การปลูกมันสําปะหลัง แบบประหยัด ผลิตสูง ยั่งยืน
การปลูกมันสำปะหลัง
เมื่อสายฝน เริ่มโปรยลงมา บางพื้นที่เข้าสู่ฤดูกาลทำไร่อีกแล้ว เกษตรกรเริ่ม “เตรียมพื้นที่” สำหรับเพาะปลูกกันแล้ว สำหรับเกษตรกรที่ ปลูกมันสำปะหลัง บางรายปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่น เพียงหวังว่าน่าจะมีรายได้มากกว่า การปลูกมันสำปะหลัง ก็ว่ากันไป
แต่ยังมีเกษตรกรอีกจำนวนมากที่ยัง ปลูกมันสำปะหลัง ในสภาวการณ์ปัจจุบันหลายประการ ที่ส่งผลกระทบทำให้ราคามันสำปะหลังตกต่ำ ที่ส่งผลโดยตรงต่อเกษตรผู้ ปลูกมันสำปะหลัง ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจาก “ต้นทุน” ที่สูงขึ้น รวมทั้งค่าแรงงาน ค่าปุ๋ย ค่าสารเคมี ป้องกันและกำจัดศัตรูพืช ที่ต้องมีการจัดการอย่างต่อเนื่อง
การปลูกมันสำปะหลัง จากอดีตจนถึงปัจจุบัน พบว่าปัญหาส่วนใหญ่ยังเป็นเรื่องเดิม ๆ ตั้งแต่
ปัญหาหลักของเกษตรกร ปลูกมันสำปะหลัง
- ปลูกมันพันธุ์ที่ไม่มีคุณภาพ สายพันธุ์ไม่ดี หรือไม่เหมาะสมกับพื้นที่ปลูก
- ระยะในการปลูกที่ไม่เหมาะสม ปลูกมันถี่เกินไป แม้กระทั่ง “ดิน” ขาดความอุดมสมบูรณ์ ดินเสื่อมโทรม
- ใส่ปุ๋ยน้อยไม่เหมาะสมกับความต้องการของมันสำปะหลัง เพราะเกษตรกรขาดการ “ปรับปรุงดิน”
แต่ขณะนี้ก็มีหลายหน่วยงานจากภาครัฐเข้ามาช่วยกันปรับปรุงแก้ไข
สายพันธุ์มันสำปะหลัง
ทำให้ในปีการเพาะปลูก 2559 / 60 ผลผลิตหัวมันสดเฉลี่ยทั้งประเทศอยู่ที่ 3.61 ตัน / ไร่ การจะเพิ่ม หรือยกระดับผลผลิตหัวมันสดของประเทศที่มีผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ให้สูงกว่า 3.61 ตัน / ไร่ ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยในปัจจุบัน และความหวังที่กประเทศไทยจะผลิตมันสำปะหลังให้ได้มากกว่า 31.19 ล้าน ตัน / ปี จากการผลิตปี 2559/60
ดังนั้นจะต้องทำอย่างไรถึงจะสามารถเพิ่มผลผลิตต่อไร่ของมันสำปะหลังให้สูงขึ้นได้ ซึ่งจะเป็นแนวทางที่ยั่งยืนที่จะทำให้ตลาดมีหัวมันสดพอเพียง และเกษตรกรได้กำไรจาก การปลูกมันสำปะหลัง เพิ่มขึ้นด้วย “ สายพันธุ์มันสำปะหลัง ” ที่ให้ผลผลิตสูง แป้งสูง ทนต่อสภาวะแวดล้อม สามารถปลูกและปรับตัวได้ดีในสภาพแวดล้อมในปัจจุบัน
เหมาะสมกับ การปลูกมันสำปะหลังในแต่ละพื้นที่ รวมทั้งฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วหลังจากผ่านแล้งหรือฝนทิ้งช่วงมาเป็นระยะเวลานาน ซึ่งจะเป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรหันมาปลูกมันสำปะหลังเพิ่มขึ้น
