เมื่อการดำเนินชีวิตในทุกวันนี้ล้วนประกอบไปด้วยปัจจัยทางวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะด้านเคมี แต่คงดีไม่น้อยเมื่อวิทยาศาสตร์ถูกนำมาใช้ในด้านการเกษตรอย่างสมเหตุ สมผล อิงจากธรรมชาติอย่างเต็มรูปแบบ เพื่อความก้าวหน้าของการเกษตรในประเทศ แม้จะยังคงเห็นการใช้สารเคมีกับเกษตรกรมานาน แต่ก็ใช่ว่าเกษตรกรทุกคนจะใช้อย่างถูกต้อง และเหมาะสมเสมอไป ส่งผลให้พืชผลส่งออกยังคงติดลบ และหลุดจากหลายประเทศที่เป็นคู่ค้าสำคัญไป และในเวลาเดียวกันผู้ผลิตบางส่วนเริ่ม “พลิกเกม” การใช้สารเคมีน้อยลง หรือบ้างก็เปลี่ยนเป็นเกษตรอินทรีย์ 100% ที่นอกจากจะดึงราคาให้สูงขึ้นแล้ว ยังสามารถรองรับตลาดทุกประเภท ตั้งแต่ตลาดขนาดเล็กไปจนถึงตลาดต่างประเทศได้อย่างไม่ยากเย็น
โดยเฉพาะผักหวานป่า พืชอนาคตไกลที่ขณะนี้ และในอนาคต ทั้งยังมีโอกาสสูงที่จะ “โกอินเตอร์” ในประเทศเพื่อนบ้านสูง ก็น่าจะเป็นอีกตัวหนึ่งที่ต้องดูแลแบบอินทรีย์อย่างจริงจัง ทั้งที่ในประเทศมีสวนผักหวานป่ากระจายอยู่ทั่วทุกภาค ด้วยราคาที่น่าพอใจ และการดูแลที่ไม่ยุ่งยาก ที่สำคัญ คือ การลงทุนเพียงครั้งเดียวก็สามารถอยู่ได้ตลอด แต่จะมีสักกี่สวนที่ได้รับการยอมรับมาตรฐานเกษตรอินทรีย์..???
คุณปัญญา กลับจันทร์ ปลูกผักหวานป่า จ.นครสวรรค์
ถึงจะเป็นพืชชนิดเดียวกัน แต่การจัดการย่อมแตกต่างกันไป มากหรือน้อยแค่ไหนก็คงต้องขึ้นอยู่กับเทคนิคและการทดลองของแต่ละคนกันไป ซึ่งคุณปัญญา กลับจันทร์ ที่มีทั้งคราบของนักเคมี และนักเกษตรกรหัวก้าวหน้า ที่สามารถโยงหลักของเคมีมาใช้กับการเกษตร โดยเฉพาะผักหวานป่าที่สามารถร่วมกับธรรมชาติได้อย่างลงตัว
โดยเริ่มทำสวนมาตั้งแต่อยู่มหาวิทยาลัยปี 1 แล้ว เพราะเราเองก็มองถึงความไม่แน่นอนของอาชีพในอนาคต บวกกับมีความสนใจด้านเกษตรกรรมมาตั้งแต่ไหนแต่ไร โดยเฉพาะเกษตรปลอดสารพิษ และเลือกเรียนสาขาเคมีด้วย จึงเริ่มทำทุกอย่างเพื่อหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีมาโดยตลอด
สภาพพื้นที่ปลูกผักหวานป่า
ด้วยเวลาและความต้องการพืชที่สามารถทนแล้งได้ดี ผักหวานป่า มะขามเทศ และชะอม ที่มีอยู่ในสวน จึงจัดว่าเป็นกลุ่มเดียวกับพืชทนแล้งทั้งสิ้น อีกทั้งยังเป็นพืชที่สร้างราคาได้ดีในระยะยาว เช่น มะขามเทศ 50-60 บาท/กก. ผักหวานป่าที่ราคาไม่ต่ำกว่า 100 บาท ชะอมที่ราคาดีต่อเนื่องทั้งปี
