เกษตรกรไทยโดยส่วนใหญ่จะมีอาชีพที่สืบทอดต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น โดยเฉพาะการทำนา แต่เมื่อรายได้จากการทำนาขายข้าวเปลือกเริ่มไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพ หลายๆ คนจึงหันมาสร้างรายได้จากการปลูกพืชอื่นๆ เสริม ส่วนข้าวที่ได้ก็ขายบ้าง และเก็บไว้กินเอง วิธีทําหมกหน่อไม้
ในยุคข้าวยากหมากแพง ต้นทุนค่าปุ๋ย ค่ายา และปัจจัยการผลิต แพง จะมีพืชชนิดใดบ้างที่ไม่ต้องลงทุนมาก หากแต่ได้ค่าตอบแทนที่สูง เรื่องนี้ทีมงานได้เสาะหาเกษตรกรตัวอย่างมาฝากผู้อ่านให้ได้นำหลักการต่างๆ ไปประยุกต์ใช้
สอาด ใจเชื่อม เจ้าของสวนไผ่ตงศรีปราจีน ผู้สร้างตำนานใหม่แห่งวงการไผ่ เนื่องจากเขาเป็นผู้เพาะเลี้ยง และขยายพันธุ์ไผ่ตงที่มีความโดดเด่น แตกต่างไปจากไผ่ตงพันธุ์ดั้งเดิมที่เคยมีมา
คุณสอาดพื้นเพเป็นคนจังหวัดปราจีนบุรีมาโดยกำเนิด เข้ามาสู่วงการผู้ปลูกไผ่เป็นอาชีพรุ่นที่สองของครอบครัว จากพื้นที่เดิมที่ทำมาเพียง 10 ไร่ ก็เพิ่มขึ้นมาเป็น 20 ไร่ โดยแยกเป็นไผ่ตงศรีปราจีน 10 ไร่ และไผ่เลี้ยง 10 ไร่
การปลูกไผ่
คุณสอาดเล่าว่าหลังจากที่เขาได้เข้ามาสานงานต่อจากครอบครัวได้ไม่นานราวๆ ประมาณปี 2537 ไผ่รุ่นแรกซึ่งเป็นไผ่ตงสายพันธุ์เดิมที่ปลูกไว้เริ่มออกดอก และทยอยตายไปจนหมด แต่เพราะการทำสวนไผ่เป็นอาชีพที่ลงทุนน้อย ดูแลจัดการง่าย และให้ผลตอบแทนที่ดี เขาจึงได้วางแผนสร้างสวนไผ่ขึ้นมาใหม่อีกครั้ง เก็บเมล็ดมาเพาะไว้เพื่อจะปลูกไผ่รุ่นต่อไป และในการเริ่มต้นใหม่ครั้งนี้ก็เป็นจุดกำเนิดของไผ่สายพันธุ์ใหม่ด้วยเช่นกัน
เมล็ดไผ่มาเพาะไว้กว่า 1,000 ต้น
คุณสอาดได้เก็บเมล็ดไผ่มาเพาะไว้กว่า 1,000 ต้น หากแต่มีเพียงต้นเดียวเท่านั้นที่มีการเจริญเติบโตที่โดดเด่น โตเร็ว ในขณะที่ต้นอื่นๆ ที่ปลูกพร้อมกันยังเล็ก และมีการเจริญเติบโตที่ช้ากว่า ต่อมาเขาได้นำไผ่ต้นดังกล่าวมาปลูกลงดินแล้วดูแลอย่างดี หลังจากนั้นพบว่ามีลักษณะแตกต่างกว่าไผ่ตงที่เคยมีแต่ดั้งเดิมใน จ.ปราจีนบุรี คือ โตเร็ว แตกหน่อดี ลำสวย เช่นนั้นแล้วเขาจึงได้ทำการขยายพันธุ์ และนำไปปลูกในแปลงของตนเอง
