การปลูกพริกไทย
พริกไทยในปัจจุบันถือเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ และมีชื่อเสียงชนิดหนึ่งในจังหวัดจันทบุรี ที่สามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรได้เป็นกอบเป็นกำ แต่การจะทำพริกไทยให้ได้คุณภาพ และมีมาตรฐาน ถือเป็นเรื่องยากพอตัวเลยทีเดียว อีกทั้งพริกไทยยังเป็นเครื่องปรุงรส และพืชสมุนไพร ที่มีผลต่อสุขภาพ และสามารถส่งออกไปยังประเทศต่างๆ ในยุโรป
แต่ในปัจจุบันปริมาณการผลิตพริกไทยเพื่อส่งออกได้ลดน้อยลงมาก เนื่องจากพบเชื้อจุลินทรีย์อะฟลาทอกซิน (Aflatoxin) ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง โดยการสำรวจคุณภาพพริกไทยตามท้องตลาดพบว่าพริกไทยปริมาณ 1 กรัม จะมีเชื้อจุลินทรีย์ 6.4×107 ในขณะที่มาตรฐานกำหนดให้มีจุลินทรีย์ไม่เกิน 104 เท่านั้น
ดังนั้นสถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และกรมส่งเสริมการเกษตร จึงได้ศึกษา พัฒนา และแนะนำให้เกษตรกรมีการผลิตพริกไทยปลอดเชื้อจุลินทรีย์ โดยให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนพริกไทยปลอดเชื้อจุลินทรีย์ที่ ต.สองพี่น้อง อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี เป็นต้นแบบ และเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับผู้ที่สนใจผลิตพริกไทยที่มีคุณภาพสู่ตลาดสากล
กลุ่มวิสาหกิจชุมชนพริกไทยปลอดเชื้อจุลินทรีย์ นำโดย คุณณรงค์ศักดิ์ สุทราทิพย์ ประธานกลุ่ม ซึ่งเดิมทีได้จัดตั้งเป็นกลุ่มเกษตรอินทรีย์ของเกษตรอำเภอ เนื่องจากคิดจะปรับปรุงจากการทำสวนผลไม้ที่ใช้แต่สารเคมี ให้ลด ละ เลิก การใช้สารเคมี และลดต้นทุนได้บ้าง
คุณณรงค์ศักดิ์พร้อมคณะอาจารย์จึงได้ศึกษาดูงานในที่ต่างๆ เพื่อมาปรับปรุงแก้ไขในชุมชนของตน ในการรวมกลุ่มแรกๆ จะเป็นการรวมกลุ่มเพื่อทำปุ๋ยอินทรีย์เพื่อนำไปแจกจ่ายให้กับสมาชิกกลุ่ม เนื่องด้วยในพื้นที่มีการใช้สารเคมีมาก ทำให้ดินแข็ง จึงจำเป็นต้องหันมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์เพื่อปรับสภาพดิน โดยมีสมาชิกในกลุ่มประมาณ 20 ราย ราคาปุ๋ยต้นทุนกิโลกรัมละ 80 สต. แต่จะขายให้กับสมาชิกในกลุ่มกิโลกรัมละ 1 บาท ส่วนต่างที่เหลือจะเป็นเงินปันผลให้กับสมาชิกในกลุ่มต่อไป
การส่งเสริมปลูกพริกไทยปลอดเชื้อจุลินทรีย์
