ปลูกกระเจี๊ยบเขียว รวมกลุ่ม ปลูก40-45 วัน เก็บผลผลิต เพื่อส่งออกตลาดต่างประเทศ

โฆษณา
AP Chemical Thailand

กระเจี๊ยบเขียว พืชที่ปลูกง่าย ทำรายได้ดี สามารถเก็บเกี่ยวได้ตลอดทั้งปี แถมยังมี ตลาดรองรับทั้งในประเทศและต่างประเทศ อีกด้วย แต่ผลตอบรับที่ดีที่สุด คือ ตลาดจากต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นทางแถบเอเชีย ได้แก่ ญี่ปุ่น ไต้หวัน หรือทางแถบยุโรป ก็จะมีเยอรมัน อังกฤษ ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ เป็นต้น

มียอดการสั่งซื้อกระเจี๊ยบเขียวเพื่อนำไปบริโภคเป็นจำนวนมาก ราคาที่ส่งออกก็ได้สูงเป็นที่น่าพอใจของเกษตรกร ทำให้เกษตรกรมีรายได้จากการปลูกกระเจี๊ยบเขียวมาเลี้ยงครอบครัวได้อย่างสบาย

1.คุณหนู-อรุณรุต-ประธานกลุ่มผู้ปลูกกระเจี๊ยบเขียว
1.คุณหนู-อรุณรุต-ประธานกลุ่มผู้ปลูกกระเจี๊ยบเขียว

การปลูกกระเจี๊ยบเขียว

ป้าหนู อรุณรุต ประธานกลุ่มผู้ปลูกกระเจี๊ยบเขียว อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม ผู้นำการปลูกกระเจี๊ยบเขียวมาเป็นระยะเวลา 20 กว่าปี เล่าให้ฟังว่า เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2535 เป็นวันที่ก่อตั้งกลุ่มการปลูกกระเจี๊ยบเขียวเป็นครั้งแรกที่กำแพงแสน

ตอนนั้นมีสมาชิกเข้าร่วมประมาณ 5-20 คน ราคากิโลกรัมละ 30-40 สตางค์ ซึ่งเป็นราคาที่ต่ำมาก บวกกับปัญหาโรคเชื้อราระบาด ทั้งลำต้น ใบ และฝัก ทำให้เกิดอาการเหลืองทั้งต้น ป้าหนูกับกลุ่มสมาชิกก็หาวิธีป้องกันปัญหาโรคเชื้อรา โดยหาสารกำจัดเชื้อราต่างๆ มาฉีดพ่นเพื่อจะยับยั้งและป้องกันโรคเชื้อราที่ระบาดกระเจี๊ยบเขียวอยู่ในขณะนั้น แต่กลับไม่เป็นผลสำเร็จ ทำให้ขายกระเจี๊ยบเขียวไม่ได้ราคา บางครั้งก็ขายไม่ได้เลย

ต่อมาทางกรมวิชาการเกษตรก็ได้เข้ามาช่วยเหลือ โดยนำเอาเมล็ดพันธุ์กระเจี๊ยบเขียวมาทดลองปลูก 6 พันธุ์ โดยให้ปลูกเป็นแถวๆ พันธุ์ละทั้งหมด 6 แถว สลับสายพันธุ์กัน แล้วดูว่ากระเจี๊ยบเขียวพันธุ์ไหนปลูกแล้วต้านทานโรคดีที่สุด พอได้พันธุ์กระเจี๊ยบเขียวที่ต้านทานโรคแล้ว ก็จะมีเจ้าหน้าที่จาก บริษัท ไดนามิค มาขอเสนอเอาเมล็ดพันธุ์กระเจี๊ยบเขียวไปปรับปรุงพันธุ์ที่ประเทศอินเดีย  แต่ถึงอย่างนั้นพันธุ์กระเจี๊ยบเขียวที่เอาไปปรับปรุงพันธุ์ก็ยังคงมีโรคที่เกิดจากเชื้อราหลงเหลืออยู่บ้าง แต่ทางบริษัท ไดนามิค ก็ยังคงนำเอาเมล็ดพันธุ์กระเจี๊ยบเขียวไปปรับปรุงพันธุ์ต่อจนได้พันธุ์กระเจี๊ยบเขียวที่ดีที่สุด

