การพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาสำหรับเพาะเห็ดก็ใช่ว่าจะน้อยหน้านัก จากเดิมที่ขีดความสามารถด้านสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย อาจเพาะเห็ดได้แค่ไม่กี่ชนิด เช่น เห็ดนางฟ้า เห็ดนางรม เห็ดขอน เห็ดโคน เห็ดหูหนู เห็ดกระด้าง และเห็ดฟาง เป็นต้น ส่วนเห็ดเมืองหนาวจะนำเข้าจากต่างประเทศเสียส่วนใหญ่ แต่วันนี้ประเทศไทยก็สามารถเพาะเห็ดเมืองหนาวที่ปลอดภัย ได้คุณภาพ เช่น เห็ดเข็มทอง และเห็ดออรินจิ เป็นต้น สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำสำหรับเกษตรกรหัวก้าวหน้า
อย่างไรก็ตามเกษตรกรบางคน “ยืนได้” เพราะเห็ด และ “เจ๊ง” ไปมากก็เพราะเห็ดได้เช่นเดียวกัน ทำให้บางคนถึงกับ “ขยาด” เรื่องเห็ดได้ทีเดียว นั่นคงมาจากผลพวงเรื่องโรค แมลง ในเห็ด ที่ผู้เพาะเห็ดมือใหม่รู้จักกันน้อย หรือไม่ค่อยเข้าในถึงการ “ทำลายล้าง” ของบรรดาแมลงตัวน้อยที่ไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่าเหล่านี้ได้
ทางทีมงานมีโอกาสเข้าสัมภาษณ์ พ.อ.อ.วิโรจน์ เพ็ชรรักษ์ จากที่เคยรับราชการทหารอากาศ ผันตัวเองมาเป็นเกษตรกร หรือนักทดลองอิสระด้านการเกษตรหลากหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นมะนาว มะม่วง และเห็ด เป็นต้น
“ด้วยความที่เป็นคนชอบอ่านหนังสือด้านการเกษตรในหลายๆ ด้าน และสนใจเรื่องการเพาะเห็ดมากที่สุด” เมื่อ 30 กว่าปีก่อน การเพาะเห็ดในโรงเรือนยังไม่เป็นที่รู้จักกันมากนัก สำหรับจังหวัดอ่างทองเขาเป็นคนแรกๆ ที่เริ่มเพาะเห็ด ซึ่งต้องล้มเหลวไปก่อนในครั้งแรก ต้องทดลองซ้ำแล้วซ้ำเล่า เมื่อเขา เพาะเห็ด ได้แล้ว กลับมีปัญหาหนักอกเรื่องการตลาด เนื่องจากความเชื่อที่ว่าเห็ดกินได้แค่ปีละครั้ง ซึ่งเมื่อมีคน เพาะเห็ด ออกมาได้นอกฤดูกาล ต้องเป็นเห็ดพิษ คนไม่กล้ากินกัน
ด้านตลาดและช่องทางจำหน่ายเห็ด
นานกว่า 2 ปี กว่าตลาดจะยอมรับเห็ดเพาะของเขา และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในปัจจุบันเขาผลิตก้อนเชื้อเห็ดเพื่อจำหน่าย 3,000 ก้อน/วัน ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของลูกค้าที่เข้ามารับซื้อในฟาร์ม ในราคาก้อนละ 7-10 บาท ตรงนี้ก็ขึ้นอยู่กับชนิดของเห็ดนั้นๆ ด้วย
การป้องกันกำจัดโรคและแมลง
ไรขาวใหญ่
