ตระกูลผักสลัด แปลงผักไฮโดรโปนิกส์
ผักในตระกูลผักสลัด อย่าง คอส, ฟิลเลย์ ไอซ์เบิร์ก, บัตเตอร์เฮด, กรีนโอ๊ค, เรดคอรัล, เรดโอ๊ค เดิมต้องนำเข้าจากต่างประเทศ นิยมรับประทานสดเป็นผักสลัด มีคุณค่าทางอาหารประกอบด้วยแร่ธาตุ วิตามิน น้ำ และกากใยอาหาร ช่วยให้ระบบขับถ่ายดี บำรุงผิวพรรณ บำรุงประสาทและกล้ามเนื้อ ป้องกันโรคโลหิตจาง ขจัดอนุมูลอิสระ ป้องกันมะเร็ง
ปัจจุบันสามารถปลูกได้ทั้งปีในประเทศไทย ส่วนใหญ่ปลูกในระบบไฮโดรโปนิกส์ (hydroponic) ในโรงเรือนที่ควบคุมแมลงศัตรูพืชได้ จึงไม่ต้องใช้สารกำจัดแมลงศัตรูพืช ผักที่ได้เป็นผักปลอดภัย และได้รับความนิยมจากผู้บริโภคที่หันมาให้ความสนใจสุขภาพมากขึ้น
ความหมายของคำว่าไฮโดรโปนิกส์ “hydroponic” เป็นการปลูกพืชในสารละลายธาตุอาหารพืช โดยให้รากพืชสัมผัสสารอาหารโดยตรง hydroponic มาจากการรวมคำในภาษากรีกสองคำ คือ คำว่า “hydro” หมายถึงน้ำ และ “ponos” หมายถึง งาน เมื่อรวมสองคำเข้าด้วยกันหมายถึง การทำงานของน้ำ (สารละลายธาตุอาหาร) ผ่านรากพืช เป็นการปลูกพืชไม่ใช้ดินรูปแบบหนึ่ง
คุณโชติชัย บัวดิษ ผู้จัดการสวนสุภัทรา จ.ระยอง
ระยอง จังหวัดในภาคตะวันออกของประเทศไทย มีความโดดเด่นในหลายด้าน ทั้งภาคเกษตร อุตสาหกรรม และการท่องเที่ยว กำลังเติบโตไม่ต่างจากเมืองใหญ่ทั่วไป มีทั้งห้างดัง โรงแรมหรู มีความต้องการบริโภคผักในตระกูลผักสลัดเพิ่มขึ้น ตามเทรนด์คนรุ่นใหม่ ใส่ใจสุขภาพ เดิมซื้อจากกรุงเทพ ปัจจุบันสามารถซื้อจากแหล่งผลิตในพื้นที่ ได้ผักสดตามต้องการ โดยมีสวนสุภัทราเป็นแหล่งผลิตผักสลัดรายใหญ่ปลูกในระบบไฮโดรโปนิกส์เป็นรายแรกของระยอง
คุณโชติชัย บัวดิษ หรือคุณอ้วน ผู้จัดการทั่วไปสวนสุภัทรา อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรรายแรกของภาคตะวันออก บนเนื้อที่ 800 ไร่ ต้อนรับนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างประเทศตลอดทั้งปี เปิดเผยว่า สวนสุภัทราปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ในตระกูลผักสลัด จำหน่ายในสวนสุภัทรา และส่งจำหน่ายห้างแม็คโคร โลตัส แหลมทอง รวมถึงร้านอาหาร และโรงแรมดัง หลายแห่งของจังหวัดระยอง
ปัจจุบันผลิตไม่พอกับความต้องการ ถึงแม้จะปลูกในโรงเรือนขนาดใหญ่จำนวน 6 โรงเรือน บนเนื้อที่ 4 ไร่ ก็ตาม
คุณโชติชัยเปิดเผยต่อไปอีกว่า “เราเคยปลูกผักกางมุ้ง และปลูกผักในดิน มาแล้ว แต่การควบคุมมันยาก ผักอายุสั้น และอ่อนแอกว่าพืชอื่นๆ การดูแลเรื่องโรคและแมลงยากมาก จึงต้องมาทำเป็นผักไฮโดรโปนิกส์ สามารถควบคุมธาตุอาหารและโรค-แมลงได้ เพราะว่ามันอยู่ในโรงเรือน ผมไปศึกษาและปลูกเป็นเจ้าแรกของระยอง