ถึงตอนนี้มีสมาชิกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ประมาณ 600 กว่าคน เห็นจะได้ และทาง บริษัท ธานียามาสยาม จำกัด ก็ได้เข้ามารับซื้อกระเจี๊ยบเขียวในกลุ่มสมาชิกของป้าหนูอย่างต่อเนื่อง วันหนึ่งรับซื้อ 2-3 ตัน/วัน แต่ปัญหาก็ยังไม่หมด มีสารพิษจากสารเคมีมาปนเปื้อนในกระเจี๊ยบเขียว ทำให้ต้องคัดสมาชิกที่ตรวจพบสารเคมีในกระเจี๊ยบเขียวออกจากกลุ่มประมาณ 200-300 คน ซึ่งถือว่าเยอะมาก

โฆษณา
AP Chemical Thailand

ทำให้มีระบบ GAP (Good Agricultural Practice) เกิดขึ้น ระบบ GAP หมายถึง ระบบการผลิตที่ถูกต้องในฟาร์ม โดยพิจารณาตั้งแต่พื้นที่ปลูก การดูแลรักษา การเก็บเกี่ยว เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ มีลักษณะตรงตามความต้องการ และมีความปลอดภัยต่อการบริโภค ถ้าสมาชิกคนใดไม่ผ่านการตรวจประเมินแปลง GAP ทางบริษัท ธานียามาสยาม จำกัด ก็จะไม่รับซื้อ สมาชิกจะต้องทำแผนที่เพื่อดูว่าแปลงที่ปลูกกระเจี๊ยบเขียวในระยะรอบๆ แปลง มีการปลูกอะไรบ้าง ติดกับแปลงปลูกพืชตัวไหนบ้าง ถ้ามีติดกับพวกนาข้าว แปลงปลูกข้าวโพดหวาน อ้อย มะเขือ มะนาว เป็นต้น จะต้องดูว่าใช้สารเคมีมากน้อยยังไง เพราะพืชพวกนี้ใช้สารกันซะส่วนใหญ่ อาจส่งผลกระทบให้กระเจี๊ยบเขียวที่ปลูกมีสารปนเปื้อนจากสารเคมีพวกนี้ได้ มีการจดบันทึกรายการในการปลูกกระเจี๊ยบ ว่าวันไหนใช้ปุ๋ย ใช้ยา อะไรบ้าง และแจ้งให้เจ้าหน้าที่ของบริษัท ธานียามาสยาม จำกัด ทราบ เจ้าหน้าที่ก็จะทำการเขียนบันทึกและนำรายละเอียดที่เขียนไว้แปะไว้ในตะกร้าของสมาชิกแปลงนั้นๆ เพื่อส่งให้กับทางบริษัทอีกที เพื่อตรวจสอบคุณภาพว่ามีสารตกค้างหรือเปล่า จะได้ไม่มีการส่งกระเจี๊ยบเขียวที่มีสารเคมีตกค้างออกนอกประเทศ

นอกจากกลุ่มผู้ปลูกกระเจี๊ยบเขียว อ.กำแพงแสน แล้ว ยังมีกลุ่มสมาชิกอื่นๆ รวมแล้ว 17 กลุ่ม ด้วย ประกอบ 4 จังหวัด ที่ได้เข้าร่วมกับบริษัท ธานียามาสยาม จำกัด ได้แก่ จังหวัดกาญจนบุรี จังหวัดราชบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี และจังหวัดนครปฐม แต่ละจังหวัดก็จะมีกลุ่มสมาชิกแยกกันออกไป สมาชิกทุกคนจะมีรหัสเป็นของตัวเอง เพราะฉะนั้นเวลาส่งกระเจี๊ยบเขียวให้กับทางบริษัท บริษัทก็จะรู้ทั้งหมดว่าเราส่งกระเจี๊ยบเขียวไปเท่าไหร่ มีสารเคมีตกค้างหรือเปล่า ทำให้ง่ายต่อการตรวจสอบกระเจี๊ยบเขียวของสมาชิกแต่ละคนได้