คุณวิโรจน์เผยว่าในช่วงหน้าร้อนมักพบปัญหาเรื่อง “เห็ดช็อต” เป็นจำนวนมาก ผู้ เพาะเห็ด บางรายที่ไม่ค่อยเข้าใจในเรื่องโรค-แมลงของเห็ดก็อาจเข้าใจว่านั่นเป็นอาการในช่วงหน้าร้อนของเห็ด ซึ่งจริงๆ แล้วเกิดจากการเข้าทำลายของแมลงชนิดหนึ่งที่เรียกว่า “ไรขาวใหญ่” ที่ยิ่งอากาศร้อนก็จะยิ่งระบาดหนัก ซึ่งการเข้าทำลายของแมลงชนิดนี้ คือ จะเข้าไปกัดกินเส้นใยจนเหลือแต่ก้อนขี้เลื่อยเหมือนเดิม
ดังนั้นหากผู้ เพาะเห็ด ต้องการเพาะในหน้าร้อน เดือน ก.พ. ควรรีบป้องกันไว้ก่อนโดยการฉีดพ่นสารป้องกันไรขาวใหญ่ 1 ครั้ง/อาทิตย์ ก็สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้เป็นอย่างดี เขาแนะว่าปัญหาเรื่องไรขาวใหญ่เป็นปัญหาที่ใหญ่เอาการ เมื่อไม่มีการจัดการป้องกันก่อน ผู้เพาะอาจสูญเสียผลผลิตเป็นจำนวนมาก และอาจเป็นสาเหตุที่เกษตรกรไม่ค่อยเพาะในช่วงหน้าร้อนด้วย
โรคราเขียว
เป็นอีกโรคหนึ่งที่พบค่อนข้างบ่อยในก้อนเชื้อเห็ด หลักการจัดการของคุณวิโรจน์ คือ ก่อนที่เขาจะทำการเขี่ยเชื้อเห็ดลงก้อนขี้เลื่อย จะรอจนกว่าเชื้อเห็ดแก่จัดแล้วค่อยเขี่ยเชื้อ หรือในก้อนขี้เลื่อยที่เขี่ยเชื้อ และเส้นใยเห็ดเดินเต็มถุงสักระยะ ให้เส้นใยออกดอกแล้วประมาณ 2-3% จึงจะเปิดดอกได้ วิธีนี้นอกจากจะป้องกันโรคราเขียวได้แล้ว ยังสามารถป้องกันได้ทั้งราส้ม และพวกเชื้อราต่างๆ ได้ดี
นอกจากนี้อาจใช้เป็นพวกสารสมุนไพรในการป้องกันกำจัดโรคราเขียวไปในตัว ซึ่งสามารถหาซื้อได้ตามร้านจำหน่ายอุปกรณ์ เพาะเห็ด โดยใช้วิธีการหมักสมุนไพรพลายแก้วกับน้ำมะพร้าวอ่อน หรือจะเป็นนมแลคตาซอย
วิธีทำ นำพลายแก้ว 1 ช้อน ผสมกับน้ำมะพร้าวอ่อน 1 ผล ใส่ถุงมัดข้าง แต่ไม่มัดปิดปากถุงทั้งหมด ปล่อยอีกข้างหนึ่งไว้ระบายอากาศ ทิ้งไว้ประมาณ 24 ชม. แต่ห้ามทิ้งนานเกิน 48 ชม. เพราะอาจทำให้น้ำหมักเน่าเสีย และไม่สามารถใช้ได้อีก จากนั้นก่อนที่จะนำไปฉีดพ่นกับก้อนเชื้อเห็ด ให้ผสมกับน้ำ 20 ลิตร จะช่วยป้องกันโรคได้
โรคราส้ม
ราส้มหรือราร้อน มักเป็นที่บริเวณปากถุง มีลักษณะเป็นสีส้ม หรืออาจเกาะตัวกันเป็นก้อนสีส้มติดอยู่ปากถุงขี้เลื่อยเห็ด ที่คุณวิโรจน์บอกว่าเป็นโรคที่แก้ไขยาก เพราะด้านวิธีการรักษาโรคนี้ไม่ค่อยมี หรือจะเป็นสมุนไพรชนิดต่างๆ ก็ยังกำจัดยาก หากเป็นไปได้ก็ควรใช้วิธีการป้องกันให้ดีที่สุดก่อนที่จะทำการเปิดดอกจะดีกว่าการแก้ไขอย่างแน่นอน
ซึ่งวิธีการป้องกันอาจเป็นขั้นตอนการผลิตที่ต้องคำนึงถึงความสะอาดเป็นอันดับแรก ทั้งความสะอาดของโรงเรือน ระยะเวลาการพักโรงเรือน ความสะอาดของก้อนขี้เลื่อยเห็ด ความบริสุทธิ์ของเชื้อ ความสะอาดระหว่างการถ่ายเชื้อ เป็นต้น
