การ ปลูกไผ่ ไผ่ไต้หวัน ผสมผสานกับปาล์มน้ำมัน
คุณวีรพล สุพรรคพานิช เกษตรกรผู้ปลูกปาล์มที่ ต.หนองโรง อ.หนองแค จ.สระบุรี เป็นเกษตรกรอีกท่านหนึ่งที่ให้ความสำคัญกับการสร้างรายได้เสริมด้วยการปลูกพืชแซมในพื้นที่ เป้าหมายแรกเพียงมุ่งหวังให้เป็นรายได้เสริม แต่ทำไปทำมารายได้จากพืชเสริมที่ว่านี้กลับน่าสนใจมาก
แม้ว่าปาล์มจะมีผลผลิตออกมาได้ต่อเนื่อง แต่ “ ไผ่ไต้หวัน ” ของคุณวีรพลก็ยังคงแทรกอยู่ในพื้นที่ และดูเหมือนว่าทิศทางในอนาคตจะบูรณาการให้ทั้งปาล์มและไผ่เดินคู่กันไปในระยะยาวด้วย
สุดท้ายก็ได้คำตอบว่า “ปลูกปาล์ม” เนื่องจากปัจจัยแวดล้อมในแถบคลองระพีพัฒน์มีข้อได้เปรียบเรื่องน้ำ และปาล์มก็เป็นพืชพลังงานที่ภาครัฐให้การส่งเสริม แนวโน้มในอนาคตก็มีความต้องการสูงมาก ซึ่งในช่วงแรกที่ปาล์มยังไม่สามารถให้ผลผลิตได้นั้น ก็เป็นปัญหาสำคัญในเรื่องรายได้ที่ไม่ต่อเนื่อง
แนวทางต่อมา คือ การหาพืชเสริมในระหว่างรอผลผลิตจากปาล์ม ความจริงก็มีพืชหลายชนิดที่สามารถปลูกคู่กับปาล์มได้ แต่ที่คุณวีรพลเลือก คือ “ไผ่ไต้หวัน” โดยเริ่มไปเอาพันธุ์มาจากสวนไผ่ที่อำเภอบ่อทอง จังหวัดชลบุรี ครั้งแรกจำนวน 400 ต้น ราคาต้นละ 50 บาท แต่เมื่อพิจารณาดูแล้วว่าน้อยเกินไป ไม่คุ้มค่ากับการตัดหน่อขาย จึงซื้อเพิ่มมาเรื่อยๆ จนครบ 2,000 ต้น และเอามาขยายพันธุ์ต่อในพื้นที่ จนปัจจุบันพื้นที่ 100 ไร่ ของคุณวีรพล ที่นอกจากปลูกปาล์มเป็นหลักแล้วกว่า 1,800 ต้น ยังมีไผ่ไต้หวันอยู่ในพื้นที่อีกกว่า 4,000 กอ ทีเดียว
รายได้จากผลผลิตไผ่ไต้หวัน
ส่วนราคาในการจำหน่ายก็จะคละกันไปตามขนาด และคุณภาพ ถ้าเป็นหน่อใหญ่ ขนาดน้ำหนักเกินกว่า 1 กก. ราคาประมาณ 8 บาท ส่วนเกรดรองลงมาก็ราคา 6 บาท เล็กสุดราคาขายอยู่ที่ 4 บาท แต่นี่คือราคาในช่วงที่หน่อไม้ออกสู่ตลาดได้มากๆ แต่ในฤดูหนาวที่กำลังมาถึงนี้ปริมาณหน่อไม้ในตลาดจะน้อย ทำให้ราคาขายสูงขึ้นตามไป อาจจะขายได้สูงถึง 15 บาท/กก.