ในขณะนั้นก็เริ่มมีสำนักงานเกษตรในอำเภอท่าใหม่ ได้มีการส่งเสริมการปลูกพริกไทยอย่างไรให้ปลอดภัยกับผู้บริโภค โดยกรมส่งเสริมการเกษตรและสถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้มาทำการทดลองวิจัยพริกไทย
เพราะตรวจพบว่าพริกไทยที่ผลิตออกมานั้นมีเชื้อราอะฟลาทอกซินอยู่ในปริมาณที่สูงกว่ากำหนด ซึ่งเชื้อราชนิดนี้มักพบเจอปนอยู่ในอาหารที่จะเจริญเติบโตอยู่บนเมล็ดข้าวโพด ข้าว มันสำปะหลัง ถั่วลิสง พริกแห้ง กระเทียม ที่สามารถทนความร้อนสูง การทอด หรือต้ม ไม่สามารถทำลายสารนี้ได้ และเมื่อบริโภคอะฟลาทอกซินไปในจำนวนมากก็จะทำให้เกิดอาการท้องเดิน อาเจียน และถ้าสะสมมากๆ ก็จะเป็นสารก่อมะเร็ง โดยเฉพาะมะเร็งตับ
โดยจะมีนักวิชาการเข้ามายังกลุ่มเพื่อเก็บตัวอย่างพริกไทยอย่างสม่ำเสมอตลอด 3 ปี และวิจัยแก้ปัญหาการเกิดเชื้อราอะฟลาทอกซินได้สำเร็จ ได้ข้อสรุปว่าสาเหตุการเกิดเชื้อราเป็นเหตุเพราะความชื้น ซึ่งปกติการตากพริกไทย ชาวบ้านเองจะใช้วิธีการตากแดด แต่ก็ยังหลงเหลือความชื้นอยู่ ประกอบกับภายในบ้านมีการเลี้ยงสัตว์ หรืออาจจะมีฝุ่นผงปลิวมาติดพริกไทย จึงเป็นสาเหตุทำให้เกิดเชื้อขึ้น
ขั้นตอนการผลิตพริกไทยปลอดเชื้อจุลินทรีย์
กลุ่มวิสาหกิจชุมชนพริกไทยปลอดเชื้อจุลินทรีย์จึงได้ผลิตพริกไทยที่มีคุณภาพขึ้นมา โดยได้รับความรู้ อุปกรณ์ ตู้อบ เครื่องมือ และกระบวนการผลิต ตลอดจนการแก้ปัญหาต่างๆ จากสถาบัน เพื่อพัฒนาสู่กระบวนการผลิตพริกไทยปลอดเชื้อ เพื่อสนับสนุนการส่งออกตามหลักของ GMP และ HACCP
–พริกไทยดำ การผลิตพริกไทยดำแบบดั้งเดิม การเก็บพริกไทยจะต้องเก็บในระยะแก่ แต่ยังเขียวอยู่ คือ เก็บระยะหัวเหลือง เมื่อเก็บพริกไทยสดทั้งพวงนำไปผึ่งไว้ประมาณ 3 แดด และนำไปแยกเมล็ดออกจากก้านในโดยใช้เครื่อง และนำไปตากแดดโดยไม่ต้องแช่น้ำประมาณ 4 แดด โดยมีแผ่นตาข่ายพลาสติกรองรับบนพื้นดิน พื้นซีเมนต์ เมื่อแห้งแล้วก็นำมาคัดแยกพริกไทยเบา และพริกไทยดำ และบรรจุกระสอบเพื่อรอจำหน่าย
–พริกไทยขาว การเก็บพริกไทยจะต้องเก็บในระยะสุกเต็มที่ โดยที่เมล็ดพริกไทยจะมีสีแดงสด เมื่อเก็บมาแล้วก็นำมาแยกเมล็ดจากก้านในโดยใช้เครื่อง และนำไปแช่น้ำเป็นเวลา 3 วัน เพื่อให้เปลือกยุ่ย นำมาใส่เครื่องตีเมล็ด ล้างน้ำให้สะอาด แล้วนำไปตากแดดประมาณ 2-3 แดด เมื่อแห้งดีแล้วนำใส่กระสอบ นี่คือกระบวนการดั้งเดิมของการผลิตพริกไทยขาว