จุดเด่นที่ป้าหนูตัดสินใจมาปลูกกระเจี๊ยบเขียว คือ มีการประกันราคา ซึ่งก่อนหน้าที่จะมีการรวมกลุ่มสมาชิกผู้ปลูกกระเจี๊ยบเขียวราคาตอนนั้นค่อนข้างต่ำมาก แค่กิโลกรัมละ 30-40 สตางค์ พอมีการตั้งกลุ่มสมาชิกผู้ปลูกกระเจี๊ยบเขียวขึ้นมาราคาก็เพิ่มมาเป็นกิโลกรัมละ 5-6 บาท ทำให้มีสมาชิกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ต่อมาสมาชิกในกลุ่ม ก็สามารถต่อราคากระเจี๊ยบเขียวเพิ่มขึ้นมาได้อีกเป็นกิโลกรัมละ 10 บาท และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนปัจจุบันได้ราคากิโลกรัมละ 23 บาท/กิโลกรัม ถือว่าเป็นที่น่าพอใจ

2.แปลงกระเจี๊ยบที่ปลูกติดกันอย่างหนาแน่น
2.แปลงกระเจี๊ยบที่ปลูกติดกันอย่างหนาแน่น

การบำรุงดูแลกระเจี๊ยบเขียว

กระเจี๊ยบเขียวปลูกง่าย สามารถเก็บได้ทุกวัน สร้างรายได้ให้กับสมาชิกกลุ่มได้ตลอดทั้งปี ถ้านับจากการปลูกกระเจี๊ยบเขียววันแรกไปถึง 40-45 วัน ก็เริ่มเก็บผลผลิตได้แล้ว เมื่อก่อนกระเจี๊ยบเขียวเราใช้เวลาเก็บเกี่ยวกันประมาณ 6 เดือน

แต่เดี๋ยวนี้หลังจากที่ได้ทำการปรับปรุงพันธุ์กระเจี๊ยบเขียวมาแล้วจะเก็บเกี่ยวได้ประมาณ 2 เดือนกว่าๆ หรือประมาณ 70-90 วัน ก็หมดรุ่น ทำให้ไม่ต้องดูแลรักษาอะไรมาก ต้นเตี้ยเก็บง่าย ไม่สูงเหมือนพันธุ์เก่าเก็บยากเพราะสูงมาก อาทิตย์แรกที่เริ่มเก็บเกี่ยวอาจจะได้ประมาณ 20 กิโลกรัม/ไร่ พออาทิตย์ต่อๆ ไป ก็จะเก็บเกี่ยวได้เพิ่มมากขึ้นประมาณ 30-50 กิโลกรัม/ไร่

แต่บางแปลงที่สมาชิกในกลุ่มปลูกกระเจี๊ยบเขียว สนใจดูแลรักษาแปลงกระเจี๊ยบเขียวของตัวเอง ก็จะสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ประมาณ 50-100 กิโลกรัม/ไร่ ทางบริษัท ธานียามาสยาม จำกัด จะมารับซื้อกระเจี๊ยบเขียวจากกลุ่มสมาชิกในกลุ่มของป้าหนูประมาณ 1-2 ตัน/วัน แต่ถ้าวันไหนสมาชิกในกลุ่มเก็บผลผลิตได้เยอะจนเกินทางบริษัทจะรับซื้อได้ ก็ต้องหาพ่อค้าข้างนอกมาช่วยซื้อกระเจี๊ยบเขียวเพื่อระบายสินค้าออก เพราะถ้าต้องทิ้งสมาชิกในกลุ่มก็ต้องขาดรายได้ไปอย่างน่าเสียดาย