โดยเลือกใช้สายพันธุ์ที่ปลูกได้เฉพาะพื้นที่ เจาะจงพื้นที่ และเหมาะสมกับสภาพพื้นที่นั้น ๆ ซึ่งจะเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการเพิ่มผลผลิต และช่วยลดต้นทุนการผลิตมันสำปะหลังของเกษตรกร ส่งผลดีต่อประเทศไทยได้อย่างมั่นคง และยั่งยืน
การเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลังสามารถทำได้ด้วย 3 วิธี
วิธีที่ 1 : เลือกปลูกมันสำปะหลังพันธุ์ดี
มันสำปะหลังพันธุ์ ดีในที่นี้หมายถึง พันธุ์ที่ให้ผลผลิต และปริมาณแป้ง ( เปอร์เซ็นต์แป้งในหัว ) สูง เนื่องจากการซื้อขายหัวมันสำปะหลัง ราคาจะถูกกำหนดโดย “เปอร์เซ็นต์แป้ง” และ “น้ำหนัก” ของ “หัวมันสำปะหลัง”
นอกจากเกษตรกรจะใช้ มันสำปะหลังสายพันธุ์ดี แล้วยังต้องมีลักษณะอื่น ๆ ที่ดีตรงตามความต้องการของเกษตรกรด้วย เช่น อัตราการงอกดี ทนแล้ง มีความอยู่รอดสูง การเจริญเติบโตเร็ว โตดี คลุมวัชพืชได้ดี ต้านทานต่อโรคแมลง ขุดเก็บเกี่ยวผลผลิตง่าย และเป็นพันธุ์ที่ผู้ซื้อ (โรงงาน) ต้องการมากที่สุด
ซึ่ง “มันสำปะหลังสายพันธุ์ดี” ในประเทศไทยมีอยู่หลายพันธุ์ เช่น
- พันธุ์เกษตรศาสตร์ 50
- พันธุ์ระยอง 5
- พันธุ์ระยอง 72
- พันธุ์ห้วยบง 60
- ห้วยบง 80 และ
- พันธุ์ใหม่ที่เพิ่งได้แนะนำให้เกษตรกรปลูก คือ พันธุ์พิรุณ 1, พันธุ์พิรุณ 2, พันธุ์เกษตรศาสตร์ 72 และ “ พันธุ์เคยู-โคราช”
ซึ่งมันสำปะหลังสายพันธุ์ดีเหล่านี้ จะมีข้อเด่นและข้อจำกัดแตกต่างกันไปตามสายพันธุ์ และจะมีความสามารถในการให้ผลผลิตแตกต่างกันไปตามสภาพพื้นที่ปลูกด้วย ดังนั้นเกษตรกรจึงควรจะคัดเลือกสายพันธุ์มันสำปะหลังที่เหมาะกับพื้นที่ปลูกของตนเองมากที่สุดเป็นหลักสำคัญ
วิธีที่ 2 : การจัดการดินให้ดี
ธาตุอาหารที่มันสำปะหลังต้องใช้สำหรับการสร้างต้น ใบ และหัว จะได้มาจากดินเป็นส่วนใหญ่เกษตรกรควรจะมี “ การเตรียมดิน ” และ “ การจัดการดิน ” ให้ดีที่สุด เพื่อให้มันสำปะหลังสร้างหัวดี จึงจำเป็นต้องมีการปรับปรุงโครงสร้างของดินให้เหมาะสม ต้องปรับปรุงบำรุงดินให้ดี เพื่อให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์ และควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ดินเพื่อให้มันสำปะหลังสร้างหัวมันได้ดี และปลูกมันได้อย่างยั่งยืน
วิธีที่ 3 : การจัดการดูแลดี
เริ่มตั้งแต่การเตรียมดินดี เลือกใช้ต้นพันธุ์ ( ท่อนพันธุ์ ) ที่สมบูรณ์ ปราศจากโรคและแมลง มาปลูก คือ ต้นพันธุ์ที่มีอายุ และมีส่วนของต้นที่เหมาะสม ความยาวของท่อนพันธุ์ที่เหมาะสมมีอายุ 8 – 14 เดือน
