พืชหลายชนิดในปัจจุบันที่เกษตรกรหลายๆ ท่าน ให้ความสนใจ อยู่ที่ว่าใครจะนำพืชชนิดใดมาปลูกเป็นอาชีพเพื่อสร้างรายได้ที่ดี ส่วนมากเกษตรกรชอบการทำอะไรที่มีความเสี่ยงน้อย ลงทุนไม่สูงนัก เพราะเกษตรกรเองก็มีเงินทุนที่ไม่มากอยู่แล้ว จึงมองพืชที่ปลูกแล้วมีการลงทุนน้อย ให้ผลกำไรดี การดูแลไม่ยากนัก ซึ่งปัจจุบันก็มีหลายชนิด ส่วนมากจะเป็นพืชเครื่องเทศ เช่น มะกรูด ขิง ข่า ตะไคร้ เป็นต้น พืชเหล่านี้เป็นพืชที่ดูแลง่าย ปลูกก็ง่าย แต่หลายๆ คนมองข้าม
ในภาวะที่เศรษฐกิจไม่ค่อยดี เกษตรกรไม่มีเงินทุนมากนัก ค่าปุ๋ย ค่ายา ค่อนข้างสูง จะปลูกพืชที่ใช้ต้นทุนมากๆ ก็คงไม่ไหว ถ้าปลูกออกมาแล้วผลผลิตไม่ดี ลงทุนซื้อปุ๋ย ยา เต็มที่ กลัวผลผลิตไม่ได้ตามที่ต้องการ จนลืมคำนึงถึงเงินทุนที่ใช้ไป พอจำหน่ายผลผลิตได้กำไรไม่มากนัก เพราะลงทุนไปสูง บางคนก็เข้าเนื้อ เกษตรกรที่มาพูดว่า “ทำเท่าไรก็ไม่เหลือ”
สภาพพื้นที่ปลูกตะไคร้
ฉะนั้นแล้วความเห็นต่างจากผู้อื่นไม่มองข้ามในสิ่งที่คิดว่าไม่ดี ไม่มีอะไรมาวัดค่าตรงนั้นได้ นอกจากการได้ทดลองปฏิบัติด้วยตนเองกับมือ จึงขอนำเสนอเรื่องราวของเกษตรท่านหนึ่งที่ใช้พื้นที่ขอบบ่อเลี้ยงปลา และกุ้งขาว ของเขา ปลูกตะไคร้จำหน่ายเป็นรายได้เสริมให้กับครอบครัว คุณเจตน์ แสงพุ่ม เจ้าของสวนตะไคร้ ต.เปร็ง อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ ที่ใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์ในช่วงที่เลี้ยงปลาและกุ้งขาวก็ปลูกตะไคร้เป็นอาชีพเสริม
คุณเจตน์เล่าว่า เริ่มปลูกตะไคร้มา 17 ปีแล้ว เพราะเป็นพืชที่ปลูกง่าย ไม่ต้องดูแลอะไรมาก ต้นทุนต่ำ จึงทำให้ตัวเขาเลือกที่จะปลูกเป็นอาชีพเสริม และยังสามารถสร้างรายได้ให้กับครอบครัวได้ดีอีกด้วย ในอำเภอบางบ่อเองมีเกษตรกรที่ปลูกพืชชนิดนี้มากพอสมควร
วิธีปลูกตะไคร้
พืชเศรษฐกิจหลักของที่นี่ก็มีข้าว ข่า ตะไคร้ ที่ปลูกเป็นรายได้หลักๆ ของเกษตรกรในอำเภอบางบ่อ และตอนนี้กำลังปลูกตะไคร้ขยายเพิ่มเติมอีก 4 ไร่ จากพื้นที่รกร้างจึงทำเป็นสวนปลูกตะไคร้เพื่อให้เกิดประโยชน์ อีกอย่างในปีนี้ตะไคร้ราคาดีกิโลกรัมละ 20 บาท ทำให้เกษตรหลายรายที่ปลูกตะไคร้ในอำเภอบางบ่อมีรายได้ดีกว่าปีที่ผ่านมา
พืชตัวนี้ยังคงเป็นพืชที่ทุกคนมองข้ามไม่ได้ เพราะเป็นพืชเครื่องเทศที่จำเป็นต่อการปรุงแต่งรสชาติอาหาร และเป็นพืชที่อยู่คู่ครัวของไทยมานาน ตั้งแต่เดิมทีการปลูกตะไคร้จะปลูกไว้เฉพาะรับประทานเองในครอบครัว ทุกครัวเรือนต้องมีอย่างน้อยครัวเรือนละ 1 กอ เพื่อใช้สำหรับไว้ทำอาหาร
