เรื่องอ้อยและน้ำตาลจะเป็นปัญหามากในไทย โดยเฉพาะ “แรงงาน” ในช่วงตัดอ้อยตั้งแต่ ธ.ค.-เม.ย. เป็นงานเหมาที่ต้องอาศัยความชำนาญซึ่งหายากมากขึ้น ดังนั้นเจ้าของไร่อ้อยจึงต้องเลือกวิธีตัดอ้อยระหว่างเผาแล้วตัด กับตัดสดๆ อันไหนจะจูงใจแรงงานมากกว่ากัน ปรากฏว่าเถ้าแก่ทั่วประเทศมุ่งเผาแล้วตัด ซึ่งเรื่องนี้เถ้าแก่สมศักดิ์ สิทธิชัย หรือ “เฮียอ่อง” เจ้าของไร่อ้อย 500 ไร่ พร้อมลูกไร่รวม 2,000 ไร่ ได้ให้รายละเอียดเรื่องนี้
สภาพพื้นที่ปลูกอ้อย
เฮียอ่องยอมรับว่า ปีนี้ชาวไร่อ้อยส่วนใหญ่ในพื้นที่ อ.ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ ต่างประสบปัญหาด้านภัยแล้งไปตามๆ กัน เนื่องจากเป็นพื้นที่อยู่นอกเขตชลประทาน ทำให้เกษตรกรที่นี่ต้องเน้นการพึ่งพาตนเอง โดยการสร้างแหล่งบนดินเพื่อกักเก็บน้ำ หรือการขุดเจาะบ่อบาดาลนำน้ำขึ้นมาใช้เพื่อทำไร่อ้อย
โดยเฉพาะในช่วงหลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตส่งเข้าโรงงานเสร็จแล้ว เกษตรกรจะต้องสูบน้ำขึ้นมารดตออ้อยให้เกิดความชื้นและแตกหน่อออกมาอย่างสมบูรณ์ ที่สำคัญจะช่วยป้องกันโรคหนอนกอได้ในระดับหนึ่ง เพราะการทำไร่อ้อยทุกวันนี้หากไม่ขึ้นน้ำจะสุ่มเสี่ยงเกิดโรคหนอนกอขึ้นในไร่อ้อย
จากเดิมในอดีตจะไม่มีปัญหาในเรื่องนี้เลย “พอตัดเสร็จเราก็สูบน้ำใส่เรื่อยๆ เพื่อให้แตกหน่อ ถ้าแถวนี้เราไม่สูบน้ำหนอนกอไม่ลง สมัยก่อนไม่มี เพิ่งมีหนอนกอมาไม่กี่ปี ถ้าไม่สูบน้ำพอหน่ออ้อยขึ้นแล้วหนอนกอก็กินหมด แต่ก่อนไม่ต้องสูบน้ำ แต่ตอนนี้ไม่ได้ ต้องสูบน้ำที่ต้องใช้คนงาน คนงานก็ไม่ค่อยมี สภาพอากาศฝนก็แล้ง อากาศร้อนมาก ส่งผลกับพืชเรา ถ้าไม่ให้น้ำทำไปก็ไม่ได้กิน ต้องไถทิ้งเฉพาะเขตนี้นะ” เฮียอ่องย้ำก่อนจะเก็บหญ้าทำรุ่น ใส่ปุ๋ยบำรุงให้เจริญเติบโตที่ดี ภายใต้แรงงานที่มีอยู่จำกัด หลังจากนั้นก็จะใส่ปุ๋ยอีกรอบ และต้องใช้เวลาในการดูแลรักษาไม่ต่ำกว่า 10 เดือน
ปัญหาและอุปสรรคในการ ตัดอ้อย
ก่อนจะตัดเก็บผลผลิตเข้าสู่โรงงานน้ำตาลในพื้นที่ ซึ่งในปีนี้ทางโรงงานได้เปิดหีบเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม ที่ผ่านมา เกษตรกรบางรายได้เริ่มต้นตัดอ้อยส่งโรงงานทันที แต่อาจจะไม่ทุกเจ้า ซึ่งปีนี้เฮียอ่องยังเน้นการใช้แรงงานตัดอ้อยเช่นเคยทั้งหมด 40 กว่าคน ที่จะ ตัดอ้อย ได้ประมาณ 100-120 ตัน/วัน เป็นอ้อยไฟไหม้ทั้งหมด