อย่างไรก็ตามวิธีการดังกล่าวก็ยังเป็นเพียงการป้องกันเท่านั้น แต่ไม่ใช่วิธีการกำจัดเชื้อลงได้ หากเมื่อเกิดเชื้อขึ้นแล้วบางแหล่งอาจต้องเลือกการทำลาย กำจัดไปให้ไกลจากแหล่งผลิต หรือโรงเรือนได้ น่าจะเป็นที่เลือกใช้กัน
ทั้งนี้ที่ฟาร์มเห็ดจ่าโรจน์ได้เลือกใช้วิธีการง่ายๆ และสามารถกำจัดโรคราส้มให้หายจากก้อนเชื้อเห็ดได้ไม่ยาก โดยที่ก้อนเชื้อนั้นๆ จะยังคงให้ผลผลิตอยู่เช่นเดิม ทั้งที่ไม่ต้องทิ้งก้อนเชื้อเห็ดเช่นแต่ก่อนอีก เขาเลือกใช้เหล้าขาว หรือน้ำหอมทั่วไป ฉีดพ่นปากขวดที่มีการเกิดโรคราส้มอยู่ ซึ่งเขาได้การันตีเลยว่าเพียงไม่ถึง 10 นาที จะสังเกตได้อย่างชัดเจนว่าจากราสีส้มกลายเป็นสีชมพู และสีดำ จากนั้นเชื้อของราส้มก็จะตายหมด ถัดจากนี้ก็คงได้แค่รอให้ก้อนเชื้อเห็ดให้ผลผลิตเท่านั้น
โรคไรไข่ปลา
โรคนี้จะเกิดขึ้นบ่อยมากกับเห็ดหูหนู และเห็ดขอน ที่หากเกิดขึ้นมาแล้วก็ต้องใช้เพียงสารเคมีเท่านั้น และนั่นก็ไม่ใช่วิธีที่ปลอดภัยสำหรับผู้บริโภคมากนัก ผลผลิตหลังจากที่รักษาหายแล้วอาจเสี่ยงต่อผลผลิตที่ลดไปกว่าครึ่งในก้อนนั้นด้วย การเลือกรักษาความสะอาดอาจเป็นวิธีการที่ดีที่สุดสำหรับเห็ด
คุณวิโรจน์แนะให้เกษตรกรที่เลือกซื้อก้อนเชื้อเห็ดมาเปิดดอกเองว่าหากก้อนขี้เลื่อยมีลักษณะเส้นใยเป็นขุ่นๆ หรือจะกดดูที่คอขวดก้อนเห็ดจะเปราะ กรอบ นั่นเป็นการแสดงถึงการเข้าทำลายของไรไข่ปลา หรือบางทีเชื้อตัวนี้อาจเข้ามากับเชื้อเมล็ดข้าวฟ่าง ซึ่งเกิดเป็นลักษณะเดียวกันว่าเส้นใยในเมล็ดข้าวฟ่างเกิดเป็นขุ่นๆ ก็แสดงว่าเป็นไรไข่ปลาแน่นอน ควรหลีกเลี่ยงการรับซื้อเชื้อและก้อนที่มีลักษณะแบบนี้
ปัญหาและอุปสรรคในการ เพาะเห็ด
ในบางช่วงผู้ เพาะเห็ด อาจจะต้องประสบกับความยุ่งยากใจ เมื่อบางฤดูกาลที่เหมาะสมต่อการ เพาะเห็ด มันก็จะเริ่มให้ผลผลิตหนาแน่นมากขึ้น บางที่อาจจะต้องเจอกับภาวะที่เรียกว่าผลผลิต “ชน” กันในตลาด ให้ราคาเห็ด “ดรอป” กันลงไปอย่างช่วยไม่ได้
ผลไม้มีการบังคับให้ออกผลนอกฤดูกันเกือบทุกชนิด เห็ดก็เช่นกันสามารถมีวิธีการบังคับให้ออกได้ โดยใช้ต้นทุนต่ำ ก่อนอื่นก็ต้องใช้วิธีการ “เคาะ” นำก้อนขี้เลื่อยมาเคาะกันแล้วนำไปเก็บไว้ที่เดิม และใช้ “ฮอร์โมนไข่” ฉีดก้อน
วิธีการหมักฮอร์โมนไข่ มีส่วนผสม คือ ไข่ 5 ฟอง น้ำตาล 5 กก. แป้งข้าวหมากตำละเอียด 2 ลูก