แต่ปัจจุบันพืชชนิดนี้มีการปลูกในเชิงพาณิชย์กันมากขึ้น จากพืชสวนครัวที่ปลูกเฉพาะรับประทานในครัวบ้าน ตอนนี้ปลูกพืชชนิดนี้สู่ครัวโลก เป็นการขยายตลาดที่กว้างมากขึ้น และยังคงเป็นที่จับจองของเกษตรกรหลายๆ ท่าน ที่คิดจะปลูกตะไคร้เป็นอาชีพ
ใช้ต้นพันธุ์ขาวเกษตรแช่ต้นพันธุ์ในน้ำไว้ประมาณ 1 สัปดาห์ พอรากเริ่มออกให้นำลงปลูก ขุดหลุมปลูกลึกประมาณ 5-7 เซนติเมตร ส่วนการให้ปุ๋ย ใช้ปุ๋ยยูเรีย หรือปุ๋ยเคมี ของยารา 1 ซอง สามารถให้ได้นาน เพราะใช้ไม่มาก หรือเพื่อเป็นการประหยัดต้นทุนลงไปอีก ก็ใช้ปุ๋ยชีวภาพเป็นพวกน้ำหมักต่างๆ สามารถใช้ได้กับพืชชนิดนี้หมด เพราะเป็นพืชที่ดูแลง่าย เจริญเติบโตไว
การเก็บเกี่ยวผลผลิตตะไคร้
มีการเก็บเกี่ยวผลผลิตทุกวัน เก็บช่วงเช้าประมาณ 6 โมงเช้า ถึง 10 โมงเช้า ปลูกในระยะเวลา 5-6 เดือน จะสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ โดยจะตัดแล้วมัดรวมกันมัดละ 1 กิโลกรัม ความยาวประมาณ 40 เซนติเมตร แล้วจึงมัดรวมเป็นมัดใหญ่อีกครั้งเป็นมัดละ 10 กิโลกรัม คนเก็บเกี่ยวผลผลิตมีความชำนาญสูงจะสามารถทำงานได้อย่างรวดเร็วมาก บางครั้งไม่ต้องใช้ตาชั่ง หรือไม้วัด เมื่อเก็บผลผลิตจะนำมาทำความสะอาดด้วยการล้างน้ำเปล่า แล้วจึงนำไปแช่น้ำเพื่อรอแม่ค้ามารับที่สวน
การป้องกันกำจัดโรคและแมลง
ส่วนมากโรคที่เกิดขึ้นกับตะไคร้จะเกิดจากโรคเชื้อรา ทางสวนจะปล่อยตามธรรมชาติ จะไม่ฉีดยา อีกโรคก็คือ จะมีหนอนเจาะบ้าง ก็จะปล่อยตามธรรมชาติ ในส่วนที่เป็นโรคอาจตัดทิ้งไป เพื่อป้องกันการระบาดของเชื้อโรค แต่งดการฉีดยา หรือสารเคมีต่างๆ
ด้านตลาดและช่องทางจำหน่ายตะไคร้
ในปีนี้ถือว่าราคาของพืชชนิดนี้มีราคาค่อนข้างดีกิโลกรัมละ 20 บาท ปีที่ผ่านมาราคาไม่ค่อยดีเท่าไร มีปีนี้ที่ราคาดี เป็นที่พอใจ ทำให้มีรายได้ดีขึ้น เพราะต้นทุนต่ำอยู่แล้ว นี่คือข้อดีของพืชชนิดนี้ ทางสวนเก็บผลผลิตจะมีแม่ค้าคนกลางมารับซื้อถึงหน้าสวนเพื่อนำไปจำหน่ายที่ตลาดไท เก็บเกี่ยวผลผลิตทุกวัน มีรายได้วันละไม่ต่ำกว่า 1,000 กว่าบาท
ส่วนช่วงฤดูแล้งเป็นช่วงที่ราคาตะไคร้ดี โดยเฉพาะช่วงประมาณเดือนมีนาคม-พฤษภาคม ราคาสูง เป็นช่วงที่ทำรายได้ดีให้กับเกษตรชาวสวนตะไคร้อำเภอบางบ่อ เพราะสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ทุกวัน รายได้จึงมีทุกวัน แม่ค้าที่มารับซื้อจะจ่ายให้วันต่อวัน
