ไผ่กิมซุง ปลูกง่ายขายได้ราคา สร้างรายได้หลักหมื่น/เดือน (ตอนที่ 1)

โฆษณา
AP Chemical Thailand

ไผ่กิมซุง สอนวิธี ปลูกไผ่ ให้ขายได้ทั้งปี ต้นไผ้ หน่อไม้ ราคาไม่ต่ำกว่า 15 บาท ปลูกไผ่ สร้างรายได้หมื่นบาท/เดือน ไผ่ตงลืมแล้ง ไผ่กิมซุง ตงศรีปราจีน ซางหม่น หม่าจู

ไผ่กิมซุง หรือ ไผ่ไต้หวัน ของ คุณวีรพล  สุพรรคพานิช เกษตรกรผู้ปลูกปาล์มที่ ต.หนองโรง อ.หนองแค จ.สระบุรี ซึ่งเป็นเกษตรกรอีกท่านหนึ่งที่ให้ความสำคัญกับการสร้างรายได้เสริมด้วยการปลูกพืชแซมในพื้นที่เป้าหมายแรกเพียงมุ่งหวังให้เป็นรายได้เสริมแต่ทำไปทำมารายได้จากพืชเสริมที่ว่านี้กลับน่าสนใจมากแม้ว่าปาล์มจะมีผลผลิตออกมาได้ต่อเนื่องแต่ “ ไผ่กิมซุง ” ของคุณวีรพลก็ยังคงแทรกอยู่ในพื้นที่และดูเหมือนว่าทิศทางในอนาคตจะบูรณาการให้ทั้งปาล์มและไผ่เดินคู่กันไปในระยะยาวด้วย

คุณวีรพล สุพรรคพานิช เกษตรกรผู้ปลูกไผ่ปลูก ไผ่กิมซุง ผสมผสานกับปาล์ม
คุณวีรพล สุพรรคพานิช เกษตรกรผู้ปลูกไผ่ปลูกไผ่กิมซุงผสมผสานกับปาล์ม

คุณวีรพลเล่าว่ามาซื้อที่ตรงนี้ 100 ไร่ เริ่มจากการทำสวนส้มในปี 2520 ขณะนั้นเป็นยุคที่ส้มรังสิตกำลังดังมาก มีการทำสวนส้มกันอย่างแพร่หลายรายได้จากการทำสวนส้มในช่วงนั้นถือว่าสูงมากประมาณ 20 ปีที่ธุรกิจสวนส้มเดินหน้าสวยงามแต่ประมาณปี 2540 สวนส้มเกิดปัญหาเรื่องโรคและระบาดไปทุกพื้นที่ ทำให้สวนส้มที่เคยมีมากมายเริ่มประสบปัญหาขาดทุน ทุนที่สะสมกันมาตั้งแต่ยุครุ่งเรื่องก็เริ่มหมดกันไปกับความพยายามในการต่อสู้กับโรคหลายสวนลงทุนซื้อปุ๋ยยาสารเคมีกันเป็นจำนวนมากเพื่อหยุดวิกฤติเรื่องโรคแต่สุดท้ายก็ลงทุนสูญเปล่าเพราะสู้โรคระบาดของส้มไม่ได้ เงินทุนที่เคยมีจากสวนส้มก็หมดกันไปเป็นจำนวนมาก ในส่วนตัวคุณวีรพลเองก็ต้องตัดใจจากสวนส้มและหันมาเริ่มปลูกพืชล้มลุกในพื้นที่หลายอย่างตั้งแต่ 2540 มาจนถึง 2546 ประมาณ 6 ปีในระหว่างนั้นก็มีการศึกษาหาพืชตัวหลักที่จะปลูกใหม่โดยให้ทางหน่วยงานราชการเข้ามาดูในพื้นที่ว่ามีความเหมาะสมกับพืชตัวไหนในระยะยาว

