ผ่านไปสดๆร้อนๆกับนโยบายแห่งรัฐโดย คสช. ว่าด้วยนโยบายอ้อยและน้ำตาลทรายที่มีการส่งออกมากเป็นอับดับ 2 ของโลกรองจากประเทศบราซิลนั้นทาง คสช.จึงได้เน้นย้ำถึงนโยบายอ้อยและน้ำตาลด้วยการส่งเสริมให้มีการขยายพื้นที่การปลูกอ้อยให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ในลักษณะแบบ “โซนนิ่ง” เพื่อให้ผลผลิตมีปริมาณเพียงพอกับความต้องการของตลาด ก่อนจะพัฒนาเข้าสู่ขบวนการ “กลางน้ำ” ด้วยนโยบายการส่งเสริมให้มีการขยายโรงงานขนาดเล็กเข้าไปยังพื้นที่เพาะปลูกอ้อย เพื่อลดต้นทุนด้านการขนส่ง โดยมีข้อจำกัดว่าในการสร้างโรงงานขนาดเล็กนั้นจะต้องไม่ส่งผลกระทบหรือก่อให้เกิดมลภาวะต่อชุมชน อีกทั้งนโยบายแห่งรัฐในด้านการค้าน้ำตาลยังจำเป็นต้องเร่งบูรณาการทั้ง 3 ส่วนที่มีส่วนเกี่ยวทั้งผู้ผลิตในประเทศ นโยบายภาครัฐ และผู้ซื้อในต่างประเทศ นอกจากนี้ คสช.ยังได้ส่งมอบนโยบายอ้อยและน้ำตาลทรายในฤดูการผลิตประจำปี 2557/2558 ที่กำลังจะมาถึงไว้ทั้งหมด 3 ด้านเริ่มจากนโยบายด้านการเพาะปลูกอ้อยจะต้องมีการจัดพื้นที่การเพาะปลูก จัดโซนนิ่งให้มีความชัดเจน เหมาะสม ให้ครอบคลุมและเพียงพอกับปริมาณการบริโภคทั้งภายในประเทศและส่งออกโดยไม่ส่งผลกระทบด้านราคา ต่อมาจะเป็นการกระจายโรงงานผลิตน้ำตาลขนาดเล็กเข้าไปยังชุมชนที่ปลูกอ้อยโดยที่การสร้างโรงงานผลิตน้ำตาลนั้นจะต้องไม่ส่งผลกระทบหรือสร้างมลภาวะที่เป็นพิษต่อชุมชนและนโยบายต่อมาก็คือมุ่งเน้นและส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกอ้อยที่ต้องลดการใช้สารเคมี ปุ๋ยเคมีแล้วหันมาปลูกอ้อยบนพื้นฐานของการใช้สารอินทรีย์หรือปุ๋ยอินทรีย์เป็นหลัก เพื่อเป็นการฟื้นฟูดิน ผลผลิตมีคุณภาพและทำให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ด้วยเหตุนี้ทาง คสช.จึงให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายเพราะเป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง โดยคาดว่าในปี 2557 นี้ประเทศไทยจะมีปริมาณการผลิตน้ำตาลทรายได้ประมาณ 11.29 ล้านตัน โดยมีสัดส่วนของโควตาเพื่อการบริโภคภายในประเทศราว 2.5 ล้านตันและเพื่อการส่งออกคิดเป็น 8.79 ล้านตัน
นอกจากนี้ คสช.ยังพร้อมที่จะให้การสนับสนุนด้านโครงสร้างพื้นฐานที่มีประโยชน์และเอื้อต่ออุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายด้วยการเร่งนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ รวมไปถึงการแก้ไข ปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องและพร้อมที่จะรับฟังจากทุกภาคส่วนที่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยผู้ที่มีความเห็น มีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมสามารถยื่นข้อเสนอไปยังกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อนำเสนอต่อ คสช.ในลำดับต่อไปเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน
ในขณะที่สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.)ยอมรับว่าการที่ คสช.ได้ให้นโยบายเกี่ยวกับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายโดยให้กระทรวงอุตสาหกรรมในการพิจารณาและส่งเสริมให้เกิดโรงงานขนาดเล็กในชุมชนเพาะปลูกอ้อยเพื่อลดต้นทุนด้านการขนส่งมีความเป็นไปได้ค่อนข้างสูงและนำไปสู่การหารือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อหาแนวทางในการปรับปรุง แก้ไขกฎเกณฑ์ อีกทั้งยังต้องมีมาตรการในการส่งเสริมที่ชัดเจน