ซึ่งปีนี้อ้อยลำเล็กเพราะฝนทิ้งช่วง ติดแล้งนาน ทำให้ผลผลิตที่ได้ไม่ค่อยดีเท่าที่ควร แต่ถ้าอ้อยสวยๆ แรงงาน 40 กว่าคนนี้ ต้อง ตัดอ้อย ได้ประมาณ 200 ตัน/วัน แต่อ้อยไฟไหม้จะถูกโรงงานหักตันละ 20 บาท แต่ในทางกลับกันถ้าไม่จุดไฟ หรือ ตัดอ้อย ไฟไหม้ แล้วหันมาตัดอ้อยสดอย่างเดียว ที่จะตัดอ้อยยากกว่าก็จะไม่คุ้ม เพราะอ้อยลำเล็กมาก และต้องจ้างแรงงานแพงขึ้นหลายเท่าตัว
“ตอนนี้ตัดอ้อยไฟไหม้ 20 ลำ/มัด ในราคา 6 สลึง เทียบกับการตัดอ้อยสด 15 ลำ/มัด ในราคา 3 บาท ราคาต่างกันมาก การตัดอ้อยสดใช้ต้นทุนสูงมาก เราจึงพยายามตัดอ้อยไฟไหม้ ถ้าอ้อยสวย ตัดสดมันยังคุ้ม 15 ลำ/มัด ก็ต้องได้น้ำหนักไม่ต่ำกว่า 15 กก./มัด แต่ตอนนี้มันไม่ใช่ เพราะวันนี้ ตัดอ้อย 15 ลำ/มัด เต็มที่ก็น้ำหนักเพียง 7-8 กก./มัด น้ำหนักหายไปมาก
เราจึง ตัดอ้อย ไฟไหม้คุ้มค่ากว่าตัดสด ซึ่งค่าจ้าง ตัดอ้อย ไม่ใช่ 300 บาท แล้ว อย่างน้อยต้องเฉลี่ย 400-500บาท/คน/วัน เพราะตัดแบบเหมา แต่ถ้าราคาอ้อยอย่างปีนี้ยังไงชาวไร่อ้อยทำแล้วก็ไม่คุ้ม เพราะราคาคุ้มทุนของชาวไร่ต้อง 1,000 บาท/ตันขึ้นไป แต่ราคารับซื้อ 800 บาท/ตัน
ชาวไร่ก็เริ่มจะอยู่ไม่ได้ เพราะค่าแรง 300 บาท/วัน แม้ว่าค่าพลังงานในปีนี้จะถูกลงก็ตาม ที่สำคัญต้องใช้แรงงานเพื่อลดความเสียหายจากการใช้เครื่องจักรให้มากที่สุด เพราะทำให้ดินแน่น โดยเฉพาะหัวแปลง ท้ายแปลง ที่อ้อยแทบจะไม่ขึ้นเลย หรืออ้อยตอขึ้นไม่สวย เพราะรถตัดอ้อยน้ำหนักไม่ต่ำกว่า 10 กว่าตัน/คัน
ปัญหาอีกอย่างของรถตัดอ้อย คือ เมื่อรถเสียขึ้นมาช่างก็ไม่มี ต้องหาชาวบ้านมาช่วยซ่อมให้ เพราะไม่มีอู่ซ่อมรถตัดอ้อย ถ้ามีอู่ก็จะดีมาก พอรถเสียก็เอาเข้าอู่ แต่นี่ไม่มีอู่ต้องซ่อมกันเอง อะไหล่ก็ไม่มี ชาวไร่ต้องดิ้นรนหาอะไหล่กันเอง อ้อยก็ต้องตัดส่งโรงงาน มันยากตรงนี้ ชาวบ้านที่ซ่อมรถให้ก็รู้บ้าง ไม่รู้บ้าง ซึ่งการใช้แรงงานจะช่วยลดปัญหานี้ได้ แต่ก็มีปัญหาค่าแรงหาคนยาก” เฮียอ่องอธิบายปัญหาในการตัดอ้อยเข้าโรงงาน
แต่จริงๆ ถ้าการทำไร่อ้อยไม่มีปัญหา แรงงานก็ยังเป็นอาชีพที่มั่นคงที่สุด ยังไม่มีอะไรสู้อ้อยได้ แม้ราคาจะตกต่ำ แต่ชาวไร่อ้อยก็ยังมีสมาคมชาวไร่อ้อยทั่วประเทศเพื่อเรียกร้องและต่อรองกับรัฐบาลได้ ซึ่งพืชอื่นยังไม่มี และไม่แน่นอน เพราะไม่มีสมาคมฯ