สุดท้ายก็ได้คำตอบว่า “ปลูกปาล์ม” เนื่องจากปัจจัยแวดล้อมในแถบคลองระพีพัฒน์มีข้อได้เปรียบเรื่องน้ำและปาล์มก็เป็นพืชพลังงานที่ภาครัฐให้การส่งเสริมแนวโน้มในอนาคตก็มีความต้องการสูงมาก ซึ่งในช่วงแรกที่ปาล์มยังไม่สามารถให้ผลผลิตได้นั้นก็เป็นปัญหาสำคัญในเรื่องรายได้ที่ไม่ต่อเนื่อง

ปลูกไผ่ ไผ่กิมซุง ที่อยู่ในสวนปาล์มนี้มีกว่า 4,000 กอ

แนวทางต่อมาคือการหาพืชเสริมในระหว่างรอผลผลิตจากปาล์มความจริงก็มีพืชหลายชนิดที่สามารถปลูกคู่กับปาล์มได้แต่ที่คุณวีรพลเลือกคือ “ ไผ่กิมซุง ” โดยเริ่มไปเอาพันธุ์มาจากสวนไผ่ที่อำเภอบ่อทองจังหวัดชลบุรีครั้งแรกจำนวน 400 ต้นราคาต้นละ 50 บาท แต่เมื่อพิจารณาดูแล้วว่าน้อยเกินไปไม่คุ้มค่ากับการตัดหน่อขายจึงซื้อเพิ่มมาเรื่อยๆจนครบ 2,000 ต้นและเอามาขยายพันธุ์ต่อในพื้นที่จนปัจจุบันพื้นที่ 100 ไร่ของคุณวีรพลที่นอกจากปลูกปาล์มเป็นหลักแล้วกว่า 1,800 ต้นยังมี ไผ่กิมซุง อยู่ในพื้นที่อีกกว่า 4,000 กอทีเดียว

แต่สิ่งที่ต้องการจากการปลูกไผ่คือ “การปรับสภาพดิน”โดยการหลุดร่วงของใบไผ่ให้กลายเป็นปุ๋ยสะสมในดินเพื่อทำให้ดินดีขึ้นโดยที่ไม่ต้องใช้ปุ๋ยเคมีทั้งนี้เป็นประสบการณ์จากการทำสวนส้มเมื่อเปลี่ยนมาเป็นพืชตัวอื่นก็ต้องการหลีกเลี่ยงพวกปุ๋ยยาสารเคมี อันเป็นต้นทุนรายสำคัญที่ทำให้เกษตรกรส่วนใหญ่ไม่ได้กำไรที่สำคัญทำให้เกิดปัญหาสุขภาพในระยะยาวอีกด้วย

 

วิธีการปลูกและการจัดการสวนไผ่ในสวนปาล์ม

  1. พันธุ์ไผ่ที่เหมาะสมจะนำมาปลูกแซมในสวนปาล์มคือ ไผ่ในตระกูลตงทั้งหมดเช่น ตงลืมแล้ง ไผ่ไต้หวัน(กิมซุง) ตงศรีปราจีน ซางหม่น หม่าจู ฯลฯ แต่ที่สวนคุณวีรพลเลือกมาคือ “ ไผ่กิมซุง ” เนื่องจากไผ่ในตระกูลนี้มีลำต้นสูง ดูแลง่ายให้หน่อสม่ำเสมอ
  2. เป็นที่รู้กันว่าการปลูกไผ่เป็นพืชแซม เรื่องการรับแสงจะด้อยกว่าปกติ เพราะฉะนั้นเพื่อให้ไผ่เติบโตได้เร็ว ควรเตรียมต้นพันธุ์ให้สมบูรณ์เต็มที่ควรเป็นต้นพันธุ์ที่อนุบาลเอาไว้อย่างน้อย 60 วัน เพื่อให้ไผ่เตรียมแตกหน่อในถุง หลังปลูกไผ่จะได้ตั้งลำได้เร็วขึ้น
  3. ต้องบริหารจัดการพื้นที่การปลูกให้เหมาะสมหัวใจสำคัญคือ “การจัดการแสง” โดยต้องควบคุมเรื่องขนาด ความสูงของกอไผ่ให้เหมาะสมกับขนาดต้นปาล์ม
    • ถ้าปลูกตอนต้นปาล์มเล็ก ให้คุมความสูงของลำไผ่ไม่เกิน 3 เมตร เว้นลำไม่เกิน 3 ลำ
    • ถ้าปาล์มโตแล้ว ( ปาล์ม 8 ปีขึ้นไป ) ให้คุมความสูงลำไผ่ 4-5 เมตร เว้นลำกอละ 4-5 ลำ

