ปลูกไม้เศรษฐกิจ ขายคาร์บอนเครดิต และผลิตภัณฑ์

โฆษณา
AP Chemical Thailand

คนไทยเริ่มรู้จักคำว่า “ก๊าซเรือนกระจก” มากขึ้นได้แก่ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซมีเทน ก๊าซไนตรัสออกไซด์ ก๊าซไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน ก๊าซเปอร์ฟลูออโรคาร์บอน ก๊าซซัลเฟอร์ เฮกซาฟลูออไรด์ และ  สาร CFC ซึ่งก๊าซเรือนกระจกดังกล่าวได้ห่อหุ้มโลกและดูดซับความร้อน เพื่อให้สิ่งมีชีวิตบนโลกอยู่รอด

ดังนั้น UN จึงต้องประชุมหาทางลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยมีหลายประเทศลงนาม ที่เรียกว่า พิธีสารโตเกียว และ COP 27

ประเทศไทย ปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณ 370 ล้านตัน/ปี ดังนั้นรัฐบาลโดย กระทรวงทรัพย์ ได้ลงนามไว้ว่าจะลด 40% ภายในปี 2030

1. คาร์บอนเครดิต01

การรณรงค์ลดก๊าซเรือนกระจก

หัวหอกในการรณรงค์ให้ชาวโลกลดก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจัง คือ สหภาพยุโรป เช่น ออกฎระเบียบว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า (DEFORESTATION FREE PRODUCT REGULATION : EUDR) เจาะจงสินค้าเกษตร 7 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มโค กลุ่มโกโก้ กลุ่มกาแฟ กลุ่มปาล์มน้ำมัน กลุ่มยางพารา กลุ่มถั่วเหลือง และ กลุ่มไม้เศรษฐกิจ ซึ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรในประเทศเมืองร้อน ที่มีมูลค่าสูงทางเศรษฐกิจ

ผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเข้าอียู จะต้องลงทะเบียนในระบบฐานข้อมูล และแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับการผลิต เช่น แหล่งผลิต แหล่งที่มา ผู้ผลิต และ พิกัดทางภูมิศาสตร์ของพื้นที่เพาะปลูก/เก็บเกี่ยว เป็นต้น เพื่อให้ตรวจสอบย้อนกลับและวิเคราะห์ข้อมูลผ่านระบบถ่ายภาพจากดาวเทียมว่าสินค้านั้นผลิตบนพื้นที่ตัดไม้ทำลายป่า (DEFORESTION) หรือทำให้ป่าเสื่อมโทรม (DEGRADATION) หรือไม่ ซึ่งระเบียบนี้จะบังคับใช้วันที่ 30 ธ.ค. 67

และคาดว่าอียูจะออก “ระเบียบลำดับรอง” เพื่อให้การบังคับใช้มาตรการนี้มีความชัดเจน เช่น กำหนดหน่วยงานรับผิดชอบ บทลงโทษ การจัดทำระบบฐานข้อมูล และ การจัดกลุ่มประเทศตามลำดับความเสี่ยงในการตัดไม้ทำลายป่า เพื่อกำหนดระดับความเข้มงวดในการสุ่มตรวจสอบข้อมูลที่ผู้ประกอบการแจ้ง ซึ่งผู้อยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูงจะถูกสุ่มตรวจ 9% ความเสี่ยงระดับกลาง 3% และระดับต่ำ 1% หากผู้ประกอบการขนาดย่อม (MSME) ที่จัดตั้งภายใน 31 ธ.ค. 63 จะได้เวลาปรับตัว 24 เดือน (30 มิ.ย. 68) ก่อนมาตรการมีผลบังคับใช้

โฆษณา
AP Chemical Thailand
2.การปลูกยางพารา
2.การปลูกยางพารา

กลไกลดก๊าซเรือนกระจก

การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) รัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงเกษตรฯ ได้จัดทำฐานข้อมูลการเพาะปลูกยางพารา เพราะเห็นความตั้งใจของอียูที่ส่งผู้เชี่ยวชาญมาให้คำแนะนำด้านมาตรการดังกล่าว เนื่องจากไทยส่งยางพาราและผลิตภัณฑ์ไปอียู ปี 65 มูลค่า 1,732.8 ล้านดอลลาร์ หรือ 11% ของการส่งออก

เรื่องอียูออกมาตรการดังกล่าว ถ้ามองว่า วิกฤต ก็ใช่ แต่ถ้ามองว่า “โอกาส” ก็ใช่เช่นกัน เพราะกลไกลดก๊าซเรือนกระจกมี 2 อย่าง ได้แก่ กักเก็บ และ ใช้ประโยชน์ จากก๊าซเรือนกระจก