การเก็บเกี่ยวผลผลิตอ้อย
เฮียอ่องเผยถึงผลกระทบจากภัยแล้งปีนี้ที่ส่งให้ผลผลิตโดยรวมลดลงไปมาก จากเดิมที่เคยได้ผลผลิตเฉลี่ย 11 ตัน/ไร่ แต่ปีนี้อ้อยตอ 3 และตอ 4 ให้ผลผลิตเฉลี่ยเพียง 5 ตัน/ไร่ อ้อยใหม่ให้ผลผลิตเฉลี่ย 7-8 ตัน/ไร่ คาดว่าเมื่อสิ้นสุดฤดูกาลเก็บเกี่ยวผลผลิตของที่นี่ในเดือนกุมภาพันธ์นี้จะได้ผลผลิตเฉลี่ยเพียง 7 ตัน/ไร่ นั่นหมายความว่าไร่อ้อยแห่งนี้ต้องขาดทุนมากถึง 1 ล้านกว่าบาท แน่นอน
“ด้วยค่าจัดการที่สูง ปีนี้จะเอาทุนคืนยังแย่ ไม่รวมค่าใช้จ่ายอื่นๆ ตั้งแต่การไถไปจนถึงเก็บเกี่ยวเข้าโรงงาน ผมเองก็กู้จากโรงงานเหมือนกัน ชาวไร่อ้อยต้องกู้เงินทั้งนั้น ไม่มีใครที่ไม่กู้เงินจากโรงงานมาลงทุนก่อน ปีนี้ชาวไร่เอาเงินมาลงทุน ส่วนใหญ่ที่ลงทุนไปแล้วจะใช้หนี้ไม่หลุด เพราะทำแล้วขาดทุน แต่ปีหน้ายังไงราคาก็น่าจะดีกว่าปีนี้ แต่ผมไม่รู้ว่าจะดีไหม แต่บางคนก็บอกว่าปีหน้าฝนจะแย่กว่าปีนี้” เฮียอ่องเปิดเผยความจริงที่เกิดขึ้น
การปลูกพืชแซมในสวนปาล์มน้ำมัน
แต่บนความขาดทุนก็ยังมีความโชคดี และมีรายได้เข้ามาบ้าง เมื่อสวนปาล์มเล็กจำนวนหลายร้อยไร่ สามารถปลูกพืชล้มลุกแซมเพื่อสร้างรายได้ให้เฮียอ่องมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการปลูก “ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์” หรือ (ตอง 2) บนเนื้อที่ 80 กว่าไร่ ให้ผลผลิต 1,000 กก./ไร่ หรือมีรายได้ประมาณไร่ละ 7,000 บาท ซึ่งปลูกในช่วงหน้าฝน
การปลูก “ฟักทอง” แซมปาล์ม บนเนื้อที่ 80 กว่าไร่ ให้ผลผลิตเฉลี่ยไร่ละ 1,000 บาท มีรายได้เพียง 2 แสนกว่าบาท เพราะลูกที่สวยมาก จะขายได้ 10 บาท/กก. ลูกสวยหน่อยจะขายได้ 8 บาท/กก. แต่ถ้ามีลูกเบี้ยวพ่อค้าจะไม่ซื้อเลย ทิ้งเลย แต่ตอนนี้ฟักทองกลับมาราคาแพงอีกครั้ง
รวมไปถึงการปลูก “มันสำปะหลัง” บนเนื้อที่ 180 ไร่ ด้วยสายพันธุ์ระยอง 5 ระยอง 72 เกล็ดมังกรและน้องแบมที่มีการยกร่องในร่องปาล์มจำนวน 6 แถว แล้ววางระบบน้ำหยดให้ดินเปียกก่อนทำการเสียบท่อนมันที่ชุบด้วยฮอร์โมน จะช่วยให้ท่อนพันธุ์รอดเกือบ 100% ความเสียน้อยมาก
การให้ปุ๋ยและน้ำต้นมันสำปะหลัง