ตอนปลูกแรกๆ เอาไปขายกิโลกรัมละ 30 บาท ไม่มีใครซื้อ เพราะไม่รู้จัก พอผ่านไป 10 ปี คนเริ่มรู้จัก และเด็กรุ่นใหม่ก็รับประทานผัก ชาวบ้านก็เริ่มปลูกกันมากขึ้น ตอนนี้เราส่งขายอยู่ในจังหวัดระยอง ตามห้าง ตามโรงแรม กิโลกรัมละ 80-100 บาท
และผักไฮโดรโปนิกส์ปลูกได้ทั้งปี ปลูกได้ทุกฤดูกาล ระยะเวลาปลูกผัก 45 วัน ต้องเก็บเกี่ยวผลผลิตแต่ละฤดูกาลต่างกัน อย่าง หน้าหนาวมันโตดีมาก 4 ต้น/กก. หน้าฝน 7-8 ต้น/กก. พอหน้าร้อน 20 ต้น/กก. ในการทำงานต้องวางแผนให้ดี ต้องหาตลาด ต้องเช็คน้ำหนัก จำนวนต้นเราปลูกเท่ากัน แต่น้ำหนักไม่เท่ากัน ต้องอ่านแต้มให้ออก หมายความว่า พอหน้าหนาวเราต้องลดกำลังการผลิตลง รักษาจำนวนน้ำหนักไว้”
การบริหารจัดการโรงเรือนผักไฮโดรโปนิกส์
สำหรับโรงเรือนสร้างตั้งแต่เริ่มผลิตผักไฮโดรโปนิกส์เป็นโรงเรือนขนาดใหญ่มูลค่าโรงเรือนละ 1.3 ล้านบาท ถึงปัจจุบันเรียกว่าคุ้มทุนแล้ว เพราะสามารถผลิตผักไฮโดรโปนิกส์ต่อเนื่องมากว่า 12 ปี โรงเรือนของที่นี่มีเพียงพลาสติกกันฝนด้านบน มุ้งตาถี่โดยรอบ กันแมลง พัดลมไล่ความร้อนออก และสปริงเกลอร์ให้น้ำทางใบ
เป็นโรงเรือนที่เหมาะกับสภาพอากาศทางภาคตะวันออก ซึ่งพลาสติกกันฝนเป็นพลาสติกใส เพราะพืชต้องการแสง ถ้าพลาสติกมัว แสงส่องไม่ถึง ข้างล่างผักก็จะยืด แต่พลาสติกใสมีอายุการใช้งาน 2-3 ปี ต้องเปลี่ยนแล้ว
“โรงเรือนแค่ช่วยควบคุมแมลง ให้เขาปลอดภัยจากสารพิษ แต่โรงเรือนไม่ได้ควบคุมอากาศเลย ร้อนก็คือร้อน หนาวก็คือหนาว พัดลมช่วยเป่าให้ลมร้อนออกเท่านั้นเอง ส่วนสปริงเกลอร์ช่วยในเวลาร้อนมากใบจะเหี่ยวเฉา เราต้องให้น้ำกินทางใบบ้าง เพราะเวลาโดนแดดจัดๆ สู้ไม่ไหว เราต้องช่วยเอาน้ำมาเป่าเพื่อรักษาใบไม่ให้โดนแดดเผา รักษาปากใบ ไม่งั้นไหม้หมด
แต่หน้าหนาวแทบไม่ต้องทำอะไร เนื่องจากชนิดพืชที่ปลูกมีหลายชนิด และทำหมุนเวียนทั้งปี และทุกขั้นตอนการผลิตทำภายในโรงเรือน ตั้งแต่เริ่มเพาะต้นกล้าจนกระทั่งผักโตพร้อมเก็บจำหน่าย จึงจำเป็นต้องสร้างโรงเรือนขนาดใหญ่ คุณอ้วนระบุว่าโรงเรือนลักษณะนี้เป็นโรงเรือนที่ได้การยอมรับว่าดีที่สุด และต้นทุนต่ำกว่าโรงเรือนอีแวปถึง 30% และมีจุดคุ้มทุนค่อนข้างจะดีกว่า”
ในขณะที่การปลูกผักสลัดในโรงเรือนดังกล่าว น้องเฟิร์นผู้ดูแลกล่าวว่า เป็นการปลูกในระบบ NFT พืชได้รับธาตุอาหารจากน้ำที่ไหลมาตามรางตลอดเวลา ในน้ำมีปุ๋ยสูตร A สูตร B สูตร C ซึ่งเป็นสูตรที่ผสมเอง ต่างจากที่อื่นมีเพียงสูตร A และสูตร B เท่านั้น เนื่องจากผักแต่ละชนิด แต่ละอายุ มีความต้องการธาตุอาหารความเข้มข้นต่างกัน จึงต้องทำแยกและปรับให้ตรงกับความต้องการของพืช รวมถึงพีเอช และค่า EC โดยค่า EC ที่เหมาะสมอยู่ที่ 1.6-1.8