โฆษณา
AP Chemical Thailand
3.ฝักกระเจี๊ยบเขียว-จากการ-ปลูกกระเจี๊ยบเขียว
3.ฝักกระเจี๊ยบเขียว-จากการ-ปลูกกระเจี๊ยบเขียว

ประโยชน์ของกระเจี๊ยบเขียว

ถ้าพูดถึงกระเจี๊ยบเขียวส่วนใหญ่คนในประเทศจะไม่ค่อยนิยมบริโภค แต่รู้หรือไม่ว่าประโยชน์ของกระเจี๊ยบเขียวมีมากมายหลายอย่าง จนทำให้คนในประเทศญี่ปุ่นและทางแถบยุโรปหันมาสนใจบริโภคกระเจี๊ยบเขียวกันมากขึ้นเลยทีเดียว

สารอาหารทางโภชนาการที่พบในกระเจี๊ยบเขียว คือ พวกคาร์โบไฮเดรต เส้นใย โปรตีน โฟเลท แคลเซียม ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม แมกนีเซียม และเหล็ก รวมทั้งวิตามินต่างๆ เช่น วิตามินเอ วิตามินบี 1 และบี 2 เป็นต้น

  • ช่วยรักษาโรคกระเพาะอาหารและลำไส้ เพราะในฝักของกระเจี๊ยบเขียวมีสารเมือกที่เรียกว่า เพ็กติน (Pectin)

และกัม (Gum) สารเมือกพวกนี้จะช่วยเคลือบแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ไม่ให้ลุกลาม

  • รักษาความดันให้เป็นปกติ
  • ช่วยบำรุงสมอง
  • เป็นยาระบาย และสามารถแก้โรคพยาธิตัวจี๊ดได้ด้วย แต่ต้องรับประทานติดต่อกันเป็นเวลาอย่างน้อย 15 วัน

เห็นประโยชน์ของกระเจี๊ยบเขียวแบบนี้แล้ว คนที่ไม่ชอบทานกระเจี๊ยบเขียว หรือไม่เคยทานกระเจี๊ยบเขียว น่าจะหันมารับประทานกันดูสักครั้ง เพราะอย่างน้อยสารอาหารที่ได้จากกระเจี๊ยบเขียวก็คงเป็นประโยชน์ และช่วยทำให้เราห่างไกลจากโรคภัยได้มากขึ้นอีกด้วย

4.คุณดำรง-วุฒิอนันต์ชัย
4.คุณดำรง-วุฒิอนันต์ชัย
ระบบการจ่ายน้ำของคุณดำรง
ระบบการจ่ายน้ำของคุณดำรง

สภาพพื้นที่ปลูกกระเจี๊ยบเขียว

คุณดำรง วุฒิอนันต์ชัย สมาชิกผู้ปลูกกระเจี๊ยบเขียว ได้พาเราไปดูแปลงปลูกกระเจี๊ยบเขียว และให้คำแนะนำในการปลูกกระเจี๊ยบให้ได้ผลผลิตที่ดี สร้างรายได้ให้เป็นกอบเป็นกำ

คุณดำรงได้หันมาปลูกกระเจี๊ยบเขียวเมื่อปี พ.ศ.2540 นับเวลาตั้งแต่ตอนนั้นก็ทำมาเป็นเวลา 15 ปีแล้ว ครั้งแรกที่ทำ ทำอย่างละนิดละหน่อยไม่ได้ทำมาก แต่ตอนนี้รวมๆ กันก็ประมาณ 6 ไร่ สลับกันปลูกในพื้นที่ 6 ไร่ ของตัวเอง เพราะจะได้มีผลผลิตเก็บเกี่ยวตลอดทั้งปี ในแต่ละวันคุณดำรงสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตกระเจี๊ยบเขียวได้มากที่สุด 80-90 กิโลกรัม/วัน แต่บางช่วงที่เกิดฝนตก หนาวจัด หรือร้อนจนเกินไป ก็จะมีส่วนกระทบถึงฝักกระเจี๊ยบเขียว ทำให้เก็บเกี่ยวผลผลิตได้น้อย อาจจะเหลือแค่ 40-50 กิโลกรัม/วัน ซึ่งผลผลิตจะลดลงไปเกือบครึ่งเลยทีเดียว

