ทีมงานนิตยสาร เมืองไม้ผล & พืชสุขภาพ ได้มีโอกาสร่วมพูดคุยกับ คุณบังอร บรรณารักษ์ เกือบทั้งชีวิตกับอาชีพเกษตรกรที่ “ไม่มีแบบแผน” กำหนดการเพาะปลูกตามตำรา “ไม่มีกรอบ” นำพาทิศทางที่เด่นชัด หัดเรียนรู้ และศึกษามากว่าค่อนชีวิต ท่ามกลางสายอาชีพการเกษตร
คุณบังอรเล่าว่า เมื่อประมาณ 30 กว่าปีก่อน จะปลูกประเภทมันสำปะหลัง ราคาที่ได้รับช่วงนั้นตกอยู่ 0.50 บาท/กก. ตอนนั้นยังมีที่ดินเยอะอยู่กว่า 30 ไร่
ทุ่งข่าที่เห็นอยู่กว่า 3 ไร่ และปีนี้ยังจะขยายเพิ่มอีกประมาณ 6 ไร่ “เดิมทีไม่ได้ตั้งใจจะมาปลูกข่า แค่หาซื้อจากชาวบ้านมานิดหน่อยเท่านั้น” กลายเป็นว่าราคาของข่าที่ค่อนข้างจะอยู่ในเกณฑ์ที่ดีกว่ามันสำปะหลัง เป็นแรงจูงใจที่ทำให้คุณบังอรเริ่มมาปลูกข่าอย่างจริงจังกับสามี
สำหรับกอตะไคร้เป็นส่วนที่ตั้งใจปลูกไว้เพื่อเป็นรายได้เสริมอีกทาง เหลือจากพื้นที่ปลูกข่าที่เป็นพืชหลักอยู่ ณ ตอนนี้ “ตรงนี้ไม่ได้มีใครมาแนะนำหรอก ทำกันเอง”
ทำไมต้องเลือกปลูกข่า กับตะไคร้ ???
คุณบังอรบอกว่าที่เลือกพืชตัวนี้เพราะเห็นว่าใช้พื้นที่น้อย รายได้ดีกว่า แต่ก็ใช้เวลานานพอสมควร ประมาณ 1 ปี 6 เดือน กว่าจะทยอยเก็บขายให้กับพ่อค้า แม่ค้า ที่โทรมาสั่งจอง และรับซื้อ ปลูกไม่ยาก ดูแลน้อย หัวพันธุ์ก็ไม่ต้องไปซื้อหาที่ไหน เพราะเขาเก็บหัวพันธุ์เอาไว้ขยายเองมาตลอด ครั้งแรกที่เริ่มปลูกเขาซื้อหัวพันธุ์มาประมาณ 1,500 บาท แล้วขยายเอง ข่าที่เลือกปลูกเป็น “ ข่าหยวก ” อาศัยการปลูกแบบง่ายๆ พึ่งพาธรรมชาติ
รายได้จากผลผลิตข่า และตะไคร้
คุณบังอรบอกว่าพ่อค้าคนกลางจะเข้ามาเรื่อยๆ ซื้อทีก็ไม่ต่ำกว่า 100 กก./ครั้ง ด้านราคาก็ขึ้นอยู่กับว่าเป็นข่าแก่ หรือข่าอ่อน แต่ที่แน่นอนที่สุด คือ ไม่ว่าจะเป็นแบบไหนก็ยังสามารถขายได้หมด แต่ราคาจะต่างกันอยู่บ้างเท่านั้น
- ราคาข่าอ่อน ที่รับซื้อมีอยู่ 3 ระดับ
- ให้พ่อค้าคนกลางมาขุดเองคิดที่ 10 บาท/กก.
- หรือถ้าเขาขุดเอง ตัดรากนิดหน่อยอยู่ที่ 14 บาท/กก.
- และหากแกะกาบออกให้เรียบร้อย ล้างให้สะอาด อยู่ที่ 18 บาท/กก.
- สำหรับข่าแก่ ขายในราคา 7 บาท/กก.