รวมทั้งเป็น “ต้นพันธุ์” ที่มีการเก็บรักษาถูกต้อง ใช้วิธีและระยะปลูกที่ถูกต้อง เลือกฤดูปลูกให้เหมาะสม มีการกำจัดวัชพืช ไม่ว่าจะใช้แรงงานคน เครื่องจักรกลการเกษตร หรือสารกำจัดวัชพืช ควรให้ถูกต้อง เหมาะสม และทันเวลา การ “ใส่ปุ๋ย” ไม่ว่าจะเป็น “ปุ๋ยอินทรีย์” หรือ “ปุ๋ยอนินทรีย์” ควรให้เหมาะสม
ดูแลเรื่อง โรค – แมลง และขุดเก็บเกี่ยวผลผลิตให้ถูกต้อง เหมาะสมมากที่สุด ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลังให้สูงขึ้นตามที่ต้องการนั้น ต้องประกอบด้วย 3 วิธีดังกล่าวข้างต้น การจะเลือกใช้แต่เพียงวิธีการใดเพียงวิธีการเดียว ผลผลิตมันสำปะหลังอาจเพิ่มขึ้นได้บ้าง แต่จะไม่เป็นไปตามศักยภาพของมันสำปะหลังในแต่ละสายพันธุ์ แต่ละพื้นที่ และผลผลิตที่ได้ก็อาจไม่ยั่งยืนด้วย
อาจารย์สกล ฉายสี ผู้วิจัยพัฒนาเรื่องสายพันธุ์มันสำปะหลัง
ซึ่งบุคลที่กำลังจะกล่าวต่อไปนี้เป็นหนึ่ง “นักปรับปรุงพันธุ์มากประสบการณ์” ของประเทศไทยอีกท่านหนึ่ง ที่มุ่งมั่น ทุ่มเทแรงกาย และแรงใจ ในการพัฒนาสายพันธุ์มันสำปะหลังให้เหมาะสมกับ การปลูกมันสำปะหลัง ของประเทศไทยในแต่ละพื้นที่
ด้วยการคัดเลือกสายพันธุ์มันสำปะหลังให้เหมาะสมกับการปลูกแต่ละพื้นที่เป็นหลัก โดยการปลูกมันในแต่ละพื้นที่ เกษตรกรจะต้องได้ผลผลิตที่ดี ทั้งปริมาณและคุณภาพ ผลผลิตตามที่ตลาดต้องการมากที่สุด
อาจารย์สกล ฉายสี ข้าราชการน้ำดี หรือผู้ที่คอยปิดทองหลังพระ เบื้องหลังแห่งความสำเร็จของเกษตรกรชาวไร่มันสำปะหลังทั้งประเทศตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา ควบคู่ไปกับการวิจัยพัฒนาเรื่องสายพันธุ์มันสำปะหลังอย่างไม่หยุดยั้ง ตลอดจนมุ่งมั่นส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกมันด้วยวิธีการเตรียมดินง่าย ๆ การดูแลรักษาแบบง่าย ๆ แต่ให้ผลผลิตเป็นที่น่าพอใจ หรือให้ผลผลิตตั้งแต่ 4 ตัน / ไร่ขึ้นไป
แต่สำหรับเกษตรกรที่พอมีกำลังในการติดตั้งระบบน้ำ ก็อาจจะให้ผลผลิตได้ตั้งแต่ 8 – 10 กว่าตัน / ไร่ขึ้นไป ด้วยการมุ่งพัฒนามันสำปะหลัง พันธุ์ “เคยู-โคราช” ขึ้นมา เพื่อแก้ปัญหาภาวะหัวเน่าในมันสำปะหลัง อีกทั้งยังให้ผลผลิตดี ให้เปอร์เซ็นต์แป้งสูงด้วย
การวิจัยและปรับปรุงพันธุ์มันสำปะหลัง
การประสบความสำเร็จในการวิจัยและปรับปรุงพันธุ์มันสำปะหลัง “ พันธุ์เกษตรศาสตร์ 72” ซึ่งเป็นมันสำปะหลังที่ให้ผลผลิตสูง ที่เกิดจากการผสมระหว่างพันธุ์ระยองกับพันธุ์ OMR 29-20-118 ของโครงการประเมินเชื้อพันธุกรรมมันสำปะหลัง เพื่อจัดทำฐานข้อมูลสำหรับงานด้านการปรับปรุงพันธุ์ และโครงการวิจัยและพัฒนามันสำปะหลังเฉพาะเขตสภาพแวดล้อม แผนงานวิจัยและพัฒนามันสำปะหลัง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2550-2557