“ตัวแรกที่ปลูก คือ มะขามเทศพันธุ์เกษตร จากที่เราปลูกแล้วให้น้ำ ให้ปุ๋ยไป จะเห็นว่าน้ำที่ให้ค่อนข้างจะไหลออกไปอย่างเปล่าประโยชน์ จากนั้นเราเริ่มนำผักหวานป่ากับชะอมมาปลูกแซมทีหลัง” เป็นตัวสร้างเงินในวงกว้างของกลุ่มตลาดปัจจุบัน
ไม่มีใครประสบความสำเร็จโดยไม่เคยล้ม คุณปัญญาเองก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ลุกได้หลังจากล้ม เขาเล่าว่าเดิมทีจะซื้อเป็นต้นกล้ามาปลูกเอง ด้วยความที่ยังใหม่อยู่จึงต้องเริ่มลองปลูกไปก่อนประมาณ 1,000 ต้น หรือประมาณ 20,000 บาท ซึ่งเกิดการรอดน้อยมาก แต่ยังคงมีความหวังกับต้นที่เหลือรอดมาอยู่ ปีถัดมาเมื่อเกิดภัยจากน้ำท่วมครั้งใหญ่ทำให้ต้นตายทั้งหมด
จากนั้นจึงเปลี่ยนจากต้นกล้ามาเป็นการซื้อเมล็ดสำหรับเพาะกล้าเอง ราคาอยู่ที่ 400 บาท/กก.ได้เมล็ดจำนวนที่มากกว่า แต่อัตราการงอกก็ยังน้อย “อัตราการงอกของผักหวานป่าโดยใช้การ เพาะเมล็ดผักหวานป่า ถึงจะไม่งอกเต็ม 100% แต่ก็มากว่า 80%”
การ เพาะเมล็ดผักหวานป่า
คุณปัญญาบอกว่าวิธีการ เพาะเมล็ดผักหวานป่า ที่ดีต้องระวังส่วนที่เป็นขั้วของเมล็ด หรือส่วนที่ต้นจะงอกออกมาให้เพาะในดินเพาะ โดยต้องเอียงประมาณ 45 องศา ให้ส่วนที่จะงอกหงายขึ้นมาเล็กน้อย การเพาะลักษณะนี้เขาบอกว่าเป็นการป้องกันการเน่าของเมล็ด เพราะเมื่อให้น้ำไปแล้วบริเวณที่เปียกจะอยู่ด้านล่าง ความกระทบที่ได้บริเวณขั้วจะน้อย การงอกจะสูงกว่ามาก
ระยะการ เพาะเมล็ดผักหวานป่า จะมีอยู่ 2 ช่วง คือ เพาะในเดือน มิ.ย. สำหรับจำหน่ายประมาณเดือน ก.ค.-ส.ค. และอีกช่วงที่เพาะเดือน ก.ค. ทั้งนี้อายุของต้นที่จะสามารถเก็บเมล็ดได้นั้นต้นต้องอายุประมาณ 4 ปีขึ้นไป ซึ่งเมล็ดที่เก็บมาแล้วนั้นสามารถเก็บไว้ก่อนเพาะได้ประมาณ 1 เดือน หากมากเกินไปอัตราการงอกจะน้อยลงไป เมล็ดที่ได้มีทั้งคุณภาพ และไม่มีคุณภาพ คือ เมล็ดจะเกิดการเสียแล้วไม่สามารถเพาะให้งอกได้อีก
จะสังเกตได้จาก “การจม” และ “การลอย” ในน้ำของเมล็ด หลังจากที่ปอกเปลือกแกะเนื้อออกหมดแล้วจะนำไปแช่เพื่อเลือกเมล็ดที่จมมาเพาะเท่านั้น จะไม่เลือกเมล็ดที่ลอย เพราะไม่ได้คุณภาพแล้ว
“เมื่อได้กล้ามาแล้ว ต้องปลูก หรือจำหน่ายกล้าก่อนอายุต้นจะ 4 เดือน หลังจากเมล็ดงอก เพราะหลังจาก 4 เดือนไปแล้ว ต้นจะเกิดการโตช้า หรือไม่โต เพราะส่วนที่สำคัญ คือ ราก รากหากแก่ในถุงแล้วนำไปปลูก การเดิน หรือเจริญทางรากจะยากขึ้นตามไปด้วย” ต้นที่แก่เกิน 4 เดือน เขาแนะนำว่าให้ดูที่ใบ หากได้ระยะที่เหมาะสมจะมีได้ไม่เกิน 6 ใบ โคนต้นจะยังไม่เปลี่ยนเป็นสีเขียวเข้ม หรือสีน้ำตาล และรากยังคงเป็นสีขาวอยู่ แสดงว่าต้นอายุยังไม่เกินที่กำหนด
