ลักษณะทั่วไปของถั่วพู
ถั่วพู (Winged bean) ไม้เลื้อยที่ส่วนเหนือดินเป็นพืชล้มลุก แต่ส่วนใต้ดินอยู่ได้นานข้ามฤดู เป็นพืชตระกูลถั่ว ลำต้นสีเขียวหรือเขียวปนม่วง ลักษณะใบเป็นใบย่อย 3 ใบ มีทั้งรูปไข่ รูปหอก รูปสามเหลี่ยม ดอกเป็นดอกสมบูรณ์เพศ ลักษณะเป็นช่อ ช่อหนึ่งมี 3-12 ดอก แต่มีดอกที่บานเพียง 2-4 ดอก และติดฝักเพียง 1-2 ฝัก ปลูกถั่วพู
ฝักมีความยาวตั้งแต่ 11.2-29.9 เซนติเมตร รูปร่างฝักเป็นฝักสี่เหลี่ยม มีปีก 4 ปีก ฝักมีทั้งสีเขียว ม่วง และเหลือง ผิวฝักมีทั้งผิวเรียบ และผิวหยาบ ในฝักหนึ่งๆ มีเมล็ด 8-20 เมล็ด เมล็ดมีตั้งแต่สีขาว เหลือง ครีม น้ำตาล ดำ และลวดลายต่างๆ เมล็ดมีขนาดต่างๆ กัน
รากของถั่วพูเป็นรากที่สะสมอาหารอยู่ใต้ดินมีปมเป็นที่อยู่ของเชื้อไรโซเบียมจำนวนมาก นิยมบริโภคฝักอ่อน เป็นผักสดจิ้มน้ำพริก หรือนำไปปรุงอาหารผัด ลวก แกง หรือยำถั่วพู ในขณะที่หัวมีสรรพคุณทางยานำมาตากแห้งคั่วให้เหลืองชงน้ำดื่มแก้อาการอ่อนเพลีย ฝักอ่อนบำรุงร่างกาย แก้อ่อนเพลีย บรรเทาอาการปวดเมื่อย แก้ตัวร้อน ลดไข้ในเด็กทารก ใบแก้อาเจียน
สภาพพื้นที่ ปลูกถั่วพู
ถั่วพูเป็นพืชเขตร้อน ถิ่นกำเนิดอยู่ในแถบประเทศเอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ อินเดีย พม่า ไทย ลาว ปาปัวนิวกินี และฟิลิปปินส์ ถั่วพูเป็นพืชที่ปลูกง่าย เจริญเติบโตได้ในดินทุกชนิด ยกเว้นดินที่มีน้ำขัง การปลูกทำได้ทั้งการหยอดเมล็ดโดยตรง หรือเพาะกล้าก่อนการย้ายปลูก
การปลูกทั่วไปนิยมปักค้างเป็นรูปสามเหลี่ยมผูกยึดให้แข็งแรง อายุ 45-80 วัน เริ่มมีดอกบาน และเก็บเกี่ยวผลผลิตได้เมื่ออายุ 60-110 วัน ขึ้นอยู่กับว่าเป็นพันธุ์เบาหรือพันธุ์หนัก การเก็บเกี่ยวยาวนาน 10-12 เดือน โดยเก็บเกี่ยวทุกวัน หรือ 2วัน/ครั้ง จากลักษณะลำต้นของถั่วพูเป็นเถาเลื้อยต้องใช้ไม้ปักหรือทำค้างสามเหลี่ยมให้ถั่วพูเลื้อยยึดเกาะขึ้นไป
การปลูกถั่วพู
คุณชลอ การเกต ประธานศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงเกษตรอินทรีย์ ตำบลป่าคลอก อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต สังเกตว่าเถาของถั่วพูที่แตกยอดจำนวนมากมักเกี่ยวพันทับซ้อนกันแน่น ทำให้มีบางส่วนได้รับแสง บางส่วนไม่ได้รับแสง ผลผลิตมักออกบริเวณที่โดนแดด และการเก็บผลผลิตยากต้องแหวกดู