การปลูกไผ่ กับปาล์มที่ต้องคำนึงอย่างหนึ่งคึอเรื่อง บริหารจัดการแสง

  1. ระยะห่างระหว่างกอไผ่การเว้นระยะกอไผ่ให้คำนึงถึงระยะต้นปาล์มเป็นหลักหากปาล์ม9×9เมตรสามารถปลูกไผ่ระยะห่าง 3-4 เมตร
  2. การเตรียมหลุมปลูก ให้ขุดหลุมขนาดประมาณ 1×1 ฟุต ลึก 1 ฟุต รองก้นหลุมด้วยขี้ไก่ 1 ขันอาบน้ำ
  3. การปลูกให้ปลูกตรงๆ หันทรงพุ่มของต้นพันธุ์ไปทางทิศตะวันออกเพื่อรับแสงช่วงเช้าไม่ต้องกลัวเรื่องติดแล้ง เพราะการปลูกเป็นพืชแซมไผ่จะไม่ได้รับแดดโดยตรง ต้นพันธุ์จึงผ่านแล้งได้หากผู้ปลูกไม่มีเวลาเอาใจใส่ดูแล ให้ปลูกช่วงต้นฤดูฝน เพราะไผ่จะได้แข็งแรงก่อนเข้าหน้าแล้ง
  4. ช่วงปาล์มยังเล็กให้ดูแลเรื่องวัชพืชรอบโคนฤดูกาลที่เหมาะสมที่จะปลูกไผ่ คือ ปลายฤดูฝน และ หน้าหนาว เพราะไผ่จะพักตัวในช่วงแรกเพื่อสะสมสารอาหาร เมื่อเข้าต้นฤดูฝนปีถัดไป ไผ่จะตั้งกอได้เร็วต้น และ ควรใส่ปุ๋ยบำรุงบ้างตามสมควร (ช่วงแรกเน้นสูตรเสมอ 15-15-15) มีขี้ไก่ก็สามารถใส่ได้
  5. เมื่อไผ่เริ่มตั้งลำให้เว้นลำที่สมบูรณ์ จำนวนลำไผ่ให้พิจารณาจากขนาดต้นปาล์มเป็นหลักถ้าปาล์มอายุเกิน 8 ปี หรือมีทรงต้นสูงเกิน 2 เมตร สามารถเว้นลำ 4-5 ลำ สางแต่งกอให้โปร่ง คุมความสูงของไผ่ให้อยู่ต่ำกว่าต้นปาล์มเสมอ
  6. การปลูกไผ่ในสวนปาล์ม ไผ่จะเริ่มให้หน่อประมาณ 1-2 ปี ขึ้นอยู่กับขนาดของต้นปาล์ม (ปาล์มโตแสงน้อยก็จะโตช้า แต่เมื่อไผ่โตแล้ว ไผ่ก็สามารถให้หน่อได้ตามปกติ)อัตราการให้หน่อ ขึ้นอยู่กับการดูแลเป็นหลัก หากดูแลดีหน่อมีขนาด 1.5-3 กิโลกรัม

 