เนื่องจากประเทศไทยเป็นเมืองร้อน หากค่า EC เกินกว่านี้จะทำให้เน่า ทั้งนี้ปัญหาเน่าเป็นปัญหาที่พบบ่อยในฟาร์มไฮโดรโปนิกส์ทั่วไป แต่ที่สวนสุภัทรานอกจากกำหนดควบคุมค่า EC แล้ว ยังใช้วิธีการจัดการที่เน้นระบบป้องกัน เช่น การล้างรางด้วยกรดไนตริกเพื่อขจัดคราบตะกอน อัตราส่วนกรดไนตริก 2 ลิตร ต่อน้ำ 100 ลิตร ล้างรางปีละครั้ง
รวมทั้งใช้เชื้อไตรโคเดอร์มาฆ่าเชื้อราในถัง ใส่ปุ๋ย เดินน้ำในระบบในโรงเรือนโดยใส่รวมไปกับปุ๋ย สามารถลดปัญหาการเน่าได้
ขั้นตอนการปลูกผักสลัด
ทั้งนี้ผักสลัดเป็นพืชอายุสั้น ปลูกเพียง 45 วัน เก็บขายได้ ขั้นตอนการปลูกดำเนินการในโรงเรือนทุกขั้นตอน เพื่อป้องกันแมลงหลุดรอดเข้าไปวางไข่ขยายพันธุ์สร้างความเสียหาย ขั้นตอนการปลูก คือ เริ่มจากการเพาะเมล็ดในถ้วย ที่มีถ้วยที่มีวัสดุปลูกเป็นส่วนผสมระหว่างเพอไลท์กับเวอร์มิคูไลท์ อัตราส่วน 1:3 หรือ 3:1 ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ หรือฤดูกาลนั้น ดูแลรดน้ำประมาณ 3 วัน เป็นต้นกล้า จึงย้ายมาปลูกในระบบรางอนุบาลประมาณ 7 วัน จึงย้ายต่อไปยังโต๊ะอนุบาลอีก 14 วัน จึงย้ายไปโต๊ะปลูก
“วิธีการย้าย คือ การตัดถ้วยปลูกแยกออกจากกัน แล้วนำต้นกล้าที่มีโครงสร้างที่แข็งแรงไปปลูกบนโต๊ะ ซึ่งไม่ต้องใช้ถาดเพาะ สามารถนำต้นกล้าใส่ในหลุมระบบรางบนโต๊ะได้เลย หลุมจะใหญ่ขึ้น ย้าย 3 ระยะ แต่ละระยะให้ปุ๋ยสูตรเดียวกัน มี A, B และ C แต่ความเข้มข้นต่างกันตามอายุพืช ต้นอ่อนเราจะให้ความเข้มข้นมากกว่า และลดความเข้มข้นลง เพื่อผักรากจะไม่เน่า ในต่างประเทศ ค่า EC จะอยู่ที่ 2 แต่ของเรา ค่า EC ประมาณ 1.6-1.8 เพราะบ้านเราอากาศร้อน รากเน่าง่าย”
ถึงแม้การปลูกผักในระบบไฮโดรโปนิกส์สามารถควบคุมเรื่องแมลง และศัตรูพืช ได้ง่าย จึงไม่จำเป็นต้องใช้ยาฆ่าแมลง แต่การปลูกผักไฮโดรโปนิกส์จำนวน 6 โรงเรือน ใช้คนดูแล 3-4 คน คอยเดินดูแต่ละจุดว่ามีน้ำรั่วไหลหรือไม่ คอยล้างถัง เปลี่ยนน้ำ ปลูกผัก ล้างโต๊ะ ฉีดยาบ้าง เป็นสารชีวภาพ เพราะบางครั้งอาจมีหนอนติดตัวคนเข้าไป จึงไม่อนุญาตให้คนที่ไม่เกี่ยวข้องเข้าในโรงเรือน
ด้านตลาดและช่องทางจำหน่ายผักไฮโดรโปนิกส์
เหล่านี้คือนิยาม และการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ของสวนสุภัทรา จังหวัดระยอง ที่ดำเนินการมากว่า 12 ปี จนกระทั่งสามารถมีตลาดไว้ในมือ เป็นร้านอาหาร และห้างดัง ในจังหวัดระยอง ที่มีความต้องการสูงขึ้น ตามกระแสคนรักสุขภาพที่มากขึ้นในปัจจุบัน
สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ คุณโชติชัย บัวดิษ ผู้จัดการสวนสุภัทรา อ.บ้านค่าย จ.ระยอง แปลงผักไฮโดรโปนิกส์