เรื่องราวของไผ่ที่มีลักษณะใหม่นี้ถูกกล่าวขานต่อๆ กันไป บางรายเกิดความสงสัยก็เดินทางมาดูด้วยตัวเองถึงสวน บางรายสนใจก็ติดต่อขอซื้อพันธุ์ไปปลูกบ้าง จึงทำให้ไผ่ตรงพันธุ์ใหม่ของคุณสอาดโด่งดังขึ้นมาภายในเวลาอันรวดเร็ว
เมื่อมีผู้คนให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก ชื่อเสียงของไผ่สายพันธุ์ใหม่ก็ดังไปถึงสำนักงานเกษตรจังหวัดปราจีนบุรี และมีเจ้าหน้าที่ได้พาเขาไปจดลิขสิทธิ์ขึ้นทะเบียนพันธุ์พืช และตั้งชื่อว่า “ไผ่ตงศรีปราจีน” ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
การขยายพันธุ์ไผ่
การทำสวนไผ่โดยยึดเป็นอาชีพหลักนั้นค่อนข้างที่จะเป็นทางเลือกที่ดีอีกหนึ่งอาชีพ เพราะมีผู้บริโภคตลอด พ่อค้า แม่ค้า มารับซื้อถึงสวน ปลูกเลี้ยงง่าย ใช้ทุนน้อย จำหน่ายได้ทั้งหน่อ และลำ ด้วยเหตุนี้จึงมีคนจำนวนไม่น้อยที่หันมาปลูกไผ่ขาย ทั้งเป็นอาชีพหลัก และอาชีพเสริม
เริ่มแรกเมื่อได้กล้าไผ่พันธุ์ดีที่ต้องการดีมาแล้ว ก็นำมาตอนกิ่งเพื่อทำการขยายพันธุ์ ประมาณ 3-4 เดือน กิ่งที่ตอนไว้เริ่มที่จะแตกหน่อ จากนั้นนำกิ่งชำไปปลูกในแปลงที่เตรียมไว้ สำหรับไผ่ตงใช้ระยะห่างในการปลูกประมาณ 6×4 เมตร เฉลี่ยได้ 400-600 กอ/10 ไร่ และไผ่เลี้ยงใช้ระยะห่างในการปลูก 3×3 เมตร เฉลี่ยได้ 2,000 กอ/10 ไร่ หลังจากปลูกไปประมาณ 1 ปี ไผ่ที่ปลูกไว้จะให้ลำประมาณ 3-4 ลำ ก็เริ่มตัดหน่อได้
การให้ปุ๋ยและน้ำต้นไผ่
ในระยะเวลาจากการปลูกไปถึงอายุ 1 ปี จะมีการดูแลโดยการให้ปุ๋ยขี้ไก่แกลบประมาณ 3 เดือน ใส่ 1 ครั้ง ในขณะเดียวกันก็ใส่ปุ๋ยคอก และปุ๋ยเม็ดเพิ่มลงไปบ้างเล็กน้อย สำหรับปุ๋ยเคมีที่นำมาใส่จะเป็นสูตร 15-15-15 หรือ 46-0-0 ซึ่งปริมาณการให้ ซึ่งหากเป็นไผ่ที่ยังเล็กอยู่เฉลี่ยประมาณ 1 กระสอบ/10 ไร่/ปี เพื่อกระตุ้นให้เกิดการเจริญเติบโตที่ดี ตั้งกอเร็วขึ้น นอกจากนั้นก็จะมีการกำจัดวัชพืชภายในแปลงด้วย เป็นต้น
เข้าเดือนกันยายนของทุกปีไผ่จะให้หน่อน้อยลง และหยุดให้หน่อไปในที่สุด ต่อมาเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน จะเริ่มตัดแต่งกอ ซึ่งจะตัดไผ่ลำแก่ออก และริดกิ่งแขนงออก เนื่องจากเป็นส่วนที่ไม่ได้ให้ประโยชน์อะไรแล้ว ในการปลูกไผ่ 1 กอ จะไว้ลำเพียง 3-4 ลำ เท่านั้น เพื่อไม่ให้กอหนาแน่นเกินไป ทั้งนี้เพื่อให้สวนไผ่มีความโล่ง โปร่ง สะอาด สะดวกต่อการเข้าไปจัดการในสวน ในช่วงตัดแต่งกอจะหยุดให้น้ำ และไผ่ก็จะหยุดการให้หน่อไปประมาณ 3-4 เดือน เมื่อตัดแต่งกอเสร็จจะนำปุ๋ยคอกมาใส่ แล้วรดน้ำประมาณ 3 วัน/ครั้ง