โฆษณา
AP Chemical Thailand

การประกันราคาของกระเจี๊ยบเขียว ก็เป็นสาเหตุอย่างหนึ่งที่ทำให้คุณดำรงหันมาปลูกกระเจี๊ยบเขียวอย่างจริงจัง เพราะไม่ว่าราคากระเจี๊ยบเขียวในท้องตลาดจะถูกหรือจะแพง เกษตรกรกลุ่มผู้ปลูกกระเจี๊ยบเขียวก็ยังคงได้ราคาที่น่าพอใจ ไม่เสี่ยงต่อราคาตกต่ำในท้องตลาดทั่วไป เพียงแค่สมาชิกทำผลผลิตในแปลงของตัวเองให้ได้ตามที่สมาชิกต้องการก็พอ ถ้าผลผลิตได้เยอะ สมาชิกเองก็ได้รับรายได้เยอะตามไปด้วย ผลทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับตัวสมาชิกในแต่ละคน

เป็นที่ทราบกันว่ากระเจี๊ยบเขียวสามารถเก็บเกี่ยวได้ตลอดทั้งปี แต่การ ปลูกกระเจี๊ยบเขียว เพื่อส่งออกต่างประเทศจะปลูกในช่วงเดือนสิงหาคม-เดือนพฤษภาคม เนื่องจากตลาดหลักของกลุ่มผู้ ปลูกกระเจี๊ยบเขียว ไม่สามารถปลูกได้ในช่วงฤดูหนาว และจะเริ่มปลูกอีกทีประมาณเดือนกุมภาพันธ์-เดือนมีนาคม ซึ่งผลผลิตจะออกราวๆ เดือนพฤษภาคม แต่ถึงอย่างนั้นสมาชิกกลุ่มผู้ ปลูกกระเจี๊ยบเขียว ก็สามารถ ปลูกกระเจี๊ยบเขียว ส่งออกประเทศญี่ปุ่น และทางแถบยุโรป ได้อยู่ตลอดปี เพราะประเทศญี่ปุ่นไม่สามารถปลูกกระเจี๊ยบได้เพียงพอต่อความต้องการของคนในประเทศเองได้

5.กล้ากระเจี๊ยวเขียวที่นิยมปลูกแบบหยอดเมล็ดลงหลุม
5.กล้ากระเจี๊ยวเขียวที่นิยมปลูกแบบหยอดเมล็ดลงหลุม

ขั้นตอนการ ปลูกกระเจี๊ยบเขียว

การเตรียมดิน ปลูกกระเจี๊ยบเขียว กระเจี๊ยบเขียวจะเจริญเติบโตได้ดีในสภาพดินร่วน ระบายน้ำดี ไม่ชอบความชื้นมากเกินไป เพราะฉะนั้นดินปลูกต้องร่วนซุย ไม่แน่น ใส่ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอก 500 กิโลกรัม/ไร่ ครั้งเดียว ตอนเตรียมแปลง

การเตรียมแปลงใช้แทรกเตอร์ยกร่องไถดิน ตากดินไว้ประมาณ 1-2 เดือน หรืออาจจะปลูกพืชรอไปก่อนก็ได้ เช่น คะน้า ผักชี เป็นต้น พอเก็บเกี่ยวพืชพวกนี้เสร็จแล้วค่อยมาลง ปลูกกระเจี๊ยบเขียว ใหม่ได้ เป็นการไม่ปล่อยพื้นที่ปลูกให้ว่างเปล่า แถมมีรายได้จากปลูกพืชต่างๆ ระหว่างรอ ปลูกกระเจี๊ยบเขียว อีกด้วย การตีหลุม ปลูกกระเจี๊ยบเขียว โดยทั่วไปใช้ระยะระหว่างต้นและแถว 50×60 เซนติเมตร ปลูกจำนวน 2-3 เมล็ด/แถว ถ้าใส่เมล็ดกระเจี๊ยบเขียวต่อหลุมมากเกินไปจะทำให้ต้นกระเจี๊ยบเขียวเล็กและสูงเกินไป ทำให้เก็บเกี่ยวผลผลิตยาก

