เพื่อให้ผู้อ่านได้รู้จักชาวสวนปาล์มรายย่อยมากขึ้น จึงได้เปิดตัว คุณวิลิตร ชุมทอง ชาวสวนปาล์มรายย่อยแต่มีวิธีการจัดการสวนที่แตกต่างจาก คุณพรชัย ศรพิชัย หรือ ลุงพร นั่นเอง ซึ่งปัจจุบันจังหวัดที่ปลูกปาล์มมากที่สุดจะอยู่ในเขตภาคใต้เป็นหลัก นอกจากนี้ยังขยายพื้นที่ปลูกไปยังจังหวัดในภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคอีสาน การดูแลปาล์มน้ำมัน
ประโยชน์ของปาล์มน้ำมัน
ปาล์มน้ำมันสามารถนำมาเป็นวัตถุดิบที่สำคัญสำหรับอุตสาหกรรมสินค้าอุปโภค บริโภค ผลิตภัณฑ์แปรรูป เครื่องสำอาง ยาปฏิชีวนะ น้ำมันไบโอดีเซล รวมทั้งสินค้าอุตสาหกรรมต่อเนื่องอีกจำนวนมาก และยังสามารถนำมาใช้ในการประกอบอาหารได้ดี เนื่องจากมีคุณสมบัติทนความร้อนได้สูง ไม่ทำให้เกิดสารก่อมะเร็ง มีราคาถูกกว่าน้ำมันพืชชนิดอื่น และยังเป็นพืชที่ปลอดจากสารตกแต่งพันธุกรรม (GMOs) จึงปลอดภัยต่อผู้บริโภค
สายพันธุ์ปาล์มน้ำมัน
ดังนั้นถ้าคิดจะปลูกปาล์มน้ำมัน อย่างแรกเกษตรกรต้องพิจารณา “สายพันธุ์ปาล์ม” โดยเลือกพันธุ์ที่เหมาะกับสภาพพื้นที่ และให้ผลผลิตสูง ทั้งในแง่น้ำหนัก และปริมาณน้ำมัน สายพันธุ์ปาล์มถือว่าสำคัญระดับ “กระดูกสันหลัง” แล้ว แหล่งที่มาของต้นกล้าพันธุ์ก็มีความสำคัญพอๆ กัน เพราะถึงแม้จะเป็นปาล์มสายพันธุ์ดีเยี่ยมขนาดไหน แต่ถ้าผ่านกระบวนการผลิตกล้าที่ไม่ได้มาตรฐาน ก็มีความเสี่ยงสูงไม่ต่างจากการปลูก “ปาล์มพันธุ์ปลอม” เลย
การดูแลสวน และการเลือกสายพันธุ์ปาล์ม
จากการลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลของ นิตยสารพลังเกษตร ที่ตำบลห้วยปริก อำเภอฉวาง จังหวัดนครศรีธรรมราช นอกจากทำให้ได้พบกับสวนปาล์มน้ำมันของคุณพรชัย ถือเป็นนักปราชญ์ของคนในพื้นที่ ที่เพื่อนชาวสวนหลายๆ คนเข้าไปปรึกษารับคำแนะนำ ศึกษาแนวทางการดูแลสวน และการเลือกสายพันธุ์ปาล์มจากทางคุณพรชัย เช่นเดียวกับคุณวิลิตร
เป็นอีกหนึ่งเกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมัน ที่นำความรู้นั้นมาปรับปรุงพัฒนาใช้ในสวนของตน และได้เปิดใจคุยกับทีมงานว่าเดิมทีตนทำงานขับรถกระบะรับจ้างตั้งแต่อายุ 21-37 ปี จนกระทั่งหลังจากแต่งงานเมื่อปี พ.ศ.2549 ก็กลับมาที่บ้านเกิดเพื่อทำเกษตร
สภาพพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมัน
โดยเริ่มแรกนั้นได้มากรีดยาง พร้อมกับศึกษาวิธีการแนวทางการทำสวนจากเพื่อนชาวสวนด้วยกัน มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 10 กว่าไร่ แบ่งปลูกยางพาราอายุประมาณ 4 ปี จำนวน 4 ไร่ และยางอายุ 25 ปี อีกจำนวน 4 ไร่ และมีพื้นที่นาเก่า ด้วยสภาพแวดล้อม และภูมิอากาศ เปลี่ยนแปลงไปจากพื้นที่นา ก็กลายเป็นพื้นที่รกร้าง น้ำท่วมขัง ไม่ได้ใช้ประโยชน์
จึงเริ่มปรับพื้นที่บางส่วนขุดบ่อน้ำ เพื่อจะได้นำน้ำไปใช้รดสวนเงาะ ลองกอง ที่ปลูกไว้ในแปลงใกล้กัน ประกอบกับพื้นที่ยังว่าง จึงนำปาล์มมาปลูกในพื้นที่ 2 ไร่กว่า ด้วยการที่มีพื้นที่จำกัดจึงทำให้ปลูกปาล์มระยะห่างระหว่างต้นประมาณ 6×6 เมตร ปลูกแบบระบบยกร่องสวน แหล่งน้ำที่มาจากใต้ดิน ทำให้ไม่ขาดแคลนน้ำแม้จะเป็นช่วงหน้าแล้ง สายพันธุ์ปาล์มที่เลือกปลูกเป็นพันธุ์ลูกผสม “สุราษฎร์ธานี1” มีลักษณะต้นเตี้ย สีของผลดิบจะมีสีดำ เมื่อผลสุกจะมีสีส้มแดง ซึ่งได้ซื้อต้นกล้าพันธุ์ปาล์มมาจากบ้านส้อง จังหวัดสุราษฎร์ธานี ในราคาต้นละ 70 บาท ทั้งหมด 41 ต้น
การดูแลปาล์มน้ำมัน
โดยการปลูกนั้นคุณลิตรจะรองก้นหลุมด้วยปุ๋ยรองก้น แล้วจึงนำต้นกล้าปาล์มมาปลูก การดูแลในช่วงระยะ 1-2 เดือน ต้องหมั่นเดินสำรวจตรวจแปลงบ่อยๆ เพื่อสังเกตหนูเข้ามากัดกินต้นปาล์มเล็กเพียงเท่านั้น การใส่ปุ๋ยจะเน้นใส่ประมาณ 3 เดือน/ครั้ง ในอัตราครึ่งกิโลกรัม/ต้น ใช้เป็นสูตรบำรุงต้น และดูแลไม่ให้วัชพืชขึ้นมาแย่งอาหารจากต้นปาล์ม
การกำจัดวัชพืช
ส่วนการกำจัดวัชพืชนั้นจะเน้นการตัดทิ้งเท่านั้น จะไม่ใช้ยากำจัดวัชพืชฉีดพ่นในสวนปาล์ม หลังจากที่อายุปาล์มได้ 2 ปี ก็สามารถทิ้งให้เติบโต โดยไม่ต้องดูแลอะไรมาก เพียงจะใส่ปุ๋ยเคมีบำรุงต้นปีละ 3-4 ครั้ง ในอัตรา 1 กิโลกรัม/ต้น ผลผลิตสามารถเริ่มเก็บเกี่ยวได้ตอนปาล์มมีอายุประมาณ 3 ปี จนกระทั่งเมื่อปีที่ผ่านมาได้ปรับเปลี่ยนมาใช้ปุ๋ยชีวภาพที่ทางกลุ่มผลิตขึ้นมาใช้เอง เพื่อเป็นการลดต้นทุนในการผลิต เฉลี่ยค่าปุ๋ย-ยา ที่ใช้ในการบำรุงสวนปาล์มอยู่ที่ 3,000 บาท/ปี
การเก็บเกี่ยวผลผลิตปาล์มน้ำมัน