จึงได้ทดลองหลายวิธีเพื่อทำให้ถั่วพูมีผลผลิตสูงขึ้น พบว่าการจัดระเบียบให้ถั่วพูเลื้อยไปในทิศทางที่ไม่เบียดทับหรือพันกันแน่นได้รับแสงทั่วถึง ช่วยเพิ่มผลผลิตถั่วพูได้ วิธีการ คือ ใช้เชือกฟางผูกยอดดึงให้ถั่วพูเลื้อยไปในทิศทางตามที่ต้องการ
ซึ่งถั่วพูเป็นพืชที่แตกยอดมาก ต้องใช้เชือกฟางจำนวนมาก เพราะเชือกฟาง 1 เส้น ผูกยอด 1 ยอด เมื่อยอดใหม่แตกออกมาก็ใช้เชือกฟางอีกเส้นมาผูกยอดดึงให้มันเลื้อยไปตามเชือกเส้นใครเส้นมันไม่เกี่ยวพัน และไม่ทับเส้นกัน ทำแบบนี้ทุกยอด เป็นที่มาของถั่วพูร้อยสาย และปลายเชือกด้านหนึ่งผูกยอด อีกด้านผูกกับเชือกที่ขึงอยู่ด้านบนร้านของถั่วพู
เมื่อยอดขึ้นถึงด้านบนจะเลื้อยแผ่ไปบนร้านรับแสงแดดได้เต็มที่ช่วยให้การเกิดดอกและติดฝักมากกว่าวิธีอื่นๆ ปลูกถั่วพู 40 หลุม สถิติเก็บผลผลิตสูงสุดวันละ 71 กิโลกรัม เมื่อถึงเวลาเก็บผลผลิตสามารถมองเห็นง่าย เก็บได้สะดวกรวดเร็ว
การบริหารจัดการแปลงถั่วพู
ขั้นตอนแรกทำร้านถั่วพูต้องเตรียมไม้หลักก่อนสูงประมาณ 2 เมตร หรือ 2.50 เมตร ระยะหลักปักห่างประมาณ 2.5-3 เมตร เพื่อให้มีความแข็งแรงเพียงพอที่จะรับน้ำหนัก ใช้ไม้ไผ่พาดข้างบนทำเป็นร้านสูงประมาณ 2 เมตร พอเอื้อมถึง จากนั้นดึงเชือกขึงเป็นตาข่ายห่างประมาณ 50 เซนติเมตร
การคัดเมล็ดพันธุ์ถั่วพูสีเหลืองอ่อน ไม่เป็นสีน้ำตาลเข้มจัด เพราะงอกช้าและเปอร์เซ็นต์งอกต่ำ แช่เมล็ดพันธุ์ 1 คืน ถ้าเมล็ดสมบูรณ์เพียงคืนเดียวเมล็ดก็ปริแล้ว เพาะในถุงชำถุงละ 3-4 เมล็ด ประมาณ 15 วัน ต้นกล้าถั่วพูเริ่มแตก 3 ใบ จึงนำไปปลูกลงหลุมที่ขุดเตรียมไว้ระยะห่างระหว่างหลุม 5×6 เมตร
วิธีปลูกรองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอกประมาณ 1 กำมือ จากนั้นนำต้นกล้าในถุงเพาะชำลงปลูกหลุมละ 2 ต้น รดน้ำวันละครั้ง ประมาณ 15 วัน ถั่วพูเริ่มออกยอดต้องใช้เชือกฟางฉีกเป็นเส้นเล็กๆ ผูกที่ข้อใบนับจากปลายยอดมาประมาณ 3 ข้อใบ ผูกแล้วดึงไปผูกที่ตาข่ายด้านบน
“การผูกก็ผูกธรรมดา ที่ใช้เชือกฟางก็เพื่อไม่ให้ไปรัดมัน เพราะเชือกฟางฉีกเป็นเส้นเล็กๆ ระยะเวลาของเขามันจะสั้น พอถั่วพูขึ้นถึงร้านก็ไม่จำเป็นต้องมีเชือก เชือกฟางก็จะผุไปตามเวลาของมัน แต่ถ้าใช้เชือกอื่นมันจะไปรัดลำต้นเป็นแผล การผูกยอดเป็นการนำทางให้เขาไปตามทิศทางที่เราต้องการ ไม่ให้มันพันกันเอง