เมื่อหักลบต้นทุนที่เป็น
- ค่าแรง (คนงานประจำประมาณ 5 คน คนละ 300 บาท)
- ค่าน้ำมัน (สำหรับเรือวิ่งรดน้ำในพื้นที่ ที่ต้องมีการรดน้ำทุกวัน ใช้น้ำมันวันละประมาณ 5 ลิตร)
- รวมถึงค่าปุ๋ย-ยาบ้างในบางครั้ง
ต้นทุนรวม/เดือนนั้นก็ไม่ต่ำกว่า 20,000 บาท
สำหรับปาล์มที่มีผลผลิตแล้วจะเก็บเกี่ยวได้ประมาณ 15 วัน/ครั้ง ครั้งละกว่า 10 ตัน (ปริมาณที่แท้จริง ถ้าไม่มีต้นไผ่มาบังแสงที่ใช้ในการเจริญเติบโตของปาล์ม อาจเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ถึง 20 ตัน) ราคา ณ ปัจจุบัน คือ 4.05 บาท ถือเป็นเงินก้อนที่จะได้เดือนละ 2 ครั้ง แต่ไผ่ไต้หวันมีรายได้แทบจะทุกวัน เงินที่ได้จากการจำหน่ายหน่อไผ่ก็กลายเป็นเงินหมุนเวียนใช้จ่ายในการดูแลจัดการ ทำให้มีรายได้ต่อเนื่องอย่างดี
ซึ่งในอนาคตเมื่อมองดูว่าปาล์มเองก็เริ่มมีผลผลิตต่อเนื่อง กับการบริหารจัดการไผ่นั้นอาจจะมีการแบ่งแยกโซนการปลูกในพื้นที่ 100 ไร่ ให้ชัดเจน ทั้งนี้เพื่อให้ปริมาณผลผลิตของปาล์มดีขึ้น แต่ถึงอย่างไรก็ตามจะไม่เลิก ปลูกไผ่ เนื่องจากเป็นรายได้หมุนเวียนที่ดี ที่สำคัญทำให้ลดความเสี่ยงได้มาก เนื่องจากราคาปาล์มนั้นผันผวนมาก การมีไผ่ไว้รองรับในยามจำเป็นถือเป็นแนวทางที่ดี และอนาคตก็น่าจะเป็นรูปแบบนี้ต่อไป
การบริหารจัดการไผ่ในสวนปาล์ม
แต่สิ่งที่ต้องการจากการ ปลูกไผ่ คือ “การปรับสภาพดิน” โดยการหลุดร่วงของใบไผ่ให้กลายเป็นปุ๋ยสะสมในดิน เพื่อทำให้ดินดีขึ้นโดยที่ไม่ต้องใช้ปุ๋ยเคมี ทั้งนี้เป็นประสบการณ์จากการทำสวนส้ม เมื่อเปลี่ยนมาเป็นพืชตัวอื่นก็ต้องการหลีกเลี่ยงพวกปุ๋ย-ยา และสารเคมี อันเป็นต้นทุนรายสำคัญที่ทำให้เกษตรกรส่วนใหญ่ไม่ได้กำไร ที่สำคัญทำให้เกิดปัญหาสุขภาพในระยะยาวอีกด้วย
วิธีการปลูกและการจัดการสวนไผ่ในสวนปาล์ม
1.พันธุ์ไผ่ที่เหมาะสมจะนำมาปลูกแซมในสวนปาล์ม คือ ไผ่ในตระกูลตงทั้งหมด เช่น ตงลืมแล้ง ไผ่ไต้หวัน (กิมซุง) ตงศรีปราจีน ซางหม่น หม่าจู ฯลฯ แต่ที่สวนคุณวีรพลเลือกมา คือ “ ไผ่ไต้หวัน ” เนื่องจากไผ่ในตระกูลนี้มีลำต้นสูง ดูแลง่าย ให้หน่อสม่ำเสมอ
2.เป็นที่รู้กันว่าการ ปลูกไผ่ เป็นพืชแซม เรื่องการรับแสงจะด้อยกว่าปกติ เพราะฉะนั้นเพื่อให้ไผ่เติบโตได้เร็ว ควรเตรียมต้นพันธุ์ให้สมบูรณ์เต็มที่ ควรเป็นต้นพันธุ์ที่อนุบาลเอาไว้อย่างน้อย 60 วัน เพื่อให้ไผ่เตรียมแตกหน่อในถุง หลัง ปลูกไผ่ จะได้ตั้งลำได้เร็วขึ้น