ยาคูลท์ 3 ขวด พด.2 อีก 1 ซอง จากนั้นนำมาผสมกัน ตั้งไว้ในที่ร่ม คนทุกวัน ก่อนนำไปใช้กับเห็ดให้ผสมเจือจางกับน้ำก่อนในอัตราส่วน 3 ช้อนโต๊ะ/น้ำ 15 ลิตร ฉีดพ่นโดยตรงที่ปากถุงของก้อน
ข้อควรระวังของการหมักฮอร์โมนไข่ คือ ห้ามใส่น้ำลงผสมขณะที่ยังหมักอยู่เป็นอันขาด!!! เพราะอาจทำให้ฮอร์โมนเน่าทันที ซึ่งนั่นก็แปลว่าต้องทิ้งเท่านั้น ไม่สามารถนำมาใช้ได้อีก
แนวโน้มในอนาคต ลดฆ่าเชื้อ ลดแรงงาน ย่นระยะเวลาการให้ดอก
ในอนาคตอันใกล้นี้คุณวิโรจน์อาจมีเรื่องราวที่นำมาลดต้นทุนการผลิตเห็ด อย่างที่บอกว่า “ลดฆ่าเชื้อ ลดแรงงาน ย่นระยะเวลาการให้ดอก” จากที่เขาเคยทดลองมาแล้วครั้งหนึ่ง และนั่นก็ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ เมื่อต้องการจะลดวิธีการเขี่ยเชื้อเมล็ดข้าวฟ่างลง แล้วเปลี่ยนมาเป็นการฉีดเชื้อเข้าก้อนขี้เลื่อยแทน โดยการนำเมล็ดข้าวฟ่างมากรองเชื้อออกในน้ำสะอาด ทิ้งเมล็ดข้าวฟ่างออก ใช้เฉพาะน้ำที่มีเชื้อเห็ดอยู่เท่านั้น จากนั้นจะนำสลิ้งดูดน้ำที่ทำความสะอาดเรียบร้อยแล้ว ปลอดจากเชื้อโรค ดูดน้ำที่มีเชื้อประมาณ 2 ซีซี./ก้อน แทงเข้าไปในก้อนเชื้อเห็ดประมาณครึ่งก้อน
ลักษณะการเดินของเชื้อเส้นใยแบบนี้จะเริ่มจากเดินกลางก้อนแผ่เป็นวงกว้างไปตามก้อนขี้เลื่อย ปกติหากเป็นเชื้อเมล็ดข้าวฟ่าง แน่นอนว่าจะต้องใช้เวลาประมาณ 1 เดือน แต่วิธีการนี้สามารถย่นระยะเวลาลงได้ ซึ่งใช้เวลาประมาณ 20-22 วัน ก้อนก็สามารถเปิดดอกได้แล้วเหมือนกัน
การให้ความรู้ในการผลิตและแปรรูปเห็ด
ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ฟาร์มเห็ดจ่าโรจน์ เป็นแหล่งเรียนรู้หลากหลายด้านให้กับผู้ที่สนใจ โดยเฉพาะเรื่องการผลิตเห็ด ที่คุณวิโรจน์เปิดกว้างต้อนรับให้ผู้สนใจเข้ามาหาความรู้อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่กระบวนการผลิตก้อนทุกขั้นตอนไปจนกระบวนการแปรรูป แบบไม่มี “กั๊ก” กันเลยทีเดียว ซึ่งหากเป็นสูตรเร่งรัดที่ต้องรักษาเวลาแล้วล่ะก็ 2 วัน จบหลักสูตรนำความรู้ไปต่อยอดกันได้ทันที
การผลิตก้อนเชื้อเห็ด สูตรเพาะก้อนเชื้อเห็ด 1,000 ก้อน ของจ่าโรจน์
ส่วนผสม |
กก. |
ขี้เลื่อย |
600 |
ดีเกลือ |
2 |
ยิปซัม |
2 |
แป้งข้าวจ้าว |
2 |
รำละเอียด |
30 |
อาหารเสริม |
4 |
ปุ๋ยยูเรีย |
1 |
น้ำสะอาดประมาณ 60% |
สนใจสามารถสอบถามเพิ่มเติม พ.อ.อ.วิโรจน์ เพ็ชรรักษ์ (ฟาร์มเห็ดจ่าโรจน์) 20 ม.4 ต.ป่างิ้ว อ.เมือง จ.อ่างทอง 14000 โทร.08-6126-9155