ดำเนินการผสมพันธุ์ คัดเลือก และทดสอบ พันธุ์มันสำปะหลัง ที่ให้ผลผลิต และมีปริมาณแป้งในหัวมันสดสูง นำมาปลูกทดสอบ ผลผลิตในพื้นที่ปลูกมันสำปะหลัง ได้แก่ จังหวัดลพบุรี เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ นครราชสีมา ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง กำแพงเพชร และกาญจนบุรี
เปรียบเทียบผลผลิตร่วมกับพันธุ์แนะนำของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จำนวน 4 พันธุ์ ได้แก่ พันธุ์ศรีราชา 1 พันธุ์เกษตรศาสตร์ 50 พันธุ์ห้วยบง 60 และพันธุ์ห้วยบง 80 ผลการทดลองพบว่ามันสำปะหลังพันธุ์เกษตรศาสตร์ 72 ให้ผลผลิตหัวสด และผลผลิตแป้งเฉลี่ยสูงสุด 8.0 ตัน / ไร่ และ 2.0 ตัน / ไร่ ตามลำดับ และมีปริมาณแป้งในหัวมันสดเฉลี่ย 26.9 เปอร์เซ็นต์
โดยลักษณะเด่นของมันสำปะหลังพันธุ์เกษตรศาสตร์ 72 คือ ให้ผลผลิตหัวมันสด 8.0 ตัน / ไร่ เปอร์เซ็นต์แป้งร้อยละ 26.9 ลำต้นมีสีน้ำตาล สูง 225.3 เซนติเมตร ก้านใบสีม่วง ลักษณะใบรี ซึ่งสีใบแรกที่เจริญเต็มที่ คือ สีเขียว ยอดอ่อนมีสีม่วง เปลือกหัวมีสีขาว สีเนื้อสีขาว ก้านหัวสั้น มีลำต้น 1-2 ต้น/หลุม “เคยู-โคราช” แป้งสูง ผลผลิตดี ทนต่อสภาวะหัวเน่า
ลักษณะเด่นของมันสำปะหลังพันธุ์ “เคยู-โคราช”
จากนั้นก็ได้พัฒนาสายพันธุ์มันสำปะหลังที่เหมาะสำหรับชาวไร่มันในพื้นที่โคราช จนกระทั่งสามารถปรับปรุงพันธุ์ “เคยู-โคราช” แป้งสูง ผลผลิตดี ทนต่อสภาวะหัวเน่า
โดยมีประวัติการพัฒนาพันธุ์มันสำปะหลัง “เคยู-โคราช” คือ เป็นมันสำปะหลังพันธุ์ลูกผสม ที่เกิดจากการผสมระหว่าง “พันธุ์ระยอง 9” กับ “พันธุ์ระยอง 90” ของโครงการความร่วมมือระหว่างนักวิจัยของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง จังหวัดนครราชสีมา
ดำเนินการทดสอบพันธุ์ และคัดเลือกพันธุ์ มันสำปะหลัง ที่ให้แป้งสูง ผลผลิตดี และทนต่อสภาวะหัวเน่า ซึ่งพบปัญหาหัวเน่าและเริ่มแพร่กระจายในหลายพื้นที่ปลูก นำมาปลูกทดสอบผลผลิต และคัดเลือกในพื้นที่ปลูกมันสำปะหลัง ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา บุรีรัมย์ อุดรธานี กาฬสินธุ์ สกลนคร ฉะเชิงเทรา กาญจนบุรี ลพบุรี เพชรบูรณ์ และนครสวรรค์ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2555-2559