การกักเก็บ มีหลายวิธี ซึ่งความแตกต่างอยู่ที่เม็ดเงินการลงทุน ถ้าใช้ “ต้นไม้” กักเก็บ ต้นทุนจะต่ำ จึงไม่ต้องแปลกใจที่หน่วยงานธุรกิจขนาดยักษ์ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมา อย่าง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เดินหน้าปลูกป่าแบบเชิงเดี่ยว และแบบวนเกษตร บนภูเขาหัวโล้น ร่วมกับชุมชน ด้วยโมเดล “ปลูกป่าวนเกษตรอย่างมีส่วนร่วม ผ่านกลไกคาร์บอนเครดิตแบบผูกพัน” (CONTRACT T-VERFARMING)

ซึ่ง คุณประเสริฐศักดิ์ เชิงชวโน รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ กฟผ. กล่าวว่า คาร์บอนเครดิต คือ คุณค่าของการกักเก็บคาร์บอนไว้ในต้นไม้ คล้ายๆ การฝากธนาคาร เมื่อต้นไม้เติบโตขึ้นก็สามารถเอาคาร์บอนเครดิตมาขายได้ แต่ส่วนสำคัญที่สุด คือ การมีส่วนร่วมของเกษตรกรในการสร้างป่าขึ้นมาด้วย 2 มือ ของพวกเรา แล้วเติบโตเป็นป่าเศรษฐกิจ ที่กลับมาเลี้ยงชุมชน ขณะที่ประเทศไทยมีป่าเพิ่มขึ้น ช่วยลดโลกร้อน แก้ปัญหาไฟป่า และหมอกควัน อย่างเป็นระบบ

3.คุณวีระพัฒน์ เดชารัตน์ กยท. (ซ้าย) และ
3.คุณวีระพัฒน์ เดชารัตน์ กยท. (ซ้าย) และ คุณอภิสิทธิ์ เสนาวงค์ นักวิชาการชำนาญการพิเศษ อบก.(ขวา)

การให้ความรู้คาร์บอนเครดิตยางพารา

19 ก.ค. 66 วีระพัฒน์ เดชารัตน์ หัวหน้ากองพัฒนาผลผลิตของ กยท. ผู้เชี่ยวชาญด้านคาร์บอนเครดิตยางพารา วิทยากรพิเศษ ที่ สมัชชาพลังเขียวสร้างชาติ เชิญมาให้ความรู้แก่ผู้นำชาวสวนยาง และเกษตรกรกว่า 150 คน ที่โรงแรมมารวยการ์เด้นท์ กทม.

“หนทางที่จะลดทำได้หลายอย่าง 1.การสร้างกระบวนการแสดงผลในเรื่องการกักเก็บมาลบออก และ 2.ลดกระบวนการที่ปลดปล่อยจากหน่วยงาน หรือจากตัวที่มันทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจก” คุณวีระพัฒน์ ขยายความ เข้าใจง่ายๆ ก็คือ มันคือ กระบวนการที่ต้องการให้คนทำร้ายประเทศ เอาเงินมาโปะให้ผู้ที่สร้าง เพื่อให้เกิดความสมดุล ซึ่งมี 2 วิธี ลดก็ได้ หรือเพิ่มขึ้นในการสร้างคาร์บอนเครดิตก็ได้ เพื่อชดเชยให้เกิดความเป็นกลาง หรือเป็นศูนย์ ตามที่ไทยได้ตกลงไว้

โฆษณา
AP Chemical Thailand

1 ในประเทศที่จะสร้างพื้นที่สีเขียว หรือสร้างคาร์บอนเครดิต คือ ประเทศไทย โดยเฉพาะ กยท. ทำเรื่องนี้ตั้งแต่ ปี 64 เพราะดูแลสวนยางทั้งประเทศ 22 ล้านไร่ แผนคาร์บอนเครดิตในสวนยาง ปี 65-67 โดยจ้าง ม.มหิดล เป็นที่ปรึกษาโครงการ เริ่มต้นแบบสวนยาง 6,009 ไร่ ที่ อ.ช้างกลาง จ.นครศรีธรรมราช จึงได้รู้กระบวนการทั้งหมด ทั้งขั้นตอน วิธีการ และ ค่าใช้จ่าย ซึ่งใช้ต้นยางทั้งที่อยู่ใต้ดิน และบนดิน โดยคิดการกักเก็บ 1 ตัน เท่ากับ 1 คาร์บอนเครดิต จากนั้นก็คำนวณภาพที่จะเกิดใน 7 ปี จะได้ประมาณ 173,702 ตันคาร์บอน หรือ 24,000 ตันคาร์บอน/ปี หรือ 4.22 ตันคาร์บอน/ไร่

4.คาร์บอนเครดิต04

การเปิดประเด็นคาร์บอนเครดิต ทั้งภาคเกษตร และป่าไม้

เพื่อความกระจ่างของคนไทยในเรื่องคาร์บอนเครดิต ทั้งภาคเกษตร และป่าไม้ สมัชชาพลังเขียวสร้างชาติ ได้เชิญ คุณอภิสิทธิ์ เสนาวงค์ นักวิชาการชำนาญการพิเศษ องค์การบริหารก๊าซเรือนกระจก (อบก.) เป็นวิทยากรพิเศษ “คาร์บอนเครดิตไม่ได้มีเฉพาะการปลูกต้นไม้ หรือปลูกยางพารา แต่มีตั้งแต่พลังงานทดแทน การจัดการขยะของเสียอย่างถูกวิธี การใส่ปุ๋ยอย่างถูกวิธี หรือการปลูกต้นไม้ มีการซื้อขายคาร์บอนเครดิตแล้วครับมากกว่า 2 ล้านตัน มูลค่าการซื้อขายกว่า 95 ล้านบาท ทั้งภาคพลังงาน ภาคขยะ ภาคของเสีย” คุณอภิสิทธิ์ เปิดประเด็น