ขั้นตอนการปลูกผักหวานป่า
วิธีการเพาะกล้า หรือ เพาะเมล็ดผักหวานป่า การเลือกวัสดุเพาะให้เหมาะสมกับพืชเป็นประเด็นสำคัญที่มีผลต่อการงอกของพืช ทั้งนี้ผักหวานป่าเป็นพืชที่ต้องคอยประคับประคองเป็นพิเศษ โดยเฉพาะราก วัสดุเพาะในแบบของคุณปัญญาประกอบด้วย ดินดำ ดินลูกรัง (ดินแดง) แกลบดำ และปุ๋ยคอก ในอัตราส่วน 3:3:3:1
“ดินดำ เป็นดินที่มีความเหนียว และมีฮิวมัสสูง แต่อุ้มน้ำได้เยอะ แต่พืชไม่ต้องการน้ำมาก เราจึงต้องใส่แกลบดำเข้าไปช่วย ส่วนดินลูกรังจะช่วยเพิ่มช่องว่างในดิน มีเหล็กสูง สามารถช่วยถ่ายเทอากาศในน้ำในถุงได้ และปุ๋ยคอกที่มีธาตุอาหารสำคัญต่อต้นพืช แต่ต้องผ่านการหมักไม่ต่ำกว่า 6 เดือนเท่านั้น”
โดยทั่วไปแล้วปุ๋ยคอกมักมีความเค็มสูง การหมักมูลสัตว์เพื่อให้ได้มาซึ่งปุ๋ยคอกที่มีประกอบด้วยธาตุอาหารจำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืช และเป็นส่วนผสมที่สำคัญในการ เพาะเมล็ดผักหวานป่า พันธุ์
ปุ๋ยคอกที่เขาใช้มาจากการหมักของ “ขี้วัว” เพียงอย่างเดียวเท่านั้น และใช้น้ำตาลทรายเป็นตัวช่วยย่อยสลายประมาณ 1 กก. กับขี้วัว 30 กระสอบ ไม่ต้องกลับกอง หรือคลุมพลาสติก เพื่อให้การย่อยสลายรวดเร็วมากยิ่งขึ้น การคลุมหรือกลับกองอาจเป็นวิธีการที่ดี
ปัจจุบันการหมักวัตถุอินทรีย์ต่างๆ เพื่อนำกลับไปเป็นปุ๋ยมีให้เห็นกันมาก สามารถหาซื้อกันทั่วไปได้ไม่ยาก แต่ส่วนมากกลับเป็นปุ๋ยหมักที่ผสมด้วยปุ๋ยเคมีมากกว่า เพราะปุ๋ยเคมีจะสามารถช่วยเพิ่มคุณค่าของธาตุอาหารในปุ๋ยคอกมากขึ้น ซึ่งกล้าผักหวานป่าไม่ต้องการ การหมักด้วยตนเองนอกจากจะลดต้นทุนลงไปแล้ว ยังทำให้ผู้เพาะมั่นใจได้ว่าปลอดภัยต่อพืชอย่างแน่นอน
หลังจากนั้นให้ดูว่าขี้วัวที่เป็นก้อนป่นคล้ายดินหรือยัง จึงจะสามารถนำมาใช้ได้ กรณีที่ต้องหมักไม่ต่ำกว่า 6 เดือน สำหรับปุ๋ยที่ไม่ผ่านการคลุมและการกลับกองเท่านั้น เหมือนคุณปัญญา
เทคนิคการปลูกผักหวานป่า