เปรียบเทียบผลผลิตร่วมกับพันธุ์แนะนำของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จำนวน 3 พันธุ์ ได้แก่ พันธุ์เกษตรศาสตร์ 50 พันธุ์ห้วยบง 60 และพันธุ์ห้วยบง 80 ผลการทดลองจำนวน 24 การทดลอง พบว่ามันสำปะหลังพันธุ์ “เคยู-โคราช” ให้ผลผลิตหัวสด และผลผลิตแป้ง เฉลี่ยสูงสุด 6.8 ตัน/ไร่ และ 2.0 ตัน/ไร่ ตามลำดับ
และมีปริมาณแป้งในหัวมันสดเฉลี่ย 30.2 เปอร์เซ็นต์ ที่มีลักษณะด้านการเกษตรของมันสำปะหลัง พันธุ์ “เคยู-โคราช” คือ ให้ผลผลิตหัวมันสด 6.8 ตัน/ไร่ เปอร์เซ็นต์แป้งร้อยละ 30.2 ผลผลิตแป้ง 2.0 ตัน/ไร่ ลำต้นมีสีเหลืองอมเขียว สูง 238.5 เซนติเมตร ก้านใบสีเขียว มีลักษณะใบกลางเป็นใบรี สีใบแรกที่เจริญเต็มที่มีสีเขียว สียอดอ่อนมีสีเขียว สีเปลือกหัวมีสีขาว สีเนื้อหัวมีสีขาว ก้านหัวสั้น จำนวนลำต้นต่อหลุม คือ 1-2 ต้น
ลักษณะเด่นของมันสำปะหลังพันธุ์ “เคยู-สกลนคร”
จากนั้นได้ต่อยอดการพัฒนาจนกระทั่งประสบความสำเร็จได้มันสำปะหลังพันธุ์ “เคยู-สกลนคร”
ซึ่งเป็นมันสำปะหลังลูกผสมที่เกิดจากการผสมระหว่างมันสำปะหลังพันธุ์ระยอง 5 กับพันธุ์ OMR 20-20-118 ของโครงการวิจัยและพัฒนามันสำปะหลังเฉพาะเขตสภาพแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2553 ดำเนินการผสมพันธุ์ และ คัดเลือกพันธุ์มันสำปะหลัง ที่ให้ผลผลิตหัวสดสูง และปริมาณแป้งในหัวสดสูง
นำมาปลูกทดสอบผลผลิตในพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังในจังหวัดนครราชสีมา อุดรธานี กาฬสินธุ์ มหาสารคาม สกลนคร ลพบุรี เพชรบูรณ์ กำแพงเพชร และนครสวรรค์ เปรียบเทียบผลผลิตร่วมกับพันธุ์แนะนำของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จำนวน 3 พันธุ์ ได้แก่ พันธุ์เกษตรศาสตร์ 50 พันธุ์ห้วยบง 60 และพันธุ์ห้วยบง 80 ระหว่างปี 2555-59 จำนวน 21
การทดลอง ผลการทดลองพบว่ามันสำปะหลังพันธุ์ “เคยู-สกลนคร” ให้ผลผลิตหัวสดเฉลี่ย 8.7 ตัน/ไร่ ผลผลิตแป้งเฉลี่ย 1.9 ตัน/ไร่ และมีเปอร์เซ็นต์แป้งในหัวสดเฉลี่ย 28 เปอร์เซ็นต์
มีลักษณะด้านการเกษตรของมันสำปะหลัง พันธุ์ “ เคยู-สกลนคร ” ผลผลิตหัวมันสด 8.7 ตัน/ไร่ เปอร์เซ็นต์แป้งร้อยละ 28.0 ลำต้นมีสีเขียวอมน้ำตาล สูง 236.5 เซนติเมตร ก้านใบมีสีแดง ลักษณะใบกลางใบรี สีใบแรกที่เจริญเต็มที่มีสีเขียว สียอดอ่อนมีสีม่วง สีเปลือกหัวสีขาว สีเนื้อหัวสีขาว ก้านหัวสั้น จำนวนลำต้นต่อหลุม คือ 1-2 ต้น
การทดลองปลูกมันสำปะหลัง