กรรมวิธีผลิตพริกไทยปลอดเชื้อ
กรรมวิธีผลิตพริกไทยปลอดเชื้อ ขั้นตอนแรก คือ เมื่อเก็บพริกไทยสดมาจากต้นแล้วจะต้องนำมาแยกเมล็ดโดยใช้เครื่อง เมื่อแยกเมล็ดเสร็จแล้วจึงนำมาร่อนพริกไทย เพื่อให้ได้เมล็ดพริกไทยที่เสมอกัน นำไปล้างน้ำประมาณ 3-4 ครั้ง ระหว่างนั้นจะมีเมล็ดพริกไทยเบาอยู่ก็จะต้องตักออก และนำไปลวกในน้ำร้อนอุณหภูมิที่ 60-65oC เป็นเวลา 90 นาที ยกขึ้นมาใส่ตะแกรงให้สะเด็ดน้ำ และเข้าตู้อบในอุณหภูมิ 55-60oC เป็นเวลา 12 ชั่วโมง ก็จะได้พริกไทยปลอดเชื้อออกมา และนำมาบรรจุถุง ปิดสนิทระบบสุญญากาศ โดยพริกไทยปลอดเชื้อจะต้องมีเชื้อจุลินทรีย์ทั้งหมดไม่เกิน 100 cfu/g
ด้านตลาดและช่องทางจำหน่ายพริกไทยปลอดเชื้อจุลินทรีย์
ปัจจุบันภายในกลุ่มวิสาหกิจชุมชนพริกไทยปลอดเชื้อจุลินทรีย์เหลือพื้นที่การปลูกอยู่ประมาณ 100 กว่าไร่ ซึ่งคุณณรงค์ศักดิ์คาดการณ์ว่าจะมีการเพิ่มปริมาณการปลูกพริกไทยมากขึ้น เนื่องจากราคาของพริกไทยมีการถีบตัวสูงขึ้นตลอด
โดยปีที่ผ่านมากลุ่มสามารถผลิตพริกไทย ทั้งระบบอบแห้ง และตากแดดธรรมดา ได้ทั้งหมดประมาณ 20-30 ตัน พริกไทยอบแห้งเชื้อจุลินทรีย์จะส่งจำหน่ายให้กับศูนย์ OTOP อย่างเดียว โดยผลิตภัณฑ์ได้รับมาตรฐาน OTOP 5 ดาว ส่วนผลผลิตที่ตากแห้งจะมีพ่อค้าคนกลางมารับซื้อถึงหน้าสวน
ในกลุ่มวิสาหกิจปีนี้ไม่ได้มีการอบแห้งพริกไทย เนื่องจากราคาพริกไทยตากแห้งธรรมดาที่สูงมาก ที่ราคาพริกไทยดำอยู่ที่กิโลกรัมละประมาณ 370 บาท ซึ่งถ้าผ่านกระบวนการอบแห้งแล้วจะราคาสูงถึง 430-450 บาท ส่วนพริกไทยขาวตากแห้งประมาณจะอยู่ที่กิโลกรัมละ 550 บาท แต่ถ้าอบแห้งแล้วจะอยู่ในราคา 600 บาท ขึ้นไป
ด้วยยุคเศรษฐกิจฝืดเคือง และข้าวของต่างมีราคาที่สูงขึ้น ทำให้ผู้คนระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น ทำให้พริกไทยอบแห้งจำหน่ายยากกว่าพริกไทยตากธรรมดา สมาชิกกลุ่มจึงหันมาผลิตส่งพริกไทยแก่พ่อค้าคนกลาง แต่เมื่อสมาชิกจะผลิตพริกไทยอบแห้งก็สามารถเข้ามาผลิตในกลุ่มได้
สายพันธุ์พริกไทย
พริกไทยที่ใช้ปลูกในกลุ่มจะมีอยู่ 2 สายพันธุ์ คือ พันธุ์ซาลาวัด และพันธุ์ซีลอน โดยพริกไทยพันธุ์ซาลาวัดนี้จะใช้ผลิตพริกไทยดำ และพริกไทยขาว ส่วนพันธุ์ซีลอนจะผลิตเป็นพริกไทยอ่อน ส่งจำหน่ายตามร้านค้าที่รับซื้อ เนื่องจากพริกไทยพันธุ์ซาลาวัดจะให้ผลผลิตเป็นปี แต่ถ้าเป็นพริกไทยซีลอนจะให้ผลผลิตทั้งปี ทำให้เกษตรกรสามารถมีรายได้หมุนเวียนตลอดทั้งปี