ความพิถีพิถันในการปลูกก็ต้องอาศัยเทคนิคเฉพาะ เพื่อให้ต้นกล้าที่อ่อนแอออกมาจากถุงอย่างสมบูรณ์ที่สุด แน่นอนว่าต้องให้ “ราก” กระทบน้อยที่สุด ด้วยนิสัยของผักหวานป่าที่ทนแล้ง และไม่ชอบน้ำท่วม น้ำขัง อย่างมาก ดังนั้นก่อนที่จะย้ายต้นกล้าลงหลุมควรห้ามรดน้ำต้นก่อนประมาณ 3 วัน หรือจะสังเกตว่าถุงมีลักษณะหลวมพอที่จะดึงออกได้ ดินที่ถุงแน่นพอที่จะไม่แตก และไม่ทำให้รากขาดได้ จึงจะปลูกลงหลุมได้
“ปลูกต้นผักหวานป่าพยายามให้เอียงสวนทางกับทิศตะวันตกเฉียงใต้ 45 องศา เช่นกัน เนื่องจากลมจะเข้ามาทางนั้นมากกว่า การปลูกต้นตั้งตรงก็เหมือนการต้านลม ซึ่งหากต้นล้มก็ตายได้ทันทีเหมือนกัน แล้วกลบดินให้เต็มหลุม ป้องกันน้ำขัง ก่อนลงไม้ปักยึดต้นไว้ไม่ให้ล้มอีกทีหนึ่ง”
ทั้งนี้สืบเนื่องจากลักษณะการเดินของรากต้นที่มักจะเดินแผ่เป็นวงกว้างไปรอบต้นตามผิวดิน ซึ่งไม่ใช่การดึงลงไปตามความลึก การเอียงต้นจะส่งผลให้รากเดินได้ดีขึ้น พร้อมกับรับปุ๋ยที่อยู่ตามผิวดินด้วย หลังจากผ่านไปประมาณ 3 เดือน จะสังเกตได้อย่างชัดเจนถึงการตาย และการรอด ของต้น จากการดูที่ใบหากยังเขียวอยู่สม่ำเสมอก็แสดงว่าต้นรอด
1 ปี หลังจากที่ปลูกไปแล้ว ห้ามพรวนดินเด็ดขาด !!! แต่ให้ใส่ปุ๋ยคอกรอบโคนต้นสำหรับดูดซับอาหาร แต่ต้องหลังจากที่ต้นตั้งตรงได้ก่อน และไม่ใช้ปุ๋ยคอกใหม่ๆ เพราะต้นจะตายอย่างแน่นอน
เกษตรกรบางคนที่ปลูกแล้วมักจะท้อ จะเห็นว่าปีแรกยังไม่โตเท่าไหร่ ช่วงที่ปลูกผักหวานป่าได้ดีที่สุดประมาณ ก.ค.- ธ.ค. ถ้าหลังจากนี้อายุต้นจะเกินแล้ว ถ้าไปซื้อจากไหนก็พยายามจะปลูก หากว่าปลูกประมาณระหว่างหน้าฝน-ธ.ค. รากก็จะเดินเต็มที่ ต้นจะอยู่แบบนี้ไปเรื่อยจนถึงเดือน เม.ย. ที่ไม่ว่าโตเป็นเรื่องปกติ พอฝนตกอีกรอบหนึ่งต้นก็จะโตขึ้นมาทันที ปีแรกสูงกว่าเข่าแน่นอน จากนั้นก็ต้องตัดยอดที่ออกมาทิ้งทั้งหมด หัก 1 กิ่ง จะออกมา 5 กิ่ง ดังนั้นประมาณ 1 ปีกว่า- 2 ปี ก็จะสามารถเก็บยอดได้เลย
การให้น้ำผักหวานป่า
เมื่อใช้เวลาในการลองผิดลองถูกกว่า 2 ปี พอต้องมาเริ่มปลูกอีกครั้งเขาจึงต้องขึ้นร่องปลูก เพื่อป้องกันการน้ำท่วม และเป็นอีกระบบการให้น้ำของเขา “ในสวนผมจะมีลักษณะเป็นร่อง เมื่อเปิดน้ำก็จะไหลไปตามร่องที่ทำไว้ เมื่อเห็นว่าดินอิ่มตัวแล้วเราก็ปิดเท่านั้น แต่ไม่ต้องให้น้ำขัง บางส่วนจะเป็นระบบสปริงเกลอร์บ้าง แต่ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับการวางระบบน้ำ ซึ่งไม่จำเป็นต้องเข้าไปรดน้ำเองเลย” ส่วนผลผลิตทั้งจากป่าและจากสวนมักประเดประดังเข้ามาช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค. เป็นเรื่องปกติที่ราคาจะตกต่ำในช่วงระหว่างนี้