การส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกตะไคร้
คุณไพโรจน์ คลับคลาย นักวิชาการส่งเสริมเกษตรชำนาญการ สำนักงานเกษตร อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ ให้ความเห็นว่า ทางเกษตรอำเภอบางบ่อมีนโยบายสนับสนุนส่งเสริมให้เกษตรกรผู้ปลูกตะไคร้ในอำเภอบางบ่อได้รับการส่งเสริมสู่มาตรฐาน GMP โดยมีการส่งเสริมรณรงค์ให้มีการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ การปรับปรุงบำรุงดิน การใช้น้ำหมักชีวภาพ ถ้าใครใช้สารเคมี ใช้อย่างไรให้ปลอดภัย
เรื่องของการเก็บเกี่ยวผลผลิต การขนส่ง ภาชนะที่ใช้มีความสะอาดไหม ขั้นตอนในกระบวนการผลิตเบื้องต้น คือ ต้องทำความเข้าใจกับเกษตรกรก่อนที่จะปฏิบัติ เพราะมาตรฐาน GMP ส่วนใหญ่จะนำผลผลิตไปตรวจสารเคมีตกค้างว่ามีไหม
ฉะนั้นในเมื่อกระบวนการตั้งแต่ปลูกจนถึงเก็บเกี่ยวผลผลิตจำหน่ายได้ทุกขั้นตอน เหล่านี้จะต้องมีความบริสุทธิ์ สะอาด เพื่อป้องกันการปนเปื้อนของสารเคมี เชื้อโรคต่างๆ ทางเราจึงเน้นทำความเข้าใจในระบบการผลิตตั้งแต่เริ่มปลูกจนจำหน่ายได้
ตอนนี้ทางโครงการอยู่ในช่วงเตรียมความพร้อม ทำความเข้าใจกับเกษตรกรผู้ปลูกกับการปฏิบัติที่เป็นไปอย่างเคร่งครัด จากนั้นเมื่อพร้อมทุกๆ ด้านแล้วจะส่งเรื่องไปที่กรมวิชาการเกษตรเพื่อเข้ามาตรวจสอบ มีสมาชิกเข้าร่วมโครงการนี้ประมาณ 20 ราย
พืชชนิดนี้เป็นพืชลงทุนน้อย ดูแลง่าย เหมาะสำหรับเกษตรกรที่เริ่มลงทุนทำการเกษตรที่มีทุนน้อย สามารถนำพืชชนิดนี้ปลูกเป็นอาชีพเพื่อเป็นรายได้ให้กับครอบครัว โดยเฉพาะช่วงฤดูแล้งราคาสูง และในปีนี้ตะไคร้มีราคาดี เป็นพืชที่โตไว ไม่สิ้นเปลืองค่าปุ๋ย ค่ายา ปลอดภัยกับผู้บริโภค และตัวผู้ปลูกเอง เพราะไม่ใช้สารเคมี
ปลูกพืชชนิดนี้ตลาดกว้าง เพราะมีคนปลูกในเชิงพาณิชย์ยังมีไม่มากนัก หลายๆ คนยังมองข้ามพืชคู่ครัวชนิดนี้ ที่นับวันสามารถโกอินเตอร์ส่งออกต่างประเทศได้แล้ว
หากเกษตรกรท่านใดสนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณเจตน์ แสงพุ่ม 22/2 ม.3 ต.เปร็ง อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ 10560 โทร.08-2791-3368
ขอขอบคุณ คุณไพโรจน์ คลับคลาย สำนักงานเกษตรอำเภอบางบ่อ อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ 10560 โทร.08-5976-6711