โดยต้นพันธุ์นำมาจากผู้ปลูกพริกไทยในละแวกใกล้เคียง เนื่องจากเมื่อปลูกพริกไทยได้ระยะเวลา 1 ปี สามารถตัดยอดจำหน่ายเป็นต้นพันธุ์ได้ ต้นพันธุ์ที่ดีจะต้องห้ามเกิน 2 ปี ซึ่งจะเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกพริกไทย
การให้ปุ๋ยและน้ำต้นพริกไทย
ต้นพริกไทยเป็นพืชที่ชอบน้ำ และไม่ชอบน้ำ กล่าวคือ การปลูกพริกไทยจะต้องปลูกในพื้นที่ไม่แฉะ หรือมีน้ำขัง เพราะจะทำให้เกิดโรครากเน่า โคนเน่า ดินที่ระบายน้ำไม่ดี อย่างเช่น ดินเหนียว ไม่สามารถปลูกได้ ซึ่งดินที่เหมาะกับการปลูกพริกไทย คือ ดินร่วนปนทราย ดินแดง ดินลูกรัง ก็สามารถปลูกได้ แต่การระบายน้ำจะต้องดี เมื่อปลูกแล้วก็จะต้องให้น้ำสม่ำเสมอ เพราะถ้าไม่มีการให้น้ำ ต้นพริกไทยก็จะเติบโตไม่ดี
ปัจจุบันทางกลุ่มจะใช้สปริงเกลอร์ในการจ่ายระบบน้ำ เนื่องจากสะดวก รวดเร็ว และประหยัดกว่าการให้น้ำแบบยกร่อง โดยจะรดน้ำ 3 วัน/ครั้ง ส่วนการให้ปุ๋ยจะให้หลังเก็บผลผลิตเสร็จ ช่วงประมาณเดือนมีนาคม ที่มีการใส่ปุ๋ยอินทรีย์ประมาณ 2 กิโลกรัม/หลัก และปุ๋ยเคมีสูตรเสมอ ประมาณ 4 กำมือ/หลัก
โดยพริกไทยถ้าเข้าปีที่ 2 ไม่มีการตัดยอดจำหน่าย ก็จะเริ่มให้ผลผลิตแล้ว เมื่อเข้าปีที่ 3 ก็จะให้ผลผลิตเต็มที่ ภายใน 1 ปี สามารถให้ผลผลิตไม่ต่ำกว่า 3 กิโลกรัม/ปี และถ้ามีการดูแลรักษาที่ดี ต้นพริกไทยจะสามารถอยู่ได้ถึง 20 ปี เลยทีเดียว
การป้องกันกำจัดโรคและแมลงในต้นพริกไทย
โรคของพริกไทย ที่ดินจะเป็นโรครากเน่า โคนเน่า ส่วนใบจะเป็นจำพวกรา โดยจะใช้การผสมผสาน โดยใช้สารไล่แมลงควบคู่กับเคมีบ้าง และชีวภาพต่างๆ โดยจะใช้พวกกลอย หนอนตายหยาก สาบเสือ มาหมักและฉีดพ่น ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นในลักษณะป้องกัน แต่ถ้าเกิดขึ้นมาแล้วก็จะต้องใช้สารเคมีบ้าง
ส่วนโรคเน่า โคนเน่า เกิดจากสาเหตุการระบายน้ำไม่ดี เกษตรกรจึงต้องจัดการร่องแปลงเรื่องการระบายน้ำ ตั้งแต่เริ่มปลูก ประกอบกับการใช้เชื้อไตรโคเดอร์มาผสมปุ๋ยอินทรีย์ เพื่อเป็นการยับยั้งเชื้ออีกทางหนึ่งด้วย แต่ถ้าเกิดเชื้อขึ้นมาแล้วและไม่สามารถจัดการได้จะต้องใช้สารเคมีเข้ามาช่วยเป็นครั้งคราว
