การปลูกผักหวานป่า
“ผักพื้นบ้าน” เป็นผักที่อยู่ตามธรรมชาติ ตามที่ต่างๆ เช่น ริมตลิ่ง ไร่ สวน หรือบริเวณบ้าน เป็นผักที่หาได้ง่าย มีราคาที่ย่อมเยา สำหรับผักพื้นบ้านของไทยเองหลากหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นผักหวาน ผักกูด ขี้เหล็ก เป็นต้น
โดยผู้คนในสมัยอดีตรู้จักที่จะนำพืชมาใช้ประโยชน์ ด้วยการนำมารับประทาน หรือเป็นยารักษาโรค ที่ได้มีการลองผิดลองถูก และถ่ายทอดสู่คนรุ่นหลัง ซึ่งผักที่นิยมนำมารับประทานจะนิยมเรียกกันว่า “ผักพื้นบ้าน”
“ผักหวานป่า” จัดได้ว่าเป็นผักพื้นบ้านชนิดหนึ่ง โดยจะสามารถพบผักหวานป่าได้ในป่าที่มีสภาพอากาศร้อนชื้นของไทยในหลายจังหวัด มีการบริโภคกันมาอย่างช้านาน จนปัจจุบันมีผู้คนนำผักหวานป่าออกมาปลูกเป็นอาชีพเพื่อการค้ามากขึ้น เช่น การขายยอดผักหวานป่า การขายเมล็ด หรือกิ่งพันธุ์ หรือแม้กระทั่งการแปรรูปเป็นชา
ทีมงานนิตยสารเมืองไม้ผล&พืชสุขภาพ ได้มีโอกาสไปจังหวัดลพบุรี และได้ให้เกียรติพูดคุยกับ คุณชนนี สีโหดา ที่สวนเย็นสบาย ผักหวานป่า Organic เกี่ยวกับการปลูก การดูแล ตลอดจนการตลาด และการแปรรูป ว่าจะไปในทิศทางไหน เพื่อสร้างอาชีพเกษตรกรรมให้ยั่งยืนต่อไป
คุณชนนีผู้เป็นภรรยาเล่าให้ฟังว่า เริ่มแรกก่อนที่จะ ปลูกผักหวานป่า ได้มีการปลูกอ้อยมาก่อน แต่เนื่องด้วยอ้อยเป็นพืชอายุสั้น ผลผลิตและรายได้จะเป็นในลักษณะปีต่อปี คุณชนนีและสามีจึงมองหาพืชที่มีอายุที่ยืน เหมาะสมกับพื้นที่ ไม่ค่อยมีคนปลูก และให้ผลผลิตทั้งปี ประกอบกับสามีของคุณชนนีได้เห็นรายการโทรทัศน์นำเสนอเรื่องการ ปลูกผักหวานป่า ที่อำเภอบ้านหมอ จังหวัดสระบุรี ด้วยมองเห็นว่าผักหวานป่าเป็นผักที่เหมาะ อีกทั้งก็ยังมีราคา ก็เลยตัดสินใจนำมาปลูกนับแต่นั้นมา
ปลูกผักหวานป่า ปลูกผักหวานป่า ปลูกผักหวานป่า ปลูกผักหวานป่า ปลูกผักหวานป่า
ขั้นตอนการ ปลูกผักหวานป่า
การเริ่ม ปลูกผักหวานป่า ของสวนเย็บสบายเริ่มเมื่อ 7 ปีที่แล้ว ปลูกโดยใช้เมล็ดพันธุ์จำนวน 3,000 เมล็ด ภายในเนื้อที่ประมาณ 5 ไร่ และมีการปลูกมะขามเทศแทรกลงไปในพื้นที่ เพื่อช่วยเป็นพืชพี่เลี้ยงให้ผักหวานป่าอีกด้วย ผักหวานป่าเป็นพืชที่ชอบอากาศร้อนชื้น แต่ต้องมีพืชพี่เลี้ยงช่วยในการปลูกเพื่อให้มีร่มรำไร และไม่สมควรให้รากกระทบกระเทือนเพื่อป้องกันต้นผักหวานป่าตาย