การให้น้ำ กระเจี๊ยบเขียวชอบความชื้นปานกลางในช่วงฤดูหนาว และฤดูร้อนควรให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ ไม่ควรปล่อยให้แห้ง โดยเฉพาะในช่วงออกดอกและติดฝัก การให้น้ำช่วงนี้ควรหมั่นรดน้ำอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้การเจริญเติบโตของต้นเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ถ้าขาดน้ำผลผลิตจะตกต่ำ แต่ถ้าได้น้ำอย่างเหมาะสมคุณภาพฝักจะดี

การให้ปุ๋ย หลังจากลงปลูกเมล็ดกระเจี๊ยบเขียวไปแล้ว เดือนแรกเราจะไม่ใส่ปุ๋ยเลย เพราะมันจะมีปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกอยู่แล้ว ตอนที่เราเตรียมดินถ้าใส่ปุ๋ยเพิ่มไปอีกมันจะไปกระตุ้นต้นกระเจี๊ยบเขียวให้โตเร็วขึ้น และลำต้นจะสูง ทำให้เก็บเกี่ยวผลผลิตยาก ต้องผ่าน 1 เดือนไปก่อน นับจากลงเมล็ดปลูก จึงค่อยทำการใส่ปุ๋ย ปุ๋ยที่ใช้ตอนนี้ควรเป็นปุ๋ยสูตรเสมอ 15-15-15 หรือ 16-16-16 อัตราส่วนปริมาณปุ๋ยที่ใช้ 10 กิโลกรัม/ไร่/ครั้ง ให้ปุ๋ยโดยปกติ 10-20 วัน/ครั้ง ตามความสมบูรณ์ของดิน

โฆษณา
AP Chemical Thailand
6.ฝักกระเจี๊ยวเขียวที่ต้องเก็บเกี่ยวทุกเช้า
6.ฝักกระเจี๊ยวเขียวที่ต้องเก็บเกี่ยวทุกเช้า

การเก็บเกี่ยวผลผลิตกระเจี๊ยบเขียว

กระเจี๊ยบเขียวเป็นพืชที่โตเร็ว เมื่ออายุ 40-45 วัน ก็เริ่มเก็บผลผลิตได้ ความยาวของฝักจะอยู่ที่ 8-10 เซนติเมตร ถ้ายาวกว่านี้ก็จะคัดออกเพราะไม่สวย ฝักกระเจี๊ยบเขียวโตเร็วมาก โดยเฉพาะอากาศร้อนจะโตเร็วกว่าปกติ เพราะฉะนั้นจึงต้องเก็บเกี่ยวผลผลิตทุกวัน ถ้าปล่อยไว้หรือไม่ได้เก็บวันไหน ในวันรุ่งขึ้นกระเจี๊ยบเขียวจะเสียและยาวเกินมาตรฐาน ขายไม่ได้

กลุ่มสมาชิกผู้ ปลูกกระเจี๊ยบเขียว จะสามารถเก็บเกี่ยวกระเจี๊ยบเขียวได้นานประมาณ 2 เดือนกว่า หรือประมาณ 70-90 วัน หลังจากนั้นก็ต้องตัดต้นทิ้ง เพราะผลผลิตจะออกมาไม่ดีตามความต้องการของตลาดแล้ว ข้อดีสำหรับการปรับปรุงพันธุ์กระเจี๊ยบเขียวที่เกษตรกลุ่มสมาชิกผู้ ปลูกกระเจี๊ยบเขียว ได้มา คือ เก็บผลผลิตสั้น ต้นไม่สูง และไม่เสี่ยงต่อการเป็นโรค ดูแลรักษา เพราะเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ไว