ช่วงกลางเดือนธันวาคมเริ่มให้น้ำและปุ๋ย ไผ่ก็จะเริ่มให้ผลผลิต และเก็บขายได้ในเดือนมีนาคมไปจนถึงกันยายน แล้วตุลาคมจะเริ่มน้อยลง จากนั้นก็เริ่มตัดแต่งกอเช่นเดิน
วิธีทําหมกหน่อไม้
การทำหน่อไม้หมก หลายคนอาจจะเข้าใจอีกในแง่มุมหนึ่ง คือ ห่อหมกหน่อไม้ หรือเปล่า ซึ่งผู้เขียนก็เข้าใจเช่นนั้นเหมือนกัน แต่ฟังการอธิบายจากเจ้าของสวนแล้วจึงรู้ว่าเป็นคนละเรื่องกันเลย
การหมกหน่อไม้ในที่นี้ หมายถึง การทำหน่อไม้ให้มีผิวเปลือกขาว และเนื้อของหน่อไม้มีรสชาติที่หวานอร่อย วิธีการทำหมกหน่อไม้จะทำโดยนำถุงดำมาบรรจุเถ้าแกลบ หรือใบไผ่แห้งที่ร่วงอยู่ในสวนก็ได้ ใส่เข้าไปให้เต็มถุง จากนั้นนำไปครอบลงบนหน่อไม้ที่โผล่พ้นดินขึ้นมาประมาณ 15-20 เซนติเมตร (1 คืบ) ทิ้งไว้ประมาณ 7 วัน จะเห็นหน่อไม้ยาวขึ้นทะลุถุงขึ้นมา หรือความยาวของหน่อประมาณ 35-40 เซนติเมตร ก็เปิดถุงออก แล้วตัดหน่อไปจำหน่ายได้ การทำวิธีนี้จะช่วยทำให้หน่อไม้หวานขึ้น สามารถนำไปทำแกงจืดหรือจิ้มน้ำพริกได้
การเก็บผลผลิตไผ่
มีดเเรกของการเริ่มเก็บผลผลิต หรือการเก็บผลผลิตรุ่นแรกของปี คือ เดือนมีนาคม แต่จะยังให้ผลผลิตได้ไม่มากเท่าไร เฉลี่ยได้ประมาณ 100-200 กิโลกรัม/ครั้ง/10 ไร่ แล้วหลังจากนั้นผลผลิตก็เริ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนได้มากสุดในช่วงเดือนพฤษภาคม บางกอให้ถึง 5 หน่อ ตัด 1 วัน เว้น 2 วัน ใน 1 เดือน จะตัดอย่างน้อยประมาณ 10 ครั้ง
คุณสอาดยังบอกว่าเคยตัดได้มากสุดประมาณ 700 กิโลกรัม/10 ไร่/ครั้ง หากเป็นช่วงนอกฤดู หรือช่วงที่หน่อไม้ปีไม่ออกจะได้ราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 30 บาท แต่ถ้าตรงกับช่วงที่หน่อไม้ปีออก ผลผลิตออกสู่ตลาดมีปริมาณมากขึ้น ราคาจะอยู่ที่ประมาณ 5-6 บาท โดยเฉลี่ยราคาทั้งปีแล้วจะอยู่ประมาณ 12-15 บาท ซึ่งเป็นราคาที่เกษตรกรรับได้เพราะต้นทุนการผลิตไม่ได้สูงเท่าไร
การจำหน่ายไผ่