เริ่มจากการเพาะเมล็ดพันธุ์เพื่อที่จะเตรียมปลูก (ซึ่งสถิติการงอกของเมล็ดจะอยู่ที่ 80% ของเมล็ดพันธุ์ทั้งหมด) โดยเตรียมดินด้วยการไถพรวนประมาณ 2 ครั้ง และใช้เชือกขึงปักหลัก โดยเว้นระยะ ปลูกผักหวานป่า ประมาณ 1.5×1.5 เมตร/ต้น และมีการปลูกมะขามเทศเพื่อใช้เป็นพืชพี่เลี้ยงในการให้ร่มเงา และเป็นรายได้อีกทางหนึ่ง โดยปลูกแทรกเข้าไปในระยะ 4×4 เมตร/ต้น ต่อด้วยการขุดหลุมให้พอดีกับถุงที่เพาะ นำลงดิน และหาตะกร้ามาครอบไว้เพื่อกันลม รดน้ำอาทิตย์ละครั้ง
การบำรุงดูแลรักษาต้นผักหวานป่า
ส่วนเรื่องการบำรุง การให้ปุ๋ย จะให้ประมาณ 3-4 เดือน/ครั้ง นับตั้งแต่วันปลูก โดยทางสวนจะเน้นให้ปุ๋ยคอก และการฉีดฮอร์โมนเป็นหลัก ส่วนปุ๋ยเคมีจะมีให้บ้าง แต่ไม่บ่อยนัก โดยจะใส่ปุ๋ยจำพวกสูตรเสมอ ส่วนการดูแลหญ้าภายในสวนนั้นจะใช้เครื่องตัดหญ้าแทนการดายหญ้า หรือไถกลบ เพราะอาจจะกระทบกระเทือนรากได้ ทำให้เสี่ยงกับลำต้นผักหวานป่าตายนั่นเอง
โดยคุณชนนีกล่าวว่า “จริงๆ พี่คิดว่าผักหวานป่ามันเป็นงานที่ยาก แต่พอได้มาศึกษาจริงๆ แล้วคิดว่าผักหวานป่าง่ายที่สุด เพราะถ้าเขาได้เกิดมาแล้ว เขาจะดูแลง่ายมาก เพียงแต่ว่าเราจะไม่ให้ระบบรากกระทบกระเทือนแค่นั้นเอง ผักหวานป่าเขาฉลาด จะใช้รากไปหากินกับพืชพี่เลี้ยง อีกอย่างหนึ่ง คือ ผักหวานป่าไม่ได้หากินเอง อย่าง รากมะขามเทศออกไปทางไหน รากผักหวานป่าก็จะไปเกาะติดกับรากมะขามเทศ ผักหวานป่าตอนนี้พี่คิดว่ามันง่ายที่สุดแล้วค่ะ”
การแปรรูปผักหวานป่า
เนื่องด้วยคุณชนนีและสามีเห็นว่าในช่วงเวลาผักต้นในช่วงฤดูที่ผักหวานป่าถูกเพื่อที่จะเลี้ยงใบและต้น ทำให้ไม่มีรายได้ในส่วนนี้ จึงหาทางที่จะสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยใช้วัตถุดิบที่มีอยู่ โดยคิดที่จะแปรรูปเป็นชาผักหวานป่าให้มีรายได้อีกทางหนึ่ง เพราะปกติก็ปล่อยให้ใบของผักหวานป่าร่วงอยู่แล้ว เลยคิดว่าน่าจะสามารถนำมาเป็นชาได้ ประกอบกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย หรือที่รู้จักกันในชื่อของ (วว.) มีการวิจัยว่าใบที่ยังไม่แก่ หรืออ่อนจนเกินไป หรือที่เรียกว่า ใบเพสลาด สามารถนำใบส่วนนี้มาทำเป็นชาผักหวานป่าได้ จึงได้นำข้อมูลตรงนี้มาลองทำดู
ก่อนที่จะเป็นชาซองที่ใช้ชงดื่มในปัจจุบัน ก็ได้ผ่านการลองผิดลองถูกในกระบวนการทำชาที่ศึกษาด้วยตนเอง ไม่ว่าจะหาข้อมูลจากทางอินเตอร์เน็ต หรือสอนตามผู้รู้ จนได้ผลิตชาพร้อมดื่มออกมาวางจำหน่ายในตลาด แต่ก็เกิดประสบปัญหา คือ ผลิตภัณฑ์ที่ออกมาเสียง่าย จึงได้ขอคำปรึกษาจากเพื่อนรุ่นน้องคนหนึ่ง