ฝั่งโรงงานขนาดใหญ่ยังมีความกังวลเกี่ยวกับนโยบายของ คสช.ที่จะส่งเสริมให้มีการขยายโรงงานผลิตน้ำตาลขนาดเล็กเข้าไปยังชุมชนหรือพื้นที่ปลูกอ้อยนั้นจะต้องพิจารณาถึงกำลังการผลิตของโรงงานขนาดเล็กให้มีประสิทธิภาพแบบครบวงจร รวมไปถึงการเพิ่มเติมต้องคำนึงถึงผลผลิตอ้อยเป็นสำคัญ เนื่องจากปัจจุบันอ้อยมีผลผลิตอยู่ที่ประมาณ 103-104 ล้านตันอ้อย กระจายป้อนวัตถุดิบให้กับโรงงานน้ำตาลทั้งหมด 50 แห่งทั่วประเทศ หากมีโรงงานน้ำตาลเพิ่มขึ้น อาจต้องมีแนวทางในการเพิ่มพื้นที่การปลูกอ้อยเพื่อเพิ่มปริมาณอ้อยเข้าสู่กระบวนการผลิตภายในโรงงานน้ำตาลที่สอดคล้องกับโครงการของรัฐบาลที่แล้วที่มีการส่งเสริมให้เกษตรกรเปลี่ยนพื้นที่นาดอนมาปลูกอ้อยในลักษณะของโซนนิ่ง
ฝั่งเกษตรกรชาวไร่อ้อยโดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อยกลับมองว่านโยบายของ คสช.ที่มีการขยายโรงงานขนาดเล็กเข้าสู่พื้นที่เพาะปลูกของเกษตรกรนั้นเป็นสิ่งที่ดีและเกิดประโยชน์สูงสุดกับเกษตรกรรายย่อยเป็นอย่างมากเพื่อลดปัญหาการติดคิวในโรงงานขนาดใหญ่ อีกทั้งการมีพื้นที่ไร่อ้อยในปริมาณที่น้อย มีต้นทุนค่อนข้างจำกัด จึงไม่คุ้มค่าแก่การลงทุนเพื่อส่งอ้อยเข้าโรงงานในระบบการเปิดโควตาและทำได้เพียงการเป็นลูกไร่ของหัวหน้าโควตาเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีเกษตรกรรายย่อยบางรายเลือกที่จะปลูกอ้อยในพื้นที่ของตนเองและเลือกที่จะขายอ้อยให้กับ “ลานอ้อย”ขนาดเล็กซึ่งทุกปีเมื่อถึงฤดูการเก็บเกี่ยวผลผลิตก็จะมีโรงงานน้ำตาลขนาดใหญ่หรือหัวหน้าโควตาเข้ามาเปิดจุดรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรในลักษณะของลานอ้อยเล็กๆ ที่มีการซื้อขายอ้อยในรูปแบบของเงินสดเพื่อนำอ้อยเข้าโควตาและป้อนให้กับโรงงานเพื่อดำเนินการหีบอ้อยอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งสิ้นสุดฤดูการหีบอ้อยในแต่ละปี ดังนั้นการเปิดจุดรับซื้ออ้อยขนาดเล็กใกล้กับพื้นที่เพาะปลูกของเกษตรกรนี้ช่วยอำนวยความสะดวกด้านการขนส่งให้กับเกษตรกรรายย่อย ทำให้เกษตรกรรายย่อยส่วนใหญ่สามารถใช้เครื่องจักรกลทางการเกษตรอย่างรถอีแต๊ก รถแทรกเตอร์ต่อพ่วงเทรลเลอร์ขนาดเล็ก รถอีแต๋น รถกระบะและรถหกล้อในการบรรทุกผลผลิตไปขายยังลานอ้อยขนาดเล็กได้เป็นอย่างดี สร้างเศรษฐกิจฐานรากและสร้างรายได้ให้เกิดขึ้นในชุมชน ลดการเคลื่อนย้ายไปทำงานต่างถิ่น เนื่องจากมีงานทำในพื้นที่ตลอดทั้งปีนอกเหนือจากการทำนาปีโดยเฉพาะเกษตรกรในภาคอีสาน ที่สำคัญเกษตรกรรายย่อยเหล่านี้หันมาใส่ในเรื่องของการทำมาหากินมากขึ้น ยอมที่จะเปลี่ยนพื้นที่นาดอนมาทำไร่อ้อย ด้วยพื้นที่ที่น้อยแต่ต้องเพิ่มปริมาณผลผลิตเพื่อให้คุ้มค่าแก่การลงทุนโดยใช้แรงงานภายในครอบครัวก็สามารถดูแลไร่อ้อยได้อย่างทั่วถึง อีกทั้งผลผลิตยังขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่ สภาพดินฟ้าอากาศ สายพันธุ์ การดูแลและบริหารจัดการไร่อ้อยทั้งที่ต้องอาศัยน้ำฝนตามธรรมชาติและระบบน้ำรองรับในแต่ละปีเป็นสำคัญ
tags: ปลูกอ้อย ให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ในลักษณะแบบ “ โซนนิ่ง ” เพื่อให้การ ปลูกอ้อย มีผลผลิตมีปริมาณเพียงพอกับความต้องการของตลาด ส่งเสริม ปลูกอ้อย ส่งออกน้ำตาล