การเด็ดใบ การที่กระเจี๊ยบเขียวมีใบมากจนเกินไปจะทำให้แสงแดดส่องลงมาไม่ถึงฝักด้านล่าง เพราะฉะนั้นเราควรตัดใบทิ้งบ้างเพื่อทำให้ต้นโปร่ง ช่วยให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก และช่วยให้เก็บเกี่ยวผลผลิตง่ายขึ้นอีกด้วย การตัดแต่งใบกระเจี๊ยบเขียวอาจทำได้โดยระหว่างเก็บฝักไปเลยทีเดียวพร้อมๆ กัน เพราะเกษตรกรจะหลีกเลี่ยงการเข้าแปลงกระเจี๊ยบเขียวบ่อยๆ

กระเจี๊ยบเขียวจะมีลักษณะมีขนตามลำต้น ฝัก และใบ ทำให้เกษตรกรที่เข้าแปลงต้องแต่งตัวมิดชิด เพื่อไม่ให้ขนของกระเจี๊ยบเขียวโดนตัวทำให้เกิดอาการคันหรือระคายเคือง สาเหตุนี้เองที่ทำให้เกษตรกรไม่อยากเข้าแปลงกระเจี๊ยบเขียวบ่อยเกินไป

7.ดอกและฝักอ่อนกระเจี๊ยบเขียว
7.ดอกและฝักอ่อนกระเจี๊ยบเขียว

การป้องกันกำจัดโรคและแมลงศัตรูพืช

แมลงศัตรูพืชในกระเจี๊ยบเขียวที่พบมาก ได้แก่ เพลี้ยไฟ เพลี้ยจักจั่น และพวกหนอน เป็นต้น

เพลี้ยไฟ (Thrips) จะพบการระบาดทั่วไปตามแหล่ง ปลูกกระเจี๊ยบเขียว ส่วนมากจะระบาดในสภาพอากาศแห้งแล้ง ทำลายต้นกระเจี๊ยบเขียวจะใช้ปากเขี่ยดูดน้ำเลี้ยงที่ฝัก ทำให้กระเจี๊ยบเขียวมีตำหนิ เป็นปุ่ม และเป็นปม ทำให้ขายไม่ได้ หรือไม่ได้ราคาเลย

โฆษณา
AP Chemical Thailand

เพลี้ยจักจั่น (Leaf hopper) จะพบตามแหล่งปลูกทั่วไป ระบาดระหว่างฝนตกทิ้งช่วงนานๆ ช่วงที่พบระบาดมากที่สุด คือ เดือนมีนาคม-เดือนสิงหาคม การทำลายก็จะดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบกระเจี๊ยบเขียวที่ไม่อ่อนหรือแก่จนเกินไป จะทำให้ขอบใบกระเจี๊ยบเขียวเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลจนเหี่ยวแห้งและร่วงไปในที่สุด ถ้าระบาดมากจะทำให้ผลผลิตลดตกต่ำได้

หนอนกระทู้ผัก  (Common cut worm)  พบระบาดมากในช่วงเดือนเมษายน-เดือนมิถุนายน ในแหล่งปลูกผักทั่วไป นอกจากจะทำลายกระเจี๊ยบเขียวแล้วก็ยังพบระบาดในหน่อไม้ฝรั่ง ผักชี และไม้ดอกไม้ประดับ อีกด้วย หนอนกระทู้ผักจะกัดกินทุกส่วนของกระเจี๊ยบเขียว เช่น กิ่ง ก้าน ลำต้น ใบ และฝัก ทำให้ฝักเป็นรู ไม่ได้คุณภาพ

โรคที่พบปัญหามากในกระเจี๊ยบเขียว คือ โรคที่เกิดจากเชื้อรา พวกโรคใบจุด โรคฝักลาย โรคแอนแทรคโนส เป็นต้น