หลังจากนั้นประมาณ 10 กว่าวัน ท่อนมันจะแตกใบอ่อน จึงค่อยหยอดปุ๋ยเพื่อบำรุง เมื่อดินแห้งต้นมันสำปะหลังจะแตกรากขึ้นไม่ค่อยดี จึงต้องให้น้ำอีกครั้ง จะทำให้ต้นมันเจริญเติบโต ขึ้นต้นสวยอย่างสม่ำเสมอ พอมันเริ่มโตจะฉีดพ่นฮอร์โมน 1-2 ครั้ง ใส่ปุ๋ยอินทรีย์ที่มีส่วนผสมของมูลค้างคาวแบบอินทรีย์เคมี ต่อมาจะใส่ปุ๋ยสูตร0-0-60
รายได้จากการขุดมันสำปะหลัง
จนกระทั่งอายุ 11 เดือนขึ้นไป ก็จะขุดเก็บผลผลิตได้ ระยอง 72 ให้ผลผลิตเฉลี่ย 8 ตัน/ไร่ หัวมันสดไซซ์เสมอกันหมด ระยอง 5 ให้ผลผลิตเฉลี่ย 6 ตัน/ไร่ มีรายได้จากการขุดมันในช่วงต้นฤดูกาล 2.30-2.40 บาท/กก. ซึ่งขณะนี้มีการรับซื้อแบบเหมาในราคา 2 บาท/กก. ภายใต้ต้นทุนการผลิต 4,000 บาท/ไร่ ได้ผลผลิตเฉลี่ย 7 ตัน/ไร่ จะมีรายได้ 14,000 บาท/ไร่ ก็ยังพอเหลืออีกประมาณ 10,000 บาท/ไร่ จึงได้ผลผลิตมันสำปะหลังมาชดเชยในส่วนที่ขาดทุนไปได้บ้าง
“ผมมีคนงานขุดมันให้ 3-4 ชุด/วัน ขุดแบบเหมา โดยใช้รถและอุปกรณ์ผม คนงานก็ใช้แรงอย่างเดียว ขุดมันได้ผลผลิต 3-4 ตัน/วัน/2 คนครอบครัว ในราคา 450 บาท/ตัน หักค่าอุปกรณ์ 70 บาท ก็จะได้ค่าแรงที่ 380 บาท/ตัน ขุดมัน 1 วัน จะมีรายได้ราว 1,000 กว่าบาท/ครอบครัว เป็นคนงานที่ขยันมาก เมื่อปีที่แล้ว 2 คนนี้ผมก็ให้เขาเสียบมันตลอดปี แต่ปีนี้ขุดมันรอแล้วจะปลูกมันต่อก็จะจ้างเขาทำด้วย” เฮียอ่องเผยที่มาของรายได้
การขุดมันสำปะหลัง
ปัจจุบันได้ขุดมันไปแล้ว 130 ไร่ ยังเหลืออีก 50 ไร่ ที่กำลังทยอยขุดหัวมันสดขายอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในฤดูกาลหน้านี้ที่ต้นปาล์มเริ่มโตขึ้น จึงมีแนวคิดที่จะลดพื้นที่การปลูกมันแซมปาล์มลงให้เหลือเพียง 60 ไร่ และจะหันมาปลูกมะละกอ และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์แทน ส่วนปาล์มน้ำมันบางส่วนที่มีอายุย่างเข้าปีที่ 4 เริ่มเก็บผลผลิตได้ แต่ยังมีปริมาณน้อยมาก เพราะดูแลยังไม่ถึง ทั้งการใส่ปุ๋ย และให้น้ำนั้น ได้เตรียมที่จะวางระบบน้ำเพิ่มเติม เพื่อให้ปาล์มได้รับน้ำในปริมาณมากขึ้น และให้ผลผลิตดีขึ้นได้
สอบถามเพิ่มเติม เฮียอ่อง และคุณวีระ อนันต์วรปัญญา โทร.08-7709-4391, 09-5495-7176
71 หมู่ 12 บ้านตาคลีภิรมย์ ต.โคกสะอาด อ.ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ 67170