“ผักตบชวา” เป็นวัชพืชที่ก่อให้เกิดปัญหามากมาย ปัจจุบันประเทศไทยได้มีแนวทางในการแก้ไขปัญหามา อย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันภาคเอกชนหลายบริษัทก็เริ่มที่จะหันมาผลิตเครื่องกำจัดผักตบชวาออกมา และเริ่มใช้งานกันจริงจัง
การจัดการกับผักตบชวา
การจัดการกับผักตบชวาส่วนใหญ่ของไทยยังครอบคลุมอยู่ใน 4 อย่างนี้ นั่นก็คือ
- ใช้เป็นอาหารสัตว์
- การทำของที่ระลึก
- การทำปุ๋ยหมัก
- การผลิตก๊าซชีวภาพ
การผลิตก๊าซชีวภาพ จากผักตบชวา
โดยเฉพาะการ “ผลิตก๊าซชีวภาพ” จาก “ผักตบชวา” ของไทยในวันนี้นั้นได้มีตัวอย่างด้านการผลิตเกิดขึ้นแล้ว และยังมีงานวิจัยรองรับอีกด้วย ภายใต้แนวคิดในการนำวัชพืชที่ไร้ค่ามาต่อยอดใช้ได้จริง ซึ่งเป็นเหตุผลให้คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน
โดย รศ.ดร.จุรีรัตน์ ลีสมิทธิ์ ผู้อำนวยการศูนย์ทรัพยากรจุลินทรีย์ เพื่อนพึ่ง (ภาฯ) และหัวหน้าโครงการวิจัยด้านทรัพยากรจุลินทรีย์ ได้คิดค้นงานวิจัยการ “ผลิตก๊าซชีวภาพจากผักตบชวา” ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ภายใต้โครงการจัดการความรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีจากผลงานวิจัยและนวัตกรรมประจำปี 2557
ผักตบชวาผสมกับมูลสัตว์สดและน้ำ
ที่เน้นการใช้ “ผักตบชวาผสมกับมูลสัตว์สดและน้ำ” เพื่อผลิตก๊าซชีวภาพ โดยมีวิธี การผลิตก๊าซชีวภาพจากผักตบชวาด้วยจุลินทรีย์ธรรมชาติศักยภาพสูง มี 2 ขั้นตอนง่ายๆ คือ
1.เริ่มจากนำภาชนะปิดสนิทขนาด 5-20 ลิตร สำหรับเก็บก๊าซ และมีก๊อกเปิด-ปิด แบ่งพื้นที่ 4 ส่วน ใส่ผักตบชวาที่หั่น หรือบดแล้ว 1 ส่วน, มูลสัตว์สด 1 ส่วน, น้ำสะอาด 1 ส่วน ทิ้งไว้นาน 10-15 วัน
2.จากนั้นทดสอบว่ามีก๊าซติดไฟหรือไม่โดยใช้ลูกโป่ง หลังจากนั้นให้นำมูลสัตว์สดที่ทำให้ก๊าซติดไฟจากขั้นตอนแรกมาหมักในถัง 200 ลิตรโดยใช้อัตราส่วนเช่นเดิม ทิ้งไว้ 10-15 วัน แล้วทำการทดสอบว่ามีก๊าซติดไฟหรือไม่ โดยต่อเข้ากับวาล์วและหัวแก๊ส
ประโยชน์จากผักตบชวา
ด้าน ดร.อนามัย ดาเนตร คณบดีคณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ และรักษาการอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในช่วงนั้น ได้กล่าวเกี่ยวกับโครงการนี้ว่า มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์รู้สึกยินดี และเป็นเกียรติอย่างยิ่ง ที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ประเภททุนกิจกรรมส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัย ให้การสนับสนุนเพื่อจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การผลิตก๊าซชีวภาพ จากผักตบชวา ด้วยจุลินทรีย์ธรรมชาติศักยภาพสูง เพื่อมาช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรที่มีรายได้ไม่เพียงพอ และยังขาดแคลนองค์ความรู้ได้นำไปประยุกต์ใช้ได้จริง
อีกทั้งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์นั้นยังมีองค์ความรู้และงานวิจัยในทุกศาสตร์ ทั้งทางด้านอุตสาหกรรมเกษตร ด้านเกษตร หรือวิศวกรรม ที่พร้อมจะขับเคลื่อนมหาวิทยาลัย เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนของประเทศต่อไป นับเป็นอีกก้าวในการนำวัชพืชไร้ค่า อย่าง “ผักตบชวา” มาใช้ประโยชน์ ด้วยการ “ผลิตก๊าซชีวภาพ” เพื่อใช้ในครัวเรือน!!!
ขอขอบคุณข้อมูล อ.เอกสิทธิ์ เดชพิริยะชัย