โรคใบจุด (Leaf spot) มักพบกับต้นกระเจี๊ยบเขียวที่มีอายุตั้งแต่ 60 วันขึ้นไป ลักษณะอาการใบจะมีเชื้อราสีขาวคล้ายผงแป้งอยู่ที่ใบ กระเจี๊ยบเขียวไม่ค่อยติดฝัก ฝักจะไม่สมบูรณ์ คดงอ ไม่เป็นที่ต้องการของตลาด โรคนี้จะแพร่ระบาดง่ายในช่วงปลายฤดูฝน และรุนแรงมากขึ้นในฤดูหนาว และแปลงที่มีความชื้นสูง

โรคฝักลาย (Pod spot) โรคนี้มักจะติดมากับเมล็ดพันธุ์ และจะแสดงอาการเมื่อกระเจี๊ยบเขียวเริ่มติดฝักทำให้เกิดเป็นจุดสีดำหรือสีน้ำตาลที่ผิวของฝักกระเจี๊ยบเขียว จะแพร่ระบาดได้รวดเร็วในฤดูฝนถึงฤดูหนาว

โรคแอนแทรคโนส (Antracnose) ลักษณะการทำลายของโรคแอนแทรคโนสจะมีลักษณะคล้ายกับโรคฝักลายและรุนแรงกว่า ทำให้เกิดแผลสีดำหรือน้ำตาลเข้ม ขอบแผลมีรอยช้ำคล้ายน้ำร้อนลวก โรคนี้จะระบาดได้ง่ายและรวดเร็วในฤดูฝน และฤดูหนาวที่มีหมอกและน้ำค้าง เชื้อราตัวนี้จะแพร่กระจายไปกับน้ำที่ใช้รดหรือปลิวตามลมไป

โฆษณา
AP Chemical Thailand

การป้องกันโรคและแมลงศัตรูพืชในกระเจี๊ยบเขียว ควรใช้ยากำจัดแมลงฉีดพ่นขับไล่ประมาณ 1-2 อาทิตย์/1 ครั้ง เพื่อยับยั้งการเจริญเติบโตของแมลงและเชื้อราไม่ให้เข้ามาทำลายกระเจี๊ยบเขียวได้

8.ฝักกระเจี๊ยบเขียวตามมาตรฐาน
8.ฝักกระเจี๊ยบเขียวตามมาตรฐาน

ด้านตลาดและช่องทางจำหน่ายกระเจี๊ยบเขียว

ป้าหนูและคุณดำรงบอกเราว่าตราบใดที่การส่งออกของกระเจี๊ยบเขียวยังมีอยู่ ต่างประเทศหลายๆ ประเทศ ยังมีการบริโภคกระเจี๊ยบเขียวกันอย่างแพร่หลาย ที่สำคัญ คือ ประเทศญี่ปุ่น ที่เรามีการส่งออกกระเจี๊ยบเขียวมากที่สุด เราก็ยังสามารถ ปลูกกระเจี๊ยบเขียว ส่งออกได้ตลอดทั้งปี แถมยังมีการประกันราคาของกระเจี๊ยบเขียวในราคาที่สูง และตอนนี้ก็มีหลายบริษัท

นอกจากบริษัท ธานียามาสยาม จำกัด มาติดต่อรับซื้อกระเจี๊ยบเขียวเพื่อทำการส่งออกต่างประเทศกันเยอะ การสร้างรายได้ในกลุ่มสมาชิกก็ยังคงมีต่อไปเรื่อยๆ และยังคงจะสร้างรายได้ให้เป็นกอบเป็นกำให้กับสมาชิกต่อไป

ขอขอบคุณข้อมูล

คุณหนู อรุณรุต 118 ม.1 ต.ห้วยหมอนทอง อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม 73140 โทร.08-1858-6189

คุณดำรง วุฒิอนันต์ชัย 115 ม.1 ต.ห้วยหมอนทอง อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม 73140 โทร.034-971-260

โฆษณา
AP Chemical Thailand