ทั้งนี้แม้ว่าการจัดการดูแลเหมือนกัน หากแต่ระหว่างไผ่ตงศรีปราจีน และไผ่เลี้ยง ที่คุณสอาดปลูกไว้จะมีการให้ผลผลิตที่แตกต่างกัน อย่าง ระยะการพักจะสั้นกว่าไผ่ตง ไผ่เลี้ยงจะออกหน่อก่อน คือ จะเริ่มให้หน่อตั้งแต่เดือนมกราคมไปถึงเดือนกันยายน หลังจากนั้นก็จะเริ่มหมดหน่อ และเริ่มตัดแต่งกออีกครั้ง เป็นต้น
ไผ่เลี้ยงจะกอเล็กกว่าไผ่ตง และให้ผลผลิตเร็ว คือ จะให้ผลผลิตตั้งแต่เดือนมกราคม ตอนแรกที่ปลูกคุณสอาดจะซื้อต้นพันธุ์แบบขุดตอมาปลูก เขาบอกว่าต้นพันธุ์จะมีอยู่ 2 แบบ คือ ถ้าขุดตอมาปลูกจะอยู่ที่ราคาตอละ 10 บาท แต่ถ้าซื้อเเบบที่เพาะเลี้ยงในถุงราคาจะอยู่ที่ 25-30 บาท
สำหรับแบบขุดตอมาปลูก หลังจากปลูก 1 ปี ก็จะเริ่มให้ผลผลิต ส่วนการเก็บผลผลิต คือ จะเก็บแบบวันเว้นวัน หน่อที่สามารถเก็บได้จะสังเกตจากความยาวของหน่อสูงจากพื้นขึ้นมาประมาณ 50-60 เซนติเมตร ก็ตัดได้ การให้ผลผลิตแบบปกติประมาณ 3-4 หน่อ/กอ แต่ถ้าดกสุดๆ คือประมาณ 10 หน่อ/กอ ในแต่ละเดือนโดยเฉลี่ยเก็บได้ประมาณ 200-300 กิโลกรัม/เดือน/10 ไร่
ช่วงปกติก็คือได้ประมาณ 80-100 กิโลกรัม/เดือน/10 ไร่ ราคาอยู่ 20 บาท (ต้ม) ต้มประมาณ 2 ชั่วโมง แล้วทิ้งไว้ให้เย็น แพ็คใส่ถุงๆ ละ 5 กิโลกรัม ช่วงราคาถูกที่สุดประมาณ 12 บาท/กิโลกรัม แต่ช่วงแพงที่สุดจะอยู่ที่ 30 บาท/กิโลกรัม
ด้านการตลาดไผ่
ปัจจุบันไผ่ตงปราจีนได้รับความนิยมจากชาวสวนไผ่เป็นอย่างมาก มีการนำไผ่สายพันธุ์ดังกล่าวไปปลูกกันอย่างกว้างขวาง เนื่องจากลักษณะเด่นเฉพาะตัว ที่เป็นพันธุ์ไผ่ที่โตเร็ว และแตกหน่อดี ปริมาณหน่อมาก น้ำหนักหน่อประมาณ 2-3 กิโลกรัม นอกจากนั้นลำต้นก็มีขนาดใหญ่ ขายได้ราคา เริ่มตั้งแต่ความยาวของลำไผ่ 3 เมตร ขายได้ 8 บาท/ลำ ซึ่งส่วนใหญ่จะนำไปทำหลักปักเลี้ยงหอยแมลงภู่
“เหตุผลที่เลือกอาชีพทำสวนไผ่ก็เพราะปลูกง่าย ขายง่าย ใช้ต้นทุนไม่มาก ได้เงินดี หลังจากเราตัดเสร็จก็จะมีพ่อค้า แม่ค้า มารับซื้อที่สวนเลย คนปราจีนบุรีปลูกกันเยอะ พื้นที่ก็บริเวณเชิงเขา หรือในที่ดอนหน่อย อีกอย่างไผ่จะยิ่งเจริญเติบโตดี ให้ผลผลิตดี ในสภาพดินร่วนปนทราย” คุณสอาดกล่าว
สำหรับท่านใดสนใจเข้าเยี่ยมชมสวน หรือสอบถามเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ คุณสอาด ใจเชื่อม บ้านเลขที่ 55 หมู่ 11 บ้านไชยคลี ต.หนองแก้ว อ.ประจันตคาม จ.ปราจีนบุรี โทร.08-6839-2258