แต่หลายคนก็ยังมีคำถามว่าไผ่ในตระกูลนี้มีหลายอย่างแต่ที่เลือกเป็น ไผ่กิมซุง นั้นมีข้อดีอะไรที่น่าสนใจกันบ้าง

  1. เป็นพืชที่ให้ผลตอบแทนในระยะเวลาสั้น ( หลังปลูกประมาณ 8 เดือน )
  2. การปฏิบัติดูแลรักษาไม่ซับซ้อน ยุ่งยาก
  3. โรคและแมลงที่มีผลกระทบต่อผลผลิตน้อยมาก
  4. การส่งเสริมการเจริญเติบโตจะใช้เกษตรอินทรีย์เป็นหลัก
  5. ผลผลิตจากการขาย หน่อ ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาด ไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค ผลผลิตเก็บเกี่ยวตลอดปี

 

แนวทางการปลูกและวิธีการดูแลที่สำคัญๆ

เกษตรกรควรขุดหลุมขนาด 1×1 ฟุต ลึก 1 ฟุต รองก้นหลุมด้วยขี้ไก่ 1 ขันอาบน้ำควรปลูกกิ่งพันธ์ในหลุมโดยวางกิ่งพันธุ์เอียง 45 องศา  กลบโคนต้นแล้วใช้เศษหญ้าแห้งคลุมโคนเพื่อรักษาความชื้นในกรณีปลูกเพื่อการค้า ควรมีการให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ และต่อเนื่องประมาณ7– 10 วัน/ครั้ง ส่วนเรื่องการจัดการหน่อและลำนั้นตามปกติไผ่จะเริ่มให้หน่อเมื่อหลังปลูก 7–8 เดือน

โฆษณา
AP Chemical Thailand

ควรเก็บหน่อที่แทงชิดต้นแม่โดยตัดสูงจากโคนหน่อบังดินประมาณ2 นิ้วเพื่อให้เกิดตาหน่อขึ้นอีก  ส่วนหน่อที่แทงจากใต้ดินห่างจากต้นแม่ ควรเลี้ยงไว้เป็นต้นแม่ต่อไป

-การไว้ลำ(ต้น)ต่อกอจะเลือกหน่อที่แทงจากเดิมและอยู่ไกลต้นแม่เลี้ยงไว้รอบต้นแม่การไว้ต้นต่อกอควรให้ประมาณ3ต้น/กอหากมีจำนวนต้นต่อกอมากจะทำให้การออกหน่อไม้คดเมื่อต้นใหญ่เจริญแตกในกิ่งสามารถเลี้ยงตัวเองได้ ให้ตัดต้นแม่ทิ้งการไว้ลำจะทำทุกปี โดยส่วนใหญ่จะปล่อยหน่อเป็นต้นใหม่ ประมาณ 2 – 3 ต้น ในช่วงฤดูฝน หรือช่วงกรกฎาค – สิงหาคม พอหน่อเจริญเป็นต้นไผ่ ก็จะตัดต้นเก่าทิ้ง หรือนำไปใช้ประโยชน์อื่นต่อไป

 

รายได้จากการ ปลูกไผ่ ไต้หวัน เก็บผลผลิตวันเว้นวัน น้ำหนักรวมไม่ต่ำกว่า 500 กก. /เดือน

การเก็บเกี่ยวผลผลิตไผ่ไต้หวันจะเก็บแบบวันเว้นวัน จากปริมาณไผ่ในพื้นที่ประมาณ 3,000-4,000 กอ น้ำหนักของ “หน่อ” ในแต่ละกอประมาณ 2-4 ขีดน้ำหนักรวมจริงๆคือ 1,500 กก. แต่ทั้งนี้ก็ต้องอยู่ที่ฤดูกาล ความพร้อม และการดูแลอย่างน้อยสุดก็ไม่ต่ำกว่า 800 กก. แต่ก็มีข้อแม้อีกในช่วงฤดูหนาวที่ส่วนใหญ่ถ้าเป็นไผ่ประเภทอื่นเรียกว่าจะไม่ออกหน่อแต่สำหรับไผ่ไต้หวันยังสามารถออกหน่อได้แต่ปริมาณจะน้อยลงอีกเล็กน้อย

