ การย่อต้นให้ต่ำแล้วจะมัดยอดขึ้นใหม่ ต้นจะอยู่ได้ 6-7 เดือน แต่ถ้าเราโหลดต้นเหมือนนอนต้นและมัดยอดขึ้นใหม่ ใส่ปุ๋ย รดน้ำ ต้นมะเขือเทศจะให้ผลผลิตต่อเนื่องและยาวนานขึ้น ซึ่งขั้นตอนการโหลดต้นจะใช้แรงงานคนไทยจำนวน 8 คน มีทั้งหมด 9 โรงเรือน
กิจกรรมในแต่ละวันเริ่มปลูกตั้งแต่ 1 เดือน ต้นกล้ามีขนาดยาว 1 ฟุต จะมัดต้นขึ้น ต้นด้วยเชือก เมื่อต้นโตขึ้นจะแต่งใบ ไม่ให้รกมาก ดูหญ้าหรือวัชพืช สำรวจโรคที่เกิดขึ้นกับมะเขือในโรงเรือน โรคในมะเขือเทศก็คล้ายกับประเทศไทย คือ โรคหลัก “หนอนชอนใบ” ที่เข้าทำลายเจาะผลและใบมะเขือเทศ เป็นสาเหตุทำให้ผลผลิตลดลง เพลี้ยไฟ ไรแดง
ด้านตลาดและช่องทางจำหน่ายมะเขือเทศ
การเก็บผลผลิตของมะเขือเทศภายในฟาร์ม คุณสุธีบอกว่า จะเก็บมะเขือเทศแต่ละสายพันธุ์ที่ปลูกไว้ในโรงเรือนตาม ออเดอร์ของลูกค้าที่สั่งซื้อผ่านนายจ้าง โดยจะเก็บมะเขือเทศคละไซซ์ บรรจุใส่ในบล็อกพลาสติก น้ำหนัก 1.3 กก./กล่อง ราคาประมาณ 12-13 นิวเชเกลอิสราเอล/กก. ซึ่งส่วนใหญ่จะขายผ่าน shop เหมือนพ่อค้าคนกลางบ้านเรา แล้วนำไปส่งต่อที่ shopใหญ่ และนายจ้างจะขายปลีกด้วยเช่นกัน มีหน้าร้านที่ฟาร์ม ราคาขายประมาณ 20 นิวเชเกลอิสราเอล/กก.
ต้องยอมรับว่าการปลูกมะเขือเทศในโรงเรือนของประเทศอิสราเอล มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และมะเขือเทศยังเป็นพืชที่นิยมรับประทานกันมากที่สุดในโลก อุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุหลายชนิด มีประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น วิตามินซี วิตามิเอ วิตามินเค วิตามินพี วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 ธาตุแคลเซียม ธาตุฟอสฟอรัส และ ธาตุเหล็ก และยังมีสาร จำพวกไลโคปีน (Lycopene) แคโรทีนอยด์ เบตาแคโรทีน และ กรดอะมิโน มีสรรพคุณช่วยป้องกันการแข็งตัวของหลอดเลือด ขับปัสสาวะ รักษาความดัน
ขอขอบคุณแหล่งข้อมูล คุณสุธี ชำนาญไพร หรือ คุณรุจิรา เทพวงค์ 105 หมู่ 3 ต.หลุ่งประดู่ อ.ห้วยแถลง จ.นครราชสีมา 30240 โทร.086-723-0356