นอกจากนี้คุณลิตรยังได้ฉีดพ่นฮอร์โมนบำรุงทางดินประมาณ 3-4 เดือน/ครั้ง เพื่อให้ผลผลิตปาล์มมีน้ำหนักที่ดีอีกด้วย ปัจจุบันต้นปาล์มมีอายุประมาณ 5 ปีกว่า ผลผลิตที่เก็บเกี่ยวเฉลี่ยประมาณ 3 ตัน/ต้น/ปี น้ำหนัก/ทะลายประมาณ 30 กิโลกรัม สร้างรายได้เฉลี่ยประมาณ 5,000 บาท/เดือน และยังสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ทุก 15-20 วัน เก็บเกี่ยวได้แม้สภาพอากาศไม่อำนวย
ซึ่งต่างจากสวนยางพาราของตน ที่เวลาฝนตกจะไม่สามารถกรีดหน้ายางได้ ทางด้านรายรับเมื่อเฉลี่ยแล้วจะสร้างรายได้ที่ดีกว่าพืชอื่น รวมถึงการดูแลง่าย สามารถปลูกได้ในทุกพื้นที่ แม้น้ำน้อย แต่ต้องเลือกสายพันธุ์ที่เหมาะสมด้วย ถึงแม้ราคารับซื้อปาล์มน้ำมันในตลาดแม้จะราคาตกต่ำ แต่สำหรับเกษตรกรชาวสวนรายเล็กแล้วนั้นแทบไม่มีผลกระทบใดๆ เพราะเน้นการจัดการดูแลเองทุกอย่างนั่นเอง
ด้านตลาดปาล์มน้ำมัน
นอกจากนี้คุณลิตรยังยอมรับว่าตนไม่มีความรู้ทางด้านการปลูกปาล์ม หรือสายพันธุ์ปาล์มที่เลือกมาปลูกในตอนนั้นเลย คิดเพียงว่าตนอยากปลูกปาล์ม จึงไปซื้อต้นกล้ามาปลูกเพียงเท่านั้น จนกระทั่งได้มาศึกษาเรียนรู้เรื่องปาล์มจากทางคุณพรชัย และแลกเปลี่ยนความรู้จากชาวสวนด้วยกัน เพื่อนำมาพัฒนาให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นได้บ้าง
หลังจากที่ศึกษาเรื่องสายพันธุ์ และมีความรู้บ้างแล้วนั้น คุณลิตรยังมีพื้นที่จำนวน 15 ไร่ ที่ อ.พระแสง จ.สุราษฎร์ธานี เป็นพื้นที่ยางพาราเก่าที่โค่นต้นจำนวน 5 ไร่ เพื่อนำปาล์มสายพันธุ์ลูกผสม “พันธุ์เทเนอร่า” (Tenera) ผลิตโดยศูนย์วิจัยปาล์มน้ำมันสุราษฎร์ธานี ราคาต้นพันธุ์ซื้อมาในราคาต้นละ 100 บาทไปปลูกอีกด้วย
“ถ้ามีความรู้เรื่องปาล์มมาก่อนก็คงจะเลือกสายพันธุ์ที่ดีมาปลูกตั้งแต่แรก แต่ถ้าจะเปลี่ยนมาปลูกสายพันธุ์อื่นตอนนี้ก็ไม่ทันแล้ว รอเก็บเกี่ยวผลผลิตไปเรื่อยๆ ก่อน ถึงจะโค่นต้นปลูกใหม่ และอีกอย่างทุกสิ่งทุกอย่างที่ปลูกมันเป็นไปตามกลไกตลาดทั้งนั้น มีขึ้น-มีลง แต่ยังไงก็มองว่าตลาดปาล์มน้ำมันก็ยังไปได้ดี เพราะความต้องการทางด้านอุตสาหกรรมนั้นมีมาก ส่วนใครที่อยากปลูกปาล์มก็สามารถปลูกได้ ไม่ต้องกลัวเรื่องตลาดตกต่ำ เพราะว่ายังไงทุกพืชก็เป็นเหมือนกันหมด”
ขอขอบคุณข้อมูลจากเกษตรกรผู้ปลูกปาล์ม
คุณวิลิตร ชุมทอง
บ้านเลขที่ 71 หมู่ที่ 5 ต.ห้วยปริก อ.ฉวาง จ.นครศรีธรรมราช
โทร.081-956-8729