จนได้รู้จักกับ ผศ.ดร.พิมพ์เพ็ญ พรเฉลิมพงศ์ หรืออาจารย์ส้ม สาขาวิชาวิศวกรรมอาหาร ที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ซึ่งทางอาจารย์ก็ให้คำแนะนำว่าชาพร้อมดื่มจะต้องนำออกมาเป็นในรูปแบบของ Aseptic อย่างเดียว ซึ่งมีราคาต้นทุนที่สูงมาก คุณชนนีจึงได้พักการทำชาพร้อมดื่ม และหันมาทำเป็นชาที่ชงออกมาแทน
การผลิตชาผักหวานป่าของสวนเย็นสบายจะเป็นในลักษณะอุตสาหกรรมในครัวเรือน หรือ SME ที่ผ่านการรองรับจากองค์การอาหาร และยา หรือ อย. เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
โดยเริ่มจากการเก็บใบผักหวานป่าที่มีลักษณะไม่อ่อน หรือแก่จนเกินไป นำมาล้างให้สะอาด และหั่นเป็นเส้น เมื่อหั่นเสร็จแล้วก็นำไปลวกน้ำเพื่อให้คงสภาพที่สดเอาไว้ แล้วนำไปผึ่งอบในตู้พลังงานแสงอาทิตย์ และเมื่ออบในตู้พลังงานแสงอาทิตย์ได้ที่แล้ว จากนั้นก็นำมาอบในเครื่องอบในอุณหภูมิและเวลาที่พอเหมาะ และบดอีกทีหนึ่งเพื่อให้ได้ใบชาที่มีคุณภาพที่ดีที่สุด
สรรพคุณของชาผักหวานป่า
โดยทางคุณชนนีและสามีจะผลิตใบชาสำเร็จ และนำไปให้โรงงานบรรจุใส่บรรจุภัณฑ์อีกทีหนึ่ง เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพอย่างสูงสุด ภายใต้แบรนด์ชื่อ “ชิตังเม” ชาสมุนไพรผักหวานป่าเพื่อสุขภาพ
“ชาผักหวานป่า” จะมีกลิ่นหอมเฉพาะตัวของใบผักหวานป่า น้ำชามีสีเขียวอมเหลือง รสชาติปนหวานเล็กน้อย และมีคุณค่าทางด้านโภชนาการที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพไม่แพ้ชาเขียวญี่ปุ่น หรือชาชนิดอื่น ประกอบด้วยวิตามินต่างๆ มากมาย เช่น
- วิตามินเอ ที่ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคข้อเสื่อม
- วิตามินบี 1 ช่วยฟื้นฟูร่างกายจากความเหนื่อยล้า ทำให้รู้สึกสดชื่น
- วิตามินบี 2 มีความสำคัญในการสร้างเม็ดเลือดแดง ช่วยในการป้องกันเชื้อโรค และลดรอยเหี่ยวย่น
- วิตามินบี 3 ลดระดับคลอเลสเตอรอลในเลือด ซึ่งจะช่วยควบคุมโรคเบาหวานได้ดี วิตามินซีเป็นส่วนสำคัญในการสร้างคอลลาเจน ช่วยรักษาผิวพรรณให้สดใส มีวิตามินอีช่วยกำจัดสารอนุมูลอิสระในโรงเรือน และป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจ
ประโยชน์ของชาผักหวานป่า
นอกจากนั้นชาผักหวานป่ายังประกอบด้วยสารโคเอนไซม์ คิวเทน ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการเพิ่มพลังงานให้แก่เซลล์เพื่อใช้เป็นพลังงานในร่างกาย และช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรค เนื่องจากการเสื่อมสภาพของเซลล์ในร่างกาย เช่น โรคหัวใจ โรคข้อเสื่อม เป็นต้น และยังมีสารคอลลาเจนซึ่งเป็นโปรตีนชนิดหนึ่งที่มีคุณสมบัติให้ผิวหนังมีความยืดหยุ่น จึงช่วยยับยั้งการหย่อนยานของผิวหนัง และลดริ้วรอยแห่งวัยได้ และไม่มีคาเฟอีน