คุณวีรพลบอกว่าในฤดูหนาวแบบนี้ถ้าทำได้ถึง 500 กก. ก็ถือว่าเก่งมากแล้ว ส่วนราคาในการจำหน่ายก็จะคละกันไปตามขนาดและคุณภาพถ้าเป็นหน่อใหญ่ขนาดน้ำหนักเกินกว่า 1 กก. ราคาประมาณ 8 บาท ส่วนเกรดรองลงมาก็ราคา 6 บาท เล็กสุดราคาขายอยู่ที่ 4 บาท แต่นี่คือราคาในช่วงที่หน่อไม้ออกสู่ตลาดได้มากๆ แต่ในฤดูหนาวที่กำลังมาถึงนี้ปริมาณหน่อไม้ในตลาดจะน้อยทำให้ราคาขายสูงขึ้นตามไปอาจจะขายได้สูงถึง 15 บ./กก.

รายได้จากการขาย หน่อไม้ ถือเป็นรายได้เสริมที่ดีมากๆ
รายได้จากการขาย หน่อไม้ ถือเป็นรายได้เสริมที่ดีมากๆ

เมื่อหักลบต้นทุนที่เป็นค่าแรง ( คนงานประจำประมาณ  5 คนคนละ 300 บาท)  ค่าน้ำมัน ( สำหรับเรือวิ่งรดน้ำในพื้นที่ที่ต้องมีการรดน้ำทุกวัน ใช้น้ำมันวันละประมาณ 5 ลิตร ) รวมถึงค่าปุ๋ยยาบ้างในบางครั้ง ต้นทุนรวม/เดือนนั้นก็ไม่ต่ำกว่า 20,000 บาท

สำหรับปาล์มที่มีผลผลิตแล้วจะเก็บเกี่ยวได้ประมาณ 15 วัน /ครั้ง ครั้งละกว่า 10 ตัน ( ปริมาณที่แท้จริงถ้าไม่มีต้นไผ่มาบังแสงที่ใช้ในการเจริญเติบโตของปาล์มอาจเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ถึง 20 ตัน ) ราคา ณ ปัจจุบันคือ 4.05 บาท

โฆษณา
AP Chemical Thailand

ถือเป็นเงินก้อนที่จะได้เดือนละ 2 ครั้ง แต่ไผ่ไต้หวันมีรายได้แทบจะทุกวันเงินที่ได้จากการจำหน่ายหน่อไผ่ก็กลายเป็นเงินหมุนเวียนใช้จ่ายในการดูแลจัดการทำให้มีรายได้ต่อเนื่องอย่างดี

ซึ่งในอนาคตเมื่อมองดูว่าปาล์มเองก็เริ่มมีผลผลิตต่อเนื่องกับการบริหารจัดการไผ่นั้นอาจจะมีการแบ่งแยกโซนการปลูกในพื้นที่ 100 ไร่ให้ชัดเจนทั้งนี้เพื่อให้ปริมาณผลผลิตของปาล์มดีขึ้นแต่ถึงอย่างไรก็ตามจะไม่เลิกปลูกไผ่เนื่องจากเป็นรายได้หมุนเวียนที่ดีที่สำคัญทำให้ลดความเสี่ยงได้มากเนื่องจากราคาปาล์มนั้นผันผวนมากการมีไผ่ไว้รองรับในยามจำเป็นถือเป็นแนวทางที่ดีและอนาคตก็น่าจะเป็นรูปแบบนี้ต่อไป

สนใจรายละเอียดเพิ่มเติม ติดต่อ: วีรพล  สุพรรคพานิช

22/2 ม.10  ต.หนองโรง  อ.หนองแค   จ.สระบุรี โทร.081-852-2797