การหาแนวทางเพิ่มมูลค่าเพื่อให้ได้ผลผลิตนอกฤดูคงเป็นประเด็นที่เห็นกันบ่อยในพืชแทบทุกชนิด ซึ่งต้องอาศัยหลักการความน่าจะเป็นของพืชก็แตกต่างกันไปเช่นกัน บ้างก็ต้องอาศัยสารเคมีเป็นหลักในการเร่ง บ้างต้องอาศัยการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการให้ผลผลิตนอกฤดูกาล
การเก็บเกี่ยวผลผลิตผักหวานป่า
ปกติผักหวานป่าจะออกยอดตั้งแต่เดือน ก.พ. แต่เราต้องการเก็บตั้งแต่เดือน พ.ย. เพราะราคาช่วงนั้นจะดีมากประมาณ 200 บาท/กก. ก่อนอื่นก็ต้องรูดใบออกให้หมดก่อน หลังจากนั้นก็ต้องรดน้ำทันที หากว่าอากาศร้อน พอต้นจะแตกยอดออกมาเรื่อยๆ จนถึงหน้าร้อน ด้วยราคาที่ลดลงในหน้าร้อนเขาจะหยุดการเก็บยอดในเดือน เม.ย.-พ.ค. โดยการปล่อยให้ยอดแตกออกมา เพื่อรอเก็บเมล็ดมาเพาะใหม่ประมาณเดือน มิ.ย.
เป็นตัวเลขที่คุณปัญญาเฉลี่ยให้ทีมงานฟังคร่าวๆกับผลผลิตที่ได้รับในแต่ละวัน ถึงจะมีจำนวนต้นกว่า 1,000 ต้น บนพื้นที่ 3 ไร่ ที่เขามีอยู่ แต่นั่นก็ใช่ว่าผลผลิตที่ได้จะมาจากทั้งต้นทั้งหมด เมื่อที่ปลูกแซมไว้อีกมากมายยังไม่สามารถให้ผลผลิตได้อีกมาก ดังนั้นเท่าที่เก็บได้ ณ ตอนนี้ยังต้องรอต้นที่เก็บได้ในอนาคตอีก หากต้นใหม่เข้ามาผสมโรงด้วยแล้ว เชื่อว่าผลผลิตที่ได้ต่อวันคงต้องเพิ่มอีกเป็นทวีคูณอย่างแน่นอน
การจำหน่ายผักหวานป่า
รายได้จากผักหวานป่า 30 กก./วัน ซึ่งต้องบอกเลยว่าราคาที่ได้ไม่ต่ำกว่า 100 บาท/กก. เป็นตัวเลขของบริเวณภาคกลาง แต่แหล่งตลาดโดยรวมของภูมิภาคอื่นๆ กลับมีราคาพุ่งสูงกว่า 200-300 บาท/กก.ทีเดียว
“แม่ค้าที่เข้ามารับซื้อจะมีทั้งภายในจังหวัดเอง แล้วยังจะเป็นกลุ่มแม่ค้าจากจังหวัดใกล้เคียง ทั้งยังมีจากตลาดไทเข้ามารับอีก ซึ่งจริงๆ แล้วเพียงแค่แม่ค้าในจังหวัดยังไม่เพียงพอให้ต่อความต้องการรับซื้อของเขาเลย” ด้วยมูลค่าที่สูงลิบ ทำให้หลายหน่วยงาน รวมทั้งตัวเกษตรกร ต่างกรูเข้าหาแหล่งผลิต ด้วยความที่มั่นใจว่าแม้ในอนาคตผลผลิตจะมีมากขึ้นต่อความต้องการ อีกทั้งราคายังเป็นต่อให้ราคาคงที่สม่ำเสมอ
เดิมทีเหมือนว่าเขาจะปลูกผักหวานป่าเป็นพืชแซมระหว่างต้นมะขามเทศอยู่แล้ว แต่วันนี้กลับเหมือนว่าต้นมะขามเทศจะเป็นพืชตัวรองจากผักหวานป่าเสียแล้ว เมื่อเขาขยายพื้นที่ปลูกออกไปมากขึ้น ผักหวานป่าเริ่มครอบครองพื้นที่ส่วนใหญ่ไว้ และมีต้นชะอมที่ถูกตัดจนเป็นต้นเตี้ยสลับกันไป