การต้านอนุมูลอิสระของชาผักหวานป่านั้น การดื่มชาผักหวานป่านอกจากจะช่วยแก้กระหายน้ำ และทำให้ชุ่มคอ ยังเป็นผลดีต่อสุขภาพ เนื่องจากชาผักหวานป่าประกอบด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ (antioxidant) เช่น วิตามินเอ บี ซี และอี สารประกอบฟินิลิค โคเอนไซม์ คิวเทน สารเหล่านี้มีคุณสมบัติช่วยป้องกันการเกิดปฏิกิริยาซิเอชัน อันเป็นสาเหตุการเกิดอนุมูลอิสระ (free radicals) และช่วยป้องกันการเกิดโรคต่างๆ อันเนื่องจากการเสื่อมสภาพของร่างกาย เช่น โรคมะเร็ง โรคหัวใจ และหลอดเลือด โรคที่เกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน และการเสียสมดุลของร่างกาย เป็นต้น
การเก็บเกี่ยวผลผลิตผักหวานป่า
ผักหวานป่าในสวนเย็นสบาย มีผักหวานป่าที่ให้ผลผลิตแล้วอยู่ในพื้นที่ประมาณ 5 ไร่ และกำลังขยายพื้นที่เพาะปลูกอีก 5 ไร่ โดยผักหวานป่าที่ปลูกไว้เริ่มให้ผลผลิตตั้งแต่ปีที่ 3 แล้ว แต่ยังไม่มากเท่าที่ควร ผลผลิตของผักหวานป่าจะเยอะมากเมื่อเข้าปีที่ 4 โดยทางสวนจะเก็บยอดผักหวานป่า 3 วัน/ครั้ง ช่วงฤดูที่ผักหวานป่าเยอะจะสามารถเก็บสูงสุดได้ถึง 100 กิโลกรัม/วัน แต่ถ้าอากาศหนาวยอดผักหวานป่าจะไม่แตกยอด ทำให้ผลผลิตลดลงมาก สามารถเก็บยอดผักหวานป่าได้ประมาณ 8-10 ตัน
ด้านตลาดยอดผักหวานป่า กิ่งพันธุ์ผักหวานป่า และชาผักหวานป่า
ตลาดของยอดผักหวานป่าทางสวนจะมีทั้งขายที่หน้าสวนเอง และไปส่งกับพ่อค้า แม่ค้า ที่อำเภอบ้านหมอ โดยราคาที่หน้าสวนจะขายอยู่ในราคา 100-200 บาท ตามฤดูกาล และยังมีกิ่งพันธุ์ผักหวานป่าจำหน่ายในราคา 300 บาท ซึ่งคิดได้ว่าตลาดของยอดผักหวานป่าและกิ่งพันธุ์สามารถไปได้แล้ว
ส่วนตลาดของชาผักหวานป่า ตรา “ชิตังเม” ยังถือได้ว่าเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ แบรนด์ยังไม่ติดตลาด และเนื่องด้วยอาจจะสภาพสภาวะเศรษฐกิจที่ยังซบเซา ทำให้ผู้คนระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้น ชาสมุนไพรผักหวานป่าชิตังเมจึงไม่ได้ผลตอบรับเท่าที่ควร โดยขณะนี้จะมีวางขายอยู่ที่ศูนย์ OTOP พุแค ไร่กำนันจุล ไร่สุวรรณ เป็นต้น
แนวโน้มในอนาคต
ซึ่งในอนาคตคุณชนนีและสามีกำลังวางแผนที่จะทำสแน็คผักหวานป่าให้เป็นขนมขบเคี้ยวนำมาจำหน่ายในตลาดต่อไป
ขอขอบคุณ คุณสมประสงค์ สีโหดา คุณชนนี สีโหดา ที่อยู่ 87 ม.1 ต.ทุ่งดินดำ อ.ชัยบาดาล จ.ลพบุรี 15130 โทร.08-0018-0093, 08-7410-8605