3.ต้องบริหารจัดการพื้นที่การปลูกให้เหมาะสม หัวใจสำคัญ คือ “การจัดการแสง” โดยต้องควบคุมเรื่องขนาด ความสูง ของกอไผ่ ให้เหมาะสมกับขนาดต้นปาล์ม
- ถ้าปลูกตอนต้นปาล์มเล็ก ให้คุมความสูงของลำไผ่ไม่เกิน 3 เมตร เว้นลำไม่เกิน 3 ลำ
- ถ้าปาล์มโตแล้ว (ปาล์ม 8 ปีขึ้นไป) ให้คุมความสูงลำไผ่ 4-5 เมตร เว้นลำกอละ 4-5 ลำ
4.ระยะห่างระหว่างกอไผ่ การเว้นระยะกอไผ่ให้คำนึงถึงระยะต้นปาล์มเป็นหลัก หากปาล์ม 9×9 เมตร สามารถ ปลูกไผ่ ระยะห่าง 3-4 เมตร
5.การเตรียมหลุมปลูก ให้ขุดหลุมขนาดประมาณ 1×1 ฟุต ลึก 1 ฟุต รองก้นหลุมด้วยขี้ไก่ 1 ขันอาบน้ำ
6.การปลูกให้ปลูกตรงๆ หันทรงพุ่มของต้นพันธุ์ไปทางทิศตะวันออกเพื่อรับแสงช่วงเช้า ไม่ต้องกลัวเรื่องติดแล้ง เพราะการปลูกเป็นพืชแซม ไผ่จะไม่ได้รับแดดโดยตรง ต้นพันธุ์จึงผ่านแล้งได้ หากผู้ปลูกไม่มีเวลาเอาใจใส่ดูแล ให้ปลูกช่วงต้นฤดูฝน เพราะไผ่จะได้แข็งแรงก่อนเข้าหน้าแล้ง
7.ช่วงปาล์มยังเล็กให้ดูแลเรื่องวัชพืชรอบโคน ฤดูกาลที่เหมาะสมที่จะ ปลูกไผ่ คือ ปลายฤดูฝน และหน้าหนาว เพราะไผ่จะพักตัวในช่วงแรกเพื่อสะสมสารอาหาร เมื่อเข้าต้นฤดูฝนปีถัดไปไผ่จะตั้งกอได้เร็วต้น และควรใส่ปุ๋ยบำรุงบ้างตามสมควร (ช่วงแรกเน้นสูตรเสมอ 15-15-15) มีขี้ไก่ก็สามารถใส่ได้
8.เมื่อไผ่เริ่มตั้งลำ ให้เว้นลำที่สมบูรณ์ จำนวนลำไผ่ให้พิจารณาจากขนาดต้นปาล์มเป็นหลัก ถ้าปาล์มอายุเกิน 8 ปี หรือมีทรงต้นสูงเกิน 2 เมตร สามารถเว้นลำ 4-5 ลำ สางแต่งกอให้โปร่ง คุมความสูงของไผ่ให้อยู่ต่ำกว่าต้นปาล์มเสมอ
9.การ ปลูกไผ่ ในสวนปาล์ม ไผ่จะเริ่มให้หน่อประมาณ 1-2 ปี ขึ้นอยู่กับขนาดของต้นปาล์ม (ปาล์มโต แสงน้อย ก็จะโตช้า แต่เมื่อไผ่โตแล้ว ไผ่ก็สามารถให้หน่อได้ตามปกติ) อัตราการให้หน่อขึ้นอยู่กับการดูแลเป็นหลัก หากดูแลดี หน่อมีขนาด 1.5-3 กิโลกรัม
ข้อดีของ ไผ่ไต้หวัน
แต่หลายคนก็ยังมีคำถามว่าไผ่ในตระกูลนี้มีหลายอย่าง แต่ที่เลือกเป็น ไผ่ไต้หวัน นั้นมีข้อดีอะไรที่น่าสนใจกันบ้าง
- เป็นพืชที่ให้ผลตอบแทนในระยะเวลาสั้น (หลังปลูกประมาณ 8 เดือน)
- การปฏิบัติดูแลรักษาไม่ซับซ้อน ยุ่งยาก