สภาพพื้นที่ปลูก สวนพริกไทย
การปลูกพริกไทยจะต้องเริ่มจากการเตรียมแปลง และระบบต่างๆ ให้เสร็จสิ้นก่อน ส่วนการนำต้นพันธุ์มาปลูกนั้น คือ ขั้นตอนสุดท้าย ขั้นตอนแรก คือ การปรับสภาพดินสักระยะ และติดตั้งระบบน้ำ ซึ่งแล้วแต่ความสะดวกของเกษตรกร โดยทำค้างในระยะ 2×2 เมตร
ปัจจุบันราคาค้างอยู่ที่ประมาณ 200 บาท/ค้าง และปลูกยอดพริกไทย 2 ยอด/ค้าง ราคายอดละ 40-45 บาท/ยอด และต้องมีการมุงแสลนเพื่อพรางแสง โดยราคาต้นทุนปลูกพริกไทยต่อไร่อยู่ที่ 1 แสนกว่าบาท ระยะการคืนทุนอยู่ที่ประมาณ 3 ปี และถ้ามีการดูแลจัดการที่ดีก็จะมีผลกำไรในปีที่ 3 ด้วย
แนวโน้มในอนาคต
ประมาณ 5 ปีที่ผ่านมา ราคาพริกไทยนั้นตกต่ำมากอยู่ที่กิโลกรัมละ 100 กว่าบาท การฟื้นฟูพริกไทยจึงไม่ค่อยมี หรือมีก็จะเป็นส่วนน้อย แต่เมื่อถึงปัจจุบันราคาพริกไทยกลับถีบตัวสูงขึ้นมาเรื่อยๆ และในปีนี้สำนักงานเกษตรและกรมวิชาการเกษตรได้มีการส่งเสริมและฟื้นฟูแปลงพริกไทยของจังหวัดจันทบุรีขึ้นประมาณ 10,000 ค้าง
ซึ่งเป็นของส่วนราชการ ไม่เกี่ยวกับเกษตรกรปลูกเอง คุณณรงค์ศักดิ์กล่าวว่า เฉพาะปีนี้ในจังหวัดจันทบุรีจะมีพริกไทยขึ้นมาใหม่ไม่ต่ำกว่า 30,000 ค้าง และจะมีแต่เพิ่มขึ้น ถ้าพริกไทยยังคงราคานี้อยู่ เนื่องจากในเวียดนามหรือเขมรเอง มีการปลูกพริกไทย และผลไม้ต่างๆ คล้ายๆ บ้านเรา อีกทั้งยังราคาค่าแรงก็ยังถูกกว่า จึงอาจจะทำให้ผลผลิตมาตีตลาดเราได้ นี่จึงเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะช่วยป้องกันแก้ไขการเกิดราคาพริกไทยตกต่ำในอนาคต
คุณณรงค์ศักดิ์กล่าวทิ้งท้ายว่า ถ้าหากเราคิดที่จะปลูกอะไรขึ้นมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นผลไม้ หรือพืชชนิดใด หรือพริกไทยก็ดี อยากให้เก็บรักษาไว้และดูแลสม่ำเสมอ ไม่ใช่เวลาผลผลิตถูกก็ไม่ดูแล พอราคาแพงก็หันกลับมาปลูก หรือดูแล ซึ่งจะไม่ทันการ เราชาวเกษตรกรไม่ใช่อาชีพค้าขาย ฉะนั้นของที่เรามีอยู่จึงควรอนุรักษ์ ดูแล บำรุงรักษาให้ดี เพราะเมื่อราคาดีขึ้นมาแล้วก็พร้อมที่จะผลิตได้อย่างทันการ
ขอขอบคุณ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนพริกไทย ปลอดเชื้อจุลินทรีย์ คุณณรงค์ศักดิ์ สุทราทิพย์ โทร.08-1377-9151
ที่อยู่ 8 หมู่ 7 ต.สองพี่น้อง อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี 22120