รายได้จากผักหวานป่า และพืชอื่นๆ
หากแต่ต้นมะขามเทศยังกลายเป็นเสมือน “ต้นไม้พี่เลี้ยง” ให้กับต้นผักหวานป่าอีก ที่นอกเหนือจากเป็นพืชสร้างรายได้ดีไม่แพ้กันแล้ว ยังเอื้อประโยชน์จากใบมะขามเทศเป็นปุ๋ยชั้นดีอีก เพราะเป็นพืชตระกูลถั่วที่สามารถตรึงไนโตรเจนได้เป็นอย่างดี บางที่อาจเลือกต้นแคเป็นไม้พี่เลี้ยง ซึ่งคุณปัญญาให้เหตุผลว่าต้นแคนั้นได้ราคาที่ค่อนข้างจะน้อยกว่ามะขามเทศมาก เขาไม่ต้องการเพียงมีรายได้จากต้นผักหวานป่า หรือต้นชะอม เท่านั้น แต่รายได้ที่สำคัญอีกตัวหนึ่งที่เขาต้องการ คือ มะขามเทศ ด้วย
การปล่อยให้ธรรมชาติดูแลกันเอง อาจลงตัวได้ดีไม่แพ้กัน และที่แน่นอนที่สุดน่าจะเป็นการลงตัวในระยะยาวที่เหนือกว่าการเข้าไปแทรกแซงของสารเคมีชนิดต่างๆ ที่ได้ผลดี แต่ก็เป็นเพียงแค่ในระยะสั้นๆเท่านั้น และนั่นก็อาจมีผลเสียในระยะยาวด้วยเช่นกัน
การตอนกิ่งผักหวานป่า
ใช่เพียงว่าจะต้องตอนเมล็ดเท่านั้น แม้ส่วนมากจะเป็นการเพาะที่แพร่หลายกว่า แต่กิ่งตอนก็สามารถใช้ได้ดีเช่นกัน ทั้งหมดคงต้องอยู่ที่ความต้องการของผู้เลือกปลูก
ปลูกแบบใช้กิ่งตอนกับปลูกโดยใช้ต้นกล้าเมล็ด แบบไหนดีกว่า..??? คำถามสุดฮิตที่เกษตรกรให้ความสนใจที่สุดอีกหัวข้อหนึ่ง ทั้งนี้คงต้องมองให้เห็นถึงจุดเด่นที่เหมาะสมกับผู้ปลูกเอง
1.ต้นกิ่งตอน เป็นต้นที่ให้ผลผลิตเร็วกว่า เนื่องจากเป็นต้นที่โตแล้ว แต่ต้องได้รับการดูแลมากกว่า และละเอียด เสี่ยงต่อการรอดระหว่างการดูแล เน้นสำหรับผู้ที่ต้องการเก็บเมล็ดเร็ว
2.ต้นกล้าที่เพาะจากเมล็ด ไม่เน้นการดูแลมากนัก เมื่อต้นแข็งแรงแล้วสามารถเว้นการให้น้ำ 3-5 วัน/ครั้งได้ แต่ระยะการให้ผลผลิตจะนานกว่า คือ ประมาณ 1 ปีกว่า ถึง 2 ปี นับว่าเป็นจุดเด่นที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
“ผมคิดว่าลูกค้าที่มาซื้อกับเรา เขาเองก็ต้องการจะรวย ถ้าเขาซื้อไปแล้วตาย เขาคงไม่อยากซื้อเหมือนกัน และถ้าเราแชร์ความรู้ตรงนี้ให้เขา ก็เหมือนกับเราสร้างความเชื่อมั่นเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นส่วนมากลูกค้าที่ซื้อต้นกล้าจากเราไปมักโทรมาบอกว่าไม่ค่อยเกิดการเสียหาย หรือตายเลย”
ขอขอบคุณ คุณปัญญา และคุณยุทธ์ กลับจันทร์ 216/15 ม.8 ต.หนองปลิง อ.เมือง จ.นครสวรรค์ 60000
โทร.08-6738-7889 www.facebook/panya.pakhwan