ถ้าเราอยากให้ถั่วพูขึ้นตรงเราก็ผูกให้ตรง พอมันแตกแขนงมา เราจะผูกตรงไม่ได้แล้ว เราก็ต้องดึงเฉียง คือ เราจัดระเบียบให้เขาอยู่ พอเถามาถึงข้างบน เราก็ต้องดึงอีกเพื่อไม่ให้มันอยู่ใกล้กัน เพราะอยู่ใกล้กันมันก็พันกันอีก เราก็ต้องจัดระเบียบให้มันอยู่ ถั่วพูต้นหนึ่งมียอดเยอะมากเป็นร้อย จำนวนแขนงเป็นร้อยเลย ผูกยอดแล้วทีแรกเราจับหมุนให้มันพันเชือกจากขวาไปซ้าย 2 รอบ หลังจากนั้นมันจะเลื้อยพันไปเอง หลังจากนั้นเราต้องคอยไปดูยอดที่แตกออกมาใหม่ต้องผูกให้หมด ยิ่งผูกมากเท่าไหร่ ผลผลิตยิ่งออกมากเท่านั้น”
การเก็บเกี่ยวผลผลิตถั่วพู
ประมาณ 2 เดือน กว่าถั่วพูเจริญเติบโตถึงระยะแทงช่อดอก จึงใส่ปุ๋ยสูตร 8-24-24 ปุ๋ยจะไปเร่งดอก โดยใส่ทุก 15 วัน ไปจนหยุดเก็บผลผลิต ประมาณ 3 เดือน ถั่วพูเริ่มให้ผลผลิต และเก็บได้เรื่อยๆ จนอายุ 6-12 เดือน ถั่วพู 40 หลุม เคยทำสถิติเก็บได้สูงสุด 71 กก./วัน แต่ค่าเฉลี่ย 20 กก./วัน ขายกก.ละ 50 บาท เป็นเงิน 1,000 บาท/วัน
บทสรุป ปลูกถั่วพู 40 หลุม เก็บผลผลิตสูงสุดวันละ 71 กิโลกรัม คุณชลอผู้คิดวิธีทำให้ถั่วพูผลผลิตสูง ยืนยันเป็นเพราะเทคนิคผลิตถั่วพูร้อยสาย นอกจากผลผลิตสูง ต้นทุนยังต่ำ เก็บเกี่ยวสะดวก เป็นนวัตกรรมที่สร้างชื่อให้ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงเกษตรอินทรีย์ ตำบลป่าคลอก อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต มากว่า 2 ปี มีคนเดินทางมาดูงานจากทั่วประเทศ ถั่วพูร้อยสายเป็นฉายาที่ ปตท.เป็นผู้ตั้งให้ จากวิธีใช้เชือกฟางผูกยอดแล้วดึงจัดระเบียบให้ถั่วพูเลื้อยไปในทิศทางที่ต้องการ
ขั้นตอนการ ปลูกถั่วพู
คุณสมบัติ ผลพุฒ เกษตรกรปลูกผักอยู่ที่หมู่ 2 ตำบลป่าคลอก อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต ท่ามกลางสวนยางพาราและหมู่บ้านจัดสรร เป็นผู้หนึ่งที่นำแนวคิดและวิธีปลูกถั่วพูร้อยสายไปปฏิบัติ บอกอยากจะเปลี่ยนเป็นถั่วพูเดือนละหมื่น เพราะ ปลูกถั่วพู 36 หลุม สามารถทำเงินให้เฉลี่ยเดือนละหมื่นบาท แต่กว่าผลจะออกมาดีเขาต้องผ่านอุปสรรค ซึ่งให้แง่คิดแก่เขาเป็นบทเรียนเรื่องการ ปลูกถั่วพู เพื่อให้ได้ผลผลิตสูงต้องทำแบบพิถีพิถัน
บทเรียนที่หนึ่งเมื่อเขานำวิธีปลูกถั่วพูร้อยสายไปทำครั้งแรก ปลูกถี่ระยะหลุมห่างกันเพียง 2×2 เมตร ถั่วพูแตกยอดหนาแน่นมาก แต่ไม่ได้ผลผลิต ถั่วพู 60 หลุม เก็บได้วันละไม่ถึง 8 กก. บทเรียนที่สองร้านพังเมื่อเจอลมแรง ผลผลิตกองกับพื้นงอไม่สวย บทเรียนที่สามต้องทำอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่จับปลาสองมือ และบทเรียนที่สี่ควรเลือกเมล็ดพันธุ์ดีมาปลูก