- โรคและแมลงที่มีผลกระทบต่อผลผลิตน้อยมาก
- การส่งเสริมการเจริญเติบโตจะใช้เกษตรอินทรีย์เป็นหลัก
- ผลผลิตจากการขายหน่อซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาด ไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค ผลผลิตเก็บเกี่ยวตลอดปี
การจัดการหน่อและลำ
เกษตรกรควรขุดหลุมขนาด 1×1 ฟุต ลึก 1 ฟุต รองก้นหลุมด้วยขี้ไก่ 1 ขันอาบน้ำ ควรปลูกกิ่งพันธุ์ในหลุม โดยวางกิ่งพันธุ์เอียง 45 องศา กลบโคนต้น แล้วใช้เศษหญ้าแห้งคลุมโคนเพื่อรักษาความชื้น ในกรณีปลูกเพื่อการค้า ควรมีการให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ และต่อเนื่องประมาณ 7-10 วัน/ครั้ง
ส่วนเรื่องการจัดการหน่อและลำนั้นตามปกติไผ่จะเริ่มให้หน่อเมื่อหลังปลูก 7-8 เดือน ควรเก็บหน่อที่แทงชิดต้นแม่ โดยตัดสูงจากโคนหน่อบังดินประมาณ 2 นิ้ว เพื่อให้เกิดตาหน่อขึ้นอีก ส่วนหน่อที่แทงจากใต้ดินห่างจากต้นแม่ควรเลี้ยงไว้เป็นต้นแม่ต่อไป ส่วนการไว้ลำ (ต้น) ต่อกอ จะเลือกหน่อที่แทงจากเดิม และอยู่ไกลต้นแม่เลี้ยงไว้รอบต้นแม่ การไว้ต้นต่อกอควรให้ประมาณ 3 ต้น/กอ หากมีจำนวนต้นต่อกอมากจะทำให้การออกหน่อไม้คด
เมื่อต้นใหญ่เจริญเติบโต แตกในกิ่ง สามารถเลี้ยงตัวเองได้ ให้ตัดต้นแม่ทิ้ง การไว้ลำจะทำทุกปี โดยส่วนใหญ่จะปล่อยหน่อเป็นต้นใหม่ประมาณ 2-3 ต้น ในช่วงฤดูฝน หรือช่วงกรกฎาคม-สิงหาคม พอหน่อเจริญเติบโตเป็นต้นไผ่ก็จะตัดต้นเก่าทิ้ง หรือนำไปใช้ประโยชน์อื่นต่อไป
การเก็บเกี่ยวผลผลิต ไผ่ไต้หวัน
การเก็บเกี่ยวผลผลิต ไผ่ไต้หวัน จะเก็บแบบวันเว้นวัน จากปริมาณไผ่ในพื้นที่ประมาณ 3,000-4,000 กอ น้ำหนักของ “หน่อ” ในแต่ละกอประมาณ 2-4 ขีด น้ำหนักรวมจริงๆ คือ 1,500 กก. แต่ทั้งนี้ก็ต้องอยู่ที่ฤดูกาล ความพร้อม และการดูแลอย่างน้อยสุดก็ไม่ต่ำกว่า 800 กก.
แต่ก็มีข้อแม้อีก ในช่วงฤดูหนาวที่ส่วนใหญ่ถ้าเป็นไผ่ประเภทอื่นเรียกว่าจะไม่ออกหน่อ แต่สำหรับ ไผ่ไต้หวัน ยังสามารถออกหน่อได้ แต่ปริมาณจะน้อยลงอีกเล็กน้อย คุณวีรพลบอกว่าในฤดูหนาวแบบนี้ ถ้าทำได้ถึง 500 กก. ก็ถือว่าเก่งมากแล้ว
สนใจรายละเอียดเพิ่มเติม ติดต่อ คุณวีรพล สุพรรคพานิช 22/2 ม.10 ต.หนองโรง อ.หนองแค จ.สระบุรีโทร.081-852-2797