คำนวณพอคร่าวๆ รายจ่ายของคุณบังอรราวๆ 20,000 บาท รายรับประมาณ 40,000 กว่าบาท/เดือน
การบริหารจัดการต้น ข่าหยวก
ก่อนจะปลูกเขาจะไถพรวนดินตากไว้ก่อน ของคุณบังอรจะไม่ค่อยเน้นเรื่องยกร่อง ปลูกเป็นแถว หรือไถดินบ่อยครั้ง ด้วยสภาพดินร่วนปนทรายที่เหมาะต่อการปลูกข่าทั้งปี ระหว่างที่ตากดินไว้ หากจะให้ดีรองพื้นก่อนปลูกสักเล็กน้อย อาจเป็นปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยยูเรียสูตรเสมอ หว่านไปให้ทั่วพื้นที่ หรือหากมีทุนน้อยก็ไม่จำเป็นต้องใส่รองก็ได้ ข่ายังคงสามารถขึ้นได้อยู่ แต่อาจช้าหน่อยเท่านั้นเอง
ในการตากดิน คุณบังอรบอกว่าของเขาสามารถตากทิ้งไว้นานแค่ไหนก็ได้ จนกว่าจะพร้อมปลูกก็ยังไม่สาย เป็นประจำทุกปีที่เริ่มปลูก มักจะปลูกในช่วงฤดูฝน ประมาณเดือน พ.ค.-มิ.ย. รอให้ฝนแรกตกก่อนจะเริ่มปลูกทันที เป็นเช่นนี้เพราะเขาอาศัยน้ำฝนในการเลี้ยงดูต้นข่าได้ เนื่องจากว่าน้ำเป็นพื้นที่สูง น้ำในการเกษตรจึงไม่ค่อยทั่วถึงมากนัก
ระยะปลูกอยู่ที่ 3×3 เมตรโดยประมาณ เขาจะเผื่อไว้ก่อน เพราะต้นข่าจะยังสามารถขยายออกไปอีกเรื่อยๆเป็นวงกว้าง แล้วจะทำให้ระหว่างต้นแน่นเกินไป
หลังจากปลูกไปแล้วจะโรยมูลไก่รอบโคนต้นไว้ หลังจากนั้นจะหว่านปุ๋ยยูเรียสูตร 15-15-15 ไปบ้าง ส่วนตะไคร้ก็ไม่ต้องดูแลมากเหมือนกัน ปลูกไว้แล้วให้น้ำบ้าง ปุ๋ยยูเรียบ้าง เพื่อเร่งการเจริญเติบโต เป็นลักษณะของการปลูกหมุนเวียน สามารถจำหน่ายผลผลิตได้ตลอดทั้งปี
มุมมองการตลาด
หากจะพูดถึงเรื่อง “เครื่องเทศ” ไทยเราคงเป็นอีกหนึ่งที่มีเครื่องเทศเฉพาะเป็นที่นิยมไปทั่วโลกมากมายไม่แพ้กับชนชาติใด กอปรกับลักษณะจำเพาะ เช่น ความจัดจ้าน กลิ่น รสชาติ และสภาพอากาศที่สามารถปลูกได้แค่ประเทศไทยเท่านั้น มองอีกด้านหนึ่งก็นับว่าเป็นความโชคดีกันไป
ครัวไทยไม่ว่ากี่ยุค กี่สมัย ผ่านมา ไม่ว่าจะต้มยำ แกง ทอด ก็ต้องมีเครื่องเทศโชยแตะจมูกกันเกือบทุกบ้าน ทั้งของข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด ฯลฯ เป็นเครื่องเคียงสำคัญ อาหารไทยจะอร่อยต้องครบเครื่องเรื่องเครื่องเทศไว้ก่อน สามารถเป็นได้ทั้งผัก และยาสมุนไพรไทย ในประเทศเขตหนาวหลายประเทศถือว่าเป็นพืชที่ราคาสูงพอควร หรือฝั่งยุโรปอาจตีเป็นราคาหลักร้อย ในจำนวน 5-10 บาท ในบ้านเรา ซึ่งการตลาดนั้น มีอนาคต
ขอขอบคุณ คุณบังอร บรรณารักษ์ 121 ม.7 ต.วังนกแอ่น อ.วังทอง จ.พิษณุโลก 65130 สอบถามเพิ่มเติม 08-6374-8967, 08-0032-6905