นอกจากนี้ยังได้ปรับปรุงพันธุ์มันสำปะหลังที่เรียกว่า มันสำปะหลัง พันธุ์ “บารมี ๑” ให้ผลผลิตสูง ลงหัวเร็ว เปอร์เซ็นต์แป้งดี ซึ่งมันสำปะหลังพันธุ์ “บารมี ๑” เป็นมันสำปะหลังพันธุ์ลูกผสมคู่ผสม ที่เกิดที่ 49 เกิดจากการผสมระหว่างพันธุ์ระยอง 60 กับพันธุ์ระยอง 7 แต่ปี พ.ศ.2550
นำมาปลูกทดสอบผลผลิตในพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังสำคัญของประเทศ ตั้งแต่ปี 2550 – 2558 ปลูกเปรียบเทียบผลผลิตกับพันธุ์แนะนำของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จำนวน 3 พันธุ์ ได้แก่ พันธุ์เกษตรศาสตร์ 50 พันธุ์ห้วยบง 60 และพันธุ์ห้วยบง 80
การทดลองพบว่ามันสำปะหลังพันธุ์ “บารมี ๑” ให้ผลผลิตหัวสดตามลำดับ และมีปริมาณแป้งในหัวมันสดเฉลี่ย 68.6 เปอร์เซ็นต์ ให้ผลผลิตหัวมันสด 6 – 9 ตัน/ไร่ เปอร์เซ็นต์แป้ง 28.6 เปอร์เซ็นต์ ลำต้นมีสีน้ำตาลอ่อน สูง 194.7 เซนติเมตร ก้านใบสีเขียวอ่อน ลักษณะใบกลางใบรี สีใบแรกที่เจริญเต็มที่มีสีเขียว สียอดอ่อนมีสีม่วงอ่อน สีเปลือกหัวมีสีขาว สีเนื้อหัวมีสีขาว ก้านหัวสั้น จำนวนลำต้นต่อหลุม คือ 2-3 ต้น
เป้าหมายในอนาคต
ซึ่งทั้งหมดนี้คือผลงานชิ้นโบว์แดงของนักปรับปรุงพันธุ์ที่ชื่อ อาจารย์สกล ฉายศรี ที่มุ่งมั่น ทุ่มเท เพื่อการวิจัยและพัฒนาตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา เพียงเพื่อต้องการให้เกษตรกรไทยมีโอกาสได้ปลูกมันสำปะหลังพันธุ์ดี ภายใต้การรักษาสายพันธุ์มันสำปะหลังเอาไว้มากมาย
โดยในอนาคตอาจารย์สกลมีเป้าหมายที่อยากจะพัฒนาสายพันธุ์มันสำปะหลังให้เหมาะสมกับ การปลูกมันสำปะหลังในแต่ละพื้นที่ภายใต้สายพันธุ์ที่มีอยู่ และประสบการณ์ในการปรับปรุงพันธุ์ ที่จะสามารถดึงจุดเด่นของแต่ละสายพันธุ์มาพัฒนาต่อยอดเป็นสายพันธุ์ใหม่ที่ให้ผลผลิตที่ดี ทั้งปริมาณและคุณภาพ ได้อย่างเต็มรูปแบบ
ติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ การปลูกมันสำปะหลัง :
อาจารย์สกล ฉายศรี คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ต.ยางราก อ.โคกเจริญ จ.ลพบุรี 15250 โทร. 08-1937-4600 และ 08-9948-9892
E-mail : [email protected], [email protected]
มันสำปะหลังสายพันธุ์ “เคยู-สกลนคร” ติดต่อ นายสรกฤช เฟื่องศรี โทร. 06-1549-5885
หรือติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ :
ชัยรัตน์ คำหา โทร. 09-5664-0348, วัชชานนท์ ผงทอง โทร. 08-7986-2231
หรือกองบริหารการวิจัยและบริการวิชาการ
สำนักงานวิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร โทร. 042-725-013