การบำรุงดูแลรักษาถั่วพู
“ ปลูกถั่วพู ตอนแรก 60 หลุม พื้นที่นิดเดียว ผมปลูก 2×2 เมตร กะว่าจะเอาวันละ 100 กิโลเลย แต่ว่ามันเต็มไปหมด ตอนเที่ยงๆ เข้าไปนอนสบายเลย ฝนตกไม่เปียก มันแน่นมาก พอแน่นแล้วทำไงละทีนี้ ก็เอากรรไกรไปตัดใบออก ใบที่ร่วงลงพื้นเหยียบไม่ถึงดินมันก็ไม่ออก ทีนี้ตัดต้นหลุมเว้นหลุมก็ไม่ออก รอบนี้เสียใช้ไม่ได้
พอรอบสองปลูกใหม่ทีนี้ปลูกห่างเลย แต่ว่าโรงเรือนไม่แข็งแรง ลมพัดพัง พอล้มมันเก็บไม่ได้ แล้วฝักมันงอ ไม่สวยก็ทิ้งไปเลย รอบที่สามปลูกผักบุ้งด้านล่างเลยได้เพียง 70 % เพราะเรามัวแต่เสียดายผักบุ้ง เข้าไปจัดระเบียบยอดไม่ได้ พอตัดผักบุ้งขายก็พอจะเก็บถั่วพูได้บ้าง แต่ยอดอยู่เป็นกระจุกเลยไม่ดีเท่าที่ควร
ผมเริ่มเก็บเมื่อกลางเดือนธันวาคมได้ 35 กก. ปลูก 36 หลุม แต่ 10 หลุม เป็นเมล็ดพันธุ์ที่ซื้อมาจากร้านค้าใช้ไม่ได้เลย แต่ที่ใช้ได้เป็นเมล็ดที่ผมไปขอเขามา เพาะขึ้นทุกต้นเลย กลายเป็นเหลือ 26 หลุม เก็บได้วันละไม่แน่นอน อย่างเดือนธันวาคมครึ่งเดือนได้ 35 กก. เดือนมกราคมได้ 309 กก. เดือนกุมภาพันธ์เก็บได้ 157 กก. เดือนมีนาคมได้ 345 กก. จริงๆ ผมว่าน่าจะได้ดีกว่านี้.. เดือนมีนาคมตั้งแต่วันที่ 1 ถึงวันที่ 25 มีนาคม ผมขายถั่วพูเฉพาะกับแม่ค้าเจ้าเดียวไม่รวมรายอื่นก็ได้แล้วประมาณ 11,500 บาท ผมเปลี่ยนจากถั่วพูร้อยสายมาเป็นถั่วพูเดือนละหมื่นแล้ว” คุณสมบัติกล่าวพร้อมหัวเราะอารมณ์ดี
ในขณะที่ครอบครัวมีตนเป็นหัวหน้าครอบครัว ภรรยากำลังป่วย ตนดูแลภรรยาด้วย และปลูกผักขายเป็นอาชีพ ตอนนี้ลูกสาวกำลังเรียนมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ปีแรก ส่วนลูกชายอีกเทอมเดียวเรียนจบจากเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ด้วยรายได้จากการปลูกผักบุ้ง และถั่วพูร้อยสาย บนผืนดินที่ถึงแม้จะไม่ใช่ที่ดินของตนเองก็ตาม และรอบหน้าเขาเตรียม ปลูกถั่วพู ร้อยสายให้พิถีพิถันกว่ารอบที่ผ่านๆ มา
ขอขอบคุณข้อมูล คุณชลอ การเกต เลขที่ 70/2 หมู่ 2 ต.ป่าคลอก อ.ถลาง จ.ภูเก็ต 83110 คุณสมบัติ ผลพุฒ เลขที่ 105 หมู่ 2 ต.ป่าคลอก อ.ถลาง จ.ภูเก็ต 83110