ส่วนคาร์บอนเครดิตภาคป่าไม้นั้น ต้นไม้ที่เป็นไม้ยืนต้น มีอายุยืนหลายปี มี “เนื้อไม้” ทำคาร์บอนเครดิตได้ ส่วนคาร์บอนเครดิตภาคเกษตร ถ้าเป็นไม้ยืนต้น เช่น ยาง ปาล์ม มะพร้าว มังคุด ละมุด ลำไย มะเฟือง มะไฟ เป็นต้น ได้ทั้งหมด แต่ที่ต้องแยกเป็นคาร์บอนเครดิตภาคเกษตร เพราะใช้ “ปุ๋ย” ในการผลิต เนื่องจากปุ๋ยก็เป็นตัวปล่อยก๊าซเรือนกระจกนั่นเอง

“การคำนวณเครดิตไม้ยืนต้น สิ่งแรกที่ต้องทำ คือ จะต้องเอาพื้นที่ปลูก หรือยังไม่ปลูก มาขึ้นทะเบียนกับองค์การก๊าซเรือนกระจก หรือมาจดแจ้งว่าพื้นที่มีต้นไม้มั๊ย ถ้ามีก็วัดออกมาว่าต้นไม้เรากักเก็บคาร์บอนไว้เท่าไหร่ หลังขึ้นทะเบียนก็ต้องดูแลต้นไม้ให้โตไปเรื่อยๆ พอครบ 3 ปี ก็วัดต้นไม้ ส่วนต่างที่โตจะเป็นปริมาณคาร์บอนเครดิตที่รับรอง สามารถเอาไปซื้อขายได้ในตลาดคาร์บอนเครดิต ภาคสมัครใจ ในประเทศไทย”

5.งานสัมมนาฯ ทางสมัชชาพลังเขียวจัดขึ้น
5.งานสัมมนาฯ ทางสมัชชาพลังเขียวจัดขึ้น

การขึ้นทะเบียนโครงการหรือการรับรองคาร์บอนเครดิต

การขึ้นทะเบียนโครงการ หรือการรับรองคาร์บอนเครดิต จะต้องผ่าน “มาตรฐาน” หรือโครงการ T-VER หรือโครงการลดก๊าซเรือนกระจก ภาคสมัครใจ ตามมาตรฐานของไทย โดยมี อบก.เป็นผู้รับผิดชอบ ภายใต้องค์กร หรือ ออร์ดิเตอร์ ที่ อบก. แต่งตั้ง เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล หรือรับรองมาตรฐานว่า คาร์บอนเครดิตแต่ละโครงการได้มาตรฐาน เหมือนสินค้าต้องมี อย. หรือ อมก. เป็นต้น

ดังนั้นก่อนจะขึ้นทะเบียนต้องมีองค์กรรับรองมาตรฐานข้อมูล ซึ่งต้องมีค่าใช้จ่าย 8 หมื่น-แสนบาท/โครงการ

โฆษณา
AP Chemical Thailand

จึงเห็นได้ว่า ไม้เศรษฐกิจของไทย ประเภทไม้ยืนต้น อายุยาว ไม่ว่าจะเป็นไม้ผล ไม้โตไว ไม้โตช้า หรือ ไม้อรรถประโยชน์ โดยเฉพาะไม้ 58 ชนิด ของกรมป่าไม้ นอกจากจะได้เงินจากการขาย ผลิตผล ตามปกติแล้ว ยังนำไปค้ำประกันเงินกู้ (ไม้ 58 ชนิด) และนำไปขึ้นทะเบียน ขายคาร์บอนเครดิตได้ โดยมี อบก. เป็นหน่วยงานรับรองคุณภาพคาร์บอนเครดิต

ประเทศไทย เป็นเมืองร้อนชื้น หลากหลายทางพันธุกรรมไม้ จึงได้เปรียบประเทศเมืองหนาว ถ้ารัฐตั้งใจปั้นต้นไม้ให้เป็น ทองคำเขียว ย่อมทำได้ไม่ยาก ซึ่งวันนี้บริบทโลกเอื้ออำนวย และคนไทยมีความพร้อม ซึ่ง สมัชชาพลังเขียวสร้างชาติ ที่มี นายพายัพ ยังปักษี เป็นเลขาธิการ ได้จุดประกายเรื่องนี้ เมื่อ 19 ก.ค. 66 เพื่อปลุกคนไทยลุกขึ้นขุดเหมืองทองคำเขียวร่วมกัน

อ้างอิง : นิตยสารพลังเกษตร ฉบับที่ 35